ThaiPublica > จับเท็จ: ประเด็น > ปมลิขสิทธิ์ “คิตตี้” รีสอร์?

ปมลิขสิทธิ์ “คิตตี้” รีสอร์?

21 เมษายน 2015


บริบท

จากครั้งที่เคยตกเป็นข่าวก่อนหน้านี้ ในประเด็น "ดราม่ารีสอร์ทคิตตี้สร้างไม่เสร็จเปิดให้พัก ลูกค้าโวยเจ้าของไม่รับผิดชอบ"   และตามด้วยกระทู้ “มหากาพย์คิตตี้รีสอร์ท episode2” ของ รีสอร์ทคิตตี้ อ.ภูเรือ จ.เลย เมื่อปลายปี 2557 และต้นปี 2558

 

จนกระทั่งในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 ได้มีกระทู้ “โรงแรมคิตตี้ที่ไทยได้ออกข่าวที่ญี่ปุ่นแล้วค่ะ” ในเว็บไซต์พันทิปออกมาพูดถึงรีสอร์ทคิตตี้เป็นระลอกที่สอง โดยมีการรายงานว่า สำนักข่าวอาซาฮี ของประเทศญี่ปุ่น ได้ส่งผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปยังรีสอร์ทดังกล่าว เพื่อให้เห็นกับตาว่าคิตตี้รีสอร์ทที่ลือกันนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งก็เจอทั้งป้าย KITTY RESORT รูปปั้น รถยนต์ เต็นท์ที่พัก เตียงนอน ห้องอาบน้ำ ไฟ ที่มีรูปคิตตี้อยู่อย่างชัดเจน และที่สำคัญ คิตตี้บางตัวก็ดูไม่ค่อยเหมือนคิตตี้ด้วย

 

วิเคราะห์ข้อมูล

จากรายงานข่าวของสำนักข่าวอาฮาซี ที่ไทยรัฐออนไลน์ ได้สรุปประเด็นจากรายงานข่าวดังกล่าว ซึ่งมีการสัมภาษณ์เจ้าของคิตตี้รีสอร์ท แล้วได้รับคำตอบว่า คิตตี้ที่เห็นนี่ตั้งใจเอามาไว้โชว์เฉยๆ ไม่ได้เอามาเป็นเทรดมาร์ก เป็นสัญลักษณ์การค้าเชิงธุรกิจ คนเข้าใจผิดเอง แต่ตอนนี้ก็กำลังทำเรื่องขอลิขสิทธิ์อยู่

จากนั้นทางอาซาฮีจึงสอบถามไปยังซานริโอ ซึ่งคำตอบของซานริโอก็คือ เราไม่อนุญาตให้รีสอร์ทแห่งนี้ใช้สัญลักษณ์ใดๆ ที่เป็นลิขสิทธิ์ของซานริโอทั้งนั้น และตอนนี้กำลังดำเนินการทางกฎหมายกับรีสอร์ทแห่งนี้อยู่ 

และรายการคม ชัด ลึก ตอน “ลิขสิทธิ์…คิตตี้?” ออกอากาศเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2558 ได้เชิญ 2 นักวิชาการ คือ นายวีรพล สวรรค์พิทักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารการตลาด มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และนายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายลิขสิทธิ์ มาไขคำตอบประเด็นดังกล่าว พร้อมโฟนอินสัมภาษณ์นาย เบาหวิว มณีแจ่ม สมาชิกพรรคเพื่อไทย ในฐานะเจ้าของคิตตี้ รีสอร์ท ภูเรือ จ.เลย

 

ซึ่งนายเบาหวิวยังคงยืนยันว่าตนได้ปรึกษากับฝ่ายกฎหมายแล้ว ได้คำตอบว่า ตนเพียงครอบครองวัตถุ และสิ่งของที่เป็นคิตตี้ โดยที่ซื้อหามาอย่างถูกต้อง และไม่ได้นำของเหล่านั้นมาจำหน่ายแต่อย่างใด อีกทั้ง “คิตตี้ รีสอร์ท ภูเรือ” ของตนได้จดทะเบียนการค้า เป็นชื่อบริษัทเรียบร้อยแล้วตัวสะกดไม่เหมือนกับซานริโอ และไม่ได้ใช้โลโก้รูปคิตตี้ของซานริโอ จึงไม่ผิดกฎหมาย หากซานริโอจะฟ้องร้องตนพร้อมสู้คดีในชั้นศาลเช่นกัน

ด้านนายไพบูลย์ ได้ชี้แจงประเด็นดังกล่าวโดยสรุปว่า ตัวการ์ตูนคิตตี้ของซานริโอนั้น ได้มีลิขสิทธิ์และทะเบียนเครื่องหมายการค้า โดยลิขสิทธิ์นั้นจะคุ้มครองคาแร็กเตอร์ หรือผลงานที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ต้น ไม่ต้องไปทำการจดทะเบียนแต่อย่างใด แต่การไปยื่นจดแจ้งเป็นการทำบันทึกว่าผู้นั้นเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ผลงานนั้นๆ  ซึ่งจะได้รับการคุ้มครองทั้งในเรื่องทำซ้ำ ปลอมแปลง ปรับเปลี่ยนรูปแบบ และนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณชน ก็จะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ แม้จะกระทำโดยไม่แสวงหากำไรก็ตาม

