ThaiPublica > คนในข่าว > “เรณุมาศ ภักดีโต” ครูต้นเรื่องกับห้องเรียนต้นแบบ ก้าวข้ามความเป็นครูสู่กระบวนการ “โค้ช”

“เรณุมาศ ภักดีโต” ครูต้นเรื่องกับห้องเรียนต้นแบบ ก้าวข้ามความเป็นครูสู่กระบวนการ “โค้ช”

6 สิงหาคม 2014


สังคมดูจะถอดใจกับปัญหาการศึกษาของไทยว่าแก้ยาก ใครจะมาจัดการเรื่องนี้แล้วจะจัดการอย่างไร หากมองภาพรวมแล้วการศึกษาคือปัญหาที่ใหญ่มากและปัญหานี้คงไม่มีใครแก้ได้ และเมื่อดูจากตัวชี้วัดและมาตรฐานการวัดผลต่างๆ นับวันวิกฤติการศึกษายิ่งรุนแรงมากขึ้น

การหวังพึ่งภาครัฐจึงไม่ใช่ทางออก หลายสถาบัน หลายองค์กร รวมทั้งภาคเอกชน ต่างเดินหน้าขับเคลื่อนในจุดที่ตัวเองพร้อม โดยหวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งในหลายๆฟันเฟืองที่เข้ามาพัฒนารูปแบบวิธีการเรียนการสอน และหวังว่าจะเป็นทางเลือกที่ใช่ เพื่อยกระดับการเรียนรู้ของเด็กไทยให้มีทั้งทักษะชีวิตและวิชาการ

พัฒนาการของโลกยุคเทคโนโลยีเปิดโอกาสให้กระบวนการเรียนรู้ง่ายขึ้น แต่การมี “ฮาร์ดแวร์” ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป หาก “ซอฟต์แวร์” โดยเฉพาะครู ซึ่งมีหน้าที่หลักที่ทำให้กระบวนการเรียนรู้สมบูรณ์และบรรลุเป้าหมาย จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เมื่อครูได้เรียนรู้กระบวนการเรียนการสอนไปพร้อมๆกับเด็กที่ได้เรียนรู้กระบวนการเรียนรู้และการฝึกทักษะ

ด้วยบทบาทในโลกเทคโนโลยี่ภาคเอกชนอย่าง “ซัมซุง” ได้นำเครื่องมือและกระบวนการมาขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การปรับวิธีการเรียนรู้ทั้งของครูและเด็กภายใต้โครงการ “ซัมซุง สมาร์ทเลิร์นนิ่ง เซนเตอร์” (Samsung Smart Learning Center) ห้องเรียนต้นแบบแห่งอนาคต ที่เน้นให้เด็กเรียนรู้บนพื้นฐานของความสนใจ โดย 3 ปีที่ผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกำลังนำไปสู่ห้องเรียนต้นแบบเพื่อสร้างให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนอย่างแท้จริง

การ “เปลี่ยน” กระบวนการเรียนการสอนใช่ว่ากระทรวงศึกษาจะต้องรื้อหลักสูตรการเรียนสอนทั้งหมด เพียงแต่ “ปรับเปลี่ยนบางวิชา” เพื่อเติมเต็มทักษะชีวิตให้เขายืนหยัดได้ในชีวิตจริง ขณะที่วิชาการด้านอื่นๆก็ยังอยู่และจะเข้มข้นมากขึ้นด้วยซ้ำ หากเด็กและครูต่างรู้ว่าจะเรียนและสอนอย่างไร

โมเดลสมาร์ทเลิร์นนิ่ง จึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ใช่ว่าจะเกิดกับเด็กเท่านั้น แต่การเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่กว่าคือการฉุกคิดของครูที่นำไปสู่การ “คลิ๊ก” ในบทบาทของครูที่นำไปสู่การถอยครั้งสำคัญ จาก”ครู”มาสู่การ”โค้ช”

นางสาวเรณุมาศ ภักดีโต คุณครูไอซีที โรงเรียนบ้านเข็กน้อย จังหวัดเพชรบูรณ์
คุณครูเรณุมาศ ภักดีโต โรงเรียนบ้านเข็กน้อย จังหวัดเพชรบูรณ์

“เรณุมาศ ภักดีโต” คุณครูไอซีที โรงเรียนบ้านเข็กน้อย จังหวัดเพชรบูรณ์ หนึ่งในครูต้นแบบ เล่าถึงกระบวนการเรียนรู้จากโครงการนี้และนำไปสู่ภาวะฉุกคิดว่า

ไทยพับลิก้า : โดยความเข้าใจว่าครูยุคใหม่ต้องเข้าใจบริบททุกอย่าง ครูต้องเป็นคนเอื้ออำนวยความสะดวกในการวางกระบวนการเรียนรู้

