“ประเทศไทยจัดการภัยพิบัติ ล้มเหลวโดยสิ้นเชิงมาทุกยุคทุกสมัย”
คำกล่าวของ ‘ไมตรี จงไกรจักร์’ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไทและเอ็นจีโอผู้คร่ำหวอดด้านเครือข่ายองค์กรชุมชน สะท้อนการบริหารจัดการสถานการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมเชียงรายในปี 2567 รวมถึงภัยพิบัติใหญ่ๆ อย่างน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 และภัยพิบัติอื่นๆที่ไม่เป็นข่าวครึกโครม
นายไมตรี กล่าวว่า ภัยพิบัติเกือบ 100% ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ใช่แค่เป็นเรื่องภัยธรรมชาติ อำนาจ งบประมาณ การเยียวยา ฟื้นฟูและความเสียหาย แต่ปัญหาสำคัญอยู่ที่การบริหารจัดการ แม้กฎหมายให้อำนาจการบริหารอย่างชัดเจนกับคนที่เกี่ยวข้อง
แต่ในทางความเป็นจริง คนของรัฐ (ท้องถิ่น จังหวัด ส่วนกลาง รัฐบาล) มักปฏิบัติแบบ ‘ไม่รู้’ และ ‘ทำงานไม่เป็น’ ทำให้เกิดความเสียหายตามมา และไม่เคยถอดบทเรียนอย่างจริงจัง
อำนาจ ‘สาธารณภัย’ จากท้องถิ่น ถึงนายกฯ
นายไมตรี กล่าวว่า หลายคนคิดว่าปัญหาเรื่องภัยพิบัติในประเทศไทย ส่วนหนึ่งมาจากสาเหตุที่ประเทศไทยไม่เคยมีศูนย์บัญชาการบริหารความเสี่ยงในลักษณะ Single Command ที่ดูแลเรื่องภัยพิบัติโดยตรง ซึ่งเรื่องนี้ “ไม่รู้” เพราะใน พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเภาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ได้กำหนดอำนาจและขอบเขตไว้ชัดเจนเมื่อเกิดภัยพิบัติ โดยเฉพาะการให้อำนาจการตัดสินใจกับท้องถิ่น
- มาตรา 20 ระบุว่า ให้องค์กรปกครองท้องถิ่นแห่งพื้นที่มีหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตท้องถิ่นของตน
- มาตรา 20 วรรคสอง ระบุว่า ให้ผู้อำนาจการท้องถิ่นมีอำนาจสั่งการ ควบคุม และกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานและอาสาสมัคร
ส่วนอำนาจของท้องถิ่นได้ระบุไว้ใน มาตรา 21 มีอำนาจในสั่งการดังนี้
พร้อมย้ำว่า “ในพ.ร.บ.ระบุงบประมาณให้ในทุกระดับ จังหวัดละ 20 ล้าน ระดับกรม 50 ล้าน และไม่ได้หมายความว่าให้แค่ 20 ล้านแล้วจบ ถ้าไม่พอขอเพิ่มได้ บางจังหวัดใช้ไป 200 ล้านก็มี มีทั้งงบ ทั้งอํานาจ สั่งใช้คนได้ทุกหน่วยในภาวะวิกฤติ เช่น สั่งขอใช้รถแมคโคร สั่งใช้หน่วยงาน อาสาสมัคร สั่งได้หมด ใครขัดคําสั่ง ติดคุก อํานาจเต็มมาก…โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทําหน้าที่ประสานอํานาจทั้งหมดตามกฎหมาย”
“ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องไม่มีอํานาจ แต่บริหารและใช้อํานาจไม่เป็นตามกฎหมาย ไร้ประสิทธิภาพ ทําให้ล้มเหลวทุกภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ขนาดผู้บริหารยังไม่อ่านกฎหมาย ไม่รู้ว่าตัวเองมีหน้าที่อะไร…มันมีแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับชาติ ผู้บริหารทุกระดับไม่มีสิทธิ์ที่จะบอกว่า “ไม่รู้” ยิ่งผู้บัญชาการ ถ้าไม่รู้ ยิ่งไปกันใหญ่”
