ThaiPublica > เกาะกระแส > ACT เปิดกลโกงงบฯก่อสร้าง 7.8 แสนล้านบาท โดนชักหัวคิวปีละ 2 แสนล้าน แนะรัฐรื้อระเบียบจัดซื้อฯ

ACT เปิดกลโกงงบฯก่อสร้าง 7.8 แสนล้านบาท โดนชักหัวคิวปีละ 2 แสนล้าน แนะรัฐรื้อระเบียบจัดซื้อฯ

24 เมษายน 2025


ACT เปิดวงจรคอร์รัปชันงบฯก่อสร้างภาครัฐ 7.8 แสนล้านบาท/ปี โดนชักหัวคิว หรือ “เงินทอน” ประมาณ 2 แสนล้านบาท ผ่านการล็อกสเปก – ตั้งราคากลางสูงเกินจริง – ฮั้วประมูล – ลดคุณภาพงาน เสนอรื้อระบบทบทวนกติกาใหม่สกัดการโกง

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568 นายมานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ “ACT” ได้เผยแพร่บทความ “ตึก สตง.ถล่ม: ภาพสะท้อนวงจรคอร์รัปชันในงานก่อสร้างภาครัฐ” ผ่านเพจองค์กร ระบุปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างในงานก่อสร้างภาครัฐกินหัวคิวสูงถึงปีละ 2 แสนล้านบาท เสนอรัฐรื้อระบบทบทวนกติกาจัดซื้อจัดจ้างงานก่อสร้างใหม่ ป้องกันการเกิดโศกนาฏกรรมซ้ำซาก

บทความดังกล่าว ระบุว่า งานก่อสร้างภาครัฐมูลค่า 7.8 แสนล้านบาทต่อปี ประเมินว่าถูกคอร์รัปชันไปราว 2 แสนล้านบาท ผ่านการล็อกสเปก ฮั้วประมูล ลดงาน ลดคุณภาพวัสดุและอีกสารพัดกลโกง ทั้ง 2.3 แสนโครงการที่รัฐลงทุนไปนั้น ล้วนตกอยู่ในวงจรคอร์รัปชันแทบไม่ต่างกัน บทความนี้จะอธิบายถึง “ตัวละคร” ที่เกาะกินวงการก่อสร้างภาครัฐ จนหลายโครงการสร้างไม่เสร็จ หรือปล่อยทิ้งร้าง ไม่ต่างจากอาคาร สตง. ที่ถล่มลงมา ดังนี้

1. บริษัทออกแบบ มีรายได้จากค่าจ้างออกแบบ และโดยทั่วไปเขายังเป็นผู้กำหนดสเปกสินค้าเป็นการเฉพาะอย่าง ทั้งวัสดุก่อสร้าง – ตกแต่ง อุปกรณ์เครื่องใช้ ฯลฯ ทำให้ได้ค่าตอบแทนหรือคอมมิชชั่นจากผู้จำหน่ายสินค้าเหล่านั้น เช่น ผนังอาคารกระจก (Curtain Wall) มูลค่างานนับร้อยล้าน งานประตูหน้าต่าง เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์แสงเสียง และวัสดุงานระบบต่างๆ เป็นต้น

นายมานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ “ACT”

“การคัดเลือกบริษัทออกแบบโดยทั่วไปใช้วิธีประกวดแบบ จึงมักต้องวิ่งเต้นผู้มีอำนาจในหน่วยงาน โดยจ่ายเป็นเงินใต้โต๊ะ หรือ ยอมทำตามความต้องการของผู้มีอำนาจ เช่น เขียนเงื่อนไขล็อกสเปกให้ได้ผู้รับเหมาก่อสร้างที่ผู้มีอำนาจต้องการ หรือ ประเมินราคากลางสูงเกินจริง 20 – 30% เพื่อนำมาเป็นเงินทอน หรือ วางสเปกสินค้าราคาแพงบางอย่างจากผู้จำหน่ายที่เจาะจงไว้

