เสียงจากนักพยากรณ์ ถอดบทเรียนแล้วถอดอีก แต่ไม่เคยเรียนรู้ ปี2568 น่าจะไม่รอด น้ำคงท่วมเสียหาย ขณะที่ระบบพยากรณ์สถานีเรดาร์ 27 สถนี เสียหายไปแล้ว 11 สถานีใช้เวลา6-7 เดือนถึงจะซ่อมแซมได้

สัญญาณความแปรปรวนของปรากฎการณ์ใหญ่อย่าง “เอลนีโญ-ลานีญา” ซึ่งพบว่าในปี 2567 ข้อมูล “ลานีญา” กำลังจะบอกว่า ฤดูฝนปี 2568 จะมีฝนมากคล้ายๆกับปี2554 หรือใกล้เคียงกับปริมาณฝนในช่วงปี2565 และในปี 2568 ลานีญามีค่าความเป็นกลางทำให้มีฝนตกเยอะ และอากาศหนาวเย็น ลากยาวมาถึงปลายเดือนมกราคมและต้นกุมภาพันธ์ 2568 และเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568ที่ผ่านมา
“ลานีญา” จะส่งผลให้ช่วงเดือนเมษายน มีอากาศสูงสุดเกิน 40 องศาเซลเซียสในบางวัน แต่ไม่ร้อนต่อเนื่องตลอดทั้งเดือนเหมือนในปี2567 ที่ผ่านมา ขณะที่เดือนกุมภาพันธ์-เดือนมีนาคม จะเริ่มมีฝนปละพยุฤดูร้อนในบางพื้นที่ โดยในช่วง 2 สัปดาห์แรกเดือนมีนาคมเริ่มมีฝนสลับกับอากาศร้อน
“สัญญาณฝนปีนี้จะมาเร็ว และอาจจะเยอะ โดย “ลานีญา” แม้ว่าจะมีกำลังอ่อนแต่ก็ทำให้ฝนหนัก แต่จะการกระจายตัว ไม่กระจุกตัวและอาจจะมีพายุถี่ขึ้น ทำให้ปีนี้ต้องบริหารจัดการน้ำเพื่อให้มีการรับมือให้ดีขึ้น
“สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า” ได้มีโอกาสพูดคุยกับจากเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติทางด้านการจัดการทรัพยากรและเกี่ยวข้องกับการรับมือสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปว่า ปีนี้จะมีสัญญาณปริมาณน้ำมาก แต่สัญญาณในการเตรียมตัวและเตรียมรับมือสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้ายังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม
“คิดว่าปีนี้ไม่รอด ฝนเยอะ และน้ำคงท่วมและเสียหายอีกเหมือนเดิม”
“มีสัญญาณชัดว่าปีนี้ฝนเยอะและน้ำอาจจะท่วมอีก ซึ่งอาจจะไม่ใช่พื้นที่เดิม เหตุการณ์น้ำท่วมเชียงรายในปี2567 ที่ผ่านมามีบทเรียนแล้ว และทุกหน่วยงานก็ถอดบทเรียนกัน ถ้าเราปล่อยให้ท่วมอีก เราจะตอบสังคมยังไง”
เจ้าหน้าที่รายนี้ บอกว่า เหตการณ์น้ำท่วมเชียงราย ทุกหน่วยถอดบทเรียนแต่ไม่มีการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม และยังไม่มีแผนทางปฏิบัติออกมาอย่างชัดเจน !!! ซึ่งปี 2568 มีความเสี่ยงเรื่องการรับมือน้ำท่วมมากเช่นกัน
“ตราบใดที่เรายังไม่สามารถที่จะจัดระบบให้เป็นรูปธรรม และลงทุนในการยกระดับการพยากรณ์ เราก็ยังอยู่บนความเสี่ยง ปี 2568 หรือปีต่อไปก็จะปัญหาเดิมๆ น้ำท่วม ความเสียหายเหมือนเดิม”
“แล้วเราก็มาถอดบทเรียนแล้ว บทเรียนเล่า แต่ก็ไม่ทำอะไร หากปีนี้น้ำท่วมหนักอีก ยังพูดปัญหาเดิมๆ ในเรื่องการเตือนภัย เราคุยกันเรื่องเตือนภัยมานาน เราก็ยังคุยกันเหมือนเดิม พอถึงเวลาวิกฤติ ทุกหน่วยงานก็จะสับสนเหมือนเดิม”
เจ้าหน้าที่รายนี้บอกอีกว่า เราต้องคิดและทำแบบไหน ที่ทำให้เราทำงานและตัดสินใจง่าย ไม่ใช่พอเกิดเหตุการณ์ ก็สั่งระดมพลประชุม ต้องไปร่วมประชุมที่มีหลายคณะ และหลายประชุม ทำยังไงให้มีการประชุมคณะเดียว และมีข้อมูลพื้นที่ที่ดี ถูกต้อง และทุกคนเชื่อถือได้มาตัดสินใจร่วมกัน แล้วเมื่อคณะกรรมการชุดใหญ่ประชุมตัดสินใจ สั่งการไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบให้เป็นเอกภาพ ไปสู่ท้องพื้นที่ประสบภัย และประชาชนอย่างเป็นระบบไม่สับสน
