ความต้องการพลังงานไฟฟ้าสีเขียว พลังงานสะอาด เป็นโจทย์ของโลก เพื่อทุกคนจะได้ก้าวสู่ carbon neutrality และ net zero (การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์) หรือเข้าใกล้เป้าหมายได้มากที่สุด ปัจจุบันพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทางเลือกอื่นๆ ยังไม่มีเสถียรภาพและไม่สามารถทดแทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิลได้เพียงพอ ด้วยเทคโนโลยี่ทำให้ทางเลือกที่ถูกให้ต้องเลือกและดีที่สุดคือพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ด้วยการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อปิดจุดอ่อนที่คนกังวล วันนี้ดูเหมือนหลายประเทศมีความก้าวหน้าอย่างมาก โอกาสที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด มีโอกาสที่จะเข้ามาแทนที่เชื้อเพลิงจากฟอสซิล และมีความก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกได้หันมาให้ความสนใจในการสร้าง “โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก” หรือ small modular reactors (SMR) ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เกาหลี รวมถึงประเทศไทย โดยเชื่อว่า SMR จะเป็นหนึ่งในทางออกของพลังงานสะอาด ที่จะมาแทนโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลในอนาคต
‘ไทยพับลิก้า’ ได้พูดคุยกับ รศ. ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือ สทน.ได้ล่าเรื่องราวพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศไทยว่า
ไทยพับลิก้า : ประเทศไทยมีพลังงานนิวเคลียร์มาตั้งแต่เมื่อไหร่และเพื่ออะไร
ประเทศไทยเริ่มกิจกรรมทางด้านนิวเคลียร์มาตั้งแต่ประมาณปี 2497 เราได้มีการสร้างเครื่องปฏิกรณ์ สร้างเสร็จเดินเครื่องปี 2505 หลังจากเดินเครื่องก็มีสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) มี พ.ร.บ.นิวเคลียร์เกิดขึ้นเพื่อกำกับดูแลการใช้ประโยชน์
เครื่องปฏิกรณ์นี้เราใช้ประโยชน์ทุกด้าน ยกเว้นเรื่องของพลังงาน และการทหารเรื่องของอาวุธนิวเคลียร์ตัดออกไปเลย ส่วนเรื่องพลังงานเป็นการไปใช้ประโยชน์ในเชิงสันติที่ประเทศไทยยังไม่เคยได้ใช้
จุดประสงค์อย่างหนึ่งของการสร้างเครื่องปฏิกรณ์ก็คือ เป็นการเตรียมการเพื่อเข้าสู่การใช้พลังงานนิวเคลียร์ในการเป็นโรงไฟฟ้า หลังจากที่ได้มีการเดินเครื่องนี้ มีการฝึกอบรม มีการเตรียมการเรียนรู้ การกำกับดูแลต่างๆ ตอนนั้นประมาณปี 2015-2017 ได้มีการเตรียมการคัดเลือกพื้นที่ ที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งสรุปตอนนั้นจะสร้างที่อ่าวไผ่ จังหวัดชลบุรี
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปซื้อพื้นที่ มีการอนุมัติพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในเชิงวิศวกรรม เชิงเศรษฐศาสตร์ เพราะว่าอุตสาหกรรมเรากำลังจะเติบโต ได้มีการเตรียมแผนที่จะทำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ต่อมาเราก็มีการเจอก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ก็กลายเป็นโชติช่วงชัชวาลในช่วงนั้น นโยบายได้เปลี่ยนจากการจะพึ่งพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งทำให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าทางด้านเคมีภัณฑ์ เรื่องพลังงานต่างๆ
ไทยพับลิก้า : นิวเคลียร์ที่ไม่ใช้เพื่อพลังงานและการทหาร ใช้ทำอะไรบ้าง
เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เราใช้ประโยชน์ในเรื่องของการเกษตร อย่างเช่น การปรับปรุงพันธุ์ พันธุ์ข้าว พันธุ์อะไรทั้งหลาย สามารถที่จะใช้รังสีไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แล้วเราคัดเลือกอันที่เหมาะสมตามที่เราต้องการ ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ
เพราะว่าพืชทั้งหลาย เวลาจะมีการปรับปรุงพันธุ์ทางธรรมชาติ ส่วนใหญ่จะเกิดจากรังสีจากธรรมชาติ ซึ่งมีอยู่ทั่วไปหรือเป็นรังสีที่ได้รับจากดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่าการกลายพันธุ์ แล้วเราคัดเลือกพันธุ์ที่กลายพันธุ์ในแบบที่ดี แล้วก็เอามาใช้ แต่ของเราคือกระตุ้นด้วยรังสี เพื่อทำให้เกิดพันธุ์หลากหลายมากขึ้น เร็วมากขึ้น สามารถคัดเลือกได้ อันนี้ก็เป็นเป้าหมายช่วงแรกๆ
อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องของการผลิตสารเภสัชรังสี เอาไว้รักษามะเร็ง ไปตรวจมะเร็ง คนป่วยเป็นมะเร็ง ต้องมีการฉีดสารรังสีเข้าไปเพื่อที่จะรู้ว่ามะเร็งตัวนี้มีขนาดอะไรยังไง มีความแอคทีฟมากน้อยแค่ไหน จะบอกได้ ไปช่วยให้คุณหมอรู้สภาวะของมะเร็งเพื่อวางแผนการรักษาได้ แล้วอีกส่วนหนึ่งก็เอาสารพวกนี้มารักษามะเร็ง ฆ่ามะเร็ง
ส่วนที่สามคือใช้ในเรื่องการเปลี่ยนสีอัญมณี อัญมณีเดิมอาจจะมีสีที่ไม่ค่อยสวยหรือบางชนิดเป็นโทแพซจะไม่มีสีอะไรเลย เป็นสีใส เราเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินบ้าง สีแดงบ้าง หรือที่มีสีอยู่แล้ว ทำให้สีเข้มขึ้น สวยขึ้น ช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีให้กับประเทศ อันนี้เป็นหลักๆ ที่เราดำเนินการ
ยุคแรกๆ เรามีต้นกำเนิดรังสีปล่อยรังสีแกมมา เราใช้ในการช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหาร ฆ่าเชื้อ ฆ่าเชื้อเครื่องมือแพทย์ ฆ่าเชื้อในอาหาร แหนมเป็นตัวอย่างหนึ่ง เพราะว่าหลายคนชอบทานดิบ บางทีมีพยาธิ รังสีจะช่วยได้ เรามีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ใช้การฉายรังสี อย่างเช่นเรื่องของปูดอง เราใช้กรรมวิธีการฉายรังสี ซึ่งทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้น เราขยายไปสู่อาหารชนิดต่างๆ
ปัจจุบันเรามีความก้าวหน้ามากขึ้น แทนที่จะใช้ต้นกำเนิดรังสี เราเปลี่ยนเป็นเครื่องเร่งอนุภาค ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สะอาดมากขึ้น คือ ต้นกำเนิดรังสีพอใช้เสร็จแล้วมันเหลือเป็นกากที่เราต้องไปจัดเก็บ ต้องไปดูแลต่อไป แต่เครื่องเร่งอนุภาคไม่ต้องเลย คือปิดเปิดเหมือนทีวี เปิดก็มีรังสีออกมา พอใช้งานเสร็จเราปิด ไม่มีผลกระทบอะไร เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีความปลอดภัยมากขึ้น เรามีอยู่ที่รังสิตคลอง 5
