ThaiPublica > เกาะกระแส > SET Note เปิดสถิติ 590 บริษัทจดทะเบียนจ่ายเงินปันผลปี 2567 รวมกว่า 593,610 ลบ.

SET Note เปิดสถิติ 590 บริษัทจดทะเบียนจ่ายเงินปันผลปี 2567 รวมกว่า 593,610 ลบ.

19 มีนาคม 2025


ในปี 2567 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ(mai) จำนวน 590 บริษัท มีการจ่ายเงินปันผลรวม 864 ครั้ง รวมเงินปันผลจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นรวมกว่า 593,610 ล้านบาท

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเผยแพร่ SET Note ฉบับที่ 2/2568 “เปิดสถิติการจ่ายปันผลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ปี 2567” ผลการวิจัย การจ่ายปันผลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ปี 2567 ซึ่งพบว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นรวมกว่า 593,610 ล้านบาท จากการจ่ายเงินปันผล 864 ครั้ง จากบริษัทจดทะเบียน 590 บริษัท

จากข้อมูลสถิติการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (ตลาดหุ้นไทย) พบว่า ในปี 2567 มีการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นรวมสูงถึง 593,610 ล้านบาท1 เพิ่มขึ้นจากปี 2566 เล็กน้อย และหากพิจารณาการจ่ายเงินปันในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า มูลค่าการจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเติบโตเฉลี่ยปีละ 4.01% (ภาพที่ 1) ด้วยปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในปี 2566 – 2567 ที่มีรายได้รวมสูงปีละกว่า 18 ล้านล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ถึง 941,000 ล้านบาทและ 870,000 ล้านบาท2 (ภาพที่ 2) ตามลำดับ

โดยการจ่ายเงินปันผลดังกล่าวเป็นการจ่ายปันผล 864 ครั้ง จากบริษัทจดทะเบียน 590 บริษัท (บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่จ่ายเงินปันผลปีละครั้ง บางบริษัทจ่าย 2 – 4 ครั้งในแต่ละปี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับนโยบายการจ่ายเงินปันผลของแต่ละบริษัท) ตามตารางที่ 1

ในช่วงเทศกาลจ่ายเงินปันผล พบว่า ในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2567 บริษัท จดทะเบียนจ่ายเงินปันผลรวม 538 ครั้ง หรือคิดเป็น 62.33% ของจำนวนการจ่ายเงินปันผลทั้งหมดในปี 2567 โดยเดือนพฤษภาคมมีการจ่ายเงินปันผลมากที่สุดทั้งจากจำนวนครั้งและมูลค่าเงินปันผลจ่าย โดยจ่ายปันผลรวม 464 ครั้ง คิดเป็น 53.7% ของจำนวนการจ่ายเงินปันผลทั้งหมดในปี 2567

ในแต่ละปีจะมีเทศกาลจ่ายเงินปันผลอีกหนึ่งรอบในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายนของทุกปี พบว่า ในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2567 มีการจ่ายเงินปันผลรวม 210 ครั้ง หรือประมาณ 24.3% ของจำนวนการจ่ายเงินปันผลในปี 2567 (ภาพที่ 3)

หากพิจารณามูลค่าเงินปันผลที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้น ในปี 2567 (ภาพที่ 4) พบว่า ในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2567 มีการจ่ายเงินปันผลรวม 366,148 ล้านบาท คิดเป็น 61.7% ของมูลค่าเงินปันผลทั้งหมดที่จ่ายให้ผู้ถือหุ้นในปี 2567 โดยเดือนที่มีการจ่ายเงินปันผลสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เดือนพฤษภาคม 2567 ที่มีการจ่ายเงินปันผลด้วยมูลค่าสูงสุด 216,566 ล้านบาท คิดเป็น 36.5% ของมูลค่าเงินปันผลทั้งหมดที่จ่ายให้ผู้ถือหุ้นในปี 2567 ตามมาด้วยเดือนเมษายน 2567 ที่มีการจ่ายเงินปันผลด้วยมูลค่าสูงสุด 145,256 ล้านบาท คิดเป็น 24.5% และเดือนกันยายน 2567 มีการจ่ายเงินปันผลด้วยมูลค่าสูงสุด 145,100 ล้านบาท คิดเป็น 24.4% ตามลาดับ

เมื่อพิจารณาการจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียน ในปี 256 7 จำแนกตามหมวดธุรกิจ พบว่า 3 หมวดธุรกิจที่มีการจ่ายเงินปันผลด้วยมูลค่าสูงสุด ยังคงเป็นหมวดธุรกิจเดียวกันกับปี 2566 ได้แก่ หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค หมวดธนาคาร หมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ตารางที่ 2 )

โดยบริษัทจดทะเบียนในหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค (Energy and util ities sector) จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นด้วยมูลค่ามากที่สุด รวมกว่า 170,148 ล้านบาท ตามมาด้วยบริษัทจดทะเบียนในหมวดธนาคาร (Banking sector) ที่จ่ายเงินปันผลด้วยมูลค่ารวม 107,093 ล้านบาท และหมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร Information & Communication Technology sector) ที่จ่ายเงินปันผลด้วยมูลค่ารวม 53,594 ล้านบาท

