
‘พิชัย’ เปิดวอร์รูมรับมือ ‘ทรัมป์’ ขึ้นภาษีตอบโต้ เตรียมมาตรการปรับดุลการค้าสหรัฐ – ลดแพงภาษี – เพิ่มทั้งปริมาณนำเข้าและส่งออก – ตรวจเข้มใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเท็จ – ใช้ไทยเป็นฐานส่งออก โดยไม่ได้ผลิตสินค้าจริง ก็เปิดโต๊ะเจรจา ชี้หากไม่ทำอะไรเลย GDP ลดลง 1%
เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เชิญตัวแทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย , ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานหอการค้าไทย , นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ตัวแทนจากกระทรวงพาณิชย์ และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน มาประชุม เพื่อกำหนดแนวทางการรับมือมาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้ หรือ “Reciprocal Tariffs”ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กระทรวงการคลัง
นายพิชัย กล่าวว่าก่อนอื่นต้องขออธิบายให้ทราบถึงสาเหตุที่ทำให้สหรัฐอเมริกา ตัดสินใจประกาศปรับขึ้นภาษีตอบโต้ประเทศคู่ค้า เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเสียเปรียบดุลการค้า และไม่สามารถส่งสินค้า เพราะประเทศคู่ค้าเก็บภาษีสินค้าจากสหรัฐอเมริกาแพงกว่า ขณะเดียวกันก็มองว่าอเมริกาเก็บภาษีนำเข้าต่ำเกินไป เป็นเหตุให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตัดสินใจประกาศมาตรการภาษีตอบโต้ในทิศทาวงที่ตรงกันข้าม โดยคาดหวังว่าการผลิตจะกลับไปที่อเมริกา คราวนี้กลับมาที่โจทย์ของเรา ประเทศไทยส่งออกสินค้าไปสหรัฐอเมริการประมาณ 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐประมาณ 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70% ของมูลค่าส่งออกสินค้าไปสหรัฐอเมริกา จึงต้องปรับขึ้นภาษีนำเข้า เพื่อลดปริมาณสินค้าที่นำเข้าไปขายในสหรัฐอเมริกา
“ส่วนแนวทางการรับมือมาตรการภาษีของทรัมป์ ผมมีวิธีคิดแบบสร้างสรรค์ คือ เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส แทนที่เราจะลดปริมาณการส่งออกสินค้าไปอเมริกา ก็ควรจะใช้วิธีการเพิ่มปริมาณการส่งออกไปสหรัฐแทนเนื่องจากภาคส่งออกเป็นพื้นฐานที่สำคัญของทุกประเทศ ขณะเดียวกันทำแบบนี้ได้ เราก็ต้องเป็นคู่ค้าที่ดี ยอมเปิดให้นำเข้าสินค้าจากสหรัฐบางอย่างเพิ่มมากขึ้น ถามว่าแล้วเราจะได้ประโยชน์อะไร ยกอย่าง สินค้าเกษตรแปรรูปบางรายการ เรามีวัตถุดิบไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้ในการการผลิตเพื่อส่งออก ทำให้เสียโอกาส ทําไมเราใช้จังหวะนี้เจรจา เปิดให้มีการนำเข้าสินค้าเกษตรจากอเมริกาเพิ่มขึ้น และสามารถส่งสินค้าออกขายในอเมริกาได้เพิ่มขึ้นด้วย” นายพิชัย กล่าว

“ทำไมกัมพูชาถูกกสหรัฐตั้งกำแพงภาษีสูงถึง 49% ทั้งที่เป็นประเทศคู่ค้าเล็กๆมียอดส่งออกไปสหรัฐอเมริกาน้อยมาก ขณะที่เวียดนามมีปริมาณส่งออกสินค้าไปสหรัฐมากกว่า แต่ถูกตั้งกำแพงภาษีน้อยกว่ากัมพูชา ตนคิดว่านี่คือหลักเกณฑ์ที่สหรัฐใช้ประกอบการพิจารณาปรับขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้ เข้าใจว่าเป็๋นวิธีที่สหรัฐใช้พิจารณา ดังนั้น ประเทศคู่ค้าจะส่งออกสินค้ามายังสหรัฐมากเท่าไหร่คิดว่าไม่เป็นไร แต่อย่าลืมการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐก็ต้องเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อทำให้ยอดขาดดุลการค้าสหรัฐลดลง”
นายพิชัย กล่าวต่อว่า เมื่อรู้โจทย์แล้วว่าสหรัฐอเมริกาต้องการอะไร วันนี้จึงเชิญภาคเอกชน อาทิ สภาอุตฯ หอการค้าไทยมาหารือ ทางกระทรวงพาณิชย์ก็รายงานว่าประเทศไทยพร้อมที่จะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกาหลายรายการ ยกอย่างเช่น ข้าวโพด หรือ ปลาทูน่า จริงๆเราเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ แต่ส่งออกได้ไม่มาก เพราะขาดวัตถุดิบ แม้จะมีเกษตรกรเพาะเลี้ยงปลาทูน่า แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะส่งโรงงานผลิตปลาทูน่า สมมุติ โรงงานต้องการปลาทูน่า 100 ตัน แต่เพาะปลาทูน่าขายได้แค่ 5 ตัน เป็นต้น “หากเราเปิดให้มีการนำเข้ามาได้มากเท่าไหร่ หมายความว่าเราก็จะสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจะทำให้ช่องว่างที่ไทยได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐลดลงด้วย จากที่ไทยเคยส่งออกไปสหรัฐ 60,000 ล้านเหรียญ ก็จะเพิ่มเป็น 100,000 ล้านเหรียญ ดุลการค้าที่ไทยเคยได้เปรียบสหรัฐก็จะลดลงจาก 70% เหลือแค่ 40% เป็นต้น ที่ยกตัวอย่างมามีแค่ 2-3 รายการ แต่จริงๆแล้วมีสินค้าที่มีลักษณะดังกล่าวนี้ถึง 45 รายการ”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวต่อว่า นอกจากนี้เราก็ต้องเข้าไปดูสินค้านำเข้าที่มาใช้ประเทศไทยเป็นฐานผลิต เพื่อส่งออกไปสหรัฐอเมริกาด้วย คงจะเดาได้ว่ามาจากประเทศไหน ยกตัวอย่าง มีธุรกิจบางประเภทเข้ามาจดทะเบียนในประเทศไทย เพื่อส่งออกไปสหรัฐเป็นจำนวนมาก ขณะที่กำลังการผลิตภายในประเทศ หรือ “MPI” กลับไม่เพิ่มขึ้นเลย ประเด็นนี้ก็ต้องไปตรวจสอบเรื่องการออก “Certificate of Origin” ให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น โดยดูว่าสินค้าเหล่านี้ผลิตขึ้นในไทยจริงหรือไม่ หากไม่ได้ผลิตในประเทศไทย ก็ไม่ควรออกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ระบุว่าผลิตในประเทศไทยให้ผู้ส่งออก นอกจากนี้อาจจะต้องมีการทบทวนเรื่องกำแพงภาษี สินค้าบางรายการกำหนดอัตราภาษีนำเข้าเอาไว้สูงถึง 60-80% ของมูลค่า เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศไทย ปรากฎว่าแทบไม่มีการนำเข้าเลย ขณะที่ผู้ผลิตไทยก็เริ่มอยู่ตัว และมีความเข้มแข็งมากแล้ว ก็ควรจะปรับลดลงมาได้ ยกตัวอย่าง จักรยานยนต์ยี่ห้อ “ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน” ของสหรัฐอเมริกา อยากจะส่งมากขายในไทย แต่ขายไม่ได้ เพราะตั้งกำแพงภาษีนำเข้าเอาไว้สูง ก็ต้องมาพิจารณาทบทวนกันใหม่รวมไปถึงมาตรการ Non – Tariff Barriers ของไทยในอดีตที่ดูแล้วไม่สมเหตุสมผล ไม่ยุติธรรม ก็ต้องปรับปรุง
“สรุปว่าประเทศไทยยินดีที่จะปรับสมดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกา ในเชิงของการนำเข้า เพื่อส่งเสริมการส่งออก เพื่อทำให้ยอดส่งออกที่ไทยได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐลดลง โดยรักษาความสัมพันธ์ในการเป็นคู่ค้าที่ดีระหว่างกันเอาไว้ กรณีที่สหรัฐประกาศปรับขึ้นภาษีตอบโต้นั้น เข้าใจว่าไม่ได้มีผลทันที แต่จะมีการทยอยออกรายละเอียดของประเภทสินค้าตามมาภายหลัง เมื่อเรารู้โจทย์ หรือ ความต้องการของอเมริกาแล้ว เราก็พยายามทำให้ดุลการค้าที่สหรัฐเสียเปรียบไทยลดลงโดยเร็วที่สุด ก่อนที่จะมีการเจรจาหารือกัน แต่ถ้าหากไม่ทำอะไรเลย ก็จะมีผลทำให้ GDP ของไทยลดลงไป 1% ” นายพิชัย
ด้านนางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากการที่สหรัฐฯ ได้ออกแถลงการณ์มาตรการขึ้นภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ (Reciprocal Tariffs) ต่อไทยที่อัตรา 37% โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2568 นั้น เป็นอัตราที่สูงกว่าที่คาดไว้ โดยหลังแถลงการณ์ดังกล่าว ความผันผวนในตลาดการเงินปรับสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับลดลง ทั้งในหลักทรัพย์และค่าเงินของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่ถูกกระทบจากการประกาศขึ้นภาษี ขณะที่ราคาสินทรัพย์ปลอดภัย อาทิ ทองคำปรับเพิ่มขึ้น โดยช่วงปิดตลาดเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 ค่าเงินบาทปรับอ่อนลง 0.28% จากวันก่อนหน้า มาอยู่ที่ 34.26 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยโดยรวมปรับลดลงประมาณ 0.05% โดยพันธบัตรระยะ 10 ปี อยู่ที่ 1.89% สำหรับความเสี่ยงด้านเครดิตของไทยสะท้อนผ่าน Credit Default Swaps ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของราคาสินทรัพย์ไทยโดยรวมเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศในภูมิภาค
ขณะนี้ ธปท.อยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งต้องคำนึงถึงปัจจัย และช่องทางต่าง ๆ ที่ผลของมาตรการจะถูกส่งผ่านมายังภาคเศรษฐกิจให้ครบถ้วน โดย ธปท.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมดูแลความผันผวนในตลาดการเงิน เพื่อลดผลกระทบต่อภาคธุรกิจและเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวม