ThaiPublica > จับเท็จ: ประเด็น > ยิ่งลักษณ์ แถลงเปิดคดี “จำนำข้าว” ต่อ สนช.

ยิ่งลักษณ์ แถลงเปิดคดี “จำนำข้าว” ต่อ สนช.

8 กุมภาพันธ์ 2015


บริบท

ในปี 2557 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  ได้ดำเนินการไต่สวนคดีที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีความผิดฐานปล่อยให้เกิดความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว จนนำไปสู่การชี้มูลความผิดนางสาวยิ่งลักษณ์ ชี้มูลถอดถอน และส่งเรื่องให้ สนช. ดำเนินการพิจารณาว่าจะทำการ “ถอดถอน” หรือไม่

 

ในวันที่ 9 มกราคม 2558 เป็นวันที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงแก้ข้อกล่าวหาเปิดคดีถอดถอนในกรณีโครงการรับจำนำข้าวต่อ สนช.  และในวันที่ 23 มกราคม 2558 สนช. ได้ลงมติถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ด้วยคะแนนเสียง 190 เสียง ต่อ 18 เสียง ผลของการลงมติถอดถอดดังกล่าวทำให้นางสาวยิ่งลักษณ์ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งและไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นระยะเวลา 5 ปี

 

วิเคราะห์ข้อมูล

 

(นาทีที่ 6:20)

 

จากคำแถลงข้างต้น นางสาวยิ่งลักษณ์ได้กล่าวถึงโครงการรับจำนำข้าวในยุคแรกเริ่ม  โดยอ้างอิงถึง  “โครงการรับจำนำข้าว” ในสมัย พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี  ว่าไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนและปัญหาหนี้สินของชาวนาได้ จึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีการ

 

ซึ่ง “โครงการรับจำนำข้าว” ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ นั้นได้กำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการไว้ 3 ประการด้วยกัน คือ

  1. เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน หนี้สิน ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนา
  2. เพื่อให้ชาวนามีรายได้ใกล้เคียงกับอาชีพอื่น
  3.  เพื่อปรับปรุงกลไกตลาดข้าวให้เสรีและเป็นธรรม

 

สำหรับ “จำนำข้าว” หากอธิบายง่ายๆ ก็เหมือนกับการ “จำนำ” ทรัพย์สินต่างๆ ทั่วไป ที่แน่นอนว่าผู้รับจำนำจะไม่มีทางยอมให้ราคาจำนำสูงกว่าราคาตลาด เพราะหากผู้ที่นำทรัพย์มาจำนำไม่มาไถ่คืน ผู้รับจำนำจะไม่เสียประโยชน์เมื่อต้องนำทรัพย์นั้นไปขายต่อ

 

หากย้อนกลับไป แรกเริ่มเดิมทีนั้น “โครงการรับจำนำข้าว” เป็นแนวคิดของอาจารย์จำเนียร สาระนาค ผู้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)  คนแรก เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513-2514  เพื่อแก้ปัญหาภาวะที่ข้าวถูกผลิตออกมาในปริมาณมากจนทำให้ราคาข้าวตกต่ำ โดยเมื่อเวลาผ่านไป 3-4 เดือน ราคาข้าวจะขึ้นตามกลไกตลาด เมื่อนั้นชาวนาสามารถมาไถ่ข้าวไปขาย และนำเงินมาชำระคืนแก่ ธ.ก.ส.

 

โดยนายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ ประธานกรรมการมูลนิธิอาจารย์จำเนียร สาระนาค  (มสจ.) อดีตรองผู้จัดการ ธ.ก.ส. ได้กล่าวถึงการจำนำข้าวว่า “การจำนำ” คือจะมีการไถ่คืนเมื่อราคาดีขึ้น เพื่อให้ชาวนามีทางเลือกจึงไม่ควรกำหนดราคาไว้สูงเกิน และควรกำหนดขอบเขตของเกษตรที่ประสบปัญหาต้องการความช่วยเหลือจริงๆ  เพื่อไม่ให้เป็นการสิ้นเปลืองเงินภาษีของประชาชน

 

ซึ่งหลักการของอาจารย์จำเนียรในการรับจำนำข้าวตามคำบอกเล่าของนายเอ็นนู มี 3 ประการ คือ