เรามองกระบวนการเป็นสำคัญ ที่ผ่านมาเราชอบมองว่าครูเป็นคนสั่งสอนความรู้ พอยุคสมัยมันเปลี่ยนไปครูต้องปรับตัว เพราะว่าโลกทุกวันนี้ความรู้มันเยอะ จนครูเองก็ตามไม่ทันเหมือนกัน ครูพยายามตามยุคสมัยเพื่อที่จะเอาไปเล่าให้เด็กฟัง เพื่อที่เราจะไม่ตกยุคสมัย แต่มันเยอะจนเราก็ตามไม่ทัน

ในบางเรื่องที่เด็กมาถาม เราก็ไม่รู้ เราก็บอกเด็กว่าไม่รู้ เราก็บอกว่าเราไปหาคำตอบด้วยกัน ไม่ต้องไปกลัวเด็กไม่ศรัทธาครู หรือไม่มั่นใจว่าครูไม่รู้เรื่องนี้ เราก็บอกเด็กไปเลย

ที่บอกว่าการเอื้ออำนวยความสะดวกให้เด็ก คือครูต้องปรับตัวเป็นโค้ช นอกจากให้คำปรึกษาแนะนำแล้ว ต้องกระตุ้น เพราะเราเจอเด็กอยู่ 2 ประเภทคือ เด็กที่ เอ๊ะ เอ๊ะ แล้วมันคืออะไร ต้องไปหาคำตอบ ส่วนอีกประเภท เอ๊ะ เอ๊ะ แต่ว่าไม่เอาดีกว่า ไม่สงสัยดีกว่าเดี๋ยวงานเข้า ครูต้องทำหน้าที่ว่า เอ๊ะแล้วต้องไปต่อนะ ต้องโค้ชให้เด็ก ไปหาคำตอบ ต้องกระตุ้นให้เด็กเกิดการใฝ่รู้เรื่องนี้ขึ้นมาให้ได้ และครูต้องอำนวยความสะดวกให้เด็กด้วย

คำว่าอำนวยความสะดวก เรามองว่า ครูเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง แต่ไม่ได้เป็นคนบงการ ทุกอย่างอยู่ที่การเรียนรู้ของเด็ก เกิดจากกระบวนการที่เด็กไปพบเจอจากประสบการณ์ตรง เช่น การลงพื้นที่เก็บข้อมูล ครูอาจจะเป็นฝ่ายสนับสนุน ว่าเดี๋ยวครูไปซื้อข้าวให้ เดี๋ยวครูเป็นคนรถให้ หรือเวลาเกิดความขัดแย้ง บางอย่างครูก็ต้องเข้าไปมีบทบาท คือในมุมมองความเป็นเด็ก อัตตาเขามีอยู่แล้ว ถ้าครูมองว่าไม่มีใครยอมใครในกลุ่ม เราก็น่าจะเข้าไปมีบทบาท แต่ไม่ใช่ไปบอกว่าเธอผิดนะ เราต้องให้เขาเรียนรู้ด้วยว่าเขาถูก ไม่ถูก ให้เขาเรียนรู้ไปด้วย กระตุ้นในกลุ่มให้เขารู้สึกเอ๊ะขึ้นมาว่าพฤติกรรมนี้ควรเกิดขึ้นไหม ถ้าทำแล้วมันมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ลองมาคุยกันในกลุ่ม

ไทยพับลิก้า : เครื่องมือสำคัญมากน้อยแค่ไหนในการทำให้เกิดขบวนการการเรียนรู้

เครื่องมือสำคัญ แต่ครูมองว่ากระบวนการสำคัญกว่า คือตัวเครื่องมือไอซีทีเข้ามาเป็นตัวเสริมให้กระบวนการเรียนรู้มันดำเนินไปอย่างราบรื่น สมบูรณ์แบบ เพราะเด็กเขาสนใจไอซีที คือเด็กไม่สนใจว่ากระบวนการคืออะไร เด็กจะเรียนรู้จากกระบวนการที่เราให้ไป ตัวไอซีทีเป็นอุปกรณ์ มันมีบทบาทเป็นตัวชูโรงให้เด็กเกิดความสนใจเป็นอันดับแรก ต่อมาเขาจะเกิดการเรียนรู้จากการใช้ไอซีที เอาไอซีทีเครื่องนี้ไปประยุกต์ให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ให้เกิดความรู้ ไปบูรณาการใช้ในชีวิตประจำวันได้

เราก็มองว่าเวลาเราสอนเด็ก เราไม่ได้ต้องการคำตอบในชั่วโมงเรียนอย่างเดียว หมายถึงผ่านกระบวนการการแก้ปัญหา เราอยากให้เขาเอาการแก้ปัญหานี้ไปแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันของเขาได้ด้วย ไม่ใช่ว่าการแก้ปัญหาในรายวิชาที่เป็นวิชาการอย่างเดียว ในชีวิตเราเข้าใจว่าเด็กก็ต้องเจอปัญหาชีวิตเหมือนกัน อาจะเป็นปัญหาเล็กปัญหาน้อย ขึ้นอยู่กับบริบทแต่ละครอบครัว ดังนั้นกระบวนการนี้เด็กน่าจะเอาไปประยุกต์ใช้ในชีวิตได้ ผ่านปัญหานั้นไปได้

