ThaiPublica > คนในข่าว > “กรณ์ จาติกวณิช” เปิดอภิปรายนอกสภาน้ำท่วม-ถนนลื่น-นารีแหกโค้ง กับ “บูทเจ้าปัญหา” รองเท้าไม่กัด แต่คนกัด

“กรณ์ จาติกวณิช” เปิดอภิปรายนอกสภาน้ำท่วม-ถนนลื่น-นารีแหกโค้ง กับ “บูทเจ้าปัญหา” รองเท้าไม่กัด แต่คนกัด

9 พฤศจิกายน 2011


“กรณ์ จาติกวณิช” รองนายกรัฐมนตรีเงา และรองหัวหน้าภาคกทม. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)
“กรณ์ จาติกวณิช” รองนายกรัฐมนตรีเงา และรองหัวหน้าภาคกทม. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

“…โอกาสทำสถานการณ์ให้เป็นบวก ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถามว่าเราได้อานิสงส์อะไร ก็อาจจะเกิดจากการเป็นที่ประจักษ์มากขึ้นว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่มีประสิทธิภาพ หรือความรู้เพียงพอในการบริหารจัดการ การเมืองเป็นเรื่องของการเปรียบเทียบ ถ้าเราอยู่กับที่ แต่เขาตกลงมา ทางการเมืองก็พูดได้ว่าเราได้ประโยชน์…”

เพราะกรุงเทพมหานคร (กทม.)คือเมืองหลวง ประเทศไทย

และยังเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลตามทฤษฎี “2 นคราประชาธิปไตย”

ทำให้การทำสงครามกับสายน้ำใน “พื้นที่อ่อนไหว” ยุ่ง-ยาก-ซับซ้อนกว่าพื้นที่อีกกว่า 30 จังหวัดที่ถูกวารีกลืนกิน

มีทั้งนักการเมืองที่มีความตั้งใจเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชน นักการเมืองที่พยายามสอดตัวเข้ามาชิงซีนทางหน้าสื่อ นักการเมืองที่ออกมาสาดน้ำลายใส่ฝ่ายตรงข้าม ฯลฯ

คล้ายเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ และทำให้เกิดวิกฤตซ้อนวิฤต

ขณะที่คนไทย และคนเมือง ทน-ทุกข์-ทรมาน ต้องใช้ชีวิตกลางสายชลที่ยังไม่มีที่ไหลผ่าน

ในภาวะที่คะแนนความนิยม-ความศรัทธาต่อ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ดิ่งเหว จากการบริหารสถานการณ์น้ำท่วมที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน

“กรณ์ จาติกวณิช” รองนายกรัฐมนตรีเงา และรองหัวหน้าภาคกทม. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้เปิดอภิปรายนอกสภา ผ่านสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ซึ่งเขาเห็นว่าจุดเริ่มต้นของ “มหาอุทกภัย” อาจกลายเป็นจุดจบของ “นายกฯ โคลนนิ่ง” ก่อนครบวาระ

ไทยพับลิก้า : มีเสียงวิจารณ์ว่าปัญหาในการบริหารจัดการน้ำท่วมในพื้นที่กทม. เป็นศึก 3 เส้าของ 3 พรรค ได้แก่ ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ภายใต้การดูแลของพรรคเพื่อไทย (พท.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) ภายใต้การดูแลของปชป. และกรมชลประทานในกำกับดูแลของพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.)

ในส่วนของปชป. ไม่ได้มองว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของพรรคเลย เพราะกทม. เป็นหน่วยงานที่ค่อนข้างอิสระ ผู้ว่าฯ กทม. เป็นบุคคลในสังกัดของพรรคจริง แต่เขารู้ว่าต้องสวมหมวกกทม. ไม่ใช่สวมหมวกพรรค จะสังเกตเห็นว่าพวกผมไม่เคยไปยุ่ง ไม่เคยมีส.ส.ปชป. ไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการของกทม. แม้แต่คนเดียว ในขณะที่ศปภ. เต็มไปด้วยส.ส.พท. และคนเสื้อแดง ดังนั้นจะเห็นว่ากทม. เป็นอิสระ แต่ถ้ามีแนวทางบริหารที่เห็นไม่ตรงกัน เราก็พูดคุย หัวหน้า (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าปชป.) ก็ยกสายคุยกับผู้ว่าฯ และยกสายคุยกับคนในศปภ. ด้วย อย่างตอนที่เราลงพื้นที่แล้วเห็นระดับน้ำในคลองประปาสูงขึ้น หัวหน้าก็ยกหูถึงคุณยงยุทธ (วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรมว. มหาดไทย) เดี๋ยวนั้นเลยเพื่อบอกให้รีบมาดู ดังนั้นมันไม่ใช่เรื่องการเมือง กทม. เป็นเรื่องการเมืองวันไหนรู้ไหม (อมยิ้มก่อนทอดเวลาให้คิด) วันที่คุณหญิงสุดารัตน์ (เกยุราพันธุ์ แกนนำภาคกทม. พท.) เข้ามานั่นแหละ

ไทยพับลิก้า : ปชป. พยายามชี้ชวนให้เห็นว่ามีผู้มีอิทธิพลบงการเรื่องการระบายน้ำ ทำให้พื้นที่กทม. ฝั่งตะวันออกแห้ง ขณะที่ฝั่งตะวันตกจมน้ำมากและจมนานแล้ว

