ความต่อเนื่องของโครงการนำมาซึ่งการต่อยอดกระบวนความคิดและการขยายเครือข่าย เพื่อพลังของการเปลี่ยนแปลงในการสร้างงาน สร้างอนาคต สร้างชีวิตที่มั่นคงในพื้นที่ของตัวเอง
การที่ภาคเอกชนใช้จุดแข็งขององค์กรมาช่วยสร้างกระบวนการและเครือข่าย ด้วยนวัตกรรม เครื่องมือ เทคโนโลยี ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ใหม่ในโรงเรียน จนเกิดเป็นต้นแบบห้องเรียนแห่งอนาคต ที่ช่วยสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมให้เกิดการขับเคลื่อนจากวงเล็กๆ สู่วงที่ใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ
จากจุดเริ่มต้นโครงการ Samsung Smart Learning ในการสร้างห้องเรียนอนาคตในปี 2556 เป็นจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้ด้วยตนเองของทั้งผู้เรียนและผู้สอน ครูเปลี่ยน เด็กเปลี่ยน นำไปสู่กระบวนการเรียนรู้จากวงเล็กๆ ในห้องเรียนสู่โรงเรียนและชุมชนรอบข้าง
ปีนี้นับเป็นอีกปีที่ได้ติดตามไปดูงานของ “Samsung Smart Learning ห้องเรียนแห่งอนาคต”ที่ โรงเรียนภูกระดึงวิทยาคม จ.เลย โดยปีก่อนหน้าได้ไปที่ โรงเรียนเทิงวิทยาคม จ.เชียงราย
3 ปี ของโครงการ Samsung Smart Learning ห้องเรียนแห่งอนาคต ที่มุ่งสร้างโรงเรียนต้นแบบ 41 โรงเรียน ที่มีความแตกต่างในกระบวนการเรียนรู้และศักยภาพในแต่ละพื้นที่ การเปลี่ยนครูเป็นผู้ให้คำปรึกษาหรือโค้ชผู้อำนวยความสะดวก ขณะที่เด็กมีส่วนร่วมและเรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งการเปลี่ยนครูจากผู้ครองบอลในห้องเรียนในรูปแบบทอล์คแอนด์ชอล์ก อันเป็นวัฒนธรรมที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน จู่ๆ จะส่งบอลให้เด็กเป็นผู้ครองบอลแทน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายทั้งในแง่การทำใจและเปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเด็กๆ โครงการนี้จึงนับเป็นก้าวสำคัญในการปรับเปลี่ยน “กระบวนการ” ที่ไม่ใช่แค่การศึกษาในห้องเรียน แต่เป็นกระบวนการสร้างคนที่คิดได้ ทำเป็น เป็นการดึงศักยภาพที่ทุกคนมี ลงมือทำ สู่การเปลี่ยนที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้จากใบหน้าและแววตาแห่งความสุขของเด็กๆ หรือแม้กระทั่งครูด้วยกันเอง
วันนี้นับเป็นอีกก้าวที่ขยายไปสู่โครงการนำร่องโรงเรียนเครือข่ายซัมซุง โดยนางสาวศศิธร กู้พัฒนากุล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดองค์กร บริษัทซัมซุงอิเลคทรอนิคส์ จำกัด กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาโครงการSamsung Smart Learning ที่ผ่านมา ซัมซุงเชื่อมั่นว่าการค้นพบจะนำไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ เราไม่เพียงช่วยทำให้เด็กสามารถค้นพบศักยภาพ ความสามารถและความสนใจของตัวเองเรายังค้นพบด้วยว่าเมื่อครูค้นพบศักยภาพของลูกศิษย์ และเห็นว่าเด็กของเขาทำได้ จากเด็กที่ก้มหน้าหลังห้องกลับลุกขึ้นมาพูดต่อสาธารณะได้ หรือการที่เด็กหลังห้องกลับมามีตัวตนและรับผิดชอบในงาน การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ เหล่านี้ช่วยสร้างการค้นพบที่ทำให้ครูกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง กล้าเปลี่ยนบทบาทจากครูที่เคยแต่สั่ง มาเริ่มรับฟังและเปิดโอกาสให้เด็ก การค้นพบเหล่านี้กลายมาเป็นพลังที่สำคัญมากที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโรงเรียนอย่างไม่น่าเชื่อ”
