ThaiPublica > Sustainability > Activate City for Healthier Life ปลุกเมืองให้สุขภาพดี ในวิถีกรุงเทพ-ภูฏาน-สิงคโปร์

Activate City for Healthier Life ปลุกเมืองให้สุขภาพดี ในวิถีกรุงเทพ-ภูฏาน-สิงคโปร์

25 มีนาคม 2025


Active City Forum กิจกรรมปลุกเมือง อยู่ดี ไม่มีโรค สสส. สานพลัง กลุ่ม we!park สร้างพื้นที่สุขภาวะ มุ่งยกระดับวิถีชีวิตกระฉับกระเฉงทั่วถึง เท่าเทียม เจาะแนวทางกรุงเทพมหานคร ภูฏาน สิงคโปร์ ยกระดับเป็นเมืองสุขภาพดี

ภาพต้นแบบ : Presentation ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในงาน Active City Forum

เมื่อวันที่ 21-23 มีนาคม 2568 ที่ศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์ กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กลุ่ม we!park และภาคีเครือข่าย จัดงาน “Active City Forum : Activate City for Healthier Life ปลุกเมืองให้สุขภาพดี ด้วยเราทุกคน” พื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ต้นแบบ นำไปสู่การกระตุ้นเมืองเพื่อสุขภาพของไทยอย่างสร้างสรรค์ ภายในงาน มีกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ Public Tour สำรวจเมือง 3 เส้นทาง (ทางเรือ ทางนํ้า และการเดินเท้า) นิทรรศการเมืองแห่งการมีส่วนร่วม และกิจกรรมสร้างเครือข่าย

นายยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิกและหัวหน้าโครงการ we!park กล่าวว่า ปัจจัยในการพัฒนาเมืองสุขภาวะคือเรื่องการออกแบบ ปัญหาภูมิอากาศที่แปรปรวน ฝุ่น PM2.5 ทางเท้าไม่เรียบ พื้นที่สีเขียวมีน้อย สะท้อนได้ว่าการออกแบบเมืองไม่เอื้อให้ขยับร่างกายในทุกๆ มิติ การจัดงานครั้งนี้ มีผู้เชี่ยวชาญการออกแบบเมืองจาก 5 เมืองต้นแบบ ได้แก่ โคเปนเฮเกน (เดนมาร์ก) สิงคโปร์ โตเกียว มาเลเซีย และอังกฤษ เข้าร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในการพัฒนาเมืองสุขภาพดี ถือเป็นครั้งแรกที่มีการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญจากด้านสุขภาพ การออกแบบ การพัฒนาเมือง ภาครัฐและภาคเอกชน คนรุ่นใหม่ วิทยากรจากเมืองชั้นนำของเอเชียและยุโรป ในงานเดียวกัน เพื่อร่วมระดมความคิดเห็น บูรณาการองค์ความรู้ สร้างความตระหนักรู้ และค้นหาแนวทางการขับเคลื่อนในอนาคต เพราะการมีสุขภาพดีเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน

รศ. ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา ผู้อำนวยการ ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้คนไทยทุกกลุ่มมีภาวะเนือยนิ่งเพิ่มขึ้น พบคนไทยมีกิจกรรมทางกายลดลงจาก 74.6% ในปี 2562 เหลือเพียง 55.5% ในปี 2563 ที่สำคัญยังพบว่า กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ผู้ตกงาน ผู้สูงอายุ และคนพิการ ที่ขาดโอกาสการเข้าถึงการส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางกายอย่างเหมาะสม กลายเป็นความเหลื่อมลํ้าใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคม และกลุ่มที่น่าเป็นห่วงสุดคือ กลุ่มเด็กและเยาวชนวัยเรียน ที่มีพฤติกรรมติดหน้าจอ ซึ่ง 2 ใน 3 มีพฤติกรรมเนือยนิ่งมากถึง 14 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพระยะยาว เพิ่มอัตราผู้ป่วยกลุ่มโรค NCDs ส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าใช้จ่ายในระบบบริการสุขภาพของประเทศ

ดร. นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), รศ. ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, ดาโช ดร.โลเตย์ เชริง (Dasho Dr.Lotay Tshering) ผู้ว่าราชการ Gelephu Mindfulness City และอดีตนายกรัฐมนตรี ภูฏาน และนายยูจีน เลา (Eugene Lau) Director (Architecture & Urban Design, Industry & Innovation) จาก Urban Redevelopment Authority of Singapore (URA) ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นถึงเส้นทางก้าวสู่สุขภาวะของเมือง

ภายในงาน ดร. นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), รศ. ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, ดาโช ดร.โลเตย์ เชริง (Dasho Dr.Lotay Tshering) ผู้ว่าราชการ Gelephu Mindfulness City และอดีตนายกรัฐมนตรี ภูฏาน และนายยูจีน เลา (Eugene Lau) Director (Architecture & Urban Design, Industry & Innovation) จาก Urban Redevelopment Authority of Singapore (URA) ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นถึงเส้นทางก้าวสู่สุขภาวะของเมือง

Healthy Cities จุดเปลี่ยนประเทศไทย ก้าวพ้น NCDs

ดร. นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ดร. นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการ สสส. นำเสนอแนวคิด “Healthy Cities จุดเปลี่ยนประเทศไทย ก้าวพ้น NCDs” โดยระบุว่า ปัจจุบันคนไทยป่วยด้วยโรค NCDs (non-communicable diseases) เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากขึ้น ส่งผลให้ประเทศต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษามูลค่ามหาศาล

“NCDs เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยเหมือนกับตาย 75% ทั้งของประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งโรคมะเร็ง โรคปอด โรคหัวใจ มีค่าใช้จ่ายมหาศาล ถ้าเรารู้สาเหตุแล้วเราจะมาช่วยการจัดการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ตั้งแต่ต้นทาง ไม่ต้องใช้ทรัพยากรรักษามากมาย การจัดการไม่ได้ยาก เดิมโรค NCDs มีสาเหตุจากการบริโภคอาหาร หวาน เค็ม การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในปัจจุบันอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ ได้แก่ มลพิษทางอากาศหรือ PM2.5 ซึ่งถ้าลดได้ ก็จะลดการเจ็บป่วยของประเทศเราได้ 75%” ดร. นพ.ไพโรจน์กล่าว

