ThaiPublica > Native Ad > ความสำเร็จ ‘UOB My Digital Space’ เสียงจากภาคีเครือข่าย สู่เป้าหมายการศึกษาแห่งศตวรรษที่ 21

ความสำเร็จ ‘UOB My Digital Space’ เสียงจากภาคีเครือข่าย สู่เป้าหมายการศึกษาแห่งศตวรรษที่ 21

4 มีนาคม 2024


ประเทศไทยมีนักเรียนกว่า 7 ล้านคน ในจำนวนนี้มีนักเรียนยากจนพิเศษ ซึ่งขาดโอกาสและเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาถึง 1.8 ล้านคน นี่เป็นปัญหาที่ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ตั้งโจทย์ว่า สถาบันการเงินจะมีส่วนช่วยลดช่องว่างทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมส่งเสริมทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคตแก่เด็กนักเรียนที่ขาดโอกาส โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลได้อย่างไร

ในปี 2564 โครงการ UOB My Digital Space (MDS) จึงจัดตั้งขึ้น โดยเริ่มจากวิชาการเงินผ่านหลักสูตร การเงินออนไลน์ UOB Money 101: Teen Edition ร่วมกับพันธมิตรอย่างโครงการร้อยพลังการศึกษา มูลนิธิยุวพัฒน์ ก่อนจะต่อยอดไปสู่ห้องเรียนดิจิทัล ในปี 2565 ด้วยการมอบเครื่องมือการเรียนรู้ และสื่อดิจิทัลใน 3 วิชาหลัก วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ เพื่อสนับสนุนโอกาสทางการศึกษาของนักเรียนที่ขาดโอกาสในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งได้ส่งมอบห้องเรียนดิจิทัลให้กับ 3 โรงเรียน มีนักเรียนได้รับประโยชน์กว่า 2,000 คน

MDS ยังเป็นโครงการที่สร้างการมีส่วนร่วมตั้งแต่ระดับผู้บริหาร พนักงาน คู่ค้า และลูกค้า ผ่านกิจกรรมระดมทุนและสร้างความร่วมมือผ่านกิจกรรมงานเดิน/วิ่ง

โดยในปี 2566 สามารถระดมทุนได้ 4,000,000 บาท และนำเงินทั้งหมดไปสร้างห้องเรียน UOB My Digital Space พร้อมสนับสนุนหลักสูตรดิจิทัล เพิ่มเติมให้อีก 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนบ่อพลอยรัชดาภิเษก จังหวัดกาญจนบุรี โรงเรียนปากแพรกวิทยาคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี และโรงเรียนบ้านทุ่งมน จังหวัดขอนแก่น โดยมีนักเรียนได้รับประโยชน์อีกกว่า 1,900 คน

ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปี 2567 โครงการ MDS ได้ลงพื้นที่ตามโรงเรียนต่าง ๆ และทำกิจกรรมเพ้นท์ผนังห้อง ติดสติ๊กเกอร์ และตกแต่งห้องเพิ่มเติม รวมถึงกิจกรรมส่งมอบห้องเรียนดิจิทัลอีก 3 โรงเรียนข้างต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนของคุณครูและนักเรียน

  • ‘UOB My Digital Space’ โครงการสร้างเด็กไทยสู่ยุค ‘ดิจิทัล’ ประสาน ‘พนักงาน-คู่ค้า-พันธมิตร’ ร่วมกันแบ่งปันยกระดับการศึกษา
  • คุณครู-นักเรียน ยืนยัน ‘โครงการ MDS UOB’ ตอบโจทย์การเข้าถึง ‘โอกาส-ลดความเหลื่อมล้ำ’ รู้เท่าทันดิจิทัล
  • นางสาวธรรัตน โอฬารหาญกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย

    3 ปี ‘UOB My Digital Space’ สร้างโอกาสเด็กกว่า 5,500 คน

    นางสาวธรรัตน โอฬารหาญกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า แม้เด็กไทยส่วนใหญ่จะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ แต่ยังมีเด็กจำนวนมากที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และไม่ได้รับการศึกษาผ่านเทคโนโลยี ดังนั้นโครงการ MDS จึงเข้ามาเติมเต็มโอกาส ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในการทำเพื่อสังคม

    “เรามองไปที่การมีส่วนร่วมของพนักงานในองค์กร เงินทุนส่วนหนึ่งมาจากการบริจาควิ่งระดมทุน ก็พยายามชักชวนให้ช่วยกันให้ได้มากที่สุด ทำให้แต่ละปีได้มากน้อยไม่เท่ากัน สุดท้ายการที่เขารู้สึกได้ช่วยเหลือคนอื่นและสังคม เขาจะรู้สึกมีความหมาย ตื่นขึ้นมาแล้วไม่ได้ทำแค่ตัวฉัน เป็นเป้าหมายที่อยากให้พนักงานเห็นประโยชน์แบบนี้ไปด้วยกัน”