นางสาวศศิธรกล่าวต่อว่า การค้นพบที่สร้างพลังนี้ เห็นได้ชัดมากเมื่อเริ่มทดลองทำโครงการระยะขยายผลใน”โครงการโรงเรียนเครือข่ายซัมซุง” โดยร่วมมือกับโรงเรียนต้นแบบในโครงการที่มีความพร้อมสู่โมเดลการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียนที่อยู่ใกล้เคียง ในการแบ่งปัน แลกเปลี่ยนการพัฒนาการจัดการศึกษาในพื้นที่โดยโรงเรียนเอง นอกเหนือจากหลักสูตรแกนกลางที่ถูกกำหนดมาจากส่วนกลาง
จากการลงพื้นที่ดูโครงการโรงเรียนเครือข่ายซัมซุง โดยเริ่มจากโรงเรียนภูกระดึงวิทยาคม คุณครูสุกัลยา ดานา ครูที่ปรึกษาโครงการโรงเรียนเครือข่ายซัมซุง ซึ่งเป็นคุณครูโรงเรียนภูกระดึงวิทยาคม เล่าถึง “ภูกระดึงโมเดล” ว่า หลังจากได้รับการชักชวนจากซัมซุงเพื่อทดลองดำเนินการเป็นพื้นที่นำร่องโครงการโรงเรียนเครือข่าย จากการเข้าโครงการตั้งแต่ปีแรก เราได้ทดลองกระบวนการแล้ว และเห็นชัดถึงการเปลี่ยนแปลงของเด็กที่เข้าร่วมโครงการ ในฐานะครูเราเห็นเด็กตื่นเต้นกับอุปกรณ์และห้องเรียนสภาพแวดล้อมใหม่ที่ไม่เหมือนห้องเรียนปกติ และบางคนสนุกกับการได้ลงพื้นที่ไปเรียนรู้ในชุมชน แต่หัวใจสำคัญคือทั้งครูและเด็กได้เรียนรู้ร่วมกันในกระบวนการเรียนรู้ใหม่
“พอมาเริ่มทำงานเครือข่าย ในโครงการฯ นี้ ต้องเรียกว่ามันยกระดับการทำงานของเราขึ้นทั้งแผงโดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพครูมาเป็นผู้ฝึกสอน (Trainer)ให้โรงเรียนอื่น เด็กก็ต้องพัฒนามาเป็นพี่เลี้ยง รุ่นพี่ถ่ายทอดกระบวนการให้น้องๆ ในจุดนี้เองเราเห็นเติบโตยกชุดเกือบ 20 คน ภายในเวลาไม่นาน เขาโตขึ้นกว่าเดิม มีหลักการในการทำงาน จึงเป็นที่มาของภูกระดึงโมเดล ในการสร้างพลังการเรียนรู้ การเรียนรู้เชิงพื้นที่ พร้อมกับสร้างพลังเครือข่าย” คุณครูสุกัลยากล่าว
“ภูกระดึงโมเดล” มีโรงเรียนภูกระดึงวิทยาคมเป็นโรงเรียนต้นแบบ ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมมีนักเรียน 1,212 คน ส่วนโรงเรียนในเครือข่าย ได้แก่ โรงเรียนอนุบาลชุมชนภูกระดึง (มีนักเรียน 891 คน), โรงเรียน ชุมชนบ้านผานกเค้า (242คน), โรงเรียนบ้านนาแปน (234), โรงเรียนบ้านอีเลิศ (216คน), โรงเรียนบ้านนายาง (81คน), โรงเรียนบ้านนาโถ (318คน), โรงเรียนบ้านห้วยส้ม (319คน), โรงเรียนบ้านห้วยส้มใต้ (122คน), โรงเรียนบ้านห้วยไผ่ (110 คน) และโรงเรียนบ้านซำนกจิบ (61คน)
ดร.พิทยา แสงสว่าง ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านผ่านกเค้า หนึ่งในโรงเรียนเครือข่ายซัมซุงเล่าว่า หลังจากที่ได้รับคัดเลือกเป็นโรงเรียนเครือข่ายของซัมซุง และได้เข้าร่วมกิจกรรมกระบวนการ PBL(Problem Based Learning) ที่ผ่านมาแม้จะเคยได้ยินกระบวนการ PBL แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะนำมาใช้ในรร.อย่างไร
