ไทยพึ่งพา “ภาคอุตสาหกรรม” เป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจมาตั้งแต่ช่วงยุคทศวรรษ 1980 โดยรัฐบาลไทยภายใต้การนำของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้พัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (Eastern Seaboard) บริเวณจังหวัดระยองและชลบุรี ให้กลายเป็นแหล่งการผลิตภาคอุตสาหกรรม ประจวบเหมาะกับที่ญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตรถยนต์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มายังไทย ส่งผลให้การผลิตเพื่อส่งออกของไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด เศรษฐศาสตร์มองว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะการผลิตเพื่อส่งออกมีศักยภาพในการสร้างงาน และมองว่ารายได้ของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมมีศักยภาพในการเติบโตได้มาก ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการผลิตที่จะช่วยให้แรงงานมีผลิตภาพสูงขึ้น
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยเติบโตชะลอลง ทั้งจากความท้าทายภายนอก (ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และผลต่อการค้าระหว่างประเทศ) และความอ่อนแอภายใน (เนื่องจากไทยไม่ได้มีความชำนาญในการผลิตและส่งออกสินค้าที่จะเป็นที่ต้องการของตลาดโลก และพัฒนาความสามารถในการแข่งขันไม่ทันคู่แข่ง) ส่งผลให้ความต้องการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมลดน้อยลงตามไปด้วย นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมยังหันมาใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง เช่น ระบบอัตโนมัติ (automation) หรือหุ่นยนต์ (robotics) มาทำงานที่มีแบบแผนชัดเจน เช่น การทำงานบนสายการผลิต แทนแรงงานทักษะต่ำ โดยข้อมูลบ่งชี้การสำรวจภาคอุตสาหกรรมไทยพบว่า สัดส่วนของแรงงานทักษะต่ำลดลงอย่างมีนัยสำคัญในโรงงานที่ใช้ระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิต (Sangsubhan, Pornpattanapaisankul and Kambuya, 2023)1
ในขณะที่การผลิตและการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมชะลอลง “ภาคบริการ” ก็ก้าวขึ้นมามีบทบาทสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน โดยในช่วงปี 2011-2023 ภาคบริการมีส่วนร่วมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยถึง 83% เพิ่มขึ้นจาก 54% ในช่วงปี 2000-2007 ทำให้ภาคบริการไทยในปี 2023 สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2 ใน 3 ของ GDP ทั้งประเทศ และที่สำคัญ ภาคบริการจ้างงานจำนวนมากถึง 49% ของจำนวนผู้มีงานทำในปี 2023
ด้วยขนาดและความสำคัญที่มี การพัฒนาภาคบริการอย่างเหมาะสมจะสามารถสร้างงานและรายได้ที่มั่นคงให้กับแรงงานไทยกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ ในบทนี้ ผู้เขียนจะขอเล่าถึงธรรมชาติของภาคบริการที่เปลี่ยนแปลงไป และโอกาสในการพัฒนาภาคบริการให้มีมูลค่าสูงขึ้น
ธุรกิจบริการมีความหลากหลายในแง่ของรูปแบบการเติบโตและการจ้างงาน
เราสามารถแบ่งธุรกิจบริการตามผลิตภาพแรงงานออกเป็น 2 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มที่มีผลิตภาพสูง ได้แก่ ธุรกิจโทรคมนาคม การให้บริการทางวิชาชีพ สุขภาพ การเงิน และการศึกษา (2) กลุ่มที่มีผลิตภาพต่ำ เช่น ธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่ง โรงแรม ร้านอาหารและการก่อสร้าง ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติและ ILO (International Labour Organization หรือองค์การแรงงานระหว่างประเทศ) ระบุว่า กลุ่มที่มีผลิตภาพต่ำจ้างงานมากกว่า 80% ของแรงงานในภาคบริการทั้งหมด โดยเป็นแรงงานทักษะระดับปานกลาง-ต่ำเกินกึ่งหนึ่ง
โอกาสของภาคบริการที่มีผลิตภาพสูงมาจากเทคโนโลยีสารสนเทศและห่วงโซ่อุปทานโลก ในอดีต การบริการส่วนใหญ่ไม่สามารถส่งออกได้ (non-tradable goods) เนื่องจากผู้ให้บริการเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นต่อการบริการ การส่งออกบริการจึงต้องส่งผู้ให้บริการไปพร้อมกันด้วย ด้วยข้อจำกัดดังกล่าว ภาคบริการจึงต้องพึ่งพาตลาดภายในประเทศเป็นหลัก จนกระทั่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การบริการสามารถส่งออกได้มากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัลปลดล็อกข้อจำกัดในการให้บริการทางไกล โดยไม่จำเป็นต้องส่งผู้ให้บริการออกไปด้วย เช่น การให้คำปรึกษาทางวิชาชีพที่สามารถให้บริการทางไกลผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น Business Skype หรือ Slack ดังนั้น ภาคบริการจึงสามารถเข้าถึงตลาดส่งออกที่ใหญ่กว่าตลาดภายในประเทศได้มากขึ้น และมีศักยภาพในการเติบโตสูงขึ้นด้วย นอกจากนี้ การบริการในปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของการส่งออกสินค้า ทั้งยังเป็นวัตถุดิบของการผลิตสินค้าส่งออก (servicification เช่น ซอฟต์แวร์ควบคุมการทำงานของรถยนต์ไฟฟ้า หรือซอฟต์แวร์บริการสินค้าคงคลัง) และเป็นองค์ประกอบที่ทำให้สินค้าส่งออกสมบูรณ์ขึ้น (servitization เช่น การซ่อมบำรุงและบริการหลังการขาย)2
อย่างไรก็ตาม แม้เทคโนโลยีสารสนเทศและห่วงโซ่อุปทานโลกเอื้อต่อการส่งออกภาคบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง แต่ธุรกิจบริการกลุ่มนี้ยังมีขนาดเล็กทั้งในแง่ของมูลค่าทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน ขณะเดียวกัน ยังมีแรงงานภาคบริการอีกกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในธุรกิจบริการที่มีมูลค่าเพิ่มน้อย แต่ยังมีความสำคัญต่อจ้างงานส่วนใหญ่ในภาคบริการ ปัญหาของธุรกิจบริการกลุ่มนี้คือ ขาดความสามารถในการแข่งขัน และถูกจำกัดอยู่กับความต้องการการรับบริการในบริเวณใกล้เคียง
เนื่องจากบริบทแตกต่างกัน เราจึงต้องแยกโจทย์ในการพัฒนาภาคบริการออกเป็น 2 ข้อ คือ
โจทย์ 1 ทำอย่างไรให้ภาคบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงมีขนาดใหญ่ขึ้น และจ้างงานมากขึ้น
คำตอบ : ส่งออกบริการกลุ่มนี้ไปยังตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยการเปิดเสรีภาคบริการ
การเปิดเสรีการค้าบริการหมายถึงการลดหรือยกเลิกข้อจำกัดที่ขัดขวางการให้บริการข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ โดยทั่วไปข้อจำกัดเหล่านี้รวมถึงการจำกัดสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติ กฎระเบียบด้านใบอนุญาต และอุปสรรคทางกฎหมายที่ทำให้บริษัทต่างชาติเข้าถึงตลาดยากขึ้น การเปิดเสรีการค้าภาคบริการ ช่วยให้ธุรกิจบริการสามารถขยายการขอบเขตดำเนินธุรกิจข้ามพรมแดนได้ง่ายขึ้น และลดต้นทุนในการเข้าสู่ตลาดใหม่ นอกจากนี้ การเปิดตลาดให้ผู้ให้บริการมืออาชีพจากต่างชาติเข้ามาทำงานและร่วมมือกับบริษัทในประเทศ ยังช่วยพัฒนาองค์ความรู้และยกระดับคุณภาพของบุคลากรในภาคบริการให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้มากขึ้น
ตัวอย่างที่โดดเด่นของประโยชน์จากการเปิดเสรีการค้าบริการคือ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการให้บริการทางธุรกิจของอินเดีย ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 รัฐบาลอินเดียได้ปฏิรูปกฎหมายและเปิดเสรีอุตสาหกรรมโทรคมนาคม อนุญาตให้บริษัทต่างชาติลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บริษัทที่ให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและศูนย์บริการลูกค้าระดับโลก ทำให้อินเดียกลายเป็นศูนย์กลางด้านซอฟต์แวร์และบริการดิจิทัลของโลก การลงทุนจากต่างประเทศและการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทข้ามชาติมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาแรงงานทักษะสูงของอินเดีย ซึ่งช่วยให้ประเทศสามารถขยายการส่งออกบริการที่มีมูลค่าสูงได้อย่างต่อเนื่อง3
สำหรับไทย ดัชนี Service Trade Restrictiveness Index ของ OECD ชี้ว่า เราเปิดเสรีบริการน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศในภูมิภาคเดียวกัน และเปิดเสรีภาคบริการน้อยที่สุดในเกือบทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกีดกันไม่ให้ธุรกิจบริการจากต่างชาติเข้าสู่ตลาด การเคลื่อนย้ายแรงงาน การแข่งขัน ไปจนถึงความโปร่งใสของกฎระเบียบในการดำเนินธุรกิจ (รูปที่ 1) ในแง่หนึ่งแปลว่า ไทยยังมีโอกาสในการเปิดเสรีภาคบริการเพิ่มเติม เพื่อรับผลประโยชน์จากการให้บริการข้ามพรมแดนมากขึ้น
รูปที่ 1 Service Trade Restrictiveness (2022)โจทย์ที่ 2 คือการพัฒนาผลิตภาพของแรงงานในภาคบริการที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ
คำตอบ พัฒนาทักษะแรงงานควบคู่ไปกับการสร้างสนามแข่งขันที่เท่าเทียม
ธุรกิจบริการที่ใช้แรงงานทักษะต่ำและพึ่งพาตลาดภายในประเทศ เช่น ธุรกิจก่อสร้าง การค้าปลีกขนาดเล็ก โรงแรมและร้านอาหาร มักเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจนอกระบบ (informal sector) ซึ่งครอบคลุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดของธุรกิจหรือแรงงานที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมาย หรือไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอจากกฎหมาย อันรวมถึงทั้งธุรกิจที่ไม่ได้จดทะเบียนทางกฎหมาย และการจ้างงานที่อาจไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงาน (รูปที่ 2)
รูปที่ 2 สัดส่วนแรงงานนอกระบบ (2018)
ในอีกมุมหนึ่ง แรงงานจำนวนมากในธุรกิจบริการกลุ่มนี้ก็อยู่นอกระบบ6 มีรายได้ไม่สม่ำเสมอและขาดความคุ้มครองทางสังคม เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือประกันสังคม7 พวกเขาจึงจำเป็นต้องให้เวลากับการทำงานหารายได้ด้วยทักษะที่มี และขาดแรงจูงใจที่จะแบ่งเวลาไปพัฒนาทักษะใหม่ โดยการสำรวจของ SCB EIC ในปี 2021 พบว่า 60% ของผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือนไม่ได้ upskill/reskill (ค่าเฉลี่ยของประเทศอยู่ที่ 44%) โดยเหตุผลหลักคือ “ไม่มีเวลาและไม่มีโอกาส”8
ดังนั้น การเพิ่มผลิตภาพแรงงานจึงต้องดำเนินการทั้งในฝั่งธุรกิจและแรงงานไปพร้อมกัน ทางฝั่งธุรกิจ ผู้ดำเนินนโยบายควรส่งเสริมให้ธุรกิจบริการขนาดเล็กเข้าสู่ระบบ ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจมีรายได้ที่มั่นคง เข้าถึงเงินทุนจากภาคการเงิน และเข้าถึงสิทธิประโยชน์ที่ธุรกิจในระบบพึงได้ ธุรกิจบริการขนาดเล็กจะมีแรงจูงใจที่จะเข้าสู่ระบบมากขึ้น ถ้า (1) ผู้ดำเนินนโยบายสามารถสร้างสนามแข่งขันที่เป็นธรรม (level playing field) การลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด เช่น ลดกฎระเบียบที่เป็นภาระต่อธุรกิจขนาดเล็ก ควบคู่ไปกับ (2) สนับสนุนให้ธุรกิจบริการขนาดเล็กเข้าถึงทางเลือกในการระดมทุนที่หลากหลาย ซึ่งเป็นเงื่อนไขจำเป็นต่อการเข้าสู่ตลาด เมื่อธุรกิจบริการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนพวกเขามากขึ้น ธุรกิจบริการจะมีแรงจูงใจที่จะเข้าสู่ระบบ และต่อยอดประโยชน์จากการประกอบกิจการในระบบเพื่อสร้างกิจการที่มั่นคง