จากสถิติการจ่ายเงินปันผลที่กล่าวมาข้างต้น อาจสรุปได้ว่า การลงทุนในหุ้นปันผลก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับนักลงทุนและผู้มีเงินออมที่เน้นการลงทุนระยะยาว ที่สำคัญคือ การคัดเลือกหุ้นปันผล และจังหวะเวลาในการเข้าซื้อหุ้นปันผล ซึ่งโดยปกติราคาหุ้นจะสูงหรือต่ำ ก็ขึ้นอยู่ปัจจัยพื้นฐาน (อาทิ ทิศทางเศรษฐกิจ ภาวะอุตสาหกรรม และผลประกอบการ เป็นต้น) และปัจจัยด้านจิตวิทยา ที่เกี่ยวข้องกับความคาดหวังของนักลงทุนและปริมาณความต้องการหุ้นของนักลงทุน

จากการเคลื่อนไหวของ SET Index ตั้งแต่ตลาดเปิดทาการซื้อขายในปี 2518 ถึงปัจจุบัน พบว่า มีช่วงที่ SET Index แตะที่ระดับ 1,000 จุด ขึ้นไป อยู่ 3 ช่วงเวลา กล่าวคือ ในปี 2533 ที่ SET Index ทาสถิติสูงสุดระหว่างที่แตะ 1,143 จุดในวันที่ 25 กรกฎาคม 2533 ก่อนลดลงมาปิดสิ้นปีที่ 612.86 จุด และในช่วงที่ 2 ในช่วงปี 2538 – 2539 ช่วงก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง และในช่วงที่ 3 ตั้งแต่ปี 2554 ถึงปัจจุบัน (ภาพที่ 5) ที่ SET Index มีการเคลื่อนไหวอยู่ในระดับสูงกว่า 1,000 จุด ต่อเนื่องกว่า 15 ปี (ภาพที่ 5)

หากเปรียบเทียบผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นในไทย (ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ) พบว่า ข้อสังเกตที่น่าสนใจ กล่าวคือ 1) ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 คือ ในปี 2563 ที่กำไรสุทธิบริษัทจดทะเบียนลดลงค่อนข้างเยอะเหลือเพียง 399,000 ล้านบาท ขณะที่ SET Index เคลื่อนไหวในช่วงกว้างอยู่ในช่วง 1,024.46 – 1,600.48 จุด และปิดที่ 1,449.35 จุด ก่อนที่กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนก็ฟื้นตัวมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาด 2) ในปี 2567 แม้ว่าบริษัทจดทะเบียนมีกำไรสุทธิรวมลดลงน้อยกว่าปี 2566 แต่ก็อยู่ในระดับสูงถึง 869,000 ล้านบาท ขณะที่ SET Index ลดลงไปอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า SET Index อาจลงมาอยู่ในระดับต่ำซึ่งอาจเป็นโอกาสของนักลงทุนในการเข้ามาเลือกซื้อหุ้นเพื่อรับเงินปันผล

หากพิจารณาผลประกอบการปี 2567 ของบริษัทจดทะเบียน พบว่า ส่วนใหญ่ (62 7 บริษัท) หรือ 67.8 % ของบริษัท จดทะเบียนทั้งหมดยังคงมีกำไรสุทธิจากการดำเนินธุรกิจในปี 2567 อย่างไรก็ตาม การจ่ายเงินปันผลนอกจากจะขึ้นอยู่กับผลประกอบการปี 2567 ก็ยังขึ้นอยู่กับผลประกอบการที่เกิดขึ้นในปี 2568 ที่อาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ รวมทั้งนโยบายการจ่ายเงินปันผล ตลอดจนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของแต่ละบริษัทอีกด้วย

ดังนั้น จากข้อมูลสถิติการจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย เป็นข้อมูลเบื้องต้นให้นักลงทุนได้ทราบช่วงเวลาในการจ่ายเงินปันผล เพื่อใช้ประกอบการวางแผนคัดเลือกหุ้นปันผลและเลือกจังหวะเวลาในการเข้าซื้อหุ้นปันผลเข้าพอร์ตการลงทุน

รายงานโดย สุมิตรา ตั้งสมวรพงษ์ ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ข้อมูลที่ปรากฎในเอกสารฉบับนี้ จัดทำขึ้นบนพื้นฐานของข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้และแนวคิดแก่ผู้อ่าน มิใช่การให้คำแนะนำด้านการลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมิได้ให้การรับรองในความถูกต้องของข้อมูล และไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้น อันเนื่องจากการนำข้อมูลไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดไปใช้อ้างอิง หรือเผยแพร่ไม่ว่าในลักษณะใด นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขอสงวนสิทธิในการเปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิ่มเติมข้อมูลไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดตามหลักเกณฑ์ที่เห็นสมควร ความเห็นที่ปรากฎในรายงานฉบับนี้ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย