ทักษิณ ชินวัตร

4 กันยายน 2014


นักธุรกิจ นายกรัฐมนตรีคนที่ 23

พันตำรวจโท ดร. ทักษิณ ชินวัตร (Thaksin Shinawatra) เป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 23 ดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. 2544–พ.ศ. 2549 พ้นจากตำแหน่งโดยการการรัฐประหาร

เป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย และได้รับการจัดให้เป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกที่ต้องใช้ชีวิตนอกแผ่นดินเกิดระหว่างการหลบหนีคดีความอาญา

พ.ต.ท.ทักษิณ เคยเป็นนักธุรกิจโทรคมนาคมและการสื่อสาร ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทโทรคมนาคมและการสื่อสารขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อดีตข้าราชการตำรวจ อดีตเจ้าของและประธานสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีแห่งประเทศกัมพูชา สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน และอดีตที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา มีสัญชาติไทยโดยการเกิด เคยถือสัญชาตินิการากัว ปัจจุบันถือสัญชาติมอนเตเนโกร

ประวัติ

พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เกิดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2492 ที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุตรคนที่สอง ในจำนวน 10 คนของเลิศ และยินดี ชินวัตร ธิดาในเจ้าจันทร์ทิพย์ (ณ เชียงใหม่) ระมิงค์วงศ์ มีศักดิ์เป็นหลานทวดในเจ้าไชยสงครามสมพมิตร ณ เชียงใหม่ (ราชปนัดดาในพระเจ้าช้างเผือกธรรมลังกา เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 2) 

 

 มีพี่น้อง 10 คน อาทิ เยาวเรศ ชินวัตร อดีตประธานสภาสตรีแห่งชาติ เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ และพายัพ ชินวัตร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อีกทั้งยังเป็นพี่เขยของสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ผ่านทางเยาวภาผู้เป็นน้องสาว 

 

เป็นหลานอาของสุเจตน์ ชินวัตร อดีตนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และสุรพันธ์ ชินวัตร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ และเป็นลูกพี่ลูกน้องกับพลเอก ชัยสิทธิ์ ชินวัตร อดีตผู้บัญชาการทหารบกและอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด

 

พันตำรวจโท ทักษิณ สมรสกับคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ หลังลาออกจากราชการตำรวจ ในปี พ.ศ. 2523 และมีบุตรด้วยกันสามคน ได้แก่ พานทองแท้ ชินวัตร (โอ๊ค) พินทองทา ชินวัตร (เอม) สมรสกับณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2554 และแพทองธาร ชินวัตร (อิ๊ง)

 

พ.ต.ท.ทักษิณ มีชื่อเล่นว่า น้อย ส่วนชื่อ แม้ว เป็นฉายาที่เพื่อนร่วมรุ่น โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 10 (ตท.10) ตั้งให้

 

การศึกษา

  • ระดับมัธยม จากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย
  • ระดับอุดมศึกษา ที่โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 10 (พ.ศ. 2512)
  • โรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 26 (พ.ศ. 2516) โดยสอบได้คะแนนเป็นที่หนึ่งของรุ่น
  • ระดับปริญญาโท โดยได้รับทุนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ในสาขากระบวนการยุติธรรม ที่มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเคนทักกี สำเร็จการศึกษาในปี 2518
  • สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ในสาขาเดียวกัน ที่มหาวิทยาลัยแซมฮิวสตันสเตต เมื่อปี 2521
  • เป็นดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ในสาขาวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2537
  • เขายังได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์พิเศษ แห่งมหาวิทยาลัยทากุโชกุ กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น ในปี 2550

 

การทำงาน: ราชการ และธุรกิจ

พ.ต.ท. ทักษิณ เริ่มทำงานโดยเป็นหัวหน้าแผนกแผน 6 กองวิจัยและวางแผน กองบัญชาการตำรวจนครบาล รองผู้อำนวยการศูนย์ประมวลข่าวสาร กองบัญชาการตำรวจนครบาล และอาจารย์ประจำโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ตามลำดับ

 

ในปี  2523 พันตำรวจโท ทักษิณ เริ่มต้นทำธุรกิจส่วนตัวหลายอย่าง ควบคู่ไปกับการรับราชการตำรวจ เช่น ค้าขายผ้าไหม กิจการโรงภาพยนตร์ ธุรกิจคอนโดมิเนียม แต่กลับประสบความล้มเหลว เป็นหนี้สินกว่า 50 ล้านบาท ในระหว่างนั้นจึงได้ลาออกจากราชการ

 

