ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ข้อห้ามหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 และการจัดเรตติ้งหนังสือ (1)

ข้อห้ามหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 และการจัดเรตติ้งหนังสือ (1)

7 พฤศจิกายน 2011


‘หมานิลมังกร’

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา นางสาวสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 มีสาระสำคัญตามที่สื่อต่าง ๆ รายงาน 7 ประเด็น ดังนี้

      กำหนดให้สิ่งพิมพ์ที่ไม่ใช่หนังสือพิมพ์ในราชอาณาจักร ต้องแสดงข้อความประเภทของสิ่งพิมพ์ให้เป็นไปตามกฎกระทรวง (ร่างมาตรา 4 แก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 8 )
      กำหนดให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจออกคำสั่งห้ามพิมพ์ เผยแพร่ สั่งเข้าหรือนำเข้าเพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักร ซึ่งสิ่งพิมพ์หรือหนังสือพิมพ์ ที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (ร่างมาตรา 5 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 10 และร่างมาตรา 12 เพิ่มมาตรา 18/1)
      กำหนดให้ผู้จดแจ้งการพิมพ์หนังสือพิมพ์ต้องดำเนินการออกหนังสือพิมพ์ ภายใน 60 วัน เมื่อได้รับหนังสือสำคัญแสดงการพิมพ์แล้ว และกำหนดอายุของหนังสือสำคัญแสดงการจดแจ้งการพิมพ์หนังสือพิมพ์ (ร่างมาตรา 6 เพิ่มมาตรา 11/1 และเพิ่มมาตรา 11/2)
      กำหนดให้หนังสือพิมพ์ต้องแสดงข้อความประเภทหนังสือพิมพ์ และเลขมาตรฐานสากล ประจำวารสารที่หอสมุดแห่งชาติออกให้ และกำหนดให้ผู้พิมพ์ต้องส่งหนังสือพิมพ์จำนวน 2 ฉบับ ให้แก่หอสมุดแห่งชาติ (ร่างมาตรา 8 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 12 และร่างมาตรา 9 เพิ่มมาตรา 12/1)
      ชื่อหนังสือพิมพ์ต้องไม่พ้อง หรือมุ่งหมายให้คล้ายกับชื่อหน่วยงานของรัฐหรือเป็นตัวย่อ รวมทั้งต้องไม่ซ้ำกับชื่อหนังสือพิมพ์ที่ได้รับจดแจ้งไว้แล้วหรือชื่อหนังสือพิมพ์ในต่างประเทศ (ร่างมาตรา 10 – ร่างมาตรา 11 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 13)
      กำหนดโทษทางปกครองผู้พิมพ์ที่ไม่ส่งหนังสือพิมพ์ให้แก่หอสมุดแห่งชาติ ภายในระยะเวลาที่กำหนด (ร่างมาตรา 13 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 19) ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
      กำหนดโทษทางอาญาแก่ผู้ฝ่าฝืนคำสั่งของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรณีสั่งห้ามพิมพ์ เผยแพร่ สิ่งพิมพ์หรือหนังสือพิมพ์ที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ความมั่นคงของชาติ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยกำหนดโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ร่างมาตรา 14 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 27)

นอกจากนี้ยังจะมีการเตรียมกำหนดเรตติ้งของสื่อสิ่งพิมพ์ในลำดับต่อไปโดยกระทรวงวัฒนธรรมอ้างว่า เนื่องจากพบว่าเนื้อหา ข้อความ หรือภาพ ในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร มีความไม่เหมาะสมกับผู้บริโภคที่เป็นเด็กและเยาวชน มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรงและโหดร้าย ลามกอนาจาร

ต่อมาวันที่ 1 พฤศจิกายน คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ทำความเห็นกลับมาว่าเนื้อหาบางส่วนใน พ.ร.บ.ดังกล่าวอาจขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 เรื่องสิทธิ เสรีภาพ และการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ครม. จึงให้กระทรวงวัฒนธรรมนำร่างแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวกลับไปพิจารณาใหม่

ในโอกาสที่กฎหมายฉบับนี้ถูกตีกลับ จึงสมควรศึกษา พ.ร.บ. ดังกล่าว และแนวคิดของกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อตรวจสอบแง่มุมที่ละเมิดสิทธิ เสรีภาพ ก่อนที่จะมีการเสนอกฎหมายนี้อีกครั้ง

ประเด็นที่มีนัยสำคัญ และอาจกระทบกับสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ได้แก่ ประเด็นที่หนึ่ง, สอง และ เจ็ด ส่วนประเด็นที่ สาม นั้นเป็นประเด็นที่บรรดาหนังสือพิมพ์ต่างวิตกกังวล

ประเด็นที่หนึ่ง กำหนดให้ต้องแสดงข้อความประเภทของสิ่งพิมพ์ ที่มาของการบัญญัตินี้น่าจะสัมพันธ์โดยตรงกับการเตรียมกำหนดเรตติ้ง และส่งผลกระทบต่อ “หนังสือเล่ม” หรือ “พ็อกเก็ตบุค” ที่หนอนหนังสือทั้งหลายอ่านกันเป็นปรกติ

การกำหนดให้ผู้พิมพ์ต้องระบุ “ประเภท” ของหนังสือนั้น ด้านหนึ่ง ดูเหมือนเป็นเครื่องมือในการจัดระบบหนังสือ เพื่อความสะดวกในการแยกแยะ จัดเก็บ และจัดจำหน่ายหนังสือ

ในความเป็นจริง หนังสือเล่มที่พิมพ์ออกมาในปัจจุบัน ส่วนมากมีการระบุประเภทอยู่แล้ว โดยมักจะพิมพ์บอกหมวดหมู่ของหนังสือไว้ใกล้กับบาร์โคด ทั้งนี้ เนื่องจากผู้พิมพ์ต้องการป้องกันไม่ให้ร้านหนังสือวางหนังสือผิดหมวดหมู่ หรือเป็นการชี้นำให้ร้านหนังสือวางหนังสือในหมวดหมู่ใดหมวดหมู่หนึ่งของร้าน เนื่องจากปัจจุบันหนังสือที่พิมพ์ออกมามีปริมาณมาก หากไม่มีหมวดหมู่ที่ชัดเจนก็จะทำให้ผู้อ่านค้นหาหนังสือได้ลำบาก อย่างไรก็ตามการจัด “ประเภท” ดังกล่าวมี “การตลาด” เป็นแรงจูงใจสำคัญ ซึ่งอาจจะไม่ได้สอดรับกับเนื้อหาที่แท้จริงของหนังสือ หรือเป็นไปตามหลักวิชาที่ควรจะเป็น ดังดูได้จากการจัดหมวดหมู่หนังสือในร้านหนังสือ ก็จะมีความแตกต่างจากการจัดหมวดหมู่ในห้องสมุด เช่นร้านหนังสือจำนวนไม่น้อย มีชั้นหรือหมวด “วรรณกรรมซีไรต์” ซึ่งปะปนกันทั้งเรื่องสั้น นิยาย และบทกวี โดยที่ร้านหนังสือเดียวกันนั้นอาจจะไม่มีชั้นหรือหมวด “บทกวี” เลย เป็นเรื่องที่ตลกมากในทางหลักวิชา แต่มีเหตุผลในทางการตลาด ทั้งนี้ ลักษณะของการจัดประเภทดังกล่าวไม่มีความแน่นอนหรือเป็นมาตรฐาน และขึ้นอยู่กับระบบตลาดเป็นสำคัญ

หนังสือที่ไม่ได้รับอิทธิพลของตลาด เช่น หนังสือวิชาการต่าง ๆ หนังสือวรรณกรรม บทกวี ผู้พิมพ์ก็มักจะไม่ระบุประเภทไว้บนหนังสือ แม้ว่าในระยะหลัง หนังสือวรรณกรรมเริ่มมีการระบุประเภทบ้างแล้ว แต่หนังสือวิชาการส่วนใหญ่มักจะไม่ระบุประเภท ส่วนหนึ่งเนื่องจากไม่ใช่ประเพณีของหนังสือวิชาการ และอีกส่วนหนึ่งเนื่องจากความซับซ้อนของวัฒนธรรมทางปัญญา เช่น หนังสือรวมบทความเล่มหนึ่ง อาจจะสามารถจะอยู่ในหมวดประวัติศาสตร์ก็ได้ หรือสังคมศาสตร์ก็ได้ ทั้งนี้อาจจะขึ้นอยู่กับการให้น้ำหนักของการตีความ และบางครั้งผู้พิมพ์และผู้เขียนก็ต้องการหลีกเลี่ยงที่จะกำหนดประเภท โดยต้องการให้ผู้อ่านตีความหรือกำหนดด้วยตนเอง

