นายก อบต.เชียงรากใหญ่ยืนยันว่ายังไม่มีการทำสัญญาก่อสร้างศูนย์จัดการขยะแบบบูรณาการในพื้นที่เชียงรากใหญ่ ย้ำยังไม่มีการซื้อขายที่ดิน มีเพียงข้อตกลงระหว่างเอกชนและ อปท. ว่าจังหวัดปทุมธานีจะมีขยะให้ผู้ลงทุนอย่างแน่นอน หากจะก่อสร้างได้ต้องทำสัญญาตามกฎหมายและได้รับความเห็นชอบจากประชาชนก่อน โดยไม่กำหนดว่าจะต้องสร้างที่เชียงรากใหญ่เท่านั้น หากพื้นที่อื่นเหมาะสมกว่าก็ไม่ขัดข้อง ด้านบริษัทเจ้าของโครงการไม่ตอบว่าซื้อขายที่ดินแล้วหรือไม่ แต่ต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชนก่อนเข้าไปพัฒนาโครงการในพื้นที่ มั่นใจเทคโนโลยีที่ใช้ปลอดภัยและไม่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
จากกรณีที่ชาวบ้านคัดค้านการก่อสร้างโรงงานขยะที่ตำบลเชียงรากใหญ่เนื่องจากอยู่ติดชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรมนั้น ล่าสุดมีเสียงสะท้อนจากชาวบ้านว่า ผู้นำชุมชนและหน่วยงานราชการเกือบทั้งหมดไม่คัดค้านร่วมกับชาวบ้านเนื่องจากได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากโครงการดังกล่าว

นายเสวก ประเสริฐสุข นายกองค์กรบริหารส่วนตำบล (อบต.) เชียงรากใหญ่กล่าวว่า ประโยชน์ที่ อบต.เชียงรากใหญ่จะได้รับจากการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะนั้นมีมูลค่ารวมกว่า 70 ล้านบาทต่อปี ประกอบด้วย รายได้จากการขายไฟฟ้าร้อยละ 2 จากบริษัท ปทุมธานี คลีน เอนเนอร์จี จำกัด และร้อยละ 1 จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สนามฟุตบอลขนาดมาตรฐาน 1 แห่ง กองทุนส่งเสริมกีฬาฟุตบอลปีละ 2 ล้านบาท และรายได้จากค่าขนขยะของบริษัทปทุมธานีฯ ร้อยละ 15 ซึ่งเก็บค่าขนส่งขยะตันละ 200 บาท โดยประมาณการว่าปทุมธานีจะมีขยะประมาณ 1,800 ตันต่อวัน ส่วนกระแสข่าวที่ว่าได้รับเงินจากโครงการนี้ 300 ล้านบาทบ้าง 1,000 ล้านบาทบ้างนั้นไม่เป็นความจริง เป็นการใส่ร้ายกันทางการเมืองมากกว่า
นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ที่ดิน 193 ไร่ ที่จะทำโครงการนั้นยังไม่มีการซื้อขายใดๆ เพียงแต่บริษัทปทุมธานีฯ เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีว่าจะสร้างโรงงานในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งที่ดินแปลงนี้มีเจ้าของประมาณ 3-4 ราย ไม่สามารถระบุชัดเจนได้แต่แบ่งเป็นกลุ่มทหาร นักการเมือง และประชาชน โดยที่ดินมีราคาประเมินอยู่ที่ไร่ละ 4 ล้านบาท ส่วนกระแสต่อต้านของชาวบ้านที่เกิดขึ้นนั้นหากทำให้โรงงานสร้างในพื้นที่นี้ไม่ได้ ก็ไม่ทราบว่าทางบริษัทมีพื้นที่อื่นสำรองไว้หรือไม่ เพราะทาง อบต. จะทราบเรื่องก็ต่อเมื่อบริษัทมาขออนุญาตประกอบกิจการเท่านั้น
