สทนช. ประเมินสถานการณ์ฝนปีนี้มาเร็วและมีปริมาณมากกว่าปีที่ผ่านมา49 % เตรียมประชุมพิจารณาระบายน้ำ 21 เขื่อนขนาดใหญ่รับมือ มั่นใจ 9 มาตรการรับมือฤดูฝนไม่มีน้ำท่วมซ้ำรอยปี2554 ขระที่มีความพร้อมระบบเตือนภัยเตรียมใช้การแจ้งเตือนผ่านระบบ SMS

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยหลังประชุมคณะทำงานวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์น้ำ และขับเคลื่อนแผนบูรณาการแจ้งเตือนอุทกภัยทั้งระบบ 3/2568 ว่า ที่ประชุมได้วิเคราะห์สถานการณ์น้ำที่เหลือประมาณกว่า 1 เดือนจะข้าสู่ฤดูฝน พบว่าไทยยังอยู่ในช่วง ‘ลานีญา’ ทีมีค่าความเป็นกลาง ทำให้ในช่วงนี้จะมีพายุฤดูร้อนและมีปริมาณฝนพอสมควร และมีความกดิอากาศสูง มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ นำความชื้นเข้ามาตอนกลางและตอนบนของประเทศ ทำให้มีอากาศร้อนเพราะมีหย่อมความกดอากาศต่ำ มีแนวปะทะของมวลอากาศทำให้เกิดพายุฤดูร้อนได้ มีลูกเห็บในบางพื้นที่
ส่วนการคาดการณ์ว่าปีนี้จะมีปริมาณฝนมากกว่าปีที่ผ่านมา และประเมินสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังน้ำน้อย แต่มีแผนในการเผ้าระวังฤดูแล้งในพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดปัญหาน้ำอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตการประปาส่วนภูมิภาค โดยสทนช.ได้ลงพื้นที่ทำงานเชิงรุกในการดูแลประชาชนในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ เข้าไปช่วยในเรื่องน้ำบาดาล และการผันน้ำจากแหล่งอื่นเข้ามายังพื้นที่แห้งแล้งทำให้ ปีนี้คาดว่าจะไม่มีพื้นที่ต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง
ส่วนการเผ้าระวังสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝน อิทธิพลของ’ลานีญา’ และค่าความเป็นกลาง ทำให้ปริมาณฝนในปีนี้ในช่วงเดือนมีนาคม มีฝนเฉลี่ยมากกว่าค่าปกติ ขณะที่เดือนเมษายนมีฝนมากกว่าค่าปกติถึง 49 % โดยเฉพาะภาคตะวันออก มีฝนมากและเสี่ยงพายุฤดูร้อน ทำให้ตองเฝ้าระวังไม้ผล เช่น ทุเรียน
“เดือนพฤษภาคม ได้ประเมินร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่าฝนจะมาเร็ว และมีฝนมากกว่าค่าปกติถึง 17 % เช่นเดียวกับเดือนมิถุนายนมีฝนมากกว่าค่าปกติถึง 1 % เพราะฉะนั้นฤดูฝนปีนี้ ฝนมาเร็วและมีปริมาณเกินค่าปกติค่อนข้างมาก”
ส่วนในช่วงเดือนกรกฏาคม อาจจะมีปัญหาฝนทิ้งช่วง แต่อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ในเดือนสิงหาคมและเดือนกันยายนมีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติ ขณะที่เดือนตุลาคมมีปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติ 29 % โดยประเมินภาพรวมของปริมาณฝนปีนี้พบว่า มกราคม-มีนาคมสูงกว่าค่าปกติ ประมาณ 15 %
ขณะที่การประเมินปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศพบว่า ภาพรวมทั้งหมดมีปริมาณมากกว่าปีที่แล้ว โดยมีประมาณ 65 % หรือ 51,989 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยมีประมาณ 64 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ 6 แห่ง ภาคกลาง 4 แห่ง ภาคตะวันตก 8 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 34 แห่ง ภาคตะวันออก 11 แห่ง ภาคใต้ 1 แห่ง
ดร.สุรสีห์กล่าวอีกว่า เนื่องจากมีการประเมินว่าปีนี้จะมีปริมาณฝนมากกว่าปีที่ผ่านมาทำให้เราประเมินว่าอาจจะต้องมีการพร่องน้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำจำนวนมาก 21 แห่ง มีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก อาจจะพิจารณาพร่องน้ำเพื่อรับฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง โดยจะมีการประชุมร่วมกันอีกครั้งเพื่อประเมินว่าปรับแผนการระบายน้ำในช่วงเดือนเมษายนออกในปริมาณเท่าไหร เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำใหม่ในฤดูฝนที่จะมาถึง
อย่างไรก็ตามคณะกรรมการน้ำแห่งชาติได้อนุมติ 9 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2568 ได้แก่
-
1.คาดการณ์ชี้เป้าหมายพื้นที่เสี่ยงเพื่อแจ้งเตือนภัย
2.ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ อาคารควบคุมบังคับน้ำอย่างบูรณาการในระบบลุ่มน้ำและกลุ่มลุ่มน้ำ
3.เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ
4.ตรวจสอบ ติดตามความมั่นคงปลอดภัย
5.เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำอย่างเป็นระบบ
6 ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ตั้งศูนย์ล่วงหน้าก่อนเกิดภัย และฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่ปกติ
7.เร่งพัฒนาและเก็บกักน้ำ ในแหล่งน้ำ
8.สร้างการรับรู้ ความเสี่ยงและสร้างความเข้มแข็งครือข่ายในการติดตามเฝ้าระวัง
9. ติดตามประเมินผล
“ระบบการแจ้งเตือนภัยปีนี้ เราจะไม่ซ้ำรอยกับการแจ้งเตือนภัยในปีที่ผ่านมา โดยได้เสนอยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์การบริหารจัดการน้ำ เพื่อการแจ้งเตือนภัยโดยจะทำในเชิงป้องกันก่อน และบูรณาการทำงานด้วยกันของหน่วยงาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เพื่อทำการเตือนภัยอย่างเป็นเอกภาพ และจะนำเอาเซลบอร์ดแคส หรือการแจ้งเตือนภัยผ่าน เอสเอ็มเอสเข้ามาช่วยในระบบแจ้งเตือนภัยด้วย”
ดร.สุรสีห์กล่าวต่อว่า แม้ว่าปริมาณน้ำฝนปีนี้จะมีมากกว่าปีที่แล้ว แต่ไม่มากเท่ากับปี 2554 ขณะที่มีมาตการรับมือ การพร่องน้ำอย่างเป็นระบบ จึงมั่นใจว่าจะไม่มีน้ำท่วมซ้ำรอยปี 2554 รวมทั้งในเรื่องระบบเตือนภัยก็มีการเตรียมพร้อมอย่างดี
นอกจากนี้ ดร.สุรสีห์ ยังกล่าวถึง กิจกรรมการจัดงานเนื่องในวันน้ำโลก ประจำปี พ.ศ. 2568 ที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดให้วันที่ 22 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันน้ำโลก (World Water Day)” เพื่อกระตุ้นให้ทั่วโลกร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำอย่างบูรณาการตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ผ่านมา สทนช. ในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั่วประเทศอย่างเป็นระบบ ได้เป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมวันน้ำโลกในนามรัฐบาลไทยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความตระหนักรู้และกระตุ้นเตือนทุกภาคส่วนถึงความสำคัญของน้ำและปัญหาด้านน้ำในปัจจุบัน
สำหรับงานวันน้ำโลกในปี 2568 มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 21 มีนาคม 2568 ณ ห้องแคทลียา ชั้น 1 โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร ในงานจะมีการฉายวิดีทัศน์การแถลงสารจากนายกรัฐมนตรี เพื่อประกาศนโยบายและเจตนารมณ์ในการรณรงค์ให้เกิดการอนุรักษ์แหล่งน้ำ ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า และร่วมปรับตัวต่อสถานการณ์น้ำของโลก ทั้งนี้ ยังได้รับเกียรติจาก นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคม เป็นประธาน
งานในปีนี้จัดในประเด็นที่ UN กำหนด คือ “Glacier Preservation” หรือ “การอนุรักษ์ธารน้ำแข็ง” ภายใต้แนวคิด “น้ำคือชีวิต การอนุรักษ์น้ำและธารน้ำแข็งเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” ซึ่งเป็นวาระสำคัญระดับโลก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบโดยตรงต่อแหล่งน้ำทั่วโลก โดยเฉพาะธารน้ำแข็งซึ่งเป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ราว 18,600 จุด ในพื้นที่มรดกโลก 50 แห่ง คิดเป็นพื้นที่กว่า 66,000 ตารางกิโลเมตร ที่กำลังละลายอย่างรวดเร็ว และคาดว่ากว่า 1 ใน 3 ของจำนวนธารน้ำแข็งทั้งหมด จะหายไปในอีกไม่ถึง 30 ปีข้างหน้า ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในแม่น้ำสายสำคัญ ระดับน้ำทะเล ระบบนิเวศชายฝั่ง การเกิดอุทกภัย และการสูญเสียแหล่งน้ำจืดสำหรับการอุปโภคบริโภค เกษตรกรรม ความมั่นคงทางอาหาร ไปจนถึงอุตสาหกรรมทั่วโลก
ทั้งนี้ สทนช. เชิญชวนผู้ที่สนใจ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมงานวันน้ำโลก ปี 2568 หรือติดตามรับชมกิจกรรมภายในงานผ่านการถ่ายทอดสดทาง Facebook Live ของ สทนช. ตั้งแต่เวลา 9.00 น. เป็นต้นไป เพื่อร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญของน้ำและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมหาแนวทางปฏิบัติในการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เพราะ “น้ำคือชีวิต” ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันดูแลรักษา เพื่อให้โลกของเราคงความสมดุลและยั่งยืนต่อไปในอนาคต