ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯเผย ‘สี จิ้นผิง’ แนะข้อดี – ข้อเสีย ‘เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์’- ออมสินจัด ‘ซอฟต์โลน’ 5 หมื่นล้าน ปลดหนี้ Non-Banks

นายกฯเผย ‘สี จิ้นผิง’ แนะข้อดี – ข้อเสีย ‘เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์’- ออมสินจัด ‘ซอฟต์โลน’ 5 หมื่นล้าน ปลดหนี้ Non-Banks

11 กุมภาพันธ์ 2025


เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯเผย ‘สี จิ้นผิง’ แนะข้อดี – ข้อเสีย ‘เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์’
  • ย้ำยังไม่เซ็น ปรับ ครม. ก็ไม่ใช่โผจริง
  • เร่ง ‘มท.-ยธ.-สธ.’ ชง ครม.แก้ กม.จำกัดเวลาขายเหล้าภายใน 15 มี.ค.นี้
  • เผยตัดน้ำ – ไฟ ช่วยลดคอลเซ็นเตอร์ลงได้ 40-50%
  • ตั้งคณะทำงานรับ ‘ทรัมป์’ ขึ้นภาษี
  • มติ ครม.ไฟเขียวออมสินจัด ‘ซอฟต์โลน’ 5 หมื่นล้าน ปลดหนี้ Non-Banks
  • เห็นชอบแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหา ‘คุณแม่วัยใส’ ปี 2560-70
  • เปิด ‘เออร์ลี่ รีไทร์’ ทหารยศพันเอกขึ้นไป รับเงินก้อนสูงสุด 10 เท่า
  • เพิ่มงบฯก่อสร้างที่ทำการ สตง.แห่งใหม่ เป็น 84 ล้านบาท
  • เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีและแถลงผลการประชุม ครม.มีดังนี้

    ชวน ครม.-ปชช. ใส่ผ้าพระราชทานลาย ‘สิริราชพัสตราภรณ์’

    นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า เนื่องด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงออกแบบผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริราชพัสตราภรณ์” เนื่องในโอกาสทรงได้รับการถวายปริญญาศิลปกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ ประจำปีการศึกษา 2566 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้พระราชทานผ้าลายพระราชทานผ้าลายดังกล่าวแก่ช่างทอผ้าและช่างหัตถกรรมไทย เพื่อนำไปถักทอผืนผ้าผืนผ้าและสร้างสรรค์งานหัตถกรรม

    นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ในโอกาสนี้ขอเชิญชวนให้คณะรัฐมนตรี รวมทั้งพี่น้องประชาชนทุกคน สวมใส่ผ้าลายสิริราชพัสตราภรณ์ และขอให้ทุกหน่วยงานช่วยกันประชาสัมพันธ์ลายผ้าพระราชทาน พร้อมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการสวมใส่ในโอกาสต่างๆ รวมทั้งให้มีการศึกษาต่อยอดส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นต่อไป

    เล็งแก้ กม.จำกัดเวลาขายเหล้า หนุนท่องเที่ยว

    นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้รับข้อร้องเรียนจากภาคธุรกิจเรื่องข้อจำกัดทางกฎหมายในการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และไม่สอดคล้องกับนโยบายในปีนี้ของรัฐบาล ที่ได้ดำเนินการส่งเสริมเรื่องของการท่องเที่ยวภายใต้ธีม “Amazing Thailand Grand Tourism and Sports Year”

    นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ตนได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการศึกษาเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกฎหมายการห้ามขายช่วงเวลา 14.00 – 17.00 น. หรือ ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางพุทธศาสนา ว่าได้รับผลกระทบต่อด้านการท่องเที่ยวอย่างไร รวมทั้งมาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์

    “กฎบางกฎออกมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 หรือพ.ศ. 2515 อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง revise เรื่องนี้้อีกรอบ แต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและป้องกันไม่ให้เยาวชนเข้าถึงแอลกอฮอล์อย่างง่ายดาย” นางสาวแพทองธาร กล่าว

    นางสาวแพทองธาร ย้ำว่า เรื่องนี้รัฐบาลให้ความสำคัญมากที่สุด เพราะเมื่อปลดล็อกกฎหมายนี้ จะเพิ่มรายได้ผู้ประกอบการและการท่องเที่ยวแล้ว แต่จะต้องปกป้องเยาวชนไม่ให้เข้าถึงแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่ได้ละเลย

    เคาะมาตรการช่วยลูกหนี้ Non-banks

    นางสาวแพทองธาร รายงานว่า ที่ประชุม ครม. วันนี้ มีมติอนุมัติมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย กลุ่ม Non–Bank ภายใต้โครงการ “คุณสู้เราช่วย” และหลักเกณฑ์เงื่อนไข กระบวนการเบิกจ่ายโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือ Soft loan สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจกลุ่ม Non – Bank ของธนาคารออมสิน เพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้กลุ่ม Non–Bank ให้สามารถฟื้นตัวกลับมาชำระหนี้ได้

    ย้ำปลดล็อกเวลาขายเหล้า ต้องป้องกันเยาวชนเข้าถึงด้วย

    ผู้สื่อข่าวถามว่า การปรับแก้กฎหมายจะทำให้ซื้อขายเหล้าได้ใช่หรือไม่ โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “เดี๋ยวจะให้ทีมไปศึกษาดูก่อนว่าอย่างไรบ้าง เพราะวันพระใหญ่หรืออะไรที่เป็นข้อห้ามอยู่ ชาวต่างชาติมาแล้วไม่ได้ทราบวันเหล่านี้ก่อน ก็จะมีผลเรื่องการท่องเที่ยว”

    “ธีมปีนี้เป็นตีมการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จะต้องถูกพิจารณาอีกครั้ง” นางสาวแพทองธาร กล่าว

    ผู้สื่อข่าวบอกว่า ปลดล็อคแบบนี้คนจะไม่เมากันทั้งเมืองเลยหรือ ทำให้ นางสาวแพทองธาร อุทาน “โอ้ว” และพูดต่อว่า “ปกติทุกท่านดื่มกันทุกวันเลยหรอคะ ดื่มหนักนะคะ”

    “ก่อนหน้านี้ที่ไม่ได้มีกฎเรื่องนี้ก็มีอยู่แล้ว เรื่องบ่ายสองถึงห้าโมงมีมาช่วงไม่เท่าไร (ดิฉัน) ยังบอกใน ครม. เลยว่าคงต้องเน้นย้ำเรื่องการเข้าถึงมากกว่า คนที่เป็นผู้ใหญ่บรรลุนิติภาวะทุกอย่างแล้ว ก็เรื่องหนึ่ง แต่เด็กกว่านั้นที่ต้องโฟกัส ไม่ใช่พอเราปลดแล้วทุกคนมีสิทธิซื้อขาย อันนี้คือเรื่องที่ต้องเน้นย้ำมาตรการให้ถูกจุด” นางสาวแพทองธาร กล่าว

    เผยตัดน้ำ – ไฟ ช่วยลดคอลเซ็นเตอร์ลงได้ 40-50%

    นางสาวแพทองธาร ตอบคำถามหลังจากที่รัฐบาลมีมาตรการตัดน้ำ-ไฟประเทศเมียนมา เพื่อสกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ว่า “เท่าที่ดูเรื่องไฟ เรื่องอะไรต่างๆ สามารถลดไปได้แล้ว 40-50% แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงหนึ่งอาทิตย์ เมื่อกี้ท่านรองนายกฯ (ประเสริฐ จันทรรวงทอง) พูดว่า ประมาณสองอาทิตย์จะได้ตัวเลขที่ค่อนข้างตรงกว่านี้ แต่การที่เก็บคงต้องเก็บยากหน่อย เพราะเราตัดไฟ ผลฝั่งนั้นคือไฟหมดไป แต่การเก็บตัวเลขฝั่งเราต้องเป็นการดูว่า คอลเซ็นเตอร์จริงๆ ที่โทรเข้ามาหลอกลวงคนไทยมันลดน้อยอย่างไร เดี๋ยวจะให้ทำตัวเลขกัน แต่เท่าที่เห็นก็ลดลง 40-50% แล้ว”

    ถามต่อว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่เอี่ยวกับเรื่องนี้จะจัดการอย่างไร นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “เราต้องมีการดำเนินการแน่นอน คนที่ผิดต้องได้รับโทษไปตามนั้น”

    เผย ‘สี จิ้นผิง’ แนะข้อดี – ข้อเสีย ‘เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์’