เอาอย่างนี้ดีกว่า เพื่อนผมดูแลสนามกอล์ฟอยู่ที่บางบ่อ ติดกับคลองด่าน จ. สมุทรปราการ เขาบอกว่าสนามกอล์ฟนี้แล้งเลย ต้องปั๊มน้ำมารดสนามกอล์ฟทุกวัน อย่างเครื่องสูบน้ำที่คลองด่าน เดี๋ยวเปิดเดี๋ยวปิด เพราะตามสถิติมันใช้งานอยู่แค่ร้อยละ 10 ดังนั้นน้ำไม่ได้ไปจริง นอกจากนี้สถานีสูบน้ำ 3 สถานีหลักในฝั่งตะวันออก ทั้งสถานีหนองจอก ประเวศบุรีรมย์ และคลองสิบสาม ซึ่งมีเครื่องสูบทั้งหมด 52 เครื่อง เราลงพื้นที่เห็นว่าแทบจะไม่ได้เปิดเลย นี่คือสาเหตุให้ฝั่งตะวันตก ฝั่งธนบุรีเละตุ้มเปะเลย น้ำมันถึงทะลักเข้ามาที่ช่วงกลางทั้งวิภาวดีฯ ดอนเมืองไง นอกจากนี้ระบบน้ำทั้งหมดตั้งแต่คลองหกถึงคลองยี่สิบเอ็ด สร้างไว้เพื่อระบายไปทางนั้น นั่นคือทางน้ำ แต่ไม่รู้ด้วยเหตุผลทางการเมืองในเรื่องการปกป้องพื้นที่ของตัวเอง หรือความหวาดกลัวว่าหากมีอะไรเกิดขึ้นกับสนามบินสุวรรณภูมิ แล้วรัฐบาลจะอยู่ไม่ได้ ผมไม่รู้ แต่เป็นการตัดสินใจทางการเมืองที่ไม่ผันน้ำไปฝั่งตะวันออก

ผมอยู่กับคุณอภิสิทธิ์ตลอดตั้งแต่เกิดวิกฤตน้ำท่วมจนถึงตอนนี้ ยืนยันได้ว่าเราไม่มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเลย แต่ตัวละครของทางศปภ. หรือรัฐบาลที่ออกมาเล่น มันการเมืองทั้งนั้น ดูอย่างบทบาทวิชาญ (มีนชัยนันท์ ส.ส. กทม. พท.) ที่ออกมาในเรื่องการเปิด-ปิดประตูคลองสามวา ถามหน่อยว่าไปทำหน้าที่อะไร คุณเป็นส.ส. นะ ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี และคุณไปมีส่วนร่วมในการทำลายทรัพย์สินที่อาจจะทำให้นิคมอุตสาหกรรมทั้งนิคมต้องจมน้ำ อันนี้ยังไม่รวมพื้นที่กทม. ชั้นในที่ท่วมเพิ่มขึ้น ถามว่าคุณรับผิดชอบอย่างไร ผมอยากเห็นคนออกมาฟ้อง หรือคุณหญิงสุดารัตน์ที่ออกมาแอคชั่น โห! ได้นั่งฮ. ได้อะไรทุกอย่าง ออกสื่อ ในฐานะอะไร มันการเมืองล้วนๆ

ไทยพับลิก้า : สมมุติฐานของปชป. เรื่องการปรากฏตัวของคุณหญิงสุดารัตน์คืออะไร

ไม่เห็นต้องบอกเลย ใครๆ ก็รู้

ไทยพับลิก้า : ที่ผ่านมาปชป. เชื่อมโยงว่าเกี่ยวข้องกับการลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ในช่วงต้นปี 2555

(ตอบสวนทันควัน) พรรคไม่เห็นต้องเชื่อมโยงเลย มันมีการเชื่อมโยงกันอยู่แล้ว ใครเห็นปุ๊บก็รู้ เขาจะทำอะไรก็แล้วแต่ แต่ที่ว่าเรื่องการเมือง 3 เส้า ขอยืนยันว่าปชป. ไม่ได้คิด เราก็ทำงานของเราไป ทั้งการตั้งมูลนิธิเพื่อระดมเงินบริจาค ก่อนรัฐบาลจะเริ่มเคลื่อนไหวด้วยซ้ำไป มีโครงการอาสาคนไทยช่วยน้ำท่วม วันเดียวกับที่พวกเขาไปเตะฟุตบอลที่เขมรนั่นแหละ พวกผมเตะฟุตบอลระดมเงินช่วยน้ำท่วม คือความตื่นตัวมันเร็วกว่ากันเยอะ

ไทยพับลิก้า : ในขณะที่ศปภ. มีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการจริง แต่คนกทม. ก็ไม่ประทับใจแนวทางและลีลาของผู้ว่าฯ กทม. เท่าไร และอาจถึงขั้นไม่ได้รู้สึกศรัทธา

อันนั้นต้องไปคุยกับกทม. มันเป็นเรื่องของกทม.

ไทยพับลิก้า : ในความเป็นจริงมันแยกขาดจากกันเลยหรือ เพราะเวลาคนพูดถึงกทม. ก็ไม่ได้นึกถึงเฉพาะม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ แต่นึกถึงพรรคด้วย

(พยักหน้ารับ) ใช่ แต่เราไม่อยากให้การทำงานของกทม. เป็นการทำงานทางการเมือง และผู้ว่าฯ ก็วางตัวชัดเจนว่าเขาทำงานให้คนกทม. ทุกคน เป็นงานบริหาร ไม่ใช่งานพรรค แต่แน่นอน ผมไม่ปฏิเสธความจริงว่าถ้าเขาทำงานได้ดี พรรคก็ได้ด้วย ถ้าเขาทำไม่ดี พรรคก็เสียด้วย เราก็แสดงความกังวล เวลามีอะไรแนะนำได้ เราก็แนะนำ ส่วนเขาจะฟังหรือไม่ เป็นเรื่องของเขา

ไทยพับลิก้า : แม้คนปชป. จะลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนต่อเนื่อง แต่ภาพที่เด่นชัดกลับเป็นการจ้องจับผิดรัฐบาล ชวนไปสาดน้ำลายในสภามากกว่า