สิ่งสำคัญที่มีผลต่อสุขภาพ คือ ไลฟ์สไตล์ วิถีชีวิต ซึ่ง 1 ในพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ คือ การไม่ขยับเคลื่อนไหวร่างกายหรือมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ คนไทยมีสถิตินั่งนาน 13 ชั่วโมงต่อวัน รวมไปถึงสภาพแวดล้อมทางกายภาพ “ที่มากกว่านั้น พื้นที่สุขภาวะ หรือสิ่งแวดล้อม ทั้งเชิงนโยบาย เชิงสังคม เชิงการเมือง มีส่วนกระทบต่อต่อสุขภาพทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว การจัดการสภาพแวดล้อมที่ทําให้เราสุขภาพดีโดยเราไม่ต้องตัดสินใจ คือสิ่งสําคัญ” ดร. นพ.ไพโรจน์กล่าว

การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะจึงเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งเพื่อเร่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น สสส. ได้ร่วมส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างพื้นที่สุขภาวะที่ครอบคลุมหลายมิติ ร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลพื้นที่ของตนเอง โดยเฉพาะการพัฒนาโครงการต้นแบบที่สามารถขยายผลได้ เช่น “สวน 15 นาที” พื้นที่ออกกำลังกายใกล้บ้าน ที่ปลอดเหล้า บุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี

“ถ้าเรายึดโยงให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นว่าถ้าเรามีเมืองที่ดี active ก็ปิดความเสี่ยงได้ด้านหนึ่ง เช่น มีพื้นที่สาธารณะปลอดเหล้าปลอดบุหรี่ พื้นที่เพิ่มกิจกรรมทางกาย พื้นที่พักผ่อน การเดินทางที่ปลอดภัย เพราะคนในเมืองมีการใช้ชีวิตที่หลากหลายมาก ชีวิตในแบบในคอนโด ในพื้นที่สาธารณะ การคมนาคม ขนส่งต่างๆ หรือ ซูเปอร์มาร์เกต ซึ่งถ้าเราปรับเปลี่ยนได้ก็สามารถที่จะมีสุขภาพดีได้” ดร. นพ.ไพโรจน์กล่าวพร้อมยกตัวอย่างโครงการที่ สสส. ผลักดันและประสบความสำเร็จ เช่น โครงการพื้นที่สร้างสรรค์xพื้นที่ส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งเป็นการพัฒนาพื้นที่รกร้างให้ปลอดภัย การสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน โครงการย่านสุขภาวะ-เมืองสุขภาวะ เป็นการพัฒนาโครงข่ายพื้นที่สุขภาวะให้เป็นพื้นที่ส่งเสริมสุขภาพระดับย่าน-เมือง

ดร. นพ.ไพโรจน์กล่าวว่า พื้นที่เหล่านี้เมื่อปรับแล้วได้ประโยชน์มากกว่าแค่เป็นพื้นที่ โดยทุกคนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนี้ สสส. ยังได้พัฒนาแผนที่เมืองเดินได้ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และฐานข้อมูล สร้างความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ “เมืองที่มีสุขภาวะที่ดีจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยชุมชนเป็นหลัก แต่ภาครัฐก็ต้องมีส่วน”

Action Plan ขยับกรุงเทพฯ เป็น Healthy City

รศ. ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
รศ. ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความสำเร็จของการขยับกรุงเทพฯ ให้เป็น Healthy City และการเข้าถึงพื้นที่สุขภาวะอย่างเท่าเทียมว่า “การกลายเป็นเมือง” หรือ urbanization เป็นเมกะเทรนด์ในทุกภูมิภาคทั่วโลก และเป็นปัญหาต่อชีวิตคน ในฝรั่งเศสมีการประท้วงต่อคุณภาพชีวิตคน จากประเด็นที่ว่า ชีวิตคนในเมืองมีเพียง 3 เรื่อง คือ เดินทางไปทำงานกลับมานอน สภาวะแย่ลง สภาพเมืองที่ใหญ่ขึ้นทำให้ให้สุขภาพคนแย่ลง

ในสมัยก่อน คนในกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ในตึกแถว ชั้นล่างใช้ทำการค้า ชั้นบนใช้เป็นที่พักอาศัย ก็ไม่มีเวลาที่จะไปทําอย่างอื่น ต่อมาเมื่อราคาที่ดินแพงขึ้น ชีวิตคนก็เป็นแบบไปทำงานกลับบ้านมานอนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นวงจรชีวิตที่พบในกรุงเทพมหานคร “ปัจจุบันกรุงเทพฯ คนอยู่ในที่พักอาศัยแบบห้องมากขึ้น จากราคาที่ดินแพง หรือคนบางส่วนต้องเดินทางเข้ามาทำงานในเมือง ในเมืองเองอาคารสำนักงานเพิ่มขึ้น ทำให้คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตในเมือง” ดร.ชัชชาติกล่าว

ดร.ชัชชาติกล่าวว่า เมื่อเทียบโครงสร้างของเมืองกับระบบหมุนเวียนของเลือด ที่มีทั้งหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ ซึ่งเป็นหลอดเหลือดหลักและมีหลอดเลือดเส้นเล็กๆ ระหว่างหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำแล้ว กรุงเทพมหานครก็เช่นกัน มีทั้งเส้นเลือดใหญ่และเส้นเลือดฝอย เส้นเลือดใหญ่หมายถึงการลงทุนเรื่องโครงการขนาดใหญ่ เมกะโปรเจกต์ที่ต้องใช้เงินมหาศาล และเส้นเลือดฝอยหมายถึงการเดินทาง ขยะ น้ำเสีย และถ้าเส้นเลือดฝอยไม่เข้มแข็ง อ่อนแอ ก็ยากที่จะมีสุขภาวะที่ดี เพราะปัญหาของคนกรุงเทพเป็นปัญหาของเส้นเลือดฝอย ไม่ใช่เส้นเหลือดใหญ่ นโยบายของกรุงเทพมหานครจึงมุ่งดูแลเส้นเลือดฝอยให้เข้มแข็งขึ้น