2. บริษัทที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง นอกจากได้ค่าจ้างตามสัญญาแล้ว ยังมีรายได้เพิ่มจากเบี้ยเลี้ยง/ค่าโอที ที่การเรียกเก็บจากบรรดาผู้รับเหมาในโครงการ บริษัทควบคุมงานฯ ที่ไม่ซื่อสัตย์ จะลดจำนวนวิศวกร หรือ เจ้าหน้าที่คุมงานจริง ลดการเก็บวัสดุก่อสร้างไปทดสอบคุณสมบัติให้น้อยครั้งกว่าที่กำหนดในสัญญาจ้าง บางรายใจกล้ามาก ก็สมรู้ร่วมคิดกับผู้รับเหมายอมให้ลดงาน ลดสเปกโดยทั่วไปพบว่า “บริษัทออกแบบมักเป็นพวกเดียวกันกับบริษัทควบคุมงาน”

3. บริษัทรับเหมาก่อสร้าง ผู้รับเหมามีทั้งที่ชนะการประมูลงานโดยสุจริต และพวกที่ล็อกสเปก/ฮั้วประมูลเข้ามา ผู้รับเหมาที่ดีจะทำกำไรจากความสามารถในการบริหารจัดการก่อสร้าง ส่วนผู้รับเหมาที่คดโกงจะกอบโกยจากผลพวงของการฮั้วประมูลที่กำหนดราคากลางไว้สูงมาก ทำกำไรเพิ่มจากการลดสเปก ลดคุณภาพงาน รวมทั้งวิ่งเต้นให้มีการแก้แบบ ลดปริมาณงาน เพิ่มงาน หรือ ยกเลิกงานบางส่วนแล้วออกแบบใหม่ หากงานส่วนนั้นตนได้กำไรน้อยหรือขาดทุน

4. ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยราชการนั้นเอง หากผู้บริหารระดับสูงต้องการมีผลประโยชน์จากงานก่อสร้าง จะเริ่มจากบงการการกำหนดรูปแบบโครงการ แต่หากโครงการเดินหน้าไปแล้ว ก็อาจสั่งเปลี่ยนแปลง โยกย้ายสถานที่ เพื่อให้มีการแก้ไขหรือเขียนโครงการใหม่ส่งผลให้เรื่องกลับมาอยู่ในเกมอำนาจของตน

“เมื่อเริ่มโครงการก็จะแอบชักใยอยู่เบื้องหลัง ยืมมือผู้ออกแบบ ผู้ควบคุมงาน และผู้รับเหมา เพื่อคอร์รัปชันในโครงการ ซึ่งกรณีนี้เป็นกรณีที่อันตรายที่สุด และทำให้ราชการเสียประโยชน์มากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อพวกเขายอมให้เอกชนเขียนเงื่อนไขสัญญาที่รัฐเสียเสียเปรียบ หรือ ต้องจ่ายค่าโง่ในอนาคต” นายมานะ กล่าว

5. เจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน โดยปรกติหน่วยงานเจ้าของโครงการจะแต่งตั้ง “คณะกรรมการตรวจการจ้าง” บางกรณีมีเจ้าหน้าที่ควบคุมงานประจำโครงการ คนเหล่านี้คือตัวแทนของหน่วยงานในการรักษาผลประโยชน์ แต่บ่อยครั้งที่พวกเขากลับไปรีดไถผู้รับเหมาเป็นเงินก้อน พาไปเลี้ยงอาหารเที่ยวสถานบันเทิง จ่ายค่าเดินทาง ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าตรวจงาน ฯลฯ

“สินบนที่กล่าวมา คือ ต้นทุนการก่อสร้างที่ผู้รับเหมารู้อยู่แล้วว่า ต้องจ่าย แลกกับความสะดวก หรือ สมคบคิดกันทำสิ่งไม่ถูกต้องบางอย่าง แต่หากเป็นโครงการที่มีกำไรน้อย ผู้รับเหมาอาจตกในภาวะจำยอม หรือ ต้องบ่ายเบี่ยง เป็นเหตุให้ถูกกลั่นแกล้ง หรือ ดึงเรื่องเมื่อตรวจรับงาน ขอเบิกเงินค่างวด ผู้รับเหมาหลายรายทนการรีดไถไม่ไหวอาจถึงขั้นต้องทิ้งงาน”

