ThaiPublica > จับเท็จ: ประเด็น > ของขวัญคนไทย ตรึงราคา LPG ช่วงปีใหม่

ของขวัญคนไทย ตรึงราคา LPG ช่วงปีใหม่

27 ธันวาคม 2014


บริบท

ผลจากการตรึงราคาก๊าซ LPG มานานกว่า 30 ปี เป็นต้นเหตุที่ทำให้โครงสร้างราคาพลังงานบิดเบือน การกำหนดราคาก๊าซ LPG ให้มีราคาถูกผิดปกติ เกิดจากการที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปเก็บเงินจากคนใช้เบนซินมาอุดหนุนคนใช้ LPG ก๊าซ LPG จึงกลายเป็นสินค้าที่มีผลต่อคะแนนนิยมทางการการเมือง เพราะกลุ่มผู้ใช้ก๊าซ LPG เป็นครัวเรือนทั่วประเทศ และกลุ่มร้านอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่มีค่าก๊าซเป็นต้นทุนส่วนสำคัญ ประกอบกับได้มีการนำก๊าซไปใช้ในระบบขนส่งด้วย ยิ่งทำให้ฐานของผู้ใช้ก๊าซ LPG กว้างขวางมากขึ้น รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้ เพราะทุกครั้งที่จะเข้าไปรื้อโครงสร้างราคาพลังงาน ก็จะถูกต่อต้านจากกลุ่มที่เสียผลประโยชน์

ภาพราคาขายปลีกน้ำมัน และก๊าซ ณ วันที่ 3 ธันวาคม 56

ทันทีที่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารประเทศ ได้ประกาศนโยบายปฏิรูปราคาพลังงานให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ใช้พลังงานทุกประเภท 3 เดือนแรกของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ กระทรวงพลังงานทยอยปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG ทั้งหมด 4 ครั้ง ทำให้ราคา LPG เพิ่มขึ้น 2.78 บาท (จากราคา 21.38 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มเป็น 24.16 บาทต่อกิโลกรัม)

การจัดการก๊าซธรรมชาติให้เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศมาจาก 3 แหล่งใหญ่ คือ 1. ได้มาจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท. คิดเป็นสัดส่วน 50% ของปริมาณการจัดหาทั้งหมด 2. จากโรงกลั่นน้ำมัน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 29% และที่เหลืออีก 21% นำเข้าจากต่างประเทศ

ส่วนกลุ่มผู้ใช้ LPG ในประเทศไทยมี 4 กลุ่ม ใช้มากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือ ภาคครัวเรือน ใช้ LPG คิดเป็นสัดส่วน 39% ของปริมาณการใช้ทั้งหมด อันดับ 2 ภาคปิโตรเคมี ใช้ LPG ประมาณ 32% อันดับ 3 ภาคขนส่ง ใช้ 16% และอันดับ 4 ภาคอุตสาหกรรม ใช้ 11%

ภาพการจัดกาและการใช้ "แอลพีจี" ตั้งแต่ปี 2551-2556 โดย ปตท.

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ความต้องการใช้ก๊าซ LPG เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะภาคปิโตรเคมีใช้ LPG เป็นวัตถุดิบในการผลิต และภาคขนส่ง ส่งผลทำให้ปริมาณการผลิต LPG ในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ จนต้องมีการนำเข้าก๊าซ LPG ราคาแพงจากต่างประเทศ ทำให้ต้นทุนก๊าซ LPG โดยรวมเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ราคาขายปลีก LPG แทบจะไม่เปลี่ยนแปลง

เนื่องจากกองทุนน้ำมันนำเงินไปชดเชยส่วนต่างที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบันมีการนำเงินกองทุนน้ำมันไปชดเชยราคา LPG ทั้งสิ้นประมาณ 1.4 แสนล้านบาท นอกจากช่วยอุดหนุนผู้ใช้ในประเทศให้ได้ใช้ก๊าซราคาถูกแล้ว ยังไปอุดหนุนผู้ใช้ที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้านด้วย

