กระแสและแนวโน้มของโลกกดดันให้ทั่วโลกหันมาร่วมมือเพื่อลดโลกร้อน (mitigation) และการปรับตัวรับมือโลกเดือด (adaptation) ไปพร้อมๆ กัน ณ วันนี้จำเป็นที่จะต้องเดินหน้าควบคู่กันไปทั้ง mitigation และ adaptation โดยเป้าหมายของไทยสู่ carbon neutrality ในปี 2050 และ net zero ในปี 2065 แม้เป้าหมายดูจะไกลเกินเอื้อม แต่ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะไม่ลงมือทำ เพราะวันนี้โลกร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง การช่วยกันชะลอและลดโลกร้อน รวมทั้งการปรับตัวยิ่งต้องทำอย่างจริงจัง
ท่ามกลางความต้องการ green products ของทุกคนที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตในทุกอุตสาหกรรมและบริการ จึงต้องเดินหน้าทำตัวเองให้ green ที่สุด เพื่อส่งต่อ green ไปเรื่อยๆ จนถึงปลายน้ำ เพราะปัจจุบันมีมาตรการต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ที่เป็นข้อกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ผู้ประกอบการต้องดำเนินการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
สำหรับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้าจึงต้องตอบสนองความต้องการของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า ทั่วโลกต่างมีความต้องการไฟฟ้าสีเขียวเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย carbon neutrality และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน
ด้วยโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ใช้เชื้อเพลิงที่มาจากฟอสซิล (เช่น ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน) เป็นส่วนใหญ่ จึงจำเป็นต้องเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องเสถียรภาพไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตลอด การจะทำให้จ่ายไฟฟ้าได้ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมงต้นทุนจะค่อนข้างสูง กฟผ. จึงมองหาพลังงานทางเลือกใหม่ ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกต่างให้ความสนใจและบรรจุไว้ในแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศ คือ โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ SMR (small modular reactor) เพราะตอบโจทย์ทั้งความมั่นคงของระบบไฟฟ้าและไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และจะทำมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แข่งขันได้
พลังงานทางเลือกใหม่ ดูความก้าวหน้าโรงไฟฟ้า SMR
สำหรับการเชิญคณะสื่อมวลชนมาดูงานโรงไฟฟ้า SMR ที่โรงไฟฟ้า Linglong One ในมณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ถือเป็นโรงไฟฟ้า SMR บนพื้นดินเชิงพาณิชย์รุ่นแรกของโลก ซึ่ง กฟผ. มองว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่น่าสนใจและต้องเร่งศึกษา รวมถึงเทคโนโลยี SMR ของประเทศอื่นๆ ซึ่งมีการพัฒนามากกว่า 80 แบบ จาก 18 ประเทศทั่วโลก เพื่อนำมาเปรียบเทียบว่าเทคโนโลยีใดดีที่สุดและเหมาะสมกับประเทศไทย ควบคู่กับการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนผ่านสื่อต่างๆ
โรงไฟฟ้า Hainan Changjiang NPP เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดอย่างก้าวกระโดดของมณฑลไห่หนาน เนื่องจากเป็นพื้นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่มีทั้งขนาดใหญ่ที่เดินเครื่องแล้ว และขนาดเล็กซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง โดยโรงไฟฟ้า SMR ที่เข้าชมในครั้งนี้มีชื่อว่า ACP100 หรือ Linglong One มีกำลังผลิต 125 เมกะวัตต์ (MWe) เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นการออกแบบพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จากขนาดใหญ่ให้มีขนาดเล็กลง มีความปลอดภัยสูงขึ้น โดยลดความซับซ้อนของอุปกรณ์ ออกแบบให้ระบบเชื้อเพลิงและระบบผลิตไอน้ำอยู่ภายในโมดูลปฏิกรณ์แบบสำเร็จรูปจากโรงงาน มีระบบระบายความร้อนไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้า ซึ่งมีขนาดเล็ก สูง 10.8 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เมตร หรือเทียบเท่ารถบัส 1 คัน หนักประมาณ 300 ตัน โดยใช้เทคโนโลยีน้ำอัดแรงดัน หรือ PWR (pressurized water reactor) ซึ่งใช้น้ำเป็นตัวกลางระบายความร้อน สามารถหยุดการทำงานได้เองเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ระบบระบายความร้อนไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้า
ส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้คือยูเรเนียมออกไซด์ (ความเข้มข้นของ U-235 น้อยกว่า 5%) ปล่อยพลังงานความร้อนจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องเปลี่ยนเชื้อเพลิงนานถึง 24 เดือน นอกจากนี้การออกแบบที่มีความปลอดภัยมากขึ้นทำให้พื้นที่ในการจัดเตรียมแผนฉุกเฉินลดลงด้วย โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่อาจมีรัศมีถึง 16 กิโลเมตร ขณะที่โรงไฟฟ้า SMR มีรัศมีน้อยกว่า 1 กิโลเมตร เท่านั้น โดยคาดว่าจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ภายในปี 2569 จะมีอายุการใช้งานถึง 60 ปี โดยใช้ขนาดพื้นที่ของโรงไฟฟ้าเพียง 125 ไร่เท่านั้น
ส่วนการประเมินเงินลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า SMR คาดว่าจะสูงกว่าโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมประมาณ 2–3 เท่า แต่เนื่องจากโรงไฟฟ้า SMR มีอายุการใช้งาน 60 ปี และมีต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ต่ำมาก ดังนั้น หากคำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดอายุของโรงไฟฟ้าก็ถือว่าใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม และในอนาคตมูลค่าการลงทุนโรงไฟฟ้า SMR ก็จะถูกลงอีก ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้ามีราคาที่แข่งขันได้มากยิ่งขึ้น
นายเทพรัตน์กล่าวย้ำว่า “ไฟฟ้าเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และเป็นต้นทุนของทุกอุตสาหกรรม ดังนั้น การพัฒนาโรงไฟฟ้า SMR เป็นอีกทางเลือกที่ตอบโจทย์ความมั่นคง ไฟฟ้าสีเขียว มีราคาแข่งขันได้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจและการแข่งขันของประเทศ”
โรงไฟฟ้า SMR มณฑลไห่หนาน สู่ “เกาะพลังงานสะอาด” 2030
มณฑลไห่หนาน หรือเกาะไหหลำ ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของจีน เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของจีน รองจากไต้หวัน มีประชากรประมาณ 8.86 ล้านคน และชนกลุ่มน้อยกว่า 37 ชนเผ่า โดยมีเมืองสำคัญอยู่ 2 เมือง คือ เมืองไห่โข่ว ซึ่งเป็นเมืองเอกของมณฑลไห่หนาน และเมืองซานย่า โดย GDP ของมณฑลไห่หนานในปี 2023 อยู่ที่ 9.2% หรือประมาณ 755 ล้านหยวน ปัจจัยสำคัญจากการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
มณฑลไห่หนานเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีน การเติบโตของเศรษฐกิจและประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าในปี 2026–2035 อัตราการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 5.2 ต่อปี โดยปัจจุบันพลังงานไฟฟ้าส่วนใหญ่ของมณฑลไห่หนานผลิตจากเชื้อเพลิงถ่านหินและพลังงานนิวเคลียร์ โดยรัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2030 มณฑลไห่หนานจะเป็นเกาะพลังงานสะอาด (clean energy island หรือ CEI) ด้วยการสนับสนุนนวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงานลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงถ่านหิน ส่งเสริมเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และห้ามจำหน่ายยานยนต์ที่ใช้น้ำมัน
ต่อมารัฐบาลมณฑลไห่หนานได้ออก “แผนปฏิรูปพลังงาน” ตั้งเป้าหมายใช้พลังงานสะอาด (ก๊าซธรรมชาติ นิวเคลียร์ พลังงานหมุนเวียน) สัดส่วน 50% และใช้พลังงานสะอาด 100% ภายในปี 2035 โดยแผนปฏิรูปพลังงานยังครอบคลุมถึงระบบบริหารการจัดการพลังงานเพื่อกระจายไปยังพื้นที่ชนบท การพัฒนาตลาดพลังงานให้เปิดกว้างและเกิดการแข่งขัน การพัฒนาสิ่งแวดล้อมทางด้านนโยบายของกลุ่มพลังงาน (energy sector)
ดังนั้น การสร้างโรงไฟฟ้า Hainan Changjiang SMR หรือ Linglong One จึงตอบโจทย์เป้าหมายข้างต้น เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก ขนาด 125 เมกะวัตต์ (MWe) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า SMR ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และยังไม่ได้ใส่เชื้อเพลิง จึงสามารถเข้าไปศึกษาดูงานได้อย่างใกล้ชิด
โรงไฟฟ้า Hainan Changjiang SMR
โรงไฟฟ้า Hainan Changjiang SMR พัฒนาโดย China National Nuclear Corporation (CNNC) ซึ่งเริ่มพัฒนาและออกแบบเมื่อปี 2553 และผ่านการตรวจสอบด้านความปลอดภัยจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ของสหประชาชาติ ในปี 2559 จากนั้นเริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 คาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ภายในปี 2569 มีอายุการใช้งาน 60 ปี
SMR module ของโรงไฟฟ้า Hainan Changjiang SMR เป็นโมดูลสำเร็จรูปมีขนาดเล็ก สูง 10 เมตร รัศมี 3.35 เมตร หรือเทียบเท่ารถบัส 1 คัน หนักประมาณ 300 ตัน โดยใช้เทคโนโลยีน้ำอัดแรงดัน หรือ PWR (pressurized water reactor) แบบ ACP100 ใช้น้ำเป็นตัวกลางระบายความร้อน และออกแบบให้อุปกรณ์ทั้งหมดทั้งระบบเชื้อเพลิง ระบบผลิตไอน้ำอยู่ภายในเครื่องปฏิกรณ์ เชื้อเพลิงที่ใช้คือ ยูเรเนียมออกไซด์ (ความเข้มข้นของ U-235 น้อยกว่า 5%) ปล่อยพลังงานความร้อนจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องเปลี่ยนเชื้อเพลิงนานถึง 24 เดือน
โรงไฟฟ้า Hainan Changjiang SMR ถูกออกแบบให้สามารถหยุดการทำงานได้เองเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน และมีระบบป้องกันความปลอดภัยที่สูงขึ้น โดยลดความซับซ้อนของระบบ มีการรวมอุปกรณ์สำคัญไว้ภายในเครื่องปฏิกรณ์ จึงช่วยลดการใช้ปั๊ม จำนวนท่อและข้อต่อต่างๆ ทำให้อุบัติเหตุที่เกิดจากการรั่วไหลของน้ำหรือสารระบายความร้อนลดลง อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีระบายความร้อนที่ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าหรือพนักงานเดินเครื่องในการควบคุม แต่ใช้หลักธรรมชาติ เช่น แรงโน้มถ่วง การถ่ายเทความร้อน ทำให้โรงไฟฟ้าไม่เกิดความเสียหาย แม้ไม่มีกระแสไฟฟ้าในระบบได้นานถึง 72 ชั่วโมง นอกจากนี้ขนาดของโรงไฟฟ้าที่เล็กลงยังทำให้พื้นที่รัศมีในการปล่อยสารกัมมันตรังสีลดลงด้วย โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่อาจมีรัศมีถึง 16 กิโลเมตร ขณะที่โรงไฟฟ้า SMR มีรัศมีน้อยกว่า 1 กิโลเมตร
1. ช่วยเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า เพราะสามารถผลิตไฟฟ้าในปริมาณมากได้อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แข่งขันได้ เนื่องจากใช้เชื้อเพลิงน้อย (เชื้อเพลิง 1 แท่ง ผลิตไฟฟ้าได้ต่อเนื่องนานถึง 24 เดือน) และราคาเชื้อเพลิงไม่ผันผวนเหมือนก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน
2. เป็นมิตรต่อสิ่งแวลด้อม ผลิตไฟฟ้าโดยไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
3. ใช้พื้นที่น้อยประมาณ 100 ไร่ (โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วไปใช้ประมาณ 1,000 ไร่)
4. ลดระยะเวลาในการก่อสร้างเหลือประมาณ 3–4 ปี (โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วไปใช้เวลาก่อสร้าง 5–6 ปี)
5. สามารถใช้งานได้หลากหลายทั้งผลิตไฟฟ้า ผลิตความร้อนสำหรับอุตสาหกรรม และผลิตไฮโดรเจน
6. อุปกรณ์หลักประกอบเบ็ดเสร็จจากโรงงาน ทำให้สามารถควบคุมมาตรฐานการผลิตและมาตรฐานความปลอดภัยได้ดียิ่งขึ้น
