ThaiPublica > Sustainability > Headline > UNGCNT-กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ-UNDP จัดเวทีระดับชาติด้านสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมห่วงโซ่อุปทาน ปราศจากคอรัปชั่น

UNGCNT-กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ-UNDP จัดเวทีระดับชาติด้านสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมห่วงโซ่อุปทาน ปราศจากคอรัปชั่น

17 ธันวาคม 2024


ข่าวประชาสัมพันธ์

สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT) ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) จัดการประชุมระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 8 ภายใต้ประเด็น “การส่งเสริมห่วงโซ่อุปทาน ที่ปราศจากคอรัปชั่น เพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิแรงงาน” เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะ การจัดการความเสี่ยงจากการทุจริต ที่อาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิแรงงาน และแสวงหาแนวทางความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อปกป้องสิทธิของแรงงานให้ดียิ่งขึ้น โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในงาน มีผู้สนใจจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เข้าร่วมงานมากกว่า 100 คน

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้กล่าวขอบคุณองค์กรพันธมิตรที่ร่วมกันจัดการประชุมฯ หัวข้อ “การส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานที่ปราศจากการคอร์รัปชัน เพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิแรงงาน” ซึ่งได้จัดขึ้นในห้วงเวลาที่มีความเหมาะสม เนื่องจากวันที่ 9 ธันวาคม เป็นวันต่อต้านการทุจริตสากล
อีกทั้งหัวข้อการประชุมฯ ซึ่งเน้นย้ำความสำคัญของการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นในมิติแรงงาน ยังมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่ออนาคตของคนรุ่นหลัง การพูดถึง การส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานที่ปราศจากการคอร์รัปชัน เพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิแรงงาน จะมีความหมายถึงแรงงานทุกระบบ ซึ่งประเทศไทยถ้านำนิยามสากลมาใช้เราจะมีผู้ว่างงานเพียง 4.14 แสนคน ที่ถือว่าน้อยมาก ส่วนตัวเห็นว่าเพราะมีแรงงานนอกระบบและอาชีพอิสระจำนวนมาก รวมถึงมีสัดส่วนธุรกิจนอกระบบจำนวนมากด้วยจึงเป็นเรื่องท้าทายรัฐบาลที่ต้องเข้าไปดูแลและยากต่อการคุ้มครองสิทธิแรงงาน”

พันตำรวจเอกทวี กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญต่อการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้หลักประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม เพื่อนำไปสู่ความยุติธรรมอย่างแท้จริง การจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน จึงถือเป็นกรอบนโยบายของรัฐบาลที่สะท้อนความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่มีความร้บผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นรูปธรรม

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

ด้านนางนีฟ คอลิเออร์-สมิธ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNDP) กล่าวว่าแม้ประเทศไทยจะโดดเด่นในการดำเนินงานด้านสิทธิมนุยชน แต่ก็ต้องเผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่องในการต่อสู้กับการทุจริตคอรัปชั่น โดยเฉพาะในห่วงโซ่อุปทานที่การคอร์รัปชั่น มักจะขัดแย้งกับการละเมิดสิทธิแรงงาน ตัวอย่างเช่น การจัดหางานที่ไม่ถูกต้อง อาจนำไปสู่การบังคับใช้แรงงาน ในขณะที่การติดสินบนในการตรวจสอบ ทำให้ยังคงมีสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย ปัญหาเหล่านี้บ่อนทำลายความก้าวหน้าของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) หลายประการ อาทิ

SDG8 งานที่มีคุณค่า SDG10 ความไม่เท่าเทียมกันที่ลดลง SDG12 การบริโภคและการผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ และ SDG16 สันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง พร้อมทั้งได้ยกตัวอย่าง “Agents of Change” โครงการริเริ่มของ UNDP ที่ร่วมมือกับสหภาพยุโรป มุ่งหวังที่จะส่งเสริมเยาวชนและสื่อให้ทำหน้าที่เป็นตัวเร่งให้เกิดการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ส่งเสริมบทบาทของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงนักปกป้องรุ่นเยาว์และผู้สื่อข่าว อย่างไรก็ตาม
กลุ่มคนเหล่านี้มักจะเผชิญกับความเสี่ยง การคุกคาม และการฟ้องร้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อต้องจัดการกับประเด็นแรงงานและการทุจริต

“การจัดการกับความเสี่ยงเรื่องการทุจริตและสิทธิแรงงานในห่วงโซ่อุปทาน ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน โดยต้องอาศัยความพยายามร่วมกันของรัฐบาล ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และหุ้นส่วนระหว่างประเทศ” นางนีฟ คอลิเออร์-สมิธ กล่าว

นางนีฟ คอลิเออร์-สมิธ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNDP)

ขณะที่ ดร. เนติธร ประดิษฐ์สาร เลขาธิการและกรรมการบริหาร UNGCNT กล่าวย้ำว่าความเสี่ยงเกี่ยวกับการกระทำทุจริตกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน จะเป็นอุปสรรคต่อการยกระดับห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนและรับผิดชอบของธุรกิจทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย หากไม่สามารถจัดการได้ จะเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030