กฟผ. ดูความก้าวหน้าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR ไห่หนาน ตัวอย่างเกาะพลังงานสะอาดปี 2030

ไทยพับลิก้า :ปัจจุบันตัวเครื่องปฏิกรณ์ยังทำประโยชน์อะไรได้หรือไม่
เครื่องปฏิกรณ์ปัจจุบันเรายังใช้ในงานการบริการต่างๆ อยู่ในระดับหนึ่ง น้อยกว่าเมื่อก่อน เพราะว่าเรามีประเด็นของแท่งเชื้อเพลิงซึ่งมีอยู่ค่อนข้างจำกัด เรายังให้บริการในเรื่องของอัญมณีอยู่บ้าง แล้วผลิตสารรังสีบางตัวที่มีความจำเป็น
แล้วจุดประสงค์ที่สำคัญอย่างหนึ่งตอนนี้คือเรื่องของการฝึกอบรมพัฒนากำลังคน มีนักศึกษาอย่างเช่นจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้านเกี่ยวกับวิศวกรรมนิวเคลียร์ เขาส่งนักศึกษามาที่นี่เพื่อที่จะเรียนรู้การเดินเครื่องปฏิกรณ์จริงๆ ฝึกเรื่องของความปลอดภัย การควบคุม ซึ่งเราทำงานร่วมกับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เน้นในเรื่องของการฝึกอบรม
ไทยพับลิก้า : อนาคตพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็กหรือ SMR กำลังจะมา จะเหมาะกับประเทศไทยหรือไม่
ต้องบอกว่าประเด็นของ SMR ที่เกิดขึ้น เป็นประเด็นที่ทั่วโลกจะต้องหาทางออกในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เราต้องหาพลังงานโดยเฉพาะไฟฟ้าจากทางใดทางหนึ่ง ที่ผ่านมาเราพึ่งพลังงานฟอสซิลเป็นหลัก ทั้งเรื่องของก๊าซ เรื่องของถ่านหิน เรื่องของน้ำมัน ซึ่งพวกนี้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพราะฉะนั้นเราได้พลังงานก็จริง แต่ว่ามีการปล่อยก๊าซ (CO2) ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อน
ถ้าเราจะหลีกเลี่ยงแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เราต้องหาพลังงานชนิดอื่นมาทดแทน เราใช้โซลาร์เซลล์ได้ ใช้พลังงานลมได้ ซึ่งเป็นเทรนด์ของทั่วโลกที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ประเทศไทยเองก็ใช้เพิ่มขึ้นอย่างมาก
แต่ว่าพลังงานเหล่านี้มีจุดอ่อน คือเป็นไปตามสภาวะแวดล้อม ลมบางช่วงมีบ้าง ไม่มีบ้าง แดดก็มีบ้าง ไม่มีบ้าง อย่างพลังงานแสงอาทิตย์ที่เราใช้กันอยู่ทั่วไป ประเทศไทยเจอปัญหาคือเราใช้ได้ประมาณ 20% เพราะว่ามีเมฆบ้าง มีฝนบ้าง มีกลางคืนบ้าง เพราะฉะนั้นจะสร้างความมั่นคงทางพลังงานไม่ได้ เป็นคำตอบที่ดี แต่ว่าต้องมีการผสมผสาน จะต้องมีโรงไฟฟ้าหลัก ซึ่งปกติโรงไฟฟ้าหลักทั่วไปก็ใช้จากฟอสซิล
เพราะฉะนั้น พลังงานนิวเคลียร์จะเป็นคำตอบอย่างหนึ่ง ไม่ใช่คำตอบเดียวนะครับ ที่เราเรียกกันว่าโรงไฟฟ้าฐาน ในอนาคตบางพื้นที่อาจจะมีพลังงานจากใต้ดินก็เป็นทางหนึ่ง แต่ประเทศไทยมีศักยภาพไม่เยอะมาก เพราะฉะนั้น พลังงานนิวเคลียร์น่าจะเป็นคำตอบอย่างหนึ่งสำหรับประเทศไทย แล้วก็สำหรับโลกอนาคตด้วย ได้มีความสนใจพลังงานนิวเคลียร์
แต่พลังงานนิวเคลียร์จะมีประเด็นที่หลายคนกังวล ประเด็นแรกคือเรื่องของอุบัติเหตุ ประเด็นที่สองก็คือเรื่องของกากกัมมันตรังสี ประเด็นที่สามคือเรื่องของเศรษฐศาสตร์ เรื่องของการลงทุน ซึ่งค่อนข้างสูง
คราวนี้เรื่อง SMR เข้ามาในจังหวะที่เทคโนโลยีมีความพร้อมมากขึ้น SMR ก็เลยเกิดขึ้นมา SMR มีขนาดเล็กลง ทำให้การลงทุนลดลง ทำให้มีการลงทุนคล่องตัวมากขึ้น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่โรงหนึ่งปัจจุบันราคาประมาณ 3 แสนล้านบาท บางชนิด 4 แสนล้านบาทก็มี จีนทำอาจจะถูกหน่อยในระดับ 2 แสนล้านบาท ซึ่งแพง เป็นการลงทุนที่เยอะ
ในขณะที่ SMR มีขนาดเล็กลง ลงทุนในระดับของหมื่นล้านบาท อาจจะ 5 หมื่นล้านบาท 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีความคล่องตัวในการลงทุนมากกว่า อันนี้เป็นเงื่อนไขในเชิงเศรษฐศาสตร์
ส่วนที่สองที่ SMR เกิดขึ้น ปัจจุบันวิวัฒนาการของความปลอดภัยของเทคโนโลยีนิวเคลียร์ต่างจากเมื่อก่อนมาก เวลาเราพูดถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เราก็ย้อนไปที่เชอร์โนบิลบ้าง ฟุกุชิมะบ้าง ทรีไมล์ไอส์แลนด์บ้าง แต่ทั้งหมดเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่สร้างเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว เป็นเทคโนโลยียุคเก่า ซึ่งปัจจุบันก็เอาข้อผิดพลาดของอะไรทั้งหลายมาผสมผสาน มาปรับปรุง ทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ปัจจุบัน ผมพูดภาพรวมทั้ง SMR และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ มีความปลอดภัยสูงมากต่างจากเดิม
ผมลองให้ท่านนึกง่ายๆ รถมอเตอร์ไซค์เมื่อตอนผมเด็กๆ เราจะมีมอเตอร์ไซค์รุ่นหนึ่ง RC80 รุ่นยอดฮิตเลย ความปลอดภัยเมื่อเทียบกับปัจจุบัน ปัจจุบันดีกว่าเยอะ กำลังก็ดีกว่าเยอะ ประสิทธิภาพก็ดีกว่าเยอะ เหมือนกันเลยครับ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ปัจจุบันประสิทธิภาพดีกว่า ความปลอดภัยสูงกว่าเดิมเยอะมาก
แล้ว SMR เพิ่มเติมเรื่องแก้ปัญหาความเสี่ยงของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ เพราะว่าสร้างได้ในโรงงาน แล้วย่อส่วนหลายๆ อย่างมาไว้ถังเดียว พวกท่ออะไรทั้งหลายก็ลดลง ก็กลายมาเป็นถังขนาดใหญ่ยาวประมาณ 20-30 เมตร มาถึงก็มาตั้งในโรงงานเลย สร้างจากโรงงาน การตรวจสอบก็ดีกว่า ท่ออะไรทั้งหลายก็ไม่ต้องเดิน เพราะมาอยู่ในถังเดียวกันหมดเลย สิ่งที่เราทำก็คือเราเติมน้ำเข้าไป เราได้ไอน้ำออกมา
เพราะฉะนั้น ความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุลดลงเป็นอย่างมาก ซึ่งก็เพิ่มเติมจากระบบความปลอดภัยต่างๆ ที่ถูกพัฒนาดีขึ้นแล้ว ทำให้ SMR มีความโดดเด่นมากในเรื่องของความปลอดภัยและการลดความเสี่ยงในเชิงอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น