“หลังจากที่บริษัทปทุมธานีฯ เสนอว่าจะใช้พื้นที่นี้ ทางจังหวัดก็มาดูว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ โดยเน้นเรื่องเส้นทางคมนาคมและชุมชนเป็นหลัก ซึ่งก็พบว่ามีความเหมาะสมที่จะสร้างได้ ผมก็คิดว่าพื้นที่นี้เหมาะสมเช่นกัน เพราะเป็นพื้นที่ป่ารกร้าง” นายก อบต.เชียงรากใหญ่กล่าว
สำหรับการทำประชาพิจารณ์ที่เกิดขึ้นวันที่ 16 พฤศจิกายน ที่ผ่านมานั้นเป็นเพียงการชี้แจงให้ชาวบ้านทราบว่าจะมีโครงการเกิดขึ้น แต่ทางจังหวัดหรือ อบต. ยังไม่ได้เริ่มลงมือก่อสร้างใดๆ ในพื้นที่เชียงรากใหญ่ ซึ่งโรงงานกำจัดขยะนี้เป็นโครงการที่จังหวัดปทุมธานีปฏิบัติตามโรดแมปวาระขยะแห่งชาติของรัฐบาล อีกทั้งปทุมธานียังเป็นจังหวัดที่ต้องแก้ปัญหาขยะเร่งด่วนภายใน 6 เดือนด้วย ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ได้เรียกประชุม อบต. ประธานสภาชุมชน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือเรื่องขยะมาแล้วถึง 4 ครั้ง ตั้งแต่เดือนกันยายน 2557 จนกระทั่งมีการทำข้อตกลง (MOU) ระหว่างจังหวัดและผู้ประกอบการเมื่อวันที่ 25 ธันวาคมที่ผ่านมา
“การทำ MOU เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม นั้นเป็นเพียงการทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างบริษัทปทุมธานีฯ กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดปทุมธานี ซึ่งรับประกันว่าจังหวัดปทุมธานีมีปริมาณขยะให้ผู้ลงทุนอย่างแน่นอน ยังไม่ใช่การทำสัญญาตามกฎหมาย ส่วนสัญญาการก่อสร้างโรงงานนั้นบริษัทฯ ต้องดำเนินการอีกหลายขั้นตอน ซึ่งจะเสร็จช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับท้องถิ่น” นายเสวกกล่าว

นายก อบต.เชียงรากใหญ่กล่าวอีกว่า โรงงานขยะนี้จะไม่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมแน่นอนทั้งเรื่องน้ำเสีย เรื่องกลิ่นเหม็น ฯลฯ เพราะหากเกิดมลพิษจริงก็จะไม่ยอมให้สร้างเช่นกัน เพราะบ้านเกิด ครอบครัว อาชีพ และกิจการส่วนตัว ทั้งหมดอยู่ที่ตำบลเชียงรากใหญ่ แต่จากการไปดูงานที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นบริษัทที่จะมาลงทุนในโครงการนี้ทำให้มั่นใจว่าจะไม่ก่อผลกระทบใดๆ
นอกจากนี้ยังกล่าวว่า บริษัทที่เข้ามาดำเนินกิจการโรงงานขยะนี้เป็นบริษัทจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเทคโนโลยีทั้งหมดที่ใช้ในโรงงานขยะนี้เป็นแบบเดียวกับที่ญี่ปุ่นด้วย โดยคณะกรรมการของจังหวัดเป็นผู้คัดเลือกบริษัทปทุมธานีฯ เข้ามาลงทุนจากหลายๆ บริษัทที่เสนอการลงทุนเข้ามาที่จังหวัด และมีเพียง 2 บริษัทเท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์คัดเลือก คือ บริษัทของญี่ปุ่นและเยอรมันนี