นายไมตรี เสริมว่า กฎหมายยังระบุว่า หากภัยพิบัตินั้นเกินกำลังของท้องถิ่น สามารถขอความช่วยเหลือไปเป็นลำดับขั้นได้ ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ซึ่งกรณีที่เป็น ‘สาธารณภัยร้ายแรง’ นายกฯ รองนายกฯ หรือคนที่นายกฯ มอบหมายมีอำนาจในการบริหารสถานการณ์ทันที
แต่เมื่อเกิดอุทกภัยจากภาคเหนือในปีนี้ สิ่งที่รัฐบาลทำคือ จัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) และศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ผ่านอำนาจนายกฯ ตาม พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ทำให้มีอำนาจการบริหารไม่เต็ม
“คุณตั้งด้วยอํานาจบริหาร มันก็จะติดขัด เรียกว่าบริหารอํานาจไม่เป็น ถ้าอำนาจตามกฎหมายของ ปภ. คุณจะดําเนินการตามกฎหมายได้ทุกตัวอักษร”
“การเมืองมันชอบเอาหน้า คิดว่าตั้งขึ้นมา เพราะความสามารถและศักยภาพฉัน บางคนไม่มีประสบการณ์ด้านภัยพิบัติ แต่คุณมอบหมายให้ดูแลเรื่องใหญ่ขนาดนี้…ที่ผ่านมารัฐมนตรีเปลี่ยนบ่อย ผู้ว่าบางจังหวัดย้ายปีละสองคน มันจะรู้เรื่องไหม เพราะฉะนั้นผู้ที่จัดการได้คือท้องถิ่นและชุมชน”
“ผมเสนอให้รัฐมนตรีเชิญคนที่มีประสบการณ์ทั้งหมดมานั่งประชุม พูดคุย ประชุมหาทางออกกัน รัฐบาลควรใช้ผู้เชี่ยวชาญในประเทศนี้ให้เป็นประโยชน์ ในต่างประเทศเขาจะค้นหาคนเชี่ยวชาญมาให้ได้ เอาคอปเตอร์ไปรับมาจากในบาร์ก็มี เอาคนพวกนี้มาทํางาน ตั้งวอร์รูม พอได้ผลสรุปก็ตั้งคนสั่งการ เพราะถ้าขาดซึ่งความรู้และข้อมูล จะทําให้ตัดสินใจผิดพลาด”
ปัจจัยพื้นฐานต้องมี “ข้าว 3 มื้อ-น้ำดื่มสะอาด-ถุงยังชีพ”
ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดลองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การช่วยเหลือผู้ประสบภัย เช่น
- ค่าอาหารเลี้ยง วันละไม่เกิน 3 มื้อ มื้อละไม่เกิน 50 บาทต่อคน
- ค่าถุงยังชีพ ชุดละไม่เกิน 700 บาทต่อครอบครัว
- ค่าน้ำสำหรับบริโภคและใช้สอย เท่าที่จ่ายจริง
- ค่าน้ำดื่มสำหรับครอบครัวที่ขาดแคลนน้ำสะอาด ครอบครัวละไม่เกิน 200 บาท
- ค่าเสียหายในการดำรงชีพเบื้องต้น ครอบครัวละไม่เกิน 3,800 บาท
- ค่าวัสดุซ่อมแซมที่อยู่อาศัยประจำ เท่าที่จ่ายจริง หลังละไม่เกิน 59,500 บาท กรณีเช่าที่อยู่อาศัย ครอบครัวละไม่เกิน 1,800 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 2 เดือน
- ค่าไฟฟ้า – ประปา รัฐจัดหาและจ่ายตามความเป็นจริง
- จัดสร้างหรือจัดหาห้องน้ำ ห้องส้วม 1 ที่ต่อ 10 คน ไม่เกิน 1,700 บาท
- จัดสร้างที่รองรับ ทำลาย หรือกำจัดขยะมูลฝอย เท่าที่จ่ายจริง
- ค่าเครื่องนุ่งห่ม กรณีที่จำเป็น ไม่เกิน 1,100 บาทต่อคน
- ค่าเครื่องมือประกอบอาชีพ ครอบครัวละไม่เกิน 11,400 บาท
- ค่าเครื่องครัวและอุปกรณ์ประกอบอาหาร กรณีเสียหายและไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้ ครอบครัวละไม่เกิน 3,500 บาท
- ค่าเครื่องนอน กรณีเสียหายและไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้ ครอบครัวละไม่เกิน 1,000 บาท