ดร.ชัชชาติยกตัวอย่างด้านการดูแลสุขภาพ ในกรุงเทพฯ มีโรงพยาบาลระดับตติยภูมิอยู่แล้ว แต่ประชาชนยังต้องเดินทางไกลเพื่อรับการรักษา ด้วยทรัพยากรงบประมาณที่จำกัด กรุงเทพมหานครที่เน้นทำงานร่วมกันอย่างสมดุล จึงมุ่งไปที่เส้นเลือดฝอย คือ ศูนย์อนามัยในชุมชน เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาล ขณะเดียวกัน ก็เป็นการเสริมความเข้มแข็งให้กับระบบบริการสุขภาพระดับชุมชน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเมือง โดยมุ่งเน้นขยายศูนย์บริการสุขภาพชุมชน ที่ให้ความสำคัญกับการบริการรักษา ส่งเสริมชุมชนเข้มแข็งและการดูแลสุขภาพตั้งแต่ต้นทาง

ตัวอย่างเช่น ศูนย์บริการสาธารณสุข 41 คลองเตย มีห้องพักผู้ป่วย 82 ห้อง มีแพทย์และเจ้าหน้าที่ประจำ 38 คน รองรับประชาชนในเขตคลองเตย 102,945 คน และยังมีศูนย์สุขภาพชุมชนจ่ายยาฟรี

แม้กรุงเทพมหานครมีสวนขนาดใหญ่ใจกลางเมือง เช่น สวนเบญจกิติ สวนลุมพินี แต่ก็ต้องเดินทางเข้าใจกลางเมืองได้ สวนใกล้บ้านสำคัญกว่า จึงได้มีการทำสวนสาธารณะใกล้บ้าน สวนขนาดเล็กใกล้บ้านในชุมชน ซึ่งตั้งเป้าไว้ 500 สวน ทำไปแล้ว 361 สวน และมีโครงการสวน 15 นาที ซึ่งเป็นสวนที่ใช้เวลาเดินทางจากบ้านมายังสวนประมาณ 15 นาที

“หัวใจของกรุงเทพฯ ในอนาคตคือเป็นเมืองที่น่าอยู่ livable เมืองที่มีประสิทธิภาพ productive ทุกประเทศมีการแข่งขันกันดึงคนเก่งเข้าประเทศ ดังนั้น สุขภาวะเป็นเรื่องสำคัญที่จะชี้ความน่าอยู่” ดร.ชัชชาติกล่าว

ดร.ชัชชาติกล่าวว่า วิสัยทัศน์ของกรุงเทพฯ คือ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน โดยขับเคลื่อนนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ประกอบด้วยปลอดภัยดี สุขภาพดี สร้างสรรค์ดี สิ่งแวดล้อมดี บริหารจัดการดี เรียนดี โครงสร้างดี เศรษฐกิจดี เดินทางดี เป็นเรื่องสุขภาวะ สุขภาพของคน และ “หัวใจที่สำคัญ ต้องมียุทธศาสตร์ ต้องมีนโยบาย และมี action plan (แผนปฏิบัติการ) ซึ่งกรุงเทพมหานครมีแผนปฏิบัติการกว่า 200 แผน”

ดร.ชัชชาติยกตัวอย่างนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เช่น 1) กรุงเทพฯ เดินได้ ปรับปรุงทางเท้าให้ปลอดภัยและเดินได้สะดวก 1,000 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันดำเนินการแล้วกว่า 800 กม. 2) การจัดทำ covered walkway หลังคาทางเดินกันเปียกกันร้อนในจุดเชื่อมต่อ ซึ่งในปี 2568 นำร่องที่สาทร จตุจักร 3) สวน 15 นาทีทั่วกรุง ที่ดำเนินการแล้ว 199 สวน 4) น้ำดื่มสะอาดปลอดภัยฟรีทั่วกรุง ดำเนินการ 2,000 จุดและจะเพิ่มอีก 2,500 จุดในปีนี้ เป็นต้น

ในด้านสุขภาวะ กรุงเทพมหานครดำเนินการควบคู่กันใน 2 ด้าน คือ การรักษาและการป้องกัน โดยในด้านการรักษามีนโยบายสร้างโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มความครอบคลุมให้บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลที่สร้างเสร็จบางแห่งเริ่มให้บริการรักษาผู้ป่วยนอกแล้ว รวมไปถึงเพิ่มขีดความสามารถให้กับศูนย์บริการสาธารณสุข ซึ่งดำเนินการเสร็จแล้ว 2 ศูนย์ คือ ศูนย์บริการสาธารณสุข 39 ราษฎร์บูรณะ และศูนย์บริการสาธารณสุข 47 คลองขวาง และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568 นี้อีก 9 แห่ง

ในด้านการป้องกัน มีการกระจายการตรวจสุขภาพให้ทั่วถึงทุกคน ผ่านโครงการตรวจสุขภาพล้านคน ที่กระจายตามตลาด ศูนย์การค้า อำนวยความสะดวกให้ประชาชน เป็นการดูแลสุขภาพที่ต้นทาง เข้าใจบริบทโรคของแต่ละเขต และวางแผนการป้องกันที่ตรงจุด และผลักดันโครงการสุขภาพผ่านงบ สปสช. มากกว่า 2,000 โครงการ ในปี 2567

ดร.ชัชชาติกล่าวว่า ในปี 2567 โรงพยาบาล กทม. เพิ่มขีดความสามารถในการดูแลผู้ป่วยอีก 1 ล้านเคส “ซึ่งเป็นปีแรกที่ กทม. ให้บริการถึงล้านคน มากพอที่จะเป็นฐานข้อมูลในการวิเคราะห์สาเหตุการเจ็บป่วย การเข้ารับการรักษา” ข้อมูลในการตรวจสุขภาพล้านคนมีการนำฐานข้อมูลสุขภาพไว้ในเว็บไซต์ให้ประชาชนสามารถเข้าไปดูได้ด้วย”

