ThaiPublica > เกาะกระแส > ‘ภาษีทรัมป์’ สวนทางกับระบบ ‘ห่วงโซ่อุปทานโลก’ ไม่มีประเทศไหนผลิต iPhone ได้ประเทศเดียว

‘ภาษีทรัมป์’ สวนทางกับระบบ ‘ห่วงโซ่อุปทานโลก’ ไม่มีประเทศไหนผลิต iPhone ได้ประเทศเดียว

22 มีนาคม 2025


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://www.wto.org/english/res_e/booksp_e/anrep_e/ar24_chap1_e.pdf

ในการวิจารณ์เรื่องนโยบายเก็บภาษีนำเข้าของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะเก็บภาษี 25% กับสินค้าจากแคนาดาและเม็กซิโก Jim Farley ผู้บริหารบริษัท Ford Motor ชี้ว่า “ขอให้เราพูดตรงไปตรงมา ในระยะยาว 25% ของภาษีกับพรมแดนแคนาดาและเม็กซิโก จะทำให้เกิดการแตกร้าวในอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ที่เราไม่เห็นมาก่อน”

บทความใน The New York Times ของ Thomas Friedman คอลัมนิสต์ชื่อดังเรื่อง “ทำไมวิธีการคุกคามของทรัมป์จะได้ผลตรงกันข้ามกับที่ตั้งใจไว้” แนะนำว่า หากทรัมป์เป็นคนที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ทรัมป์จำเป็นต้องเข้าเรียนหลักสูตรเร่งรัด เรื่องสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจโลกที่เป็นอยู่ ไม่ใช่จากจินตนาการของตัวเอง

ไม่มีชาติไหนผลิต iPhone ได้คนเดียว

Thomas Friedman บอกว่า Eric Beinhocker คือนักเศรษฐศาสตร์จาก Oxford ช่วยอธิบายให้เข้าใจด้วยประโยคง่ายๆที่ว่า “ไม่มีประเทศไหนในโลกประเทศเดียว ที่สามารถผลิต iPhone” ไม่มีประเทศไหนหรือบริษัทไหนรายเดียว ที่มีความรู้ มีกระบวนการผลิต หรือมีวัตถุดิบ ที่จะผลิตโทรศัพท์มือถือเรียกว่า iPhone

Apple บอกว่า การประกอบ iPhone คอมพิวเตอร์ และนาฬิกา มาจากทำงานของนักธุรกิจนับพันราย และคนงานหลายล้านคนกระจายใน 50 ประเทศ ที่ใช้ทักษะผลิตสินค้าของ Apple ออกมา ระบบนิเวศที่เป็นเครือข่ายมหาศาลนี้ คือกระบวนการผลิต iPhone ให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์สง่างาม ฉลาด และราคาไม่แพง

สิ่งที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่าง “โลกที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน” กับ “โลกที่ทรัมป์คิดว่าตัวเองมีชีวิตอยู่” คือ ทุกวันนี้ สิ่งที่สำคัญไม่ใช่ “เศรษฐกิจ” แต่เป็น “ระบบนิเวศ”

นักเศรษฐศาสตร์ Eric Beinhocker อธิบายว่า “ในอดีต คุณผลิตไวน์ ผมผลิตชีส คุณมีทุกอย่างที่จะใช้ผลิตไวน์ ส่วนผมมีทุกอย่างที่ใช้ผลิตชีส แล้วเราก็ค้าขายแลกเปลี่ยนกัน ทำให้เรามีชีวิตดีขึ้น เหมือนกับที่ Adam Smith กล่าวไว้ แต่ยุคสมัยแบบนี้ได้ผ่านไปแล้ว”

สิ่งที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ คือเครือข่ายระดับโลกของระบบนิเวศด้านการค้า อุตสาหกรรม และการบริการ มีสิ่งที่เรียกว่าระบบนิเวศAI ระบบนิเวศสมาร์โฟน ระบบนิเวศการพัฒนายา และระบบนิเวศการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ตัวผู้ผลิต ชิ้นส่วน และความรู้ ที่สร้างระบบนิเวศเหล่านี้ จะเคลื่อนไหวข้ามพรมแดนหลายประเทศ เพราะเหตุนี้ ประเทศที่ไม่เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศการผลิต จะไม่รุ่งเรือง

ในเว็บไซต์ของ Yale School of Public Health อธิบายว่า ทำไมวัคซีน mRNA สำหรับโควิด จึงพัฒนาขึ้นมาได้รวดเร็ว “ตามปกติ การพัฒนาวัคซีนใช้เวลา 10-20 ปี การวิจัยและการทดสอบอาจเสียเงินนับพันล้านดอลลาร์ แต่กรณีโควิด ทำไมจึงพัฒนาวัคซีนได้รวดเร็ว เพราะมีความร่วมมือระดับโลกแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ผ่านทางความร่วมมือระหว่างรัฐบาล อุตสาหกรรม องค์กรให้เงินสนับสนุน องค์กรไม่แสวงหากำไร และสถาบันการศึกษา ไม่มีใครทำสิ่งนี้ได้คนเดียว”

Adam Smith ยกย่อง “การแบ่งงาน” (division of labor) ทำให้การผลิตเกิดประสิทธิภาพ แต่ Eric Beinhoker กล่าวว่า “จักรกลที่มีพลังมากกว่าคือ การแบ่งงานทางความรู้ (division of knowledge) เพราะสิ่งนี้จำเป็นต่อการผลิตสิ่งที่ซับซ้อนมากกว่า ‘เข็มหมุด’ เราต้องใช้ประโยชน์จากการแบ่งงานทางความรู้ เราจึงต้องเพิ่มเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อผลิตสิ่งที่ซับซ้อน ที่จะทำให้มาตรฐานชีวิตคนเราสูงขึ้น หากคุณไม่เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศเหล่านี้ (ecosystem) ประเทศของคุณก็จะไม่ประสบความสำเร็จ”

ที่มาภาพ : amazon.com

สิ่งที่ดีที่สุดของ “การค้าโลก”

หนังสือชื่อ Open อธิบายคุณประโยชน์ของการค้าโลกไว้ว่า เป็นสิ่งที่ยากที่จะพบนักเศรษฐศาสตร์สักคน ที่ไม่ยอมรับคุณประโยชน์ของการค้าระหว่างประเทศ ว่ามีส่วนในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษยชาติ ในระดับพื้นฐาน การค้าต่างประเทศแทบไม่ต่างจากสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ของ “กลไกตลาด”

หากคนเราจะมีชีวิตอยู่ โดยทำสิ่งของทุกอย่างที่ตัวเองต้องใช้เอง ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เสื้อผ้า เครื่องมือ ยารักษาโรค เป็นสิ่งที่ยากที่คนเราจะหลุดจากความยากจนออกมาได้ อย่างไรก็ตาม แม้ในอดีต ประชาชนก็ยังมีการค้าขายระหว่างกันและกัน เพราะการค้าทำให้เกิดประสิทธิภาพ มากกว่าผลิตแบบพึ่งตัวเอง

หากหลายประเทศไม่มีการค้ากับต่างประเทศ ก็จะเหมือนกับครัวเรือนที่ทำสิ่งของเองทุกอย่าง เช่น ฟินแลน์ที่มีประชากรเพียง 5 ล้านคน หากจะผลิตทุกอย่างเอง จะไม่สามารถผลิตสิ่งของได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ อาหาร เสื้อผ้า ยา หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า ถ้าฟินแลนด์ผลิตรถยนต์ออกมาหลายแบบ แต่ละแบบก็จะมีต้นทุนสูง เพราะไม่สามาถเอาประโยชน์จาก “การประหยัดต่อหน่วย” (economy of scale) ที่เกิดจากการผลิตในปริมาณมาก

การไม่มีการค้าจึงเป็นผลเสียต่อประเทศ ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ เมื่อชุมชนนานาชาติต้องการลงโทษประเทศหนึ่ง จึงใช้วิธีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เพื่อไม่ให้ประเทศนั้นได้ประโยชน์จากการค้าต่างประเทศ

