ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ปตท. แก้ “ก๊าซเอ็นจีวี 2 มาตรฐาน” ยิ่งแก้ ยิ่งบานปลาย ปล่อย CO2 ตรึม

ปตท. แก้ “ก๊าซเอ็นจีวี 2 มาตรฐาน” ยิ่งแก้ ยิ่งบานปลาย ปล่อย CO2 ตรึม

15 กันยายน 2011


จากกรณีที่บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหลว ในก๊าซเอ็นจีวีเพื่อปรับค่าความร้อนให้เท่ากันนั้น ยังเป็นประเด็นที่นักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นสาเหตุที่ทำให้ถังผุกร่อนหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้แหล่งข่าวจากคณะกรรมาธิการกำกับกิจการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎรเปิดเผยว่า สำหรับตัวเนื้อก๊าซที่จะนำไปเติมในถังที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 11439 จะต้องมีคุณสมบัติ 1) กรณีเป็นก๊าซแห้งจะต้องมีไอน้ำ (H2O) เจือปนเข้ามาได้ไม่เกิน 32 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 2) กรณีที่เป็นก๊าซเปียกตามมาตรฐาน ISO 11439 ระบุชัดว่าในเนื้อก๊าซจะมี CO2 เจือปนอยู่มากกว่า 4% ของปริมาตรก๊าซไม่ได้

ทั้งนี้การกำหนดคุณสมบัติก๊าซเพราะเกรงว่า CO2 ที่มีปริมาณเกินกว่าที่กำหนดจะไปทำปฏิกิริยากับไอน้ำที่ปะปนอยู่ในเนื้อก๊าซ แล้วกลายเป็นกรดคาร์บอนิคเข้าไปกัดกร่อนผนังด้านในของตัวถังก๊าซ ซึ่งจะมีผลทำให้ถังก๊าซมีอายุการใช้งานที่สั้นลง หรือมีประสิทธิภาพในการรับแรงดันลดลง ขณะนี้ก็มีนักวิชาการหลายคนไม่แน่ใจว่าก๊าซเอ็นจีวีที่เติมในรถยนต์จะมีความชื้น หรือน้ำเจือปนหรือไม่ โดยก๊าซที่มาจากพม่าซึ่งไม่ได้ผ่านกระบวนการแยกก๊าซ

ต่อประเด็นนี้ได้สอบถามดร.เติมชัย บุนนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัทปตท.ซึ่งได้ยืนยันว่า “ตัวเนื้อก๊าซเอ็นจีวี ที่ปตท.นำมาเติมให้ลูกค้าเป็นก๊าซแห้ง ไม่มีน้ำ (H2O) เจือปนอยู่ในเนื้อก๊าซ จึงไม่มีผลที่จะไปทำให้ตัวผนังด้านในของถังเกิดอาการผุกร่อน”

คุณสมบัติก๊าซแต่ละแหล่ง

จากข้อมูลของภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งเก็บตัวอย่างก๊าซเอ็นจีวีที่มาจากแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติ 4 แห่งมาทำการวิเคราะห์ พบว่าเนื้อก๊าซจากแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติทั้ง 4 แห่งมีคุณภาพที่แตกต่างกัน เนื้อก๊าซเอ็นจีวีจากแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติน้ำพอง จ.ขอนแก่น และจากแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติสิริกิติ์ จ.กำแพงเพชรจะมี CO2 เจือปนอยู่เพียง 1-2% ของปริมาตร ถือว่าเนื้อก๊าซบริสุทธิ์มาก เมื่อนำไปทำให้เกิดการเผาไหม้จะให้ค่าพลังงานความร้อน หรือค่าดัชนีวอบบี้สูงมาก

ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมี CO2 เจือปนอยู่ที่ 12.7– 14.4% ของปริมาตร และให้ค่าพลังงานความร้อนอยู่ที่ 41.9-44 เมกกะจุล/ลูกบาศก์เมตร (MJ/M3) ขณะที่ก๊าซจากพม่ามี CO2 ประมาณ 6.2-6.4% ของปริมาตร และให้ค่าพลังงานความร้อนอยู่ที่ 38.9-39.3 MJ/M3 ต่อมาโรงแยกก๊าซจากอ่าวไทยมีการปรับปรุงกระบวนการผลิต จนทำให้ก๊าซที่ผ่านโรงแยกก๊าซที่นั่นมีคุณภาพดี และมี CO2 ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ

ส่วนก๊าซจากพม่าเป็นก๊าซที่ไม่ผ่านกระบวนการแยกก๊าซ วัตถุประสงค์เดิมนำไปใช้ในโรงงานผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก ต่อมารัฐบาลหันมาสนับสนุนให้ประชาชนเปลี่ยนไปใช้ก๊าซเอ็นจีวี ทำให้ปริมาณก๊าซที่ผลิตจากอ่าวไทยมีไม่เพียงพอกับความต้องการ ทางบริษัทปตท.แก้ปัญหาด้วยการเร่งสร้างปัํมที่อยู่ตามแนวท่อก๊าซ จากนั้นก็สูบก๊าซพม่าขึ้นมาเติมให้กับรถยนต์

