รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ
ก่อนหน้าที่สหรัฐอเมริกากับจีนจะบรรลุข้อตกลงยุติสงครามการค้าชั่วคราวเป็นเวลา 90 วัน โดยสหรัฐฯลดภาษีนำเข้าจากจีนจาก 145% เหลือ 30% ส่วนจีนลดภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯจาก 125% เหลือ 10% เหล่าบรรดาบริษัทผู้ผลิตของเด็กเล่นในสหรัฐฯ ต่างก็วิตกกังวลว่า ภาษีตอบโต้กับจีน 145% จะทำให้บริษัทผู้ผลิตของเด็กเล่นล้มละลายลงไป เพราะขาดแคลนสินค้าพวกเครื่องประดับต่างๆ สำหรับเทศกาลคริสต์มาสที่จะมาถึงในปลายปี 2025
แทบทุกอุตสาหกรรม ที่มีธุรกิจขึ้นกับการค้าต่างประเทศ ต่างก็รอดูด้วยความวิตกกังวล เมื่อเกิดภาวะทางตันด้านภาษีระหว่างทรัมป์กับจีน ที่ยังดำเนินไปแบบไม่มีทางออก บางธุรกิจยกเลิกการสั่งซื้อจากจีน บางธุรกิจมองหาซัพพลายเออร์ในประเทศอื่น ภาวะชะงักงันทางธุรกิจที่นานเป็นเดือน สร้างความเสียหายแก่ธุรกิจ ที่อาศัยวงจรการผลิตตามฤดูกาลที่แน่นอน อย่างเช่นการสั่งซื้อและการผลิตล่วงหน้าสินค้าเทศกาลคริสต์มาส และโอกาสการทำยอดขาย หากพลาดไปต้องรอปีหน้า เพราะไม่มีใครต้องการต้นไม้คริสต์มาสหลังหลังคริสต์มาส

อะไรคือวัตถุประสงค์ของภาษีทรัมป์
Dmitry Grozoubinski ผู้อำนวยการ Geneva Trade Platform ในสวิตเซอร์แลนด์ อธิบายว่า ภาษีนำเข้าคือภาษีที่เก็บจากการนำสินค้าที่ผลิตจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ ทรัมป์ประกาศใช้ “ภาษี” เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมาย 4 ประการ คือ
1)ทรัมป์มองภาษีเป็นหนทางเพิ่มรายได้ เพื่อนำไปลดภาษีประเภทอื่นลง หรือนำไปใช้ในสิ่งที่ทรัมป์ต้องการ
2)ทรัมป์มองภาษีเป็นเครื่องมือส่งเสริมให้โรงงานการผลิตย้ายกลับมาสหรัฐฯ เพื่อให้ได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตเหนือการผลิตในต่างประเทศ
3)ทรัมป์มองการเพิ่มภาษี เป็นอำนาจการต่อรองในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ การค้า และสังคม ภาษีจึงเป็นเครื่องมือมีประสิทธิผลมาก เพราะทรัมป์สามารถลงนามด้วยปากกาเพิ่มภาษี หรือลงนามด้วยปากกาลดภาษี
4)ในมุมมองความมั่นคง ทรัมป์และชนชั้นนำสหรัฐฯมองความขัดแย้งกับจีนเป็นความขัดแย้งแห่งศตวรรษนี้ ภาษีจะเป็นเครื่องมือชะลอการเติบโตของจีน ลดการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานจีน และลดความสามารถของจีน ที่จะกดดันคุกคามสหรัฐฯ
กลยุทธธุรกิจรับมือกับภาษีทรัมป์