ในหนังสือวรรณกรรมก็เช่นกัน วรรณกรรมบางเล่ม อาจจะอยู่ในหมวดวรรณคดีก็ได้ เรื่องสั้นก็ได้ บทกวีก็ได้ หรือแม้แต่สารคดีก็ได้ โดยที่ผู้เขียนและผู้พิมพ์ต้องการจะหลีกเลี่ยงการจัดประเภทไปที่หมวดใดหมวดหนึ่ง ดังนั้นภาพรวมของการจัดประเภทของหนังสือในกลุ่มนี้จะยุ่งยากซับซ้อนกว่า และขึ้นอยู่กับว่าจะกำหนดลักษณะประเภทของหนังสือไว้กว้างหรือแคบเพียงใด และใช้วิธีคิดใช้มาตรฐานใดมากำหนด ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจก่อให้เกิดการโต้แย้งกันไม่สิ้นสุด

ในอีกด้านหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อมองจากเสรีภาพทางปัญญาแล้ว การบังคับให้ต้องระบุหรือกำหนดประเภทของหนังสือให้เป็นไปตามกฎกระทรวง เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ยาก นอกจากจะเป็นการละเมิดเสรีภาพทางปัญญาแล้ว ยังเป็นการก้าวก่ายรสนิยม ทั้งทางวิชาการและทางศิลปะ ไม่มีเหตุผลใดที่ผู้พิมพ์จะต้องยินยอมกำหนดประเภทหนังสือให้ตรงกับที่กฏกระทรวงหรือหอสมุดแห่งชาติกำหนดมา และหากผู้พิมพ์ไม่เห็นด้วยกับประเภทที่กำหนดมา หรือไม่เห็นว่าหนังสือที่ตนพิมพ์อยู่ในประเภทที่กำหนดมาแม้แต่ประเภทเดียว จะทำอย่างไร นี่กลายเป็นปัญหาของวัฒนธรรมทางปัญญาที่มีความอ่อนไหว ซึ่งจะนำไปสู่การตีกรอบทางวิชาการและตีกรอบเสรีภาพทางความคิด ยิ่งเมื่อการจัดประเภทดังกล่าวเป็นการเตรียมเพื่อนำไปสู่การจัดเรตติ้งหนังสือแล้ว ต้องถือว่าละเมิดสิทธิ เสรีภาพในการคิด การเขียน การอ่าน ของประชาชน รัฐอาจจะนำเสนอแบบแผนระเบียบของรัฐเป็นแนวทางเพื่อการจัดระบบได้ แต่รัฐไม่มีสิทธิบังคับให้ผู้พิมพ์ นักอ่าน และประชาชน ต้องยอมรับและยอมให้หนังสือของตนหรือวิธีคิดของตนเข้าไปอยู่ในกรอบแนวของรัฐอย่างจำยอมเช่นนี้

ปัญหายุ่งยากซึ่งจะรอคอยอยู่ข้างหน้า จากการพยายามบัญญัติการ “จัดประเภท” หนังสือของกระทรวงวัฒนธรรมในครั้งนี้ คือเรื่องเสรีภาพทางปัญญา และเป็นปัญหาที่จะกระทบแวดวงหนังสือซีเรียส ทั้งประเภทวรรณกรรมและวิชาการ ทั้งที่เป็น fiction และ non fiction อย่างแน่นอน