“ในระเบียบฯ เขียนว่าผู้ประสบภัยต้องได้กินอาหารวันละ 3 มื้อ มื้อละไม่ต่ำกว่า 50 บาท ความจริงถามว่ามีใครได้กินข้าว 3 มื้อบ้างในภาวะน้ำท่วม ไม่มี อย่างมากก็สองมื้อ บางทีแจกได้เฉพาะคนพื้นที่ข้างหน้า ด้านหลังอดข้าว มันไม่มีใครเข้าถึง”
“ถ้าผมเป็นนายกฯท้องถิ่น ผมจะรู้ว่าตําบลผมมีกี่ครอบครัว กี่หมู่บ้าน ถนนกี่เส้น รู้ว่าต้องเข้าไปถึงอย่างไร ฉะนั้น ระเบียบฯ หรือจังหวัดต้องอุดหนุนให้ท้องถิ่นจัดการครัวกลาง ดูแลคนให้ครบร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่น ท่วม 3 หมู่บ้าน ก็วิเคราะห์ว่า 3 หมู่บ้านนี้มีคนอดข้าวอยู่กี่คน แล้วตั้งครัวกลางผลิตอาหารให้พอ มีงบ 50 บาทอยู่แล้ว ท้องถิ่นสนับสนุนทรัพยากร หมู เป็ด ไก่ ข้าว แล้วแจกจ่ายกันกิน”
นายไมตรี เสริมว่า “ผมเคยทดลองมาแล้วที่พูด เวลาลงไปพื้นที่ ผมจะเริ่มให้ตั้งครัวก่อน สมัยน้ำท่วมภาคใต้ ผมเอาปลาไป 500 กิโลกรัม ชุมชนไหนพร้อมตั้งครัว ผมเอาปลาลงให้ 50 – 100 กิโลกรัม แล้วคุณทํากับข้าวกินกัน ทําแบบนี้ทุกที่ที่ผมลงไป”
“แต่รัฐบาลเขาไม่ทํา เพราะข้าวกล่องมันพิสูจน์ยาก ในอดีตเคยมีบางจังหวัดซื้อข้าวกล่อง 50 ล้าน คุณจะพิสูจน์ตรงไหน ผ่าพุงใครมาดูว่ากินข้าวไปกี่กล่อง แถมข้าวกล่องก็มีใบเสร็จ”
40,000 ชุมชนเสี่ยง คาด ปภ.ต้องใช้เวลา 2,000 ปีแก้ปัญหา
นายไมตรี ให้ข้อมูลว่า ในประเทศไทยมีชุมชนเสี่ยงภัยพิบัติมากกว่า 40,000 ชุมชน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ ปภ. เคยเผยแพร่ในเว็บไซต์ แต่ปัจจุบันได้นำออกไปแล้ว
นายไมตรี กล่าวต่อว่า ปัจจุบันรัฐบาลให้งบประมาณแก่ชุมชน สำหรับการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ สร้างการเรียนรู้ชุมชน หรือจัดทําแผนรับมือภัยพิบัติระดับชุมชน 20 ชุมชนต่อปี และบางทีให้แค่ 6 ชุมชน ดังนั้นหากรัฐบาลให้ 20 ชุมชนต่อปี เท่ากับว่าต้องใช้เวลา 2,000 ปี เพื่อให้ครอบคลุม 40,000 ชุมชนเสี่ยงภัย
“กว่าจะพร้อมรับมือภัยต้องใช้เวลา 2,000 ปี เราคงตายหมดประเทศนี้แล้ว แต่ถ้าให้ ปภ. ทำ 100 ชุมชนต่อปี ปภ.คุณทำไหวเหรอ ฉะนั้นต้องให้ท้องถิ่นมีหน้าที่ เขียนไปเลยภายใน 3 ปี ท้องถิ่นที่มีชุมชนเสี่ยง ต้องทําแผนรับมือภัยพิบัติแบบมีส่วนร่วมกับชุมชนให้ครบทุกหมู่บ้าน สมมติให้ตําบลละ 1 ล้าน ผมยืนยันว่าถ้ามีเงิน 1 ล้าน ทําได้ทุกกระบวนการในการให้ชุมชนรับมือภัยพิบัติ เพราะเชื่อว่าภัยพิบัติมีอีกแน่นอน เพราะถ้าให้ชุมชนทำแผนรับมือเอง จะเกิดความเสียหายน้อยลง”
“รํฐต้องเน้นแนวทางป้องกัน ดีกว่าต้องมาจ่ายค่าชดเชยภัยพิบัติทีละ 3,000 ล้านบาท 10,000 ล้านบาท 100,000 ล้าน…ดังนั้นถ้าเราไม่พลิกใหม่ กระจายอํานาจ ให้อํานาจและหน้าที่กับท้องถิ่น แล้วให้งบประมาณ ให้แนวทางและให้เขาทำไป อย่าให้เขาเติมคําในช่องว่าง ต้องให้ท้องถิ่นและชุมชนร่วมมือกัน เพราะท้องถิ่นอยู่ในพื้นที่ จะมีข้อมูลและรู้เรื่องดี แต่ไม่มีอํานาจและหน้าที่เต็มในการร้องงบประมาณ ซึ่งบางท้องถิ่นก็จนมาก”
ช่องโหว่ พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย -ไร้กลไก ‘ป้องกันภัยภิบัติ’