นอกจากนี้ ยังมีโครงการอื่นๆ ที่ผลักดันสุขภาวะในเมือง เช่น 1) การพัฒนาสนามกีฬาและอุปกรณ์ออกกำลังกาย ซึ่งในปี 2567 มีประชาชนมาใช้ลานกีฬาถึง 11 ล้านครั้ง ปัจจุบันมีประชาชนมาใช้บริหารวันละ 10,000 คน และมีแผนก่อสร้างลานกีฬาใหม่ 4 แห่งโดยใช้งบประมาณปี 2569 ตลอดจนจะปรับปรุงศูนย์กีฬาที่มีอยู่ให้ดีขึ้น 2) การส่งเสริมการปั่นจักรยานภายใต้แนวคิด “First & Last Mile” เพื่อเชื่อมต่อที่พักกับระบบขนส่งสาธารณะ 3) การปลูกต้นไม้ในเมือง 1 ล้านต้น เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ซึ่งปลูกได้แล้วกว่า 1.4 ล้านต้น

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังได้ส่งเสริมการจัดกิจกรรมต่างๆ ภายในเมือง เช่น กิจกรรมดนตรีในสวน กิจกรรมหนังกลางแปลง ณ ลานคนเมือง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 10,000 คน

“สิ่งเหล่านี้เป็นนโยบายของกรุงเทพมหานครในการส่งเสริมสุขภาวะและสุขภาพที่ดี ที่ต้องมีความร่วมมือจากทุกคน และสิ่งสำคัญต้องมีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน มีเป้าหมายที่ชัดเจน”ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าว

เกเลพูเมืองแห่ง “ความอยู่ดีมีสุข” แห่งภูฏาน

ดาโช ดร.โลเตย์ ชริง ผู้ว่าราชการ Gelephu Mindfulness City และอดีตนายกรัฐมนตรี ภูฏาน
ดาโช ดร.โลเตย์ เชริง ผู้ว่าราชการ Gelephu Mindfulness City ร่วมแบ่งปันแนวคิดสำคัญของภูฏานเบื้องหลังการพัฒนา เมืองแห่งสติ: การสร้างพื้นที่เมืองเพื่อสุขภาวะที่ครอบคลุมและชีวิตที่ยั่งยืน (Mindfulness City: Creating Urban Spaces for Holistic Well-being and Sustainable Living) โดยให้ข้อมูลว่า แนวคิดการพัฒนาเมือง Gelephu Mindfulness City มาจากวิสัยทัศน์ในสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งภูฏาน ที่ตกผลึกจากการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในทุกพื้นที่ของประเทศร่วม 19 ปี เชื่อมโยงกับหลักการ Gross National Happiness ความสุขมวลรวมประชาชาติ

“Mindfulness City มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในด้านการให้ความสำคัญไม่เพียงแค่การพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อยู่อาศัยทุกคนด้วย” ซึ่งออกแบบมาจากการประเมินถึงลักษณะของเมืองสมัยใหม่ การใช้ประโยชน์ของเมืองในแต่ละด้าน และการตอบสนองความต้องการของผู้อยู่อาศัย

โครงการนี้มีความสำคัญกับภูฏานอย่างมาก เนื่องจาก Gelephu Mindfulness City หรือ GMC เป็นทางเชื่อมภูฏานกับโลกและอนาคต

Gelephu Mindfulness City เป็นเขตบริหารพิเศษในภูฏาน เป็นโครงการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ ซึ่งผสมผสานการเติบโตทางเศรษฐกิจเข้ากับการตระหนักรู้ การใช้ชีวิตแบบองค์รวม และความยั่งยืน ที่ตั้งของ GMC ถือเป็นที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ เนื่องจากเป็นจุดตัดของภูมิภาคเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ เอเชียใต้ อาเซียน และจีน เมื่อประกอบกับความมุ่งมั่นของภูฏานในการพัฒนาอย่างยั่งยืน มรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า และการปกครองที่เข้มแข็ง ทำให้เมืองนี้เป็นผู้นำระดับโลกด้านการเติบโตในเมืองที่ตระหนักรู้และยั่งยืน

เกเลพู เป็นเมืองที่ได้รับการออกแบบให้อยู่กับร่วมแม่น้ำและลำธารที่ไหลผ่าน ทุกแง่มุมของ Gelephu Mindfulness City ได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงความยั่งยืน ผสมผสานการเติบโตทางเศรษฐกิจเข้ากับความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม สร้างมาตรฐานใหม่สำหรับการพัฒนาเมือง ใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมาจากท้องถิ่น เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน

ดาโช ดร.โลเตย์กล่าวว่า สนามบินเกเลพูออกแบบจากการตีความยอดเขาหิมาลัย ขณะที่รันเวย์คร่อมแม่น้ำโดยยังคงรักษาโครงสร้างพื้นฐานสีน้ำเงินและสีเขียวไว้ได้อย่างยั่งยืน ส่วนอาคารผู้โดยสารขาออกผสมผสานพื้นที่ด้านในและภายนอก ตัดด้วยพื้นที่สีเขียวซึ่งผู้โดยสารทุกคนสามารถเดินผ่านได้ และยังผสมผสานกับสถาปัตยกรรมสไตล์ภูฏาน เพื่อเฉลิมฉลองและสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น

ความสูงของอาคารในเกเลพูอยู่ในระดับต่ำถึงกลาง ขึ้นอยู่กับแต่ละประเภทและพื้นที่ เช่น หากเป็นพื้นที่ติดป่าความสูงของอาคารมีชั้นเดียว และมี FAR (Floor to Area Ratio) อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดินคือ 1% ส่วนในพื้นที่ชนบทความสูงของอาคาร 1-2 ชั้น อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดินคือ 5% ขณะที่พื้นที่ในเมืองสามารถสร้างอาคารได้สูง 2-4 ชั้นและมีอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน 60%

ในย่านเมืองและพื้นที่สาธารณะ มีการผสมผสานระหว่างสีเขียวและต้นไม้ปกคลุม ช่วยเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีในเมือง สนับสนุนทั้งคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่ดี ส่วนในย่านรอบๆ ถนนและพื้นที่ทั้งหมด ได้รับการออกแบบให้สามารถเดินได้และเดินทางได้สะดวก รับรองประสิทธิภาพและความปลอดภัยของโหมดการเชื่อมต่อต่างๆ ทัศนียภาพถนนที่สวยงามช่วยเสริมสร้างความรู้สึกเป็นชุมชนและการเชื่อมต่อที่ราบรื่น

ดาโช ดร.โลเตย์ปิดท้ายด้วยการอัญเชิญพระราชดำรัสสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุกที่ว่า “สิ่งสำคัญที่ประชาชนต้องเข้าใจคือ เรากำลังผลักดัน ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ โดยจัดตั้ง GMC เป็นเขตบริหารพิเศษ (SAR) อย่างไรก็ตาม เราไม่มีเจตนาที่จะรักษา ‘สองระบบ’ ไว้ตลอดไป ในท้ายที่สุด ระบบทั้งสองจะต้องมาบรรจบกันเป็น ‘หนึ่งประเทศ หนึ่งระบบ’ นวัตกรรมที่เกิดขึ้นจาก GMC จะต้องเห็นกันทั่วทั้งภูฏานเพื่อให้ประเทศประสบความสำเร็จโดยรวม แต่การบรรจบกันนี้จะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อเราดำเนินการปฏิรูปควบคู่กันไปทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเสริมสร้างประชาธิปไตย การจัดแนวระบบราชการให้สอดคล้องกับความต้องการในอนาคต การปรับปรุงกฎหมาย และการปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อเสริมอำนาจให้กับประชาชนของเรา”

สิงคโปร์เปิดเส้นทางสีเขียวสู่ City in Nature

Eugene Lau Director (Architecture & Urban Design, Industry & Innovation) จาก Urban Redevelopment Authority of Singapore
นายยูจีน เลา Director (Architecture & Urban Design, Industry & Innovation) จาก Urban Redevelopment Authority of Singapore (URA) เล่าถึงยุทธศาสตร์เมือง Green Plan 2030 และการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ในการออกแบบเมืองของสิงคโปร์ โดยกล่าวว่า สิงคโปร์ไม่ได้มีขนาดใหญ่และเป็นทั้งเมืองและประเทศ จึงต้องคำนึงถึงการใช้ประโยชน์ของเมือง เช่น ที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม รวมไปถึงความต้องการของประเทศ เช่น สนามบิน ท่าเรือ แนวป้องกัน และเขตเก็บน้ำ

สำหรับ Urban Redevelopment Authority หรือ URA ซึ่งเป็นหน่วยงานวางแผนการใช้ที่ดินและอนุรักษ์แห่งชาติ มีหน้าที่ในการวางแผนการใช้ที่ดิน ออกแบบผังเมือง และควบคุมการพัฒนา การวางแผนโครงสร้างพื้นฐาน การอนุรักษ์มรดกสิ่งก่อสร้าง รวมถึงการจัดการสถานที่ สนับสนันการขายที่ดินของรัฐ การวิจัยทรัพย์สิน การจัดการพื้นที่สำคัญ เป็นต้น

การวางผังเมืองของสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวมาอย่างยาวนาน ไม่ใช่แค่เพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่ยังเป็นเสาหลักพื้นฐานของสาธารณสุขและความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพอากาศ โดยให้ความสำคัญกับ 3 ด้านหลักในการวางแผนพื้นที่สีเขียว เพื่อสนับสนุนการสร้างเมืองที่มีสุขภาวะที่ดี

ด้านแรก เสริมสร้างสุขภาพกายและใจ
พื้นที่สีเขียวมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมทั้งสุขภาพกายและใจ สวนสาธารณะในเมือง เส้นทางธรรมชาติ และทางเดินสีเขียว จูงใจให้ผู้ที่อยู่อาศัยเดิน วิ่ง และปั่นจักรยาน ส่งผลให้มีวิถีชีวิตที่กระตือรือร้น ช่วยป้องกันโรคอ้วนและโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูงและเบาหวาน นอกเหนือจากสุขภาพกายแล้ว การเข้าถึงพื้นที่สีเขียวยังได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยลดระดับความเครียดและปรับปรุงสุขภาพจิต สิงคโปร์ได้เปิดตัว Therapeutic Gardens สวนบำบัด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษในสวนสาธารณะ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่สงบสำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา การศึกษาแสดงให้เห็นว่าการใช้เวลาในพื้นที่สีเขียวสามารถลดระดับความเครียดได้ถึง 20%
 
ด้านที่สอง การปรับปรุงคุณภาพอากาศและความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพอากาศ
พื้นที่สีเขียวช่วยลดมลพิษในเมืองและบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ต้นไม้และพืชพรรณทำหน้าที่เป็นตัวกรองอากาศตามธรรมชาติ ดูดซับมลพิษ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ ลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก และปรับปรุงคุณภาพอากาศโดยรวม

โครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น OneMillionTrees ของสิงคโปร์เป็นตัวอย่างที่ดี โดยเปิดตัวในปี 2563 และมีเป้าหมายที่จะปลูกต้นไม้หนึ่งล้านต้นภายในปี 2573 เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั่วเมืองเพื่อให้ร่มเงา ลดอุณหภูมิ และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ

พื้นที่สีเขียวยังมีบทบาทสำคัญในการทำให้สภาพแวดล้อมในเมืองเย็นลงอีกด้วย ผลกระทบจากปรากฏการณ์เกาะความร้อนในเมือง ซึ่งพื้นที่อาคารจะร้อนกว่าพื้นที่ชนบทโดยรอบอย่างเห็นได้ชัด ได้รับการบรรเทาด้วยต้นไม้ปกคลุม หลังคาสีเขียว และสวนแนวตั้งที่ครอบคลุม
 
ด้านที่สาม โครงสร้างพื้นฐานสีเขียวเพื่อสุขภาพชุมชนและสังคม
พื้นที่สีเขียวมีส่วนสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมด้วยการสร้างพื้นที่รวมสำหรับให้ผู้คนได้มีปฏิสัมพันธ์กัน พื้นที่สีเขียวแบบบูรณาการ เช่น ทางเชื่อมสวนสาธารณะและสวนบนดาดฟ้า เป็นจุดรวมตัวสำหรับทุกวัยและส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ช่วยลดความโดดเดี่ยวในเมือง

ตัวอย่างเช่น การฟื้นฟูสวนสาธารณะ Bishan-Ang Mo Kio ได้เปลี่ยนคลองคอนกรีตให้กลายเป็นระบบนิเวศแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ พร้อมพื้นที่เปิดโล่งสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ การผสมผสานธรรมชาติเข้ากับการใช้ชีวิตในเมืองนี้ ส่งเสริมความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งและความเป็นอยู่ที่ดี เสริมสร้างความสัมพันธ์ในชุมชน