เราพยายามบอกว่าให้เด็กมองโลกในแง่บวก ไม่ได้หมายความว่าโลกสวยนะ แต่เมื่อเจอปัญหาอุปสรรคคิดในด้านดีเข้าไว้แล้วผ่านมันไปให้ได้ เรามองว่าอย่างนั้น

ไทยพับลิก้า : เครื่องมืออาจจะเป็นตัวหนึ่งที่ทำให้กระบวนการทำได้ดีขึ้น แต่บริบทอื่นๆ ที่จะมาช่วยเสริม มีเครื่องมือ มีคุณครู แล้วเด็กเองต้องทำอย่างไร

เราอยากให้เด็กเรียนรู้วิธีการเรียนรู้ ตัวเขาต้องเรียนรู้ เราไม่สามารถเรียนรู้แทนเขา เพราะเขาต้องเรียนรู้เพื่อที่จะได้คำตอบและได้กระบวนการเรียนรู้ต่อไปด้วย เหมือนคำภาษาอังกฤษที่ว่า learning to how learn เรียนรู้เพื่อที่จะเรียนรู้อย่างไร เราเชื่อว่าประสบการณ์เก่าของเขาบวกกับประสบการณ์ใหม่ที่เขาได้รับ มันเป็นองค์ความรู้ที่จะอยู่กับเขายั่งยืน ไม่ใช่ความรู้ที่จำอย่างเดียว เป็นความเข้าใจของเขาเอง

ไทยพับลิก้า : คุณครูมองว่าวันนี้การศึกษาเป็นวิกฤติหรือไม่

อย่างที่เราเห็นในเฟซบุ๊ก เขาบอกว่า เอาปลาไปสอบปีนต้นไม้ เอาลิงไปสอบปีนต้นไม้ เอาหมูไปสอบปีนต้นไม้ แล้วตัดสินว่าปลากับหมูไม่มีศักยภาพ เรามองว่าอย่างไร ก็คือ เราเห็นด้วยอยู่แล้วว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพของเขา มีความถนัด ความสนใจที่แตกต่างกันไป ซึ่งกระบวนการกลุ่มมันลงตัวกับความแตกต่างเหล่านี้ คนนี้ตัดต่อได้ คนนี้ถ่ายภาพได้ คนนี้ชอบสัมภาษณ์ คนนี้ชอบเทคแคร์เพื่อน แต่เอาไปวัดเป็นผลสัมฤทธิ์ เช่น สอบโอเน็ต ปรากฏว่าสอบตก ไม่ใช่เด็กโง่ หรือไม่มีความสามารถ เราก็ไม่รู้อย่างนี้วิกฤตหรือไม่ ถ้าวัดวิกฤติจากการสอบ มันก็คงเป็นวิกฤติอย่างที่สังคมว่า

แต่ถ้ามาดูลึกๆ ที่เราเจอกับเด็ก สภาพจริง เราว่าเด็กเหล่านี้ไม่ได้โง่ ไม่ได้ไอคิวต่ำ แต่เพียงความถนัดของเขามันคนละทิศทางกับนโยบายการเรียนการสอน แต่เราคิดว่าเด็กพัฒนาได้ เรียนรู้ได้ ดังนั้นตัวไอซีทีเป็นเครื่องมือสำคัญตัวหนึ่ง มารองรับกระบวนการที่เราจัดให้เด็กมันสมบูรณ์แบบขึ้น เพราะโลกต่อไปมันต้องไอซีที ตามมาติดๆ อยู่แล้ว พวกเทคโนโลยี

ไทยพับลิก้า : แสดงว่าบริบทเราต้องคิดว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพ ครูต้องปรับทัศนคติกันใหม่

เราต้องเชื่อมั่นเด็ก ต้องให้โอกาสเขา เชื่อมั่นเขา หากเขาทำพลาด เราเชื่อว่าเขาได้เรียนรู้ ว่าทำแบบนี้มันจะผิดพลาดนะ ทำแบบนี้มันจะเป็นข้อเสียนะ คราวต่อไปก็อย่าไปตัดโอกาส ให้โอกาสเขาอีก เขาจะเกิดการเรียนรู้ ทุกอย่างจะค่อยๆ ดีขึ้น อย่างวิดีโอตัวแรกที่เราไปทำโปรเจกต์กับเด็กในพื้นที่จะออกมางง เด็กก็งง เราก็บอกว่าไม่เป็นไร มันเรียนรู้กันได้ พอลงไปทำใหม่ก็ดีขึ้น งานเด็กเราอย่าไปตัดสินว่ามันดีหรือไม่ดี มันได้หรือไม่ได้ ดูที่ว่าเด็กกลุ่มนี้ได้เรียนรู้อะไร ผ่านกระบวนการแล้วเขาได้เรียนรู้อะไร ตอบโจทย์เขาได้ไหม เราไม่อยากให้คนอื่น มุมมองคนอื่นมองเด็กว่าเด็กทำไม่ได้เท่ากับรายการกบนอกกะลาเลย เราอยากให้มองว่าเด็กมาจากศูนย์นะ และเด็กเพิ่งได้รู้จักกับไอซีทีนะ แท็บเล็ต โน้ตบุ๊กหน้าจอสัมผัส เพิ่งรู้จักโปรแกรมตัดต่อตัวนี้นะ ต้นทุนชีวิตมันมาต่างกัน

