ปม ICAO

28 กรกฎาคม 2015


บริบท

 

จากเหตุการณ์อุบัติเหตุทางอากาศที่เกิดขึ้นกับสายการบินเอเชียหลายครั้งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้โครงการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล (UniversalSafetyOversight Audit Program; USOAP) ขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (The International Civil Aviation Organization- ICAO) ซึ่งเป็นองค์กรที่ควบคุมมาตรฐานการออกใบอนุญาตเกี่ยวกับการบินพลเรือนในระดับสากล ที่ไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกภาคี ร่วมกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกอีก 191 ประเทศ ย้อนกลับมาตรวจสอบสายการบินในภูมิภาคนี้อีกครั้งโดยเปิดประเดิมประเทศแรกที่ไทย ซึ่งเว้นระยะห่างจากการตรวจสอบครั้งสุดท้ายคือปี 2554 มาแล้ว 3 ปี

 

3 ปีที่ผ่านมา ICAO มีการพัฒนากฎหมายการบิน มีการยกระดับข้อแนะนำต่างๆ ขึ้นเป็นข้อบังคับมาตรฐานที่แต่ละประเทศต้องปรับตัวตาม

 

เมื่อวันที่ 19-30 มกราคม 2558 ICAO ได้เข้ามาตรวจสอบสายการบินของประเทศไทย และได้ทำการแจ้งกลับมายังประเทศไทยในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 ว่าไทยมีข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concerns: SSC) เกี่ยวกับกระบวนการรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ และการขนส่งสินค้าอันตราย

 

โดยกรมการบินพลเรือนได้จัดทำแผนการดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่อง (Corrective Action Plan: CAP) และส่งให้ ICAO เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2558 ซึ่ง ICAO ได้นำ ข้อตรวจพบของ SSC ดังกล่าวลงเผยแพร่ในเว็บไซต์ที่จำกัดการเข้าถึงเฉพาะรัฐภาคีของ ICAO (Secure website)

 

ลำดับเหตุการณ์การแก้ไขข้อบกพร่อง ICAO

 

วิเคราะห์ข้อมูล

 

ตามคำบอกเล่าของนายชัยศักดิ์ อังสุวรรณ อดีตอธิบดีกรมการบินพลเรือน ระบุว่ากระบวนการในการออกใบอนุญาติการเดินอากาศตามกฎระเบียบของไทย อันดับแรกผู้ประกอบการสายการบินต้องทำการจดทะเบียนตั้งบริษัทตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ก่อนที่จะทำการออกใบรับรองผู้ดําเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certificate : AOC) โดยใช้เกณฑ์ของ ICAO เป็นหลักใน โดยประเทศไทยได้ออกข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือนฉบบที่ 45 ที่กําหนดให้ผู้ประกอบการต้องมี AOC

 

ทั้งนี้กฎระเบียบต่างๆ ในการกำกับดูแลสายการบินจะอยู่ภายใต้ พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ.2497 ซึ่งมีการปรับปรุงเพิ่มเติมสุดเมื่อปี 2553 ในพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2553 ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของ ICAO ในเรื่องของการควบคุมอากาศยานที่บินเข้ามาในน่านฟ้าไทย ภายหลังได้รับการติงในเรื่องดังกล่าว แต่ไม่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขระบบการตรวจสอบใหม่แต่อย่างใด ไทยยังคงใช้ พ.ร.บ. การเดินอากาศ พ.ศ.2497 เป็นหลัก ขณะที่ข้อบังคับในด้านอื่นๆ ของ ICAO มีการปรับเปลี่ยนทุกๆ 2-3 ปี

 

ซึ่งในจุดนี้เองเว็บไซต์มติชนออนไลน์ ก็ได้เผยแพร่ข้อมูลจากแหล่งข่าวภายในกรมการบินพลเรือนเช่นกันว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบสายการบินของไทยไม่ได้รับการปรับปรุงพัฒนามาเป็นระยะเวลานานแล้ว

 

“จากผลการตรวจสอบ USOAP ในปี 2548 ผลคะแนนของเราอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก ในระดับใกล้เคียงกับประเทศสิงค์โปร์ อีกทั้ง Finding ต่างๆที่ทาง ICAO แจ้งก็เป็นเพียงข้อเสนอให้แก้ไขเพื่อพัฒนาเท่านั้น อาจเป็นความโชคร้ายของประเทศไทยที่การตรวจสอบ USOAP ในปี 2548 ก็เป็นการตรวจสอบครั้งแรกของ ICAO เช่นกัน ความบกพร่องของระบบกฏหมาย องค์กร ระบบการกำกับดูแล จึงไม่ถูกตรวจพบในการตรวจสอบครั้งนั้น ซึ่งทำให้กระทรวงคมนาคมไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาปรับปรุงระบบการกำกับดูแลอย่างจริงจัง
 

