ThaiPublica > เกาะกระแส > รวยจริงบ้านต้องไม่ติดม่านหน้าต่างเปลือยเปล่า กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่ง

รวยจริงบ้านต้องไม่ติดม่านหน้าต่างเปลือยเปล่า กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่ง

31 มีนาคม 2025


สุนิสา กาญจนกุล รายงาน

ในช่วงศตวรรษที่ 17–19 รัฐบาลอังกฤษมีแนวคิดว่า บ้านใครมีหน้าต่างมากแสดงว่าฐานะดี ดังนั้นจึงควรเสียภาษีมากขึ้น บ้านคนจนจึงมักก่อผนังปิดทึบ ขณะที่บ้านคนรวยมีหน้าต่างนับสิบบาน

ถึงปัจจุบัน แนวคิดที่คล้ายๆ กันกลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง แม้จะแตกต่างไปจากเดิมบ้าง โดยการตกแต่งบ้านแบบปล่อยให้กระจกหน้าต่างเปลือยโล่ง ไร้ผ้าม่าน มู่ลี่หรือบานเกล็ดมาปิดบัง กลายเป็นวิธีอวดรวยที่ได้รับการพูดถึงบ่อยครั้งและปรากฏให้เห็นในสื่อต่างๆ รวมถึงซีรีส์ชื่อดัง

กระจกหน้าต่างเปิดโล่งกลายเป็นสัญลักษณ์แสดงสถานะที่ได้รับความนิยม จนแฮชแท็กทำนองว่า “ส่องหน้าต่างบ้านคนรวยนิวยอร์กซิตี (#Stare in Rich people Windows NYC)” และ “หน้าต่างเปลือยเปล่า (#NakedWindows)” ผุดขึ้นมามากมายในโซเชียลมีเดีย

ผลการศึกษาพบว่าคนอเมริกันที่มีรายได้ 5 ล้านบาท นิยมปล่อยให้หน้าต่างบ้านเปิดโล่งมากกว่าผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 1 ล้านบาท ถึงสองเท่าตัว

หน้าต่างห้องนั่งเล่นในบ้านของดาราหญิง ฮิลลารี สแวงก์ เปิดโล่งจนมองเห็นทิวทัศน์ภูเขาที่แสนงดงาม ที่มาภาพ: https://www.homesandgardens.com/celebrity-style/hilary-swank-living-room-bare-window-trend

รูปแบบที่เปลี่ยนไป

ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด ความต้องการประกาศความสำเร็จด้านวัตถุและการเปิดเผยสถานะที่เหนือชั้นกว่าผู้อื่นก็ยังฝังลึกอยู่ในจิตใจของผู้คน

เพียงแต่วิธีการแสดงความมั่งคั่งมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ วิธีการใหม่ๆ ที่เปิดโอกาสให้แสดงความมั่งคั่งของตนจึงถือกำเนิดขึ้นมาตลอดเวลาเพื่อให้สอดคล้องกับค่านิยมและอัตลักษณ์ของแต่ละบุคคล

ในอดีต การโอ้อวดความร่ำรวยอย่างเปิดเผยเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่ในปัจจุบัน ผู้ที่ฐานะดีนิยมหันมาใช้วิธีการที่ไม่โจ่งแจ้งเหมือนแต่ก่อน กระแสอวดฐานะแบบใหม่ที่ปรากฏขึ้นเป็นระยะๆ จึงซับซ้อนแนบเนียนกว่าเดิม

อย่างเช่นการแต่งกายแบบหรูเงียบ (Quiet luxury) หรือแบบแอบรวย (Stealth wealth) ที่เน้นความประณีตด้านการตัดเย็บ ใช้ผ้าและวัสดุต่างๆ ที่คุณภาพสูงราคาแพงในการผลิต แต่ไม่แสดงโลโก้ขนาดใหญ่ของแบรนด์แฟชั่นหรูให้เห็น และหน้าต่างที่เปลือยเปล่าไร้ม่านก็คืออีกหนึ่งวิธีการอวดความร่ำรวยที่ได้รับความนิยม