ไม่เห็นมีสภาให้ประชุมเลยครับ ตั้งเดือนกว่าแล้ว แต่จริงๆ มันตรงกันข้ามกับที่ถามด้วย เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน คุณอภิสิทธิ์เคยให้ความเห็นว่ายังไม่ควรเปิดสภา หลังจากนั้นเขาเรียกประชุมเลย ก่อนมาสั่งยกเลิกในนาทีสุดท้าย คือเหมือนกับว่ารัฐบาลทำตรงข้ามกับสิ่งที่เราแนะนำ มาครั้งนี้ก็ยกเลิกอีก ซึ่งผมรับไม่ได้ เพราะไม่รู้จะอธิบายกับประชาชนอย่างไร คุณบอกให้หยุดยาว (รัฐบาลประกาศวันหยุดราชการกรณีพิเศษระหว่างวันที่ 27-31 ตุลาคม) ให้ประชาชนอพยพ เขาหยุดจริง อพยพจริง ตอนนั้นบ้านเขาน้ำยังไม่ท่วม พอครบ 5 วันเนี่ย คุณไม่ต่อวันหยุดให้เขา ซึ่งบ้านเขาน้ำท่วมแล้ว อพยพไปก็ต้องอพยพกลับมา ค่าใช้จ่ายมากมาย มาถึงที่อยู่ก็ไม่มี เดินทางก็ไม่สะดวก แต่คุณให้เขาทำงาน สุดท้ายคุณยกเลิกประชุมสภา ทำไมประชาชนต้องทำงาน แต่ส.ส. ไม่ต้องทำงานล่ะ บอกว่าส.ส. ยุ่ง ยุ่งอะไร งานของเราอยู่ในสภา

ไทยพับลิก้า : ทันทีที่เปิดสภาเพื่ออภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 และอภิปรายทั่วไปวาระน้ำท่วม ยืนยันหรือไม่ว่าประชาชนจะได้ฟังสาระจริงๆ ไม่ใช่ประดิษฐ์โวหารโจมตีคู่แข่ง

เป็นสาระแน่นอน ทุกครั้งที่หัวหน้าแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อ จะเป็นข้อเสนอแนะในเชิงเทคนิค อาทิ การผันน้ำไปทางฝั่งตะวันออก การแก้ปัญหาเรื่องศูนย์พักพิง ความกังวลเรื่องน้ำประปา การใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฯลฯ เหล่านี้คือคำแนะนำให้แก่รัฐบาลทั้งสิ้น ไม่ได้มีประเด็นทางการเมือง แต่อาจมีคนฝั่งโน้นสะท้อนมาว่าพูดแล้วน้ำลดเหรอ (วะ) คือ… ถ้าคุณฟังสักหน่อย อาจจะช่วยให้น้ำลดได้ และถ้าคุณคิดว่าการทำงานในสภาไม่มีผลต่อการแก้ปัญหา แล้วคุณมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกันทำไม คือมันเป็นส่วนหนึ่ง ต่างคนต่างหน้าที่ หน้าที่ของส.ส. นอกจากช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่แล้ว อีกหน้าที่คือมาถกเพื่อหาคำตอบต่อปัญหาของประเทศ คุยกัน 100 อาจจะได้เนื้อหาสาระแค่ 10 ก็ยังดีกว่าไม่มีเลย ตอนผมเป็นรัฐบาลผมก็คิดอย่างนั้น ส.ส. ฝ่ายค้านตอนนั้นพูดส่วนใหญ่ไร้สาระทั้งนั้น แต่บางทีมันจะมีอะไรบางอย่างให้ผมนึกขึ้นได้ว่า เออ! อันนี้จริง แต่นี่คุณปิดประตูเลย ทำไม ส.ส. มี 500 คน ส.ส.กทม. มี 33 คน และมีอีกหลายจังหวัด เช่น ปทุมธานี นนทบุรี อุทัยธานี ที่ยังเดือดร้อนอยู่ แต่ก็มีอีก 400 กว่าคนที่พร้อมทำหน้าที่เต็มที่ ผมให้คำอธิบายอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากคำอธิบายทางการเมือง เขากลัวญัตติน้ำท่วม

ไทยพับลิก้า : ในขณะที่รัฐบาลเผชิญกับวิกฤตศรัทธาและความเชื่อมั่นมาก เหตุใดภาพปชป. ถึงไม่โดดขึ้นมาเป็นทางเลือก เพราะคนเลือกฟังและเชื่อบุคคลที่ 3 โดยเฉพาะนักวิชาการมากกว่า

ถูกต้องแล้วครับ นักวิชาการเขาก็เป็นผู้รู้ นี่คือสาเหตุที่เวลาเราจะเสนอความคิดเห็น เราจะฟังผู้รู้แล้วมาเสนอ เพราะเราอาจมีเสียงดังกว่า ผู้ที่ควรใช้ในการแก้ไขปัญหาแบบนี้คือผู้รู้ ไม่ใช่นักการเมือง นักการเมืองเป็นตัวขับเคลื่อน เป็นผู้ตัดสินใจจากข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากผู้รู้ ดังนั้นผมไม่ติดใจในเรื่องนี้

“กรณ์ จาติกวณิช” รองนายกรัฐมนตรีเงา และรองหัวหน้าภาคกทม. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)
“กรณ์ จาติกวณิช” รองนายกรัฐมนตรีเงา และรองหัวหน้าภาคกทม. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

ไทยพับลิก้า : สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ สร้างอะไรให้ปชป. ในทางการเมือง

ผมไม่ได้มองว่าสถานการณ์นี้เป็นสถานการณ์ที่ต้องสร้างอะไรให้กับพรรค

ไทยพับลิก้า : เป็นโอกาสหรือไม่

เอ่อ… มันไม่ได้เป็นอะไรที่เป็นบวกกับพรรค เราพยายามออกไปช่วยเหลือชาวบ้าน แต่การรับรู้มันอยู่ในวงจำกัดอยู่แล้ว เพราะสื่อบ้านเราก็อย่างที่รู้กัน และเราก็ไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะเข้าไปบริหารแทนรัฐบาล คันไม้คันมือกันมาก เพราะเชื่อว่าทำได้ดีกว่า แต่ก็ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่ทำได้ ดังนั้นโอกาสทำสถานการณ์ให้เป็นบวก ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถามว่าเราได้อานิสงค์อะไร ก็อาจจะเกิดจากการเป็นที่ประจักษ์มากขึ้นว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่มีประสิทธิภาพ หรือความรู้เพียงพอในการบริหารจัดการ การเมืองเป็นเรื่องของการเปรียบเทียบ ถ้าเราอยู่กับที่ แต่เขาตกลงมา ทางการเมืองก็พูดได้ว่าเราได้ประโยชน์ แต่เราไม่ได้หวังผลในเรื่องประโยชน์จากวิกฤตครั้งนี้

ไทยพับลิก้า : สมมุติถ้ามีเลือกตั้งหลังน้ำลด พื้นที่กทม. 33 เขต ปชป. จะได้ส.ส. มากขึ้น น้อยลง หรือเท่าเดิมที่ 23 เขต

อันนั้นให้สื่อประเมินเองดีกว่า ผมพูดไปก็ไม่ดี และก็ไม่ได้ไปสำรวจอะไร ถ้าสื่ออยากรู้ก็ทำโพลล์เอา

ไทยพับลิก้า : ประเมินว่าจำนวนคนที่ผิดหวังกับรัฐบาลพท. จะมากขึ้นหรือไม่ เพราะเมื่อเดือนกันยายน เคยเขียนในเฟซบุ๊คเชิญชวนให้สมาชิกพท. 15 ล้านเสียง ที่รู้สึกผิดหวังกับนโยบายของรัฐบาล มารวมกับ 11 ล้านเสียงของปชป.

ทางการเมืองนั่นคือเป้าหมายอยู่แล้ว ตั้งแต่ช่วงเลือกตั้งเรามองว่าหลายสิ่งที่พท. คิดจะทำเป็นเรื่องไม่เหมาะสม แต่เมื่อเขาได้รับเลือกแล้ว อะไรที่เคยสัญญาไว้ก็ต้องทำ ไม่เช่นนั้นจะเสียหลักทางการเมืองหมด ใครคิดจะพูดอะไรก็ได้ แต่ไม่มีผลในทางปฏิบัติ ยกตัวอย่างไอ้โครงการลาก่อนน้ำท่วมของพท. มันสะท้อนว่าคิดผิดตั้งแต่แรก เพราะคุณทักษิณ (ชินวัตร อดีตนายกฯ) คิดไว้ว่าจะใช้เงิน 4 แสนล้านบาทในการถมที่ สร้างเขื่อนป้องกันน้ำทะเลไม่ให้เข้ามาที่กทม. ลองนึกภาพดู หากคุณทำแบบนั้นไปแล้ว มันมีผลอย่างไรต่อการป้องกันอุทกภัยครั้งนี้ เขาหันหน้าไปทางนั้น นึกว่าศัตรูมาจากทางนั้น ความจริงศัตรูมันมาจากข้างหลัง มาจากน้ำเหนือ มันคิดผิดหมดน่ะ ดีไม่ดียิ่งไปถมที่ ยิ่งทำให้ระบายน้ำไม่ได้อีกต่างหาก ดังนั้นแค่คิดก็ผิดแล้ว

ถึงวันนี้พูดได้เลยว่าผมและพรรคไม่ได้มีเจตนาล้มรัฐบาล เหมือนที่กลุ่มคนเสื้อแดงพยายามพูด พวกเราไม่มีปัญหาเลยในการทำงานในฐานะฝ่ายค้านต่อไปจนกระทั่งเขายุบสภา ซึ่งไม่รู้จะเป็นเมื่อไร ส่วนตัวคิดว่าเขาน่าจะคิดเปลี่ยนตัวนายกฯ แต่ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนรัฐบาล ไม่จำเป็นต้องยุบสภา เพราะคนส่วนใหญ่เลือกพท. มาแล้ว เชื่อว่าก็ยังอยากได้พท. อยู่ พท. ก็บริหารต่อไป แต่มันไม่ใช่น่ะครับ ผมเข้าใจเกม ณ วันนั้น คุณยิ่งลักษณ์เป็นตัวเลือกทางการตลาดที่ดีที่สุด พวกผมคิดมาตั้งแต่ต้นปี 2554 ว่าสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในการเลือกตั้งคือ ถ้าเขาเอาคุณยิ่งลักษณ์ออกมาเล่นในช่วงโค้งสุดท้าย และมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่บทบาทของคุณยิ่งลักษณ์จบแล้ว ผมเห็น ผมก็สงสารเขานะ เขาจะชอบงานที่ทำอยู่หรือไม่ ผมไม่รู้ แต่มันไม่ใช่งานที่เขาถนัด คนอื่นในพรรคคุณก็มีตั้งเยอะ เอาคนที่เป็นนักการเมือง หรือรู้ระบบราชการ เคยบริหารองค์กรมาจริงๆ จังๆ คุณก็มีรองนายกฯ ตั้งหลายคน ก็เลือกมาสักคนสิ

ไทยพับลิก้า : สมมุติฐานว่าหลังน้ำลด อาจมีการเปลี่ยนตัวนายกฯ มีโอกาสเป็นไปได้สักกี่เปอร์เซ็นต์

ไม่ใช่สมมุติฐาน แต่เป็นความเห็นส่วนตัวของผม และยืนยันว่าผมและปชป. ไม่เห็นด้วยกับการล้มรัฐบาล ไม่มีความพยายามจะทำเช่นนั้นด้วย แต่ส่วนตัวมองว่าอย่าดันทุรังเลย

ไทยพับลิก้า : มองว่าต้องมีนายกฯ ใหม่มารีแบรนด์รัฐบาล เพราะคุณยิ่งลักษณ์ใช้ไม่ได้แล้วในทางการตลาดการเมือง