ส่วนในประเทศก็มีผู้ประกอบการบางรายนำก๊าซ LPG ที่ใช้ในภาคครัวเรือนไปขายให้ภาคอุตสาหกรรมและขนส่ง เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น รัฐบาลมีความจำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นราคา LPG พร้อมกับปรับโครงสร้างราคาน้ำมันให้สะท้อนกลไกตลาดโลก โดยอาศัยช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงเป็นปัจจัยสนับสนุนนโยบายปรับโครงสร้างราคา พร้อมกับจัดเตรียมมาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มรถยนต์โดยสารสาธารณะ

วิเคราะห์ข้อมูล

ในช่วงปลายปี 2557 สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง เพื่อให้ราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศได้ปรับตัวสะท้อนตามกลไกตลาด จึงมีการปรับลดราคาเบนซิน ดีเซล และแก๊สโซฮอล์ ขณะที่ที่ประชุม กบง. เห็นชอบปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันดีเซลขึ้น 0.70 บาทต่อลิตร มีผลตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2557 โดยไม่ส่งผลต่อราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล

นอกจากนี้ ที่ประชุม กบง. เห็นชอบให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 ซึ่งได้จำหน่ายก๊าซ LPG ให้ภาคขนส่งต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพิ่มในอัตรา 4.2056 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งจะทำให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคขนส่งเพิ่มขึ้น 0.63 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมราคา 22.00 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 22.63 บาทต่อกิโลกรัม เท่ากับราคาภาคครัวเรือน ทั้งนี้เพื่อป้องกันการลักลอบใช้ LPG ข้ามกลุ่ม มีผลตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2557

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2557 ในงานเสวนา “การปรับโครงสร้างพลังงาน…การจัดการร่วมรัฐ เอกชน…จุดเปลี่ยนสำคัญสู่ความยั่งยืน” ที่จัดโดย ส.อ.ท. นายณรงค์ชัยระบุว่า “กระทรวงพลังงานยังไม่ปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG ในช่วงปีใหม่ เพื่อเป็น “ของขวัญ” ให้แก่ประชาชน โดยจะทำการปรับขึ้นหลังจากปีใหม่แล้ว ซึ่งเดิมมีกำหนดปรับโครงสร้างราคาพลังงานในเดือน ธันวาคม 2557 อันมีผลให้ราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ต้องปรับขึ้นอย่างแน่นอน”

โดยไทยรัฐออนไลน์ ได้ยกคำพูดของนายณรงค์ชัยมานำเสนอในข่าวดังนี้

“รัฐบาลอยากให้มีของขวัญปีใหม่กับประชาชน กระทรวงพลังงานจึงมอบของขวัญคือ ยังไม่ปรับขึ้นแอลพีจีในภาคครัวเรือนและขนส่งในช่วงเวลาดังกล่าว เพราะถ้าทำผมคงโดนด่า จึงได้ยืดเวลาให้อีกระยะหนึ่ง แต่หลังพ้นจากเทศกาลปีใหม่ ก็ต้องขึ้นราคาพลังงานแบบมาตามนัดอย่างแน่นอน เพราะขณะนี้ราคาแอลพีจีต่ำมากเทียบกับน้ำมัน โดยแอลพีจีมีราคาอยู่ที่ 13 บาทต่อลิตร เทียบกับเบนซินอี 20 กลับมาราคา 30 บาทต่อลิตร จึงเป็นเหตุผลที่ใครไม่ใช้แอลพีจีก็กลายเป็นคนโง่”

นอกจากนี้นายณรงค์ชัยกล่าวว่า ราคาแอลพีจีภาคครัวเรือนและขนส่งที่ได้ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 22.63 บาทต่อกิโลกรัม จากนี้ไปก็จะต้องทยอยปรับขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ที่ปัจจุบันกองทุนน้ำมันยังต้องอุดหนุนราคาแอลพีจีที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพราะการผลิตในประเทศไม่เพียงพอ โดยมีการนำเข้าเฉลี่ยเดือนละ 1,000 ล้านบาท ซึ่งไม่เป็นธรรมที่เก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินมาอุดหนุนให้คนใช้แอลพีจี จึงการันตีว่าต่อไปกองทุนน้ำมันจะหยุดอุดหนุนราคาแอลพีจี โดยขอเวลาให้กองทุนน้ำมันมีเงินสะสมเพิ่มขึ้นอีกระยะหนึ่ง หลังจากที่เริ่มเป็นบวกเมื่อเร็วๆนี้

ปรากฏว่า วันที่ 2 ธันวาคม 2557 กบง. ได้มีมติยกเลิกการอุดหนุนราคาขายปลีกก๊าซ LPG ทั้งภาคครัวเรือนและภาคขนส่ง ซึ่งปัจจุบันใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนอยู่ที่กิโลกรัมละ 1.03 บาท

จากรายงานของผู้จัดการออนไลน์ นายณรงค์ชัย เปิดเผยหลังการประชุม กบง. ว่า “จากสถานการณ์ราคาพลังงานตลาดโลกอยู่ในช่วงขาลง เวลานี้เป็นจังหวะที่เหมาะสมในการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ดังนั้น กบง.จึงมีมติยกเลิกการอุดหนุนราคาขายปลีกก๊าซ LPG ซึ่งจะทำให้ราคาขายปลีกของ LPG ทั้งภาคครัวเรือน ขนส่ง ขึ้นอีก 1.03 บาทต่อกิโลกรัม มีผลตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค. เป็นต้นไป โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะทำให้ราคา LPG ภาคครัวเรือนขนส่ง และอุตสาหกรรมไปอยู่ระดับที่เท่ากันคือ 24.16 บาทต่อกิโลกรัม”

ข้อมูลเพิ่มเติม

สรุป

จากที่รัฐบาลดำเนินนโยบายตรึงราคา LPG มานานกว่า 30 ปี โดยใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเก็บเงินมาจากผู้ใช้น้ำมันเบนซินไปอุดหนุนคนใช้ LPG ทำให้โครงสร้างราคาน้ำมันและโครงสร้างราคาก๊าซ LPG ของประเทศไทยบิดเบือน ก๊าซ LPG ในประเทศมี 4 ราคา เกิดปัญหาลักลอบนำก๊าซราคาถูกจากภาคครัวเรือนไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีราคาแพงกว่า และจากการที่รัฐบาลตรึงราคา LPG ในประเทศให้มีราคาถูกกว่าราคาตลาดโลกนี้เอง ทำให้เกิดปัญหาการลักลอบส่งออกก๊าซไปขายในประเทศเพื่อนบ้าน

ที่ผ่านมาเกือบทุกรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ทำไม่สำเร็จ จำเป็นที่รัฐบาลที่มีอำนาจพิเศษเข้ามาแก้ปัญหา ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ทันทีที่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์เข้ามาบริหารประเทศ จึงทยอยปรับขึ้นราคา LPG ลดราคาน้ำมัน เพื่อให้การใช้พลังงานของประเทศโดยรวมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม วันที่ 13 พฤศจิกายน 2557 นายณรงค์ชัย ออกมายืนยันว่า “จะชะลอการขึ้นราคาก๊าซ LPG ไปก่อน จะปรับขึ้นในช่วงหลังปีใหม่แทน เพื่อเป็นของขวัญให้กับประชาชน อีกทั้งระบุว่า มีแนวทางที่กองทุนน้ำมันจะหยุดอุดหนุนราคาก๊าซ LPG แต่คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อให้เงินในกองทุนสะสมเพิ่มขึ้น”

ปรากฏว่า วันที่ 2 ธันวาคม 2557 กบง. ได้มีมติยกเลิกการอุดหนุนราคาขายปลีกก๊าซ LPG ทั้งภาคครัวเรือนและภาคขนส่ง ทำให้ราคาก๊าซ LPG ปรับตัวสูงขึ้น

ดังนั้น คำกล่าวของนายณรงค์ชัยที่ว่า “รัฐบาลอยากให้มีของขวัญปีใหม่กับประชาชน กระทรวงพลังงานจึงมอบของขวัญคือ ยังไม่ปรับขึ้นแอลพีจีในภาคครัวเรือและขนส่งในช่วงเวลาดังกล่าว (ธ.ค. 2557)…จึงได้ยืดเวลาให้อีกระยะหนึ่ง แต่หลังพ้นจากเทศกาลปีใหม่ก็ต้องขึ้นราคาพลังงานแบบมาตามนัดอย่างแน่นอน” จึงอยู่ในเกณฑ์ “เป็นเท็จ”

ป้ายคำ :