ทางฝั่งแรงงาน นอกจากการจัดหาหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานแล้ว สิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือการให้ความคุ้มครองทางสังคมแก่แรงงาน เช่น การเข้าถึงประกันสุขภาพ การออมเพื่อเกษียณอายุ ความคุ้มครองทางสังคมจะช่วยให้แรงงานมีฐานะทางเศรษฐกิจที่มั่นคงขึ้น และสามารถให้เวลากับการพัฒนาทักษะเพื่อขยับไปสู่งานที่มีค่าตอบแทนสูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น นโยบายของสิงคโปร์ที่กำหนดให้ตั้งแต่ปี 2025 บริษัทแพลตฟอร์ม เช่น Grab ต้องสนับสนุนเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Central Provident Fund)9 และจัดหาประกันอุบัติเหตุให้กับคนขับรถรับจ้างและผู้ส่งอาหารของแพลตฟอร์ม
มองไปข้างหน้า ภาคบริการจะยังมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานของไทย ในบริบทที่ภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทลดลงและมีความไม่แน่นอนสูง ที่สำคัญ การพัฒนาภาคบริการมีอิทธิพลต่อคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กและครัวเรือนรายได้น้อยซึ่งประสบปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย การพัฒนาภาคบริการจึงสามารถตอบโจทย์การเติบโตและการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในคราวเดียว
การพัฒนาทางเทคโนโลยีจะมีนัยต่อการพัฒนาภาคบริการมากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ โครงสร้างเชิงสถาบันที่มีผลต่อโอกาสและแรงจูงใจของธุรกิจและแรงงานในภาคบริการ เช่น โอกาสและแรงจูงใจในการแข่งขัน โครงสร้างเชิงสถาบันที่เหมาะสมเป็นเงื่อนไขในการเปลี่ยนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจและความกินดีอยู่ดีของคนส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจไทย ผ่านการพัฒนาภาคบริการ
อ้างอิง
1. Sangsubhan, Pornpattanapaisankul, Kambuya (2023) พบว่าธุรกิจที่นำระบบอัตโนมัติมาใช้มีผลิตภาพรวมของปัจจัยการผลิตสูงกว่าธุรกิจที่ไม่ได้ใช้ระบบอัตโนมัติประมาณ 23% https://www.pier.or.th/files/dp/pier_dp_199.pdf
2. https://www.weforum.org/stories/2024/01/opportunities-investment-services-drive-growth/
3. https://www.imf.org/external/np/apd/seminars/2003/newdelhi/gordon.pdf
4. https://2012-2017.usaid.gov/sites/default/files/documents/1861/Informal_Economy.pdf
5. https://www.pier.or.th/abridged/2022/09/
6. ILO นิยามว่า แรงงานนอกระบบหมายถึงแรงงานที่ไม่มีการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานหรือสวัสดิการทางสังคมที่เป็นทางการ
7.https://www.econ.chula.ac.th/%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3/
8. https://thaipublica.org/2022/05/eic-labour-survey-report-2021/
9. https://www.straitstimes.com/singapore/politics/eligible-platform-workers-to-get-boost-in-cpf-savings-cushion-to-protect-take-home-pay