    เมื่อถามว่า จากที่นายกฯ ไปเยือนจีน ได้พูดคุยเรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์กับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนอย่างไร เพราะกฎหมายจีนห้ามเล่นพนัน โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ได้มีการเล่าข้อมูลให้ฟังว่าเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์จะเป็นประมาณว่า มันไม่ใช่ที่กาสิโน เราวางไว้ไม่ถึง 10% ด้วยซ้ำของเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ทั้งหมด ซึ่งตั้งใจว่าจะเป็นที่ของ family ด้วย แปลว่าลูกเล็กเด็กแดงไปได้หมด กาสิโนเป็นส่วนเล็กๆ ในนั้น”

    “ทุกวันนี้เราต้องดูว่าบ่อน หรือ สิ่งผิดกฎหมายเหล่านี้มีไหมในประเทศไทย ถ้้าเราไม่ได้พยายามจะพูดว่ามันคลีน 100% มันมีแน่นอน และเงินเหล่านั้นเกิดประโยชน์ต่อใครบ้าง ถ้าเราดึงขึ้นมาถูกกฎหมายในเขตเศรษฐกิจส่วนนี้ แปลว่าภาษีที่เราเก็บได้เราสามารถนำมาเป็นทุนการศึกษาเด็กได้ นำมาทำให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติได้ นี่คือการเก็บภาษีที่ถูกต้อง กาสิโนคือส่วนเล็กๆ เท่านั้น” นางสาวแพทองธาร ตอบ

    “เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์เป็น man-made tourism ซึ่งจะทำให้ต่างงชาติเข้ามา รายได้ท่องเที่ยวเกิดขึ้น โรงแรมได้ประโยชน์ คนไทยถูกจ้างงานมากขึ้นแน่นอน เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์คือสิ่งที่ใหญ่โต มาได้หมด ลูกค้าอายุเท่าไรก็มาได้” นางสาวแพทองธาร ตอบ

    ถามต่อว่า ประธานาธิบดีจีนเข้าใจใช่หรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ท่านประธานาธิบดีก็ถามถึงเรื่องนี้และได้เล่าให้ฟัง ท่านบอกว่า ถ้้ามีกาสิโนอาจจะเกิดเรื่องอย่างนั้น อย่างนี้ขึ้น เราก็บอกว่ายินดีที่จะรับฟังความคิดเห็นของจีนแน่นอน เพราะเราเป็นประเทศพี่น้องที่ดีต่อกันอยู่แล้ว ด้วยความที่ท่านมีประสบการณ์มากกว่าตัวดิฉัน ดิฉันก็พูดเลยว่าถ้ามีคอมเมนต์อย่างไร พวกเราจะเอาคอมเมนต์จากท่านไปดำเนินการศึกษาต่อ…ท่านก็พูดข้อดี ข้อเสียด้วย เพราะจีนเองก็มีมาเก๊า”

    ยันไม่เลิก ‘ฟรีวีซ่า’ หลังถูกโยงเปิดช่องจีนเทาเข้าประเทศ

    ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีเปิดฟรีวีซ่า เป็นช่องทางให้จีนเทาเข้ามาในประเทศไทย นายกฯ จะจัดการอย่างไร โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “เราต้องมองคนละส่วนกัน แน่นอนเราเปิดฟรีวีซ่า เราไม่สามารถจำกัดได้ว่า คนเข้าประเทศคนนี้หลอกได้ คนนี้ห้ามหลอก เราไม่ทราบอยู่แล้ว แต่นี่คือการท่องเที่ยวที่เอฟเฟคการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ถ้าเราบอกต่อไปนี้ไม่ฟรีวีซ่า เพราะจีนเทาเข้ามา มันเป็นคนละส่วนกัน”

    “สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ตัวเลขปีก่อนหน้านี้นักท่องเที่ยวเข้ามา 27 ล้านคน ปีที่แล้ว 35 ล้านคน…โอ้โห เกิดอะไรขึ้นบ้าง 35 ล้านคน จีดีพีประเทศขยับหรือเปล่า หรือ ท่องเที่ยวตามโรงแรมต่างๆ ได้ประโยชน์กันเยอะแค่ไหน มันเป็นคนละส่วนกัน” นางสาวแพทองธาร ตอบ

    นางสาวแพทองธาร ย้ำว่า “ถ้าเราจะแก้ปัญหาคอลเซ็นเตอร์ด้วยการยกเลิกฟรีวีซ่ามันคนละส่วนกัน การท่องเที่ยวเสียแน่นอน เพราะการท่องเที่ยวดีขึ้นมากๆ เพราะฟรีวีซ่า”

    เล็งตั้ง Working Group แก้ปมถูกหลอกทำงานคอลเซ็นเตอร์

    เมื่อถามถึงความคืบหน้าการพูดคุยระหว่างประเทศ จากที่คนไทยและชาวต่างชาติที่ถูกบังคับให้ไปทำงานในกัมพูชาและเมียนมา นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ใน ครม. ก็คุยกันเรื่อง working team ที่จะทำกันทั้งสองประเทศ ตอนแรกทางประเทศจีน ก็น่ารักกับเรามาก ถึงขนาดจะเสนอเลยว่าจะมาทำให้จริงจัง แต่เราบอกไปว่าขอเป็น working group ที่สามารถ connect กันได้ก่อน เพื่อเกิดความรวดเร็วในการจัดการปัญหาพวกนี้ ซึ่งการถูกหลอก ทุกคนจะแบ่งสัญชาติยาก ก็ตั้งทีมหลอกกันไปกันมาเป็นแก๊ง”

    “เพราะฉะนั้นเราอยากใช้เรื่องนี้เป็น working group ที่สามารถทำงานระหว่างประเทศกันได้ ตอนนี้ก็ฝาก รมว.ต่างประเทศให้ช่วยดูเรื่องนี้” นางสาวแพทองธาร ตอบ

    ปัดตอบ แก้ รธน.

    ผู้สื่อข่าวถามถึงการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2568 โดยนายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี และฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความว่าต้องมีการทำประชามติก่อน จึงจะมีการแก้ไข โดย นางสาวแพทองธาร ตอบสั้นๆ ว่า “เดี๋ยวขอคุยกันเรื่องนี้อีกที”

    สวนนักข่าวถามบัญชีทรัพย์สิน – ให้เบอร์ทนายตอบแทน

    เมื่อถามเรื่องการยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนายกฯ ต่อ ป.ป.ช. เรื่องสิทธิการเช่าอพาร์ตเมนต์ที่ประเทศอังกฤษ ทำให้ นายกฯ หัวเราะและบอกว่า “ครั้งที่แล้วไม่ได้เบอร์ทนายหรอคะ หรือว่าอย่างไร เอ๊ะ ทำไมไม่มีใครให้ ความผิดของทางนี้”

    ผู้สื่อข่าวจึงถามนายกฯ ว่า “เรื่องนี้ถามได้หรือไม่” นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ถามได้ค่ะ แต่ขออนุญาตยังไม่ตอบ”

    ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า บริษัทคู่สัญญาดังกล่าวอยู่ในรายงานปานามาเปเปอร์ ซึ่งเป็นบริษัทค่อนข้างสีเทา ทำให้ นางสาวแพทองธาร ตอบทันทีว่า “เดี๋ยวให้ติดต่อทนายเลย เพราะท่านไม่ช่วยเซฟดิฉันเลย ขอบคุณค่ะ มีคำถามต่อไหมคะ ขอคำถามสุดท้ายเลย”

    พร้อมรับศึกอภิปราย มั่นใจแจงได้ทุกเรื่อง

    เมื่อถามเรื่องการเตรียมความพร้อมในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “เดี๋ยวต้องมีการคุยกัน ท่านรองนายกฯ ก็เพิ่งได้คุยกันที่ประเทศจีนเอง คุยกันก่อนว่าเกิดอะไรขึ้น หัวข้อไหนที่มีคำตอบอะไรบ้าง เดี๋ยวเราจะคุยกันอีกที”

    “เพิ่งกลับมาวันนี้ ได้ทำงานเจอทุกท่านวันนี้ เดี๋ยวภายในอาทิตย์นี้จะต้องเคลียร์เรื่องเหล่านี้ และพร้อมตอบฝ่ายค้าน เพื่อประชาชนจะได้เข้าใจ” นางสาวแพทองธาร ตอบ

    ถามต่อว่า ไม่แปลกใจใช่หรือไม่ที่จะมีการอภิปรายถึงนายทักษิณ ชินวัตร ผู้ช่วยหาเสียง โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ต้องพร้อมตอบทุกเรื่องนะคะ เป็นนายกฯ ต้องพร้อมตอบทุกเรื่อง”

    ย้ำยังไม่เซ็นปรับ ครม. ก็ไม่ใช่โผจริง

    สุดท้าย เมื่อถามถึงโผการปรับ ครม. จาก รมว.เกษตร เป็น รมช.คลัง โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “โผอะไรนะคะ”

