ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ความลึกลับของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ความลึกลับของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

12 กันยายน 2011


‘ปัณณ์ พาทิศ’

ความใหม่ ความแปลก ความขัดแย้ง เรื่องใกล้ตัว เรื่องที่ส่งผลกระทบ เรื่องวิวัฒนาการหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยใช้ชั่งน้ำหนักว่า เรื่องหนึ่งๆ จะสามารถ “เป็นข่าว” ได้หรือไม่

สำหรับข่าวคดี “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” หากนับตามพื้นฐานองค์ประกอบข่าว ถือว่ามีความเป็นข่าวสูงมาก แต่คดีหมิ่นฯ ที่ปรากฏอยู่ในหน้าสื่อกลับมีฐานะแบบข่าว “อาชญากรรม” เท่านั้น

พฤติกรรมการดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย ยุยงให้เกิดความเกลียดชัง ต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท มักพบในรูปแบบ การแจกใบปลิว การเขียนหนังสือ การโพสต์ข้อความในอินเทอร์เน็ต เรื่องนี้เป็นคดีความมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงสองถึงสามปีให้หลัง อาชญากรรมด้วยเสรีภาพเหล่านี้มีโทษจำคุกสามถึงสิบห้าปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรืออาจมาในรูปการฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ประกอบด้วย

ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ผู้ถูกจับกุมส่วนใหญ่ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ดังนั้นแม้จะมีการจับผิดตัวหรือจำเลยเชื่อว่ามีหลักฐานมากพอที่จะสู้คดีได้ แต่หากจะสู้ก็ต้องยอมแลกเสรีภาพกับความเป็นธรรม เพราะต้องนอนรอวันพิจารณาอยู่ในคุก อีกทั้งกระบวนการยุติธรรมไทยยังสร้างแรงจูงใจให้จำเลยเลือกรับสารภาพเพราะจะได้สิทธิลดโทษถึงกึ่งหนึ่ง และยังอาจได้รับการปล่อยตัวเร็วขึ้นเมื่อได้รับพระราชทานอภัยโทษ

ผู้ต้องหาคดีหมิ่นส่วนใหญ่จึงเลือกรับสารภาพเพื่อให้ท้ายที่สุดแล้วก็จะต้องโทษน้อยกว่า ซึ่งง่ายต่อการทำงานของตำรวจและอัยการ เพราะเป็นคดีที่ทั้งฟ้องง่าย ไม่ต้องทำการบ้าน และยังได้ผลงานอีกด้วย

แต่คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ใช่เรื่องตื้นเขินที่เพียงเป็นข่าวหน้าหนึ่งแล้วก็จบไปหรือไม่ มีคดีความจำนวนหนึ่งที่ผู้ต้องหายืนยันสู้คดีเพราะหวังว่าจะยังมีความเป็นธรรมอยู่บ้าง และต่อไปนี้คือแง่มุมที่ซ่อนอยู่ในคดีเหล่านั้น

คดีข่าวหุ้น

14 ตุลาคม 2553 ดัชนีตลาดหุ้นไทยดิ่ง ค่าเงินบาทร่วงต่ำสุดในรอบสองเดือนโดยหาสาเหตุไม่ได้ นักวิเคราะห์ต่างชาติเขียนบทวิเคราะห์ลงในเว็บไซต์ Bloomberg ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวเศรษฐกิจชื่อดังว่า อาจเพราะมีข่าวลือเกี่ยวกับพระพลานามัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

หลังจากนั้น มีคนไทยแปลข่าวชิ้นนี้แล้วเผยแพร่ลงในเว็บบอร์ดสนทนาเรื่องทางการเมือง ประเด็นนี้กระจายต่อไปอีกหลายเว็บ หลังจากนั้นไม่นาน ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ก็ออกหมายจับออกมา 4 คดีเพื่อดำเนินการกับผู้เล่นอินเทอร์เน็ต 4 คน บางคดีตำรวจก็ดักจับตัวที่สนามบิน บางคดีก็บุกไปควบคุมตัวที่สำนักงาน

เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมบุคคลต่างๆ โดยอ้างมาตรา 14 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ชี้ว่าผู้เล่นเน็ตทั้ง 4 คนนั้นปล่อยข่าวลือโดยอ้างว่าเป็นผู้ปล่อยข่าวทำให้หุ้นตกเพื่อหวังผลประโยชน์

แต่เนื้อหาที่ผู้เล่นอินเทอร์เน็ตทั้ง 4 คนอ้างถึงนั้น มาจากข่าวที่เขียนขึ้น “หลัง” จากปรากฏการณ์หุ้นตก ซึ่งกว่าผู้เล่นเน็ตในไทยจะนำเรื่องดังกล่าวมาแปลและเผยแพร่ ก็เป็นช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นปิดไปแล้ว

กรณี Bloomberg ไม่ใช่กรณีแรกที่มีคนแปลงานจากต่างประเทศแล้วโดนจับ ปัจจุบันยังมีคดีอื่นๆ ที่ถูกตั้งข้อหาในฐานะที่เป็นผู้ “ผลิตซ้ำ” เนื้อหา เช่น กรณีของนายโจ กอร์ดอน ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนแปลหนังสือ The King Never Smiles กรณีของนายเอกชัย ห. คนขายซีดีสารคดีของสถานีโทรทัศน์ ABC ของออสเตรเลีย ที่พูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย รวมถึงนายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่กล่าวปราศรัยโดยอ้างอิงคำปราศรัยที่ทำให้นางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ถูกควบคุมตัวในฐานะผู้ต้องหาคดีหมิ่นฯ

คดีสื่อนอกกระแส

อาจเพราะแมลงวันไม่ตอมกันเอง หรือเพราะแมลงวันไม่ถือว่า “สื่อทางเลือก” และ “สื่อเสื้อแดง” เป็นแมลงวันเผ่าพันธุ์เดียวกับตัว ข่าวการจับกุมจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสาร Red Power จึงไม่ได้รับการนับรวมอยู่ในหมวดของสื่อที่ถูกคุกคาม

เดือนมีนาคม 2552 จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ถูกบุกจับที่สำนักงาน ถูกตั้งข้อหาว่าปล่อยให้มีข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในเว็บบอร์ดของประชาไทและไม่ได้ลบออก “เร็วเท่าที่ควร” หลังจากนั้นในเดือนกันยายน 2553 จีรนุชถูกจับตัวอีกครั้งที่สนามบินสุวรรณภูมิขณะผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองเพื่อเข้าประเทศไทย เพราะมีชายจากขอนแก่นไปกล่าวโทษว่ามีความเห็นท้ายข่าวที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

เดือนเมษายน 2554 สมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสาร Red Power (ชื่อเดิมคือ Voice of Thaksin) ถูกจับกุมตัวที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองขณะกำลังจะเดินทางไปที่ประเทศกัมพูชา เพราะนิตยสารที่เขาเป็นบรรณาธิการมีบทความที่เขียนโดยผู้เขียนนาม จิตร พลจันทร์ ที่เขียนบทความเชิงเรื่องเล่าโดยแฝงเหตุการณ์เมื่อ 6 ตุลาคม 2519 โดยกล่าวถึงบทบาทของหลวงนฤบาลในเหตุการณ์ดังกล่าว ตำรวจเห็นว่าวิญญูชนทั่วไปอ่านแล้วจะเข้าใจได้ว่าหลวงนฤบาลซึ่งเป็นชื่อสมมติที่ใช้ในเรื่องเล่านั้น หมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ปัจจุบัน จีรนุชอยู่ระหว่างสู้คดีในชั้นศาล ส่วนสมยศถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไม่ได้รับสิทธิประกันตัว

คดีนักออกแบบเว็บ

อาชีพผู้ดูแลเว็บไซต์และเว็บมาสเตอร์กำลังกลายเป็นอาชีพที่เอาขาเข้าไปเสี่ยงอยู่ในคุกมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อเดือนมีนาคม 2554 ศาลเพิ่งพิพากษาให้นักออกแบบเว็บไซต์คนหนึ่งต้องโทษจำคุก 13 ปี หลังจากไปรับจ้างออกแบบเว็บไซต์ที่มีข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพปรากฏอยู่