เว็บไซต์ไอลอว์วิเคราะห์เบื้องต้นเกี่ยวกับประเด็นที่หนึ่งนี้ไว้ว่า

“ข้อกำหนดให้แสดงข้อความระบุประเภทของสิ่งพิมพ์ไม่เคยมีมาก่อน เพราะ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ฉบับปัจจุบันไม่ได้กำหนดเรื่องการจัดประเภทสิ่งพิมพ์ไว้เลย ข้อเสนอของคณะรัฐมนตรีจึงเป็นการเสนอหลักการจัดระเบียบสิ่งพิมพ์แบบใหม่ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน คือ เสนอการจัดประเภทสิ่งพิมพ์ หรือ เรตติ้งนั่นเอง และยังกำหนดให้สิ่งพิมพ์ที่ไม่ใช่หนังสือพิมพ์ต้องแสดงประเภทของสิ่งพิมพ์ให้ปรากฏด้วย

“กรณีการจัดประเภทสิ่งพิมพ์นี้ อาจเปรียบเทียบได้กับ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ.2551 ที่กำหนดการจัดประเภทภาพยนตร์ หรือ จัดเรตติ้งภาพยนตร์ และผู้ผลิตหรือจัดจำหน่ายภาพยนตร์ต้องแสดงประเภทภาพยนตร์ที่ได้รับอนุญาตไว้บนหีบห่อบรรจุภาพยนตร์ด้วย”

ไม่ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในโลกที่จัดเรตติ้งหนังสือหรือไม่ แต่เชื่อว่า บรรดานักเขียน นักอ่าน ตลอดจนผู้พิมพ์จำนวนหนึ่ง น่าจะรู้สึกเป็นกังวลกับแนวคิดนี้ มากกว่าจะยินดีปรีดา

ดังที่กล่าวไปแล้วว่า โดยธรรมชาติของระบบตลาด ทำให้สำนักพิมพ์ส่วนใหญ่ซึ่งทำหนังสือป้อนตลาดมีการจัดประเภทของหนังสืออยู่แล้ว ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่กรรมการสมาคมผู้พิมพ์ผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยชุดปัจจุบัน จะเห็นดีเห็นงามไปกับการจัดเรตติ้งของกระทรวงวัฒนธรรม หากแต่สำหรับผู้พิมพ์อีกส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะผู้พิมพ์หนังสือซีเรียส หรือผู้พิมพ์ที่มีวัฒนธรรมทางปัญญา ย่อมตั้งคำถามมากกว่าว่าการจัดเรตติ้งหนังสือนี้จะนำไปสู่วัฒนธรรมทางปัญญาแบบใด แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นกับวงการภาพยนตร์หรือไม่?

หากเด็กสักคนสามารถที่จะอ่านเฟาส์ของเกอเธ่ หรือพี่น้องคารามาซอฟของโดสโตเยฟสกี้ หรือบทความวิชาการของธงชัย วินิจจะกุล, นิธิ เอียวศรีวงศ์, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, เกษียร เตชะพีระ ฯลฯ แล้วรู้เรื่องจนดื่มด่ำซาบซึ้งถึงแก่ “เลียนแบบ” สิ่งที่อยู่ในหนังสือได้ (ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมวิตกกังวล) เด็กคนนั้น อย่างน้อยที่สุดน่าจะมีวัฒนธรรมทางปัญญาและดุลยพินิจที่แข็งแรง (กว่ากระทรวงวัฒนธรรม) หรือไม่? หรืออย่างน้อย ถ้าเขามีความมุมานะพอที่จะอ่านวรรณกรรมหรือบทความหนัก ๆ ที่อาจจะติดเรตติ้งสำหรับผู้ใหญ่ได้ เขาย่อมมีความคิดเป็นของตัวเองจนเกินกว่าที่จะมีพฤติกรรมเลียนแบบในลักษณะที่ไร้เดียงสาอย่างที่กระทรวงวัฒนธรรมวิตกกังวล และถ้าเขาจะกลายเป็นผู้มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ก็ย่อมต้องมีสาเหตุความเป็นมาซับซ้อนจนเกินกว่า (ปัญญาของ) กระทรวงวัฒนธรรมจะเข้าใจและอธิบายออกมาง่าย ๆ ด้วยคำว่า “เลียนแบบ” และพยายามแก้ไข (ตามกำลังสติปัญญาของกระทรวงวัฒนธรรมและสำนักหอสมุดแห่งชาติ) ด้วยการจัดเรตติ้ง