ปรากฏว่ารถยนต์ที่ปรับจูนเครื่องยนต์ให้เข้ากับก๊าซพม่า เมื่อรถยนต์วิ่งข้ามฝั่งมาเติมก๊าซเอ็นจีวี ที่มาจากอ่าวไทยซึ่งมีคุณภาพดีกว่า ทำให้เครื่องยนต์มีอาการสะดุดน้อคดับ สาเหตุเพราะเนื้อก๊าซจากแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติทั้ง 2 แหล่งมีคุณสมบัติแตกต่างกันและให้ค่าพลังงานความร้อนไม่เท่ากัน เมื่อมีการนำรถยนต์วิ่งข้ามฝั่งมาเติมก๊าซอีกที่หนึ่งจะมีผลทำให้ส่วนผสมระหว่างก๊าซกับอากาศเพี้ยน

รถบรรทุกกำลังถ่ายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหลวใส่ถังที่สถานีบริการของปตท.
รถบรรทุกกำลังถ่ายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหลวใส่ถังที่สถานีบริการของปตท.

ปรับคุณภาพก๊าซ 2 มาตรฐาน ติดป้าย CO2 อันตรายระดับ 3

จากการสอบถามดร.เติมชัยว่าปตท.มีนโยบายที่จะพัฒนาคุณภาพก๊าซให้มีมาตรฐานเดียวกันหรือไม่ ดร.เติมชัยกล่าวว่าบริษัทปตท.ยังไม่มีนโยบายที่จะไปลงทุนตั้งโรงแยกก๊าซที่ประเทศพม่า เพราะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก และยังมีความไม่แน่นอนทางการเมืองสูง บรษัทปตท.จึงแก้ปัญหาคุณภาพก๊าซ 2 มาตรฐานโดยการนำก๊าซ CO2 เติมกลับเข้าไปในเนื้อก๊าซที่มาจากแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติที่อ่าวไทย

ทั้งนี้ในเดือนกันยายน 2553 ทางบริษัทปตท.จึงทำการปิดสถานที่เพื่อปรับปรุงคุณภาพก๊าซเอ็นจีวี ด้วยการลงทุนถังบรรจุก๊าซ CO2 เป็นเงินประมาณ 6 ล้านบาทต่อปั๊ม โดยติดตั้งที่ปั๊มก๊าซทางฝั่งตะวันออก 70 แห่ง คิดเป็นมูลค่ากว่า 400 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อลดคุณภาพเนื้อก๊าซจากอ่าวไทย ลงมาให้เท่ากับก๊าซจากพม่าเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยการเติม CO2 เข้าไป ในระดับที่ไม่เกิน 18% ของปริมาตร ตามที่ประกาศของกรมธุรกิจพลังงาน

ถังก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สถานีบริการ
ถังก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สถานีบริการ

ขณะที่มาตรฐานสากลกำหนดให้เติม CO2 ได้ไม่เกิน 3% ของปริมาตร ทั้งนี้เพื่อปรับค่าพลังงานความร้อนให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกันทั่วประเทศ ซึ่งอาจจะมีผลทำให้ถังก๊าซผุกร่อนเร็วกว่ากำหนด และยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์

ป้ายคำเตือนที่ติดอยู่หน้าถังบรรจุก๊าซ CO2 ที่ปั๊มปตท. ระบุชัดว่ามีอันตรายต่อสุขภาพอยู่ในระดับ 3 ดังนั้นจึงมีปั๊มเอกชนเปิดใหม่ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายก๊าซของบริษัทปตท. หันไปใช้ก๊าซไนโตรเจนเหลวเข้ามาเติมผสมอยู่ในเนื้อก๊าซเอ็นจีวีแทน CO2 เนื่องจากก๊าซชนิดนี้มีคุณสมบัติเป็นก๊าซเฉื่อย ไม่ทำปฏิกิริยากับถังก๊าซหรือภาชนะบรรจุ

ป้ายเตือนว่าคาร์บอนไดออกไซดเหลวอันตราย
ป้ายเตือนว่าคาร์บอนไดออกไซดเหลวอันตราย

นอกจากนี้การเติมก๊าซ CO2 เข้าไปในเนื้อก๊าซเอ็นจีวี ยังไม่มีผลต่อการสันดาปของเครื่องยนต์ ดังนั้นการเติมก๊าซ CO2 เข้าไปในผสมกับก๊าซเอ็นจีวีในปริมาณเท่าใด ภายหลังการเผาไหม้ก็จะปล่อยก๊าซ CO2 ออกมาในปริมาณเท่านั้น ทำให้เกิดปัญหาก๊าซเรือนกระจก หรือภาวะโลกร้อนตามมา