หลังจากนั้นส่วนราชการจังหวัดปทุมธานีที่เกี่ยวข้อง ทั้งอุตสาหกรรมจังหวัด สิ่งแวดล้อมจังหวัด กรมโยธาธิการ ปลัดอำเภอ นายอำเภอ รองผู้ว่าราชจังหวัด จึงไปดูโรงงานเผาขยะเพื่อผลิตไฟฟ้าทั้งที่ประเทศเยอรมันในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2557 และที่ประเทศญี่ปุ่นในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2557 และตัดสินใจเลือกบริษัทของญี่ปุ่นมาลงทุน เนื่องจากญี่ปุ่นเปิดให้ชมโรงงานทุกขั้นตอนและสามารถบันทึกภาพนิ่งและวิดีโอได้ ในขณะที่เยอรมันห้ามบันทึกภาพ อีกทั้งมองว่าเทคโนโลยีญี่ปุ่นน่าจะดีกว่า เพราะใช้เทคโนโลยีที่ไม่สร้างมลพิษและปัญหาใดๆ ต่อสิ่งแวดล้อมหรือประชาชน รวมถึงขยะมีลักษณะคล้ายคลึงกับของไทย
“เข้าใจว่าบริษัทปทุมธานี คลีน เอนเนอร์จี จำกัด เป็นเพียงบริษัทที่ตั้งขึ้นเฉพาะกิจด้วยเงินจดทะเบียนประมาณ 1 ล้านบาท เพื่อดำเนินการเรื่องสัญญา การขออนุมัติอนุญาตก่อสร้าง การขอใบ รง.4 การขอใช้ไฟฟ้า-น้ำประปา ฯลฯ ที่ต้องติดต่อกับหน่วยงานในไทย แต่เมื่อเริ่มดำเนินกิจการแล้วจะเป็นบริษัทจากญี่ปุ่น และยืนยันว่าเป็นการลงทุนของต่างชาติทั้งหมดไม่มีคนเกี่ยวข้อง” นายเสวกกล่าว
สำหรับกรณีไฟไหม้ในพื้นที่โครงการซึ่งลุกลามมายังที่ดินของชาวบ้านและชุมชนที่อยู่ติดกันนั้นนายเสวกกล่าวว่า เชื่อว่าเป็นฝีมือของผู้ไม่หวังดีซึ่งเป็นคนพื้นที่ ที่คอยสร้างสถานการณ์ให้เกิดความขัดแย้งและสร้างกระแสให้เป็นข่าวในสังคม ซึ่งทาง อบต. รู้ตัวว่าใครเป็นคนทำ และหากจะเอาผิดก็สามารถทำได้เพราะมีพยานบุคคลชัดเจน ส่วนเจ้าของที่ดินก็อยู่กรุงเทพฯ ด้านบริษัทญี่ปุ่นที่จะมาซื้อที่ดินก็อยู่ที่ต่างประเทศ “นายกฯ จะเผาทำไม เวลามีคนแจ้งว่าไฟไหม้ก็ต้องเอารถดับเพลิงไปช่วยตลอด ซึ่งจนถึงวันที่ 2 มกราคม ซึ่งไฟไหม้ครั้งใหญ่นั้น อบต. ไปดับเพลิงให้รวม 4 ครั้งแล้ว”
ทั้งนี้ หากชาวบ้านมีปัญหาสามารถมาสอบถามข้อสงสัยและขอเข้าพบได้ตลอดและยินดีพบทุกคน ซึ่งวันนี้ (13 มกราคม) ชาวบ้านก็มาขอพบเพื่อข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเพิ่มเติม เนื่องจากบอกว่าได้ข้อมูลไม่ครบ 11 ประเด็น ตามที่ยื่นหนังสือถามมาตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร พ.ศ. 2540 ซึ่ง อบต. ก็ให้บริษัทชี้แจงเรียบร้อยแล้ว
โดยทางจังหวัดปทุมธานีก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องสร้างโรงงานขยะที่ตำบลเชียงรากใหญ่เท่านั้น โดยเมื่อวันที่ 12 มกราคม ที่ผ่านมา มีการประชุมร่วมกันที่ อปท. เพื่อหาพื้นที่เหมาะสมสร้างโรงงานขยะแปลงอื่นๆ ซึ่งทาง อบจ. (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) ก็รับหน้าที่ประสานกับ อบต. อื่นๆ เพื่อหาที่เหมาะสมไว้สำรองต่อไป
“หากสร้างโรงงานขยะที่หนองเสือได้ก็ดีมากและเห็นด้วยว่าเหมาะสม แต่ก็ขึ้นอยู่กับบริษัทผู้ลงทุนกับเจ้าของที่ดินว่าจะตกลงซื้อขายที่ดินแปลงใด” นายเสวกกล่าว