หลายประเทศก็เลยมองว่า SMR ตอบโจทย์ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ในเชิงเศรษฐศาสตร์ที่การลงทุนไม่สูงมาก และความปลอดภัยที่สูงขึ้น มันน่าจะเหมาะกับประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยด้วย
แต่เรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ยังมีประเด็นอีกประเด็นหนึ่งที่ยังต้องบริหารจัดการกันต่อไป ก็คือเรื่องของกากกัมมันตรังสี SMR ก็ยังให้กากกัมมันตรังสีอยู่ ซึ่งปัจจุบันก็มีเทคนิควิธีการในการที่จะบริหารจัดการดูแลกากกัมมันตรังสี ในระดับสากลก็มีมาตรฐาน ผมคิดว่าทุกประเทศก็สามารถที่จะดำเนินการได้

ไทยพับลิก้า : กากกัมมันตรังสีอันตรายอย่างไร
กากของมันเป็นสารรังสีครับ คือมีการปล่อยรังสีออกมา ซึ่งอันนี้จะสลายตัวตามธรรมชาติ แต่ใช้เวลา สารรังสีบางตัวใช้เวลาเป็น 100 ปี บางตัวใช้ 1,000 ปี บางตัวใช้ 10,000 ปี เพราะฉะนั้น ต้องถูกเก็บให้เหมาะสม วิธีการที่ง่ายที่สุดก็คือ จัดเก็บอยู่ในที่ที่ผู้คนทั่วไปไม่สามารถเข้าไปถึงได้
อย่างประเทศไทยเราก็มีสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ทำหน้าที่ในการจัดเก็บกากกัมมันตรังสีที่ใช้ที่โรงพยาบาล ใช้ในมหาวิทยาลัย ใช้ในภาคอุตสาหกรรม เราก็เก็บดูแลไม่ให้ใครเข้าไปยุ่ง เอาเฉพาะคนที่มีความจำเป็นที่จะต้องไปเข้า ก็สามารถที่จะดูแลให้มีความปลอดภัยได้
ในประเทศไทยสถาบัน สทน. เป็นหน่วยงานเดียวที่ได้รับอนุญาตในการจัดเก็บดูแลเรื่องของกากกัมมันตรังสีในปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ดูแลในมาตรฐานสากลเป็นที่ยอมรับ
ต้องขออนุญาตใช้คำว่าโม้ก็ได้ เรามีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์จนทาง IAEA (ทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ) ส่งนักวิจัยจากประเทศที่เริ่มต้นในเรื่องของการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์มาเรียนรู้วิธีการจัดการกากที่เรา เพราะเรามีประสบการณ์ เราเล่าให้เขาฟังได้ว่าในบริบทแบบประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย เราบริหารจัดการอย่างไร ซึ่งมีทั้งความปลอดภัยและเหมาะสมกับสภาวะแบบนี้
เดิมที สทน. อยู่กับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ตั้งมา 60 กว่าปี แล้วในปี 2549 แยกออกเป็นสองหน่วยงาน คือ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติที่มีบทบาทในการเป็นผู้กำกับดูแลเรื่องกฎหมาย แล้ว สทน. ดูแลเรื่องของการใช้ประโยชน์ แยกออกจากกันเพื่อให้มีความโปร่งใส อันนี้พี่น้องประชาชนจะได้สบายใจว่าจริงๆ เรามีหน่วยงานภาครัฐที่ดูแล ผู้ใช้กับผู้กำกับคนละคนกัน คำว่าจะมาซูเอี๋ยกันไม่มี กฎหมายถูกตั้งมาก็ถูกบังคับใช้ ซึ่ง สทน. ถูกกำกับดูแลบังคับใช้กฎหมายจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติอย่างเข้มข้น
แต่ขณะเดียวกัน เราก็ได้รับความช่วยเหลือจาก IAEA ซึ่งมาช่วยตรวจสอบ แล้วให้คำแนะนำ เอา best practice วิธีการบริหารจัดการที่ดีมาใช้และมาแนะนำเรา อย่างเช่นการจัดการกาก ประเทศไทยควรทำไงให้มันดีขึ้น เราพัฒนาเองส่วนหนึ่ง เขาก็ให้คำแนะนำส่วนหนึ่ง เราทำจนเป็นที่ยอมรับ เขาเลยให้เราเป็นที่ที่หนึ่งที่ส่งคนมาอบรม มาดูงานที่นี่
ไทยพับลิก้า : การกำจัดกากมีกี่วิธี แล้ววิธีไหนดีที่สุด ปลอดภัยที่สุด
หลักการของกากนิวเคลียร์ นิวเคลียร์มีข้อดีอยู่อย่างหนึ่ง คือไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน มันสลาย มันไม่ใช่ยาพิษ หรือไม่ใช่แร่อันตราย สลายตัวได้ตามธรรมชาติ หมายความว่าพอสลายตัว สักพักก็จะไปสู่อันที่เป็นแร่ปกติ เพราะฉะนั้นแค่เก็บ ระหว่างที่สลายตัวมันให้รังสีออกมา อย่าให้รังสีเหล่านั้นไปกระจาย หรือไปแพร่กระจายไปเจอกับคน
เพราะฉะนั้นวิธีการของเราคือจัดเก็บ อย่างเช่นที่ สทน. ทำ คือสารรังสีที่ใช้ที่โรงพยาบาล ใช้เสร็จมาเก็บไว้ เราก็เก็บไว้ เก็บไว้จนภาวะรังสีค่อยๆ ลดลงๆ จนสู่ภาวะปกติ ก็กลายเป็นกากธรรมดา ก็ใช้ พ.ร.บ.โรงงานการจัดการกากโรงงานปกติได้เลย ถ้าน้ำที่ไม่มีรังสีเราก็ปล่อยตามปกติได้เลย ตามระเบียบของกรมโรงงาน นี่คือข้อดี
แต่ประเด็นคือว่าใช้เวลาในการสลายตัว คุณต้องมั่นใจว่าคุณเก็บไว้ในที่ที่เหมาะสม ที่ไม่มีใครเข้าไปยุ่ง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมีพื้นที่จัดเก็บ เทคโนโลยีขั้นสูงขึ้นมาหน่อยก็คือมีการคัดแยก เหมือนกับเครื่องตรวจควัน ข้างในมีสารรังสีอยู่ เป็นตัวหลักที่ทำให้เราวัดได้ว่ามีควันเกิดขึ้นหรือเปล่า ขนาดนิดเดียวเอง แทนที่เราจะเก็บทั้งแท่ง มันเปลืองที่ เรามีการคัดแยก เอาส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องออก ก็เหลือแค่นี้จัดเก็บ เพราะฉะนั้นจะใช้พื้นที่นิดเดียวเอง อันนี้เป็นวิธีที่ฉลาดขึ้น เพราะฉะนั้นบางอย่างเราจะมีการคัดแยก
เพราะฉะนั้น จัดเก็บไว้ในที่ปลอดภัย ซึ่งเทคโนโลยีในปัจจุบัน ถ้าเป็นแท่งเชื้อเพลิงเรายังไม่มีประสบการณ์ สิ่งที่เราทำก็คือ เรามีแท่งเชื้อเพลิงที่ใช้แล้ว เราเก็บแช่ไว้ในบ่อ อยู่ในเครื่องปฏิกรณ์ เก็บเอาไว้ รอสหรัฐฯ เอากลับไป เรื่องนี้สามารถทำได้ก็คือ เจ้าของเทคโนโลยีเอากลับไป
หรือคุณจะทำเป็น storage ที่เก็บเฉพาะ ไม่ว่าจะแช่ในน้ำหรือเป็นถัง ก็จัดเก็บได้ ทำได้ พวกนี้มีวิธีการหลักสากลเลย มาตรฐานเดียวกันครับ แล้วก็กั้นไม่ให้คนเข้า ไม่ให้มีคนเข้าไปถึง ถ้าเราป้องกันไม่ให้เขาเข้าถึงก็จบ เพราะฉะนั้นวิธีเราคือป้องกันไม่ให้คนเข้าถึง แล้วเราก็มีวิธีการตรวจสอบ ซึ่งมันเป็นเน็ตเวิร์กของสากลที่มาช่วยกันดู การตรวจสอบปริมาณเชื้อเพลิงเข้าเชื้อเพลิงออก เราต้องรายงานตามสนธิสัญญาที่เราไปตกลงกันไว้ไม่ให้เผยแพร่อาวุธนิวเคลียร์ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งอันตราย
เพราะฉะนั้น เราเอาเชื้อเพลิงมาผลิตใช้งานเท่านี้ ต้องเหลือเท่านี้ ไม่ให้หายไปไหน เราจัดเก็บตรงนี้ อันนี้เรามีวิธีการชัดเจน แล้วเรามีความรู้ มีประสบการณ์ ที่เรามั่นใจว่าเราดูแลเรื่องพวกนี้ได้