“พอเข้าไปได้เห็นกระบวนการที่ทีมงานได้ทำ ตั้งแต่เริ่มในเรื่องการตระหนักถึงการจัดการศึกษาก่อน ว่าในการสอนในรูปแบบเดิม มันไม่ใช่แล้วนะในยุคปัจจุบัน ไม่ใช่คำตอบหรือไม่ตอบโจทย์ เราฟัง โอเค มันใช่ ยิ่งทีมงานซัมซุงได้จัดกระบวนการ PBL เป็นระบบ มีขั้นมีตอนที่ชัดเจนและไปถึงจุดหมายที่เป็นชิ้นงานของเด็กออกมาเป็นวิดิโอสารคดี เด็กๆ ได้ถ่ายทำ เด็กๆได้ชื่นชมผลงานตัวเอง ซึ่งเด็กมีความสุขมาก”
ดร.พิทยากล่าวว่า “จุดเปลี่ยนของแนวคิดของเรา อยู่ระหว่างการเดินทาง ในการทำกิจกรรม มีสิ่งเล็กๆเป็นความสำเร็จเล็กๆที่เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความพรั่งพรูในการคิดเชิงสร้างสรรค์ของเด็ก แรงบันดาลใจของเด็กที่เกิดจากกิจกรรมตัวนี้ เราเห็นแรงจูงใจสูง เราเห็นแววตา ความสุขที่เขาหลุดออกมา ซึ่งเราไม่เห็นเด็กมีความสุขแบบนี้มาก่อน เขาได้ทำงาน และมีช่วงเวลาที่เราเห็นความรับผิดชอบ เราได้เห็นทุกรสชาติของเขาในการทำกิจกรรม ไปสู่การนำเสนอชิ้นงาน”
พร้อมกล่าวต่อว่าการร่วมกิจกรรมในครั้งนั้นที่เห็นเด็กมีความสุขจากกระบวนการเรียนแบบPBLทำให้ได้ทำให้ตนคลิกว่า ต้องเปลี่ยนการศึกษาในโรงเรียนที่สอนแบบทอล์คแอนด์ชอล์ก ครูต้องปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอนใหม่แล้ว นี่คือทางออก ทางรอดในการจัดการศึกษา
“อย่างเด็กชายวันชัย จากเด็กเงียบๆ เขาอยู่กับยายสองคน เขาบกพร่องทางการเรียนรู้ แต่เด็กคนนี้เราให้โอกาสเขา จากที่ถูกมองว่าไม่เก่งด้านวิชาการ ไม่ได้เก่งอะไรเลย ไม่มีความสามารถเหมือนเพื่อนๆ แต่เมื่อเขาได้ร่วมกิจกรรมในครั้งนั้น เขาได้แสดงให้เราเห็นว่า เขามีอะไรในตัวเยอะมากที่จะแสดงศักยภาพของเขาผ่านกิจกรรมเหล่านี้ ครูหลายคนก็กลั้นน้ำตาไม่อยู่ เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ทันใดของเขา ก็เลยเป็นจุดพลิกว่า ความรู้ไม่ได้สำคัญมากไปกว่ากระบวนการ และหลักคิดเรา กระบวนการสำคัญกว่าความรู้ เราก็คิดว่ากระบวนการ PBL จะดึงศักยภาพเด็กออกมาได้”
ดร.พิทยากล่าวต่อว่า“ที่สำคัญที่สุด ตัวผมเองเปลี่ยนแนวคิด จากที่คิดว่าตัวเองต้องสร้างผลงานเด่นๆให้กับรร. เพื่อตัวเองจะมีชื่อเสียง ได้ผลตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นความดีความชอบ ผลงานวิชาการ แต่พอมาเจอตรงนี้ ผมมองว่าแทนที่เราจะเอาเวลาไปล่ารางวัล ทำผลงานให้กับตัวเอง เราเอาเวลานั้นมาสร้างโอกาสการเรียนรู้ให้กับเด็กดีกว่า นี่คือจุดเปลี่ยนในตัวผม ก็เลยทุ่มเต็มที่ตรงนี้ให้กับมัน และผมก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่ มันจะไปเข้ากับโครงการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ซึ่งเราคิดว่าตรงนี้..ใช่ ตอบโจทย์ได้ด้วย”