ส่วนกรณีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น โดยปกติแล้วหากจดทะเบียนกับสินค้าชนิดใดก็จะคุ้มครองเฉพาะสินค้าชนิดนั้นๆ ดังเช่นที่นายเบาหวิวกล่าวว่าคิตตี้ไม่ได้มีการจดทะเบียนเป็นรีสอร์ทไว้ อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวยังมีข้อยกเว้นในสิ่งที่มีชื่อเสียงแพร่หลาย (well-known marks) ให้มีการคุ้มครองที่ครอบคลุมได้ข้ามประเภท 

“ยกตัวอย่างเคยมีฎีกาปีหนึ่งของผลิตภัณฑ์ที่เรียกกันว่า ‘แฟ้บ’ ซึ่งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในชื่อ ‘แฟ้บ’ ไว้กับ ‘ผงซักฟอก’ ปรากฏว่าในช่วงปี 2520 ได้มีผู้นำเครื่องหมายการค้า ‘แฟ้บ’ ไปใช้กับ ‘ไม้จิ้มฟัน’ ซึ่งเป็นสินค้าคนละจำพวก จึงเกิดการฟ้องร้องขึ้น ซึ่งศาลได้ตัดสินว่าเนื่องจากแฟ้บเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแพร่หลาย จึงมีการคุ้มครองข้ามจำพวก”

นายไพบูลย์กล่าวต่อไปว่า ตามกฎหมายได้มีการให้ความคุ้มครอง “แถบสี” ด้วยเช่นกัน ซึ่งในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคิตตี้ของซานริโอ ได้นำ “สีชมพู” มาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และลิขสิทธิ์ร่วมกับตัวการ์ตูนคิตตี้ด้วย ซึ่งหากทางรีสอร์ทมีการใช้ตัวการ์ตูนและสีชมพูก็อาจจะมีประเด็นความผิดเช่นกัน

“ในกรณีนี้สิ่งที่ต้องดูหลักๆ คือมีสีชมพูและมีตัวคิตตี้ไหม ส่วนกรณีที่เคยบอกว่ามีการจดทะเบียนบริษัทในชื่อ คิตตี้ รีสอร์ท ภูเรือ ไว้แล้วนั้น สามารถนำมาพิสูจน์เรื่องเจตนาได้ว่าอาจไม่มีเจตนา แต่จุดหลักก็คือเมื่อคนเข้าไปใช้บริการ เข้าไปเพราะชื่อรีสอร์ท หรือเพราะตัวการ์ตูนคิตตี้ และสีชมพู”

ส่วนนายวีรพล ได้อธิบายในหลักการตลาดในเรื่องของการนำคาแร็กเตอร์มาใช้ สำหรับตัวการ์ตูนคิตตี้มีมากมาย และตามงานวิจัยมักเชื่อมโยงคาแร็กเตอร์กับความรู้สึกของลูกค้า ซึ่งปัจจุบันลูกค้าในเจเนอเรชั่นวายให้ความสำคัญกับเรื่องคาแร็กเตอร์อยู่แล้ว ผู้ประกอบการจึงมักนำคาแร็กเตอร์เหล่านี้มาใช้กับธุรกิจ

“ผมสรุปให้ฟังง่ายๆ 3 ประเด็น ประเภทแรกเป็นคาแร็กเตอร์ที่โด่งดังจากต่างประเทศ แล้วนำเข้ามาใช้ เช่น  มิกกี้เมาส์ คิตตี้ เป็นต้น ประเภทที่สอง เป็นคาแร็กเตอร์ที่เกิดในประเทศไทย โด่งดังในไทย และมีการนำไปใช้  เช่น ตัวการ์ตูนปังปอนด์ ส่วนประเภทที่สาม เป็นคาแร็กเตอร์ที่บริษัทสร้างขึ้นมาเอง ซึ่งปัจจุบันก็มีเยอะ เช่น  สถานบริการน้ำมัน ร้านอาหาร ซึ่งทั้ง 3 รูปแบบนี้นักการตลาดสามารถเลือกใช้ได้ แต่ประเด็นคือต้องถูกต้องก่อน ไม่ไปลอกเลียนใคร หรือดำเนินการอย่างถูกกฎหมาย”

ช่วงท้ายของรายการ ทั้งนายวีรพลและนายไพบูลย์ได้ชี้แจงเพิ่มเติมในกรณีที่มีสินค้าที่ทำเลียนแบบถูกวางขายมากมายตามท้องตลาด แต่บริษัทที่เป็นเจ้าของไม่ดำเนินการฟ้องร้องนั้นไม่ได้หมายความว่าไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด เพียงแต่อาจเป็นปัจจัยด้านการตลาด และการเลียนนั้นไม่ได้ทำให้ต้นแบบเสื่อมเสียชื่อเสียงจึงไม่เอาความ