ไทยพับลิก้า : เทคโนโลยีที่สามารถทำ SMR แล้วปิดจุดอ่อนและความเสี่ยงได้ อยากให้เจาะจงลงไปว่าจุดอ่อนและความเสี่ยงคืออะไร
จุดอ่อนสำคัญจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ไปสู่ SMR ก็คือ ปกติระบบที่เขานิยมคือใช้ความดัน ต้องอัดความดันเพื่อที่จะให้น้ำจากอุณหภูมิ 100 ที่ระเหยยังคงสภาพเป็นของเหลวอยู่ในอุณหภูมิ 300-400 องศา ต้องอัดความดัน พออัดความดัน ข้อต่อต่างๆ เป็นความเสี่ยง ตรงนี้วิศวกรรมเขาจะเรียกว่า weak point เป็นจุดอ่อนที่เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
คราวนี้ถ้าเราเอามาใส่อยู่ในถังเดียวกัน ไม่ต้องมีข้อต่อ มันจะปลอดภัย พออัดความดันก็จะอยู่ในถัง เพราะฉะนั้น ระบบที่น้ำไปให้ความร้อนแล้วแปลงเป็นไอน้ำก็อยู่ในที่เดียวกันเลย ไม่ต้องมีท่อ ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น อันนี้คือหลักการที่ SMR ลดความเสี่ยงจากโรงไฟฟ้าปกติ
คราวนี้พอมีขนาดเล็กลง สร้างในโรงงานได้ สร้างในโรงงานก็จะตรวจสอบได้ อย่าลืมว่าสร้างหน้างานก็ยากมากขึ้น เพราะว่าฝนตกบ้าง มีบางมุมที่ทำได้ยาก ก็ต้องหาวิธีในการที่จะไปตรวจสอบ ก็ยากมากขึ้น แต่พออยู่ในโรงงาน อยู่ในสภาวะใต้หลังคา คุณตรวจสอบเมื่อไหร่ก็ได้ทุกมุม พออยู่ในถังคุณก็ตรวจสอบได้หมดเลย เพราะฉะนั้นความเสี่ยงก็จะลดลง เพราะการตรวจสอบจะทำได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
ส่วนเรื่องของความปลอดภัยอื่นๆ ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีอยู่ในปัจจุบัน อย่างเช่นที่เราเจอที่ฟุกุชิมะก็คือว่าน้ำหมด เพราะไฟดับ พอไม่มีไฟฟ้า ปั๊มทำงานไม่ได้ แบ็คอัพอยู่ใต้ดิน ก็เลยต้องถูกแก้ใหม่ ทำให้มีถังน้ำขนาดใหญ่เก็บอยู่ที่สูง สมมติพอเกิดอุบัติเหตุ น้ำก็ไหลตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้นไม่ต้องห่วงเรื่องปั๊มว่าปั๊มจะใช้งานได้ไม่ได้ ไฟจะดับไม่ดับก็ไม่เป็นไร เพราะน้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำอยู่แล้ว ความปลอดภัยก็จะสูงขึ้น
บางเทคโนโลยีถูกแช่อยู่ในน้ำด้วยซ้ำ เครื่องปฏิกรณ์แช่อยู่ในน้ำ เพราะฉะนั้นมีอะไรขึ้นมา คุณก็มีน้ำมา เราก็มีหน้าที่แค่เติมน้ำ ขนน้ำมาเติมให้ในบ่อมีน้ำอยู่ ก็จะปลอดภัยมากยิ่งขึ้น อันนี้คือความปลอดภัยที่เพิ่มสูงขึ้น จะลดระบบความปลอดภัยที่พึ่งคนพึ่งระบบไฟฟ้าให้เหลือน้อย สามารถที่จะใช้เป็นระบบอัตโนมัติตามธรรมชาติได้
ยกตัวอย่างเช่น นอกจากน้ำ คือแท่งคอนโทรล (control rod) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมปฏิกิริยาไม่ให้เกิดเยอะเกินไป ถ้าเกิดไฟดับก็ให้ตกลงมาเลย ก็หยุดปฏิกิริยาไปเลย แทนที่จะต้องใช้ระบบเลื่อนไฟฟ้า เรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่พยายามหลีกเลี่ยงความปลอดภัยที่ต้องใช้อะไรควบคุม ให้เป็นไปตามธรรมชาติมากยิ่งขึ้น ก็ทำให้ความปลอดภัยสูงขึ้น
ไทยพับลิก้า : โนว์ฮาว SMR ของประเทศไหน ที่อยู่ในแถวหน้า
อันนี้พูดยาก แต่จากการที่เคยได้ทำรายงานชุดเก่าเมื่อสัก 10 ปีที่แล้ว ตอนนั้นทาง กฟผ. ได้สนับสนุนให้มีการประเมินเทคโนโลยี ซึ่งเราเตรียมการเรื่องนี้ จริงๆ SMR ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย มีการพูดคุยกันมานานแล้ว 10 ปีที่แล้วเราได้มีการประเมินว่าเทคโนโลยีอะไรบ้างที่มีความเหมาะสมกับประเทศไทย
ตอนนั้นจากเงื่อนไขต่างๆ ทั้งเชิงวิศวกรรม เชิงเศรษฐศาสตร์ เชิงความปลอดภัย ในหลายๆ แง่มุม ซึ่งอันนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของประเทศ แต่ละประเทศจะวิเคราะห์ แล้วอาจจะได้ไม่เหมือนกัน เพราะขึ้นอยู่กับบริบทของเขา ตอนนั้นเทคโนโลยีที่น่าสนใจก็มีของสหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย
แต่หลังจากนั้นก็มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้น มีการประกาศของฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เกาหลี ซึ่งปัจจุบันมีหลายเทคโนโลยีที่มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ถ้าผมมองเร็วๆ ผมคิดว่าถ้าพูดถึง SMR ที่มองแน่ๆ เลยก็คือประเทศสหรัฐอเมริกา จีนก็น่าสนใจ เกาหลีใต้ก็น่าสนใจ

ไทยพับลิก้า : SMR ของประเทศอื่นๆ เขาเริ่มมาตั้งแต่เมื่อไหร่
SMR มีการออกแบบ มีการศึกษามานานแล้ว แต่ว่าด้วยความพร้อมของเทคโนโลยีในปัจจุบันที่พร้อม ทำให้มีความสนใจมากยิ่งขึ้น ก็เลยเพิ่งจะมาบูมช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะ 5 ปีที่ผ่านมา เรื่องนี้ได้รับความสนใจมากเพราะว่าประเด็นโลกร้อนมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โลกร้อนเห็นผลกระทบทำให้ทุกประเทศต้องรู้แล้วว่าโรงไฟฟ้าแบบเดิม ทั้งโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติหรือใช้ถ่านหิน โดยเฉพาะถ่านหิน ต้องเปลี่ยน
มีหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จที่เปลี่ยนไปแล้วอย่างเช่นประเทศจีน จะเห็นว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศจีนเปลี่ยนไปใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เยอะมาก เรียกว่าขึ้นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างน้อยหนึ่งโรงแทบทุกปี บางปีสองโรงด้วยซ้ำ สามโรงก็มี แล้วก็เห็นการเปลี่ยนแปลงในประเทศเขาชัดเจนว่าฝุ่นอะไรทั้งหลาย การปล่อยก๊าซก็ลดลงชัดเจน
ประเทศจีนเร็วมาก ถ้าคนไป จะเห็นชัดเจน จำได้ว่าไปเมื่อ10-15 ปีที่แล้วฝุ่นแทบมองไม่เห็นเลย แต่ตอนนี้ฟ้าของที่ประเทศจีนเปลี่ยน ส่วนหนึ่งก็คือการที่เขาเปลี่ยนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมาเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แล้ว SMR เป็นเป้าหมายสำคัญ ปัจจุบันมีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ SMR ที่มณฑลไห่หนาน อันนั้นจะเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR โรงแรกที่มีการสร้างและใช้งานจริง ประมาณปีหน้าก็จะเดินเครื่อง