7. การจัดทำแผนฉุกเฉินสำหรับ SMR มีรัศมีน้อยกว่า 1 กิโลเมตร (โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วไปมีรัศมีประมาณ 16 กิโลเมตร)
8. ระบบความปลอดภัยอาศัยหลักธรรมชาติ ไม่ต้องใช้ไฟฟ้า ทำให้มีความปลอดภัยสูง
1. โรงไฟฟ้า SMR ยังไม่ได้นำไปใช้อย่างกว้างขวางสำหรับการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์
2. ใช้เงินลงทุนสูงกว่าโรงไฟฟ้าอื่นๆ เนื่องจากมีระบบความปลอดภัยและการป้องกันรังสีที่เข้มงวด
3. การสร้างความเข้าใจและการยอมรับของประชาชนต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
4. ต้องมีการจัดการกากกัมมันตรังสีและเชื้อเพลิงใช้แล้ว
พลังงานเซลล์แสงอาทิตย์–ไฮโดรเจน
การดูงานครั้งนี้นอกจากพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์แล้วยังได้ไปเยี่ยมชมกิจการการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ Yinggehai มณฑลไห่หนาน กำลังผลิตสูงถึง 400 เมกะวัตต์ พร้อมติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานรวม 200 เมกะวัตต์–ชั่วโมง พัฒนาบนพื้นที่นาเกลือที่เลิกใช้ประโยชน์แล้ว และพื้นที่ชายฝั่งให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่นเดียวกับการพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. ที่ติดตั้งบนพื้นที่ผิวน้ำในเขื่อน จึงไม่กระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตรและไม่มีต้นทุนค่าที่ดิน สามารถใช้อุปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิมอย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่สามารถแข่งขันได้ ปัจจุบัน กฟผ. มีแผนจะเร่งดำเนินการโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำในเขื่อน กฟผ. จำนวน 2,656 เมกะวัตต์ ให้เสร็จสิ้นภายในปี 2573 โดยโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ชุดที่ 1 กำลังผลิต 140 เมกะวัตต์ เป็นโครงการฯ ที่ 3 ของ กฟผ. และอยู่ระหว่างขออนุมัติโครงการต่อคณะรัฐมนตรี
การพัฒนารถและเชื้อเพลิงไฮโดรเจน
ส่วนการเยี่ยมชมการพัฒนาเชื้อเพลิงไฮโดรเจน มณฑลไห่หนานได้พัฒนาสถานีไฮโดรเจน ไห่โข่ว ผลิตไฮโดรเจนสีเขียวจากไฟฟ้าที่ได้จากโซลาร์เซลล์ กำลังผลิต 5 เมกะวัตต์ ด้วยกระบวนการอิเล็กโทรลิซิส (electrolysis) แยกน้ำเป็นไฮโดรเจนด้วยไฟฟ้า ซึ่งสามารถผลิตไฮโดรเจนสีเขียวได้ 100 กิโลกรัมต่อวัน จากนั้นนำไปกักเก็บไว้ในถังเก็บไฮโดรเจนสามารถเติมให้รถที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนได้
สำหรับประเทศไทย กฟผ. มีโครงการ Wind Hydrogen Hybrid ที่โรงไฟฟ้าลำตะคอง จ.นครราชสีมา สามารถผลิตไฮโดรเจนสีเขียวจากไฟฟ้าที่ได้จากกังหันลมด้วยกระบวนการอิเล็กโทรลิซิส ทำงานร่วมกับเซลล์เชื้อเพลิง (fuel cell) กำลังผลิต 300 กิโลวัตต์ เปลี่ยนไฮโดรเจนให้เป็นพลังงานไฟฟ้าจ่ายให้ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง โดยเริ่มใช้งานตั้งแต่ปี 2559 ปัจจุบัน กฟผ. มีโครงการที่ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา คือ โครงการผลิตไฮโดรเจนและแอมโมเนียสะอาดจากพลังงานหมุนเวียนบนพื้นที่ศักยภาพของ กฟผ. ซึ่งมีเป้าหมายเริ่มดำเนินโครงการต้นแบบในปี 2573 นอกจากนี้ กฟผ. อยู่ระหว่างศึกษาศักยภาพและพัฒนาการนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมกับก๊าซธรรมชาติสัดส่วน 5% ในโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ที่มีอยู่เดิม โดยมีเป้าหมายทดสอบภายในปี 2573
ศูนย์ข้อมูลด้านพลังงานไห่หนาน “Hainan Energy Data Center”
นอกจากนี้คณะสื่อมวลชนได้เยี่ยมชมศูนย์ข้อมูลด้านพลังงานไห่หนาน (Hainan Energy Data Center) เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ณ เมืองไห่โข่ว สาธารณรัฐประชาชนจีน
นายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. กล่าวว่า จากแนวโน้มพลังงานโลกที่มุ่งเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสีเขียว ส่งผลให้ข้อมูลด้านพลังงานเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยวางแผนการพัฒนาพลังงานเพื่อรองรับการใช้พลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนนำไปใช้เป็นตัวชี้วัดในการพยากรณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ ทางมณฑลไห่หนานได้จัดตั้ง “ศูนย์ข้อมูลด้านพลังงานไห่หนาน” โดยเปิดใช้เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อรองรับการเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมพลังงานสีเขียวและคาร์บอนต่ำ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงเป็นฐานข้อมูลในการพัฒนานโยบายด้านพลังงานของมณฑลไห่หนาน
ปัจจุบัน ศูนย์ข้อมูลด้านพลังงานไห่หนานได้พัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อรองรับและสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด เช่น
สำหรับ กฟผ. ได้จัดตั้งศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RE Forecast Center) นำข้อมูลการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ของผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) จำนวน 29 แห่ง ที่เชื่อมต่อกับระบบของ กฟผ. มาวิเคราะห์และประมวลผล จากนั้นจึงนำผลการพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไปใช้วางแผนการผลิตไฟฟ้าร่วมกับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ รวมทั้งเป็นการนำข้อมูลด้านพลังงานมาใช้วิเคราะห์และวางแผน ตอบโจทย์การบริหารจัดการพลังงานสีเขียวในอนาคตอย่างเป็นรูปธรรม
“ข้อมูลการพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในระยะเริ่มต้นมาจาก SPP เป็นหลัก หากในอนาคต สามารถนำข้อมูลการผลิตไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จากหน่วยงานอื่นๆ มาร่วมประมวลผล จะยิ่งทำให้การพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของประเทศมีความแม่นยำสูงขึ้น ส่งผลดีต่อการบริหารจัดการพลังงานของประเทศในภาพรวมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”
นอกจากนี้ จีนยังมีแผนปรับปรุงโครงข่ายระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคงมากขึ้นเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบของโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ (pumped storage hydropower) จำนวนมาก เนื่องจากเป็นระบบกักเก็บพลังงานขนาดใหญ่ที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยต่ำเมื่อเทียบกับระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบอื่นๆ โดยนำพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำสูบน้ำไปกักเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำตอนบน และปล่อยกลับมาผลิตไฟฟ้าในเวลาที่ต้องการ ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าทดแทนพลังงานหมุนเวียนได้อย่างทันท่วงที โดยปัจจุบันประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ 3 แห่ง รวม 1,531 เมกะวัตต์ ได้แก่
และ กฟผ. มีแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับในอนาคตเพิ่มอีก 3 แห่ง ประมาณ 2,480 เมกะวัตต์ ได้แก่
สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ กฟผ. ต้องเร่งพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบต่างๆ ให้เพียงพอต่อการบริหารจัดการเมื่อพลังงานหมุนเวียนหายไปจากระบบ ซึ่งการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับจะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้า ในต้นทุนที่เหมาะสม ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รองรับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว มุ่งสู่เป้าหมาย carbon neutrality ของประเทศ