ThaiPublica > คนในข่าว > “โป๊ปฟรานซิส” ประมุขคริสตจักรโรมันคาทอลิกจากละตินอเมริกาพระองค์แรก สิ้นพระชนม์

“โป๊ปฟรานซิส” ประมุขคริสตจักรโรมันคาทอลิกจากละตินอเมริกาพระองค์แรก สิ้นพระชนม์

21 เมษายน 2025


ที่มาภาพ:เพจ FB Vatican News

วาติกันประกาศสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส หรือ โป๊ปฟรานซิส สิ้นพระชนม์แล้วด้วยพระชนมายุ 88 พรรษา ณ ที่ประทับของพระองค์ใน Casa Santa Marta ในนครวาติกัน

เวลา 09:45 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันจันทร์ พระคาร์ดินัล เควิน ฟาร์เรลล์ แห่งคริสตจักรโรมัน ได้ประกาศข่าวการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสจาก Casa Santa Marta ว่า พระสันตะปาปาฟรานซิส สิ้นพระชนม์เมื่อเวลา 7.35 น.

“พี่น้องที่รัก ข้าพเจ้าขอแจ้งข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระสันตะปาปาฟรานซิส เมื่อเวลา 7.35 น. ของวันนี้ พระสังฆราชแห่งโรม ฟรานซิส เสด็จกลับสู่พระหัตถ์ของพระบิดา พระองค์ทรงอุทิศชีวิตทั้งชีวิตของพระองค์ในการรับใช้พระเจ้าและคริสตจักรของพระองค์ พระองค์ทรงสอนเราให้ดำเนินชีวิตตามค่านิยมของพระกิตติคุณด้วยความซื่อสัตย์ กล้าหาญ และความรักสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ยากไร้และผู้ที่ถูกกีดกันมากที่สุด ด้วยความขอบคุณอย่างสุดซึ้งสำหรับแบบอย่างของพระองค์ในฐานะสาวกที่แท้จริงของพระเจ้าเยซู เราขอฝากวิญญาณของพระสันตะปาปาฟรานซิสไว้กับความรักอันเมตตาอันไม่มีขอบเขตของพระเจ้าองค์เดียวและพระตรีเอกภาพ”

การประกาศของวาติกันเกิดขึ้นหลังจากที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสใช้เวลาช่วงสุดท้ายในการรับใช้คริสตจักร โดยเข้าร่วมการเฉลิมฉลองอีสเตอร์และปรากฏตัวที่จัตุรัสเซนต์ปีเตอร์ในวันอาทิตย์(20 เมษายน) ซึ่งเป็นวันอีสเตอร์(Easter Sunday เป็นวันไว้อาลัยการฟื้นพระชนม์ชีพของพระเยซูคริสต์จากความตาย ที่เขียนไว้ในคัมภีร์ไบเบิ้ลคริสเตียน) เพื่ออวยพร “สุขสันต์วันอีสเตอร์” แก่ผู้มาสักการะหลายพันคน และพระองค์ไม่ได้ประกอบพิธีมิสซาในจัตุรัส แต่กลับมอบหมายให้คาร์ดินัล แองเจโล โคมาสตรี อดีตอัครสังฆราฃของมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ทำพิธีแทน

หลังจากที่วาติกันประกาศการสิ้นพระชนม์ของพระสันตะปาปาฟรานซิส ก็มีเสียงระฆังดังขึ้นจากวาติกันเพื่อแสดงความอาลัยต่อการสิ้นพระชนม์ของพระองค์

ก่อนหน้านั้นเพียงไม่นาน พระองค์ได้พบกับรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เจ.ดี. แวนซ์ เป็นช่วงเวลาสั้นๆ

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงปราศรัยต่อฝูงชนจากระเบียงหลักของมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ระหว่างการประทานพรแด่โรมและโลก (Urbi et Orbi) เนื่องในโอกาสเทศกาลอีสเตอร์ ณ จัตุรัสเซนต์ปีเตอร์ในนครวาติกัน วันที่ 20 เมษายน 2568 ที่มาภาพ: https://edition.cnn.com/world/live-news/pope-francis-death-04-21-25/index.html?t=1745247200256

สมเด็จพระสันตะปาปาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลโพลีคลินิก Agostino Gemelli เมื่อวันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ หลังจากทรงทนทุกข์ทรมานจากโรคหลอดลมอักเสบเป็นเวลาหลายวัน พระอาการของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสแย่ลงเรื่อยๆ และแพทย์วินิจฉัยว่าพระองค์เป็นโรคปอดบวมทั้งสองข้างในวันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ หลังจากอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลา 38 วัน สมเด็จพระสันตะปาปาผู้ล่วงลับก็เสด็จกลับมายังที่ประทับของพระองค์ที่ Casa Santa Marta ในนครวาติกันเพื่อพักฟื้น

ในปี 2500 ขณะที่อยู่ในช่วงวัยต้น 20 ปี สมเด็จพระสันตะปาปา หรือในชื่อเดิม ว่า ฮอร์เก มาริโอ เบร์โกกลิโอ(Jorge Mario Bergoglio) เข้ารับการผ่าตัดที่ประเทศอาร์เจนตินา บ้านเกิด และต้องตัดปอดส่วนที่ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อทางเดินหายใจรุนแรงออก

พิธีกรรมทางศาสนาอย่างเป็นทางการครั้งแรกของพระสันตปาปาฟรานซิสจะมีขึ้นในเวลา 20.00 น. ในวันจันทร์ โดยจะมีการยืนยันการสิ้นพระชนม์ของพระสันตะปาปาและการนำร่างของพระองค์ไปบรรจุในโลงศพ

การสิ้นพระชนม์ของพระสันตะปาปาจะมีพิธีไว้อาลัยเป็นเวลา 9 วัน ร่างของพระสันตะปาปาฟรานซิสจะถูกบรรจุลงในโลงศพในเย็นวันจันทร์ โดยพิธีฝังศพจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 ถึง 6 วันหลังจากสิ้นพระชนม์ โฆษกของวาติกัน มัตเตโอ บรูนี เปิดเผยว่าร่างของพระองค์อาจถูกนำไปตั้งที่มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์เพื่อให้ผู้คนมาร่วมแสดงความอาลัยได้ในเร็วที่สุดในวันพุธนี้