  1.  พืชผลนั้นต้องมีฤดูกาลที่ราคาแตกต่างกัน คือผลิตออกมาจำนวนมาก ทำให้ราคาตก แต่ทิ้งไว้ 3-4 เดือน ราคาจะปรับขึ้นเอง ในกรณีข้าวนาปีจะดำเนินการได้ แต่ข้าวนาปรังใช้โครงการรับจำนำไม่สำเร็จ เพราะข้าวออกสู่ตลาดอยู่ตลอด
  2. พืชผลนั้น การเก็บรักษาต้องไม่สิ้นเปลื้องมากมาย และคุณภาพไม่เสื่อมเร็ว และไม่ใช้การลงทุนในการเก็บรักษามากเกินไป เช่น ไปจำนำกุ้ง ต้องเก็บรักษาในห้องเย็นอย่างเดียว ทำให้ลงทุนเยอะ ราคาก็ไม่เปลี่ยนแปลงมาก และเน่าเสียเร็ว ไม่ควรทำ
  3. พืชผลเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสามารถปรับปรุง หรือเพิ่มมูลค่าหลังจากเวลาเปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่เก็บแล้วเสื่อมอย่างเดียว หากระบายออกไม่ได้ก็จะสร้างความเสียหาย

 

แต่หากนับเป็นยุคของรัฐบาลแล้วก็ถือได้ว่ารัฐบาลของพลเอก เปรมเป็นรัฐบาลแรกที่กำหนด “โครงการรับจำนำข้าว” เป็นนโยบายของรัฐบาล โดยกำหนดราคารับจำนำไว้ที่ 80% ของราคาตลาด เท่ากับเป็นการจ่าย “ต่ำกว่า” ราคาตลาดตามแนวทางเดิมของ ธ.ก.ส. ซึ่ง ธ.ก.ส. เองก็ยอมรับว่าวิธีการดังกล่าวเป็นการแทรกแซงตลาด ซึ่งนอกเหนือไปจากเป็นทางเลือกให้กับชาวนาที่ไม่ต้องยอมขายข้าวในราคาถูก จากการถูกกดราคา ช่วยบรรเทาการกู้เงินนอกระบบ แล้วยังเป็นการกระตุ้นกลไกตลาด เนื่องจากพ่อค้ายังคงต้องการข้าวเพื่อส่งออก จึงเข้ามาเสนอราคาแข่ง เมื่อ ธ.ก.ส. ประกาศราคารับจำนำ 

 

ซึ่งหากนำมาโครงการจำนำข้าวทั้ง 2 ยุคมาเปรียบเทียบกันนั้นคงสรุปได้ยาก เนื่องจากมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันพอสมควร เมื่อนำมาเทียบกันแล้วย่อมได้ผลสำเร็จที่ไม่ตรงกันเป็นธรรมดา

 

สรุป

“โครงการรับจำนำข้าว” ในยุคแรกเริ่มซึ่งหมายรวมตั้งแต่ปี 2513 ที่อาจารย์จำเนียร สาระนาค เป็นผู้ริเริ่ม จนถึงปี 2524 ในสมัยรัฐบาลของพลเอก  เปรม โดยหลักแล้วมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็น “ทางเลือก” ให้กับชาวนาที่มักถูกกดราคาในการขายข้าวในช่วงที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดในปริมาณมาก ช่วยบรรเทาปัญหาหนี้นอกระบบ และกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันทางด้านตลาด

 

เมื่อนำมาเทียบกับ “โครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด” ที่มุ่งแก้ไขปัญหาความยากจนของชาวนา ให้ชาวนามีรายได้ใกล้เคียงกับอาชีพอื่น และปรับปรุงกลไกตลาดข้าวให้เสรี และเป็นธรรมนั้น ในส่วนการแก้ปัญหาความยากจน และเรื่องของรายได้นั้นคงเทียบกันได้ลำบาก

 

ดังนั้น การจะสรุปว่าโครงการจำนำข้าวในยุคแรกเริ่มนั้นมีปัญหาเชิงปฏิบัติ ตามคำแถลงของนางสาวยิ่งลักษณ์ ที่ว่า “โครงการรับจำนำข้าวเกิดขึ้นมาแล้วกว่า 33 เริ่มตั้งแต่ปี 2524 ในสมัยรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ แต่…โครงการยังมีปัญหาในเชิงปฏิบัติ เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจน หนี้สินของชาวนาได้” จึงอยู่ในเกณฑ์ “ก้ำกึ่ง”

 

 

ป้ายคำ :