ไทยพับลิก้า : ก่อนที่จะบอกว่าต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน คนที่จะเข้าใจที่สุดคือคุณครูว่าต้นทุนชีวิตเด็กไม่เท่ากันที่จะให้โอกาส

อย่างเด็กที่เราเจอคือเด็กชาวเขา แต่ความแตกต่างก็ต่างกัน คนนี้เก่ง คนนี้ไม่เก่ง คนนี้เก่งวิทย์ คนนี้เก่งคำนวณ เรามองว่าอันนี้เป็นความท้าทายของครูทุกคน คือถ้าเราเทียบว่าโรงเรียนนี้ดังและรับเฉพาะเด็กที่ไอคิวสูงๆ แล้วเด็กก็มีผลงานระดับประเทศ ระดับชาติ ก็คือต้นทุนเด็กเขาสูงอยู่แล้ว แต่พอมาเจอเด็กเรา มีความหลากหลายเยอะมาก พอครูลงไปใช้กระบวนการเรียนรู้ ครูได้ใช้ความท้าทายตัวเอง ครูก็อาจจะลองผิดลองถูกได้เหมือนกัน พอผลออกมาเด็กดีขึ้น และการดีขึ้นอาจจะไม่เท่ากันก็ได้ เด็กคนนี้อาจจะดีขึ้นเท่านี้ เด็กคนนี้ดีขึ้นแค่นี้ แต่ก็ในทิศทางที่ดีขึ้น เราก็ว่าเออ มันมีความสุขในการเป็นครูของเราแล้ว เพราะเด็กเขาพัฒนา

คุณครูเรณุมาศ ภักดีโต  โรงเรียนบ้านเข็กน้อย จังหวัดเพชรบูรณ์
คุณครูเรณุมาศ ภักดีโต โรงเรียนบ้านเข็กน้อย จังหวัดเพชรบูรณ์

ไทยพับลิก้า : กระบวนการเรียนรู้นี้ ครูต้องปรับบริบท ปรับวิธีสอน ครูต้องคิดเอง มันยากแค่ไหน

เราใช้กระบวนการพีบีแอล (PBL: Problem Based Learning) เราใช้ปัญหาเป็นฐาน เราให้เด็กเอาปัญหาที่เขาสนใจอยากทำ เพื่อเขาจะได้ทำอย่างต่อเนื่อง ไม่เบื่อ เมื่อก่อนเคยคิดว่าการเรียนการสอนที่ดี คือบรรยากาศการเรียนการสอนต้องมีความสุข แต่พอลงพื้นที่จริง ณ บางครั้งเราต้องจัดบรรยากาศเครียดบ้างทุกข์บ้างให้เด็ก เพราะเมื่อเกิดความเครียด ความทุกข์ หรืออุปสรรค จะเกิดแรงกดดันให้เด็กบ้าง เด็กจะได้หาคำตอบ หาทางออกในการดำเนินงานของตัวเอง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกลุ่ม อันนี้พอเขาผ่านไปได้ เขาจะบอกว่า ครู โล่งอกจังเลย อย่าไปคิดว่าต้องบรรยากาศสุขสันต์อย่างเดียว มันต้องหลากหลายอารมณ์ด้วย จะต้องมีกดดัน มีเสียใจ มีเศร้า มีผิดหวังกันบ้าง เพราะชีวิตจริงเด็กต้องเจอปัญหาพวกนี้

เพราะกระบวนการพีบีแอลมี 6 ขั้นตอน มีการกำหนดปัญหา วิเคราะห์ มีการค้นหาข้อมูล มีการสรุปสังเคราะห์ วิเคราะห์ สรุปผล นำเสนอผลงาน มันค่อนข้างครอบคลุมที่จะทำให้เด็กเกิดทักษะแห่งศตวรรษที่ 21ได้

ไทยพับลิก้า : ก่อนที่จะไปถึงการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 เรื่องการให้โอกาสนั้นครูมองอย่างไร เพราะทุกคนบอกว่า โอกาสมันสำคัญกับทุกคน แต่คนจะเข้าถึงโอกาสได้อย่างไร