ไม่ ผมไม่ได้พูดอย่างนั้น ผมเพียงแต่บอกว่าประเทศชาติต้องการมืออาชีพ ถ้าพูดกันอย่างแฟร์ๆ คุณยิ่งลักษณ์ไม่ได้มาในฐานะมืออาชีพ แต่มาในฐานะสัญลักษณ์ เป็นตัวเรียกคะแนน บทบาทหน้าที่นั้นทำได้ดีที่สุด เต็ม 100 เลย แต่มันจบไปแล้ว และมีความชัดเจนว่าจบแล้วเพราะบังเอิญเกิดวิกฤตที่ท้าทาย ต้องการมืออาชีพจริงๆ มาบริหาร และมันพิสูจน์ให้เห็นว่าคุณยิ่งลักษณ์ไม่ใช่มืออาชีพในการบริหาร

ไทยพับลิก้า : อะไรคือแรงผลักสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนตัวนายกฯ

คุณทักษิณคนเดียว

ไทยพับลิก้า : หากไม่เปลี่ยนตัวนายกฯ การปรับครม. ถือว่าเพียงพอหรือไม่ในการกู้วิกฤตศรัทธา

เอ่อ… ผมว่าก่อนจะทำอะไรเนี่ย ขอให้สื่อสารอย่างตรงไปตรงมาก่อนว่าคุณมองว่าปัญหาที่ผ่านมาคืออะไร แล้วค่อยมาว่ากัน ผู้นำต้องสามารถวิเคราะห์ปัญหา และสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจว่าที่ผ่านมาคืออะไร หลังจากนั้นการกระทำมันจะมีตรรกะ มีเหตุผล แต่อยู่ดีๆ คุณตั้งใจจะไม่พูดอะไรเลย แล้วก็เปลี่ยนตัวละคร คนเขาก็นึกว่าเป็นเรื่องการเมืองอีก หาแพะอีก มันยังไม่มีการสื่อสารว่าที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้น ผิดพลาดตรงไหน วันก่อนนายกฯ ยังมาพูดเลยว่าตอนมารับตำแหน่ง น้ำในเขื่อนเต็มแล้ว เมื่อพูดอย่างนี้จะให้คนมั่นใจได้อย่างไรว่าทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องการเมือง หรือการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของตัวนายกฯ

ไทยพับลิก้า : การมีผู้นำรู้เท่าไม่ถึงการณ์ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก

มีอยู่ 2 อย่างคือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กับตั้งใจพูดเท็จ ไม่มีทางเลือกที่ 3 ผมคิดว่าคุณยิ่งลักษณ์รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ได้รู้ข้อมูลจริง ไปฟังเขามาแล้วนึกว่าเป็นจริง

ไทยพับลิก้า : แต่คนที่มาป้อนข้อมูล อาจตั้งใจพูดเท็จให้ฟัง

อันนี้ผมไม่รู้แล้ว (หัวเราะเล็กๆ) มันอาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์กันหลายทอด

ไทยพับลิก้า : วิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้นายธีระ วงศ์สมุทร รมว. เกษตรและสหกรณ์จากชทพ. ออกมาประกาศขอดูพื้นที่กทม. ฝั่งตะวันตกเองว่าเป็นเพราะอะไร

ถ้าให้ผมเดานะ เขาคงอึดอัดว่าพท. กำลังให้เขาเป็นแพะ

ไทยพับลิก้า : ตั้งแต่ถูกโจมตีว่าน้ำไม่ท่วมจ. สุพรรณบุรี

คือตัวคุณธีระเนี่ยรู้งานอยู่แล้ว แน่นอนที่สุดคือมีคุณบรรหาร (ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาชทพ.) เป็นเจ้านาย แต่นอกจากนั้นเขาเป็นลักษณะเทคโนแครต (ข้าราชการประจำ) มากกว่านักการเมือง ดังนั้นส่วนหนึ่งก็คือทำในระบบราชการ โดยรอรับฟังคำสั่งจากคุณบรรหารด้วยต่างหาก ทีนี้ระบบราชการของกรมชลประทานมันบกพร่อง เพราะระบบของเขาทั้งหมดอยู่ที่การวัดน้ำในลำน้ำ เขาไม่เคยมาวัดน้ำในทุ่งนา ดังนั้นที่คุณธีระออกมาพูดเมื่อ 10 วันก่อนว่ามวลน้ำก้อนใหญ่ผ่านไปแล้ว พวกผมฟังอยู่รู้ทันทีเลยว่าเขาหมายถึงน้ำในแม่น้ำ แต่ไม่ได้เอาน้ำในทุ่งมาคำนวณ ผมก็ยังแปลกใจนะว่าทำไมคุณธีระถึงพลาดได้

ไทยพับลิก้า : เลยทำให้คุณธีระกลายเป็นแพะตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เพราะคนรู้สึกว่าโกหก

(พยักหน้า) ใช่ๆ มันเป็นเพราะระบบกรมชลประทาน ตัววัดทุกตัววัดในแม่น้ำ… สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อคือนักการเมืองมีสัญชาตญาณในการปกป้องพื้นที่และฐานเสียงของตัวเองเยอะกว่ามองส่วนรวม เพราะระบบมันพาไป บางทีคนทั่วไปจะรู้สึกว่าทำไมไม่มองภาพใหญ่ ทำไมไม่มองส่วนรวม แต่ระบบเลือกตั้ง เราไม่ได้เลือกโดยคนส่วนรวม แต่เลือกโดยคนในพื้นที่

ดังนั้นสัญชาตญาณสำคัญคือต้องดูแลคนในพื้นที่ก่อน ซึ่งผมไม่ได้พูดถึงพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่พูดถึงทุกพรรค คนที่เป็นผู้นำต้องบริหารในระดับประเทศ ต้องรู้ว่าทางโน้นเขาต้องพูดอย่างนี้ ทางนี้ต้องพูดอย่างนั้น เพื่อปกป้องเขตพื้นที่ของเขา หน้าที่ของผู้ที่อยู่ข้างบนคือบริหารให้ส่งผลดีที่สุดแก่ประเทศและส่วนรวม ปัญหาคือไปคาดหวังกับผู้นำไม่ได้ เพราะเขาไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง ไม่มีความรู้ วันที่เขามารับตำแหน่ง กรมชลประทานอยู่กระทรวงไหน เขารู้หรือเปล่า ผมยังไม่รู้เลย แล้วเราจะคาดหวังให้เขารู้ก็ไม่ได้ เพราะเขาไม่เคยทำงานการเมืองมาก่อน ผมไม่ได้ว่าเขานะ แต่พูดตามข้อเท็จจริง