วาติกันเผยแพร่ประกาศจากอาร์คบิชอปดิเอโก ราเวลลี ผู้ดำเนินพิธีกรรมทางศาสนา พระผู้เป็นประธานคือพระคาร์ดินัลโจเซฟ ฟาร์เรลล์ ซึ่งเป็นพระคาร์ดินัลที่เข้ามารับช่วงบริหารงานของนครรัฐวาติกัน และจะดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่

ผู้ที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมพิธีดังกล่าว ซึ่งจะจัดขึ้นที่โบสถ์ของโรงแรม Domus Santa Marta ที่พระสันตะปาปาฟรานซิสเคยประทับ ได้แก่ หัวหน้าคณะคาร์ดินัล ญาติของพระสันตะปาปา ผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการฝ่ายสาธารณสุขของวาติกัน

ตามพิธีกรรมใหม่ที่พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงอนุมัติเมื่อปีที่แล้ว ร่างของพระองค์จะถูกเก็บไว้ในโบสถ์เป็นเวลาสองสามวันก่อนจะนำไปที่มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์เพื่อให้สาธารณชนได้ประกอบพิธีสักการะ หลังจากนั้นจะมีพิธีพระศพและประชุมเพื่อเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่

ที่มาภาพ:เพจ FB Vatican News

จากบัวโนสไอเรสสู่วาติกัน: เส้นทางสู่ตำแหน่งพระสันตะปาปาฟรานซิส

17 ธันวาคม 1936: ฮอร์เก มาริโอ เบร์โกกลิโอเกิดที่บัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา

มีนาคม 1958: เข้าสู่ตำแหน่งสามเณรของคณะเยซูอิต เริ่มช่วงเวลาแห่งการเสนอชื่อเป็นบาทหลวงเยซูอิต

ธันวาคม 1969: บวชเป็นบาทหลวงเยซูอิต

พฤษภาคม 1992: ได้รับการแต่งตั้งเป็นบิชอปแห่งAuca และผู้ช่วยบาทหลวงแห่งบัวโนสไอเรส

กุมภาพันธ์ 1998: ได้รับการแต่งตั้งเป็นอาร์คบิชอปแห่งบัวโนสไอเรส ซึ่งดำรงตำแหน่งนี้จนถึงมีนาคม 2013

กุมภาพันธ์ 2001: ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระคาร์ดินัล และได้รับตำแหน่งซาน โรแบร์โต เบลลาร์มิโน

เมษายน 2005: เข้าร่วมใน Conclave(การประชุมใหญ่เลือกสันตะปาปา)ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 (Pope Benedict XVI) ได้รับเลือก

มีนาคม 2013: ได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปา(Supreme Pontiff ประมุขแห่งศาสนจักรโรมันคาทอลิก) และได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสันตะปาปาฟรานซิส 6 วันต่อมา หลังจากพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ทรงออกจากตำแหน่ง

ประมุขคริสตจักรโรมันคาทอลิกจากละตินอเมริกาคนแรก

สมเด็จพระสันตะปาปาซึ่งเป็นประมุขคริสตจักรโรมันคาทอลิกจากละตินอเมริกาคนแรก

ก่อนที่จะได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาฟรานซิสในปี 2013 พระสันตะปาปาฟรานซิสเกิดในปี 1936 ในกรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา มีชื่อว่า ฮอร์เก มาริโอ เบร์โกกลิโอ ในวัยหนุ่ม เคยทำงานเป็นภารโรง พนักงานรักษาความปลอดภัย และในที่สุดก็ได้รับการฝึกฝนให้ทำงานในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ด้านอาหาร แต่หลังจากรอดชีวิตจากอาการป่วยมาได้ หนุ่มอาร์เจนตินคนนี้ก็รู้สึกว่าต้องเข้าร่วมสมาคมเยซูอิต ซึ่งเป็นเส้นทางที่ทั้งตัวเขาและครอบครัวไม่ได้คาดหวังให้เขาเลือก

ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งบาทหลวง เบร์โกกลิโอ ทำงานในพื้นที่ที่มีอาชญากรรมชุกชุมที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงบัวโนสไอเรส โดยช่วยทำให้ละแวกบ้านน่าอยู่มากขึ้นและยุติการค้ามนุษย์ ในปี 2015 ลูคัส เชเรอร์(Lucas Schaerer) บอกกับคอลัมน์ PEOPLE ของ Yahoo News ถึงการทำงานร่วมกับผู้นำศาสนาบนท้องถนนในอาร์เจนตินา “ผมจำได้ว่าเขาบอกผมว่า ‘คริสตจักรควรจะเป็นเหมือนโรงพยาบาลสนามรบที่พร้อมรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากโศกนาฏกรรมและบาปในชีวิต’

โป๊ป ฟรานซิสในปี 1966 ที่มาภาพ:https://uk.news.yahoo.com/pope-francis-life-photos-105333900.html

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงมีจุดยืนที่แข็งกร้าวเป็นพิเศษในประเด็นทางการเมืองและสังคม พระองค์ทรงสนับสนุนการแต่งงานของเพศเดียวกันอย่างไม่เคยมีมาก่อน ทรงทุ่มเทอย่างเต็มที่ในการปกป้องสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลายในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงประสบปัญหาสุขภาพที่ย่ำแย่ รวมทั้งทรงต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานานจากโรคปอดบวมสองข้างหลายเดือนก่อนจะสิ้นพระชนม์ในวันที่ 21 เมษายน ซึ่งเป็น Easter Monday( Easter Monday เป็นที่ชาวคริสเตียนจากทั่วโลกเฉลิมฉลองเป็นวันหยุดพักผ่อน)

เบร์โกกลิโอ เป็น 1 ในบุตรทั้งหมด 4 คนของผู้อพยพชาวอิตาลีที่ย้ายมาอาร์เจนตินา เขาเรียนเพื่อเป็นช่างเทคนิคเคมีขณะเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และเคยทำงานในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารในช่วงสั้นๆ ในวัยหนุ่ม หลังจากที่ป่วยเป็นปอดบวมอย่างรุนแรง (รวมถึงสูญเสียปอดบางส่วน ซึ่งก่อนหน้านั้นมีปัญหาด้านระบบทางเดินหายใจ) เบร์โกกลิโอได้เข้าร่วมคณะเยสุอิตในปี 1958 ดังนั้นเส้นทางการเป็นผู้นำทางศาสนาจึงเริ่มต้นขึ้น