    “มีโผลออกมาว่าอะไรนะคะ…โผเป็นทางการ ดิฉันเซ็นหรือเปล่า…อ้าวไม่ใช่โผ ดิฉันยังไม่ได้เซ็น (หัวเราะ) ขอบคุณมากค่ะ สวัสดีค่ะ” นางสาวแพทองธาร ตอบ

    ‘ภูมิธรรม-ประเสริฐ’ รายงานผลมาตรการตัดน้ำ – ไฟ

    ด้านนายจิรายุ รายงานว่า ข้อสั่งการเป็นหัวใจสำคัญในการทำงานของนายกฯ เมื่อนายกฯ รับทราบข้อมูลหรือเดินทางไปสถานที่ต่างๆ และได้รับข้อมูล ก็จะประมวลให้ส่วนราชการเพื่อนำไปแก้ไขปัญหา

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งช่วง 1 สัปดาห์ก่อนที่นายกฯ และคณะจะเดินทางไปเยือนประเทศจีน ได้สั่งการไปแล้วว่าให้ดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าว ดังนั้น นายกฯ ได้ย้ำในที่ประชุม ครม. วันนี้ว่า “ต้องจัดการขั้นเด็ดขาด” และย้ำว่าเรามาถูกทางแล้วที่จะต้องดูแลคนไทยและประเทศไทย

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รายงานในที่ประชุม ครม. ว่า คณะกรรมการ กสทช. ต้องจัดการให้เข้มข้นมากกว่านี้ ถ้้าตรวจสอบพบต้องดำเนินการทันที หลังจากนั้นยังให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนและพูดในที่ประชุม ครม. ว่าจะต้องมีการย้ายข้าราชการระดับสูงงของไทยที่อาจจะไปมีส่วนพัวพันกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และกระบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งถือเป็นการทำงานขั้นเด็ดขาดของรัฐบาลในขณะนี้

    นอกจากนี้ นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตอบคำถามในที่ประชุม ครม. หลังจากที่นายกฯ ถามว่า มาตรกรตัดน้ำตัดไฟ ไม่ขายน้ำมัน มีผลมากน้อยขนาดไหน โดย นายประเสริฐ ชี้แจงว่า “จะใช้เวลาประมาณ 15 วันเพื่อจะประมวลขั้นตอนที่ 1 ว่าทำไปแล้วผลเป็นแบบไหนอย่างไร จากนั้นประมวลครั้งที่สองคือ 30 วัน เพื่อจะหาแนวทางในการดำเนินการต่อไป เพราะดูจากข่าวสารก็จะเห็นว่าตัดน้ำตัดไฟแล้ว ยังใช้เครื่องปั่นไฟ เครื่องปั่นไฟก็มาจากน้ำมัน จะได้กำหนดทิศทางในการแก้ไขปัญหา ทั้งทิศเหนือ ใต้ ตะวันออกและตะวันตกต่อไป”

    นายประเสริฐ ยังย้ำว่า ให้ กสทช. ประสานงานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ในการร่วมกันประสานงาน และดำเนินการทั้งในประเทศไทย ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินเข้าออก ขอให้มีการประสานงานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการทำธุรกรรมด้านการเงิน

    “หากพบว่าตรงไหนมีการปล่อยสัญญาณไป ไม่ว่าจะเป็นสถานี cell site ว่าเสาที่เราเห็นเป็นทาวเวอร์ขึ้นไปฝั่งชายแดน รมว. บอกว่าให้ลดขนาดความสูงของเสาลง เช่น cell site อาจสูง 40-50 เมตร ให้ลดระดับลงมาให้ต่ำที่สุด และกำหนดทิศทางในประเทศไทยให้มากที่สุด และให้มีการลดกำลังส่งหรือรับสัญญาณ ให้กำหนดขั้นตอนในการลดกำลังส่งลงเพื่อไม่ให้สัญญาณ เหมือนเราเดินทางข้ามแดนไป อยู่ดีๆ สัญญาณของเราเข้าไปถึง 5-10 กิโลเมตร ก็ให้ลดกำลังส่ง เพื่อตัดตอนกระบวนการในการใช้โทรคมนาคมต่างๆ เข้าไปเชื่อม” นายจิรายุ กล่าว

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า มีรายงานจากสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศว่าในช่วง 2 – 3 วันที่ผ่านมานี้ เห็นได้ว่า คนไทยจะไม่ค่อยได้รับโทรศัพท์จากแก๊งคอลเซ็นเตอร์

    “ปกติวันหนึ่งมาเช้าเย็น ไม่ว่าจะเอสเอ็มเอสหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ได้รับรายงานว่า ประชาชนไม่ได้รับการโทรศัพท์เข้ามาหรือส่งอะไรเข้ามาทางเอสเอ็มเอสน้อยลงมากกว่า 50% ถือเป็นปฏิบัติการขั้นเด็ดขาดของรัฐบาล แต่ทั้งนี้ต้องรอดูว่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือ กลุ่มสีเทายังอยู่ระหว่างการปรับตัวหรือไม่ ถ้าเกิดยังมีการโทรศัพท์เข้ามาอีก อ้างเป็นตำรวจกองร้อยปอยเปต หรือกระทั่งส่งข้อมูลต่างๆ เยอะแยะมากมาย ทางส่วนราชการจะดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อกำหนดทิศทางในการจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ต่อไป” นายจิรายุ กล่าว

    เร่ง ‘มท.-ยธ.-สธ.’ ชง ครม.แก้ กม.จำกัดเวลาขายเหล้าภายใน 15 มี.ค.นี้

    นายจิรายุ กล่าวถึงข้อสั่งการเรื่องการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยรัฐบาลได้รับเรื่องร้องเรียนเรื่องการปรับรูปแบบห้ามขายแอลกอฮอล์ในเวลา 14.00-17.00 น. ว่ากฎหมายฉบับนี้ประกาศมาตั้งแต่ปี 2515 หรือ 53 ปีก่อน

    “ตอนนั้นมีความเชื่อว่าไม่อยากให้ข้าราชการ ช่วงบ่ายไปตั้งวงก๊งกัน เป็นแนวทางสมัย 53 ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันการห้ามซื้อขายบ่ายสองถึงห้าโมงเย็นมันสอดรับกับสถานการณ์ในโลกปัจจุบันหรือไม่อย่างไร” นายจิรายุ กล่าว

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ สั่งการให้กระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรรม กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการศึกษาทบทวนกฎหมายการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อปรับรูปแบบ ข้อบังคับทางกฎหมายให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงงศึกษาหามาตรการในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น การห้ามจำหน่ายระหว่างเวลา 14.00 -17.00 น. และการห้ามจำหน่ายในวันสำคัญทางพุทธศาสนา รวมถึงการห้ามจำหน่ายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจจะติดขัดในเรื่องของข้อจำกัดทางด้านเขตพื้นที่ควบคุม (zoning) โดยขอให้พิจารณา ปรับปรุงแก้ไขในข้อกฎหมาย หรือข้อบังคับหรือประกาศใดๆ โดยให้กลับเข้ามารายงานใน ครม. และประกาศให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 มีนาคม 2568 นี้ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ก่อนเทศกาลสงกรานต์ปีนี้

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ ย้ำให้คำนึงถึงความปลอดภัยและการป้องกันเยาวชนไม่ให้เข้าถึงแอลกอฮอล์ได้อย่างเหมาะสมและเป็นรูปธรรม เช่นการออกมาตรการห้ามเด็ดขาดในการขายให้เด็กและเยาวชน เช่นเดียวกับมาตรการห้ามขายบุหรี่ตามร้านสะดวกซื้อ หรือขอตรวจบัตรประชาชน หรือจ้างผู้ใหญ่ไปซื้อแทนให้เยาวชน ดังนั้นต้องออกกฎหมายบังคับประหนึ่งรับซื้อของโจร

    ทั้งนี้ ในการสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศให้คำนึงถึงการที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายให้ปีนี้เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวไทย Amazing Thailand Grand Tourism and Sports Year ซึ่งรัฐบาลเองก็ได้มีการส่งเสริมในการจัดกิจกรรมระดับโลกต่าง ๆ รวมถึงการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวตลอดทั้งปีทั้งในเมืองหลักและเมืองน่าเที่ยว ซึ่งจะเป็นการทำให้ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่นโรงแรม ร้านอาหาร ได้รับประโยชน์ต่อไป

    ตั้งคณะทำงานรับ ‘ทรัมป์’ ขึ้นภาษี

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกา และภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ นายกฯ สั่งการว่าขอให้ศึกษาเรื่องกำแพงภาษีที่อาจเป็นผลเสียต่อการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเกษตร รวมถึงสินค้าอื่นๆ เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทางรัฐบาลได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2568 เพื่อดำเนินการศึกษาวางแผน และรับมือนโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศของไทยกับสหรัฐอเมริกาในภาพรวม เพื่อให้มีทิศทางที่ชัดเจนและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการค้า-การลงทุนของประเทศ

