ThaiPublica > ข่าวประชาสัมพันธ์ > บทสรุป “Money Coach Junior Contest 2024” นักเรียน-เยาวชน จะต่อยอดความรู้ทางการเงินอย่างไร ?

บทสรุป “Money Coach Junior Contest 2024” นักเรียน-เยาวชน จะต่อยอดความรู้ทางการเงินอย่างไร ?

16 มีนาคม 2025


บทสรุป Money Coach Junior Contest 2024 มุมมองจากผู้พัฒนาโครงการ “ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย” พันธมิตร และครู-นักเรียนผู้ร่วมโครงการจริง กับการต่อยอดและการนำ ‘ความรู้ทางการเงิน’ ไปใช้ประโยชน์จริง

จากโครงการ UOB My Digital Space (UOB MDS) โดยธนาคารยูโอบี ประเทศไทย สู่หลักสูตร UOB Money 101: Teen Edition วัยรุ่นเก่งการเงิน ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2564 และได้ต่อยอดไปสู่ Money Coach Junior Contest ในฐานะโครงการประกวดแผนการสื่อสารความรู้ทางการเงินที่จับต้องได้จริงผ่านการวางแผนและลงมือทำ

โดยวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 มีการนำเสนอผลงานและการประกาศรางวัล ตลอดจนได้รับฟังมุมมองต่างๆ ต่อโครงการ รวมถึงแนวทางในการต่อยอด ‘ความรู้ทางการเงิน’ ให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืน

  • อ่านเพิ่มเติม รู้จัก “Money Coach Junior Contest 2024” โครงการส่งต่อ ‘ความรู้ทางการเงิน’ จากเยาวชนสู่ชุมชน
  • นางสาวธรรัตน โอฬารหาญกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย

    เสริมความรู้ทางการเงินผ่านโรงเรียน

    นางสาวธรรัตน โอฬารหาญกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารยูโอบีมองว่าทักษะและความรู้ทางการเงินไม่ใช่แค่การออมเงิน แต่เป็นวิธีคิดในการบริหารและจัดการความเสี่ยงทางการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

    “ยิ่งเด็กเริ่มต้นเร็ว ก็จะมีรากฐานที่แข็งแกร่ง เพราะช่วงมัธยมเป็นวัยที่เหมาะกับการเรียนรู้ทางการเงิน ถ้าเขารู้ว่าจะใช้เงินอย่างไร พอโตขึ้นเขาจะเป็นผู้ใหญ่ที่มีวินัยทางการเงิน ความฉลาดทางการเงินช่วยลดปัญหาหนี้สินได้ ความรู้ทางการเงินเป็นของขวัญที่มีค่า และจะติดตัวเขาไปตลอดชีวิต” นางสาวธรรัตน กล่าว

    นางสาวธรรัตนกล่าวเสริมว่า ทุกวันนี้เด็กหลายคนไม่รู้ว่าสิ่งไหนจำเป็นหรือสิ่งไหนแค่ต้องการ ยิ่งกว่านั้นยังมีการหลอกลวงทางออนไลน์หรือวิธีต่างๆ ดังนั้น ความฉลาดทางการเงินจะไม่ทำให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

    “โรงเรียนในพื้นที่เปราะบางยังขาดโอกาสการเรียนรู้ทางการเงิน ก่อนเรียนหลักสูตรนี้ บางคนใช้เงินวันต่อวัน แต่พอเรียนแล้วเขาได้เปลี่ยนวิธีคิด…ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เชื่อว่าโอกาสเป็นเรื่องสำคัญ เราทำโครงการต่อเนื่องระยะยาว ตั้งแต่ UOB My Digital Space มาถึงหลักสูตรต่างๆ (วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ) ตลอดจนหลักสูตรการเงิน”

    “UOB Money Coach Junior Contest เป็นเวทีที่นำเสนอสิ่งที่เรียนรู้จากหลักสูตร ให้นำไปปรับใช้และส่งต่อชุมชน จนเขากลายเป็น change maker ผู้นำการเปลี่ยนแปลงในสังคม” นางสาวธรรัตน กล่าว

    นางสาวจันทร์ธิดา พัวรัตนอรุณกร รองผู้อำนวยการ ฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

