ThaiPublica > จับเท็จ: ประเด็น > “เกลือหิมะ” บทเรียนราคาแพง สำหรับ “ตัน ภาสกรนที”

“เกลือหิมะ” บทเรียนราคาแพง สำหรับ “ตัน ภาสกรนที”

8 กุมภาพันธ์ 2015


บริบท

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2557 นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้เปิดโครงการ Think Park บริเวณสี่แยกรินคำ ถนนนิมมานเหมินทร์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยได้จัดกิจกรรม Nimman Snow Festival ด้วยการนำเกลือบริสุทธิ์คุณภาพพิเศษแบบชื้น หรือ Refined Salt ที่มีปริมาณรวมกว่า 200 ตัน มาเทลงบนพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ของ Think Park มีการจำลองตุ๊กตาหิมะและเกล็ดหิมะ กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวชมหิมะกลางเมือง เชียงใหม่ ซึ่งนักท่องเที่ยวและประชาชนสามารถเข้าชมเมืองหิมะได้ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2557 จนถึงวันที่ 4 มกราคม 2558 ตามกำหนดการที่วางไว้ และจะนำเกลือหิมะดังกล่าวส่งให้กับทางจังหวัดเชียงใหม่นำไปทำโป่งเทียม เพื่อเป็นอาหารสำหรับสัตว์ป่าต่อไป

 

นายตัน ภาสกรนที เปิดงาน Nimman Snow Festival พร้อมด้วยบุตรสาว และเด็กๆ กำลังเล่นเกลือหิมะ

ภาพจาก http://www.oknation.net/blog/nfedlion/2014/12/23/entry-2

 

ต่อมาได้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์การนำเกลือบริสุทธิ์ดังกล่าวมาใช้ในการจัดงานว่าอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหากไหลกระจายออกไปตามท่อระบายน้ำและนอกบริเวณดังกล่าว รวมทั้งอาจเป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์โดยเฉพาะเด็ก มีการส่งต่อภาพของเกลือหิมะที่กระจายออกมาบริเวณถนนด้านหน้า และภาพที่อ้างว่ามีการนำเกลือดังกล่าวใส่ลงรอบโคนต้นไม้ในงาน

 

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้งาน Nimman Snow Festival จัดได้เพียง 2 วัน ก็ต้องถูกยกเลิกก่อนกำหนด โดยนายตันได้โพสต์ข้อความชี้แจงในเฟซบุ๊ก พร้อมรายงานความคืบหน้าในการเก็บกวาดเกลือหิมะทั้งหมดในคืนวันที่ 22 ธันวาคม 2557

 

วิเคราะห์ข้อมูล

เมื่อเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ที่หวั่นผลกระทบจากเกลือปริมาณมหาศาลทำให้ในวันที่ 21 ธันวาคม 2557 สาธารณสุข จ.เชียงใหม่ ได้เข้าไปตรวจสอบพื้นที่ Think Park ที่ใช้จัดงาน Nimman Snow Festival พบว่าเกลือที่นำมาใช้ทำหิมะจำลองของโครงการดังกล่าวเป็นเกลือบริสุทธิ์ชนิดที่ยังไม่มีการใส่ไอโอดีน และตัวเกลือเองไม่ใช่สารเคมี ดังนั้น ผลกระทบต่อร่างกายเด็ก จึงมีความน่าเป็นห่วงในเรื่องที่ว่าหากเด็กกินเกลือเข้าปากไปอาจจะเค็ม หรืออาจมีสิ่งสกปรกที่เจือปนเข้าไปเท่านั้น

 

ส่วนกรณีเกลือดังกล่าวจะกัดเท้าเป็นอันตรายหรือไม่นั้น นายแพทย์ไพศาล ธัญญาวินิชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า “ไม่น่าห่วง เนื่องจากเกลือมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรค ตัวที่น่าจะทำให้เกิดอาการแสบได้คือไอโอดีน ซึ่งเกลือที่นำมาใช้ในครั้งนี้เป็นประเภทที่ไม่มีการเติมสารไอโอดีนแต่อย่างใด กิจกรรมดังกล่าวจึงไม่น่าส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน”

 

ต่อมาในวันที่ 22 ธันวาคม 2557 นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้สั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้าไปตรวจสอบพื้นที่จัดงานดังกล่าว โดยนายจงคล้าย วรพงศธร ผู้อำนวยการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเชียงใหม่ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจสอบว่า “การปนเปื้อนของเกลือลงสู่แหล่งน้ำ ซึ่งจากการตรวจสอบเราพบว่า มีเกลือไหลลงไปในท่อ 1 ท่อ ผ่านหน้าห้างเซ็นทรัลฯ ลงไปยังบ่อบำบัดน้ำเสียของเทศบาลฯ แต่ไม่ลงไปยังคูเมือง ทั้งนี้เป็นปริมาณที่ไม่ได้มากมายในระดับที่จะส่งผลใดๆ จากย่านนี้มีท่อรอบบริเวณรวม 5 ท่อ”

 

โดยภาพรวมเมื่อตรวจสอบแล้วกิจกรรมดังกล่าวไม่ขัดต่อข้อบังคับทางกฎหมายใด ซึ่งนายจงคล้ายกล่าวต่อไปว่า ทางบริษัทที่จัดงานยันว่าเกลือโซเดียมคลอไรด์ไม่ได้มีอันตราย เพราะใช้เป็นส่วนผสมในสระน้ำ และไม่ใช้ไอโอดีนผสม เป็นเกลือบริสุทธิ์ 100% และในวันเดียวกันได้มีจดหมายแนะนำการเล่นเกลือหิมะอย่างถูกวิธี ประกาศแจ้งแก่ผู้มาท่องเที่ยว Nimman Snow Festival

