หลังจากมีการเปิดเผยว่า การขอเรี่ยไร (หรือรับบริจาค) ของหน่วยงานของรัฐ ในวงเงินเกินกว่า 500,000 บาท จะต้องดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2544 คือหน่วยงานของรัฐนั้นๆ จะต้องยื่นคำขอเรี่ยไรให้ “คณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ (กคร.)” พิจารณาอนุมัติ ก่อนวันเริ่มต้นเรี่ยไร
นำมาสู่คำถามที่ว่า การขอเรี่ยไรของกองทัพบก (ทบ.) เพื่อนำเงินไปใช้จัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ ในพื้นที่โรงเรียนนายสิบทหารบก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งผู้เกี่ยวข้องระบุว่า น่าจะใช้เงินในการจัดสร้างราว 1,000 ล้านบาท ทบ. ได้ทำการขออนุมัติจาก กคร. อย่างถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกฯ นี้ หรือไม่

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่าน ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า พยายามสอบถามจากผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจาก ม.ล. ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กคร. คนปัจจุบัน ว่า ทบ. ได้ยื่นขออนุมัติเรี่ยไรเงินเพื่อนำไปใช้จัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ตามระเบียบสำนักนายกฯ ต่อ กคร. หรือไม่ และเมื่อใด แต่ปรากฎว่าไม่มีใครที่สามารถให้คำตอบได้
ผู้สื่อข่าวจึงเดินทางไปที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ขอใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ตรวจดูเอกสารรายงานการประชุมของ กคร. ตลอดปีงบประมาณ 2558 (ระหว่างเดือนตุลาคม 2557 – เดือนกันยายน 2558) ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และเริ่มต้นเรี่ยไรเงินเพื่อใช้ในการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์
ผลการตรวจสอบปรากฎว่า ในปีงบประมาณ 2558 มีการประชุม กคร. รวม 4 ครั้ง ได้พิจารณาคำขออนุมัติเรี่ยไร ย้อนหลังไปจนถึงปี 2556 – 2558 โดยมีหน่วยงานของรัฐยื่นคำขอเรี่ยไรทั้งสิ้น 58 คำขอ อนุมัติ 55 คำขอ และไม่อนุมัติ 3 คำขอ
แต่กลับไม่มีกรณีที่ ทบ. ขออนุมัติเรี่ยไรหรือรับบริจาค เพื่อนำเงินไปใช้ในการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ ตามระเบียบสำนักนายกฯ แต่อย่างใด(ดูรายชื่อหน่วยงานของรัฐ ที่ได้รับอนุมัติให้เรี่ยไรตามระเบียบสำนักนายกฯ จาก กคร. ในปีงบประมาณ 2558)คลิกที่ภาพเพื่อขยาย
แหล่งข่าวจาก สปน. เปิดเผยว่า ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2544 และที่เกี่ยวข้อง กำหนดว่าหน่วยงานของรัฐใดจะเรี่ยไร ในวงเงินเกินกว่า 500,000 บาท จะต้องยื่นคำขอต่อ กคร. ให้พิจารณาอนุมัติ ก่อนทำการเรี่ยไรไม่น้อยกว่า 60 วัน โดยในคำขอจะต้องระบุวัตถุประสงค์ รายละเอียด วิธีการ ระยะเวลา พื้นที่ และวงเงินที่จะทำการเรี่ยไร และหาก กคร. อนุมัติ หลังทำการเรี่ยไรเสร็จสิ้น ภายใน 90 วัน จะต้องจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อเปิดเผยต่อสาธารณชนให้ตรวจดูได้ ณ ที่ทำการของหน่วยงานของรัฐนั้นๆ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน (แต่หากเป็นการเรี่ยไรระยะยาวให้เปิดเผยทุกๆ 3 เดือน) นอกจากนี้ ยังต้องส่งบัญชีรายรับรายจ่ายดังกล่าวให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าตรวจสอบด้วย
“หากหน่วยงานของรัฐทำการเรี่ยไร หรือพูดง่ายๆ คือรับบริจาค โดยไม่ขออนุมัติจาก กคร. นอกจากผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องถูกลงโทษทางวินัย และอาจแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการทางอาญา ตามระเบียบสำนักนายกฯดังกล่าว ข้อ 7 เม็ดเงินหรือทรัพย์สินที่ได้จากการเรี่ยไรหรือรับบริจาคนั้นยังอาจจะถูก freeze (แช่แข็ง) ไว้ก่อน โดย กคร. จะพิจารณาว่าจะสั่งจ่ายเงินดังกล่าวไปประกอบการกุศลหรือสาธารณะประโยชน์อื่นใด ซึ่งอาจเป็นไปตามวัตถุประสงค์เดิมหรือไม่ก็ได้”

แหล่งข่าวยังกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในระเบียบสำนักนายกฯ ดังกล่าว ข้อ 19 ได้กำหนดขอยกเว้นที่ให้หน่วยงานของรัฐ สามารถเรี่ยไรหรือรับบริจาคได้โดยไม่ต้องขออนุมัติจาก กคร. ไว้ 4 กรณี
- กรณีที่เรี่ยไรหรือรับบริจาคในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท
- กรณีที่เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแล้ว
- กรณีที่จำเป็นต้องเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยพิบัติ
- กรณีร่วมทำบุญเนื่องในโอกาสทอดผ้าพระกฐินพระราชทาน
“ซึ่งต้องดูว่าการขอรับบริจาคตามที่กำลังเป็นข่าวอยู่ เข้าข่ายได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุมัติจาก กคร. ตามขอยกเว้นใดหรือไม่” แหล่งข่าวระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงเวลาที่ผ่านมา พบว่ามีการนำเสนอวาระที่เกี่ยวข้องกับอุทยานราชภักดิ์เข้าสู่ที่ประชุม ครม. รวม 3 ครั้ง ซึ่งทุกครั้งเป็นเพียงวาระเพื่อทราบ ที่มีมติเพียง “รับทราบ” ไม่ใช่วาระเพื่อพิจารณา ที่มีมติ “เห็นชอบ” นอกจากนี้ การจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ยังไม่ใช่นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล จึงไม่น่าจะเข้าข่ายได้รับการยกเว้นไม่ต้องยื่นขออนุมัติจาก กคร. ตามระเบียบสำนักนายกฯ ดังกล่าว ข้อ 19
สำหรับมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องกับอุทยานราชภักดิ์ ทั้ง 3 ครั้ง ประกอบด้วย
ครั้งที่ 1 – เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2558 ที่ประชุม ครม. รับทราบ ตามที่กระทรวงกลาโหม (กห.) รายงานว่าจะมีการจัดสร้างอุทยานประวัติศาสตร์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม (ชื่อเดิม ก่อนได้รับพระราชทานชื่ออุทยานราชภักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ) ในพื้นที่ของ ทบ. บริเวณฝั่งตรงข้ามสวนสนประดิพัทธ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2559 โดยแหล่งเงินจะมาจากการบริจาคทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งหากมีความจำเป็นอาจขอรับการสนับสนุนด้านงบประมาณต่อไป
ครั้งที่ 2 – เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2558 ที่ประชุม ครม. รับทราบ ตามที่ กห. รายงานความคืบหน้าการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ ในพื้นที่ของ ทบ. ใน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
ครั้งที่ 3 – เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2558 ที่ประชุม ครม. รับทราบ ตามที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการเพิ่มเติมให้ ทบ. เป็นหน่วยงานหลักในการจัดให้มีคณะทำงานดูแลการบริหารจัดการอุทยานราชภักดิ์ โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นมูลนิธิหรือกลไกในรูปแบบใด เพราะมีเงินที่มาจากการรับบริจาคจากภาคเอกชนและประชาชนผู้มีจิตศรัทธาเป็นจำนวนมาก