โดยสรุป แนวทางของสิงคโปร์ต่อพื้นที่สีเขียวในเมืองไม่ได้เกี่ยวกับการทำให้สวยงามเท่านั้น แต่ยังส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชน ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม และความสามัคคีทางสังคม การวางแผนพื้นที่สีเขียวอย่างรอบคอบไม่เพียงแต่ทำให้สิงคโปร์สร้างเมืองที่เขียวขจีมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นเมืองที่มีสุขภาพดีสำหรับชาวสิงคโปร์ทุกคนอีกด้วย

นายเลากล่าวถึงเส้นทางสีเขียวของสิงคโปร์ ว่าเริ่มต้นจากการวางหมุดหมายเป็น Garden City มาสู่ City in a Garden และสุดท้าย City in Nature

“สิงคโปร์มีขนาดเล็กและมีความต้องการที่หลากหลาย ที่อาจจะทำให้ความเขียวขจีกลายเป็นป่าคอนกรีตได้ จึงเห็นว่าการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมืองเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้เมืองดูนุ่มนวลและผ่อนคลาย เส้นททางสีเขียวของเราเริ่มจาก Garden City ไปสู่ City in a Garden และในที่สุด City in Nature” นายเลากล่าว

นายเลากล่าวว่า หลังจากได้รับเอกราชแล้วในยุคทศวรรษ 1960 สิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการสร้างที่อยู่อาศัยและโครงสร้างพื้นฐานเป็นอันดับแรก ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและการสร้างงาน อย่างไรก็ตาม การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมที่มีสุขภาพดี เขียวขจี และเป็นธรรมชาติถือเป็นประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กัน แนวทางนี้ถือเป็นแนวทางที่กล้าหาญ เนื่องจากเป็นการเสี่ยงสำหรับประเทศเพิ่งก่อตั้ง ที่จะใช้ทรัพยากรไปกับการพัฒนาพื้นที่สีเขียว ท่ามกลางการให้ความสำคัญกับความต้องการพื้นฐาน

นายกรัฐมนตรีผู้ก่อตั้งประเทศ ลี กวน ยู เป็นผู้เสนอแนวทางนี้ เพราะรู้สึกว่าสิงคโปร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นแนวทางที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดในการสร้างความประทับใจให้กับบุคคลสำคัญ นักลงทุน และนักธุรกิจต่างชาติที่มาเยือน ว่านครรัฐแห่งนี้จัดระเบียบได้ดี โดยใช้การเปรียบเทียบว่าหากสวนได้รับการดูแลและจัดแต่งอย่างเรียบร้อย คนก็จะรู้ว่ามีคนสวนที่ทุ่มเทและมีประสิทธิภาพอยู่เบื้องหลัง

นอกจากนี้ นายลียังมองว่าการพัฒนาพื้นที่สีเขียวเป็นปัจจัยที่ปรับระดับสังคม ซึ่งชาวสิงคโปร์ทุกคนจะสามารถเข้าถึงความเขียวขจีและพื้นที่สีเขียวได้อย่างเท่าเทียมกัน ความเชื่อของเขาที่ว่าธรรมชาติจะช่วยยกระดับจิตวิญญาณของมนุษย์จึงเป็นรากฐานของการพัฒนาสีเขียว

วิสัยทัศน์ “Garden City” เกิดขึ้นเพื่อเปลี่ยนสิงคโปร์ให้กลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยความเขียวขจี อุดมสมบูรณ์ และมีสิ่งแวดล้อมที่สะอาด

สำหรับวิสัยทัศน์ “City in a Garden” เกิดขึ้นในปี 2541 จากความต้องการที่จะพัฒนาแผนการสร้างพื้นที่สีเขียวให้ลึกขึ้น แนวคิด “City in a Garden” จินตนาการถึงสิงคโปร์ในฐานะเมืองที่ซ่อนตัวอยู่ในสวนขนาดใหญ่ เมื่อเทียบกับการมีสวนในเมือง และสร้างขึ้นจากแนวคิดที่ต้องการให้สิงคโปร์ยังคงเป็นเมืองที่น่าอยู่ต่อไป

แนวคิดนี้ไม่เพียงมุ่งหวังที่จะผสมผสานพื้นที่สีเขียวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่สร้างขึ้นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชีวิตประจำวันของชาวสิงคโปร์ด้วย ซึ่งทำได้ผ่านความพยายาม ที่มุ่งเป้าไปยังการเชื่อมโยงชุมชนผ่านสวนสาธารณะซึ่งเป็นจุดหมายปลายทาง สวนที่เน้นชุมชน

นอกจากนี้ ยังตระหนักถึงมรดกทางธรรมชาติและปกป้องคุณภาพของเขตอนุรักษ์ธรรมชาติทั้ง 4 แห่งให้ดีขึ้น เพราะนั่นคือ การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ และบรรเทาผลกระทบเชิงลบของการแตกแยกและการกัดเซาะทางพันธุกรรมในเขตอนุรักษ์

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน สิงคโปร์กำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้และสร้างสิงคโปร์ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่และยั่งยืนต่อไป ในปี 2564 สิงคโปร์จึงปรับไปสู่การเป็น City in Nature ซึ่งเป็นแนวทางการวางแผนใหม่ ที่จะฟื้นฟูธรรมชาติกลับคืนสู่เมือง

วิธีที่สิงคโปร์ดำเนินการคือ การใช้แนวทางที่อิงตามธรรมชาติมากขึ้น เพื่อให้บรรลุถึงความสามารถในการปรับตัวด้านสภาพภูมิอากาศ นิเวศวิทยา และสังคม

City in Nature เป็นส่วนหนึ่งของ Singapore Green Plan 2030 ซึ่งเป็นการดำเนินการทั้งประเทศ เพื่อผลักดันวาระแห่งชาติของสิงคโปร์เกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายเลากล่าวว่า มีการนำแนวคิดนี้ไปปฏิบัติในในระดับต่างๆ คือ ระดับชาติ ระดับนโยบายอาคารสีเขียว และระดับเขต