อย่างไรก็ตาม ใน พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ยังมีช่องโหว่เรื่อง ‘การป้องกัน’ แม้ชื่อกฎหมายจะมีคำว่าป้องกัน แต่ นายไมตรี บอกว่า ในกฎหมายไม่เขียนเรื่องป้องกัน
“กฏหมายเขียนเรื่องประกาศภัยพิบัติอย่างเดียว แต่ชื่อ ‘ป้องกัน‘ ปภ.จะมีอํานาจต่อเมื่อประกาศภัยพิบัติ คือเกิดเหตุแล้วถึงจะเริ่มดําเนินการ แต่เรื่องก่อนเกิดภัยพิบัติ เรื่องเตรียมการ ไม่มีในกฎหมาย”
นายไมตรี อธิบายว่า ประเด็นภัยพิบัติแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ (1) ช่วงก่อนเกิดเหตุ หรือขั้นป้องกัน (2) ช่วงเกิดภัยพิบัติ และ (3) ช่วงหลังความเสียหาย หรือบรรเทา เยียวยา ซึ่งรัฐบาลติดกระดุมผิดทุกเม็ด
“ถามว่าแก้อย่างไร คุณต้องเริ่มจากเตรียมการป้องกัน ถ้าลงทุนแค่หมื่นล้านทั่วประเทศ ใช้เวลา 3 ปี โดยให้ ‘ชุมชนและท้องถิ่น’ ทำ เริ่มจากประชุมชาวบ้าน ให้เข้าใจความเสี่ยงภัยมีอะไรบ้างที่จะเกิดขึ้นในหมู่บ้าน ใช้โจทย์จําลองเหตุการณ์และหารือกัน ถามเขาว่าถ้าน้ำท่วม 3 เมตร คุณจะไปอยู่ที่ไหน เขาจะวิเคราะห์ออกเลย วิ่งไปทางไหน อย่างไร ถ้าเกิดน้ำมาแล้วไปไม่ทันจะไปอย่างไร หรือการจัดตั้งศูนย์ต้องที่ไหน”
นายไมตรี เสริมว่า “ถ้าชุมชนต้องการเรือก็ผลิตเรือ อย่าซื้อให้ ชุมชนที่ผมเคยไปทํางานผมจะส่งเสริมให้สร้างเรือ ถ้าซื้อให้ มันเป็นเรืออบต.ไม่ใช่ของชุมชน แต่ถ้าซื้อวัสดุมาเป็นอุปกรณ์ ฝึกการต่อเรือ เรือก็จะเป็นของเขา ซ่อมเองได้ หรือต้องการคนที่มีความรู้ด้านพยาบาล ด้านจราจร ด้านเฝ้าระวัง ด้านกู้ภัย ด้านขับเรือ ก็ต้องเอาคนเหล่านี้มาฝึกด้วย ถ้าชาวบ้านมีเรือเป็นของตัวเอง ก็ไม่ต้องขออนุญาต อบต. และชาวบ้านรักเรือด้วย พอชํารุดก็ซ่อมเอง แต่เรือหลวงใช้ทิ้งใช้ขว้าง ไม่มีคนดูแล”
พร้อมให้หลักคิดว่า “ถ้าจะชวนชาวบ้านไปหาปลา อย่าชวนเขาแค่ตกปลา หรือคำว่า ‘นักการเมืองให้ปลา พระราชาให้เบ็ด’ มันไม่พอ แต่จงเล่าความลี้ลับของท้องทะเลให้ฟัง แล้วเขาก็จะตัดไม้ ไปต่อเรือ เราต้องอธิบายภัยพิบัติให้เขาตระหนัก เพราะฉะนั้นเรือต้องเป็นของคุณ”
จาก พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ที่ไม่ครอบคลุมด้านการป้องกัน ทำให้นายไมตรี ได้เสนอร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฉบับประชาชน พร้อมรายชื่อประชาชนจำนวน 11,745 คน ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 แต่ถูกตีตกไป ทั้งนี้หลักการสำคัญที่เพิ่มมา ได้แก่
- เพิ่มเติมนิยามคำว่า “ผู้ประสบภัย” ให้ครอบคลุมทุกคนในประเทศทั้งบุคคลที่มีสถานะทางทะเบียน และไม่มีสถานะทางทะเบียน รวมทั้งชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยและเป็นผู้ประสบภัย เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน เช่น ชาวเล ชาวเขา คนไทยพลัดถิ่น จะไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือของภาครัฐได้รวมถึงผู้ที่อาศัยอยู่บ้านเช่าด้วย
- เพิ่มเติมนิยามคำว่า “สาธารณภัย” ให้ครอบคลุมถึงการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นภัยพิบัติประเภทหนึ่ง เนื่องจากปัจจุบันการกัดเซาะชายฝั่งกำลังเป็นภัยพิบัติเงียบที่ยังไม่มีแนวทางกระบวนการแก้ปัญหาอย่างชัดเจน
- ปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ( ปภ.ช.) โดยเพิ่มองค์กรชุมชนและประชาชนผู้มีประสบการณ์จากการขับเคลื่อนงานส่งเสริมชุมชนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชี่ยวซาญ หรือมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการภัยพิบัติชุมชน และผู้แทนองค์กรภาคเอกชน ผู้มีประสบการณ์การส่งเสริมชุมชนในการจัดการภัยพิบัติ
- เพิ่มเติมอำนาจหน้าที่คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ในการส่งเสริมความรู้ชุมชนทั้งระดับจังหวัดไปจนถึงระดับตำบล ส่งเสริมสนับสนุนชุมชนในการจัดการภัยพิบัติ การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เสนอแนะมาตรการทางการเงิน การคลังหรือมาตรการอื่น ๆ ในการส่งเสริมชุมชนเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ
- เพิ่มอำนาจหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้มีอำนาจหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนชุมชนในการจัดการภัยพิบัติ การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
- เพิ่มเติมอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการจังหวัดในประกาศเขตภัยพิบัติในกรณีฉุกเฉินเพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ทันท่วงที
- ให้มีคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด (กปภ.จ.) โดยการมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ด้านการจัดการภัยพิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
- กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่ มีหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตท้องถิ่นของตนและมีหน้าที่และอำนาจ ตลอดทั้งมีอำนาจออกข้อบัญญัติท้องถิ่นว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตการปกครองของตน
- กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เกิดเหตุการณ์หรือคาดว่าจะเกิดสาธารณภัยขึ้น มีหน้าที่ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ และเข้าดำเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยโดยเร็ว
- ปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่งตั้งในการจัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานครโดยให้มีผู้แทนชุมชน ผู้แทนองค์กรภาคเอกชน ในเขตกรุงเทพมหานครตามจำนวนที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเห็นสมควรแต่งตั้งเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายสภาองค์กรชุมชน และเพื่อเป็นการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน
- กำหนดให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครภัยพิบัติชุมชน หรือบุคคลอื่นใดที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตามคำสั่งผู้อำนวยการ ให้ได้รับค่าตอบแทน เบี้ยเลี้ยง และสิทธิประโยชน์ต่างๆ