ก่อนหน้านี้ประชาชนได้ทำหนังสือขอข้อมูลโครงการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะแบบบูรณาการ 11 ประเด็น ถึง อบต.เชียงรากใหญ่เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2557 และได้ยื่นสือทวงถามข้อมูลดังกล่าวอีก 2 ครั้ง ในวันที่ 21 ธันวาคม 2557 และ 6 มกราคม 2558 ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มกราคม ที่ผ่านมา อบต.เชียงรากใหญ่ให้บริษัทปทุมธานีฯ ตอบคำถามซึ่งเป็นรายละเอียดของโครงการผ่าน อบต.เชียงรากใหญ่เพื่อชี้แจงประชาชนแล้ว แต่ยังมี 2 ประเด็น ที่ไม่ได้รับคำตอบ คือ หนังสือลงนาม MOU ระหว่าง อปท.ปทุมธานีและบริษัทปทุมธานีฯ และเอกสารการทำประชาพิจารณ์ครั้งแรก
ดังนั้น ตัวแทนประชาชน 4 คน ประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์อภิรดี ศรีโอภาส นางสาวนันทพร ประเสริฐวงษ์ ซึ่งอาศัยหมู่บ้านอภิเชษฐ์ธานี หมู่ 3 ตำบลเชียงรากใหญ่ นายวินัย ว่านกระสือ อดีตกำนันตำบลเชียงรากใหญ่ และนายวิรัช บุญเหลือ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ตำบลเชียงรากใหญ่ จึงเข้าพบนายเสวก ประเสริฐสุข นายก อบต.เชียงรากใหญ่ และนายสมชาย เทพรอด ปลัด อบต.เชียงรากใหญ่ เมื่อวันที่ 13 มกราคม ที่ผ่านมา
ด้านนางสาวนันทพร ประเสริฐวงษ์ กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้ไม่ครบนายเสวกแจ้งว่า หนังสือลงนาม MOU นั้นให้ติดต่อไปที่ อปท.ปทุมธานี ส่วนเอกสารการทำประชาพิจารณ์นั้นต้องไปขอบริษัทปทุมธานีเพราะทาง อบต.เชียงรากใหญ่ไม่ได้เก็บข้อมูลไว้
นอกจากนี้ยังกล่าวว่า คำตอบที่ได้รับจากนายเสวก หลังจากถามว่าทำไมถึงเลือกพื้นที่โครงการใกล้ชุมชน คือ ที่ดินแปลงดังกล่าวบริษัทปทุมธานี ฯ เป็นผู้เลือกและไปติดต่อตกลงกับผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งทาง อบต.เชียงรากใหญ่มาทราบเรื่องภายหลังจากที่ทางจังหวัดแจ้งลงมา ทำให้ไม่กล้าปฏิเสธ
“เป็นไปได้อย่างไรที่ อบต.เชียงรากใหญ่จะไม่ทราบเรื่อง ในเมื่อวันที่จัดประชาพิจารณ์เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนนั้นผู้ว่าฯ ไม่ได้มา แต่ อบต.เป็นผู้จัดเอง แต่กลับบอกปัดว่าไม่รู้ไม่เห็น ที่สำคัญคือนายกฯ พูดชัดเจนว่า จะก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะในพื้นที่ดังกล่าว แม้จะอ้างว่ามีขั้นตอนตามกฎหมายอีกมากก็ตาม” นางสาวนันทพรกล่าว
สำหรับคำถามทั้ง 11 ประเด็น บริษัทปทุมธานีฯ ไม่ตอบ 2 ประเด็น คือ แนวทางการทำประชาพิจารณ์และคุณสมบัติของผู้ทรงคุณวุฒินั้น ให้คณาจารย์ที่รับผิดชอบทำประชาพิจารณ์ให้รายละเอียดด้วยตนเอง และรายงานประชุมของ อบต. ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาโครงการฯ ให้ขอรายละเอียดที่ อบต.เชียงรากใหญ่ ส่วนคำตอบของทั้ง 9 ประเด็น มีดังนี้
1. ความเหมาะสมเชิงพื้นที่ที่จะเป็นที่ตั้ง มีความเหมาะสมเพราะตั้งอยู่บนถนนหลักหมายเลข 347 ปทุมธานี-บางปะหัน ซึ่งอยู่กึ่งกลางจังหวัดปทุมธานี และห่างชุมชนมากพอ อีกทั้งยังเป็นเส้นทางลำเลียงขยะประมาณร้อยละ 80 ของปทุมธานีไปอยุธยา