การใช้ภาษีเป็นอาวุธเพื่อเป้าหมายหลายอย่างของทรัมป์ สร้างความสับสนทั้งแก่รัฐบาลและธุรกิจในประเทศต่างๆ การเจรจาการค้ากับ EU ไม่คืบหน้า เพราะหัวหน้าเจรจาของ EU ต้องพยายามอย่างมากที่จะเข้าใจว่า อะไรคือความต้องการแน่นอนของสหรัฐฯ ส่วนธุรกิจจำนวนมากที่เผชิญการกีดกันการค้าของสหรัฐฯ ต้องหันไปหาคำแนะนำจากบริษัทที่ปรึกษาว่า อะไรคือกลยุทธ์ที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของระเบียบกฎเกณฑ์การค้า
บทความชื่อ How consulting firms are advising clients to survive Trump’s trade war ใน aol.com กล่าวว่า เมื่อธุรกิจเผชิญกับปัญหาภาษีทรัมป์ สัญชาตญาณแรกคือการผลักดันต้นทุนที่เพิ่มขึ้นให้กับผู้บริโภค แต่บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจเห็นว่า การโยนภาระต้นทุนให้กับผู้บริโภคไม่ใช่วิธีการดีที่สุดเสมอไป เนื่องจากผู้บริโภคประสบปัญหาราคาของแพงในทุกอย่าง การผลักต้นทุนให้ผู้บริโภคจะทำให้อุปสงค์ในตัวสินค้าลดลง ยกเว้นสินค้าที่จำเป็นพื้นฐาน
บริษัทที่ปรึกษาบางแห่งเห็นว่า ธุรกิจมีอำนาจการควบคุมต้นทุนมากกว่าที่ตัวเองรับรู้ โดยสามารถหลีกเลี่ยงภาคส่วนการผลิตในบางด้าน ที่ธุรกิจเสียเงินมากกว่าที่จำเป็น หากตระหนักในในจุดนี้ เมื่อเกิดมีต้นทุนบางอย่างสูงขึ้น เช่นอัตราภาษี ตัวเองจะได้ไม่เริ่มต้นจากจุดที่ไร้ประสิทธิภาพ ดังนัน ธุรกิจจะอยู่ในสภาพที่ดี ต้องไม่ปล่อยให้เรื่องต้นทุนการผลิต เป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติ โดยไม่มีการควบคุมของมนุษย์เรา และให้ถือภาษีเป็นเรื่องความเสี่ยงของธุรกิจอย่างหนึ่ง
ส่วนนักวิจัยของ University of Pennsylvania เขียนบทความเรื่อง ผลกระทบเศรษฐกิจจากภาษีทรัมป์ โดยกล่าวว่า ภาระภาษีจะตกกับผู้บริโภคหรือธุรกิจ ขึ้นกับว่าธุรกิจสามารถโยนให้เป็นภาระของผู้บริโภคได้หรือไม่ แต่ในระยะสั้น ผู้บริโภคและธุรกิจมีแนวโน้มจะแบกรับภาระภาษีร่วมกัน เมื่อเวลาผ่านไป ผู้บริโภคจะเป็นฝ่ายรับภาระมากขึ้น

การรับมือภาษีทรัมป์ของ Pandora
รายงานของ The New York Times เรื่องกลยุทธ์การรับมือภาษีทรัมป์ของ Pandora กล่าวว่า Pandora เป็นบริษัทอัญมณีใหญ่สุดของโลก เป็นบริษัทสัญชาติของเดนมาร์ก สหรัฐฯเป็นตลาดใหญ่สุด มีร้านค้าของตัวเองเกือบ 500 ร้าน แต่ในบางแง่มุม Pandora อาจเป็นบริษัทของไทย เพราะมีฐานการผลิตในไทยมาเกือบ 40 ปี
Pandora ประสบปัญหาแบบเดียวกับบริษัทข้ามชาติอื่นๆ ที่ห่วงโซ่อุปทานมาจากหลายประเทศ ทำให้สามารถผลิตอัญมณีด้วยต้นทุนต่ำ แต่เมื่อทรัมป์ประกาศภาษีตอบโต้เมื่อต้นเดือนเมษายน ห่วงโซ่อุปทานกลายเป็นจุดอ่อน เพราะภาษีทรัมป์จะเก็บภาษีสินค้าจากไทย 36% ต่อมา ทรัมป์เลื่อนการใช้อัตราภาษีตอบโต้ออกไปที่เดือนกรกฎาคม