    ทั้งนี้ คณะทำงานดังกล่าว มีปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานคณะทำงาน รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น BOI ก.เกษตรฯ ก.ต่างประเทศ ก.พาณิชย์ ร่วมเป็นคณะทำงานนั้นขอให้คณะทำงานดังกล่าว รวมถึง ก.เกษตรฯ และ ก.กลาโหม เร่งศึกษาสรุปข้อมูล ทั้งผลดีผลเสียและมาตรการรับมือเจรจาต่อรองทางด้านการค้าการลงทุน เพื่อนำมาเสนอต่อ ครม. ต่อไป

    จี้คมนาคม เร่งรถไฟความเร็วสูงเชื่อมจีน

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า จากการเดินทางไปเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการ นายกฯ ขอให้ ก.คมนาคม เร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 พร้อมทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่2 นครราชสีมา – หนองคาย ที่ ครม. เพิ่งจะอนุมัติไป เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายการเดินทางทั้งประชาชน และสินค้าได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย รวมถึงเร่งประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้องในโครงการ Landbridge เพื่อให้เกิดการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมอย่างเร่งด่วน

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ ขอสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ ก.ต่างประเทศ ก.มหาดไทย ก.ดิจิทัลฯ หน่วยงานความมั่นคง เร่งหาความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติออนไลน์ กับทางการจีนอย่างเร่งด่วน

    ส่วนด้านสินค้าการเกษตร นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ ขอให้ ก.เกษตรฯ เร่งรัดติดตามการจัดตั้ง Joint Working Group ไทย-จีน ร่วมกันจัดทำมาตรฐานและกำหนดข้อตกลงที่เกี่ยวกับแนวทางดำเนินการตรวจปล่อยสินค้าเกษตรระหว่างกัน (Mutually Acceptable Procedure)ในสินค้าพืช ปศุสัตว์ (โคเนื้อ) และประมง ให้เกิดผลโดยเร็ว

    เผย 62 จังหวัด ประกาศห้ามเผาแล้ว

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ สั่งการให้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (ปภ.ช.) ติดตามการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยขณะนี้มี 62 จังหวัดที่ประกาศห้ามเผาแล้ว ซึ่งถือว่าเกินเป้าหมายกว่าร้อยละ 75 แต่ทั้งนี้ในระหว่างวันที่ 13-15 กุมภาพันธ์ 2568 ขอให้เฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่น เนื่องจากกระแสลมอ่อนกำลังลง ทำให้กระแสลมหยุดนิ่งในช่วงหนึ่งถึงสองวัน ตามที่กรมควบคุมมลพิษได้รายงานภาพรวมสถานการณ์ฝุ่นทั้งประเทศ

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า ส่วนของพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นไปตามคาดการณ์ว่า ฝุ่นจะกลับมาอีกครั้งในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ รวมถึง 17 จังหวัดภาคเหนือที่เริ่มมีค่าเกินมาตรฐาน โดยคาดว่า หลังจากวันที่ 16 กุมภาพันธ์ สถานการณ์จะกลับมาดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคตะวันออก เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานครและภาคเหนือตอนบน

    ด้านสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า ได้รายงานสถานการณ์จุดความร้อนในวันนี้พบว่า ประเทศไทยมีจุดความร้อนรวม 881 จุด เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว มีจำนวนจุดความร้อนเพิ่มขึ้น 90 จุด โดย 5 จังหวัดที่พบมากที่สุด ได้แก่ กาญจนบุรี ตาก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์และกาฬสินธุ์

    “ขณะที่จุดความร้อนในพื้นที่ป่า กรมป่าไม้ได้ระดมเจ้าหน้าที่ร่วมกับจิตอาสาเข้าควบคุม โดยในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือพบจุดความร้อน 74 จุด เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 47 จุด ซึ่ง ปภ.ช.ได้เน้นย้ำให้เร่งดำเนินการเข้าดับไฟเพื่อป้องกันการลุกลามขยายวงกว้าง ซึ่งต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมกันปฏิบัติงานอย่างเต็มที่” นายจิรายุ กล่าว

    มติ ครม.มีดังนี้

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษก ฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    ไฟเขียวออมสินจัด ‘ซอฟต์โลน’ 5 หมื่นล้าน ปลดหนี้ Non-Banks

    นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติให้ความเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของผู้ประกอบการธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non – Banks) ภายใต้โครงการคุณสู้ เราช่วย และหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และกระบวนการเบิกจ่ายโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ Non – Banks ของธนาคารออมสิน ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของ Non – Banks มีรายละเอียดสรุปได้ 2 ส่วนหลัก ดังนี้

    มาตรการที่ 1 มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของ Non – Banks ภายใต้โครงการ “คุณสู้ เราช่วย”

    (1) มาตรการปรับโครงสร้างหนี้แบบลดภาระดอกเบี้ยโดยการเน้นตัดต้นเงิน คุณสมบัติของลูกหนี้และประเภทสินเชื่อ แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่

      1. สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ วงเงินรวมไม่เกิน 800,000 บาท
      2. สินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ วงเงินรวมไม่เกิน 50,000 บาท
      3. สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ วงเงินรวมไม่เกิน 100,000 บาท หรือ 200,000 บาท
      4. สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล วงเงินรวมไม่เกิน 20,000 บาท
      5. สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (Nano Finance) วงเงินรวมไม่เกิน 50,000 บาท

    รูปแบบการช่วยเหลือลูกหนี้ :

      (1) ลดภาระการผ่อนชำระค่างวดเป็นร้อยละ 70 ของค่างวดก่อนเข้าร่วมมาตรการ เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยสินเชื่อหมุนเวียน (Revolving Loan) จะต้องจ่ายค่างวดไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 ของยอดหนี้

      (2) ลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 10 จากอัตราดอกเบี้ยก่อนเข้าร่วมมาตรการ เช่น จากอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 25 ต่อปี เป็นร้อยละ 15 ต่อปี เป็นต้น ตลอดระยะเวลา 3 ปี โดยดอกเบี้ยส่วนที่ลดจะพักชำระไว้ทั้งหมด หากลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้

      (3) ลูกหนี้ที่อยู่ในมาตรการจะไม่สามารถก่อหนี้ใหม่ใน 12 เดือนแรกที่เข้าร่วมมาตรการ โดยจะถูกรายงานข้อมูลต่อบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) เป็นรหัสพิเศษ ทั้งนี้ สำหรับสินเชื่อวงเงินหมุนเวียนที่ลูกหนี้ยังไม่เบิกใช้ก่อนเข้าร่วมมาตรการลูกหนี้ยังสามารถใช้สภาพคล่องจากวงเงินส่วนที่เหลือได้

      (4) หากลูกหนี้ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไข หรือ ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาได้จนกลายมีสถานะเป็นหนี้ NPL ลูกหนี้ต้องออกจากมาตรการโดยจะต้องชำระดอกเบี้ยที่พักชำระไว้ ตามเงื่อนไขเดิมในส่วนที่ภาครัฐไม่ได้สนับสนุน

    (2) มาตรการลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่ถูกจัดขั้นเป็น NPLs ที่มียอดหนี้ไม่สูง (ไม่เกิน 5,000 บาท)

    คุณสมบัติของลูกหนี้และประเภทสินเชื่อ

      • เป็นลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่ค้างชำระเงินต้น หรือ ดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่า 90 วัน นับแต่วันถึงกำหนดชำระ (จัดชั้นเป็น NPLs) และมีภาระหนี้คงค้างไม่เกิน 5,000 บาท ทั้งนี้ ครอบคลุมสินเชื่อทุกประเภทที่กู้ในนามบุคคลธรรมดา

    รูปแบบการช่วยเหลือลูกหนี้

      • เป็นการปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรน โดยลดภาระให้ลูกหนี้จ่ายชำระหนี้เพื่อเป็นการชำระหนี้ปิดบัญชี โดยลดภาระให้ลูกหนี้จ่ายชำระหนี้ร้อยละ 10 ของภาระหนี้คงค้าง ส่วนภาระยอดหนี้คงค้างที่เหลืออีกร้อยละ 90 แบ่งเป็น (1) ภาครัฐอุดหนุนผ่านโครงการ Soft Loan สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ Non-Banks ของธนาคารออมสิน ร้อยละ 90 และ (2) Non – Banks รับภาระเองร้อยละ 10 ของภาระยอดหนี้คงค้างที่เหลือ

    ส่วนที่ 2 หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และกระบวนการเบิกจ่ายโครงการ Soft Loan สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ Non-Banks ของธนาคารออมสิน คุณสมบัติผู้ขอสินเชื่อมีดังนี้