ขณะเรียนเพื่อเป็นบาทหลวง เบร์โกกลิโอ ได้สอนวรรณคดีและจิตวิทยาที่ Colegio del Salvador ในกรุงบัวโนสไอเรส

โป๊ป ฟรานซิส (แถวบน คนที่สองจากซ้าย) ถ่ายรูปกับครอบครัวไม่นานหลังจากได้รับการบวชเป็นบาทหลวงคาทอลิกในปี 1969 ที่มาภาพ:https://uk.news.yahoo.com/pope-francis-life-photos-105333900.html

หลังจากได้รับการบวชเป็นบาทหลวงแล้ว ก็ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะเยสุอิตประจำจังหวัดตั้งแต่ปี 1973 ถึง 1979

ในช่วงทศวรรษปี 1980 เบร์โกกลิโอ ทำงานเป็นครูสอนในเซมินารี (สำนัก เป็นสถาบันการศึกษาสำหรับฝึกบุรุษเพื่อเตรียมบวชเป็นบาทหลวง)และดำรงตำแหน่งอธิการบดีของ Colegio de San José ก่อนจะมุ่งหน้าไปยังเยอรมนีเพื่อทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกให้เสร็จในปี 1986 เขาเดินทางกลับบ้านเกิดตามคำสั่งของพระคาร์ดินัลอันโตนีโอ เควาร์ราชีโน(Antonio Quarracino) อาร์ชบิชอปแห่งบัวโนสไอเรส และได้รับแต่งตั้งให้เป็นบิชอปประจำ Auca และผู้ช่วยบาทหลวงแห่งบัวโนสไอเรสในปี 1992

ในปี 1997 พระองค์ได้ทรงเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยพระอัครสังฆราชแห่งบัวโนสไอเรสอีกครั้ง ก่อนที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นพระอัครสังฆราช (อาร์คบิชอป Archbishop)แห่งบัวโนสไอเรสในที่สุดในปี 1998

เพื่อนๆ ของพระองค์จำพระองค์ได้ว่าเป็น “บาทหลวงข้างถนน” ที่กล้าหาญ และเป็นผู้สนับสนุนผู้ด้อยโอกาสอย่างไม่ย่อท้อ “พระองค์จะทรงช่วยเหลือ ปลอบโยน และอวยพรผู้คนที่เราช่วยเหลือร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ติดยา โสเภณี และทาสที่ถูกกักขัง [ในโรงงานเสื้อผ้า]” ลูคัส เชเรอร์ กล่าวกับ PEOPLE ในปี 2015

เชเรอร์และกุสตาโว เวรา เพื่อนร่วมงาน ซึ่งทำงานร่วมกับองค์กรนอกภาครัฐ La Alameda เพื่อแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ การลักลอบขนยาเสพติด และการทุจริต ได้พบกับโป๊ปฟรานซิสเป็นครั้งแรกในปี 2008 เมื่อพระองค์ยังทรงดำรงตำแหน่งอาร์คบิชอป แห่งบัวโนสไอเรส

ในปี 2001 สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอลที่ 2 ทรงแต่งตั้งให้เบร์โกกลิโอเป็นพระคาร์ดินัล

โป๊ปฟรานซิส ขณะเป็นพระคาร์ดินัลจุมพิตพระหัตถ์ของพระสันตะปาปา จอห์น พอลที่ 2 ในระหว่างการประชุมที่จัตุรัสเซนต์ปีเตอร์ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2001 ในนครวาติกัน ที่มาภาพ:https://uk.news.yahoo.com/pope-francis-life-photos-105333900.html

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2013 ฮอร์เก มาริโอ เบร์โกกลิโอได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปา ตำแหน่งใหม่นี้ทำให้พระองค์เป็นพระสันตะปาปาเยสุอิตพระองค์แรก เป็นพระสันตะปาปาจากละตินอเมริกาพระองค์แรก และเป็นพระสันตะปาปาพระองค์แรกที่มาจากนอกทวีปยุโรปในประวัติศาสตร์ 2,000 ปีของคริสตจักร นับตั้งแต่พระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 3 แห่งซีเรีย ในศตวรรษที่ 8

พระคาร์ดินัล จอร์จ เบร์โกกลิโอ แห่งอาร์เจนตินา โบกมือให้กับฝูงชนจากระเบียงกลางของมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ หลังจากได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาองค์ที่ 266 ที่มาภาพ:https://www.yahoo.com/news/pope-francis-life-pictures-104342988.html

นอกจากนี้พระองค์ยังเป็นพระสันตะปาปาพระองค์แรกที่เรียกตัวเองว่าฟรานซิสอีกด้วย

ในปีเดียวกันนั้น นิตยสาร Time ได้ยกย่องพระสันตะปาปาชาวอาร์เจนตินาิงค์นี้ให้เป็นบุคคลแห่งปี โดยระบุว่า “ซุปเปอร์สตาร์วัย 70 ปีผู้นี้เตรียมที่จะเปลี่ยนแปลงสถานที่ซึ่งวัดการเปลี่ยนแปลงได้ในทุกศตวรรษ … เขาใช้ชื่อของนักบุญผู้ต่ำต้อยคนหนึ่งแล้วเรียกร้องให้มีคริสตจักรที่เยียวยา”

สมเด็จพระสันตะปาปาที่มีแนวคิดก้าวหน้า

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงมีชื่อเสียงในด้านแนวคิดก้าวหน้า พระองค์ทรงทำสิ่งที่น่าประหลาดใจหลายอย่างในช่วงที่ทรงดำรงตำแหน่ง ได้แก่ เริ่มใช้งานอินสตาแกรมในเดือนมีนาคม 2016 ทรงอนุญาตให้สตรีทำหน้าที่ Lector (คือบุคคลที่อ่านเรื่องราวต่างๆ จากพระคัมภีร์ในพิธีบูชาขอบพระคุณ ในช่วงภาควจนพิธีกรรม) ได้อย่างเป็นทางการ และทรงช่วยจัดพิธีศีลมหาสนิทในคริสตจักรในปี 2021 และทรงกล่าวต่อต้านกฎหมายต่อต้านกลุ่มรักร่วมเพศทั่วโลกในปี 2023