    ปรับmindset สร้างภูมิคุ้มกัน

    นางสาวจันทร์ธิดา พัวรัตนอรุณกร รองผู้อำนวยการ ฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย มองว่า ความรู้ทางการเงินอาจไม่ทำให้เด็กรู้สึกว่ามีประโยชน์ต่อตัวเองในทันที แต่เป็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวและยั่งยืน เพราะในอนาคตเมื่อเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่จะสามารถตัดสินใจใช้เงินได้ว่าสิ่งไหนจำเป็นหรือต้องการ ยิ่งกว่านั้นถ้าเด็กทุกคนมีองค์ความรู้นี้จะทำให้เศรษฐกิจฐานรากแข็งแรง คนไม่เป็นหนี้จนเกินตัว

    “หลายคนเข้าใจว่าหนี้เป็นสิ่งผิด แต่ความจริงแล้วหนี้ไม่ใช่สิ่งผิด หากเราจัดการได้อย่างเหมาะสม”นางสาวจันทร์ธิดากล่าว

    นางสาวจันทร์ธิดา ยังกล่าวถึงบทบาทของเด็กที่ได้เรียนหลักสูตร ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้กับภัยต่างๆ ว่า “น้องๆ จะมีความรู้และสามารถบอกเรื่องภัยการเงินกับคนที่บ้านให้เริ่ม ‘เอ๊ะ’ เขาจะเป็นตัวแทนบอกคนในบ้านหรือคนใกล้ชิด เพราะพอเกิดเรื่องแล้วเรียกร้องเอาคืนเงินยาก ให้เอ๊ะตื่นตระหนกไปก่อน ได้เงินช้าดีกว่าเสียเงินเร็ว”

    นางสาวจันทร์ธิดากล่าวย้ำว่า เรื่องการเงินอยู่กับเราตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต และถ้ามีองค์ความรู้แล้ว ให้ศึกษาไปเรื่อยๆ มันจะเพิ่มความรู้ใหม่ๆ ได้

    นางสาวกนกวรรณ โชว์ศรี ผู้อำนวยการโครงการร้อยพลังการศึกษา มูลนิธิยุวพัฒน์

    พื้นฐานการดำรงชีวิต

    นางสาวกนกวรรณ โชว์ศรี ผู้อำนวยการโครงการร้อยพลังการศึกษา มูลนิธิยุวพัฒน์ กล่าวว่า โครงการ “UOB Money Coach Junior Contest 2024” ไม่ใช่แค่การจัดการการเงินของคนมีเงินมากหรือน้อย เด็ก-ผู้ใหญ่ แต่เป็นเรื่องของทุกคน และสะท้อนให้เห็นถึงการต่อ ยอดความรู้ไปสู่การปฏิบัติ

    “เราไม่ได้มองว่าน้องๆ จำเป็นต้องไปเปลี่ยนแปลงฐานะทางบ้านหรือตนเองในทันที แต่มันเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต อยากให้เห็นถึงคุณค่าในระยะยาว วันหนึ่งที่เติบโตไป จะมีโอกาสมากขึ้น รวมถึงองค์ความรู้นี้ไม่หยุดนิ่ง น้องๆ สามารถพัฒนาและเรียนรู้ต่อไป”

    นางสาวกนกวรรณ ยังฝากข้อคิด 3 คำให้เด็กที่ได้เรียนในหลักสูตร โดยคำแรกคือ ‘ต่อยอด’ สิ่งที่ได้เรียนรู้ ถัดมาคือ ‘อย่าละทิ้ง’ โดยเฉพาะความพยายามและความรู้ที่ไม่ควรทำให้สูญเปล่า และสุดท้ายคือ ‘ขอบคุณ’ ที่สมัครเข้าร่วมโครงการ

    คุณครูสิริสมัย เผ็งผ่อง โรงเรียนเกล็ดลิ้นวิทยา

    เด็กสอนการเงินให้ครู-ผู้ปกครอง

    ด้านคุณครูสิริสมัย เผ็งผ่อง โรงเรียนเกล็ดลิ้นวิทยา บอกว่า ในฐานะครูแนะแนวมองว่าไม่อยากให้นักเรียนติดกับดักทางการเงิน และอยากให้นักเรียนบริหารจัดการตัวเองได้ ซึ่งทุกวันนี้เห็นได้ว่าครู ผู้ปกครองหรือคนในชุมชนประสบปัญหาหนี้อย่างมาก ดังนั้นความรู้ทางการเงินจะเข้ามาแก้ปัญหาในส่วนนี้ได้