“ปัญหาซ้ำๆคือ ข้อมูลที่ได้มา ต้องมีการกรองและมีการรับรองและเชื่อถือร่วมกัน แต่ปัจจุบันไม่แน่ใจว่าการทำงานแบบนี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ในประเทศไทย เพราะถ้าการทำงาน เป็นแบบนี้ เวลาวิกฤติก็ต้องระดมพล ประชุมทุกหน่วยงาน ประชุม…ประชุม จนประชุมไม่ไหว”
ขาดการบูรณาการข้อมูล-เตือนภัย
มาตรการป้องกันสาธารณภัยจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีการบูรณาข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ มีการวิเคราะห์กลั่นกรองด้วยมาตรฐานเดียวกันจนเป็นข้อมูลตั้งต้นที่ทุกหน่วยงานนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดต่อ แต่เรื่องนี้ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย
แม้ที่ผ่านมาจะมีการตั้ง “คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ” มี 52 หน่วยงานที่มาร่วมกันแชร์ข้อมูล ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช) กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน กรมอุทุกศาสตร์ เป็นต้น แต่ข้อมูลมีมาตรฐานการเก็บที่แตกต่างกันทำให้การนำไปใช้ข้อมูลต่อยังไม่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง
“ปัญหาคือเวลาติดตั้งสถานีวัดการพยากรณ์ ไม่มีหน่วยงานที่จะเป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งคำว่ามาตรฐานคือใช้วิธีการเดียวกัน ระบบเดียวกันในการตรวจวัด เป็นมาตรฐานเดียวกัน แล้วมันจะได้ข้อมูลในฐานเดียวกันทั้งหมด เพราะฉะนั้นข้อมูลที่ได้มาเราถือว่ามีมาตรฐานเดียวกัน ใช้ข้อมูลร่วมกัน แต่พอแต่ละหน่วยงานจัดเก็บกันเอง มาตรฐานก็ต่างกัน”
การจัดการข้อมูล ‘คลังข้อมูลชาติ’ ทั้ง 52 หน่วยงานจะต้องมาคุยกันเพื่อวางมาตรฐานการเก็บข้อมูลร่วมกัน รวมทั้งวางระบบตรวจสอบข้อมูลเพื่อป้องกันข้อมูลคลาดเคลื่อน เพื่อให้ข้อมูลทั้งหมดออกมาเป็นผืนเดียวกัน
ต้องทำให้มีมาตรฐานข้อมูลเดียวกันเพื่อความน่าเชื่อถือของข้อมูล เช่น การวัดปริมาณน้ำฝน ควรตั้งสถานีวัดแบบไหน อย่างเช่นที่ เกาหลีใต้ เขาทำมาตรฐานสถานีอัตโนมัติ เป็นมาตรฐานเดียวกัน ส่วนจีน ข้อมูลในฐานเบื้องต้นทั้งหมดเป็นระบบเดียวกัน และผ่านการตรวจสอบคัดกรองมาแล้วและมีมาตรฐานที่หน่วยอื่นจะนำไปใช้ต่อได้ โดยคัดข้อมูลที่คาดว่าจะไม่ถูกต้องออกไป ก่อนที่จะส่งต่อไปให้หน่วยงานอื่นๆใช้
“ข้อมูลพยากรณ์ของจีนต้องผ่านการกลั่นกรองตรวจสอบให้ดีที่สุด ให้ได้มาตรฐานที่สุด เช่นเดียวกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมไปถึงระบบซ่อมบำรุงเครื่องมืออุปกรณ์ในการตรวจวัดอย่างเป็นระบบ ถึงเวลาที่หน่วยงานพยากรณ์ของไทย ต้องพัฒนาศักยภาพเพื่อความมั่นใจว่าเรามีข้อมูลที่ถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง”
ตราบใดไทยยังไม่ยกระดับข้อมูลให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในระดับประเทศ มีความร่วมมือกัน เชื่อถือกันและทำงานร่วมกัน เราจะไม่สามารถแก้ปัญหาการพยากรณ์เพื่อการเตือนภัยล่วงหน้าได้