สหรัฐฯ ก็ตั้งเป้าชัดเจนว่าจะเอา SMR มาใช้ คือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่อาจจะมีข้อดีตรงที่ว่าได้ราคาถูก แต่ก็มีเงื่อนไขในเรื่องของพื้นที่ที่ต้องใช้เยอะ ถ้าเราจะเปลี่ยนโรงไฟฟ้าถ่านหินมาเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เอาไปใส่ไม่ได้ เพราะว่าเรื่องของพื้นที่ เรื่องของกลิ่น เพราะว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่นั้นประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ ถ้าโรงไฟฟ้าถ่านหินจะขนาด 200 เมกะวัตต์ เอาไปใส่ไม่ได้ กลิ่นไม่รองรับกัน พื้นที่ก็ไม่รองรับ ฉะนั้น SMR ไปทดแทนได้ ก็เลยมีความสะดวกแล้วก็ง่ายในการที่จะใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่
อย่างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าก๊าซ ปกติก็อยู่ 200, 300 เมกะวัตต์ ก็เอา SMR ไปใส่ ก็สามารถที่จะเดินต่อไปได้เลยโดยไม่ต้องไปทำโครงสร้างพื้นฐานเพิ่ม พื้นที่ก็ใช้ประมาณเดิม สหรัฐอเมริกาก็มีความตั้งใจที่จะเอาเรื่องนี้มาเป็นการขับเคลื่อนของเขา ร่วมกับอย่างอื่น ไม่ใช่ว่าสหรัฐฯ จะทุ่มแค่นิวเคลียร์อย่างเดียว เรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เขาก็ใช้ เป็นการผสมผสาน จีน อินเดีย แล้วก็ยุโรป ญี่ปุ่นก็ตั้งใจที่จะกลับมาเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เต็มที่ เรื่องของ SMR ก็จะเข้ามาในถัดๆ ไป
ไทยพับลิก้า : ของไทยถ้ามี SMR จะต้องอยู่พื้นที่ไหน
เรื่องของพื้นที่ก็จะต้องมีการศึกษากันอีกที แต่ว่าในเบื้องต้นคิดว่าทาง กฟผ. มองจากเรื่องเหตุผลและความจำเป็นของการใช้พลังงาน ก็น่าจะเป็นภาคอีสานกับภาคใต้ คือทั้งสองพื้นที่ขาดไฟอยู่ ต้องเอาไฟจากพื้นที่ภาคกลางส่งลงไปช่วย เพราะว่าภาคกลางมีก๊าซจากพม่า ซึ่งถามว่าดีมั้ย ก็ไม่ดี เพราะว่าการส่งไฟฟ้าไปไกลๆ มันมีการสูญเสียระหว่างทาง เพราะฉะนั้น ถ้าสร้างโรงไฟฟ้าใกล้ๆ กับแหล่งใช้งานจะประหยัดและคุ้มค่าที่สุด เลยมีความคิดว่าน่าจะเป็นพื้นที่ของภาคอีสานกับภาคใต้
แต่อย่างหนึ่งที่จะเป็นข้อดีอีกอย่าง โดยเฉพาะภาคอีสาน เนื่องจากอยู่ไกลทะเล การขนส่งเชื้อเพลิงจะลำบาก แต่ถ้าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่าง SMR จะใช้เชื้อเพลิงนิดเดียว ทำให้การขนส่งน้อย ก็จะไม่เป็นปัญหามาก ก็จะช่วยในเรื่องของทั้งความต้องการและการบริหารจัดการจะง่ายขึ้น
ไทยพับลิก้า : กำลังคนในการมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์พร้อมหรือไม่
เนื่องจากว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี ประเทศใหม่ๆ ที่จะเริ่มใช้ครั้งแรกอาจจะใช้เวลาถึงประมาณ 15 ปี เรามีเวลาเตรียมการ เพราะฉะนั้นเรื่องกำลังคน ณ ปัจจุบันอาจจะไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน แต่เรามีแผน เรามีความพร้อมในการที่จะทำตรงนี้ในระยะเวลา 10-15 ปี เราสามารถที่จะเตรียมได้ทัน
แต่ว่า ณ ปัจจุบัน กำลังคนของประเทศไทยที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องสำหรับการตัดสินใจ ตรงนี้เรามีคนอยู่ในระดับหนึ่ง ทั้ง กฟผ. เองก็มีทางผู้เชี่ยวชาญ ปส. สทน. แล้วก็ จุฬาฯ และทั่วประเทศ เราน่าจะมีเพียงพอที่จะทำกิจกรรม ณ ปัจจุบันจนถึงอนาคต เรามีความพร้อมในเรื่องนี้
แต่คนต้องเพิ่มขึ้นนะ เมื่อตัดสินใจเสร็จเราต้องฝึกคนอีก จะต้องใช้คน เพราะในการสร้างโรงไฟฟ้าโรงหนึ่งอาจจะใช้คนเกือบ1,000 คน ผู้ดำเนินการที่เกี่ยวข้องไปใช้งานในโรงไฟฟ้าจริงอาจจะอยู่ในระดับประมาณ 200-300 คนต่อโรง พวกนี้ฝึกเตรียมทัน ไม่น่าห่วงครับ ผมคิดว่าเรามีระบบการศึกษาที่ดี เรามีหน่วยงานเฉพาะทั้งที่สร้างทางด้านนิวเคลียร์และวิศวกรรมอื่นๆ เราเข้มแข็งอยู่แล้ว การเตรียมความพร้อมที่จะมาดูเทรนนิวเคลียร์โดยตรง เราก็มี สทน.อยู่
เพราะฉะนั้น ประเทศไทยถ้ามองความพร้อมในการตัดสินใจ ณ ปัจจุบัน ผมคิดว่าเรามีความพร้อม ทั้งในแง่กฎหมาย ทั้งในแง่องค์ความรู้ ทั้งในแง่คน รอแค่ตัดสินใจ
ไทยพับลิก้า : โรงไฟฟ้า SMR หนึ่งโรงอยู่ได้กี่ปี
ตอนนี้อย่างน้อยที่ออกแบบประมาณ 60 ปี แต่ว่ามีโอกาสที่จะขยายเพิ่มเติมได้ คือใบอนุญาตช่วงแรกก็จะ 60 ปีก่อน แล้วก็จะต่อ จะเห็นว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่เดิม เริ่มต้นมาก็ประมาณ 40 ปี บางที่ก็ขยายต่อไปอีก 5 ปีบ้าง 10 ปีบ้าง ใช้กันประมาณเกือบๆ 60 ปีเป็นส่วนใหญ่ บางแบบตั้งใจจะออกแบบให้มา 80 ปี 100 ปี ด้วยซ้ำ
เสถียรภาพของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดีมาก ในเชิงวิชาการน่าจะเป็นกลุ่มต้นๆ มากกว่าโรงไฟฟ้าก๊าซด้วยซ้ำ โรงไฟฟ้าก๊าซถ้าจำตัวเลขไม่ผิด capacity factor น่าจะประมาณ 85% นิวเคลียร์ 90% ก็คือชัตดาวน์น้อยมาก เรียกว่าเดินเครื่องตลอดเวลา 24 ชั่วโมง แล้วก็มีการหยุดตรวจสอบน้อยมาก คือนอกจากการดูแลปกติ อาจจะหยุดใหญ่บ้างในช่วงของการเปลี่ยนแท่งเชื้อเพลิง ซึ่งแท่งเชื้อเพลิงพวกนี้นานๆ เปลี่ยนที 6 เดือนบ้าง 1 ปีบ้าง แล้วแต่การบริหารจัดการ ซึ่งทำให้กระทบต่อการเดินเครื่องน้อยมาก
เพราะฉะนั้นจึงเหมาะกับการเป็นโรงไฟฟ้าชนิดฐาน ซึ่งจะมีการจ่ายไฟที่เรียกว่าสม่ำเสมอ แล้วก็ความมั่นคงทางพลังงาน จะเป็นตัวสนับสนุนที่ดีมาก ซึ่งถ้าเทียบกับแสงอาทิตย์ที่มี capacity factor ประมาณ 20% คือดีเพราะว่ามันเป็นของฟรี ได้ไฟฟรี แต่ว่ามันไม่เสถียร ได้บ้างไม่ได้บ้าง ถ้าจะให้เสถียรมากขึ้น ก็ต้องไปติดระบบกักเก็บพลังงาน อย่างพวกระบบแบตเตอรี่ ซึ่งไปเก็บไว้ในนั้นก็เป็นต้นทุนที่ตามมา ต้องมีการบำรุงรักษา จะเป็นข้อยาก
ไทยพับลิก้า : ตอนนี้กระแสบอกว่าไม่เอาฟอสซิลแล้ว ยังไงเทรนด์ SMR ต้องมาใช่ไหม
ต้องมาครับ จากการศึกษาวิจัยจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะต่างประเทศเห็นเทรนด์ตรงนี้ชัดเจนครับว่าพลังงานนิวเคลียร์ต้องมาเพื่อที่จะสู้กับโลกร้อน ไม่งั้นพูดง่ายๆ เลย ถ้าไม่มีพลังงานนิวเคลียร์ เราไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาโลกร้อนได้ การควบคุมอุณหภูมิไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ครับ ต้องเอานิวเคลียร์มาเป็นส่วนหนึ่ง