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสยังทรงสนับสนุนการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างแข็งขันและทรงสนับสนุนการฉีดวัคซีนในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ในปี 2020 พระองค์ยังทรงแต่งตั้งอาร์คบิชอปวิลตัน เกรกอรีเป็นพระคาร์ดินัล ทำให้เป็นพระคาร์ดินัลชาวแอฟริกันอเมริกันคนแรกของสหรัฐอเมริกา

พระองค์ทรงพยายามปฏิรูปคริสตจักรโดยจัดการกับทัศนคติที่ถือตนเป็นชนชั้นสูงในหมู่นักบวช เรียกร้องให้ใช้วิธีการเห็นอกเห็นใจต่อชาวคาทอลิกที่หย่าร้างและรักร่วมเพศ และยืนกรานว่าคริสตจักรต้องต้อนรับทุกคน

  • สมเด็จพระสันตปาปานักปฏิรูปของคริสตจักรโรมันคาทอลิก

  • สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงใช้มาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตทางการเงินในวาติกัน และแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศของนักบวช รวมถึงกฎหมายที่จะให้บิชอปต้องรับผิดชอบต่อการปกปิดข้อมูล นอกจากนี้ โป๊ปฟรานซิสยังทรงขยายบทบาทที่กว้างขึ้นสำหรับผู้หญิงที่ทำงานในวาติกัน และทรงอนุญาตให้บาทหลวงให้พรแก่คู่รักเพศเดียวกัน

    พระองค์ทรงสร้างสะพานเชื่อมกับโลกมุสลิม ในขณะที่พยายามทำหน้าที่เป็นผู้สร้างสันติภาพเมื่อเผชิญกับความขัดแย้งระดับโลก โดยเฉพาะในยูเครนและตะวันออกกลาง

    ในคำปราศรัยที่จัตุรัสเซนต์ปีเตอร์ในวันอีสเตอร์ หนึ่งวันก่อนที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสตรัสว่า พระองค์ทรงนึกถึง “ประชาชนในฉนวนกาซา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนคริสเตียน ซึ่งความขัดแย้งอันเลวร้ายยังคงมีผลต่อชีวิตและการทำลายล้าง และก่อให้เกิดสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมที่น่าสลดใจและน่าเวทนา”

    สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์สงครามของอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซามาเป็นเวลานาน ได้เรียกร้องให้ฝ่ายที่ทำสงคราม “หยุดยิง ปล่อยตัวตัวประกัน และช่วยเหลือประชาชนที่อดอยากซึ่งปรารถนาอนาคตแห่งสันติภาพ!”

    ตลอดช่วงสงคราม สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงโทรศัพท์ไปหาบาทหลวงกาเบรียล โรมาเนลลี บาทหลวงประจำตำบลของคริสตจักรในเครือในฉนวนกาซาทุกคืน ซึ่งคริสเตียนและมุสลิมมักหลบภัยจากการโจมตีของอิสราเอล

    ในจดหมายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ถึงบรรดาบาทหลวงอเมริกัน สมเด็จพระสันตะปาปาได้วิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติต่อผู้อพยพของทรัมป์อย่างตรงไปตรงมา โดยกล่าวว่า “การเนรเทศผู้คนซึ่งในหลายๆ กรณีได้ละทิ้งดินแดนของตนเองด้วยเหตุผลด้านความยากจนข้นแค้น ความไม่ปลอดภัย การเอารัดเอาเปรียบ การข่มเหง หรือการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง เป็นการทำลายศักดิ์ศรีของผู้ชายและผู้หญิงจำนวนมาก”

    ที่มาภาพ:เพจ FB Vatican News

    คาทอลิกทั่วโลกอาดูร

    หลังจากมีการประกาศถึงการสิ้นพระชนม์ไม่นาน ชาวคาทอลิกประมาณ 1,400 ล้านคนทั่วโลกต่างกันเศร้าโศรกเสียใจและร่วมกันไว้อาลัย โดยในอาร์เจนตินาบ้านเกิดของโป๊ปฟรานซิส ประชาชนในกรุงบัวโนสไอเรสได้ออกมาชุมนุมเพื่อไว้อาลัยการจากไปของพระสันตะปาปาฟรานซิส ส่วนในกรุงโรมประชาชนจำนวนมากต่างพากันเดินทางมายังจัตุรัสเซนต์ปีเตอร์ โดยหลายคนต่างสวดภาวนา บางคนถึงกับหลั่งน้ำตา

    เมื่อถึงเวลาเที่ยงตามเวลาท้องถิ่น ระฆังจากโบสถ์ต่างๆ ทั่วเมืองหลวงของอิตาลีก็เริ่มตีอย่างช้าๆ เพื่อเป็นการรำลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระสันตะปาปา

    ไม่นานหลังจากการประกาศข่าวนี้ ประชาชนจำนวนมากต่างพากันเดินทางมายังจัตุรัสเซนต์ปีเตอร์ โดยหลายคนต่างสวดภาวนา บางคนถึงกับหลั่งน้ำตา ขณะที่คนงานเริ่มรื้อถอนของตกแต่งเทศกาลอีสเตอร์ที่เหลืออยู่ ในเวลาเที่ยงวันตามเวลาท้องถิ่น ระฆังจากโบสถ์ต่างๆ ทั่วเมืองหลวงของอิตาลีเริ่มตีขึ้นอย่างช้าๆ เพื่อเป็นการรำลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระสันตปาปา

    เมื่อข่าวการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสแพร่กระจายไปทั่วโลก ชาวคาทอลิกบางส่วนที่อยู่นอกอาสนวิหารนอเทรอดามในปารีสต่างรำลึกถึงพระสันตะปาปาในฐานะตัวอย่างใหม่ของการที่คริสตจักรคาทอลิกควรได้รับการนำ

    ผู้หญิงคนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ BFMTV ในเครือ CNN กล่าวถึงพระองค์ว่าเป็น “พระสันตะปาปาที่ดีที่สุดในยุค” ผู้หญิงอีกคนหนึ่งบอกว่าพระสันตะปาปาฟรานซิสได้ว่าเป็น “บุคคลธรรมดา” พระองค์ไม่ได้จำกัดอยู่ในกำแพงของนครวาติกัน