ผู้เคราะห์ร้ายรายนี้ถูกรวบตัวด้วยหลักฐานอิเล็คทรอนิกส์สองแผ่นที่ชี้ว่า เขาได้ล็อกอินเข้าระบบ FTP (Files Transfer Protocol) เพื่อจะเข้าไปทำงานตามโจทย์ที่ได้รับคือเปลี่ยนพื้นสีและเปลี่ยนโลโก้ของเว็บ ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ซึ่งกำลังดักรอหาว่ามีใครเข้าเว็บนี้บ้าง จึงรวบรัดเหมาเอาว่าเขานี่แหละคือตัวการ

เว็บไซต์ดังกล่าวคือ เว็บไซต์นปช.ยูเอสเอ เป็นเว็บไซต์ที่เต็มไปด้วยข้อความหมิ่นเหม่ เจ้าหน้าที่ตำรวจเฝ้าติดตามหาตัวผู้รับผิดชอบสืบหาต้นตอแต่ก็ทำงานลำบากเพราะเจ้าของเว็บไซต์จดทะเบียนและมีเซิร์ฟเวอร์อยู่ต่างประเทศ

ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล เปิดบริษัทส่วนตัวรับเขียนเว็บ ออกแบบเว็บไซต์ เขาเป็นคนเสื้อแดงด้วย มีเว็บไซต์ของตัวเองชื่อเรดนนท์สำหรับรวมกลุ่มคนเสื้อแดงที่นนทบุรี ธันย์ฐวุฒิอ้างตัวว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับเว็บนปช.ยูเอสเอ แต่ได้รับการว่าจ้างผ่านทางอีเมลให้เข้าไปปรับปรุงเว็บไซต์นปช.ยูเอสเอให้งดงาม

ตำรวจปอท. ซึ่งรอดักข้อมูลอยู่ เมื่อพบว่ามีคนที่อยู่ในเมืองไทยเข้าเว็บดังกล่าวก็เข้าไปตะครุบตัวเขาที่บ้านทันที และตั้งข้อหาทั้งในฐานะที่เป็นทั้ง “คนโพสต์” และเป็น “ผู้ดูแลเว็บไซต์” ซึ่งมีอำนาจลบข้อความผิดกฎหมายแต่ไม่ยอมลบ

ตำรวจยึดเอาเครื่องคอมพิวเตอร์ของเขาไปตรวจแต่ก็ไม่พบเบาะแสอะไร หลักฐานสำคัญในคดีมีแค่สองแผ่นเท่านั้น นั่นคือบันทึกจราจรคอมพิวเตอร์ (Log File) ของวันที่ 31 มีนาคม 2553 ซึ่งแสดงผลว่าเขาเข้าไปผ่านระบบ FTP

แต่ข้อความที่ถูกกล่าวหา โพสต์ขึ้นในวันที่ 1 และ 13 มีนาคม 2553 โดยผู้ใช้ที่ล็อกอินในชื่อ “admin” ซึ่งตำรวจไม่มีหลักฐานล็อกไฟล์ของสองวันดังกล่าวแม้ว่าจะอยู่ในอำนาจและความสามารถที่หาได้ แต่ตำรวจสันนิษฐานเอาว่า เมื่อธันย์ฐวุฒิเข้าระบบด้วยโปรแกรม FTP ก็น่าจะแปลได้ว่า เขาเป็นผู้ให้บริการ และน่าจะเป็นคนเดียวกับที่ใช้ชื่อว่า admin แม้ว่าชื่อล็อกอินที่เขาใช้เข้า FTP ตามหลักฐาน จะเป็นคนละชื่อก็ตาม

ธันย์ฐวุฒิจึงถูกเหมาว่า เป็นคนโพสต์ข้อความที่ทำผิดด้วยการโพสต์ข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเป็นผู้ให้บริการที่ทำผิดเพราะไม่ยอมลบข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ศาลพิพากษาว่าเขามีความผิด ต้องโทษจำคุกรวม 13 ปี