พร้อมกล่าวย้ำว่า”เพราะฉะนั้นกระบวนการเรียนรู้แบบPBL มันตอบโจทย์ทั้งทักษะในศตวรรษที่21 มันเป๊ะเลย เป๊ะเวอร์เลย ตอบโจทย์เรื่องลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ และตอบโจทย์อีกเรื่องคือทักษะอาชีพ เพราะเด็กของเรา(โรงเรียนชุมชนบ้านผานกเค้า)ต้องยอมรับว่านักเรียนเขาเป็นเด็กขยายโอกาส ซึ่งเป็นเด็กที่ไม่สามารถไปเรียนในโรงเรียนมัธยมในเมืองได้ เด็กที่เรียนจบป.6 เขาจะเรียนต่อที่เรา หรือเด็กที่จากโรงเรียนอื่นที่จบประถมที่เขาไม่สามารถไปเข้าโรงเรียนมัธยมได้ ก็มาเรียนกับเรา เราก็สร้างทักษะอาชีพ เพราะว่าเด็กส่วนหนึ่งประมาณครึ่งหนึ่ง เขาจบแล้วเขาไปเรียนต่อไม่ได้ เพราะด้วยเหตุปัจจัย ฐานะทางครอบครัว พ่อแม่ที่แตกแยก ฐานะทางการเงิน เราจึงต้องหาเกราะป้องกันในชีวิตของเขาให้ติดต่อเขาไป คือทักษะอาชีพ ก็เป็นอีกวงหนึ่งที่เข้ามา แล้วการเรียนทักษะอาชีพ ก็ผ่านกระบวนการPBLซึ่งนักเรียนสามารถนำไปใช้ได้จริง”
“ดังนั้นภูกระดึงโมเดล นอกจากเราทำด้วยตัวเองแล้ว ทำอย่างไรที่จะขยายเครือข่าย เพราะโรงเรียนภูกระดึงวิทยาคมเป็นโรงเรียนมัธยม แต่ที่เหลือเป็นโรงเรียนประถม เราต้องส่งผลผลิตของเราไปให้เขาอยู่แล้ว กระบวนการน่าจะดี ถ้าเรามาเริ่มต้น หรือกระจายไปยังโรงเรียนต่างๆ แทนที่เด็กนักเรียนจะไปเริ่มที่โรงเรียนมัธยม ในชั้นม.1 หรือ ม.4 เขาก็ได้รับการพัฒนามาก่อนแล้ว เราก็มีแนวคิดตรงกันว่าอยากมีเครือข่ายโรงเรียนอื่นๆด้วย”ดร.พิทยากล่าว
ขณะที่ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้ร่วมลงพื้นที่ให้ความเห็นว่า โครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความรู้ด้วยตัวเองของเด็กๆ เรียนอย่างมีความสุข ได้เรียนรู้ชุมชนของตนเองและเห็นโอกาสในการสร้างงานที่ใกล้ตัว สร้างชีวิตในพื้นที่ของตัวเอง
“ห้องเรียนแห่งอนาคตให้ทักษะในศตวรรษที่ 21 ทำให้เด็กคิดเป็น คิดอย่างมีเหตุมีผลและสามารถสังเคราะห์ได้ สะท้อนได้จากความคิดสร้างสรรค์ สามารถสื่อสารเป็น สามารถอยู่กับคนต่างวัฒนธรรมได้ มีความรับผิดชอบและมีวินัย หากจะวัดผลจะเห็นได้ว่ามันมากกว่ากระบวนการ มันเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การปฏิรูปการศึกษา ที่ต้องการการกระจายอำนาจ การศึกษาที่ดีต้องมีความหลากหลาย ครูต้องมีเมตตา เพื่อทำให้นักเรียนฉลาดในการใช้ชีวิต มีความรับผิดชอบต่อชุมชนและสร้างคนเก่งๆ ในพื้นที่ การศึกษาต้องรักษาคนไว้ในพื้นที่ เป็นผู้ประกอบการในพื้นที่”
ดร.อมรวิชช์กล่าวต่อว่ากระทรวงศึกษาต้องครองบอลให้น้อยลง ให้ท้องถิ่นและโรงเรียนได้เป็นผู้เล่นมากขึ้น รวมทั้งการจับมือภาคเอกชนมาร่วมเป็นเครือข่ายสร้างโครงการที่ดี
อนึ่ง โรงเรียนเครือข่ายซัมซุงปัจจุบันมี 3 พื้นที่ คือ 1. “ภูกระดึงโมเดล” จ.เลย 2.โครงการโรงเรียนเครือข่ายที่ จ.เชียงราย โดยมีโรงเรียนเทิงวิทยาคมเป็นโรงเรียนแม่ข่าย ส่วนโรงเรียนลูกข่าย ประกอบด้วย โรงเรียนเม็งรายมหาราชวิทยาคมและโรงเรียนภูซางวิทยาคม และ3.จ.เพชรบูรณ์ มีโรงเรียนบ้านเข็กน้อย เป็นโรงเรียนแม่ข่าย ส่วนโรงเรียนลูกข่าย ประกอบด้วย โรงเรียนบ้านนายาว และโรงเรียนบ้านทุ่งสมอ