    ที่ฟิลิปปินส์ระฆังของโบสถ์ทั่วประเทศ ขณะที่ชาวคาทอลิกจำนวนมากที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลกแสดงความอาลัยต่อการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสโดยอาสนวิหารมะนิลาได้ตีระฆังเป็นเวลา 13 นาที “เพื่อเป็นเกียรติแก่การรับใช้พระสันตะปาปาเปโตรอย่างเปี่ยมด้วยความเมตตากรุณาและมีชีวิตชีวาตลอด 13 ปีที่อาสนวิหารแห่งนี้” และอาสนวิหารจะจัดพิธีมิสซาพิเศษในเช้าวันอังคาร

    สื่อท้องถิ่นรายงานว่า ระฆังดังขึ้นทั่วทั้งหมู่เกาะ ตั้งแต่เมืองบูตวนบนเกาะมินดาเนาทางตอนใต้ ไปจนถึงเมืองนากาบนเกาะลูซอน การประชุมบิชอปคาทอลิกแห่งฟิลิปปินส์เรียกร้องให้คริสตจักรต่างๆ ตีระฆังและเชิญชวนผู้คนให้มาสวดมนต์

    โป๊ปฟรานซิสเป็นที่รู้จักในนาม “โลโล คิโก Lolo Kiko” ในฟิลิปปินส์ ที่ประชากรประมาณ 80% ของประเทศหรือมากกว่า 110 ล้านคนเป็นโรมันคาธอลิก ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากการล่าอาณานิคมของสเปน “คิโก” มักใช้เป็นชื่อเล่นของผู้ชายที่ชื่อ “ฟรานซิสโก” ในขณะที่ “โลโล” หมายถึง “ปู่”

    นักการเมืองในประเทศต่างพากันถวายความเคารพ ขณะที่มหาวิทยาลัยเดอลาซาล (De La Salle)ในเมืองหลวงประดับด้วยสีเหลืองและสีขาวของพระสันตะปาปา

    ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ แห่งฟิลิปปินส์กล่าวถึงสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสว่าเป็น “พระสันตะปาปาที่ดีที่สุดในช่วงชีวิตของผม” และ “เป็นบุรุษผู้มีความศรัทธาและความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างลึกจริง”

    หนึ่งในทัวร์สุดท้ายก่อนที่พระสันตะปาปาจะสิ้นพระชนม์และเป็นหนึ่งในทัวร์ที่ยาวนานที่สุด คือทัวร์เอเชียแปซิฟิก 12 วัน เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

    พระองค์เสด็จเยือนปาปัวนิวกินี ติมอร์-เลสเต อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งพระองค์ทรงเทศนาเกี่ยวกับความสามัคคีระหว่างศาสนา

    นาซารุดดิน อุมาร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการศาสนาของอินโดนีเซียและอิหม่ามใหญ่แห่งมัสยิดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ กล่าวสดุดีพระสันตะปาปาโดยกล่าวว่าพวกเขา “ไม่สามารถลืมพิธีและมิตรภาพของพระองค์ได้”

    คริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิกของสิงคโปร์กล่าวว่าระหว่างการเสด็จเยือนครั้งนี้ พระสันตะปาปาทรงพบปะกับเยาวชนจากศาสนาต่างๆ และ “ทรงกระตุ้นให้เยาวชนในปัจจุบันมีความกล้าหาญและเปิดใจรับฟังคำติชมเพื่อที่จะได้สนทนากันอย่างจริงใจ”

    สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส พร้อมด้วยนาซารุดดิน อุมาร์ อิหม่ามใหญ่แห่งมัสยิดอิสติกลาล กรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2024 ที่มาภาพ:https://www.vaticannews.va/en/pope/news/2025-04/pope-francis-death-fraternity-fratelli-tutti.html

    ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย ชาวคาทอลิกหลายคนได้มาร่วมสวดภาวนาเพื่อแสดงความอาลัยแด่พระสันตปาปาฟรานซิส

    ชาวปาเลสไตน์ที่เป็นคริสเตียนรู้สึกว่าพวกเขาสูญเสีย “เพื่อนที่ดี” แอนตัน ซัลมาน นายกเทศมนตรีเมืองเบธเลเฮมในเขตเวสต์แบงก์ที่ถูกยึดครอง กล่าว

    ซัลมานบอกว่า “พระองค์เป็นหนึ่งในผู้นำไม่กี่คนในโลกที่สนับสนุนสิทธิของชาวปาเลสไตน์และเร่งรีบมาเพื่อสร้างสันติภาพในภูมิภาคนี้”

    เมื่อพระสันตะปาปาเสด็จเยือนดินแดนศักดิ์สิทธิ์ในปี 2014 ภาพจำที่ชัดเจนคือการสวดภาวนาเพื่อสันติภาพของพระองค์ผ่านกำแพงคอนกรีตที่มีข้อความพ่นสีซึ่งกั้นเบธเลเฮมจากเยรูซาเล็ม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกำแพงกั้นเวสต์แบงก์ของอิสราเอล

    พระสันตปาปาสวดภาวนาเพื่อสันติภาพผ่านกำแพงคอนกรีตที่มีข้อความพ่นสีซึ่งกั้นเบธเลเฮมจากเยรูซาเล็ม ที่มาภาพ:https://www.yahoo.com/news/pope-francis-life-pictures-104342988.html

    พระองค์ได้ทรงนำชาวคริสเตียนในท้องถิ่นหลายพันคน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มศาสนาน้อยที่กำลังลดน้อยลง เข้าร่วมพิธีมิสซากลางแจ้งนอกโบสถ์ Nativity ซึ่งสร้างขึ้นบนจุดที่เชื่อกันว่าพระเยซูประสูติ

    ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากชื่นชมพระสันตะปาปาฟรานซิสที่ทรงโทรหาบาทหลวงที่โบสถ์คริสตจักรคาทอลิกครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ ( Holy Family Catholic Church) นเมืองกาซาเป็นประจำ ขณะที่พระองค์สอบถามความเป็นอยู่ของชาวคริสเตียนกาซาจำนวนหลายร้อยคนที่หลบภัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว

    ที่ไนจีเรีย ข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระสันตะปาปาฟรานซิสถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจอย่างยิ่งสำหรับชาวคาทอลิกจำนวนมาก ซึ่งยังคงเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่ง คริสตจักรคาทอลิกในไนจีเรียเปิดรับผู้ศรัทธาที่ต้องการแสดงความอาลัยและสวดภาวนา

    ชาวไนจีเรียกว่า 30 ล้านคนนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งคิดเป็นมากกว่า 15% ของประชากรทั้งประเทศ ผู้ศรัทธารายหนึ่งในไนจีเรียกล่าวกับ BBC ว่า “น่าเศร้ามากที่ต้องสูญเสียบิดาทางจิตวิญญาณ” เธอกล่าวเสริมว่า “เราหวังว่าเราจะมีพระสันตปาปาที่ทรงทำมากกว่าที่พระองค์ทำ”

    ที่โบสถ์มหาวิหารเมโทรโพลิแทนเซนต์แอนดรูว์ในเมืองกลาสโกว์ ไม่ถึง 7 ชั่วโมงหลังจากพระสันตะปาปาฟรานซิสสิ้นพระชนม์ มีผู้ร่วมแสดงความอาลัยราว 400 คนเข้าร่วมพิธีมิสซาเวลา 13.00 น.

    สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงปล่อยนกพิราบสีขาวเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ 15 พฤษภาคม 2013 ที่มาภาพ: https://www.vaticannews.va/en/pope/news/2025-04/pope-francis-death-peace-legacy-appeals.html

    ผู้นำทั่วโลกแสดงความอาลัย

    บรรดาประมุขและผู้นำจากหลายประเทศต่างแสดงความอาลัยต่อการสิ้นพระชนม์ของพระสันตะปาปา แม้แต่ผู้นำทางการเมืองของบางประเทศที่เคยมีความคิดเห็นขัดแย้งกับสมเด็จพระสันตะปาปาก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง เช่น การอพยพและเศรษฐกิจ ได้แสดงความเสียใจต่อการสิ้นพระชนม์ของพระสันตปาปา

    พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเป็นพระสันตะปาปาที่ทรงสนับสนุนผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ พระองค์ทรงเรียกร้องให้สมัครสมานกับผู้ที่หลบหนีสงครามและการถูกดำเนินคดี เรียกร้องให้โลกตระหนักถึงความทุกข์ทรมานของพวกเขา และยืนกรานว่าพวกเขาควรได้รับการต้อนรับเข้าสู่สังคม

    สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งอังกฤษตรัสว่า พระสันตะปาปาจะได้รับการจดจำในด้านความเมตตากรุณา ความห่วงใยในความสามัคคีของคริสตจักร และความมุ่งมั่นไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของพระองค์ที่มีต่อจุดมุ่งหมายร่วมกันของผู้มีศรัทธาทุกคน และต่อผู้ที่มีความปรารถนาดีซึ่งทำงานเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น

    เมื่อไม่ถึงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลาเสด็จเยือนสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสอย่างกะทันหันในระหว่างการเสด็จเยือนอิตาลีอย่างเป็นทางการ ซึ่งตรงกับวันครบรอบแต่งงาน 20 ปีของทั้งสองพระองค์

    ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐอเมริกาได้โพสต์สั้นๆ บนเครือข่าย Truth Social ของเขาว่า “ขอให้พระสันตะปาปาฟรานซิสไปสู่สุขคติ ขอพระเจ้าอวยพรเขาและทุกคนที่รักเขา!”

    ความสัมพันธ์ระหว่างทรัมป์กับโป๊ปฟรานซิสไม่ราบรื่น ทรัมป์ได้เข้าพบโป๊ปฟรานซิสที่วาติกันในปี 2017 การสนับสนุนผู้อพยพอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของพระสันตะปาปา พระองค์จึงทรงวิพากษ์วิจารณ์นโยบายเนรเทศผู้อพยพของทรัมป์อย่างรุนแรงในช่วงหลายเดือนก่อนที่จะสิ้นพระชนม์

    อย่างไรก็ตามประธานาธิบดีทรัมป์สั่งลดธงครึ่งเสาเพื่อเป็นการแสดงความเคารพและระลึกถึงพระสันตะปาปาฟรานซิส โดยคำสั่งนี้มีผลใช้กับ อาคารและสถานที่สาธารณะทั้งหมด ฐานทัพทหารและฐานทัพเรือทุกแห่ง และเรือรบทุกลำของรัฐบาลกลางในเขตโคลัมเบียและทั่วสหรัฐอเมริกาและดินแดนและเขตปกครองของสหรัฐฯ จนกระทั่งพระอาทิตย์ตกในวันฝังพระบรมศพ

    ในประกาศทรัมป์ยังระบุถึง สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ สถานเอกอัครราชทูต สำนักงานกงสุล และสถานที่อื่นๆ ในต่างประเทศ รวมถึงสถานที่ทางทหาร เรือและฐานทัพเรือทั้งหมด

    วิกเตอร์ ออร์บันแห่งฮังการีและพระสันตะปาปาฟรานซิสมีมุมมองที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัย แต่วันนี้ ออร์บันได้ขอบคุณพระสันตะปาปา “สำหรับทุกสิ่ง” ผู้นำฮังการีได้พบกับพระสันตปาปาฟรานซิสหลายครั้ง

    ประธานาธิบดีฆาเวียร์ มิเลอี ของอาร์เจนตินา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของโป๊ปฟรานซิส กล่าวว่า “การได้รู้จักความเมตตาและความรอบรู้ของพระองค์ ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งสำหรับผม”

    มิเลอีเคยขัดแย้งกับสมเด็จพระสันตะปาปาเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา มิเลอีกล่าวว่า ความขัดแย้งระหว่างทั้งสอง “ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อยในปัจจุบัน”

    ประธานาธิบดีฆาเวียร์ มิเลอีของอาร์เจนตินา กล่าวว่า รู้สึก “โศกเศร้าอย่างสุดลึก” ต่อการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสันตะปาปา

    สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสไม่ได้เสด็จกลับอาร์เจนตินาตลอดช่วงที่ทรงดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปา

    นายกรัฐมนตรีจอร์เจีย เมโลนีของอิตาลีกล่าวว่าพระสันตะปาปาได้ “ขอให้โลกกล้าอีกครั้งที่จะเปลี่ยนทิศทาง เดินตามเส้นทางที่ ‘ไม่ทำลาย แต่ปลูกฝัง ซ่อมแซม ปกป้อง’” และว่าเธอจะ “เดินไปในทิศทางนี้” และยังแสดงความอาลัยต่อการสูญเสีย “บุคคลผู้ยิ่งใหญ่ ผู้เลี้ยงแกะผู้ยิ่งใหญ่” และแสดงความเสียใจอย่างมาก