ภาษีหน้าต่าง

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 ถึงกลางศตวรรษที่ 19 หน้าต่างเคยเป็นสิ่งแสดงความมั่งคั่งของผู้เป็นเจ้าของบ้านมาก่อนแล้ว โดยอังกฤษสร้างสรรค์นวัตกรรมการเก็บภาษีที่สะท้อนความคิดริเริ่มของรัฐบาลในสมัยนั้น ด้วยการเรียกเก็บ “ภาษีหน้าต่าง (Window Tax)” เนื่องจากเห็นว่า คนรวยมักมีบ้านขนาดใหญ่ที่มีหน้าต่างจำนวนมาก

ภาษีนี้ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปี 1696 ในรัชสมัยพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 เพื่อหารายได้ให้รัฐบาล โดยภาษีหน้าต่างจะเรียกเก็บโดยคำนวณจากจำนวนหน้าต่างในบ้าน ยิ่งมีหน้าต่างมาก ภาษีก็ยิ่งสูง

เป็นผลให้ผู้ที่ไม่อยากเสียภาษีส่วนนี้หาวิธีหลีกเลี่ยงด้วยการก่ออิฐปิดหน้าต่าง จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพเพราะขาดแสงธรรมชาติและอากาศถ่ายเท

ภาษีหน้าต่างถูกประชาชนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากมองว่าเป็นการลิดรอนสิทธิและส่งผลเสียต่อชีวิตความเป็นอยู่ โดยพากันเสียดสีว่าเป็นภาษีแสงสว่างและอากาศ ในที่สุด ภาษีหน้าต่างก็ถูกยกเลิกไปในปี 1851 หลังจากที่ประชาชนมีการเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง

เปิดเผยความมั่งคั่งแบบแนบเนียน

กระแสการตกแต่งบ้านโดยไม่มีม่านหรือมู่ลี่ปกปิดหน้าต่างอาจเป็นเสมือนการฟื้นคืนชีพรูปแบบใหม่ของการวัดความรวยด้วยหน้าต่าง เพราะหน้าต่างที่เปลือยโล่งคือวิธีการส่งสัญญาณให้ผู้อื่นรับรู้ถึงฐานะทางการเงินของผู้เป็นเจ้าของบ้าน

หน้าต่างที่ไม่มีม่านบดบังทำให้เจ้าของบ้านสามารถเปิดเผยการตกแต่งภายในที่หรูหรางดงามของตนให้บุคคลภายนอกได้เห็นเป็นบุญตา ขณะเดียวกันก็บ่งบอกทางอ้อมว่าเจ้าของบ้านมีเงินจ่ายค่าระบบรักษาความปลอดภัยขั้นสุดยอด แม้แต่บานกระจกหน้าต่างที่เปลือยโล่งนั้นก็อาจจะเป็นกระจกนิรภัยราคาแพง

กระแสอวดบ้านผ่านหน้าต่างที่ไร้สิ่งบดบังจึงเติบโตขึ้นเพราะแนวคิดมีดีต้องอวด ประสบความสำเร็จต้องแสดงให้โลกรู้

ทั้งนี้ ผลการศึกษาของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ พบว่าชาวอเมริกันที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 150,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 5 ล้านบาท) มีแนวโน้มจะปล่อยให้หน้าต่างบ้านเปิดโล่งมากกว่าผู้ที่มีรายได้ระหว่าง 20,000 – 29,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 678,000 – 984,000 บาท) ถึงสองเท่า

สะท้อนความมั่นใจและสถานะ

การไม่ใช้ม่านหรือมู่ลี่มักมาพร้อมกับระบบควบคุมแสงสว่างและความร้อนที่ล้ำสมัย เช่น กระจกอัจฉริยะที่สามารถปรับความทึบแสงได้ตามต้องการ ระบบปรับอากาศประสิทธิภาพเยี่ยมที่ช่วยให้เย็นสบายแม้จะเป็นวันที่แดดจัด ฯลฯ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนมีราคาสูงและเป็นสิ่งบ่งบอกถึงความมีฐานะ

ไม่เพียงเท่านั้น นักสังคมวิทยาบางรายวิเคราะห์ว่า กระแสหน้าต่างเปลือยเปล่ายังเป็นการสื่อให้เห็นถึงความโปร่งใสในเชิงสัญลักษณ์ เป็นการประกาศให้โลกรู้ว่าเจ้าของบ้านมีความเปิดเผย ซื่อตรง โปร่งใสและเปิดกว้าง ไม่มีสิ่งใดที่ต้องปกปิดซ่อนเร้น