2. ขนาดพื้นที่โครงการและเขตติดต่อโดยระบุพิกัด GIS พื้นที่โครงการมีขนาด 140 ไร่เศษ พิกัดคือ 14ํ03’03.2″N 100ํ34’09.8″E
3. เส้นทางโลจิสติกส์ของโครงการทั้งขาเข้าและขาออก ใช้ถนนสายหลักหมายเลข 347 ปทุมธานี-บางปะหัน เพราะโครงการอยู่ติดถนนสายหลัก
4. ขนาดการรองรับปริมาณขั้นสูงสุดต่อวัน เบื้องต้นวันละ 1,500 ตัน
5. ระบบการกำจัดขยะและผลิตกระแสไฟฟ้า มี 2 ระบบ ของบริษัท เอ็ม.บี.ที.เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนซัลแทนท์ จำกัด หรือ Micro Bio Technology and Consultant-MBTEC ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการกำจัดขยะอินทรีย์ โดยการหมักขยะในระบบปิด ซึ่งจะได้ก๊าซชีวมวล น้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์ กากอนินทรีย์ที่ไหม้ไฟ (RDF) และระบบการเผาขยะในระบบปิดเพื่อผลิตไฟฟ้า (Gasification Process) ของบริษัท โคเบลโค อีโค โซลูชั่น จำกัด (Kobelco Eco-Solutions) จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะได้กระแสไฟฟ้าและ RDF

6. ขนาดกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าคือ 8 เมกะวัตต์
7. แผนงานการก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรของโครงการ ออกแบบและขอใบอนุญาตต่างๆ 6 เดือน และก่อสร้างรวมถึงติดตั้งเครื่องจักร 18-24 เดือน
8. แผนการบริหารโครงการและ TOR ที่เสนอต่อ อบต. บริหารงานแบบกิจการร่วมค้า (joint venture) ระหว่างผู้ลงทุน KOBELCO, MBTEC และบริษัทรับเหมาก่อสร้างในนามบริษัท ปทุมธานี คลีน เอเนอร์จี จำกัด
9. แผนบริหารความเสี่ยงของโครงการโดยเฉพาะด้านความปลอดภัยและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อยู่ระหว่างออกแบบโครงการและดำเนินการเสนอแผนบริหารความเสี่ยงของโครงการในขั้นตอนขอใบอนุญาตตั้งโรงงาน (รง.4) ซึ่งต้องประเมินความเสี่ยงของโครงการ (ESA) ประกอบการพิจารณาด้วย
ด้านนายปัญญวัฒน์ อุทัยพัฒน์ ประธานบริษัท MBTEC และกรรมการผู้จัดการบริษัท ปทุมธานี คลีน เอเนอร์จี จำกัด กล่าวว่า ยังฟันธงไม่ได้ว่าจะก่อสร้างโรงงานที่เชียงรากใหญ่หรือไม่ เพราะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้ยอมรับและมั่นใจในเทคโนโลยีของโครงการก่อน แม้จะเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีที่เลือกใช้นี้ปลอดภัยที่สุดและไม่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่หากจะไปก่อตั้งโรงงานในพื้นที่อื่นก็จะทำได้ยาก เนื่องจากเส้นคมนาคมเป็นปัจจัยหลักของโครงการ ซึ่งพื้นที่นี้ติดถนนหมายเลข 347 ขนาด 10 เลน และห่างชุมชนเกือบ 400 เมตร