หนังสือ Open กล่าวว่า หากไปเดินตามร้าน Walmart IKEA หรือ Gap จะเห็นสินค้านำเข้ามากมาย คนอเมริกันอาจถามว่า ทำไมอเมริกาไม่ผลิตเอง เช่น เสื้อยึด กางเกงยีน หรือเฟอร์นิเจอร์ หากผลิตเองจะมีการจ้างงาน ทำให้คนอเมริกันมีรายได้

เหตุผลหนึ่งที่สหรัฐฯนำเข้าสินค้าเหล่านี้ เพราะการผลิตใช้แรงงานมาก ค่าแรงในสหรัฐฯสูง การผลิตจากต่างประเทศจึงผลิตสินค้าถูกกว่า การจะผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานมากในสหรัฐฯ หมายความว่า จะต้องเคลื่อนย้ายแรงงานจากอาชีพปัจจุบัน มาทำการผลิตสินค้าเพื่อจะได้ไม่ต้องนำเข้า

ที่มาภาพ : finshots.in

อุตสาหกรรมอะไรที่จะหดตัวลง จากการผลิตทดแทนนำเข้า ปกติจะเป็นอุตสาหกรรมส่งออก นโยบายใดที่ไปลดการนำเข้า จะมีผลทำให้ลดการส่งออกด้วย ประเทศคู่ค้าย่อมตอบโต้ด้วยมาตรการกีดกันการค้า หากสหรัฐฯใช้มาตรการกีดกันการนำเข้า สิ่งนี้จึงไม่ใช่เรื่องน่ายินดี เพราะโดยรวม ตำแหน่งงานอุตสาหกรรมการส่งออกเป็นงานที่พึ่งประสงค์มากกว่างานอื่น มีค่าแรงสูง และเกี่ยวข้องกับงานที่มีผลิตภาพสูง

หรือแม้ว่าประเทศอื่นจะไม่ตอบโต้การกีดกันการค้าสหรัฐฯ วัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศจะมีต้นทุนสูงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตสหรัฐฯแข่งขันได้น้อยลง Boeing ผู้ผลิตรถยนต์สหรัฐฯ Apple หรือ Intel จะมีต้นทุนสูงขึ้น จากความขัดแย้งทางการค้า การลดการนำเข้าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐฯเอง สินค้าผลิตในต่างประเทศจำนวนมาก อาศัยห่วงโซ่อุปทานโลก ที่ผู้ผลิตสหรัฐฯเข้าร่วมเป็นซับพลายเออร์ เพราะเหตุนี้ เป็นเรื่องยากที่จะลดการนำเข้า โดยไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

ผลิตภัณฑ์ของ Apple เป็นตัวอย่างที่ดี รายงานการศึกษาล่าสุดบอกว่า ทั้ง iPhone และ iPad ที่ประกอบในจีน และส่งมาขายในสหรัฐฯ มูลค่าเพิ่มจากแรงงานในจีนมีเพียง 2% ของมูลค่าทั้งหมด 58% ของมูลค่า iPhone และ 30% ของมูลค่า iPad มาจากฝ่ายออกแบบและการตลาดของ Apple ในแคลิฟอร์เนีย Apple เก็บงานค่าแรงสูงทั้งหมดไว้ในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นวิศวกร การออกแบบ การเงิน การตลาด และการบริหารจัดการ การเก็บภาษี iPhone และ iPad “นำเข้าจากจีน” จึงเป็นผลเสียต่อแรงงานในสหรัฐฯ

หนังสือ Open กล่าวว่า การค้าโลกไม่เคยสร้างความเสียหายให้กับการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่กลับมีบทบาทสำคัญต่อการเพิ่มมาตรฐานความเป็นอยู่ ของประชากรในโลกให้สูงขึ้น การค้าโลกทำให้รายได้ต่อคนของจีนเพิ่มจาก 1,500 ดอลลาร์ในปี 1990 เป็น 13,400 ดอลลาร์ในปี 2015 จีนจะไม่ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่นี้ หากปิดประเทศตัวเองจากการค้าโลก

เอกสารประกอบ
Why Trump’s Bullying Is Going to Backfire, Thomas Friedman, February 18, 2025, nytimes.com
Open: The Progressive Case for Free Trade, Immigration and Global Capital, Kimberly Clausing, Harvard University Press, 2019.