ไทยพับลิก้า : การสื่อสารให้คนเข้าใจถึงความจำเป็นจะต้องมีโรงไฟฟ้า SMR
ผมคิดว่าเราอาจจะต้องถามก่อนว่าเขากังวลอะไร อันนี้ส่วนตัวผมนะครับ ผมคิดว่าที่คนกังวลอยู่ 2-3 เรื่อง เรื่องแรกคือเรื่องของความปลอดภัย เรื่องของการจัดการกาก อันนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ประชาชนกังวล ส่วนเรื่องการลงทุนเป็นเรื่องของภาครัฐมากกว่า ถ้าปลอดภัย จัดการเรื่องเหล่านี้ได้ ผมคิดว่าคนก็จะสบายใจมากขึ้น
เพราะฉะนั้น สิ่งที่สำคัญก็คือต้องสร้างความตระหนักก่อนว่าทำไมเราต้องทำ เช่น เรื่องของโลกร้อน แล้วค่าไฟที่แพงขึ้น เราต้องหาวิธีในการที่จะสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แล้วก็ลดค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชน พลังงานนิวเคลียร์มีโอกาสในการที่จะช่วยสนับสนุนตรงนี้ได้
เรื่องของความกังวลใจ เรื่องของความปลอดภัยทั้งหลาย ผมคิดว่าหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องก็ต้องแสดงบทบาทที่ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนคลายความกังวล อย่างเช่นกังวลเรื่องกาก หน่วยงานที่ดูแลอย่างเช่น สทน. กับ ปส. ก็ต้องบอกให้ชัดเจนว่าเรากำกับดูแลอย่างเข้มแข็งนะ เรามีวิธีการอย่างนี้นะ สทน. ก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมว่าเราจะบริหารจัดการ จะช่วยตรงนี้ยังไงให้ไม่ต้องกังวล เรื่องของกฎหมายที่จะต้องมาควบคุมกำกับต้องเป็นยังไง พวกนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องมีความชัดเจน
ต้องบอกว่าเรื่องกฎหมายเราเตรียมไว้เยอะแล้ว เรามี พ.ร.บ.นิวเคลียร์ใหม่ในปี 2559 ครอบคลุมเรื่องของการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ของ SMR ด้วย ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว ตอนนี้ขาดแค่กฎหมายระเบียบลูกเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งส่วนนี้ถ้าประชาชนได้รับทราบว่าหน่วยงานภาครัฐมีการเตรียมการ มีความจำเป็น มีวิธีการบริหารจัดการให้ได้มาตรฐาน ผมคิดว่าอันนี้น่าจะต้องเป็นสเตปแรก สร้างความตระหนักให้คนได้รับทราบก่อน ส่วนเรื่องเทคนิคอื่นๆ ผู้เชี่ยวชาญก็ต้องมาเลือกในการที่จะดำเนินการต่อไป
แต่ว่าการดำเนินการ ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันทำงาน แต่ไม่ใช่ซูเอี๋ยกันนะครับ ต้องทำความเข้าใจว่าพูดคุยสื่อสารไปในทิศทางเดียวกัน คือทางด้านนิวเคลียร์จะมีอยู่ 3 กลุ่มหลักๆ ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้อง กลุ่มแรกก็คือหน่วยงานกำกับ กลุ่มที่สองก็คือโอเปอเรเตอร์หรือผู้ดำเนินการ กลุ่มที่สามก็คือกลุ่มสนับสนุนที่เราเรียกว่า technical support organization
ผู้กำกับมีความชัดเจนอยู่ก็คือ ปส. กับ กฟผ. ถ้าตามข่าวก็จะเห็นว่าเขาเพิ่งไปจับมือกันว่าจะทำงานร่วมกัน จะวางแผนในการกำกับดูแลเรื่องนี้อย่างไรให้เข้าทั้งเรื่องของพลังงานที่เขาดูแลเรื่องของโรงไฟฟ้าและในกฎหมายนิวเคลียร์ที่ ปส. ดูแล ทั้งสองจับมือแล้วก็วางแผนเตรียมการเรื่องนี้ ก็จะมีการกำกับที่เข้มแข็งเข้มข้นทั้งในเชิงโรงไฟฟ้าแล้วก็ในเชิงนิวเคลียร์ เรื่องนี้เขาก็เตรียมการไว้แล้ว
โอเปอเรเตอร์หลักๆ ก็น่าจะเป็น กฟผ. ซึ่งผมคิดว่า กฟผ. ก็เตรียมการอยู่แล้ว ดูเรื่องของเทคโนโลยี เรื่องของเงินลงทุน ก็เตรียมการอยู่ แต่ประเทศไทยอาจจะไม่ใช่แค่หน่วยงานเดียวที่เป็นโอเปอเรเตอร์ได้ อาจจะเป็นหน่วยงานอื่นภาคเอกชน อย่างเช่น ปตท. เนื่องจากว่า SMR ไม่ได้ใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าได้อย่างเดียว ยังสามารถที่จะเป็นแหล่งความร้อนไปใช้ในกิจกรรมอื่นๆ ได้
หรือบางครั้งทำ 2-3 อย่างในเวลาเดียวกันได้เลย ผลิตไฟฟ้าก็ได้ แบ่งพลังงานบางส่วนไปผลิตความร้อน แบ่งพลังงานบางส่วนไปผลิตน้ำจืด พวกนี้ทำได้ ในเชิงเทคนิคทำได้หมด เพราะฉะนั้นก็จะมีหน่วยงานที่สามารถที่จะใช้ประโยชน์ตรงนี้ได้ อย่างเช่น ปตท. เขาต้องใช้ความร้อนในเรื่องของการแยกก๊าซ ในการทำนั่นทำนี่ เขาก็เอาตรงนี้ไปใช้ประโยชน์ได้ หรือภาคเอกชนอย่างเช่นเอสซีจี ที่เขาใช้ความร้อนในการทำปูน ก็ดึงตรงนี้ไปใช้ประโยชน์ได้ เพราะฉะนั้นนี่คือกลุ่มเครือข่ายที่จะเป็นผู้ใช้งาน แต่ว่าหน่วยงานหลักผมคิดว่า กฟผ. น่าจะเป็นหน่วยงานสำคัญที่ควรจะดำเนินการ เพราะเขามีความพร้อมที่สูงมาก
หน่วยงานสุดท้ายก็คือผู้สนับสนุนอย่างเช่น สทน. เราสนับสนุนเรื่องของการจัดการกากที่ได้พูดไปแล้ว สนับสนุนเรื่องของการวิจัยพัฒนา เพราะว่าในเรื่องของการดำเนินงาน จะต้องมีการวิจัยพัฒนาความปลอดภัย หรือถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น ต้องมีการวิจัย เพราะปัญหาในแต่ละที่ไม่เหมือนกัน
เพราะฉะนั้น หน่วยงานเหล่านี้ต้องเตรียมพร้อม สทน. ก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมเรื่องของการวิจัยพัฒนา ระบบความปลอดภัยที่จะให้ทั้งหน่วยงานกำกับและผู้ดำเนินการไปใช้ หน่วยงานกำกับอาจจะต้องการข้อมูลว่าเราจะกำกับยังไงให้เข้มข้นขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าเรื่องนี้ปลอดภัย ก็ต้องมีการวิจัยพัฒนา สทน. หรือมหาวิทยาลัยต้องช่วยกันสนับสนุนทำเรื่องนี้หน่วยงานกำกับ
นอกจากนี้ หน่วยงานสนับสนุนต้องเตรียมการเรื่องของการเตรียมบุคลาการ อย่างเช่นจุฬาฯ ทำหลักสูตรที่จะผลิตวิศวกรนิวเคลียร์ แต่ก็ต้องมาลองใช้เครื่องปฏิกรณ์ของเราเพื่อจะได้รู้ ได้ทดลองใช้จริง เป็นต้น ฝึกคนเพื่อที่จะใช้ในโรงงาน ในโรงไฟฟ้า
สามฝ่ายต้องทำงานอิสระต่อกัน แต่ต้องร่วมกันเป็นทีม หมายความว่าเอาเป้าหมายเป็นตัวตั้ง แล้วทุกคนดูว่าตัวเองมีหน้าที่อะไร แล้วก็ทำงานให้สอดรับกัน เพราะว่าถ้ามีโรงไฟฟ้า แต่ไม่มีคนที่จะผลิตกำลังคนให้ โรงไฟฟ้าก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะไม่มีคนอยู่ ก็ต้องมีคนเตรียม ผู้กำกับก็ต้องมีคนเตรียม

ไทยพับลิก้า : ในแง่ของการให้ความรู้ ความเข้าใจ จะต้องลงลึกไปถึงเด็กหรือไม่
เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญครับที่จะต้องทำ อย่างที่บอกว่าใช้การเตรียมการ 15 ปี ดำเนินการเดินเครื่องไปอีก 60 ปี คนที่จะต้องรับผิดชอบดูแลคือน้องๆ เยาวชน ลูกๆ หลานๆ เราอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องให้ความรู้เขา เพราะว่าเขาจะต้องมารับผิดชอบดูแลในส่วนนี้ จำเป็นมากครับ
เรื่องนี้เลยบอกว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อกี้ผมอาจจะตกหน่วยงานการศึกษาที่เป็นระดับเบื้องต้นไป เมื่อกี้พูดถึง สทน. พูดถึงมหาวิทยาลัย แต่จริงๆ หน่วยงานด้านการศึกษา สสวท. (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี)โรงเรียนทั้งหลายก็ต้องเตรียมการ เอาหลักสูตรให้เด็กได้รู้จักว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นยังไง มีประโยชน์อะไร ในแต่ละระดับชั้นเราจะให้ความรู้อะไร เราก็ต้องให้ข้อมูลเขา
ที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ผมคิดว่าควรจะต้องทำก็คือ ให้เขาได้สัมผัสจริง อันนี้เป็นความตั้งใจส่วนตัวของนโยบาย สทน. ที่เราพยายามจะเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ ได้มาดูงาน มาดูเครื่องปฏิกรณ์ที่เรามี อย่างน้อยถ้าไปดูแล้วจะรู้สึกว่าไม่เห็นน่ากลัวอะไร แค่นั้นผมคิดว่าง่ายกว่าการที่เราไปพูดให้เขาฟัง
เมื่อเขาเห็นภาพ ความสบายใจก็เกิดขึ้น พอไปเรียนรู้ก็จะเห็นภาพที่ชัดเจน ความกังวลที่เคยมีก็จะค่อยๆ ลดลง แต่การกำกับดูแลเราต้องคงมาตรฐานไว้ และต้องมีระบบต่างๆ ที่ประชาชนสามารถจะเข้ามาตรวจสอบในการทำงานของภาครัฐได้ อันนี้จะต้องออกแบบกันให้ดี
ปัจจุบันก็มีอยู่แล้ว แต่ก็ต้องเปิดช่องตรงนี้และประกาศให้คนรู้ชัดเจน เช่น ในเรื่องของการตรวจสอบรังสีว่าในทุกๆ เดือน รอบๆ โรงไฟฟ้าไม่มีรังสีรั่วไหล อันนี้ต้องทำ อย่าง สทน. ทั้งที่เราก็ตรวจ แต่เราก็เชิญพี่น้องประชาชนไปกับเรา ก็ไปร่วมตรวจว่าเราตรวจจริง อย่างน้อยเขาจะได้เห็นว่าเราตรวจจริง เชิญเขาเข้ามาดู ก็ได้เห็นว่าเราทำจริง เพราะว่าคนทำคือหน้าด่านที่จะเจอคนแรก เพราะฉะนั้นเราก็เลยให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นถ้าเขามาเห็น ผมคิดว่าเขาจะสบายใจมากขึ้น
เพราะฉะนั้นการศึกษาต้องมี การได้สัมผัสจริงต้องมี อาจจะเห็นในประเทศ แล้วก็ไปดูในต่างประเทศบ้างก็ดี ได้เห็นว่าประเทศที่เรามั่นใจอย่างเช่น สหรัฐฯ หรือญี่ปุ่น เราก็ทำมาตรฐานเดียวกัน ผมว่าข้อมูลเหล่านี้จะทำให้คนมั่นใจมากยิ่งขึ้น โดยที่ไม่ต้องไปพยายามชักจูงว่าดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ แต่ให้เขาซึมซับและสัมผัส
เรามีการพูดคุยกันอยู่กับ ทาง สทน. ก็คุยกับทาง สสวท. ซึ่งดูแลหลักสูตรทางด้านวิทยาศาสตร์ เราคุยกับโรงเรียนจุฬาภรณ์ พยายามเอานักเรียนมาทำโครงงานที่เรา เขาได้รางวัลด้วยนะ เขาเอาไปทำงานแล้วปรากฏว่าได้รางวัลเกี่ยวกับการทดสอบป้องกันรังสี พอน้องเขามาเขาก็ชิล เขาก็ทำงานกันปกติ ไม่ได้มีความกังวล
ผมว่าการได้สัมผัสจริง แล้วตัว สทน. เองพยายามเอาเรื่องประโยชน์จากรังสีไปถึงพี่น้องประชาชนจริงๆ อย่างเช่นเรื่องอาหาร เราทำอาหารพื้นถิ่น เอารังสีไปแนะนำให้กับพี่น้องทั่วประเทศ ให้เขาเอาผลิตภัณฑ์อาหาร ปลาร้า ปลาส้ม น้ำพริก อะไรทั้งหลายที่เป็นปัญหาของเขา
อย่างเช่นน้ำพริก เอสเอ็มอีทำ แต่ว่าเก็บได้เดือนหนึ่ง เพราะว่าเขาจะไม่ใส่สารกันบูด เราเอารังสีไปช่วยฆ่าเชื้อ ทำให้ของเขายืดอายุจาก 1 เดือนเป็น 3 เดือน 6 เดือนบ้าง บางอันมีโอกาสที่จะส่งออกไปต่างประเทศได้ ตอนนี้เราพยายามส่งเสริมให้กับเขา ซึ่งเรื่องอาหารพื้นถิ่นฉายรังสี เราทำมา 4-5 ปีแล้ว ทำมาต่อเนื่อง ได้ผลิตภัณฑ์เยอะ อยากให้คนได้คลายความกังวล
แรกๆ เขาเล่าว่าเขากลัวนะว่ารังสีจะน่ากลัวหรือเปล่า จะตกค้างหรือเปล่า แต่พอเขาผ่านการอบรมแล้วมาทดลองใช้ เขาก็ไม่ได้กังวลอะไร และบอกว่าดี กลายเป็นประโยชน์ช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ของเขา อันนี้จะพยายามทำมากขึ้น โชคดีเรามี กฟผ. เป็นพาร์ทเนอร์ เช่น สทน. และ กฟผ. เราทำชุดการเรียนรู้ขนาดเล็กและเป็นบทเรียน ทำ แล้วก็แจกไปกับโรงเรียน ไปอบรมครู เป็นชุดเล็กๆ แล้วให้เด็กเอาของต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเขามาทดสอบว่ามีรังสีหรือไม่มีรังสี
ต้องบอกว่าหลักการคือ รังสีไม่ได้น่ากลัว รังสีเป็นสิ่งที่มีอยู่ทั่วไป ในกล้วยหอมที่เราทานรังสีสูง ขึ้นเครื่องบินก็มีรังสี แต่รังสีที่มีอยู่ทั่วไปไม่ได้อันตราย เด็กจะได้คุ้นชินกับเรื่องของรังสี เพราะเมื่อก่อนพอได้ยินคำว่ารังสีทุกคนก็จะตกใจกลัว เราพยายามทำให้รู้ว่ารังสีมีอยู่ทั่วไป แล้วก็จะได้สอนเรื่องของประโยชน์ที่จะใช้ในแง่ต่างๆ เรื่องของอาหารบ้าง เรื่องของนู่นนี่นั่น เขาจะได้รู้สึกว่าไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด บางกลุ่มเราก็จะพยายามดึงเขามาทำงานให้ใกล้ชิดมากขึ้น
ไทยพับลิก้า : รังสีที่เข้ามาสู่ร่างกายจะอยู่ได้นานแค่ไหน
รังสีไม่ใช่สารตกค้าง รังสีเข้ามาแล้วไปเลย เหมือนเราไปเอกซเรย์ จะมีอยู่ 2 อย่างก็คือรังสีกับสารกัมมันตรังสี คนมักจะมองว่าอย่างเดียวกัน สารกัมมันตรังสีตกค้างได้เพราะเป็นสาร อันนี้กากนิวเคลียร์ กากรังสี พวกนี้เลยต้องจัดเก็บเพราะว่าอันตราย เราก็เลยจัดเก็บไว้ในถัง ไม่มีรังสีออกมา แล้วเราก็ไปเก็บในที่ปลอดภัย ล็อกไม่ให้มีใครเข้าไปยุ่ง แค่นี้ก็ปลอดภัยแล้ว แบบนี้คือสาร
แต่สิ่งที่เราใช้อยู่ทั่วไปก็คือรังสี เหมือเราไปเอกซเรย์ ถ่ายเสร็จปุ๊บก็จบแล้ว ไม่มีการตกค้าง ไม่มี 100% แล้วรังสีก็ไม่ได้ทำอันตรายกับเรา แต่รังสีนิดเดียวมีประโยชน์ ทำให้ร่างกายแข็งแรงได้ นิดเดียวนะครับ แต่ก็จะมีเกณฑ์มาตรฐานอยู่ อยู่ที่ว่าไม่ควรจะเกินนี้ แต่ถ้าได้รังสีมากเกินไปก็จะอันตราย