      1. เป็นผู้ประกอบการธุรกิจ Non-Banks ที่ให้บริการสินเชื่อแก่ลูกหนี้รายย่อย ได้แก่ สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล สินเชื่อทะเบียนรถ และนาโนไฟแนนซ์
      2. มีผลกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักภาษีในรอบบัญชีปี 2566 โดยพิจารณาข้อมูลจากงบการเงินของกิจการ
      3. กำหนดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E ratio) ของกิจการในปี 2566 ไม่เกิน 10 เท่า และมี NPLs ของพอร์ตสินเชื่อรวม ณ ปี 2566 ไม่เกินร้อยละ 5
      4. ต้องให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามมาตรการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและ ธปท. กำหนด

    ระยะเวลาโครงการ :

      (1) Non-Banks สามารถยื่นขอสินเชื่อได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2568
      (2) ธนาคารออมสินเบิกจ่ายเงินกู้ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2568
      (3) ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี นับจากวันที่เบิกจ่ายวงเงินกู้ครั้งแรก ซึ่งมีวงเงินโครงการทั้งหมด จำนวน 50,000 ล้านบาท

    วงเงินสินเชื่อต่อรายที่ธนาคารออมสินให้แก่ Non-Banks

      • ไม่เกิน 5,000 ล้านบาทต่อราย โดยเป็นไปตามที่ธนาคารออมสินพิจารณาอนุมัติ ทั้งนี้ ธนาคารออมสินอาจพิจารณาให้วงเงินเพิ่มเติมจากวงเงินสูงสุดเป็นรายกรณีได้ตามความเหมาะสม

    อัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม

      1. อัตราดอกเบี้ยในโครงการ 0.01 ต่อปี
      2. ยกเว้นค่าธรรมเนียมบริการสินเชื่อเพื่อธุรกิจ (Front End Fee) และค่าธรรมเนียมการชำระหนี้คืนก่อนครบกำหนด (Pre – Payment Fee) ทุกกรณี

    หลักประกันการกู้เงิน

      • อาจให้มีหลักประกัน เช่น สิทธิเรียกร้องจากลูกหนี้ของ Non – Banks (พอร์ตลูกหนี้สถานะปกติ) เท่ากับวงเงินกู้ โดยจดทะเบียนหลักประกันตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ พอร์ตลูกหนี้สถานะปกติ มูลค่าไม่ต่ำกว่าภาระหนี้หรือหลักประกันประเภทอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารออมสินเห็นสมควร

    การชำระคืนเงินกู้

      • ให้ชำระดอกเบี้ยทุกสิ้นเดือนและชำระเงินต้นเมื่อครบระยะเวลาสิ้นสุดโครงการ

    ทั้งนี้ ทั้งสองส่วนดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาร่วมกันระหว่าง กระทรวงการคลัง ธนาคารออมสิน และธนาคารแห่งประเทศไทย แล้ว และยังคงอยู่ภายใต้หลักการและกรอบวงเงินงบประมาณเดิมที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 ที่ได้เห็นชอบการดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย และผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของธนาคารพาณิชย์ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย

    เห็นชอบแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหา ‘คุณแม่วัยใส’ ปี 2560-70

    นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการต่อ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. 2560-2570 ตามพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ตามที่คณะกรรมการการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เสนอ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ มีสาระสำคัญ ดังนี้

    1. ปรับปรุงเป้าหมายเพื่อให้เหมาะสม สอดคล้องกับการดำเนินงานและสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงยกระดับความสำเร็จของการดำเนินงานให้มากยิ่งขึ้น

      • อัตราการคลอดมีชีพในหญิง อายุ 10-14 ปี เป้าหมาย ไม่เกิน 0.5 คนต่อประชากรหญิง อายุ 10-14 ปี 1,000 คน
      • อัตราการคลอดมีชีพในหญิง อายุ 15-19 ปี เป้าหมาย ไม่เกิน 15 คนต่อประชากรหญิง อายุ 15-19 ปี 1,000 คน

    2. ปรับปรุงชื่อประเด็นการพัฒนาฯ ซึ่งมีจำนวน 5 ประเด็น และเพิ่มเติมหน่วยงานภาคีเครือข่าย

    3. ปรับปรุงตัวชี้วัดเป้าหมายรายประเด็นการพัฒนา จากเดิม 32 ตัวชี้วัด เป็น 22 ตัวชี้วัด

    ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบ และให้คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

    ยกเลิก กม.ให้บุคคลธรรมดา – หจก.ทำบัญชี

    นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ที่กำหนด ให้บุคคลธรรมดา และห้างหุ้นส่วนที่ไม่ได้จดทะเบียน เป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บุคคลธรรมดา หรือห้างหุ้นส่วนที่มิได้จดทะเบียนเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี พ.ศ. 2544 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับงาช้างเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี พ.ศ. 2551

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์เสนอว่าพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 มาตรา 8 วรรคสี่ บัญญัติให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้บุคคลธรรมดา หรือห้างหุ้นส่วนที่มิได้จดทะเบียนที่ประกอบธุรกิจใดในประเทศไทยตามเงื่อนไขใดเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี ตามพระราชบัญญัตินี้ได้ พณ. โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ 2 ฉบับ ดังนี้

      1. ประกาศกระทรวงพณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บุคคลธรรมดา หรือห้างหุ้นส่วนที่มิได้จดทะเบียนเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี พ.ศ. 2544
      2. ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับงาช้างเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี พ.ศ. 2551

    นอกจากนี้ ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ซีดีไม่ได้รับความนิยม โรงงานผลิต ผลิตภัณฑ์ซีดีได้ปิดตัวไปเป็นจำนวนมาก จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่หมดความจำเป็น หรือ ซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น พ.ศ. 2565 เพื่อยกเลิกกฎหมายดังกล่าว การควบคุมการค้า การนำเข้าส่งออก การนำผ่าน และการครอบครองงาช้าง เป็นไปตามพระราชบัญญัติงาช้าง พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ จึงควรถูกยกเลิกเช่นกัน เพื่อให้บุคคลธรรมดา หรือห้างหุ้นส่วนที่ไม่ได้จดทะเบียนที่ประกอบธุรกิจเป็นผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้มีไว้จำหน่าย ผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักร หรือผู้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งสินค้าประเภทแถบเสียงเพลง แถบวิดีทัศน์ และแผ่นซีดี หรือผู้ประกอบธุรกิจโรงงานแปรสภาพ แกะสลัก และการทำหัตถกรรมจากงาช้าง การค้าปลีก การค้าส่งงาช้างและผลิตภัณฑ์จากงาช้าง ไม่เป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีอีกต่อไป พณ. โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงได้ยกร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ โดยมีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดให้บุคคลธรรมดา หรือ ห้างหุ้นส่วนที่มิได้จดทะเบียนเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี พ.ศ. 2544 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับงาช้างเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี พ.ศ. 2551

    ทั้งนี้ การยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดให้บุคคลธรรมดา หรือ ห้างหุ้นส่วนที่มิได้จดทะเบียนเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี พ.ศ. 2544 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับงาช้างเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี พ.ศ. 2551 ไม่เป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีอีกต่อไป ส่วนมาตราการควบคุมการค้า การนำเข้าส่งออก การนำผ่านและการครอบครองงาช้าง จะเป็นไปตามพระราชบัญญัติงาช้าง พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดให้บุคคลธรรมดา หรือห้างหุ้นส่วนที่ไม่ได้จดทะเบียนที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ซีดีและงาช้างเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 อีก

    ขยายเวลาตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์-ยางล้อแห่งชาติ

    นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 เรื่องขออนุมัติขยายระยะเวลาโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ เพื่อขอขยายกรอบระยะเวลาในการดำเนินการโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบฯ ดังกล่าว ให้ดำเนินการจนแล้วเสร็จในช่วงปี พ.ศ. 2559-2570 (12 ปี)

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ครม. อนุมัติให้ อก. ดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ โดยเป็นการลงทุนเองของภาครัฐวงเงินงบฯ รวม 3,705.7 ล้านบาท ให้ดำเนินการจนแล้วเสร็จในช่วงปี พศ. 2559-2563 และต่อมา ครม. มีมติ (23 มีนาคม 2564) ให้ อก. ขยายระยะเวลาดำเนินโครงการดังกล่าว เป็นให้ดำเนินการจนแล้วเสร็จในช่วงปี พศ. 2559-2567

    โครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบฯ ได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้วทั้งสิ้น 2,669.09 ล้านบาท และแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ ได้แก่

      • ระยะที่ 1 ส่วนทดสอบยางล้อ มีการดำเนินการปรับพื้นที่ ออกแบบและก่อสร้าง จัดซื้อและติดตั้งชุดเครื่องมือเสร็จแล้ว และเปิดให้บริการทดสอบแล้วตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2566 ส่วนอาคารสำนักงานก่อสร้างเสร็จแล้ว