    “ถามว่าครอบครัวไหนไม่มีหนี้ เด็กตอบทุกคนมีหนี้ หนี้แรกคือกองทุนหมู่บ้าน หนี้ที่สอง ธนาคาร ธ.ก.ส. เป็นหนี้ที่ชาวบ้านใช้หนี้ไม่หมด ถ้าเราให้พื้นฐานการเงินกับเด็ก ให้รู้ตั้งแต่การเก็บออม เงินที่ได้มาจะแบ่งใช้อย่างไรถึงจะพอใช้ในชีวิตประจําวัน ได้มาเท่านี้ ใช้เท่านี้ ไม่ใช่ได้มาเท่านี้ แต่ใช้จนหมดไม่มีเลย พอจําเป็นต้องใช้เกิดเหตุที่ไม่คาดฝัน ต้องเป็นกู้หนี้ยืมสิน” คุณครูสิริสมัย อธิบาย

    “แม้กระทั่งคุณครูในโรงเรียนที่มีดอกเบี้ยบัตรเครดิต บางครั้งยังไม่รู้ว่าจะใช้หนี้อย่างไร หลายคนมีปัญหาตรงนี้ แต่เด็กที่เรียนก็จะสามารถต่อยอดความรู้ให้กับคุณครูได้” คุณครูสิริสมัย กล่าว

    คุณครูวุฒิพงษ์ เทียมทอง โรงเรียนถ้ำปินวิทยาคม

    ขณะที่คุณครูวุฒิพงษ์ เทียมทอง โรงเรียนถ้ำปินวิทยาคม มองว่าความรู้ทางการเงินคือความยั่งยืนที่จะติดตัวเด็กไปตลอดผ่าน 4 ปัจจัย คือ (1) การนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริง (2) ต่อยอดให้ผู้ปกครอง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการเรียนรู้ (3) การคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพราะเมื่อได้ความรู้มาแล้ว ควรที่จะคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ให้เป็น และ (4) การมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน เป็นส่วนสําคัญที่จะทําให้เด็กมีแรงกระตุ้นในการเรียนรู้

    “ปัจจัยที่สําคัญที่สุดคือ การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เราต้องเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและตลอดชีวิต เพื่อให้เกิดความยั่งยืนติดตัวเด็กไปตลอดในอนาคต” คุณครูวุฒิพงษ์ กล่าว

    ต่อยอดบทเรียนจริง

    ส่วนมุมมองของนักเรียนอย่าง นายกันตพัฒน์ เกียรตินอก นักเรียนโรงเรียนเกล็ดลิ้นวิทยา ก็ได้นำความรู้ไปปรับใช้ได้จริง จากเดิมที่เงินไม่พอใช้ แต่เมื่อมีออมเงินและนำไปต่อยอดการลงทุนผ่านการขายกรอบรูปปัจฉิม ทำให้มีรายได้มากขึ้น

    นายกันตพัฒน์ กล่าวต่อว่า จากนี้จะนำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ให้กับเพื่อนๆ พี่ๆ และน้องในโรงเรียน และใช้ตำแหน่งประธานนักเรียนเป็นกระบอกเสียงในการสื่อสารให้ดียิ่งขึ้น

    สุดท้าย นายวรปรัชญ์ ผือเขียน นักเรียนโรงเรียนถ้ำปินวิทยาคม กล่าวถึงสิ่งที่ได้จาก UOB Money Coach Junior Contest 2024 ว่า ความรู้ด้านการเงินไม่ได้อยู่ในห้องเรียน นักเรียนที่เรียนหลักสูตรนี้จะได้มุมมองต่างๆ เช่น การลงทุน สินเชื่อ ดอกเบี้ย รวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่ควรรู้ในชีวิตประจําวัน

    “เพื่อนๆ มีความสนใจในเรื่องของการเงินมากขึ้น เช่น การออมเงินในห้อง จะมีการแบ่งสันปันส่วนไปเลยว่า กิจกรรมนี้จัดบอร์ด เราก็จะแบ่งไปงบส่วนนี้ไปเลย” นายวรปรัชญ์กล่าว

    นายวรปรัชญ์กล่าวว่า “การแข่งขั้นครั้งนี้เราได้รับรางวัลชนะเลิศ ดังนั้นจะทำอย่างไรให้โรงเรียนของเราได้รางวัลอีก เราสามารถต่อยอดโดยปั้นรุ่นต่อๆ ให้เข้าการแข่งขัน เพื่อสืบทอดความรู้ไปเรื่อยๆ”