นอกจากนี้การบูรณาการเตือนภัยหลังจากปรับระบบข้อมูลพยากรณ์ก็ต้องเกิดขึ้น เนื่องจาก ที่ผ่านมาเมื่อมีวิกฤติ การเตือนภัย คือ บทเรียนที่จะต้องมาถอดทุกครั้ง โดยเฉพาะหน่วยงานที่ดูแลการเตือนภัยอย่างกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แม้จะมีอำนาจ แต่ไม่มีผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ระบบสั่งการวิเคราะห์ระบบตัดสินใจขึ้นอยู่กับหลายหน่วยงาน จนไม่สามารถตัดสินใจได้
ใช้มาตรการป้องกันแทนการเยียวยา แก้กฎหมายต้อง “พยากรณ์อย่างรับผิดชอบ”
การพยากรณ์จะมีความรับผิดชอบมากขึ้น หากมีการแก้ไขกฎหมายให้การพยากรณ์มีความรับผิดชอบ หากมีการพยากรณ์ผิดพลาด กรณีประเทศเกาหลีใต้ เจ้าหน้าที่เกาหลีใต้ ทำงานพยากรณ์อย่างเข้มข้นเพื่อให้การพยากรณ์แมนยำที่สุด เพราะหากพยากรณ์ผิดพลาด มีความเสียหายเกิดขึ้น นั่นหมายถึงเจ้าหน้าที่จะต้องรับผิดชอบความเสียหายดังกล่าว
แต่อย่างไรก็ตาม หากต้องการยกระดับการพยากรณ์ให้แม่นยำ จำเป็นต้องสนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์ เทคโนโลยี และปรับกลไกการทำงานเพื่อให้นักพยากรณ์ทำงานได้อย่างเต็มที่และต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น จะทำให้การพยากรณ์แม่นยำและเข้มข้นขึ้น
สำหรับงานพยากรณ์อากาศของไทยต้องปรับปรุงครั้งใหญ่ในทุกด้าน ทั้งงบประมาณ เครื่องมือ เทคโนโลยี่ หากยังไม่เปลี่ยน ก็จะไปไม่รอด จะเกิดภัยพิบัติซ้ำซาก เดิมๆ ทั้งนี้หากมีการตัดสรรงบประมาณ แทนที่จะใช้ไปกับการเยียวยา แต่ถ้าสามารถนำมาใช้เพื่อลงทุนในอุปกรณ์ เครื่องมือ พัฒนาคน เพื่อความแม่นยำในการวิเคราะห์และคาดการณ์ ก็สามารถป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในทรัพย์สินและชีวิตได้ ซึ่งอาจจะใช้เงินน้อยกว่าการเยียวยา
ปัจจุบันการลงทุนในเรื่องอุปกรณ์ และเทคโนโลยีในการพยากรณ์ ยังไม่เกิดขึ้น เพราะขั้นตอนการเปลี่ยนอุปกรณ์ หรือเทคโนโลยีตามระเบียบราชการค่อนข้างยุ่งยาก แตกต่างจากหลายประเทศ เช่น จีน มีคลังเก็บอุปกรณ์สำรอง และ เทคโนโลยีบางตัวเขาผลิตเอง ถ้ามีเครื่องมือเสียหายสามารถหยิบมาเปลี่ยนได้เลย แต่ในไทยถ้าอุปกรณ์พังเสียหาย ไม่มีคลังสำรอง ต้องทำเรื่องเบิกใช้เวลานาน 6-7 เดือน เนื่องจากระเบียบจัดซื้อจัดจ้างไม่สามารถตั้งงบสำรองซื้ออุปกรณ์เอาไว้เผื่ออุปกรณ์พังเสียหาย
ปัจจุบัน สถานีตรวจวัดอากาศของไทยมีสถานีเรดาร์ทั้งหมด 27 สถานี แต่เสียหายต้องการซ่อมบำรุง 11 สถานี ซึ่งถือว่าเกือบครึ่งของสถานีเรดาร์ซึ่งมีความสำคัญมากเนื่องจากเป็นสถานีเรียลไทม์ ที่ใช้ติดตามข้อมูลกลุ่มเมฆ กลุ่มฝน ดังนั้นข้อมูลการพยากรณ์จึงไม่สมบูรณ์
ส่วนสถานีวัดอากาศของไทยมีทั้งหมด 128 สถานี ซึ่งยังไม่เพียงพอเพราะส่วนใหญ่เป็นสถานีประจำจังหวัด ไม่มีกระจายลงไปในพื้นที่ในระดับตำบล หรือหมู่บ้าน หรือพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ ทำให้การพยากรณ์เชิงลึกไม่เกิดขึ้นจริง
ขณะที่สถานีตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWS)อีก 188 สถานีก็ตั้งในจุดเดียวกับสถานีวัดอากาศ เนื่องจากต้องการเปลี่ยนถ่ายจากสถานีวัดอากาศจากการใช้คนตรวจสอบมาเป็นสถานีอัตโนมัติ ทำให้ข้อมูลตรวจอากาศยังไม่ได้กระจายจุดเต็มพื้นที่ทั่วประเทศ