      • ระยะที่ 2 ส่วนทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วน ประกอบด้วย สนามทดสอบความเร็วและสมรรถนะ สนามทดสอบระบบเบรค สนามทดสอบระบบเบรคมือ สนามทดสอบพลวัต สนามทดสอบการยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้ง และระบบสาธารณูปโภค

    โดยการดำเนินการทั้ง 2 ระยะ ได้มีการดำเนินการตามกรอบระยะเวลา เพื่อให้โครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบฯ แล้วเสร็จ โดยในปัจจุบันอยู่ในระหว่างการดำเนินการในส่วนการทดสอบยางยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งต้องมีการดำเนินการปรับพื้นที่ เพื่อติดตั้งชุดเครื่องมือ และการดำเนินการสร้างสนามทดสอบความเร็วและสมรรถนะ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาในการดำเนินโครงการจนถึงปี พ.ศ. 2570

    อก. จึงเสนอ ครม. เพื่อให้พิจารณาทบทวนมติรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 และขออนุมัติขยายระยะเวลาโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (โครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบฯ) เพื่อให้ขยายกรอบระยะเวลา ให้ดำเนินการจบแล้วเสร็จในช่วงปี พ.ศ. 2559-2570 เพื่อดำเนินการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติให้เสร็จสิ้นโดยเร็วและมีประสิทธิภาพ สร้างความได้เปรียบทางด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และ ยางล้อ ในฐานะที่ไทยเป็นศูนย์กลางการทดสอบยานยนต์และยางล้อ ของภูมิภาคอาเซียน ที่สามารถรองรับการทดสอบและรับรองยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อได้อย่างมีมาตรฐาน และเป็นฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ที่สำคัญของโลก

    ทั้งนี้ ครม. เห็นชอบตามที่ อก. เสนอ และให้ อก. รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

    กำหนดมาตรฐาน มอก.แผงจ่ายไฟฟ้าฯใหม่

    นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมบอร์ดจ่ายไฟฟ้าประสงค์ให้ใช้งานโดยบุคคลทั่วไป ต้องเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชุดประกอบสวิตซ์เกียร์ และเกียร์ควบคุมไฟฟ้าแรงดันต่ำ เล่ม 3 บอร์ดจ่ายไฟฟ้าประสงค์ให้ใช้งานโดยบุคคลทั่วไป พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชุดประกอบสวิตซ์เกียร์และเกียร์ควบคุมไฟฟ้าแรงดันต่ำ เนื่องจากประกาศใช้เกิน 5 ปี และเพื่อให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางวิชาการ และมาตรฐานระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจรซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้ รวมทั้งเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้มีความปลอดภัย ทั้งนี้ ผู้ทำ หรือ ผู้นำเข้าจะต้องขอรับใบอนุญาตทำ หรือ นำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าว และผู้จำหน่ายจะต้องจำหน่ายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าวที่ได้รับใบอนุญาตและเป็นไปตามมาตรฐาน

    โดยร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าวมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

    ทั้งนี้ สคก. ได้ตรวจพิจารณาร่างกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นการล่วงหน้าแล้ว และได้แก้ไขชื่อร่างกฎกระทรวงเป็น “ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมบอร์ดจ่ายไฟฟ้าประสงค์ให้ใช้งานโดยบุคคลทั่วไป ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ….”

    เปิด ‘เออร์ลี่ รีไทร์’ ทหารยศพันเอกขึ้นไป รับเงินก้อนสูงสุด 10 เท่า

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยเหลือ ผู้ซึ่งออกจากราชการตามโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดของกระทรวงกลาโหม พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ

    สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา มีดังนี้

    1. แผนปฏิรูปการบริหารจัดการกำลังพลของ กห. กำหนดเป้าหมายการปรับลดกำลังพลลงร้อยละ5 ของยอดกำลังพล ตั้งแต่ปีงบประมาณ พุทธศักราช 2563 – 2570 และปรับลดกำลังพลนายทหารชั้นนายพลในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ผู้ทรงคุณวุฒิ และนายทหารปฏิบัติการให้เหลือร้อยละ 50 ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551 – 2571 เพื่อให้เกิดความสมดุลของสัดส่วนกำลังพลในทุกระดับ มุ่งสู่ “การเป็นกองทัพที่กะทัดรัด ทันสมัย มีการบริหารจัดการกำลังพลที่มีประสิทธิภาพ” ในการนี้ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการปรับลดกำลังพลตามแผนข้างต้น โดยมุ่งเน้นการแก้ปัญหาความคับคั่งของกำลังพลในกลุ่มชั้นยศสูง ซึ่งเป็นปัญหาในการบริหารจัดการกำลังพลของ กห. ในปัจจุบัน สืบเนื่องมาจากการผลิตกำลังพลจำนวนมาก เพื่อรองรับสถานการณ์ความมั่นคงในอดีต ทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการกำลังพลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การจัดทำแนวทางการดำเนินโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดของ กห. โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม จึงเป็นเครื่องมือที่จะสามารถแก้ไขปัญหาด้านกำลังพลของ กห. ได้ตรงจุด ซึ่งจะส่งผลให้ กห. เกิดความสมดุลของสัดส่วนกำลังพลในทุกระดับ รวมถึงเป็นการประหยัดงบประมาณด้านบุคลากรภาครัฐในระยะยาว ทำให้การพัฒนาระบบบริหารจัดการของ กห. และการพัฒนากองทัพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเป็นการสนับสนุนนโยบายและเจตนารมณ์ของรัฐบาลในปัจจุบัน

    2. โครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดของ กห. มีหลักการเป็นการจูงใจข้าราชการทหารที่ดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ผู้ทรงคุณวุฒิ นายทหารปฏิบัติการและประจำหน่วยให้ลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุราชการโดยสมัครใจ เพื่อลดความคับคั่งของกำลังพลในกลุ่มชั้นยศสูง โดยให้ข้าราชการทหารที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด เช่น ต้องเป็นทหารชั้นยศ พันเอก นาวาเอก นาวาอากาศเอกขึ้นไป ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ผู้ทรงคุณวุฒิ นายทหารปฏิบัติการ และประจำหน่วยที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และมีเวลาราชการ 25 ปีขึ้นไป (ไม่รวมเวลาราชการทวีคูณ)] ที่ลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุได้รับสิทธิประโยชน์ที่เป็นเงินก้อน 7 – 10 เท่าของเงินเดือนเดือนสุดท้าย รวมเงินประจำตำแหน่ง (ถ้ามี) โดยไม่รวมเงินหรือค่าตอบแทนพิเศษอื่น ๆ ตามสูตรการคำนวณ ดังนี้

    • เงินก้อน = [5 + อายุราชการที่เหลือ (ปี)] X เงินเดือนเดือนสุดท้ายรวมเงินประจำตำแหน่ง (ถ้ามี)
    • แต่สูงสุดไม่เกิน 10 เท่าของเงินเดือนเดือนสุดท้าย รวมเงินประจำตำแหน่ง (ถ้ามี)

    นอกจากนี้ ยังมีสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เช่น การยกเว้นภาษีเงินก้อนที่ได้รับตามโครงการ การยกเว้นภาษีในส่วนของเงินที่ได้รับจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เป็นต้น

    3. กค. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้การจ่ายเงินช่วยเหลือตามโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดของ กห. ประจำปีงบประมาณ พุทธศักราช 2568 – 2570 ถูกต้องตามกฎหมายและเพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยเหลือผู้ซึ่งออกจากราชการ ตามโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดของกระทรวงกลาโหม พ.ศ. …. มาเพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา 4. กค. ได้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยการดำเนินโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดของ กห. จะใช้เงินงบบุคลากรของ กห. ภายในกรอบวงเงิน 600 ล้านบาท โดยไม่ต้องของบกลางเพิ่มเติม ระยะเวลาการดำเนินโครงการ 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2568 – พ.ศ. 2570 (วงเงิน 200 ล้านบาท/ปี) โดยประมาณการผู้เข้าร่วมโครงการฯ รวม 3 ปี ประมาณ 732 นาย (ปีละ 244 นาย) ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาความคับคั่งของกำลังพลในกลุ่มชั้นยศสูง ซึ่งเป็นปัญหาในการบริหารจัดการกำลังผลของ กห. ในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดความสมดุลของสัดส่วนกำลังพลในทุกระดับ รวมถึงเป็นการประหยัดงบประมาณด้านบุคลากรภาครัฐในระยะยาว ทำให้การพัฒนาระบบบริหารจัดการของ กห. และการพัฒนากองทัพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเป็นการสนับสนุนนโยบาย และเจตนารมณ์ของรัฐบาลในปัจจุบัน

    เกษตรฯรายงานผลการเดินทางไปราชการอิตาลี

    นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบผลการเดินทางไปราชการ ณ สาธารณรัฐอิตาลี (อิตาลี) ระหว่างวันที่ 13 – 19 ตุลาคม 2567 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

    1. การลงนามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับกองทุนระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนาการเกษตร [International Fund for Agricultural Development (IFAD)]1 ว่าด้วยการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคของ IFAD สำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ณ กรุงเทพมหานคร (กรุงเทพฯ) ประเทศไทย (ไทย) (ข้อตกลงฯ) ณ สำนักงานใหญ่ IFAD กรุงโรม อิตาลี ในวันที่ 14 ตุลาคม 2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประธาร IFAD ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งประธาน IFAD ได้แสดงความขอบคุณ กษ. ที่ร่วมผลักดันให้ไทยเป็นที่ตั้งสำนักงาน IFAD ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเพียงหนึ่งเดียว เนื่องจากเห็นว่าไทยเป็นศูนย์กลางด้านการเกษตรของเอเชีย มีบุคคลที่มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญด้านการเกษตร และพร้อมที่จะดำเนินการแปลกเปลี่ยนความร่วมมือกันต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ การลงนามในข้อตกลงฯ ทำให้กรุงเทพฯ เป็นสถานที่ตั้งหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติด้านอาหารและการเกษตรครบทั้ง 3 หน่วยงาน ได้แก่ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ [FOOD and Agriculture Organization of the United Nations (FAO)] โครงการอาหารโลก World Food Program (WFP)] และ IFAD เช่นเดียวกับกรุงโรม 2

    2. การประชุมอาหารโลก [World Food Forum (WFF) 2024] ณ สำนักงานใหญ่ FAO ระหว่างวันที่ 14 – 18 ตุลาคม 2567 ภายใต้หัวข้อ อาหารที่ดีกว่าเพื่อทุกคนทั้งในวันนี้และอนาคต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีในการเสริมสร้างเครือข่ายของทุกภาคส่วนในการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนระบบเกษตรและอาหารสู่ความยั่งยืน ซึ่งมีรายละเอียดของการประชุมย่อยภายใต้การประชุม WFF ดังนี้

      2.1 การประชุม WFF 2024 ในพิธีการประชุมดังกล่าว ณ วันที่ 14 ตุลาคม 2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยผู้นำระดับสูงของนานาประเทศ ได้เยี่ยมชมกิจกรรมและนิทรรศการที่จัดขึ้นคู่ขนาน ได้แก่ (1) การประชุมเยาวชนโลกเพื่อขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของเยาวชน (2) การประชุมความร่วมมือด้านการลงทุนของ FAO เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและองค์กรระหว่างประเทศในประเด็นที่มีความเร่งด่วนหรือความสนใจร่วมกัน เพื่อขจัดความยากจน ลดจำนวนผู้หิวโหย โดยเฉพาะในพื้นที่ชทบท และ (3) การประชุมด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมของ FAO เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการใช้นวัตกรรมเพื่อพริกโฉมระบบเกษตรและอาหาร และต่อมาในพิธีเปิดการประชุม WFF 2024 ณ วันที่ 18 ตุลาคม 2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีขึ้นกล่าว ในหัวข้อวิสัยทัศน์ด้านระบบเกษตรและอาหารที่ยั่งยืน และตัวอย่างความสำเร็จในการดำเนินงานของไทย เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2573 เช่น ไทยมุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการเสริมสร้างการวิจัยและพัฒนาและการปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร เพื่อให้มั่นใจว่าไทยเป็นผู้นำด้านเกษตรและอาหารและเป็นครัวสีเขียวของโลก ทั้งนี้ ได้เชิญชวนผู้นำประเทศและนักวิชาการจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมการประชุมนานาชาติว่าด้วยการจัดการทรัพยากรดิน และน้ำเพื่อความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน (ไทยโดย กษ. เป็นเจ้าภาพร่วมกับ FAO) ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 – 11 ธันวาคม 2567 ณ กรุงเทพฯ3

      2.2 การประชุมความร่วมมือด้านการลงทุนของ FAO ในพิธีเปิดการประชุมดังกล่าว ณ วันที่ 15 ตุลาคม 2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อ การส่งเสริมการลงทุนเพื่อการปรับเปลี่ยนระบบเกษตรและอาหารสู่ความยั่งยืน และการดำเนินงานของไทยร่วมกับผู้แทน เช่น ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย และสภาเศรฐกิจโลก โดยได้มีการเน้นย้ำว่า ไทยกำลังเร่งปรับเปลี่ยนระบบเกษตรและอาหารเพื่อความยั่งยืน เพิ่มรายได้ และสร้างความเข็มแข็งให้แก่เกษตรกรผ่านการใช้นวัตกรรมเพื่อการผลิตที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ยังได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิก และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาผ่านกลไกการลงทุน และความร่วมมือเพื่อปรับเปลี่ยนระบบเกษตรและอาหารสู่ความยั่งยืน

    3. การประชุมหารือทวิภาคี เช่น 1.การประชุมหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรอธิปไตยทางอาหาร และป่าไม้อิตาลี ในวันที่ 16 ตุลาคม 2567 โดยขอให้ฝ่ายอิตาลีมั่นใจต่อการสานต่อการดำเนินงานของฝ่ายไทยที่ยังคงตั้งมั่นในการสร้างความร่วมมือด้านวิชาการโดยเฉพาะเทคโนโลยีทางการเกษตร นอกจากนี้ ฝ่ายไทยได้ขอรับการสนับสนุนจากอิตาลีเพื่อผลักดันการดำเนินการเคลื่อนย้ายม้าจากไทยไปยังสหภาพยุโรป เนื่องจากองค์กรสุขภาพสัตว์โลกได้รับรองให้ไทยเป็นประเทศปลอดกาฬโรคแอฟริกาในม้า ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2566 และไทยหวังว่าอิตาลีจะช่วยผลักดันให้สหภาพยุโรปคืนสถานะให้กับไทยภายในปีนี้ เพื่อให้นักกีฬาสามารถนำม้าจากสหภาพยุโรปเข้ามาแข่งในไทยในห้วงเดือนธันวาคม 2568 ทั้งนี้ ฝ่ายอิตาลีได้รับทราบประเด็นดังกล่าวและจะติดตามการดำเนินงานของสหภาพยุโรปอย่างใกล้ชิด 2. การประชุมหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีกระทรวงสิกรรมและป่าไม้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ในวันที่ 16 ตุลาคม 2567 ภายใต้ประเด็นความร่วมมือด้านการเกษตรของบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านเกษตร (ดำเนินการประชุมมาแล้ว 4 ครั้ง) และกรอบการประชุมระดับภูมิภาค เช่น อาเซียน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เป็นต้น ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน และมุ่งดำเนินนโยบาย/มาตรการที่เอื้อประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย เช่น การขนส่งทุเรียนไทยโดยใช้เส้นทางผ่าน สปป. ลาวไปสาธารณรัฐประชาชนจีนและ 3. การประชุมหารือทวิภาคีกับสภาเศรษฐกิจโลก [World Economic Forum (WEF)] ในวันที่ 16 ตุลาคม 2567 โดยฝ่าย WEF ได้กล่าวชื่นชมวิสัยทัศน์และนโยบายสนับสนุนการลงทุนภาคเกษตรไทย และได้นำเสนอการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนข้อริเริ่มร่วมเพื่อเคลื่อนไหวครั้งแรก (First Mover Coalition)4 ที่มีเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งมีประเทศเข้าร่วมเบื้องต้น 13 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ องค์กร WEF ได้ต่อยอดโครงการดังกล่าวโดยมุ่งหวังจะเป็นตัวกลางในการจับคู่ภาคเอกชนที่จะต้องซื้อขายสินค้าเกษตรกับภาครัฐที่มีนโยบายสนับสนุนการเกษตรคาร์บอนต่ำ

    ผ่าน กม.แก้ไข พ.ร.บ.เวนคืนที่ดินฉบับใหม่

    นายอนุกูล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่ตรวจพิจารณาแล้ว และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่สำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ

    นายอนุกูล กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติเป็นแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 เพื่อแก้ไขปัญหาที่จะได้เกิดขึ้นจากการที่บทบัญญัติบางมาตรากำหนดให้ทรัพย์สิน หรือ เงินที่เจ้าของไม่มาขอรับภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งอาจขัด หรือ แย้งต่อมาตรา 26 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เป็นประเด็นปัญหาในทางปฏิบัติอันเกิดจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนี้