พวกผมก็เหมือนกัน เราจะมีเครื่องตรวจบันทึกเลยว่านักวิจัยหรือเจ้าหน้าที่แต่ละท่านได้รังสีเดือนนี้เท่าไหร่ ปีหนึ่งจะมีข้อกำหนดข้อกฎหมายบังคับชัดเจนว่าต้องไม่เกินเท่าไหร่ ต้องตรวจครับ อันนี้กฎหมายไม่บังคับเราก็ตรวจ เราดูแลตัวเอง เพราะเราก็กลัว ไม่มีใครไม่กลัวรังสีหรอกครับ ยิ่งเราทำงานใกล้ชิดกับรังสี เราต้องกลัว ความกลัวเป็นสิ่งที่ดี ทำให้เราระมัดระวัง เพราะฉะนั้นเราก็จะดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะเรากลัว แต่กลัวแล้วต้องไม่ตระหนก ต้องเข้าใจกับมัน

ไทยพับลิก้า : แท่งกัมมันตรังสีมันผลิตยังไง ต้องใช้วัตถุดิบยังไง
เทคโนโลยีปัจจุบันที่เราไปดูที่จีนจะเป็นแท่ง ก็จะคล้ายๆ กับเครื่องปฏิกรณ์ แต่ก็จะมีการทำเป็นรูปแบบเป็นมัดเป็นอะไรก็แล้วแต่ว่าแต่ละเทคโนโลยีเขาจะออกแบบเฉพาะของเขาอย่างไร แท่งพวกนี้ก็จะมีแร่ยูเรเนียมอยู่ข้างใน ปกติทั่วๆ ไปที่ใช้อยู่ปัจจุบันก็ประมาณ 5% ตรงนี้อาจจะให้ข้อมูลนิดหนึ่งว่าอาวุธนิวเคลียร์ที่เราพูดถึงใช้ยูเรเนียม 90% แต่ของเรา 5% น้อยมาก
สำหรับยูเรเนียมมีอยู่เยอะมาก ปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ใช้ยูเรเนียมได้หลากหลายมากขึ้น ผมขอเล่านิดหนึ่งว่าปกติยูเรเนียมจะทำมาเป็นเม็ดๆ ซึ่งข้างในมีแร่ยูเรเนียมอยู่ แล้วก็ถูกเคลือบด้วยวัสดุแข็ง ทนความร้อนสูง แล้วก็มาใส่อยู่ในท่อ ท่อก็เป็นโลหะซึ่งมีความแข็งแรง ทนความร้อน ทนการกัดกร่อนได้ ก็เป็นการปกป้องอีกขั้นหนึ่ง
เพราะฉะนั้นระบบความปลอดภัยสูงมาก จุดอ่อนก็คือว่า ต้องมีระบบระบายความร้อนให้ได้ อย่างเช่นน้ำ โรงไฟฟ้าทั่วไปก็จะต้องมีน้ำ มีการออกแบบให้มีถังน้ำไว้ข้างบนเผื่อว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้น
คิดแบบทั่วๆ ไปเลยว่าเครื่องปฏิกรณ์ถ้ายังแช่น้ำอยู่ก็จะไม่เป็นอันตราย แต่ถ้าไม่แช่น้ำอย่างเหตุเกิดที่ฟุกูชิมะก็จะมีความเสี่ยงเกิดขึ้น พอร้อนไปนานๆ ร้อนมากๆ ก็ต้องละลาย เพราะไม่มีไประบายความร้อน แต่วิศวกรรมป้องกันได้ หลายคนกังวล อย่างเช่นแผ่นดินไหว วิศวกรรมก็ทำได้ครับ ตึกเดี๋ยวนี้ป้องกันแผ่นดินไหวขนาด 6 ริกเตอร์ยังป้องกันได้ ทำได้หมดครับ วิศวกรรมดูแลได้หมดครับ
ปกติเราซื้อเทคโนโลยีจากที่ไหนก็จะผูกสัญญาของแท่งเชื้อเพลิงไปเลย จะเป็นสัญญาที่เขาจะต้องจัดหาให้เรา เป็นหน้าที่ของเขา เพราะว่ามันมีเป็นไลเซนส์เฉพาะสำหรับแต่ละประเทศ ถ้าเราไม่พอใจอเมริกาแล้วไปซื้อญี่ปุ่น ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็จะผูกกันตั้งแต่เรื่องของเทคโนโลยี เรื่องของเชื้อเพลิง เสร็จแล้วจะเอายังไง เชื้อเพลิงใช้เสร็จแล้ว ต้องเก็บ เก็บไว้เท่าไหร่ ส่งกลับไหม ก็ต้องพูดคุยกัน
ผมยกตัวอย่างง่ายสุดประเทศไทย เรามีเครื่องปฏิกรณ์เครื่องนี้ เราได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา แท่งเชื้อเพลิงก็มาจากอเมริกา อย่างนี้เป็นต้น ก็ผูกขาดกัน แท่งเชื้อเพลิงที่เคยใช้ไปแล้ว บางส่วนอเมริกาก็ได้เอากลับไปแล้ว อย่างนี้เป็นต้น ก็เป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายที่จะต้องอยู่ด้วยกัน ทำงานร่วมกัน
ไทยพับลิก้า : ในแง่ความเชื่อมั่นคนไทยกลัวว่าหน่วยงานกำกับจะไม่ได้มาตรฐาน เพราะว่าหลักนิติธรรม (rule of law) ของเราตอนนี้เสื่อมมาก
ผมก็คิดว่าเรื่องนิวเคลียร์ประเทศไทยก็ทำได้ ผมมั่นใจอย่างนั้น แต่ สิ่งที่สำคัญอย่างที่ผมบอกตอนต้น เราต้องร่วมมือกันทำงาน แต่ไม่ใช่ซูเอี๋ย ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เราทำโดยตลอด ปส. กำกับ สทน. แม้ว่าเรามีพื้นที่ตรงนี้อยู่ใกล้กัน เขากำกับเราเข้มข้นมากตามมาตรฐาน ผิดก็คือผิด
บางครั้งเราอาจจะเครื่องเสีย บางทีบังเอิญเสียพอดี แล้วเขามาเห็น เราก็แก้ไขปรับปรุง มีระบบที่เราดูแลตรงนี้ ซึ่งเขาจริงจัง เราก็จริงจัง เพราะเป็นเรื่องใหญ่ แล้วอย่างที่ผมบอกย้ำเลยว่า ถ้าเกิดอะไรขึ้น คนที่อยู่ในโรงไฟฟ้าเขาเจอก่อน แล้วคิดว่าเขาจะไม่กลัวเหรอ เขาจะปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเหรอ เพราะฉะนั้นเขาจะปล่อยเหรอ
ไทยพับลิก้า : ระเบียบของ IAEA19 ข้อ จำเป็นต้องมีทั้ง 19 ข้อหรือไม่ถึงจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้
IAEA เขารวบรวมจาก best practice ทำเป็นไกด์ไลน์ว่า ถ้าประเทศที่ไม่มีประสบการณ์ คุณจะเริ่มนิวเคลียร์ เขาคิดว่าควรจะมี 19 ข้อในการเริ่มต้น คุณควรจะคำนึงพิจารณาประเด็นเหล่านี้ ถ้าคุณมีประเด็นเหล่านี้ครบ การเดินเครื่อง การพัฒนาโครงการของคุณ โอกาสที่จะเจอปัญหาน้อย โอกาสสำเร็จสูง มันก็เลยเรียกเป็น 19 issue ซึ่งประเทศไทยก็ทำตามอยู่
เราเคยทำประเมินเรื่องนี้มาหลายครั้ง ของ กฟผ.ทำล่าสุดน่าจะประมาณตอนปี 2551 ตอนนั้นประเมินครั้งแรกในเฟสหนึ่ง เราน่าจะผ่านเกือบหมด แต่ก็จะมีประเด็นอยู่อย่างเช่นเรื่องของกฎหมาย ซึ่งเราก็แก้ไขเรียบร้อยแล้ว ถ้าประเมินตอนนี้ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
แต่พอมาขั้นที่สอง พอไปสู่เฟสสอง มันก็จะมีการประเมินในระดับที่เข้มข้นมากขึ้น ก็จะเป็นแนวปฏิบัติแบบนี้ที่ทำให้มั่นใจว่ามีความพร้อมจริงๆ ซึ่งก็จะมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญมาเป็นผู้ประเมิน ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ผมคิดว่าประชาชนมั่นใจได้ เพราะต้องบอกว่าเรื่องบางเรื่องเราก็ไม่รู้ เขาเชี่ยวชาญ เพราะฉะนั้นเขามาแล้วเขาก็ประเมินว่าอันนี้ไม่ดี ยังไม่พร้อม คุณต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ มีข้อแนะนำก็จะได้ไปปรับปรุงแก้ไข ก็มีระบบที่ดูแลตรงนี้อยู่
แต่บางประเทศอย่างเช่นอเมริกา รู้สึกว่าของเขาจะลดลงมาเหลือ 10 สำหรับ SMR เขาออกแบบมาประมาณ 10 ประเด็น แต่ก็คล้ายๆ กัน โดยหลักก็คือให้เน้นเรื่องมีคน นโยบายต้องมีความชัดเจน เพราะว่าเป็นการลงทุนยาว เป็นแสนล้าน เราพูดถึงโรงไฟฟ้า 60 ปี ดังนั้นเพื่อความคุ้มค่า ฉะนั้นนโยบายต้องมีความชัดเจน