ในมุมองส่วนตัว เด็กทุกคนมีศักยภาพ หากเราไม่เปิดโอกาสให้เขา อย่างเรื่องของสมเจตน์ ที่ครูเจอกับตัว เป็นเด็กที่วิชาอื่นเขาเรียนบ้างไม่เรียนบ้าง วิชาภาษาไทยครูก็มาบอกว่าอยู่แต่ห้องคอมพ์ เราก็จะสังเกตพฤติกรรมเขา คือมาห้องคอมพ์เขาก็เรียนปกติ ให้ทำอะไรทำได้หมด เสร็จก่อนใคร เป็นคนไม่พูด ให้พรีเซนต์งานไม่โอเค จนเขามาเข้าโครงการชุมนุมซัมซุงสมาร์ทเลิร์นนิง ก็สังเกตพฤติกรรมเขา เขาตัดต่อได้ แต่เขาพูดไม่เก่ง มีอาจารย์บางท่านมาบอกเราว่าทำไมเอาสมเจตน์เข้ากิจกรรมนี้ น่าจะเอาเด็กที่พรีเซนต์เก่งๆ นะ เราก็บอกว่าไม่ใช่ชุมนุมที่จะพรีเซนต์งานอย่างเดียว เราพยายามจูนให้คนที่คิดคนละมุมเข้าใจว่าเด็กมีความสามารถแบบนี้ ใจเราอยากให้เขากล้าแสดงออก แต่ถามว่าเขากล้าแสดงออกแล้วเขาไม่มีความสุข ฝืนเขา แต่ถ้าให้เขาทำในสิ่งที่เขาถนัด และเขากล้าแสดงออกขึ้นอีกนิดหนึ่ง ก็โอเคแล้ว ซึ่งสมเจตน์เขาเก่งการตัดต่อ แต่ให้พรีเซนต์งานไม่เอา…

นี่คือศักยภาพของเด็ก… เราต้องเปิดโอกาสให้เขา

ไทยพับลิก้า : ฟังแล้วเหมือนกับว่าครูต้องเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา โดยที่ต้องเข้าใจบริบทของเด็ก

หากเราไม่เข้าใจ แล้วไปบอกว่าสมเจตน์ไม่ได้ เอาออกจากโครงการไปเลย มันเหมือนตัดโอกาสเขา เรามองว่าเด็กคนอื่นเขาก็มีความสามารถในตัวเอง เพียงแต่เราให้โอกาสเขา ให้ครั้งหนึ่งแล้วยังไม่โอเค ก็ให้อีกครั้งก็ไม่เป็นไร เรามองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ คือเปิดโอกาสให้เขาแสดงศักยภาพเขา

ไทยพับลิก้า : ก่อนหน้าที่ซัมซุงจะเข้ามา มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนหรือไม่ มันยังไง หรือการสอนตามรูปแบบที่เคยมีมาไม่ได้เอาเด็กเป็นศูนย์กลางจริงๆ

คือในความเห็นส่วนตัวนะ ตัวเองสอนมา 8 ปี ที่เราสอนมามันคือกระบวนการที่ถูกต้องแล้ว จริงๆ พีบีแอล 6 ขั้นตอนเราทำแล้ว ไม่ใช่ไม่เคยทำ อาจจะเป็นโครงการงานคอมพิวเตอร์ แต่เราไปยึดติดว่าครูคือครู ครูไม่ใช่โค้ช ฉะนั้นผลลัพธ์ที่เราได้มามันไม่ใช่กระบวนการเรียนรู้ เหมือนที่เราให้เด็กทำโครงงาน และมีรูปเล่มรายงานมาส่ง บางทีพิมพ์รายงานมากลับหน้ากลับหลัง ตัวเองก็ไม่ได้เปิดดูว่าชื่อ ผิด ถูก เรียบเรียงเนื้อหาอย่างไร หาจากกูเกิลก็เอามาแปะวางอย่างเดียว เราพยายามเน้นว่ากระบวนการทำงานกลุ่มมันต้องมีอย่างนี้ๆ เด็กเข้าใจหมด แต่พอทำงานจริงๆ คือมันไม่ใช่กระบวนการทำงานกลุ่มที่แท้จริง

เราก็กลับมาถามตัวเองว่าเราต้องการอะไรกันแน่ เราต้องการสมุดรายงานที่อยู่เต็มโต๊ะเรา เพื่อที่จะอวดครูคนอื่นว่าเด็กเรารับผิดชอบเอารายงานมาส่งเต็มโต๊ะ เราต้องการอันนี้หรือเปล่า หรือเราต้องการให้เด็กได้เรียนรู้จริงๆ ได้ความรู้จริงๆ

ไทยพับลิก้า : อะไรทำให้วันหนึ่งฉุกคิดได้

เวลาเราสอน ความคิดเข้าข้างตัวเอง คือเราก็รู้ทฤษฎีว่าอันนี้คือโค้ช อันนี้คือครู มันมีเส้นเล็กๆ แบ่งอยู่ ว่าพฤติกรรมนี้คือโค้ช และพฤติกรรมนี้คือครู และเราก็คิดเข้าข้างตัวเองว่า การที่เราพูดกับเด็กอย่างนี้มันคือโค้ช มันคือคำปรึกษา แต่จริงๆ ไม่ใช่ มันคือคำบงการ คำที่เราชักใยอยู่เบื้องหลัง และเด็กทำตามที่เราต้องการ