นอกจากนี้ยังกล่าวว่า เป็นความลับของบริษัทที่จะตอบว่าปัจจุบันซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวหรือยัง แต่ทุกจังหวัดต้องมีศูนย์จัดการขยะ 1 แห่ง ในขณะที่ไม่มีใครอยากให้โรงงานขยะอยู่หน้าบ้าน นั่นเพราะแต่ละคนคิดถึงประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวมต่างกัน ซึ่งต้องใช้เวลาเพื่อทำความเข้าใจกับชุมชนและให้ประชาชนยอมรับ หลังจากนั้นถึงจะเข้าไปพัฒนาโครงการในพื้นที่ได้ “เราไม่ได้ทำธุรกิจบนความเดือดร้อนของคนอื่น เรื่องที่ดินจะซื้อทั้ง 193 ไร่ หรือซื้อแค่พื้นที่โครงการ 140 ไร่ นั้นยังตอบไม่ได้ เพราะที่ดินราคาสูง ซึ่งหากตกลงกันไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนที่”
ด้านคำถามที่ทางบริษัทไม่ได้ตอบไปนั้น เพราะต้องการให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตซึ่งรับจ้าง สำรวจ ออกแบบสอบถาม และประเมินผลการทำประชาพิจารณ์ เป็นผู้ตอบ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยทราบเรื่องแล้วและกำลังจัดทำข้อมูลให้ ส่วนข้อมูลจาก อบต.เชียงรากใหญ่นั้นทาง อบต. แจ้งว่าให้ข้อมูลชาวบ้านเรียบร้อยแล้ว ในขณะที่ชาวบ้านก็มีคำถามเพิ่มอีก 3 ข้อ คือ เรื่องการป้องกันน้ำท่วม ที่ตั้งโรงงานอยู่ใกล้คลองประปา และที่ตั้งโรงงานอยู่ใกล้ชุมชน
“บริษัทมีระบบป้องกันน้ำท่วมที่ดีแน่นอน โดยจะนำดินที่ขุดทำบ่อน้ำมาทำเป็นคันดินล้อมรอบพื้นที่ และเทปูนยกพื้นในพื้นที่สำคัญของโรงงาน แต่ไม่มีการถมที่ดินเพิ่ม เพราะสู้ราคาถมที่ไม่ไหว ด้านปัญหาการปนเปื้อนน้ำขยะลงแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นไปไม่ได้ เพราะโรงงานเป็นระบบปิดไม่ปล่อยน้ำออกนอกโรงงาน อีกทั้งน้ำขยะนี้ยังมีมูลค่าเพราะทำปุ๋ยน้ำขายได้ ที่สำคัญคือโรงงานต้องการน้ำเพื่อหมักขยะวันละ 200 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งต้องใช้น้ำจากนอกพื้นที่ด้วยซ้ำ โดยปัจจุบันกำลังเจรจากับ อบต. ขอใช้น้ำเสียที่อยู่เหนือโรงบำบัดน้ำเสียของชุมชน ส่วนปัญหาเรื่องที่ตั้งในเขตชุมชนนั้น โรงงานแห่งนี้ใช้เทคโนโลยีเดียวกับที่ญี่ปุ่นซึ่งตั้งห่างชุมชน 15 เมตร แล้วไม่มีปัญหา ดังนั้นชุมชนนี้อยู่ห่างเกือบ 400 เมตร จึงไม่มีปัญหาเช่นกัน” นายปัญญวัฒน์กล่าว
อีกทั้งยังกล่าวว่า MBTEC ศึกษาเรื่องการกำจัดขยะอินทรีย์มา 11 ปีแล้ว โดยนำเทคโนโลยีของนายจิระศักดิ์ พูนผล อดีตรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและประธานที่ปรึกษา MBTEC มาพัฒนาเป็นเทคโนโลยีของบริษัทจนถึงปัจจุบัน และช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ศึกษาหาผู้ร่วมลงทุนที่เหมาะสมกับการกำจัดขยะของประเทศไทย ซึ่งพบว่า Kobelco เหมาะสมที่สุด ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีทั้งหมด 17 สาขาทั่วญี่ปุ่นและมีประสบการณ์ทำงานมานาน 13 ปีแล้ว ดังนั้นระบบการจัดการของศูนย์จัดการขยะแห่งนี้จึงดีและเหมาะสมกับขยะประเทศไทย เพราะเทคโนโลยีของ MBTEC จะกำจัดขยะอินทรีย์และทำให้ขยะแห้ง แล้วส่งต่อไปยังเทคโนโลยีของ Kobelco ที่เผาขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า โดยเหลือเถ้าเพียงร้อยละ 3 และปล่อยควันสู่ชั้นบรรยากาศไม่เกินค่ามาตรฐาน