ผมจำได้ว่าตอนสมัครเลือกตั้งครั้งแรก ปลายปี 2547 เริ่มหาเสียง ผมต้องถามคุณอภิสิทธิ์ว่าส.ก. (สมาชิกสภากทม.) ส.ข. (สมาชิกสภาเขต) คืออะไร มีหน้าที่อะไร วาดให้ผมดูหน่อย ผมไม่รู้จริงๆ เพราะชีวิตนี้ไม่เคยออกไปเลือกส.ก. และส.ข. ผมเลือกแต่ส.ส. เท่านั้น เราไม่รู้เพราะไม่ได้อยู่ในวงการ

ดังนั้นบังเอิญเรามีผิดคน ผิดจังหวะ และไม่สามารถบริหารความขัดแย้งทางการเมืองที่มันมีอยู่แล้วโดยธรรมชาติได้ ก็เลยส่งผลตามที่ปรากฏ อันนี้มันเป็นเงื่อนไขน่ะ ประเทศไหนก็ตามที่อยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยก็เป็นแบบนี้ สำคัญคือตัวผู้นำต้องสามารถฝ่าเรื่องผลประโยชน์ต่างๆ ไปสู่สิ่งที่ดีที่สุดได้ แต่เขาเพิ่งเข้ามา เขาทำไม่ได้ ผมเห็นใจ แต่มันเหมือนกับ… เขาเป็นตัวที่ใช้เป็นพรีเซ็นเตอร์ในการโฆษณา มันไม่ใช่ตัวที่จะมาทำจริงแค่นั้นเอง

ไทยพับลิก้า : คืองานเขาเสร็จแล้ว

เสร็จแล้ว (นิ่งไปพักหนึ่ง) ใช่ จริงๆ แล้วก็… ใช่น่ะ อย่าคิดว่าเป็นเรื่องของการล้มรัฐบาล ไม่ใช่จริงๆ จากนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการดูแลประชาชน ผมมีความรู้สึกว่ารัฐบาลห่างเหินประชาชนมาก ผมแทบไม่เห็นบทบาทของสำนักนายกฯ เลย ตอนน้ำท่วมสมัยเราเนี่ย ทหารก็ส่วนทหาร สำนักนายกฯ ก็ส่วนสำนักนายกฯ และภาคประชาชนก็อีกส่วนหนึ่ง แต่ครั้งนี้มีทหาร มีภาคประชาชน และผมอยากจะเสริมด้วยซ้ำว่ามีฝ่ายค้าน แต่บทบาทของรัฐบาลในการลงไปช่วยเหลือชาวบ้าน ไม่ค่อยเห็น เหมือนกับเขาพึ่งพาทหารให้ทำแทน ซึ่งมันไม่เห็นลีดเดอร์ชิป (ภาวะผู้นำ) ใครเป็นคนนำ ใครเป็นตัวละครเอก น่าแปลกใจว่าทำไมไม่มี กลายเป็นปัญหาเรื่องของบริจาคอะไรต่างๆ กลายเป็นว่าเสื้อแดงคุม

ไทยพับลิก้า : สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ทหารโดดเด่นขึ้นมาหลังเคยถูกคนบางส่วนยี้ใส่ คิดว่ากองทัพจะมีบทบาทอย่างไรหลังจากนี้

ก็แค่คนบางกลุ่มนะครับที่ยี้ทหาร ผมเห็นทหารเขาก็ปฏิบัติตามหน้าที่ตามกฎหมาย ตามสิ่งที่เขาคิดว่าเขาควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบมาตลอด แต่ครั้งนี้มันมีนัยยะทางการเมืองน้อยกว่า คือไม่มีเลย ในแง่บทบาทของทหาร มันจึงทำให้โดดเด่นยิ่งขึ้นว่าทหารมีไว้ช่วยประชาชน ก็ดีครับ ผมเชื่อว่าลึกๆ คนไทยส่วนใหญ่มองทหารในทางบวกมากๆ มองว่าเป็นที่พึ่งได้มากกว่าสถาบันทางการเมืองด้วยซ้ำไปหากดูประวัติศาสตร์ของไทย

ไทยพับลิก้า : คนมองว่าปชป. กับกองทัพตัดกันไม่ตายขายกันไม่ขาด เป็นไปได้หรือไม่ที่กองทัพจะเป็นตัวช่วยให้ปชป. กลับมามีอำนาจในทางการเมืองอีกครั้ง

ไม่เกี่ยวกันเลยครับ ไม่เกี่ยวเลย ต้องเอาความจริงมาพูดกัน หากวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งที่ออกมา จะเห็นว่าในเขตทหารส่วนใหญ่ไม่ได้เลือกปชป. ด้วยซ้ำไป ดังนั้นการเหมารวมมันเป็นเรื่องของจินตนาการทางการเมือง ที่พยายามโยงปชป. เข้ากับอะไรก็ไม่รู้ ผมไม่คิดว่าเป็นประเด็น นอกจากฝ่ายตรงข้ามพยายามกุขึ้นมา เพื่อให้ประชาชนเกลียดชังทั้งปชป. และทหาร

ไทยพับลิก้า : เลยกลายเป็นแนวร่วมมุมกลับกันเลย

อะไรประมาณอย่างนั้น แต่โดยข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น