เวลาลงพื้นที่ เราไปเจอปัญหาว่า เด็กถ่ายรูป ภาพที่ออกมาหน้ามืด เด็กสัมภาษณ์แล้วได้คำตอบไม่ตรงประเด็น เด็กจะหันมามองหน้าเราว่าครูคะจะเอาอย่างไร เราก็มีความรู้สึกว่าถ้าอย่างนี้มันคงไม่เข้าท่าแล้ว เด็กน่าจะคิดแก้ปัญหาได้ แล้วเขาจะทำอย่างไร เราก็มานั่งคิดแล้วว่าที่เราทำมันไม่ใช่โค้ชแล้ว มันคือครูที่ชักใยอยู่เบื้องหลัง มันต้องอย่างนั้นสิ ไปตรงนิ้สิ เปลี่ยนคำถามใหม่ เอาอย่างนี้สิ ก็กลายเป็นว่าเด็กเป็นตุ๊กตาเชิดหุ่น แล้วครูเป็นคนกำกับอยู่ เราก็มองว่าหากทำอย่างนี้ต่อไปก็เป็นเหมือนเล่มรายงานที่วางอยู่บนโต๊ะเราเหมือนเดิม เราต้องการแบบนี้ใช่ไหม อีก 3 ปี 5 ปี เราต้องการผลลัพธ์แบบนี้ใช่ไหม ก็เลยคิดได้ว่าไม่ใช่แล้ว

ไทยพับลิก้า : แล้วครูทำอย่างไร

เราต้องเปิดใจ มันก็ไม่ง่าย ผิดพลาดมันไม่เป็นไรเด็กได้เรียนรู้ จากที่ข้อผิดพลาด ถ้าเด็กทำถูกก็ เออ…เขาได้เรียนรู้แล้ว เราจึงต้องเปิดใจว่า เน้นกระบวนการให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้จริงที่สุด จากประสบการณ์จริงของเขา อย่าไปเบรกเขา อย่าไปแทรกแซงความคิดเขา โดยที่เราคิดว่านั่นคือการโค้ช พอเราไปแทรกแซงมาก เด็กจะเกิดการลังเลว่าสงสัยต้องไปถามครูก่อน ว่าครูโอเคหรือไม่ มันก็จะวนมาจบท้ายที่ว่าครูเป็นคนบงการอยู่ดี

นั่นคือทำให้เราคิดว่าเราต้องเปลี่ยนแล้ว

ไทยพับลิก้า : แล้วครูเริ่มอย่างไร นอกจากเปิดใจ

ที่ชัดเจนคือตอนที่เรามาเวิร์กชอปที่ซัมซุง เขาให้เราไปทำวิดีโอที่ทุ่งดอกบัว และเขาก็มีสตาฟ แล้วให้ครูเป็นครูสังเกตการณ์ เราก็เห็นแล้วว่าภาพมันหน้าดำ เราก็บอกว่า มาทางนี้ เราก็ลืมตัว เพราะเราเป็นครู เราคิดแต่ว่างานจะต้องออกมาดี ซึ่งเราพยายาม คือมันเป็นเรื่องซับซ้อนของจิตใจนะ ว่าเราเข้าใจ เราได้เรียนรู้กระบวนการว่าครูต้องเป็นโค้ชนะ เราต้องเปิดโอกาสให้เด็ก พอลงปฏิบัติจริง มันก็อดไม่ได้ที่จะต้องบอกว่ามาทางนี้สิมาทางนั้นสิ เพื่อให้งานออกมาดี ดีในความรู้สึกของเรา เราถูกปลูกฝังมาแบบนี้ นี่คือความเป็นตัวตนของเรา แต่เราไม่ได้บอกว่าครูยุคเก่าผิดนะ แต่ยุคสมัยมันเปลี่ยนไป เราต้องปรับเปลี่ยนไปด้วย

แล้วก็มีน้องสตาฟบอกว่า ครูๆๆ ให้เด็กทำ ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญเลยว่า นี่ไง ความแตกต่างที่เราพยายามหลอกตัวเองว่านี่คือโค้ช แต่จริงๆ มันคือครูต่างหาก ครูที่ส่งให้เด็กอย่างเดียว ที่ทำให้เด็กไม่ได้คิดเอง แก้ปัญหาเอง อันนั้นคือประเด็นใหญ่ที่ทำให้คิดว่าเรื่องนี้ต้องจริงแล้ว และเราต้องยอมรับให้ได้ว่าการเรียนรู้ของเด็กไม่ใช่การเรียนรู้ของเรา ส่วนเราต้องเรียนรู้จากเด็กอีกทีหนึ่ง เรียนรู้กับเด็กหมายความว่าเรียนรู้กระบวนการที่จะทำให้เด็กชุดนี้มันผ่าน มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น มีการเรียนรู้ที่ดีขึ้น