กรมการบินพลเรือนเคยขอปรับปรุงโครงสร้างองค์กรมากกว่า4ครั้งและก็มีความพยายามที่จะปรับปรุงระบบกฎหมายการบินแต่ถูกกีดกันขัดขวางจากคนบางกลุ่มและไม่ได้รับการตอบสนอง นอกจากนี้ในแต่ละปี กรมการบินพลเรือนไม่เคยได้รับงบประมาณในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ตามที่ร้องขอเลย อัตรากำลังพลที่ขอเพิ่มเติมก็แทบไม่เคยได้”

 

และตามรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ ระบุว่า แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ผลการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยจาก ICAO นั้นพบว่าประเด็นด้านกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในการกำกับดูแลความปลอดภัยด้านการบิน เป็นหนึ่งในข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข เนื่องจากกฎหมายที่มีไม่ครอบคลุมทุกด้าน และไม่สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมภาคผนวกแห่งอนุสัญญาฉบับล่าสุด

 

"ไทยไม่มีหรือขาดระบบหรือมาตรฐานในการทบทวนเพื่อแก้ไขปรับปรุงบทลงโทษให้ทันสมัย และไม่มีระดับโทษที่เหมาะสมเพียงพอที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการป้องปรามไม่ให้เกิดการกระทำผิด" ผลตรวจสอบของ ICAO ระบุ

 

ซึ่งในการแถลงข่าวต่อสื่อในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 นายสมชาย เองก็คาดว่า ประเด็นที่ ICAO จะให้ไทยแก้ไขมี 3 ประเด็น ได้แก่ การที่กรมการบินพลเรือน รวมทั้งงานกำกับกิจการและการบริหารจัดการไว้หน่วยงานเดียวกัน จะทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน, การแก้ไขกฎหมายและระเบียบ ที่จะทำแผนภาคผนวก 19 ภาค และแก้ไขบุคลากรของกรมการบินพลเรือนที่น้อยเกินไป รวมทั้งอัตราผลตอบแทนที่จูงใจมากกว่านี้ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ได้รับแจ้งจากการตรวจสอบครั้งล่าสุดเมื่อปี 2554 

 

ดั้งนั้นแม้อธิบดีกรมการบินพลเรือนจะ ยืนยันว่า บพ. ได้ออกใบรับรองมาตรฐานความปลอดภัยและตรวจสอบให้สายการบินที่จดทะเบียนในประเทศไทยทุกปี แต่เนื่องจากกฎหมายไม่ได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสากล การตรวจสอบ บพ. ที่ผ่านมาก็เท่ากับไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างของ บพ. และข้อกฎหมายโดยอาศัยอำนาจของนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2547 มาใช้เพื่อให้การแก้ไขดำเนินไปอย่างรวดเร็ว

 

สรุป

 

จากการตรวจสอบของ ICAO ระบุชัดว่าไทยต้องมีการปรับปรุงในเรื่องกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายที่มีไม่ครอบคลุม และไม่สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งล่าสุดของ ICAO ซึ่งในการปฏิบัติเองไทยก็ได้ทำการออกการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ พ.ศ. 2558 ขึ้น

 

เมื่อข้อกฎหมาย และข้อบังคับต่างๆ ของไทยไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล จึงเป็นไปได้ยากที่ว่าการตรวจสอบของ บพ.ที่ให้มาตรฐานตามกฎหมายเดิมของไทยสายการบินทุกสายจะผ่านมาตรฐานความปลอดภัยอย่างแท้จริง

 

ดั้งนั้น คำกล่าวของนายสมชาย พิพุธวัฒน์ อธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) ที่ว่า "ยืนยันว่ากรมการบินพลเรือนได้ตรวจสอบผู้ประกอบการ…ให้ใบรับรองมาตรฐานความปลอดภัย ขณะนี้ก็บังไม่มีรายใดที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย” จึงอยู่ในเกณฑ์ “ก้ำกึ่ง”

 

ป้ายคำ :