บทสรุป นอกจากที่กล่าวมา หลายโครงการยังต้องเผชิญการชักเปอร์เซ็นต์จาก “นายหน้าขายงาน” และ “ขบวนการจัดฮั้วประมูล”

ในตอนท้ายของบทความ นายมานะยังได้สะท้อนปัญหาว่า โดยรวมทิศทางการพัฒนาการใช้จ่ายของรัฐ กระบวนการจัดทำงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้างฯ และการติดตามประเมินความคุ้มค่า ยังมีข้อจำกัดมาก สิ่งที่ต้องเร่งปรับปรุงคือ (1) เร่งรื้อระบบจัดซื้อจัดจ้างฯ ให้มีกติกาเปิดกว้าง จูงใจให้เอกชนเข้าแข่งขันมากขึ้น สนับสนุนการแข่งขันเสรี เปิดให้รัฐมีทางเลือกมากขึ้น มีโอกาสเลือกผู้รับเหมาที่มีศักยภาพในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายของรัฐมากกว่าเน้นราคาถูก ลงโทษเอกชนทุกรายที่ไม่ซื่อสัตย์ ทำให้รัฐเสียหาย ฯลฯ (2) เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมมากกว่าเดิม เริ่มจากการใช้ ‘ข้อตกลงคุณธรรม’ อย่างเข้มข้น จริงจัง (3) ใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตาม ตรวจสอบ เช่น ระบบ GPS และ Ai เป็นต้น

  • “ACT” ทวง ปปง.ใช้ ‘PEP’ ตรวจเส้นทางเงิน ขรก. – นักการเมืองในกลางปีนี้
  • “ACT” จี้นายกฯแจง ‘ตึก สตง.ถล่ม’ 5 ข้อใน 28 เม.ย.นี้
  • 9 ปี สตง. ซ่อม-สร้างสำนักงานบ้านพัก 111 โครงการ 3,664 ล้านบาท
  • เปิดลิ้นชัก 2 สตง.โยกเงินอุดหนุน – ค่าต๋ง ใส่ “กองทุนฯตรวจเงินแผ่นดิน” ปี’68 ยอด 1,481 ล้าน
  • ผลสอบกรมบัญชีกลาง (ซ้ำๆ) 11 ครั้ง สตง. ‘สร้างทิพย์’ เบิกงบเกือบ 3,000 ล้าน ฝากแบงก์
  • มหากาพย์ตึก สตง. 18 ปี จากซากถึงซาก ‘ปทุมธานี’ ถึง ‘จตุจักร’
  • สรรพากร กล่าวโทษต่อ DSI ให้ดำเนินคดีอาญากับ”ซิน เคอหยวน” บริษัทผลิตเหล็กเส้นตึก สตง. ปลอมใบกำกับภาษีกว่า 200 ล้าน
  • นายกฯเผย DSI รับ ‘ตึก สตง. ถล่ม’ เป็นคดีพิเศษ-จี้ กฟผ.-กกพ. รื้อสัญญาทาสใน 45 วัน หั่นค่าไฟเหลือ 3.99 บาท
  • สตง. แจงตึกถล่ม ยันยึดหลักความสุจริต คุ้มค่า โปร่งใส ตรวจสอบได้ เร่งตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบภัย
  • ACT ชี้ข้อสงสัยผู้ชนะประมูลงานก่อสร้างตึก สตง. – ไม่มีในชื่อผู้เสนอราคา
  • ACT ชี้พบข้อผิดสังเกต อาคาร สตง. ถล่ม ก่อสร้างล่าช้า ผู้รับเหมาหยุดงานเป็นช่วงๆ