ไทยพับลิก้า : คือครูต้องถอย

ครูต้องถอย ลดบทบาทตัวเองลงแต่ไม่ได้ทิ้งเด็ก ดูเหตุการณ์ สังเกตการณ์ สังเกตพฤติกรรมว่ามีการเปลี่ยนแปลงไหม มีการเรียนรู้ไหม นอกจากเหตุการณ์ที่เราไปหาข้อมูลในหมู่บ้านว่าเปลี่ยวไหม เสี่ยงไหม ไม่ใช่ปล่อยให้เด็กไป ต้องคอยดูด้วย ไปเป็นเพื่อน แต่ก็ถอยตัวเองมา คอยดูห่างๆ ให้เขาเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ โดยเราเฝ้าดูอยู่เบื้องหลัง

ไทยพับลิก้า : จะถอยแค่ไหน

เราถอยทุกบริบทไม่ได้ ต้องดูบริบทด้วยว่า ณ เวลานั้นเราต้องการอะไร อย่างการลงพื้นที่เราต้องการให้เด็กเกิดประสบการณ์จริง แล้วจะให้เขาทำอย่างไร มีอุปสรรคที่ไม่คิดว่าจะเจอ เช่น ถ่ายทำอยู่มีหมาเห่า เสียงเข้ามาในกล้อง ทำอย่างไร หรือเด็กร้องงอแง เขาจะต้องแก้ปัญหาอย่างไร แต่ถ้าในห้องเรียนครูถอยเยอะไม่ได้ มันต้องมีช่วงรุก ช่วงถอย ต้องดูเหตุการณ์ ณ ตอนนั้น

ถ้าจะบอกว่าครูไม่สอนเลยคงไม่ได้ เพราะครูต้องเป็นคนขึ้นต้นเรื่องก่อน เพื่อให้เด็กไปหาคำตอบ

ไทยพับลิก้า : การที่ครูจะเปลี่ยนได้อย่างนี้มันยาก มันต้องถอยอย่างมาก ต้องเปิดใจอย่างมาก

ใช่ เพราะมันถูกฝังในสมองว่าครูต้องเป็นแบบนี้

ไทยพับลิก้า : แล้วครูทำใจได้ไหม

แรกๆ ก็ไม่ชิน เหมือนกับเราไม่ได้ดูแลเด็กเลย เอ๊ะ เราเป็นครูนะ แต่เราปล่อยให้เด็กเผชิญชะตากรรมหรือเปล่า นั่นคือความคิดตอนนั้น มันน่าจะให้คำปรึกษาสักหน่อยไหม แต่คำปรึกษาของเรามันออกมาในรูปแบบการชักใย เป็นเหมือนคำสั่งว่าทำแบบนี้ดีไหม และเด็กทำตามเรา โดยที่เด็กอาจจะไม่อยากทำก็ได้ แต่ครูบอกว่าอย่างนี้เด็กต้องทำ เราก็เลยคิดว่ามันไม่ใช่โค้ชแล้ว มันเป็นครู

ไทยพับลิก้า : วิธีการแบบนี้เหมือนเด็กได้ แต่กฎระเบียบกติกาของโรงเรียนที่บีบบังคับอยู่ระดับหนึ่งการที่ครูจะทำอะไรอย่างนี้ก็ยากเหมือนกัน

ถ้าเป็นกระบวนการเรียนรู้แบบนี้ ผู้บริหารต้องรับทราบด้วย เดี๋ยวจะหาว่าครูปล่อยให้เด็กไปศึกษาเรียนรู้แล้วครูยืนดูเฉยๆ หรือ ดังนั้นผู้บริหารต้องรับทราบ เข้าใจกระบวนการแบบนี้ นอกจากนี้ คุณครูในโรงเรียน เดิมมีคุณครูเข้าโครงการชุมนุมแกนนำ 3 คน ตอนนี้ขยายผลเป็น 10 คน เป็นครูแกนนำในชมรมซัมซุงกับเรา มีแนวความคิดคล้ายๆ กัน และขณะที่ครูอีกหลายท่านมองว่ามันไม่ใช่แบบนี้นะ มันต้องไม่ใช่แบบนี้ ก็ไม่เข้าใจบ้าง แต่เราเป็นห้องเรียนต้นแบบ ต่อไปครูก็จะค่อยๆ ซึมซับที่จะให้เด็กไปค้นหาคำตอบเอง เดิมคุ้นชินการอยู่ในห้องเรียน แต่คิดว่าอนาคตก็จะมีการเข้าใจมากขึ้น ผอ. มีการสนับสนุน

ไทยพับลิก้า : ตัววัดต้องเปลี่ยนไหม

โครงการนี้เป็นการวัดจากการเห็น จากการสังเกตว่าเด็กมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร แต่มันก็ต้องสอดคล้องกับหลักสูตร จึงเป็นเรื่องยาวไปอีก ตอนนี้เรานำร่องรูปแบบการเรียนการสอนก่อน แล้วเทอมหน้าเข้าไปในหลักสูตร ผอ. สนับสนุนเอากระบวนการเรียนการสอนแบบนี้เข้าไปในหลักสูตร เอาห้องนี้เป็นต้นแบบ ตั้งชื่อว่า”วิชาการเรียนรู้กระบวนการแบบพีบีแอล” มาก็ใส่เข้าไปในหลักสูตรเลย