ไทยพับลิก้า : หลังน้ำลด วิกฤตที่รัฐบาลต้องเผชิญคืออะไร

เรื่องความเชื่อมั่นสำคัญมาก มันก็มีคำถามแน่นอนว่า 1. แล้วจะเกิดขึ้นอีกหรือเปล่า นักลงทุนเขาต้องถาม และเขาต้องมีสมมุติฐานก่อนเลยว่าจะเกิด เพราะเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศเป็นสิ่งที่นานาประเทศสนใจ 2. ถ้ามันมีโอกาสเกิดขึ้นอีก คำถามคือเราพลาดไปอย่างไร มีอะไรจะเร่งทำเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น นี่คือสิ่งที่รัฐบาลต้องเสนอ แต่นี่ยังไม่ทันไร คุณบอกแล้วว่าจะใช้เงิน 8-9 แสนล้านบาท ซึ่งผมมั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าเขายังไม่รู้เลยว่าจะเอาเงินไปทำอะไร หรือถ้าบอกว่ารู้แล้ว ก็ทำตามที่หาเสียงไว้ไง ลาก่อนน้ำท่วม ซึ่งมันตอบโจทย์ผิดน่ะ

ดังนั้นยังไม่ทันไร ผมว่าเขาเริ่มจะทำลายความเชื่อมั่นของก้าวต่อไปในการฟื้นฟู เยียวยา และป้องกัน เพราะมันสะท้อนให้เห็นว่ามีประเด็นการเมือง มีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเป็นตัวนำมากกว่าตัวสาระ ตอนนี้พยายามเบี่ยงเบนปัญหาเฉพาะหน้า เพราะรู้ว่ามันเละแล้ว ก็เลยดันให้คนไปพูดถึงเรื่องอนาคต แต่มันไม่ใช่ครับ วันนี้ยังไม่จบ คุณเอาตรงนี้ให้จบก่อน

“กรณ์”เฉลยที่มา“บูทเจ้าปัญหา” รองเท้าไม่กัด แต่คนกัด

"วรกร จาติกวณิช" สวม "รองเท้าบูทแชนแนล" อีกครั้ง ขณะลงพื้นที่ร่วมกับบิ๊กปชป. เขตทวีวัฒนา เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อต่างๆ เมื่อครึ่งเดือนก่อน โดยเธอเป็นคนนำภาพดังกล่าวขึ้นโฟพสต์ในเฟซบุ๊ค พร้อมบรรยายว่า "เวลาไม่ใส่คนก็ถามถึง" ซึ่งปรากฏว่ามีบรรดาแฟนคลับเข้ามาเขียนให้กำลังใจ และบอกว่าอย่าได้แคร์
"วรกร จาติกวณิช" สวม "รองเท้าบูทแชนแนล" อีกครั้ง ขณะลงพื้นที่ร่วมกับบิ๊กปชป. เขตทวีวัฒนา เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2554 หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อต่างๆ เมื่อครึ่งเดือนก่อน โดยเธอเป็นคนนำภาพดังกล่าวขึ้นโพสต์ในเฟซบุ๊ค พร้อมบรรยายว่า "เวลาไม่ใส่คนก็ถามถึง" ซึ่งปรากฏว่ามีบรรดาแฟนคลับเข้ามาเขียนให้กำลังใจ และบอกว่าอย่าได้แคร์

จากสกู๊ปข่าวก๊อซซิป ทางหน้าสื่อไทยว่าด้วยเรื่อง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี สวมรองเท้าบูทลายสก๊อต ยี่ห้อ “เบอเบอรี่” ลงพื้นที่จ. นนทบุรีเพื่อตรวจน้ำท่วม และปล่อยขบวนเรือดันน้ำกลางแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา

กลายเป็นประเด็นร้อนที่สื่อระดับโลก หลายสำนักให้ความสนใจ แถมด้วยเสียงวิจารณ์ในทำนองค่อนขอดว่า “ผู้นำหญิง” ยังห่วงสวย-ติดหรูท่ามกลางหายนะครั้งใหญ่ของประเทศ ซึ่งทำให้คนไทยหลายล้านคนตกอยู่ในภาวะยากแค้นแสนเข็น ไม่มีที่ซุกหัวนอน-ไม่มีข้าวให้กิน

ทำให้ชื่อ “วรกร จาติกวณิช” หรือ “เจ” ภริยาสุดเลิฟของ “กรณ์” พลอยโกอินเตอร์ไปกับเขาด้วย

ด้วยเพราะเธอคือ “นารี” อีกคนที่สวมรองเท้าบูทแบรนด์เนม ยี่ห้อ “แชนแนล” ขณะลงพื้นที่ช่วยผู้ประสบภัยร่วมกับแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่วัดปุรณาวาศ เขตทวีวัฒนา เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2554

หลังปรากฏข่าว “ศรีภริยา” ตีคู่มากับ “นายกฯ” ในสื่อไทยและสื่อเทศ ฝ่ายสามีเผยว่า “ขำดี เราสนุกกับข่าวนี้มาก แต่เราไม่ใช่คนนำภาพขึ้นโพสต์ในเฟซบุ๊คเองนะ มันมีคนถ่ายรูปตอนที่คุณเจกำลังเดินอยู่ ซึ่งผมเป็นคนบอกว่าเฮ้ย! เจ รูปนี้เท่ห์ดี”

"กรณ์ จาติกวณิช" ทำหน้าที่พรีเซ็นเตอร์ สวมเสื้อยืดลายเรือกระดาษ ซึ่งวาดโดย "น้องปรางค์ เวชชาชีวะ" บุตรสาว "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าปชป. ซึ่งทางพรรคนำมาจำหน่ายตัวละ 200 บาท เพื่อหาเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
"กรณ์ จาติกวณิช" ทำหน้าที่พรีเซ็นเตอร์ สวมเสื้อยืดลายเรือกระดาษ ซึ่งวาดโดย "น้องปรางค์ เวชชาชีวะ" บุตรสาว "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าปชป. ซึ่งทางพรรคนำมาจำหน่ายตัวละ 200 บาท เพื่อหาเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