Pandora มีชื่อเสียงจากสร้อยข้อมือทำจากเงิน โดยบริษัทมีโรงงานอัญมณี 3 แห่งในไทยนับตั้งแต่ปี 1989 จ้างแรงงาน 15,000 คน และกำลังสร้างโรงงานที่ 4 ในเวียดนาม ประเทศที่ทรัมป์ประกาศจะเก็บภาษี 46% ปี 2024 Pandora ขายอัญมณีได้ถึง 113 ล้านชิ้น ถือเป็นแบรนด์ของอัญมณีที่ขายสินค้าเครื่องประดับในปริมาณมากสุด 1 ใน 3 ของยอดขาย หรือ 1.4 พันล้านดอลลาร์มาจากตลาดสหรัฐฯ
Alexander Lacik ผู้บริหาร Pandora ให้สัมภาษณ์ The New York Times ว่า Pandora ไม่มีแผนจะถอนตัวจากตลาดสหรัฐฯ แต่ราคาสินค้าอัญมณีจะสูงขึ้น ส่วนใครจะเป็นฝ่ายแบกรับภาระต้นทุนนี้ยังไม่ชัดเจน
“คำถามใหญ่ก็คือว่า ผมจะโอนทุกอย่างให้ผู้บริโภคในสหรัฐฯ หรือว่าผมจะกระจายต้นทุนนี้ออกไป โดยการเพิ่มราคาขายของ Pandora ในทั่วโลก”
ทาง Pandora ได้คาดหมายต้นทุนจากสงครามการค้าว่า หากภาษีตอบโต้กับไทยอยู่ที่ 36% และจีนที่ 145% ในปี 2025 Pandora จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 74 ล้านดอลลาร์ และ 135 ล้านดอลลาร์ในปีถัดไป แต่ทาง Pandora ไม่กังวลเรื่องนี้ เพราะความไม่แน่นอนเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น

ไม่ลงทุนตั้งโรงงานในสหรัฐฯ
Lacik ให้สัมภาษณ์กับ CNBC ว่า หากภาษีอยู่ที่ 10% บริษัทคงจะไม่จำเป็นต้องเพิ่มราคาอัญมณี แต่หากภาษีเพิ่มเป็น 30% โลกจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ปัจจุบัน สร้อยข้อมือเงินของ Pandora ราคาขายปลีกอยู่ที่ 75 ดอลลาร์ Pandora มีพนักงานในสหรัฐฯ 8,000 คน ประจำตามร้านต่างๆ
เขาปัดความเป็นไปได้ที่ Pandora จะไปตั้งโรงงานการผลิตในสหรัฐฯ เพราะไม่มีความสมเหตุสมผลทางการเงิน ค่าแรงในสหรัฐฯจะทำให้แข่งขันไม่ได้เลย หากมีโรงงานในสหรัฐฯ ราคาขายให้กับผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้นมาก นอกจากนี้ สหรัฐฯยังขาดรากฐานทางทักษะที่จะผลิตสินค้าของ Pandora ที่อาศัยงานฝีมือ
Lacik กล่าวสรุปว่า “เราจ้างแรงงานฝีมือในไทย 15,000 คน ผมไม่สามารถหาแรงงานมีทักษะที่มีประสบการณ์งานฝีมือจำนวนดังกล่าวได้ในสหรัฐฯ ดังนั้น จริงๆแล้ว ที่เป็นหลักอาจไม่ใช่จุดเริ่มต้นเรื่องของต้นทุน แต่เป็นเรื่องการมีแรงงานทักษะ ที่สามารถทำอัญมณี”
เอกสารประกอบ
Donald Trump Is Already Ruining Christmas, April 28, 2025, wire.com
How consulting firms are advising clients to survive Trump’s trade war, May 18, 2025, aol.com
How the World’s Largest Jeweler Is Surviving the Trade War, May 13, 2025, nytime.com
Pandora warns US tariffs will spark sweeping jewelry price increase, May 7, 2025, cnbc.com