- กำหนดให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน มีอำนาจหน้าที่ในการสนับสนุนชุมชนและภาคประชาชนในการเตรียมความพร้อมการจัดการภัยพิบัติ การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ทำงานเอาหน้า การแจ้งเตือนถอยหลัง
ในเรื่องการวางแผนป้องกันภัยพิบัติ นายไมตรี กล่าวต่อว่า หน่วยงานรัฐจะต้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะสองหน่วยงานเจ้าภาพเรื่องน้ำอย่าง “สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ” (สทนช.) และ “กรมอุตุนิยมวิทยา” โดยต้องทำงานร่วมกัน 3 มิติ คือ (1) ส่งเสริมและเตรียมการป้องกันสร้างชุมชนรับมือภัยพิบัติ (2) บูรณาการระบบข้อมูลการจัดการน้ำทั้งประเทศ และ (3) การให้ข้อมูลต่อสาธารณะและแจ้งเตือนประชาชน
ปัจจุบันเมื่อประเทศไทยเกิดภัยพิบัติ หลายหน่วยงานไม่รู้ว่าตัวเองมีหน้าที่อะไร ส่งผลไปถึงการทำงานที่ซ้ำซ้อนหรือตกหล่นในหลายมิติ
“ผมคิดว่าต้องให้ สทนช. ทําเรื่องระบบน้ำบนดินทั้งหมด และเชื่อมโยงกับ 10 องค์กรภายใต้การกํากับ ส่วนเรื่องภัยก็ยกให้ ปภ. ไปเลย”
นายไมตรี กล่าวต่อว่า ในอดีตประเทศไทยมีองค์กรขนาดใหญ่คือ ‘ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ’ ซึ่งสังกัดสำนักนายกฯ โดยศูนย์นี้มีหน้าที่เตือนภัยให้ประชาชน ต่อมาศูนย์เตือนภัยพิบัติฯ ถูกลดขนาดให้เทียบเท่ากรม ภายใต้กระทรวงดิจิทัลฯ ปัจจุบันถูกลดลงมาเป็นกอง ภายใต้กรมปภ. ศูนย์เตือนภัยก็เลยเล็ก เวลาจะแจ้งเตือนภัยต้องขออนุญาตรองอธิบดีที่กํากับ อธิบดีต้องอนุมัติ ผ่านปลัดกระทรวง ผ่านรัฐมนตรี กว่าจะได้เตือนประชาชน เราก็ตายกันหมดแล้ว”
นอกจากนี้ นายไมตรี กล่าวต่อว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำไม่ประสานข้อมูลกัน ทำให้ไม่สามารถแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนทราบ ยิ่งกว่านั้นเมื่อการแจ้งเตือนเกิดขึ้น ข้อความ-สารที่ส่่งผ่านระบบเอสเอ็มเอสก็เข้าใจยาก ไม่ครอบคลุม และไม่ระบุรายละเอียดให้ชัดเจน
“ระบบมันแย่ ปล่อยปละละเลย ผมโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กบ่อยๆว่า ระบบเตือนภัยคุณ ไม่ถึงประชาชน สุดท้ายรัฐมนตรีดีอี ก็เลยพยายามหาวิธีส่งเอสเอ็มเอสถึงประชาชน แต่เขาอ้างว่าต้องใช้งบประมาณ เพราะส่งครั้งละ 25 สตางค์…หน่วยงานก็กั๊กข้อมูล คุณจะเอาหน้าคนเดียวไม่ได้ เพราะฉันเป็นคนมีข้อมูล ก็ให้ข้อมูลไม่ครบ สุดท้ายข้อมูลไม่มากพอที่จะเตือนประชาชน”
“ต้องให้ กสทช. ออกระเบียบ เขียนไว้เลยว่า เมื่อเกิดภัยพิบัติแจ้งเตือนประชาชนผ่านระบบเอสเอ็มเอส ใช้โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยประกาศเตือนประชาชนได้ สมมติจะเกิดน้ำท่วมเชียงใหม่ ให้ทุกช่องทีวีออกมาพูดว่า ขณะนี้น้ำจะขึ้นมาสูงเท่านี้ ในอําเภอนี้ ตำบลนี้ อธิบายให้ชัด ขอให้ประชาชนในพื้นที่อําเภอนี้อพยพ เอารถไปไว้ที่ไหนต้องบอกด้วย ไม่ใช่เอารถไปไว้ที่ปลอดภัย หรือให้อพยพคนออกไปสู่ที่ปลอดภัย ที่ไหน ต้องมีข้อมูลตอบได้”
