ThaiPublica > จับเท็จ: ประเด็น > แจงแค่ศึกษา “ซิงเกิล เกตเวย์”

แจงแค่ศึกษา “ซิงเกิล เกตเวย์”

6 พฤศจิกายน 2015


บริบท

จากกระแสข่าวว่ารัฐบาลมีนโยบายจะนำระบบ “ซิงเกิล เกตเวย์” มาใช้ในประเทศไทย โดยมีการนำมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวออกมาเผยแพร่ในสังคมออนไลน์ ทำให้เป็นกระแสคัดค้านจากประชาชนนำไปสู่การรวมตัวต่อต้านนโยบายซิงเกิลเกตเวย์ ทั้งการเริ่มแคมเปญ “ต่อต้านการตั้งซิงเกิลเกตเวย์” (Go against Thai govt to use a Single Internet Gateway.) ในเว็บไซต์ โดย 10 วันนับตั้งแต่วันจัดตั้งแคมเปญบน (24 ก.ย.58) จนถึงปัจจุบัน (3 ต.ค.58) มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนแล้ว 144,000 ราย และมีการร่วมกันถล่มเว็บไซต์เชิงสัญลักษณ์ ด้วยวิธีการ DDoS ทำให้เว็บไซต์ของราชการล่ม ใช้งานไม่ได้ไปหลายเว็บไซต์ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา

จากกระแสดังกล่าวทำให้ฝ่ายรัฐบาลมีการออกมาโต้แย้งเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวว่าเป็นแค่การศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น ยังไม่มีคำสั่งให้นำมาใช้จริงแต่อย่างใด

วิเคราะห์ข้อมูล

จากการเปิดเผยข้อมูลของเพจเฟสบุ๊กหยุดดัดจริตประเทศไทย ที่นำคำสั่งของนายกรัฐมนตรีจากการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 โดยข้อความในเอกสารดังกล่าวข้อสังการนายกรัฐมนตรีในการแก้ไขปัญหาด้านสังคมข้อ 1.2 ระบุว่า

“ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และกระทรวงศึกษาธิการร่วมกันกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ และก่อปัญหาต่อพฤติกรรมและคุณภาพในการเรียนรู้ของเด็ก เช่น การติดเกมส์ออนไลน์ การเข้าถึงสื่อที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงยุติธรรมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการจัดตั้ง Single Gateway เพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมและการไหลเข้าของข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต โดยให้ตรวจสอบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากมีความจำเป็นต้องออกกฎหมายเพิ่มเติม ก็ให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วต่อไปด้วย”

ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตั้ง "ซิงเกิล เกตเวย์"

จากนั้นที่ประชุม ครม.ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 ข้อสั่งการของนากรัฐมนตรีในเรื่องการบริหารงานราชการแผ่นดินและอื่นๆ ข้อ 4.1 ระบุว่า

“ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการจัดตั้ง Single Gateway เพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมและการไหลเข้าของข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต ตามมติคณะรัฐมนตรี (30 มิถุนายน 2558) โดยด่วนต่อไป”

ต่อมาในวันที่ 4 สิงหาคม 2558 ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการบริหารงานราชการแผ่นดิน และอื่นๆ นั้นในข้อ 2.2 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการสร้างความเข้าใจในการทำงานของรัฐบาลกับประชาชน และเร่งดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยเรื่องซิงเกิล เกตเวย์ เป็นหนึ่งในเรื่องที่มีคำสั่งให้เร่งดำเนินการ

“กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รายงานความคืบหน้าการจัดตั้ง Single Gateway เพื่อเป็นเครื่องมือควบคุมเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมและการไหลเข้าของข้อมูลข่าวสารผ่านอินเทอร์เน็ต”

และในวันที่ 25 สิงหาคม 2558 ได้มีข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีให้กระทรวงไอซีที และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ และรายงานความคืบหน้าให้นายกรัฐมนตรีทราบภายในเดือนกันยายน 2558

“ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (4 สิงหาคม 2558) ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบมาตรการและโครงการสำคัญต่าง ๆ เร่งดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ซึ่งรวมถึงเรื่องการจัดตั้ง single gateway ที่ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้รับผิดชอบ โดยให้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการให้นายกรัฐมนตรีทราบภายในเดือนสิงหาคม 2558 นั้น ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเร่งรัดการดำเนินการเรื่องดังกล่าวและรายงานความคืบหน้าให้นายกรัฐมนตรีทราบภายในเดือนกันยายน 2558 ต่อไปด้วย”

ขณะเดียวกันเว็บไซต์แนวหน้าได้รายงานเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2558 โดยอ้างอิงแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล รัฐบาลได้เคยส่งคณะทำงานไปศึกษาการจัดทำโครงข่าย และประเมินงบประมาณที่ต้องใช้จ่ายในโครงการ ในงบประมาณการจัดทำซิงเกิลเกตเวย์ ที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อช่วงเดือนกันยายน 2558 โดยการดำเนินการต้องใช้งบประมาณวงเงินสูงถึง 1.6 หมื่นบ้านบาท ในการสร้างเซิร์ฟเวอร์ และวางระบบใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อโครงข่ายให้เป็นท่อเดียว

ทั้งนี้รายงานดังกล่าวยังระบุอีกว่า โครงการซิงเกิล เกตเวย์เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ (ในขณะนั้น) ได้เสนอทำแผนศึกษาไว้เบื้องต้น พร้อมแผนสร้างระบบเศรษฐกิจดิจิตอลในประเทศ

สรุป

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่ามีแนวทางที่รัฐบาลจะนำระบบ “ซิงเกิล เกตเวย์” มาใช้ในไทยอย่างจริงจัง ผ่าน “ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี” ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2558 และมีการเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ พร้อมทำความเข้าใจกับประชาชนอีกถึง 3 ครั้ง

และเมื่อเอกสารยืนยันว่าเป็นข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ดังนั้นคำกล่าวของ ม.ล.ปนัดดา ที่ว่า “เรื่อง 'ซิงเกิล เกตเวย์' …ท่าน (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี)ยังไม่เคยพูดสักคำว่าจะใช้ระบบดังกล่าว” จึงอยู่ในเกณฑ์ “เป็นเท็จ”

ป้ายคำ :