สำหรับประโยชน์ด้านภาษีที่เชียงรากใหญ่จะได้รับจากโครงการคาดว่าประมาณ 40-50 ล้านบาทต่อปี โดยได้รับส่วนแบ่งจากกำไรสุทธิของบริษัทร้อยละ 2 ต่อปี

ล่าสุดวันที่ 15 มกราคม 2557 ชาวบ้านเชียงรากใหญ่กว่า 200 คนรวมตัวกันไปยื่นหนังสือต่อนายพันเอกพัลลภ เฟื่องฟู ผู้บัญชาการต่อสู้อากาศยานที่ 2 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จังหวัดปทุมธานี ณ ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความสงบไม่มีการประท้วงเสียงดังหรือยกป้ายคัดค้านตามกฎอัยการศึกที่ยังบังคับใช้อยู่
ว่าที่ร้อยตรีทวีศักดิ์ อินกว่าง ตัวแทนชาวบ้านเชียงรากใหญ่ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเคยร้องเรียนเรื่องปัญหาความเดือดร้อนที่ชาวบ้านได้รับและกังวลสงสัยไปยังอบต. เชียงรากใหญ่ และผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีแล้ว แต่ถูกเพิกเฉยจนทำให้ชาวบ้านหมดศรัทธาและไม่เชื่อถือการทำงาน ดังนั้นจึงมาร้องเรียนกับคสช. ใน 2 เรื่อง คือ 1.ให้หาพื้นที่ก่อสร้างโรงงานขยะแห่งใหม่ที่ไม่ก่อผลกระทบต่อประชาชน 2.ย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีคนปัจจุบัน เนื่องจากผลักดันโครงการโดยไม่ฟังเสียงประชาชน โดยรวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องแนบให้คสช. พิจารณาด้วย
นอกจากนี้ยังกล่าวว่าตอนนี้คาดหวังการทำงานของคสช. เท่านั้น ซึ่งพันเอกพัลลภรับเรื่องไปและบอกว่าจะเร่งรัดจัดการให้ โดยจะทบทวนข้อมูลจากฝ่ายประชาชน และเรียกหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมาประชุมร่วมกัน และยอมรับว่าที่ผ่านมาได้รับข้อมูลเพียงด้านเดียวจากผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี
“การดำเนินการเพื่อก่อสร้างโรงงานขยะที่ผ่านมาเร่งรัดเกินไปและข้ามขั้นตอนทางกฎหมายโดยเฉพาะการทำประชาพิจารณ์ที่แจ้งให้ชาวบ้านทราบแบบกะทันหัน มีการประชุมที่รวดเร็ว อีกทั้งยังปกปิดข้อมูลบางอย่าง เช่น ในวันทำประชาพิจารณ์ชาวบ้านได้รับคำตอบเฉพาะข้อดีหรือประโยชน์เท่านั้น รวมถึงผู้กำหนดนโยบายไม่ฟังเสียงประชาชน ทั้งๆ ที่โครงการนี้กระทบสิทธิบุคคลและชุมชน” ว่าที่ร้อยตรีทวีศักดิ์กล่าว
ด้านนายพัลลภ เฟื่องฟู กล่าวว่าจะเร่งรัดตรวจสอบข้อมูล และส่งเรื่องไปยังคสช. ส่วนกลางต่อไป ซึ่งในวันนี้คาดว่าจะส่งข้อมูลบางส่วนจากหนังสือร้องเรียนของชาวบ้านเข้าสู่วาระการประชุมของคสช. ส่วนกลางได้ นอกจากนี้ยังมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจข้อเท็จจริงทันทีในช่วงบ่ายของวันที่ 15 มกราคม