“กรมอุตุนิยมโลกตองการข้อมูลตรวจวัดทุกชั่วโมง ซึ่งสถานีวัดอากาศของกรมอุตุฯใช้คนตรวจวัด บางสถานีอายุเป็น 100 ปี ขณะที่การตั้งสถานีอัตโนมัติ 188 สถานี ยังเป็นจุดเดิม คาดว่าในปี2569 -2570 จะมีสถานีตรวจวัดเพิ่มอีก 43 สถานี
“สิ่งที่น่าเสียดายคือโครงการติดตั้งสถานีวัดระดับตำบล 1,105 แห่ง งบประมณ 615 ล้านบาท ไม่ได้รับการอนุมัติ ซึ่งหากสามารถติดตั้งสถานีระดับตำบลได้จะช่วยเราจะทำงานได้ดีมากขึ้น พยากรณ์อากาศที่ลงลึกแต่ละพื้นที่ได้แม่นยำมากขึ้น”
นอกจากนี้จำเป็นต้องลงทุนระบบเทคโนโลยีและบุคลากรทั้งหมดเพื่อรับมือกับโลกใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป ต้องมีเทคโนโลยีเอไอและซูเปอร์คอมพิวเตอร์เพื่อช่วยการคำนวณ
ปัจจุบันการพยากรณ์จะมองภาพรวมประเทศคงไม่เหมาะแล้ว ต้องลงไปในระดับพื้นที่จังหวัด ระดับตำบล ระดับหมู่บ้าน หรือเจาะลึกในประเด็นต่างๆ เช่น การวิเคราะห์เฉพาะด้านกลุ่มปัญหา อาจจะต้องมีข้อมูลพยากรณ์เฉพาะพื้นที่ เฉพาะพืช ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้ข้อมูลทั้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคต เพื่อวางแผน เพราะข้อมูลอุตุนิยมมีผลกระทบต่อการวางแผนของพี่น้องเกษตรกรค่อนข้างมาก หรือปัญหาโลกร้อน การพยากรณ์ดังกล่าว อาจต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ การพัฒนาคน เพื่อให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงของภาวะโลก
สำหรับกรมอุตุฯได้งบประมาณหนึ่งพันล้านบาทต่อปี แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายประจำ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็เหลืองบลงทุนอยู่เพียง 100 ล้าน ทำให้ลงทุนเครื่องมือหรือเทคโนโลยีใหม่ๆเป็นไปได้ยาก
นี่คืออุปสรรคในการยกระดับการพยากรณ์ให้ทันกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก
ขณะที่การพยากรณ์ของญี่ปุ่น จีนเกาหลีใต้ มีการพยากรณ์เฉพาะพื้นที่แตกต่างกัน เช่น พื้นที่เสี่ยงภัยสูงก็จะมีระบบพยากรณ์ฉพาะ หรือการพยากรณ์เพื่อการเกษตร การท่องเที่ยว ที่มีรายละเอียดในแต่ละประเด็นที่แตกต่างกัน ซึ่งการจะพยากรณ์ได้ขนาดนั้นต้องมีสถานีตรวจวัดจำนวนมาก ซึ่งหากเทียบสถานีตรวจวัดของทั้ง 3 ประเทศ มีความถี่มาก
อย่างไรก็ตามเพื่อให้การวิเคราะห์ข้อมูลแม่นยำมากขึ้น กรมอุตุนิยมเตรียมจัดซื้อข้อมูลจากดาวเทียวของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นข้อมูลดาวเทียมที่มีความละเอียดสูงมาช่วยในการพยากรณ์ให้มีความแม่นยำเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ทำให้การพยากรณ์เฉพาะพื้นที่ทำได้ดีขึ้น
ดังนั้นงานพยากรณ์อากาศ และงานเตือนภัยของไทยต้องปรับปรุงครั้งใหญ่ในทุกด้าน และถือเป็นท้าทายของทุกหน่วยงานพยากรณ์ ที่ไม่สามารถจะหยุดนิ่งได้ และเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการพยากรณ์ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับมาตรการป้องกันชีวิตและทรัพย์สิน แทนการเยียวยาหลังเกิดเหตุการณ์