เมื่อ 7 พฤษภาคม 2568 องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand Business Council for Sustainable Development หรือ TBCSD) ในฐานะเครือข่ายธุรกิจด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เกิดจากการรวมตัวกันขององค์กรภาคธุรกิจไทยและรัฐวิสาหกิจชั้นแนวหน้า จำนวน 46 องค์กร ครอบคลุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ได้มีความมุ่งมั่นในการยกระดับมาตรฐานองค์กรภาคธุรกิจไทยไปสู่องค์กรต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (Thailand Environment Institute หรือ TEI) ได้จัดงานสัมมนา “Net Zero ด้วยการจัดซื้อจัดจ้างที่ยั่งยืน” เพื่อให้หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ ได้ตระหนักถึงความสำคัญตามแนวทาง ESG (environment,social,governance)
สำหรับหัวข้อ “Net Zero ด้วยการจัดซื้อจัดจ้างที่ยั่งยืน” เป็นการส่งเสริมให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและการบริโภคสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดซื้อสีเขียวเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนไปสู่กระบวนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนในทุกๆ ภาคส่วน เพื่อเป็นการยกระดับประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตามเป้าหมายของประเทศไทย

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า “องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD)มีความมุ่งมั่นในการยกระดับมาตรฐานองค์กรภาคธุรกิจไทยไปสู่องค์กรต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน เพื่อร่วมขับเคลื่อนเป้าหมาย Carbon Neutrality ของไทยในปี ค.ศ. 2050 และ Net Zero GHG Emission ในปี ค.ศ. 2065 โดยการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน”
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และเลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้บรรยายพิเศษ “บทบาทของ TEI ในการพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างของประเทศสู่มาตรฐานสากล” กล่าวว่า “การจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมถือเป็นกลไกสำคัญในการลดและบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อม ตามหลักการวิเคราะห์วัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังแสดงถึงความรับผิดชอบและจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่ง TEI ได้ร่วมสนับสนุนนโยบายและแผนการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวอย่างยั่งยืนของภาครัฐ รวมถึงภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัย ฯลฯ โดยการรับรองฉลากเขียวและฉลากสิ่งแวดล้อมอื่นสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ฉลากเขียว (Green Label) เป็นฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 1 ฉลากเดียวของประเทศไทย โดยให้การรับรองแก่ผลิตภัณฑ์และบริการที่มีผลกระทบตลอดวัฏจักรชีวิตต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ตามมาตรฐาน ISO14024 และดำเนินงานรับรองอย่างเป็นกลางตามมาตรฐาน ISO/IEC 17065 อีกทั้งได้ร่วมเป็นสมาชิกในเครือข่ายฉลากสิ่งแวดล้อมโลก (Global Ecolabeling Network หรือ GEN) เพื่อสร้างความร่วมมือและความเข้มแข็งของการรับรองให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
นอกจากนี้ ได้มีโอกาสสนับสนุนการริเริ่มกลไกการรับรองฉลากสิ่งแวดล้อมแก่ประเทศอื่นๆ ในเอเชีย TEI ยังได้ลงนามความร่วมมือกับองค์กรหลักของประเทศในส่งเสริมและขยายการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งศึกษาวิเคราะห์นโยบายเพื่อพัฒนาการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การร่วมมือกันของทุกภาคส่วนถือเป็นก้าวย่างสำคัญสู่ทางรอดทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภค เป็นการยกระดับประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ตอบสนองนโยบายของประเทศไทยสู่ความยั่งยืน และการบรรยายเรื่อง “นโยบายส่งเสริมแนวปฏิบัติด้านการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน

นายวุทธิชัย แก้วกระจ่าง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการวิเคราะห์มลพิษและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า “ประเทศไทยได้กำหนดนโยบายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน โดยมีเครื่องมือขับเคลื่อนหลัก คือ การส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสิ่งแวดล้อมสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังปรากฏในนโยบายระดับนานาชาติและในประเทศ (ตั้งแต่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และถ่ายทอดไปยังแผนลำดับรอง เช่น แผนปฏิรูปประเทศ แผนแม่บท แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ซึ่งกรมควบคุมมลพิษได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2565-2570 ที่มีเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนหน่วยงานที่เข้าร่วมและปริมาณการจัดซื้อจัดจ้างฯ ของหน่วยงานภาครัฐ นอกจากนี้ ยังมีระเบียบกระทรวงการคลังประกาศใช้กฎกระทรวง กำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 เพื่อส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามบัญชีรายชื่อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งปัจจุบันเป็นไปตามความสมัครใจ โดยอยู่ระหว่างการกำหนดเพื่อให้เป็นมาตรการเชิงบังคับเพิ่มเติม เช่น การกำหนดให้ภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามเป้าหมายที่กำหนด หรือการกำหนดเป็นตัวชี้วัดผลการปฏิบัติราชการ” โดยกรมควบคุมมลพิษยังได้รับมอบหมายเป็นหน่วยให้ข้อมูลรายการผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ส่วนการบรรยายเรื่อง “บทบาทกรมบัญชีกลางกับการสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” นางแพตริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า “กรมบัญชีกลางมีเป้าหมายในการดำเนินนโยบายขับเคลื่อนภาครัฐให้เป็นภาครัฐสีเขียวและยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันกรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Public Procurement Framework) เพื่อสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น โดยกรมบัญชีกลางจะกำหนดวิธีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งหน่วยงานนำร่องและรายการสินค้าที่สนับสนุนในปีแรก โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายที่ไทยจะมุ่งเข้าสู่ประเทศที่เป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero emissions) ในปี พ.ศ. 2608 พร้อมทั้งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ในปี พ.ศ. 2573”
ดร.ถนอมลาภ รัชวัตร์ ผู้จัดการฝ่ายฉลากเขียวและฉลากสิ่งแวดล้อม สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “การจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน กุญแจสำคัญ คือ การผสานเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการปกติโดยให้ครอบคลุมประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ (ESG) ทั้งนี้ การพัฒนากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่ช่วยนำไปสู่เป้าหมายของ net zero นั้นสามารถทำได้ เช่น กำหนดเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมแก่คู่ค้าหรือผู้ให้บริการในห่วงโซ่อุปทาน เช่น สินค้าต้องมีคาร์บอนฟุตพรินต์ต่ำ สินค้าได้การรับรองฉลากเขียว วัตถุดิบเป็นวัสดุรีไซเคิล หรือ วัสดุหมุนเวียน ผู้ผลิตหรือซัพพลายเออร์ต้องมีนโยบายลดการปล่อยคาร์บอนจากเหตุผลเหล่านี้ จะเห็นว่าหากเลือกซื้อสินค้าหรือใช้บริการที่ได้ฉลากเขียวแล้ว ก็จะช่วยให้เกิดความมั่นใจว่าการจัดการห่วงโซ่อุปทานของคู่ค้าก็เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย และช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้เข้าสู่เป้าหมายของ net zero ได้อีกทางหนึ่ง”
อย่างไรก็ตามมีผู้บริหารจากองค์กรภาคธุรกิจไทยที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (sustainable consumption and production) ร่วมแสงดความคิดเห็น อาทิ ดร.จิรัฏฐ์ สิริเฉลิมพงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ อาวุโส บริษัท จระเข้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า “บริษัท จระเข้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ภายใต้แนวคิด “Build Today… Beyond Tomorrow…ที่สุดของนวัตกรรมเพื่อพรุ่งนี้ที่ยั่งยืนกว่า” พร้อม “สร้างก้าวต่อไป” ด้วยนวัตกรรมสินค้าก่อสร้างที่มีคุณภาพและบริการอย่างสร้างสรรค์ที่ให้ความสำคัญกับผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน ทั้งพนักงาน ลูกค้า รวมถึงพันธมิตรทางธุรกิจ ทั้งทางตรงและทางอ้อม บนพื้นฐานของการรักษาสิ่งแวดล้อมและสังคม ร่วมกันเสริมสร้างความแข็งแรงและเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในอนาคต เพื่อสร้างสมดุลให้เราอยู่ได้-โลกอยู่ดี-สังคมมีสุข”
นางเบญจพร นำศิริ Supply Chain Director บริษัท แซง-โกแบ็ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “กลุ่มบริษัท Saint-Gobain กำหนด responsible purchasing สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างของบริษัทฯ ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่องค์กรนำมาใช้ในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มจากการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในการ เลือกวัตถุดิบ สินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งส่งเสริมให้พนักงานมีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงบทบาทของตนในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน ตลอดจนมีการคัดเลือกผู้จัดจำหน่ายที่มีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม มีแนวทางลดคาร์บอนฟุตพรินต์ และร่วมกันขับเคลื่อนเป้าหมาย net zero carbon ภายใน พ.ศ. 2593 การบูรณาการ กระบวนการเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและความเชื่อมั่นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอีกด้วยและเป็นไปตามเป้าหมายของกลุ่ม Saint-Gobain ที่ว่า “Making the world a better home”
นายต่อศักดิ์ หิรัญโญภาส Operation Director – Drying and Firing Technology บริษัท สยามไฟเบอร์กลาส จำกัด กล่าวว่า “ปัจจุบันปัญหาโลกร้อน เป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกคนกำลังเผชิญ และต้องเร่งแก้ปัญหาร่วมกัน เอสซีจีและบริษัท สยามไฟเบอร์กลาส จำกัด ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญทั้งนโยบายและการร่วมมือกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการผลักดันกิจกรรมต่างๆ เพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน บริษัท สยามไฟเบอร์กลาส จำกัด ได้การรับรองฉลากเขียวมาอย่างยาวนาน จากกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วัตถุดิบหลักที่ใช้เศษขวดรีไซเคิลมาใช้ในการผลิตสินค้า ทำให้ช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของโลกและประหยัดพลังงานในการหลอม โดยตั้งแต่ปี 2009 เราช่วยใช้เศษขวดแตกที่ใช้แล้วมากกว่า 420 ล้านขวด อีกทั้งสินค้าฉนวนกันความร้อน SCG ก็เป็นสินค้าที่ตอบโจทย์เรื่องการช่วยประหยัดพลังงาน โดยถ้ามีการใช้ฉนวนกันความร้อนในบ้าน เครื่องปรับอากาศจะทำงานน้อยลง สามารถประหยัดไฟเฉลี่ย 900 KWh/เครื่อง/ปี จะช่วยโลกลดการปลดปล่อย CO2 จากการผลิตไฟฟ้าได้มาก ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฉลากเขียว จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยโลกเรื่องสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ภาคธุรกิจไทยที่มุ่งสู่ net zero สังคมคาร์บอนต่ำ การจัดซื้อจัดจ้างมีความสำคัญในการเลือกใช้วัสดุ สินค้า ที่มีการรับรองด้านสิ่งแวดล้อม จะสร้างความยั่งยืนให้กับภาคธุรกิจไทยและโลกในอนาคต”
นางสาววิภาดา นาคไพรัช ผู้อำนวยการสายงาน SHE & Quality Management and Sustainability บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องภายใต้แนวคิด “Greenovation” เพื่อให้อาคารและสิ่งปลูกสร้างสามารถส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่มนุษย์และระบบนิเวศ อันเป็นรากฐานสำคัญของสถาปัตยกรรมที่ยั่งยืนในยุคต่อไป ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์สีไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการสร้างสรรค์ความงามและความสุนทรีย์ แต่ยังก้าวความไปสู่บทบาทสำคัญในการบรรเทาวิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะโลกร้อน ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างครอบคลุมตลอดวัฏจักรชีวิตของอาคาร ตั้งแต่กระบวนการก่อสร้างไปจนถึงการใช้งาน การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของทีโอเอ จึงมิได้เป็นเพียงการเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้เลือกใช้วัสดุ แต่เป็นการเชื้อเชิญทุกภาคส่วนให้ร่วมมือกันสร้างสรรค์อนาคตที่ยั่งยืนสำหรับโลกอย่างแท้จริง”