    “ฉันได้สิทธิพิเศษที่ได้เพลิดเพลินกับมิตรภาพ คำแนะนำ และคำสอนของพระองค์ ซึ่งไม่เคยหยุดนิ่ง แม้แต่ในช่วงเวลาแห่งการทดลองและความทุกข์ทรมาน” เธอกล่าว “เราขออำลาพระสันตะปาปาด้วยหัวใจที่เปี่ยมด้วยความโศกเศร้า”

    รองประธานาธิบดี เจ.ดี. แวนซ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคนสุดท้ายที่เข้าเฝ้าพระสันตะปาปาในระหว่างเยือนนครวาติกันเมื่อวันอาทิตย์กล่าวว่า “ขอแสดงความเสียใจต่อคริสเตียนหลายล้านคนทั่วโลก”

    อดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน แสดงความอาลัยต่อการจากไปของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส โดยกล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ว่า “สมเด็จพระสันตะปาปาของประชาชน เป็นแสงแห่งศรัทธา ความหวัง และความรัก”

    “ข้าพเจ้ากับจิลล์รู้สึกเศร้าโศกอย่างยิ่งเมื่อทราบข่าวการจากไปของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส พระองค์ไม่เหมือนกับใครๆ ที่มาก่อนพระองค์” ไบเดนกล่าว “สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสจะถูกจดจำในฐานะผู้นำที่มีความสำคัญที่สุดคนหนึ่งในยุคสมัยของเรา และข้าพเจ้าดีขึ้นจากการที่ได้รู้จักพระองค์”

    อดีตประธานาธิบไบเดนซึ่งเป็นชาวคาทอลิกคนที่สองที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ชื่นชมสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสสำหรับงานของพระองค์ในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส และในประเด็นต่างๆ เช่น การแสวงหาสันติภาพและการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้รำลึกถึงสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ในฐานะ “ผู้นำที่หาได้ยากที่ทำให้พวกเราอยากเป็นคนดีขึ้น”

    ในแถลงการณ์ร่วมกับอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง มิเชลล์ โอบามา ภริยา โอบามาเขียนว่า“ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนและท่าทีของพระองค์ที่ทั้งเรียบง่ายและลึกซึ้ง เช่น การโอบกอดคนป่วย การดูแลผู้ไร้บ้าน การล้างเท้านักโทษเยาวชน พระองค์ทรงทำให้เราไม่นิ่งนอนใจ และเตือนเราว่าเราทุกคนต่างมีพันธะทางศีลธรรมต่อพระเจ้าและต่อกันและกัน”

    เมื่อดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี โอบามาได้เดินทางไปยังฐานทัพร่วมแอนดรูว์สเพื่อต้อนรับสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสในช่วงเริ่มต้นการเยือนสหรัฐอเมริกาครั้งยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระสันตะปาปาในปี 2015 ต่อมา สมเด็จพระสันตะปาปาทรงนำขบวนแห่สั้นๆ ในรถโป๊ปโมบิล (popemobile) แบบเปิดโล่งของพระองค์ไปรอบๆ สนามหญ้าด้านใต้ ซึ่งเต็มไปด้วยผู้คนนับพันที่มาเพื่อร่วมเป็นสักขีพยานการเยือนทำเนียบขาวของสมเด็จพระสันตะปาปาซึ่งเกิดขึ้นได้ยาก โดยบางคนอุ้มทารกเพื่อให้สมเด็จพระสันตะปาปาทรงจุมพิต

    ที่มาภาพ: https://www.yahoo.com/news/pope-francis-life-pictures-104342988.html

    อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศฮิลลารี คลินตัน ยกคำพูดของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสในโพสต์บนโซเชียลมีเดียเพื่อรำลึกถึงพระสันตปาปาผู้ล่วงลับ

    “ในการกล่าวสุนทรพจน์ต่อสาธารณชนครั้งสุดท้ายของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส พระองค์ทรงเทศนาถึงการดูแลผู้ด้อยโอกาส ผู้เปราะบาง และผู้อพยพ โดยกล่าวว่า ‘ข้าพเจ้าอยากให้พวกเราทุกคนมีความหวังใหม่ และฟื้นความไว้วางใจในผู้อื่น รวมถึงผู้ที่แตกต่างจากเรา’ ขอให้เราทำตามความปรารถนาของพระองค์” ฮิลลารี โพสต์บน X

    เลขาธิการสหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส ยังได้แสดงความอาลัยต่อสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเช่นกัน โดยโพสต์บน X ว่า ข้าพเจ้าขอร่วมไว้อาลัยต่อการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ผู้ส่งสารแห่งความหวัง ความอ่อนน้อมถ่อมตน และมนุษยธรรม

    สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเป็นเสียงที่ทรงคุณค่าสำหรับสันติภาพ ศักดิ์ศรีของมนุษย์ และความยุติธรรมทางสังคม ข้าพเจ้าขอแสดงความเสียใจอย่างมา่กต่อชาวคาทอลิกและผู้คนทั่วโลกที่ได้รับแรงบันดาลใจจากชีวิตและตัวอย่างอันยอดเยี่ยมของพระองค์

    ผู้นำปาเลสไตน์ยกย่องสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสว่าเป็น “สัญลักษณ์แห่งความอดทน”

    มะห์มูด อับบาส ประธานาธิบดีปาเลสไตน์ ได้ส่งสารแดสงความเสียใจไปยังนครวาติกัน หลังจากการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ซึ่งเขาเรียกพระองค์ว่า “สัญลักษณ์แห่งความอดทน ความรัก และภราดรภาพ”

    ประธานาธิบดีแห่งรัฐบาลปาเลสไตน์ มะห์มุด อับบาส เข้าพบกับสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ที่นครวาติกัน เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2024 ที่มาภาพ:https://www.vaticannews.va/en/pope/news/2024-12/pope-meets-with-palestinian-president-mahmoud-abbas.html
    ประเทศต่างๆ ทั่วโลกรำลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระสันตปาปาอย่างไร

    วาติกันจะจัดพิธีสวดภาวนาต่อสาธารณชนในเวลา 19:30 น. ตามเวลาท้องถิ่น

    ในอาร์เจนตินา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพระสันตะปาปา มีการประกาศให้มีการไว้อาลัยทั่วประเทศเป็นเวลา 7 วัน

    บราซิลยังได้ประกาศให้มีการไว้อาลัยทั่วประเทศเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ซึ่งประธานาธิบดีลูลากล่าวว่าเป็นการยกย่องผลงานของพระองค์

    ในออสเตรีย ระฆังโบสถ์จะดังขึ้นทั่วประเทศในเวลา 17:00 น. ตามเวลาท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีการแขวนธงสีดำตามโบสถ์และอาคารของนักบวชอีกด้วย จะมีการจัดพิธีมิสซาไว้อาลัยแด่พระสันตะปาปาที่อาสนวิหารเซนต์สตีเฟนในเวียนนาในเวลา 18:00 น.