    ตลอด 3 ปีของโครงการ UOB My Digital Space มีนักเรียนได้รับประโยชน์กว่า 5,500 คน ผ่านหลักสูตรการเงินออนไลน์ UOB Money 101: Teen Edition การมอบห้องคอมพิวเตอร์ My Digital Space (หลักสูตรดิจิทัล 3 วิชา คือ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ) การจัดให้มีครูอาสาจากโครงการ Teach for Thailand จำนวน 2 คนเข้าไปทำงานในโรงเรียน ตลอดจนการพัฒนาครูแนะแนวโดย a-chieve

    พันธมิตรสำคัญอย่างโครงการร้อยพลังการศึกษา นำโดยนางสาวกนกวรรณ โชว์ศรี ผู้อำนวยการโครงการร้อยพลังการศึกษา มูลนิธิยุวพัฒน์ กล่าวถึงการคัดเลือกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ MDS ว่า โรงเรียนที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ต้องได้รับการพิจารณาตามเกณฑ์การคัดเลือก 2 เงื่อนไขสำคัญ คือ (1) เป็นโรงเรียนที่ขาดแคลนอุปกรณ์ แต่มีความต้องการและความพร้อมในการติดตั้งเครื่องมือ และ (2) ผู้บริหารและครูต้องมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเด็กและพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน

    เมื่อโรงเรียนดำเนินการจัดการเรียนการสอนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โครงการ MDS จะมีการประเมินผลลัพธ์การใช้งานโปรแกรมประจำปีของคุณครูและนักเรียนให้ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน

    “สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาแย่ลง เพราะจำนวนเด็กเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะรู้สึกเรียนตามเพื่อนไม่ทัน ดังนั้น การมีครูจาก Teach for Thailand จะช่วยให้เด็กมีได้เรียนแบบ active learning ส่วนเครื่องมือ a-chieve ก็ทำให้เด็กค้นพบเส้นทางของตัวเองอีกด้วย” นางสาวกนกวรรณ กล่าว

    โครงการ MDS จึงได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะโครงการร้อยพลังการศึกษา ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักในการรวบรวม ‘ภาคีเครือข่าย’ และเป็นผู้ขับเคลื่อนความสำเร็จในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

    ภาคีเครือข่าย เติมเต็ม “โอกาส”

    อีกหนึ่งพันธมิตรสำคัญคือ Teach for Thailand นำโดยนายธนิต แคล้วโยธา ผู้จัดการส่วนภูมิภาค (ภาคกลาง) มูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ให้ข้อมูลว่า มูลนิธิ Teach For Thailand มีเป้าหมายในการสร้างเครือข่ายผู้นำผ่านโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยจะส่งครูไปยังโรงเรียนต่างๆ ประมาณ 100 คนต่อปี ครอบคลุม 50 โรงเรียน ใน 15 จังหวัด

    ต่อมาปี 2566 ธนาคารยูโอบีเข้ามาให้การสนับสนุนมูลนิธิ Teach For Thailand ผ่านการสนับสนุนโครงการร้อยพลังการศึกษา ทำให้โรงเรียนบ่อพลอยรัชดาภิเษกได้รับครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงจำนวน 2 คน ในวิชาคณิตศาสตร์และวิชาภาษาอังกฤษ

    นายธนิต กล่าวต่อว่า ผลจากที่ครู Teach for Thailand เข้าไปสอนได้ทำให้นักเรียนมีอัตราการเรียนรู้ที่ดีขึ้น ได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น และการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล ขณะที่นักเรียนก็มองว่าครูทำงานร่วมกับครูคนอื่นในโรงเรียนได้ ครูเป็นแบบอย่างที่ดี ครูสอนสนุก ไม่น่าเบื่อ และครูอธิบายสิ่งที่เข้าใจยากให้นักเรียนเข้าใจได้ง่าย

    “ครูจำเป็นต้องช่วยส่งเสริมให้นักเรียนมีทัศนคติที่ดีต่อการฝึกวินัยในตนเอง หรือหาเครื่องมือการสอนที่ลดปัญหาขัดขวางการเรียนในห้อง เช่น แบบฝึกหัดที่นักเรียนสามารถฝึกได้ด้วยตนเอง” นายธนิต กล่าว