    1. แก้ไขระยะเวลาที่รัฐมนตรีผู้รักษาการ ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนมีอำนาจอนุมัติ ให้ขยายระยะเวลาในการกำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์เบื้องต้น ของคณะกรรมการกำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์เบื้องต้นและเงินค่าทดแทน โดยกำหนดให้ขยายได้เท่าที่จำเป็นแต่ต้องไม่เกิน 180 วัน เพื่อให้คณะกรรมการฯ มีระยะเวลาดำเนินการที่เหมาะสม (เดิมขยายได้ไม่เกิน 90 วัน)

    2. แก้ไขเพิ่มเติมให้เจ้าของทรัพย์สินที่ถูกรื้อถอน หรือ ผู้มีสิทธิได้เงินค่าทดแทน ยังคงมีสิทธิขอรับเงินที่เกิดจากการเวนคืนที่ดิน หรือ อสังหาริมทรัพย์ของตนตามกฎหมาย โดยไม่ตัดสิทธิในเงินดังกล่าว แม้พ้นกำหนดระยะเวลาขอรับเงินตามที่กฎหมายกำหนด ดังนี้

      2.1 กำหนดให้ในการรื้อถอนโรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง หรือ อสังหาริมทรัพย์เจ้าหน้าที่มีหน้าที่แจ้งให้เจ้าของทรัพย์สินมารับทรัพย์สินที่เจ้าหน้าที่รื้อถอนคืนไปภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้าพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว เจ้าของไม่มารับทรัพย์สินคืนไป ให้เจ้าหน้าที่ขายทรัพย์สินนั้นโดยวิธีการขายถอดตลาด หรือ วิธีอื่นตามที่เห็นสมควรแล้ว นำเงินที่ได้จากการขายส่งคืนแก่เจ้าของทรัพย์สิน นอกจากนี้หากเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ขายทรัพย์สินนั้นและเจ้าของมารับคืน ให้เจ้าหน้าที่คืนทรัพย์สินนั้นให้แก่เจ้าของไป โดยไม่มีเงื่อนไขเวลา (จากเดิมในกรณีที่เจ้าของมิได้เรียกเอาทรัพย์สิน หรือ เงินที่เจ้าหน้าที่เก็บรักษาไว้คืน ภายใน 5 ปีนับแต่วันที่มีการรื้อถอนหรือขนย้าย ให้ทรัพย์สินหรือเงินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน)

      2.2 กำหนดให้เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ถอนเงินค่าทดแทนที่วางไว้ต่อศาล หรือ สำนักงานวางทรัพย์ หรือ ฝากไว้กับธนาคารออมสิน เพื่อส่งคืนคลัง เมื่อผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนไม่มารับภายใน 5 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิขอรับเงินค่าทดแทนหรือนับแต่วันที่คดีที่สุดหรือนับแต่วันที่ได้ฝากเงินไว้ โดยไม่ได้ตัดสิทธิของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่จะยื่นคำร้องขอรับเงินค่าทดแทนคืนภายหลังจากพ้นระยะเวลาที่กำหนดดังกล่าว (เดิมเงินค่าทดแทนที่วางไว้ถ้าผู้มีสิทธิไม่ไปขอรับเงินภายใน 10 ปีนับแต่วันที่มีหนังสือแจ้งหรือวันที่ปิดประกาศ ให้เงินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน)

    3. แก้ไขเพิ่มเติมให้บุคคลผู้ใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล กรณีไม่พอใจเงินค่าทดแทนครอบคลุมถึงผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนในทุกกรณี เช่นเดียวกับการอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีตามมาตรา 492 โดยกำหนดให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาล และมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทน ซึ่งผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน ได้แก่ เจ้าของที่ดินที่ต้องเวนคืน เจ้าของโรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง หรืออสังหาริมทรัพย์อื่น เจ้าของต้นไม้ยืนต้นที่ขึ้นอยู่ในที่ดินผู้เช่าหรือผู้เช่าช่วงที่ดิน โรงเรือน หรือ สิ่งปลูกสร้างอื่นในที่ดินที่ต้องเวนคืน บุคคลผู้เสียสิทธิในการใช้ทางวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ สายไฟฟ้าผ่านที่ดินที่ต้องเวนคืน และผู้ที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากต้องการออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืน (เดิมกำหนดให้เจ้าของที่เท่านั้นเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาล และมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทน ซึ่งตามบทนิยามเจ้าของ หมายถึงเจ้าของหรือผู้ครอบครองซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยชอบด้วยกฎหมาย)

    4. กำหนดให้องค์ประกอบของคณะกรรมการ ซึ่งทำหน้าที่พิจารณาการคืนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่เจ้าของเดิม หรือ ทายาทประกอบด้วย เจ้าหน้าที่เวนคืนเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกรมที่ดินเป็นกรรมการ (ได้ตัดผู้แทนสำนักงบประมาณและผู้แทนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินออก เนื่องจากมิใช่หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับอสังหาริมทรัพย์ให้แก่เจ้าของเดิมหรือทายาท เพื่อให้คณะกรรมการมีความคล่องตัวมากขึ้น)

    เพิ่มงบฯก่อสร้างที่ทำการ สตง.แห่งใหม่ เป็น 84 ล้านบาท

    นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ยังมีมติอนุมัติตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพิ่มวงเงินรายการค่าควบคุมงานก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (แห่งใหม่) พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ จากวงเงินเดิมที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ก่อหนี้ผูกพันไว้เดิม จำนวน 76,800,000 บาท เป็น 84,371,916 บาท ตามนัยข้อ 7 (3) ของระเบียบว่าด้วยการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 สำหรับวงเงินของรายการค่าควบคุมงานก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ให้ใช้จ่ายจากเงินรายได้ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินสมทบเงินงบประมาณรายจ่ายร้อยละ 30 และใช้จ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่ายร้อยละ 70 โดยปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับมติคณะรัฐมนตรี และสัญญาที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วนในทุกขั้นตอน และต่อรองราคาตามสัดส่วนผลงานที่ผู้ให้บริการได้เข้าควบคุมงานจริงจนถึงที่สุดด้วย เพื่อจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณในการเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามขั้นตอนต่อไป และให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินรับความเห็นของกระทรวงการคลังไปพิจารณาดำเนินการต่อไป โดยสาระสำคัญของเรื่องมีดังนี้

    ตามที่ สตง.ได้รับการอนุมัติให้ก่อสร้างที่ทำการแห่งใหม่ พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ โดยมีวงเงินก่อหนี้ผูกพัน จำนวน 76,800,000 บาท ผูกพันงบประมาณ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2566 ต่อมา สตง. ได้จ้างผู้ให้บริการควบคุมงานก่อสร้างเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 จำนวนเงินตามสัญญา 74,653,200 บาท โดยขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ เป็นตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2569 และได้มีการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2564 กำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 1,080 วัน ครบกำหนดสัญญาในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ซึ่งในระหว่างการก่อสร้าง สตง. มีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาก่อสร้าง (จากสาเหตุ เช่น การหยุดงานก่อสร้างตามประกาศของทางราชการอันเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การแก้ไขแบบก่อสร้าง) ออกไปอีก จำนวน 155 วัน โดยขยายระยะเวลาตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 และครบกำหนดสัญญาในวันที่ 3 มิถุนายน 2567 ทำให้ค่าจ้างควบคุมงานก่อสร้างที่ สตง. จะต้องจ่ายเพิ่มเติมจากสัญญาเพิ่มขึ้น จำนวน 9,718,716 บาท [อัตราค่าจ้างวันละ 65,667 บาท x 148 วัน (เป็นการคำนวณตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างควบคุมงานก่อสร้างโดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2567 ที่ผู้ให้บริการควรควบคุมงานได้เริ่มงาน จนถึงวันครบกำหนดสัญญา 3 มิถุนายน 2567) ตามข้อ 3.4] รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 84,371,916 บาท (74,653,200 บาท + 9,718,716 บาท) ซึ่งเป็นวงเงินเกินกว่าที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี จำนวน 7,571,916 บาท (84,371,916 บาท – 76,800,000 บาท)

    ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง (กค.) และสำนักงบประมาณ (สงป.) พิจารณาแล้ว เห็นควรอนุมัติตามที่ สตง. เสนอ โดย กค. มีความเห็นเพิ่มเติมบางประการ สำหรับวงเงินของรายการค่าควบคุมงานก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว สงป. เห็นควรให้ใช้จ่ายจากเงินรายได้ของ สตง. สมทบเงินงบประมาณรายจ่ายร้อยละ 30 และใช้จ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่ายร้อยละ 70 โดยปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และสัญญาที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วนในทุกขั้นตอน และต่อรองราคาตามสัดส่วนผลงานที่ผู้ให้บริการได้เข้าควบคุมงานจริงจนถึงที่สุดด้วย เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณในการเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามขั้นตอนต่อไป

    อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 เพิ่มเติม