ไทยพับลิก้า : ไม่ต้องเปลี่ยนหลักสูตรทั้งหมด แค่เปลี่ยนแปลงบางวิชา

ใช่ เอากระบวนการเรียนการสอนแบบนี้เข้าไปใส่ในวิชาใหม่นี้

ซัมซุง สมาร์ทเลิร์นนิ่ง เซนเตอร์

นางสาวศศิธร กู้พัฒนากุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดองค์กร บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด
นางสาวศศิธร กู้พัฒนากุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดองค์กร บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด

นางสาวศศิธร กู้พัฒนากุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดองค์กร บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่า โครงการซัมซุง สมาร์ทเลิร์นนิ่ง เซนเตอร์ (Sumsung Smart Learning Center) เป็นโครงการเพื่อสังคมของซัมซุงที่มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้กับเด็กไทย ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่ที่เด็กเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง โดยมีเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นตัวช่วยในการเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาทั้งทักษะการเรียนรู้นวัตกรรม ทักษะชีวิตและการทำงาน และทักษะด้านข้อมูลสื่อและเทคโนโลยี

สำหรับโครงการนี้มีองค์ประกอบหลัก อยู่ 6 ข้อ คือ 1. สภาพแวดล้อมในการเรียน โดยทางซัมซุงได้สร้างห้องแห่งการเรียนรู้ขึ้นใหม่ 1 ห้องเรียน ด้วยงบประมาณ 1 ล้านบาทต่อห้อง ครึ่งหนึ่งเป็นค่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นค่าเฟอร์นิเจอร์ ค่าตกแต่ง และหนังสือ 2. เทคโนโลยีสารสนเทศ ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ 3. หลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem Based Learning) เพื่อให้เด็กฝึกตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว ค้นหาคำตอบ และเรียนรู้ได้ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายในชุมชนของโรงเรียนนั้นๆ 4. การพัฒนาครู เนื่องจากครูคือหัวใจสำคัญที่สุด ซึ่งก็ต้องเรียนรู้และพัฒนาไปพร้อมกับเด็ก คือ ลดบทบาทการสอนให้น้อยลง เรียนรู้ให้มากขึ้น ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับเด็ก ไม่ใช่ครูที่เด็กกลัวและสั่งให้เด็กทำ 5. การเตรียมความพร้อมเด็ก ในส่วนนี้ทำผ่านการอบบรมเวิร์กชอป มุ่งเน้นการเรียนรู้ในชุมชน เพื่อให้เด็กรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของและสนใจที่จะเรียนรู้และแก้ปัญหาในชุมชนตัวเอง 6. การประเมินผล เป็นการประเมินร่วมกันระหว่างเด็กกับครู ไม่ใช่ครูเป็นผู้ประเมินและให้คะแนนฝ่ายเดียวอย่างเดิม

“กระบวนการเรียนรู้แบบใหม่นี้จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนแบบเดิมๆ ที่เด็กนั่งมองครูและกระดาน มาจัดสภาพแวดล้อมใหม่ เช่น จัดเป็นโต๊ะกลม ตกแต่งห้องเรียนใหม่ ซื้อหนังสือเพิ่ม ให้อุปกรณ์การเรียนรู้ทั้งสมาร์ททีวี แท็บเล็ต กล้องถ่ายรูป โน้ตบุ๊ก เครื่องปรินท์ กล่องส่งสัญญาณไวไฟ การเรียนรู้ของเด็กในโครงการนี้ เด็กๆ จะเป็นผู้เลือกเองว่าจะศึกษาเรื่องอะไร หลังจากพื้นที่ศึกษาจนได้คำตอบแล้ว ก็นำข้อมูลที่ได้มาเสนอผ่านสื่อดิจิทัลตามความสนใจของแต่ละกลุ่ม เช่น ทำเป็นหนังสั้น สารคดี หลังจากนั้นก็ประเมินผล โดยเด็กสามารถเรียนรู้และใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ได้เก่ง จากโครงการนี้ก็ทำให้เด็กๆ ทำงานร่วมกันเป็นทีมมากขึ้น และทำงานเป็นทีมได้ดีมาก

นางสาวศศิธรกล่าวต่อว่า นอกจากความสำเร็จในกระบวนการเรียนรู้ของเด็กแล้ว ในส่วนของครูเองก็พัฒนาขึ้นมาก ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อกระบวนการเรียนรู้ของเด็กเปลี่ยนไปครูก็ต้องเปลี่ยนตามไปพร้อมกับเด็ก ที่เราเห็นได้ชัดเจนเลยคือครูสามารถลดบาทของตัวเองลงได้ จากผู้ที่ป้อนข้อมูลให้กับเด็ก เหลือเพียงที่ปรึกษาและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเด็กได้