ทั้งนี้ เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ ประจำวันที่ 7 มกราคม 2558 ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของนายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ที่กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ ต้องรอให้เจ้าของลิขสิทธิ์ออกมาฟ้องทางรีสอร์ทเอง ซึ่งในขณะนี้ก็ยังไม่มีการฟ้องร้องใดๆ  ส่วนจะละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่นั้น ต้องดูว่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ถูกต้องตามลิขสิทธิ์แท้หรือไม่ โดยโทษของการละเมิดลิขสิทธิ์มีตั้งแต่ปรับ 1-8 แสนบาท จำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งในทางกฎหมายแล้ว เจ้าของลิขสิทธิ์ต้องยื่นฟ้องร้องก่อนเท่านั้น

ในอีกทางหนึ่ง หากพฤติการณ์ของเจ้าของรีสอร์ทมีการอวดอ้างว่า หากนักท่องเที่ยวมาเข้าพัก ณ ที่แห่งนี้ จะได้รับความสะดวกสบาย แต่พอเดินทางไปถึงสภาพของสถานที่นั้นๆ กลับไม่เป็นไปตามที่โฆษณาไว้ อาจโดนข้อหาละเมิดสิทธิผู้บริโภค โดยมีความผิดทั้งในทางแพ่งและทางอาญา ซึ่งความผิดในทางอาญาคือความผิดในการโฆษณาเกินจริง หรือเป็นการโฆษณาหลอกลวง รวมทั้งมีความผิดฐานฉ้อโกงผู้บริโภคด้วย

“เรื่องแบบนี้ไม่ควรจะปล่อยไว้ ควรจะจัดการให้เป็นเยี่ยงอย่าง มิใช่ผู้ประกอบการจะนึกถึงเพียงแค่ว่า เมื่อเข้าสู่เทศกาลจะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ความต้องการที่พักสูง จึงถือโอกาสในเทศกาลนั้น ฉวยโอกาสหาประโยชน์ทั้งๆ ที่รีสอร์ทยังไม่มีความพร้อม หากผู้บริโภคได้รับผลกระทบจริง ก็ไม่ควรยินยอม แต่ควรเร่งดำเนินการ เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง”

ต่อมา สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ได้รายงานเพิ่มเติมจากการสัมภาษณ์นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์  ไปในทางเดียวกับนายไพบูลย์ว่า  บริษัท ซานริโอ  ภายใต้แบรนด์ Hello Kitty  แบ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญา 2 ประเภท  คือ 1. เครื่องหมายการค้า รูปการ์ตูนคิดตี้พร้อมระบุชื่อ  Hello Kitty และ 2. ลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนคิตตี้

 
กรณี "คิตตี้ รีสอร์ท" นั้น  ผู้ประกอบการได้ยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในรูปแบบที่พักชั่วคราว  ส่วนการละเมิดลิขสิทธิ์ จะต้องให้เจ้าของลิขสิทธิ์ หรือบริษัท ซานริโอ  เป็นผู้ออกมาเรียกร้องค่าเสียหายหรือฟ้องร้องกับทางรีสอร์ทเอง ซึ่งขณะนี้ ยังไม่มีการฟ้องร้องใดๆ แต่หากจะพิจารณาว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่นั้น ต้องดูว่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในรีสอร์ท ถูกต้องตามลิขสิทธิ์แท้หรือไม่

 
สรุป

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า ตัวการ์ตูนคิตตี้ของซานริโอ ได้รับการคุ้มครองทั้งในเรื่องลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า แม้ไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ากับรีสอร์ทที่พัก แต่การที่คิตตี้มีชื่อเสียงแพร่หลาย (well-known marks) จึงได้รับการคุ้มครองถึงการทำรีสอร์ทที่พักด้วย ซึ่งรีสอร์ทคิตตี้ในประเทศจีนก็ได้ทำการซื้อลิขสิทธิ์จากซานริโออย่างถูกต้อง เช่นเดียวกันกับ ร้าน Sanrio Hello Kitty House Bangkok (ซานริโอ เฮลโล คิตตี้ เฮาส์ แบงคอก) ที่เปิดเป็นคาเฟ่เอาใจคนรักคิตตี้ในประเทศไทย ขณะที่ซานริโอ เจ้าของลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนคิตตี้ ก็ระบุว่า พร้อมดำเนินคดีทางกฎหมายกับรีสอร์ทแห่งนี้ด้วย 

ดังนั้น คำสัมภาษณ์ของนายเบาหวิวที่ว่า “รีสอร์ทแห่งนี้ชื่อ คิตตี้รีสอร์ท ภูเรือ คำว่าลิขสิทธิ์ตามกฎหมายคือต้องนำผลิตภัณฑ์สินค้าจากแบรนด์ดังกล่าวไปจำหน่าย … คิตตี้ ยังไม่ได้จดลิขสิทธิ์การทำรีสอร์ท รวมทั้งไม่ได้มีจุดประสงค์จะนำรีสอร์ทไปขายจึงไม่น่าจะเข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์” จึงอยู่ในเกณฑ์ “เป็นเท็จ”
 

ป้ายคำ :