 

ประกาศเตือน และคำแนะนำการเล่นเกลือหิมะ จากสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่

ภาพจาก http://www.oknation.net/blog/nfedlion/2014/12/23/entry-2

 

นอกจากนี้ สำนักข่าวต่างๆ ได้มีการสอบถามไปยัง “นักเคมี” ถึงผลกระทบจากการใช้เกลือบริสุทธิ์มาจัดงานดังกล่าว โดย รศ. ดร.พลังพล คงเสรี อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่ากรณีดังกล่าวไม่เป็นผลกระทบต่อสุขภาพ เนื่องจากเกลือแกงมีความเข้มข้นต่ำ และไม่เข้าตามผิวหนังมนุษย์ เนื่องจากเกลือเป็นสารที่มีขั้วสูง ส่วนผิวหนังมนุษย์มีชั้นไขมันป้องกันอยู่

 

สำหรับผลต่อระบบทางเดินหายใจ ในกรณีสูดดมเข้าไป ดร.พลังพลยืนยันว่า สารเหล่านี้มีอยู่ในอากาศอยู่แล้ว พร้อมยกตัวอย่างผู้ที่ทำนาเกลือเป็นอาชีพ ว่าเขาเหล่านั้นก็ไม่มีปัญหาอะไร กรณีนี้จึงไม่น่าเป็นห่วง

 

ด้าน รศ. ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ด้านเคมีอินทรีย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงผลกระทบด้านสุขภาพของเกลือบริสุทธิ์ว่า  เกลือที่นำมาทำหิมะเทียมมหาศาลนั้น นักเคมีเรียกว่าโซเดียมคลอไรด์ (Sodium Chloride: NaCl) แม้จากข้อมูลไม่เป็นพิษต่อมนุษย์ แต่ทำให้เกิดความระคายเคืองต่อผิวหนัง ซึ่งไม่ควรให้เด็กได้สัมผัสหรือกินเข้าไป เพราะอาจระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารด้วย หรือแม้แต่การสูดดมก็อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจได้เช่นกัน

 

ด้านผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม นักเคมีและนักสิ่งแวดล้อมมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่าเกลือดังกล่าวจะทำให้เป็นตัวเร่งปฏิกริยาให้เกิดสนิมในโลหะเร็วขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อโครงสร้างอาคาร สัญญาณไฟจารจร และรถยนต์ที่สัญจรไปมา

 

กรณีที่มีการปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำก็อาจเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำ หากนำไปใช้ในการเกษตรก็จะส่งผลกระทบต่อพืช และหากกระจายลงสู่ดินก็จะส่งผลให้เกิดภาวะเดินเค็มปลูกพืชได้ยาก อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวขึ้นอยู่กับปริมาณเกลือที่ปนเปื้อนลงสู่น้ำเช่นกัน

 

ทั้งนี้ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนมีความกังวลว่า หากเก็บกวาดไม่หมด หรือมีการล้างพื้นทำความสะอาด เกลือจะแพร่กระจายลงท่อระบายน้ำ  แค่  1 ใน 4 ก็เท่ากับ 10-50 ตัน ระบายลงคูเมือง และระบายต่อลงแม่น้ำปิง ก็จะสร้างผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ด้าน ดร.พลังพลให้ความเห็นว่า ถ้ามีการเก็บกวาดไปแล้วส่วนที่เหลือไม่น่าจะมีปริมาณเยอะ เมื่อไหลลงสู่แม่น้ำปิงจะเจือจางลงไปตามธรรมชาติ

 

ส่วนกรณีที่จะนำเกลือไปทำโป่งดินสำหรับสัตว์ป่านั้น ผศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว เป็นข้อกังวลว่าการนำเกลือบริสุทธิ์จากงานดังกล่าวไปทำโป่งดิน หากทำไม่ถูกวิธีอาจส่งผลกระทบต่อสัตว์ ต่อมาทาง จ.เชียงใหม่จึงประกาศยกเลิกการนำเกลือดังกล่าวมาทำโป่งดินเทียม 

 

สรุป

จากข้อมูลของนักเคมี นักวิทยาศาสตร์ นักสิ่งแวดล้อม พร้อมคำเตือนในการเล่นเกลือหิมะ จากสาธารณสุข จ.เชียงใหม่ แม้เกลือดังกล่าวจะเป็น “เกลือบริสุทธิ์” ไม่ใช่สารเคมี ไม่กระทบต่อสุขภาพ (ผู้ใหญ่) และยังไม่มีผู้ที่เจ็บป่วยจากการเล่นเกลือหิมะ แต่สามารถทำให้เกิดความระคายเคืองต่อผิวหนัง ระบบทางเดินอาหาร และระบบทางเดินหายใจได้ ทั้งยังมีด้านผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม เป็นตัวเร่งปฏิกริยาให้เกิดสนิมในโลหะ ซึ่งอาจส่งผลต่อโครงสร้างอาคาร สัญญาณไฟจราจร และรถยนต์ที่สัญจรไปมา หากมีการปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำก็อาจเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำ ส่งผลกระทบต่อพืช และหากกระจายลงสู่ดินก็จะส่งผลให้เกิดภาวะเดินเค็มปลูกพืชได้ยาก  

 

ดังนั้น คำกล่าวของนายตันที่ว่า “เกลือที่นำมาใช้ทำหิมะจำลอง เป็นเกลือบริสุทธิ์ชนิดที่ยังไม่มีการใส่ไอโอดีน ไม่ใช่สารเคมี จึงไม่น่าส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน” จึงอยู่ในเกณฑ์ “เป็นเท็จ”

 

ป้ายคำ :