สวนกระแสลดโลกร้อน ปล่อย CO2 เฉียด 3 แสนตันต่อปี

ปัจจุบันบริษัทปตท. มียอดจำหน่ายก๊าซเอ็นจีวีประมาณ 6,800 ตันต่อวัน หรือ 6.8 ล้านกิโลกรัม/วัน หากตัวเนื้อก๊าซเอ็นจีวีที่มาจากแหล่งก๊าซธรรมชาติมี CO2 เจือปนอยู่ที่ 9% จากนั้นบริษัท ปตท.เติม CO2 กลับเข้าไปอีก 3% รวมเป็น 12% ดังนั้นจะมี CO2 ถูกปล่อยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกประมาณ 816 ตันต่อวัน หรือปีละ 297,840 ตัน

ขณะเดียวกันปตท. แก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการเร่งพัฒนากล่องสมองกล ( Electronic Control Unit :ECU ) ขึ้นมาควบคุมการสั่งจ่ายก๊าซเอ็นจีวี รวมถึงการปรับองศาการจุดระเบิดที่แม่นยำ รองรับค่าความร้อนได้กว้างขึ้นกว่าเดิม แต่ก็มีปัญหาตามมา คือรถยนต์แต่ละยี่ห้อมีกลไกที่ควบคุมการทำงานเครื่องยนต์ที่แตกต่างกัน ทำให้ต้องมีการศึกษาและพัฒนากล่อง ECU มาควบคุมการจ่ายก๊าซให้สอดรับกับรถยนต์แต่ละรุ่น แต่ละยี่ห้อ ซึ่งยังต้องใช้เวลาอีกนาน แต่ถ้าพัฒนาจนประสบความสำเร็จนำมาผลิตออกขายจะมีราคาอยู่ที่ตัวละ 10,000 บาท ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบกับค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ผู้บริโภค หรือบริษัทปตท. หรือออกค่าใช้จ่ายคนละครึ่ง หากผลิต ECU ได้ สำเร็จ ดร.เติมชัยกล่าวว่าปตท.จะหยุดการเติม CO2 ในก๊าซเอ็นจีวีทันที

ถ่ายน้ำมันออกจากถังก๊าซ
ถ่ายน้ำมันออกจากถังก๊าซ

เติมก๊าซแถมน้ำมันเครื่อง

นอกจากนี้ในของถังก๊าซ เมื่อลูกค้านำรถยนต์ไปเติมก๊าซที่ปั้มเป็นระยะเวลา 4 ปี หรือวิ่งไปประมาณ 200,000 กิโลเมตร จะมีน้ำมันเครื่องเล็ดลอดเข้าไปสะสมอยู่ในถังแทนที่ก๊าซเอ็นจีวีประมาณ 2-3 ลิตร ทำให้ถังเติมก๊าซเอ็นจีวีได้น้อยลง และรถยนต์วิ่งได้ระยะทางสั้นลง เจ้าของรถยนต์รายใดทนไม่ไหวก็ต้องไปให้อู่ติดตั้งถอดถังออกมาคว่ำถ่ายน้ำมันเครื่องที่อยู่ในถังทิ้ง ซึ่งปัญหานี้จะพบมากในรถแท็กซี่ โดยเฉพาะรถยนต์ที่ติดตั้งก๊าซเอ็นจีวีในระบบหัวฉีด นอกจากจะเติมก๊าซได้น้อยลงแล้ว ยังมีน้ำมันเครื่องเล็ดลอดผ่านกรองก๊าซที่ดักไว้เข้าไปเกาะอยู่ที่หัวฉีด เมื่อใช้ไปนานๆ เกิดเขม่าดำ หรือหัวฉีดสกปรก ทำให้การจ่ายก๊าซเข้าไปผสมกับออกซิเจนเพี้ยน แต่ถอดมาล้างอาการนี้ก็จะหายไป

ในประเด็นนี้ทางผู้บริหารของบริษัท ปตท. ชี้แจงว่า ตัวน้ำมันเครื่องที่หลุดเข้าไปในถังก๊าซไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมที่จะไปมีผลต่อการกัดกร่อนผนังด้านในของถัง ในทางตรงกันข้ามกลับจะมีผลดีช่วยลดการกัดกร่อน เพราะเป็นน้ำมันเครื่องเกรดดีที่สุดของปตท. สาร SYNTHETIC ที่หลุดจะเข้าไปจะกลายเป็นฟิล์มเคลือบผนังด้านในของถังป้องกันการกัดกร่อน ซึ่งที่ปั๊มของปตท.ก็มีการติดตั้งตัวกรองก๊าซถึง 2 จุดแล้ว แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีน้ำมันเครื่องหลุดเข้าไปในถังขณะเติม