ขณะเดียวกัน ในยุคที่ปัญหาอาชญากรรมและความเป็นส่วนตัวกลายเป็นความกังวลของคนทั่วไป คนที่กล้าเปิดบ้านให้เห็นภายในได้อย่างชัดเจน ย่อมเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่ามีคุณภาพชีวิตที่เหนือกว่าและมีความมั่นใจในศักยภาพการรักษาความปลอดภัยของตนอย่างสูง

กลายเป็นกระแสสังคม

การปล่อยให้หน้าต่างว่างเปล่าไร้ผ้าม่านหรือมู่ลี่กลายเป็นแนวโน้มที่ได้รับความนิยมไม่น้อยบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง TikTok

ผู้คนที่เข้าไปสำรวจบ้านคนมีเงินในแฮชแท็กอย่าง “ส่องหน้าต่างบ้านคนรวยนิวยอร์กซิตี (#Stare in Rich people Windows NYC)” หรือ “หน้าต่างเปลือยเปล่า (#NakedWindows)” และ “หน้าต่างโล่งโจ้งบ้านคนรวย (#Uncovered Window Rich People)” จะได้เห็นคลิปวิดีโอมากมายที่ถ่ายเข้าไปภายในบ้านอิฐสีน้ำตาลย่านบรูคลินและอพาร์ตเมนต์หรูหรา โดยมักจะเห็นเจ้าของบ้านเดินอย่างมีความสุขอยู่ในบ้านของตน บางคนถึงกับหันมายิ้มให้กล้องด้วยซ้ำ

ผู้ใช้ TikTok ที่ชอบดูคลิปเกี่ยวกับบ้านหรู บอกว่าพวกเขาชอบความสวยงามภายในบ้านที่ร่ำรวย และบางครั้งยังได้แรงบันดาลใจด้านการตกแต่งภายในจากบ้านเหล่านั้นอีกด้วย บางรายบอกแบบติดตลกว่า การได้แอบมองบ้านแสนสวยของคนอื่นทำให้เกิดความหวังว่าสักวันจะได้เป็นเจ้าของสินทรัพย์ราคาแพงแบบเดียวกัน

กระแสนี้ยังแพร่หลายไปยังจอทีวีเช่นกัน โดยในซีรีส์ชื่อดังของ HBO เรื่อง Succession เผยให้เห็นอพาร์ตเมนต์แบบลอฟต์ในแมนฮัตตันที่มีหน้าต่าง 35 บานของลูกสาวเศรษฐีในเรื่อง ซึ่งมีเพียงห้องนอนและห้องน้ำเท่านั้นที่ติดตั้งมู่ลี่เอาไว้ และอพาร์ตเมนต์กว้างขวางของพี่ชายเธอก็มีหน้าต่างเปิดเปลือยแบบเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นกระแสการตกแต่งบ้านที่ต้องแลกมาด้วยการสูญเสียความเป็นส่วนตัวและอาจดึงดูดความสนใจที่ไม่พึงประสงค์ได้ แต่ถึงแม้จะมีความท้าทายต่างๆ ก็ยังมีเศรษฐีหลายคนเลือกไลฟ์สไตล์เช่นนี้เพื่อแสดงความพิเศษและรสนิยมที่พิถีพิถันของตน

ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าเหตุผลเบื้องหลังการทำตามกระแสนิยมนี้ของเจ้าของบ้านแต่ละรายจะเป็นเช่นไร แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนก็คือ แนวคิดเรื่องการอวดความมั่งคั่งนั้นผ่านการปรับโฉมอยู่ตลอดเวลา เปลี่ยนผ่านจากการแสดงออกอย่างโอ้อวดไร้รสนิยมสู่วิธีการแสดงออกที่ละเอียดอ่อนซับซ้อนยิ่งขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดด้านสุนทรียศาสตร์ และค่านิยมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลานั่นเอง

แหล่งข้อมูล:
https://www.theatlantic.com/family/archive/2024/01/uncovered-windows-curtains-wealthy-neighborhoods/677204/
https://www.energy.gov/eere/buildings/articles/residential-windows-and-window-coverings-detailed-view-installed-base-and
https://www.dailymail.co.uk/femail/article-13027551/naked-windows-trend-rich-peoples-houses.html
https://www.anabelmagazine.com/news/81137/pse-njerezit-e-pasur-kane-filluar-te-mos-vendosin-me-perde/eng
https://english.elpais.com/lifestyle/2024-05-19/minimalism-or-exhibitionism-here-come-curtain-less-windows.html