นายไมตรี ยังเสนอระบบแจ้งเตือนแบบ Cell Broadcast และเมื่อประชาชนเข้าพื้นที่เสี่ยง เสาสัญญาณโทรศัพท์จะส่งข้อความไปถึงผู้ใช้โทรศัพท์ทุกเครื่องในพื้นที่ โดยไม่ต้องแจ้งเตือนผ่านการยิงเอสเอ็มเอสเป็นรายเบอร์
ปล่อย ปชช. เรียนรู้และอยู่ตามยถากรรม
นายไมตรี กล่าวต่อว่า การทำให้ประชาชนเรียนรู้ ปรับตัวและวางแผนป้องกัน เป็นเรื่องที่ประชาชนสามารถเริ่มได้ด้วยตัวเอง แต่ภาครัฐต้องเป็นคนชี้ทางให้ ไม่ว่าจะเป็น แนวทาง งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ ตลอดจนมอบอำนาจให้ประชาชนและท้องถิ่น
“ระบบภาครัฐต้องทำให้ประชาชนได้รับการส่งเสริม-เรียนรู้ ให้เตรียมตัวรับมือภัยพิบัติ ต้องเตรียมพร้อม แต่ราชการมักคิดว่าประชาชนต้องเก่งเอง…รัฐบาลพูดว่าประชาชนต้องเรียนรู้และมีความรู้ เหมือนประชาชนโง่ ไม่เรียนรู้สักที ใครมันจะมีความรู้เองได้ ”
“ผู้ใหญ่คนหนึ่งพูดว่า ประชาชนรู้มากไม่ได้ เดี๋ยวจะเกิดความวุ่นวาย สับสน ตื่นตระหนก กระต่ายตื่นตูม ส่งผลต่อระบบการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ สมมติประกาศให้ จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่เสี่ยงภัย นักท่องเที่ยวก็จะไม่ไป อย่างนี้มันคิดโง่ๆ ถ้าบอกว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย แต่เชียงใหม่ มีแผนรับมือที่ดี มีระบบแจ้งเตือน ฯลฯ ต่างประเทศจะรู้สึกว่า โห ดีจังเลย แต่นี่ ไม่ใช่ ผมรู้สึกว่าเขาดูถูกประชาชนมากไปหน่อย”
นายไมตรี กล่าวต่อว่า รัฐบาลต้องจริงจังกับเรื่องภัยพิบัติ หรือประกาศให้ผลักดันเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติก็ได้ และให้งบประมาณกับท้องถิ่นเพื่อให้เกิดชุมชนเข้มแข็ง ทว่า ทุกวันนี้รัฐบาลก็ให้เงินสนับสนุนเพียง 20 ชุมชนต่อปี ซึ่งเป็นการให้แล้วจบและเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่ถูกต้อง
“ราชการชอบให้งบประชุมครั้งเดียว แล้วคิดว่าเข้มแข็งแล้ว ไม่จริง ความเข้มแข็งมันต้องทํา วิเคราะห์ ทําแล้วทําอีก ระบบการเรียนรู้ของประชาชนไม่จําเป็นต้องสมบูรณ์แบบในครั้งเดียว ผิดก็ได้ ทดลองได้ วิธีนี้ไม่ได้ผล เขาจะคิดใหม่ ถ้าเขาเรียนรู้เอง มันจะอยู่กับเขานาน ถ้าบอกว่าประชาชนต้องทํา 1 2 3 4 5 ไม่มีทาง ความเข้มแข็งจะไม่เกิด”
“เวลาผมทำชุมชนเข้มแข็ง ใช้เวลาขั้นต่ำ 3 ปี ผมเป็นองค์กรเล็กๆ เงินก็ไม่ค่อยมี เวลาเราลงพื้นที่ก็ต้องไปจ่ายค่าข้าว ค่าเดินทาง เพราะคนที่มาเรียนรู้ เขาก็ยากจน เอาคนจนมานั่งทํางานส่วนรวม มันต้องมีทั้งค่าน้ำมัน ค่ารถ ค่าข้าว ให้เขาซื้อมากินเองมันไม่ได้…ประชาชนเขารู้ว่าต้องเรียนรู้ แต่รัฐบาลต้องคิดให้ได้ว่า ใครจะเป็นคนให้การเรียนรู้กับเขา”
นายไมตรี ทิ้งท้ายว่า รัฐบาลต้องกล้าตั้งทีม-วอร์รูม ให้งบประมาณ ให้ชุมชน-ท้องถิ่นหาทีม และทุกจังหวัด ต้องส่ง อบต. มาให้ ปภ. อบรมกระบวนการทํางานชุมชน จัดทําแผนระดับชุมชน เมื่ออบรมเสร็จก็ไปทํา แล้วสรุป เมื่อสรุปเสร็จก็กลับไปทํา ทําเสร็จแล้วสรุป เป็นกระบวนการเรียนรู้ซ้ำไปเรื่อยๆ