ต่อมาในปี 2526 พันตำรวจโท ทักษิณก่อตั้งบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ จำกัด (เดิมชื่อ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไอซีเอสไอ (ICSI)) บริษัทนี้ดำเนินธุรกิจวิทยุติดตามตัว ให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์แก่สำนักงานต่างๆ จนกระทั่งขยายกิจการ ไปสู่การให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ดาวเทียม อินเทอร์เน็ต เครือข่ายการสื่อสาร และการโทรคมนาคมครบวงจร

 

เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมกับเพิ่มชื่อเป็นบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชันส์ จำกัด เมื่อปี 2533 

 

ต่อมาบริษัท ชินวัตรฯ ลงนามในสัญญาสัมปทานร่วมกับกระทรวงคมนาคม (ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงคู่สัญญาเป็นกระทรวงไอซีที) เพื่อดำเนินกิจการโครงการดาวเทียมสื่อสารเป็นครั้งแรกของไทย ภายใต้ชื่อไทยคม เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2534 หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันเป็นบริษัทโทรคมนาคมและการสื่อสาร ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

 

การทำงาน: การเมือง

ในปี 2518 พันตำรวจโท ทักษิณเริ่มงานการเมืองเป็นครั้งแรก โดยดำรงตำแหน่งเลขานุการของปรีดา พัฒนถาบุตร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ยังไม่ได้เข้ามาอย่างเต็มตัว

 

หลังจากนั้นในปี 2537 พันตำรวจโท ทักษิณลาออกจากตำแหน่ง ประธานกรรมการและประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น และเข้าสู่ภาคการเมืองโดยพลตรีจำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ชักนำ จึงได้โอนหุ้นในบริษัทของตนให้คุณหญิงพจมาน พานทองแท้ พินทองทา แพทองธาร และคนรับใช้ คนสนิทถือแทน

 

จากนั้นไม่นาน ก็เข้าดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในสมัย รัฐบาลชวน หลีกภัย และในปีต่อมา เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังธรรมแทนพลตรีจำลอง และดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา ในปี พ.ศ. 2539 ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ

 

วันที่ 14 กรกฎาคม 2541 พันตำรวจโท ทักษิณก่อตั้งพรรคไทยรักไทย และดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค จนในที่สุดก็ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544

 

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

พันตำรวจโท ทักษิณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยคนที่ 23 โดยดำรงตำแหน่งสองสมัยติดต่อกัน ระหว่างวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 – 11 มีนาคม 2548 หลังจากสภาผู้แทนราษฎรครบวาระ และดำรงตำแหน่งอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2548 – 19 กันยายน 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้าคณะ ทำการรัฐประหาร

 

หลังจากพ้นตำแหน่ง

ภายหลังเกิดการรัฐประหารได้ออกนอประเทศ และพำนักอยู่ในประเทศอังกฤษ ระยะหนึ่ง แล้วกลับมาประเทศไทยเพื่อรายงานตัวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีทุจริตที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษก ต่อด้วยการรายงานตัวต่ออัยการสูงสุด ในคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัท เอสซีแอสเซท จำกัด (มหาชน) ในเครือชินคอร์ป

 

ระหว่างที่กำลังมีการดำเนินคดีที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษก พันตำรวจโท ทักษิณและภริยา เดินทางไปต่างประเทศอีกครั้ง ภายหลังศาลอ่านคำวินิจฉัยว่า พันตำรวจโท ทักษิณมีความผิดในคดีดังกล่าว พันตำรวจโท ทักษิณจึงไม่เดินทางกลับมายังประเทศไทย

 

วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 พันตำรวจโท ทักษิณตัดสินใจจดทะเบียนหย่ากับคุณหญิงพจมาน ด้วยเหตุผลทางการเมือง ที่สถานกงสุลใหญ่ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง หลังจากสมรสและใช้ชีวิตคู่มานานถึง 32 ปี

 

นับแต่นั้นเป็นต้นมา พันตำรวจโท ทักษิณมีการเคลื่อนไหวผ่านกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ผ่านการปราศรัยด้วยวิธีโทรศัพท์ทางไกลเข้าสู่ที่ชุมนุม (โฟนอิน) และการส่งสัญญาณภาพและเสียงมายังที่ชุมนุม (วิดีโอลิงก์) พร้อมทั้งอดีตสมาชิกพรรคพลังประชาชน และสมาชิกพรรคเพื่อไทย ก็ให้การสนับสนุน

 

ข้อมูลประวัติจาก http://th.wikipedia.org/ 

ภาพจาก http://9poto.com/

Homepage:

ป้ายคำ :