ก่อนเฉลยที่มาของรองเท้าบูทแชนแนลที่ “วรกร” สวมใส่ว่าเป็นของขวัญที่ตนซื้อให้ เนื่องในโอกาสครบรอบวันแต่งงานในปีหนึ่ง

“สมัยแต่งงานกันใหม่ๆ ผมเคยซื้อถุงมือทำสวนให้เขา ตอนวันครบรอบวันแต่งงาน เพราะเขาชอบทำสวน ชอบปลูกป่า แล้วเขาไม่พอใจมากๆ คล้ายๆ วันแต่งงาน ทำไมซื้อถุงมือทำสวนให้ ความจริงผมลืมเรื่องนี้ไปแล้ว กระทั่งผมทำหนังสือเมื่อ 2-3 ปีก่อน ซึ่งผู้เขียนไปสัมภาษณ์เพื่อนรักผม เพื่อนผมเล่าให้ผู้เขียนฟังว่าอีกปีหนึ่งผมจะไปซื้อเครื่องดูดฝุ่นให้กับเธอ แต่เพื่อนผมทักว่า “มึงจะบ้าหรือวะ” ดังนั้นการซื้อบูทยางให้เนี่ย มันเหมือนกับสอดคล้องกับเครื่องดูดฝุ่น เพียงแต่ว่าผมรู้ว่าภริยาผมชอบแฟชั่น และเขาหมายตาไอ้คู่นี้ไว้ ก็เลยซื้อมาให้จากสิงค์โปร์”

ในวันที่ “สื่อแทนใจ” กลายเป็น “อาวุธโจมตี” ศรีภริยา เขาบอกไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะ “วรกร” ไม่ใช่นักการเมือง

“มันไม่ได้มีเหตุผลอะไรที่เขาจะใส่ได้ หรือใส่ไม่ได้ ความจริงเขาใส่ก่อนด้วย โดยใส่ตอนวันเสาร์ ส่วนคุณยิ่งลักษณ์ใส่วันอาทิตย์ในสัปดาห์เดียวกัน ผมเข้าใจว่าคนทำข่าวนี้เพื่อให้แรงกดดันต่อตัวคุณยิ่งลักษณ์ลดลง ผมมั่นใจ แต่ผมไม่ได้มีปัญหากับบทความชิ้นนั้น เขาเขียนน่ารัก ลงรูปน่ารักเชียว”

เช่นเดียวกับ “วรกร” ที่ไม่เคยตำหนิ “ยิ่งลักษณ์” ในเรื่องนี้ ซึ่งไม่ใช่เป็นเพราะเป็นคน “หัวอกเดียวกัน” แต่คิดว่าใครจะใส่อะไรมันเรื่องของเขา ยิ่งลักษณ์จะใส่ก็เรื่องของเขา เงินเขาซื้อเอง

“แต่ข้อเท็จจริงเราปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพสำคัญ ในขณะที่ประชาชนเดือดร้อนอยู่ คุณเป็นผู้นำประเทศ แต่คุณแสดงภาพออกมาว่ายังแคร์เรื่องสวยเรื่องงาม มันก็เสี่ยงต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งก็เหมือนเสื้อที่คุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ) ใส่ มันเป็นเรื่องไม่เป็นเรื่องน่ะนะ แต่ถ้าคนจะมองให้เป็นเรื่อง มันก็เป็นเรื่องได้ ยิ่งคุณเจยิ่งไม่ใช่เรื่องเลย เพราะไม่ได้เป็นนักการเมือง แต่คุณเจไม่เคยตำหนิคุณยิ่งลักษณ์ในเรื่องนี้ คุณยิ่งลักษณ์ไม่ควรยอมแพ้กระแส หลังจากวันนั้นเธอเลิกใส่เลย แต่ภริยาผมยังใส่ต่อ ลงพื้นที่ล่าสุดก็ยังใส่” เขาพูดพลางหัวเราะ

"วรกร จาติกวณิช" นำภาพสามีขึ้นโพสต์บนเฟซบุ๊ค โดยเขียนบรรยายว่า "ตัวนี้แช่น้ำมา 3 วันแล้ว มีคนใจดีช่วยออกมา น่าสงสารมาก T-T" ซึ่งเป็นภาพที่ถ่ายไว้ขณะแกนนำปชป. ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประสบภัยย่านแม้นศรี กทม. เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
"วรกร จาติกวณิช" นำภาพสามีขึ้นโพสต์บนเฟซบุ๊ค โดยเขียนบรรยายว่า "ตัวนี้แช่น้ำมา 3 วันแล้ว มีคนใจดีช่วยออกมา น่าสงสารมาก T-T" ซึ่งเป็นภาพที่ถ่ายไว้ขณะแกนนำปชป. ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประสบภัยย่านแม้นศรี กทม. เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ก่อนกล่าวทิ้งท้ายว่า ที่ตลกคือความพยายามของเครือข่ายแก้ตัว-แก้ต่างให้ “นารี 1” ซึ่งยิ่งทำให้ออกมาไม่ดี แทนที่จะปล่อยๆ มันไปไอ้เรื่องไร้สาระ

“อาจต้องยอมถูกคนแซว ถูกคนกัดเป็นครั้งคราว แต่ไปปรากฏในคอลัมน์สังคมของหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ว่าทีมงานออกมาบอกว่าอันนี้เป็นรองเท้าซื้อจากกวางเจา คนระดับคุณยิ่งลักษณ์ ทำไมต้องไปซื้อของเก๊ และนายกฯ ใส่ของเก๊นี่ผิดกฎหมายอีกต่างหาก เหมือนมีเพื่อนคอยช่วย แต่จริงๆ ช่วยทำให้ยิ่งแย่ลง”

คือความเห็นจากคนต่างขั้ว-ต่างพรรคในวันที่ 2 นารีถูกคนจิกกัด หลังสวม “บูทเจ้าปัญหา”!!!