    อย่างไรก็ตาม นักเรียนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นภาพในอนาคตว่าจะไปถึงเป้าหมายอย่างไร เช่น นักเรียนมีความฝันอยากเป็นนักบัญชี แต่นักเรียนจะบอกวิธีการไม่ได้ หรือถ้าที่บ้านมีปัญหาเรื่องการเงิน เขาจะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อจะทำให้ตนเองยังสามารถอยู่ในเส้นทางความฝันนั้นอยู่ โดยไม่ต้องหยุดความฝันและหลุดออกจากระบบการศึกษา

    ด้วยเหตุนี้ โครงการ MDS จึงมีภาคีเครือข่ายอย่าง a-Chieve โดย นายภูมิสิทธิ์ ศิระศุภฤกษ์ชัย ผู้ก่อตั้ง บริษัท อาชีฟ โซเชียลเอนเทอไพรส์ จำกัด กล่าวว่า a-chieve ได้เข้ามาพัฒนาครูแนะแนวให้มีความรู้และเครื่องมือในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับนักเรียน สามารถพูดคุยมาขอคำปรึกษาได้ และทำให้เด็กสามารถเข้าใช้แพลตฟอร์มในการเรียนรู้ ค้นพบความชอบ ความถนัด และเส้นทางการเรียนหรือการประกอบอาชีพที่เหมาะกับตัวเอง อีกทั้งยังมีการปรับหลักสูตร a-chieve ให้เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อให้เข้าถึงนักเรียนได้มากขึ้น เด็กสามารถล็อกอินเข้าไปศึกษาเพื่อให้ค้นพบตัวเองได้ด้วย

    นอกจากนี้ยังมีภาคีเครือข่ายอย่างบริษัท เอ็ดดูเทค อินโนเวชั่น จำกัด หรือผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม Winner English สื่อการสอนวิชาภาษาอังกฤษ และบริษัท เลิร์น เอ็นดูเคชั่น จำกัด หรือผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม Learn Education สื่อการสอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ให้กับโรงเรียน

    นายประวิทย์ สิงห์เรือง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ่อพลอยรัชดาภิเษก จังหวัดกาญจนบุรี

    ห้องเรียนดิจิทัล ลดความเหลื่อมล้ำ

    ขณะที่โรงเรียนเข้าร่วมโครงการ UOB My Digital Space โดยนายประวิทย์ สิงห์เรือง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ่อพลอยรัชดาภิเษก จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า โรงเรียนได้รับการสนับสนุนโดยเฉพาะด้านสื่อการเรียนการสอน และอุปกรณ์การเรียนคอมพิวเตอร์ เพราะก่อนหน้านี้ จำนวนคอมพิวเตอร์ไม่เพียงพอต่อจำนวนเด็ก ทำให้บางครั้งคอมพิวเตอร์ 1 เครื่องจะมีเด็กใช้งานมากกว่า 1 คน

    นายประวิทย์ กล่าวถึงโปรแกรมวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษว่า หลังจากโรงเรียนได้รับโปรแกรมทำให้เด็กมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้นและรู้สึกมีความสุขกับการเรียน เพราะอยากใช้ห้องเรียนดิจิทัล ขณะเดียวกันโปรแกรมที่ออกแบบหลักสูตรอย่างดีทำให้คุณครูในโรงเรียนนำไปใช้สอนได้ดียิ่งขึ้นด้วย

    นายประวิทย์ กล่าวต่อว่า ครูจาก Teach For Thailand แม้ไม่ได้เรียนจบครูมาโดยตรง แต่โรงเรียนก็เคารพในศักยภาพ จึงส่งหนังสือไปที่คุรุสภาเพื่อทำเรื่องให้นำครู Teach for Thailand เข้ามาสอนในโรงเรียน

    “เด็กมองครูเหมือนเพื่อน พูดคุยได้ เขาเปิดใจ…ผมก็ได้เรียนรู้จากครู Teach for Thailand เช่น รู้ว่าเด็กต้องการอะไร ต้องจัดกิจกรรมไหม เราต้องปรับตัวเองให้เท่าทันกับเด็กและครูที่เข้ามาด้วย ครูจาก Teach for Thailand เป็นแบบอย่างในการทำงานที่ดี แม้จะเป็นคนรุ่นใหม่ แต่ก็สร้างแนวทางที่ดีได้” นายประวิทย์ กล่าว

    นายประวิทย์ ทิ้งท้ายว่า สถานการณ์การศึกษาไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง เห็นได้จากโรงเรียนต่างจังหวัด ซึ่งหลายครอบครัวไม่มีฐานะมากนัก แต่เมื่อมี โครงการ UOB My Digital Space ได้ช่วยแบ่งเบาภาระต่างๆ อีกทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพการเรียนการสอน และช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้