คดีนี้น่าจะเป็นอุทธาหรณ์ให้เหล่าบริษัทนักออกแบบเว็บไซต์ต่างๆ ต้องระวังในการรับงานลูกค้า เพราะเพียงแค่เข้าระบบ ก็ต้องร่วมรับผิดชอบในเนื้อหาทั้งเว็บไซต์นั้นไปโดยปริยาย

คดีส่ง SMS หาเลขาฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

นายอำพล ต. หรือเรียกกันในสื่อว่า “ลุง SMS” อายุ 61 ปี ถูกจับข้อหาส่งข้อความสั้นทางโทรศัพท์เข้าไปที่มือถือของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จำนวนทั้งสิ้น 4 ข้อความ โดยเป็นข้อความที่กล่าวจาบจ้วงดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท

เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) บุกจับด้วยข้อหาดูหมิ่น อาฆาดมาดร้ายพระมหากษัตริย์และพระราชินี

ลุง SMS ปฏิเสธทันทีตั้งแต่ถูกจับกุม ว่าทั้งไม่รู้จักนายสมเกียรติ เลขานุการอดีตนายกฯ และไม่ได้เป็นเจ้าของเบอร์โทรศัพท์ที่ใช้ก่อการในคดี

ด้านตำรวจที่ไปจับกุมก็ไม่มีพยานหลักฐานใดๆ ยืนยันได้ทันทีเช่นกันว่า ลุง SMS เกี่ยวข้องกับข้อความปริศนานี้อย่างไร แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจากปอท. เชื่อว่าผู้กระทำตัวจริงใช้ซิมโทรศัพท์แบบเติมเงิน ไม่ได้จดทะเบียน เมื่อส่งข้อความเสร็จแล้วก็คงหักซิมทิ้งไป การที่ลุง SMS จะปฏิเสธเช่นนี้จึงไม่น่าเชื่อถือ

หลายคดีที่ผ่านมา การบุกประชิดเข้าจับกุมประชาชนสามารถกระทำได้โดยที่ยังไม่ต้องแสดงหลักฐานใดๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจมักจับกุมก่อนแล้วอ้างว่า ปล่อยให้ไปพิสูจน์กันในชั้นศาล แต่กว่าจะรอจนถึงวันนั้น ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ก็ต้องนอนรอวันพิจารณาคดีอยู่ในคุกโดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว

นอกจากกรณีลุง SMS แล้ว ยังมีคดีอีกมากที่ขณะจับกุม เจ้าหน้าที่ไม่ได้แสดงหลักฐานการกระทำความผิดอย่างชัดเจน แต่ประชาชนก็ต้องเข้านอนในคุกโดยที่ศาลไม่ให้ประกันตัว เช่น กรณีล่าสุดของผู้ใช้เฟซบุคที่ถูกกล่าวหาว่าคือผู้ใช้นาม “ดอกอ้อริมโขง” และถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สร้างเพจในเฟซบุคต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย

คดีที่ผู้ต้องหาเป็นชาวต่างชาติ

มักมีคำกล่าวว่า ชาวต่างชาติไม่ค่อยเข้าใจความเป็นไทย ซึ่งน่าจะจริง เพราะทีผ่านมามีการดำเนินคดีกับชาวต่างชาติด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและศาลพิพากษาเสร็จสิ้นแล้วหลายราย อาทิ

เมื่อปี 2546 นายโคชิ ทากาฮาชิ หรือ ทากาฮากิ อายุ 69 ปี (อายุในวันที่ถูกดำเนินคดี) เขียนบทความสารคดีชื่อ ชีวิตชนบทที่เชียงใหม่ เป็นภาษาญี่ปุ่น ตีพิมพ์และจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย ถูกฟ้องด้วยข้อหาตามมาตรา 112 ศาลพิพากษาให้จำคุก 3 ปี แต่ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเนื่องจากรับสารภาพ เหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือนและรอลงอาญา 2 ปี

เมื่อปี 2549 นายโรเบิร์ต โรเบิร์ตเซ่น อายุ 66 ปี (อายุในวันที่ถูกดำเนินคดี) ชาวนอร์เวย์ ตะโกนกล่าวจาบจ้วงพระมหากษัตริย์ไทยที่ย่านดอนเมือง ถูกตำรวจสถานีดอนเมืองจับกุมตัวตั้งข้อหาตามมาตรา 112 ศาลพิพากษาจำคุก 4 ปี แต่ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปี แต่หลังเกิดเหตุเขาทำหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษผ่านทางราชเลขาธิการ และให้การสนับสนุนมูลนิธิชัยพัฒนาซึ่งดำเนินกิจกรรมตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย และมีใบรับรองแพทย์ว่า เคยเข้ารับการรักษาทางจิตเวชเนื่องจากความผิดปกติทางจิตอย่างร้ายแรง เป็นโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง ศาลจึงให้รอลงอาญา 1 ปี

เมื่อปี 2550 นายโอลิเวอร์ จูเฟอร์ อายุ 57 ปี (อายุในวันที่ถูกดำเนินคดี) ชาวสวิสเซอร์แลนด์ พ่นเสปรย์ลงบนพระฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยความเมา มีความผิด 5 กรรม ศาลพิพากษาให้จำคุกกรรมละ 4 ปี รวมเป็น 20 ปี แต่ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเนื่องจากรับสารภาพ คงเหลือโทษจำคุก 10 ปี ต่อมาได้รับการพระราชทานอภัยโทษ

เมื่อปี 2551 นายแฮรี่ นิโคลายส์ นักข่าวและคอลัมนิสต์ชาวออสเตรเลีย เขียนนิยายและมีส่วนที่กล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ จากนั้นก็พิมพ์เผยแพร่เองจำนวนประมาณ 50 ฉบับที่จังหวัดเชียงราย หลังเผยแพร่หนังสือ เขาถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 112 ศาลพิพากษาให้จำคุก 6 ปี แต่ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเนื่องจากรับสารภาพ เหลือโทษจำคุก 3 ปี ต่อมาได้รับการพระราชทานอภัยโทษ

ปี 2552 นายชิน เชียง ฮอน (ชื่อไทยชื่อวันชัย) ถือสัญชาติไทยและสิงคโปร์ อายุ 55 ปี ต้องคดีทั้งสิ้น 2 คดี จากการแจกเอกสารสองครั้ง ซึ่งมีข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คดีแรกต้องโทษจำคุก 15 ปี แต่ลดโทษหนึ่งในสามเพราะให้การเป็นประโยชน์ เหลือโทษจำคุก 10 ปี และคดีที่สองต้องโทษจำคุก 10 ปี แต่ลดโทษกึ่งหนึ่งเนื่องจากรับสารภาพ เหลือโทษจำคุก 5 ปี รวมโทษจำคุกเป็น 15 ปี

(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

ตัวอย่างคดี 112 และโทษที่ได้รับ
คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือคดีที่ตั้งข้อหาตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ส่วนใหญ่ผู้ต้องหารับสารภาพเพื่อให้ได้ลดโทษกึ่งหนึ่ง

สื่อไม่นิยมเสนอข่าวคดีหมิ่นฯ อาจเพราะกลัวว่าจะการเสนอข่าวเชิงตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมหรือตั้งคำถามกับกฎหมาย จะกลายเป็นการยืนอยู่ข้างผู้ต้องหาคดีร้ายแรง หรืออาจกลัวว่าเสนอไปแล้วอาจยิ่งผลิตซ้ำการกระทำหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ สั่งสมให้สื่อไทยเลือกที่จะ “เงียบ” ในเรื่องที่เกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน เมื่อประกอบกับเงื่อนไขทางกฎหมายที่เอื้อให้จำเลยเร่งจบคดีเร็วๆ โดยไม่สร้างทางเลือกที่จูงใจให้คนเรียกหาความเป็นธรรมและพิสูจน์ตัวเอง หารู้ไม่ว่าภาวะที่ต่างฝ่ายต่างเลือกที่จะเงียบและนิ่งดูดาย นั่นคือการกระทำที่บั่นทอนความมั่นคงของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดในเวลานี้