
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดคู่ความในคดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวก รวม 21 คน เป็นจำเลย ในคดีหมายเลขดำที่ อม.25/2558 กล่าวหาว่าร่วมกันกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ไทย-จีน พร้อมขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) กฎหมายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้ว เพื่อฟังคำสั่งว่าจะไต่สวนพยานกี่ปาก และเมื่อใด
ช่วงต้น นายธนฤกษ์ นิติเศรณี ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา ในฐานะผู้รับผิดชอบสำนวนคดีนี้ ได้แจ้งต่อคู่ความว่า นายวีระพล ตั้งสุวรรณ หนึ่งในองค์คณะผู้พิพากษาคดีนี้ ได้ขอถอนตัวเนื่องจากได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นประธานศาลฎีกา ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจึงมีมติแต่งตั้งให้นายพิศล พิรุณ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา เป็นองค์คณะผู้พิพากาาในคดีนี้แทน โดยคู่ความไม่ติดใจคัดค้าน
จากนั้น ได้อ่านคำสั่งกรณีที่จำเลยบางปากยื่นคำร้องขอคัดค้านการเพิ่มเติมพยานเอกสารของ อสส. ที่ไม่อยู่ในสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไว้ในบัญชีพยานหลักฐานของคดีนี้ เพราะแม้กฎหมายจะให้ยึดสำนวนที่ ป.ป.ช. ส่งมาเป็นหลัก แต่ศาลฎีกาฯ มีอำนาจในการไต่สวนพยานหลักฐานเพิ่มเติมนอกเหนือจากสำนวนของ ป.ป.ช. ขณะที่จำเลยเองก็มีสิทธินำพยานหลักฐานเข้ามาหักล้างได้
สำหรับคดีนี้จะมีการไต่สวนพยานบุคคลทั้งสิ้น 121 ปาก แบ่งเป็นพยานฝ่ายโจทก์ 29 ปาก จากที่ยื่นขอเข้ามา 122 ปาก และพยานฝ่ายจำเลย 92 ปาก จากที่ยื่นขอเข้ามา 1,032 ปาก โดยกำหนดการไต่สวนพยานบุคคล จะมีขึ้นระหว่างเดือนมีนาคม–ธันวาคม 2559
สำหรับวันนัดไต่สวนพยานบุคคล จะมีทั้งสิ้น 20 ครั้ง ประกอบด้วย วันที่ 2 มีนาคม 2559 วันที่ 16 มีนาคม 2559 วันที่ 20 เมษายน 2559 วันที่ 27 เมษายน 2559 วันที่ 4 พฤษภาคม 2559 วันที่ 11 พฤษภาคม 2559 วันที่ 15 มิถุนายน 2559 วันที่ 29 มิถุนยาน 2559 วันที่ 6 กรกฎาคม 2559 วันที่ 27 กรกฎาคม 2559 วันที่ 3 สิงหาคม 2559 วันที่ 17 สิงหาคม 2559 วันที่ 7 กันยายน 2559 วันที่ 21 กันยายน 2559 วันที่ 5 ตุลาคม 2559 วันที่ 19 ตุลาคม 2559 วันที่ 2 พฤศจิกายน 2559 วันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 วันที่ 7 ธันวาคม 2559 และวันที่ 21 ธันวาคม 2559
ส่วนพยานฝ่ายโจทก์อีก 1 ปาก และพยานฝ่ายจำเลย อีก 10 ปาก ศาลฎีกาฯ จะพิจารณาว่าจะไต่สวนเพิ่มเติมหรือไม่ ภายหลังการไต่สวนพยานของฝ่ายนั้นๆ สิ้นสุดลง
นายธนฤกษ์กล่าวว่า อยากให้การไต่สวนพยานบุคคลสิ้นสุดลงใน 20 นัดตามกำหนดการ ส่วนพยานเอกสารที่มีจำนวนมาก อยากให้คู่ความใช้เวลาก่อนเริ่มต้นไต่สวนในเดือนมีนาคม 2559 ไปตรวจสอบให้เรียบร้อย
ด้านนายบุญทรงให้สัมภาษณ์ว่า พยานบุคคล 1,032 ปากที่ฝ่ายจำเลยยื่นขอให้ศาลฎีกาฯ ไต่สวน เป็นพยานบุคคลของจำเลยทั้ง 21 คน ซึ่งตนไม่รู้ว่าแต่ละคนยื่นขอให้ไต่สวนพยานบุคคลรายใดบ้าง แต่พยานบุคคลที่ตนยื่นไป บางปากก็ถูกตัดออก ทั้งที่เป็นพยานบุคคลที่ตนอยากให้มาให้ข้อมูลต่อศาลฎีกาฯ อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อมั่นว่าจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนในคดีนี้ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับจำเลยในคดีนี้ทั้ง 21 คน แบ่งเป็น
– ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 3 คน ได้แก่ นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (จำเลยที่ 1) นายบุญทรง (จำเลยที่ 2) และ นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (จำเลยที่ 3)
– ข้าราชการ 3 คน ได้แก่ นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (จำเลยที่ 4) นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (จำเลยที่ 5) และนายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง หรือทีปวัชระ อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ (จำเลยที่ 6)
– เอกชน ซึ่งมีทั้งกรรมการ/ตัวแทนบริษัท และนิติบุคคล อีก 15 ราย ได้แก่ นายสมคิด เอื้อนสุภา (จำเลยที่ 7) นายรัฐนิธ โสจิระกุล (จำเลยที่ 8) นายลิตร พอใจ (จำเลยที่ 9) บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด (จำเลยที่ 10) น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง (จำเลยที่ 11) น.ส.เรืองวัน เลิศศลารักษ์ (จำเลยที่ 12) น.ส.สุทธิดา หรือสุธิดา ผลดี หรือจันทะเอ (จำเลยที่ 13) นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร (จำเลยที่ 14) นายนิมล รักดี (จำเลยที่ 15) นายสุธี เชื่อมไธสง (จำเลยที่ 16) นางสุนีย์ จันทร์สกุลพร (จำเลยที่ 17) นายกฤษณะ สุระมนต์ (จำเลยที่ 18) นายสมยศ คุณจักร (จำเลยที่ 19) บริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ส์ จำกัด หรือบริษัท สิราลัย จำกัด (จำเลยที่ 20) และ น.ส.ธันยพร จันทร์สกุลพร (จำเลยที่ 21)
อย่างไรก็ตาม นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขาธิการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (จำเลยที่ 3) และนายสุธี เชื่อมไธสง (จำเลยที่ 16) ได้หลบหนีไม่เดินทางมาร่วมการพิจารณาคดีตั้งแต่วันนัดพิจารณาคดีครั้งแรก ทำให้ศาลฎีกาฯ ออกหมายจับบุคคลทั้ง 2 เพื่อนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
ขณะที่นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง (จำเลยที่ 14) ปัจจุบันอยู่ระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำ จ.สมุทรปราการ หลังจากศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำคุกเป็นเวลา 6 ปี ในคดียักยอกข้าวจากกระทรวงพาณิชย์ 20,000 ตัน รวมวงเงิน 200 ล้านบาท โดยทนายความของนายอภิชาติระบุว่า อยู่ระหว่างการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว ขณะที่ศาลฎีกาฯ ระบุว่า จะเบิกตัวมาร่วมการพิจารณาคดีนี้ทุกครั้งที่มีการไต่สวนพยานบุคคล