โดยยกตัวอย่างการปฏิบัติระดับชาติว่า ใจกลางสิงคโปร์มีเขตอนุรักษ์ธรรมชาติขนาดใหญ่ 2 แห่ง ซึ่งสิงคโปร์อาจเป็นเมืองเดียวที่มีเขตอนุรักษ์ธรรมชาติอยู่ภายในเมือง เขตอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนแนวคิดปี 1971 ของสิงคโปร์ ซึ่งเสนอให้สร้างวงแหวนที่อยู่อาศัยหนาแน่น ล้อมรอบพื้นที่เก็บน้ำส่วนกลางซึ่งเป็นที่ตั้งของป่าดิบที่ยังคงเหลืออยู่

เขตอนุรักษ์ธรรมชาติทั้งสี่แห่งรวมกันครอบคลุมพื้นที่กว่า 3,000 เฮกตาร์ หรือ 4.5% ​​ของพื้นที่ทั้งหมดของสิงคโปร์ แต่เนื่องจากสิงคโปร์มีพื้นที่จำกัด จึงไม่มีพื้นที่หลายพันเอเคอร์สำหรับเขตอนุรักษ์ธรรมชาติเหมือนประเทศอื่นๆ

แนวทางสร้างสรรค์ที่ได้ดำเนินการคือโครงข่าย Park Connector เส้นทางเชื่อมสวนสวนสาธารณะต่างๆ เข้าด้วยกัน ที่ครอบคลุมทั้งเกาะ เพื่อให้ประชาชนของได้สัมผัสประสบการณ์ในสวนสาธารณะมากขึ้น ดังนั้น สวนสาธารณะกว่า 400 แห่งจึงขยายใหญ่ขึ้นอีกผ่านเส้นทางเชื่อมต่อต่างๆ เช่น เส้นทาง Round-Island Route เส้นทาง Coast-to-Coast Trail เส้นทาง Central, Eastern และ Rail

แนวคิด Park Connector Network ที่เริ่มขึ้นเมื่อปี 2533 เพื่อเชื่อมโยงผู้อยู่อาศัยกับอุทยานธรรมชาติ เช่น Bishan Park โครงข่ายนี้เชื่อมพื้นที่สีเขียวเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจที่หลากหลายและเข้าถึงได้ให้กับผู้อยู่อาศัยซึ่งเชื่อมต่อกันทั่วทั้งเกาะ สิงคโปร์ตั้งเป้าที่จะสร้าง Park Connector ทั้งหมด 500 กิโลเมตร ภายในปี 2573 เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ City in Nature

นอกจากนี้ ยังปรับเปลี่ยนคลองส่งน้ำคอนกรีตให้เป็นทางน้ำธรรมชาติ ด้วยเทคนิคการจัดการดินแบบบูรณาการ (เช่น การปลูกพืชบนเนินเขา การเสริมรากไม้) เพื่อความมั่นคง สร้างแหล่งที่อยู่อาศัยที่หลากหลาย เช่น พื้นที่ชุ่มน้ำ สระน้ำ และเขตริมแม่น้ำ ซึ่งนอกจากได้ประโยชน์ในด้านการจัดการน้ำแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศอีกด้วย มีความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้นจากการดึงดูดนก ​​ปลา และแมลง และปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยการกรองตามธรรมชาติ ฟื้นฟูการทำงานของระบบนิเวศ เช่น การหมุนเวียนของสารอาหารและความสามารถในการต้านทานน้ำท่วม ผลได้ที่สำคัญคือ มีพื้นที่ที่ใช้งานได้หลากหลาย และพลวัตซึ่งผสมผสานการจัดการน้ำท่วม นิเวศวิทยา และการพักผ่อนหย่อนใจของชุมชน

จากการที่สิงคโปร์ได้รับพื้นที่ทางรถไฟกลับคืนในปี 2554 ทำให้มีโอกาสได้พื้นที่สีเขียวเปิดโล่งอย่างต่อเนื่องในใจกลางสิงคโปร์ เมื่อรถไฟวิ่ง ทางรถไฟก็เปรียบเสมือนกำแพงที่แบ่งแยกชุมชนเหล่านี้ออกจากกัน เมื่อเปิดพื้นที่ ทางรถไฟก็มีโอกาสที่จะเชื่อมโยงชุมชนจากเหนือจรดใต้ทั่วเกาะ

นายเลากล่าวว่า สิงคโปร์ยังมีโครงการและความคิดริเริ่มมากมายที่ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุงเมืองให้เป็นสีเขียว ไม่ว่าจะเป็นโครงการ Community in Bloom หรือเป้าหมายที่จะปลูกต้นไม้หนึ่งล้านต้น

โครงการ Community in Bloom เริ่มต้นในปี 2548 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และชักชวนผู้อยู่อาศัยทั้งเด็กและผู้ใหญ่มารวมกันเพื่อทำให้สิงคโปร์เป็นเมืองแห่งธรรมชาติ โครงการนี้ให้คำแนะนำด้านการจัดสวนและพืชสวนครัวแก่กลุ่มชุมชน และได้มอบพื้นที่ให้กับผู้อยู่อาศัยในเมืองที่มีความหนาแน่น เพื่อให้พวกเขาได้ฝึกฝนฝีมือการปลูกต้นไม้

ปัจจุบัน CIB เป็นเครือข่ายของสวนชุมชนมากกว่า 1,800 แห่ง โดยมีอาสาสมัครทำสวนมากกว่า 45,000 คนในเขตที่อยู่อาศัย โรงเรียน และองค์กรต่างๆ

สำหรับการปฏิบัติในระดับเขต นายเลายก 2 ตัวอย่างเพื่อแสดงให้เห็นถึงการฝังความเขียวขจีลงในการวางแผนเมือง ได้แก่ โครงการ Marina Bay เป็นแนวทางในการวางตำแหน่งสิงคโปร์ให้เป็นศูนย์กลางทางธุรกิจและการเงินชั้นนำของเอเชีย และยังเป็นโครงการพลิกโฉมเนื่องจากเป็นเขตที่ยั่งยืนแห่งแรกในสิงคโปร์ การวางแผนเพื่อความยั่งยืนนั้นมาจากหลักการสำคัญ 2 ประการ ประการแรกคือการมองในระยะยาวและวางแผนล่วงหน้า ประการที่สองคือการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์สูงสุด

เนื่องจากสิงคโปร์เป็นเมืองเกาะที่ห่างไกลจากผืนแผ่นดิน การจัดหาแหล่งน้ำจึงมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต ทำนบกั้นน้ำ Marina ได้เปลี่ยนพื้นที่ทางทะเลให้กลายเป็นอ่างเก็บน้ำจืดใจกลางเมือง ทำให้สามารถเก็บน้ำฝนไว้ใช้ได้ อ่างเก็บน้ำนี้คิดเป็นประมาณ 10% ของแหล่งน้ำในประเทศ การสร้างอ่างเก็บน้ำยังช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นมานานในเมืองด้วยการควบคุมระดับน้ำฝนที่ซัดฝั่ง ขณะที่ท่าเรือถูกย้ายออกจากเมืองเพื่อให้กลายเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจที่สำคัญในเมือง

ในสถานการณ์ที่เกิดพายุ ต้องสูบน้ำออก จึงจำเป็นต้องมีสถานีสูบน้ำ เดิมทีเป็นอาคารเดี่ยวที่ใช้ประโยชน์ได้จริง แต่ก็มองเห็นโอกาสที่จะเชื่อมโยงกับบริเวณริมน้ำและ Gardens by the Bay ที่อยู่ติดกันได้ดีขึ้น และจากการที่ทำนบกั้นน้ำกำหนดให้ห้องสูบน้ำต้องตั้งอยู่ที่ทางเดินริมน้ำ ทีมงาน Urban Redevelopment Authority จึงได้ริเริ่มแนวคิดที่จะนำทางเดินริมน้ำขึ้นไปบนชั้นดาดฟ้าแทน เพื่อให้ผู้ใช้ยังคงเพลิดเพลินกับบริเวณริมน้ำได้จากจุดที่สูงกว่า

การออกแบบในท้ายที่สุด ก็ได้ทางลาดหญ้าขนาดใหญ่ที่นำไปสู่หลังคาสีเขียวที่กว้างขวางเหนือสถานีสูบน้ำ ราวกับว่า Gardens by the Bay มีการขยายออกอย่างต่อเนื่องไปจนถึงพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่บนชั้นดาดฟ้า ซึ่งสามารถมองเห็นช่องแคบสิงคโปร์ได้

โดยที่มีการคำนึงอยู่เสมอว่าสิงคโปร์เป็น City in a Garden แนวคิดนี้จึงถูกถ่ายทอดไปยัง Marina Bay ด้วยสวนสาธารณะในละแวกใกล้เคียงในขนาดต่างๆ เช่น Lawn และ Linear Green ส่วนใจกลางเมือง ได้จัดสรรพื้นที่ใจกลางเมือง 100 เฮกตาร์เพื่อชูพื้นที่สีเขียว ได้แก่ Bay South, East และ Central

นอกจากนี้ มีทางเดินเลียบชายฝั่งยาว 3.5 กิโลเมตร เชื่อมโยงพื้นที่สีเขียวและสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ รอบอ่าวเข้าด้วยกัน ทางเดินเลียบชายฝั่งนี้เชื่อมต่อพื้นที่สีเขียวและสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ รอบอ่าวได้อย่างดี เนื่องจากมีระบบขนส่งสาธารณะหลักให้บริการ จึงทำให้คนมาที่นี่เพื่อเข้าร่วมงานหรือมาเดินเล่นรอบอ่าว

ในการวางแผนสร้าง Marina Bay สิงคโปร์ตระหนักดีว่าที่นี่ต้องเป็นสถานที่ที่ทุกคนมีส่วนร่วม เนื่องจาก Marina Bay เป็นศูนย์กลางธุรกิจและการเงิน จึงมักมีความกังวลว่าที่นี่จะรองรับเฉพาะพนักงานออฟฟิศในตึกสำนักงานที่หรูหรา หรือเฉพาะผู้ที่สามารถอาศัยอยู่ที่นั่นได้เท่านั้น ดังนั้น การออกแบบที่ระดับถนนจึงมีความสำคัญเพื่อให้เข้าถึงได้ และดึงดูดใจด้วยสวนสาธารณะ ทางเดินเลียบชายฝั่ง และลานกว้าง รวมทั้งการทำให้อ่าวสามารถเดินได้สะดวก จึงทำให้รูปแบบการเดินทางเปลี่ยนเป็นระบบขนส่งสาธารณะแทนรถยนต์

ส่วนการปฏิบัติในระดับนโยบายอาคารสีเขียวนายเลายกตัวอย่าง LUSH (Landscaping for Urban Spaces and High-rises)

LUSH เป็นนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งในพื้นที่ส่วนบุคคลและสาธารณะ บนพื้นดินและบนอาคารสูง สร้างพื้นที่ตึกเท่าไรก็ต้องสร้างพื้นที่สีเขียวเท่ากับที่ใช้งานไป

LUSH มีส่วนสนับสนุนให้พื้นที่สีเขียวกว่า 252 เฮกตาร์ทั่วทั้งเกาะ ซึ่งเป็นความพยายามร่วมกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (เช่น สถาปนิกและนักพัฒนา) ตัวอย่างที่อยู่อาศัยบางส่วน ได้แก่ Tree House และ Oliv ซึ่งทั้งสองโครงการมีผนังสีเขียวในรูปแบบที่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ มีการบันทึกข้อมูลว่าพื้นที่สีเขียวแนวตั้งช่วยลดผลกระทบของปรากฏการณ์เกาะความร้อนในเมืองได้ โดยสถาปนิกของ Oasia พบว่าอุณหภูมิพื้นผิวของผนังอาคาร Oasia เย็นกว่าผนังอาคารทั่วไปถึง 25 องศาเซลเซียส โดยเฉลี่ยแล้วอุณหภูมิพื้นผิวสูงสุดจะลดลง 16 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิในช่วงสูงสุดจะลดลง 3 องศาเซลเซียส ทำให้คนเดินเท้ารู้สึกสบายตัวมากขึ้น พื้นที่สีเขียวที่หนาแน่นขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญต่อผลเชิงบวกจากการสร้างร่มเงาให้กับอาคาร และสามารถลดภาระการทำความเย็นได้ระหว่าง 10-31%