    ในสหราชอาณาจักร พระราชวังและสถานทูตอังกฤษในนครวาติกันจะชักธงยูเนี่ยนแจ็คลงครึ่งเสา

    ในสเปน ประกาศไว้อาลัยเป็นเวลา 3 วัน

    ในฝรั่งเศส ระฆังที่อาสนวิหารนอเทรอดามในปารีสดังขึ้น 88 ครั้งเมื่อช่วงเช้าของวันนี้ และในเย็นวันนี้ ไฟบนหอไอเฟลจะถูกปิดลง

  • สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ผู้นำทางจิตวิญญาณของโลกคนใหม่
  • เกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้?

    การสิ้นพระชนม์ของพระสันตะปาปาฟรานซิสทำให้เกิดช่วงเวลาแห่งความโศกเศร้า หลังจากนั้น คณะพระคาร์ดินัลที่ประกอบด้วยพระคาร์ดินัลอาวุโสทุกองค์ที่อายุไม่เกิน 80 ปีปซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่สุดของคริสตจักรคาทอลิก จะประชุมกันเพื่อเลือกผู้นำคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิกคนต่อไป โดยปกติแล้ว การประชุมใหญ่เลือกพระสันตะปาปา หรือ Conclave จะเกิดขึ้น 15 และ 20 วันหลังจากที่ตำแหน่งพระสันตะปาปาว่างลง ในทางเทคนิคแล้ว ผู้ชายโรมันคาทอลิกคนใดก็ได้สามารถได้รับเลือกเป็นหัวหน้าได้ แต่พระสันตะปาปาองค์สุดท้ายที่ไม่ได้รับเลือกจากคณะพระคาร์ดินัลคือ Urban VI ในปี 1379

    Conclave ซึ่งเป็นกระบวนการที่หยั่งรากลึกในประวัติศาสตร์ เป็นการประชุมลับของพระคาร์ดินัลเพื่อเลือกตั้งพระสันตะปาปา

    คณะพระคาร์ดินัล เป็นพระคาร์ดินัลชายล้วนได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากพระสันตะปาปา และมักได้รับการสถาปนาให้เป็นบิชอป ปัจจุบันมีพระคาร์ดินัลคาทอลิก 252 รูป โดย 135 รูปมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่

    พระคาร์ดินัลที่เหลือมีอายุมากกว่า 80 ปี ซึ่งหมายความว่าไม่สามารถเข้าร่วมการเลือกได้ แม้จะสามารถเข้าร่วมการอภิปรายว่าใครควรได้รับเลือกก็ตาม

    พระคาร์ดินัลองค์ใดที่ถือเป็นผู้ชิงตำแหน่งพระสันตะปาปาองค์ต่อไป?

    ผู้ชายคาทอลิกที่รับศีลล้างบาปทุกคนมีสิทธิ์ได้รับเลือก แม้ว่าจะมีเพียงพระคาร์ดินัลเท่านั้นที่ได้รับเลือกนับตั้งแต่ปี 1378 ผู้ชนะจะต้องได้รับคะแนนเสียงอย่างน้อยสองในสามจากพระคาร์ดินัลที่มีอายุต่ำกว่า 80 ปี

    การคาดเดาผลของการประชุมลับสุดยอดของพระสันตปาปาเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากตำแหน่งของพระคาร์ดินัลเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละครั้งที่ลงคะแนนเสียง และบางคนพยายามใช้ระบบเพื่อมีอิทธิพลต่อโอกาสของผู้สมัครที่ตนโปรดปรานหรือไม่ชอบ ในการประชุมลับสุดยอดครั้งล่าสุดเมื่อปี 2013 มีเพียงไม่กี่คนที่คาดเดาว่า ฮอร์เก มาริโอ เบร์โกกลิโอ จะได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาฟรานซิส

    สำหรับรายชื่อผู้มีสิทธิ์ได้รับการเลือกมาสืบทอดตำแหน่งต่อจากพระสันตะปาปาฟรานซิสที่คาดเดา ได้แก่

    ปิเอโตร ปาโรลิน (Pietro Parolin) วัย 70 ปี ชาวอิตาลี

    หลุยส์ อันโตนิโอ ทาเกล (Luis Antonio Tagle) วัย 67 ปี ชาวฟิลิปปินส์

    ปีเตอร์ เติร์กสัน (Peter Turkson) วัย 76 ปี ชาวกานา

    ปีเตอร์ แอร์โด (Peter Erdo) อายุ 72 ปี ฮังการี

    มัตเตโอ ซุปปิ(Matteo Zuppi) วัย 69 ปี ชาวอิตาลี

    โฮเซ่ โตเลนติโน กาลากา เด เมนดอนกา (Jose Tolentino Calaca de Mendonca) วัย 59 ปี โปรตุเกส

    มาริโอ เกรช(Mario Grech) วัย 68 ปี ชาวมอลตา

    ปิแอร์บัตติสต้า พิซซาบาลลา(Pierbattista Pizzaballa) วัย 60 ปี อิตาลี

    โรเบิร์ต ซาราห์ (Robert Sarah) วัย 79 ปี ชาวกินี

    เรียบเรียงจาก

  • Pope Francis has died on Easter Monday aged 88
  • The latest on the death of Pope Francis
  • The latest on the death of Pope Francis
  • Live updates: Pope Francis dies at 88
  • Pope Francis: tributes paid after head of Catholic church dies aged 88 – latest updates
  • Pope Francis’ Life in Photos
  • Pope Francis: A life in pictures
  • World’s Catholics mourn Pope Francis who has died aged 88