ดร. เนติธร ยังได้เสนอ 4 มาตรการการจัดการความเสี่ยงด้านการทุจริตและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการจัดหางานและการจ้างงานแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นประเด็นเร่งด่วน ได้แก่ มาตรการด้านนโยบาย โดยเฉพาะ ในกระบวนการจัดหางาน การขอใบอนุญาตทำงาน การขอ VISA โดยออกแบบมาตรการเหล่านี้ให้สะดวก ปลอดภัย และประหยัดต้นทุนและเวลาต่อทั้งแรงงานและภาคธุรกิจ การส่งเสริมหลักการ การจัดหางานอย่างมีจรรยาบรรณ (Ethical Recruitment) ให้นำไปใช้ในกลุ่มบริษัทจัดหางาน ทั้งในและนอกประเทศ

ดร. เนติธร ประดิษฐ์สาร เลขาธิการและกรรมการบริหาร UNGCNT

โดยต้องมีกลไกการตรวจสอบ และการรับเรื่องร้องทุกข์ที่โปร่งใสเข้าถึงได้ การใช้เทคโนโลยี รวมถึง AI หรือ Blockchain เพื่อลดช่องว่างและความเปราะบางในการแสวงหาประโยชน์จากผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น การใช้เทคโนโลยีในการแจ้งรายงานตัว 90 วัน รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ รวมถึง การตรวจสอบสถานะสิทธิมนุษยชนรอบด้าน การรายงานผลการดำเนินงาน เพื่อให้ธุรกิจทุกขนาดสามารถเปิดเผยผลการดำเนินการตามหลักการชี้แนะสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนได้อย่างสะดวก และประหยัดงบประมาณ

“การส่งเสริมการจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และยกระดับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากปราศจากการดำเนินงานร่วมกันอย่างจริงจัง เข้มแข็ง และมีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกันที่เป็นรูปธรรม วัดผลได้ ” ดร เนติธร กล่าว

หลังพิธิเปิด ดร. เสรี นนทสูติ กรรมการสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ความเชื่อมโยงของการทุจริตในห่วงโซ่อุปทานและความเสี่ยง ด้านสิทธิแรงงาน” โดยชี้ให้เห็นว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคน ตั้งแต่การเข้าถึงการศึกษา การทำงาน ไปจนถึงการมีสุขภาพที่ดี เพราะการทุจริตทำให้ทรัพยากรที่จำเป็นในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ลดน้อยลง และส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมในสังคม ดังนั้น นอกจาก Compliance หรือปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานที่กำหนดไว้ องค์กรธุรกิจภาคธุรกิจในวันนี้ต้อง Beyond Compliance หรือขยายขอบเขตความรับผิดชอบไปสู่การดูแลห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด โดยให้ความสำคัญกับคู่ค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกระดับตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินธุรกิจไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) เพื่อระบุ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทาน

โดยมีขั้นตอนสำคัญ คือ การระบุความเสี่ยง ตรวจสอบว่ามีโอกาสเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในส่วนใดของห่วงโซ่อุปทานบ้าง การป้องกัน โดยกำหนดนโยบายและมาตรการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน การแก้ไข หากเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้น และการรายงานผล การดำเนินงานเกี่ยวกับการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างโปร่งใส

ส่วนการเสวนา ในหัวข้อ “การส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานที่ปราศจากการคอร์รัปชัน เพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิแรงงาน” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ แก้วใจ สัจจะเวทะ ผู้อำนวยการสำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงแรงงาน ปิยนุช จันทนสุคนธ์ นักวิชาการยุติธรรมชำนาญการ รักษาการในตำแหน่ง ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิชาการและนวัตกรรมด้านการป้องกัน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ณพวุฒิ ประวัติ ผู้ประสานงานโครงการห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น ครอบคลุม และยั่งยืน (RISSC) ในประเทศไทย องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) นิธิพัศ นันทวโรภาส ผู้จัดการฝ่าย สำนักความร่วมมือระหว่างประเทศด้านความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ วงเสวนานี้ ชี้ให้เห็นความสำคัญของการร่วมมือกัน ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรต่างๆ ในการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่โปร่งใสและเป็นธรรม โดยมีข้อเสนอแนะสำคัญ คือ การปรับปรุงกฎหมายแรงงานให้ทันสมัย การสร้างมาตรฐานร่วมกัน และการส่งเสริมการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก และสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีขึ้นสำหรับแรงงานทุกคน

ตัวแทนกระทรวงแรงงาน ย้ำถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานสากล และการแก้ไขปัญหาเรื่องสภาพการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมและสภาพการทำงานที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นประเด็นร้องเรียนที่พบมากที่สุด ขณะที่ตัวแทน ป.ป.ท. เผยข้อมูลสถิติคดีทุจริตที่เกี่ยวข้องกับภาคเอกชน เช่น การเรียกรับสินบน และการละเมิดสิทธิแรงงาน โดยเฉพาะปัญหาแรงงานเงาและบัญชีม้า พร้อมทั้งเผยว่าขณะนี้ ป.ป.ท. ได้จัดทำข้อเสนอแนะแนวทางป้องกันกรณีการจ้างแรงงานเท็จ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการฯ และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อออกมาตรการบังคับใช้ต่อไป

ตัวแทน ILO ชี้ว่าปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายหรือแนวปฏิบัติด้าน HRDD ที่สามารถบังคับใช้ได้ทั่วโลกหรือทั่วทั้งห่วงโซ่อุปทาน แต่ในหลายประเทศมีการบังคับใช้กฎหมาย HRDD ในห่วงโซ่อุปทานในประเทศหรือภูมิภาคของตน ภายใต้หลักการเดียวกัน คือ ป้องกัน แก้ไข และเยียวยา จึงอยากให้ภาครัฐปรับปรุงกฎหมายด้านแรงงานให้สอดคล้องกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งควรส่งเสริมให้มีการส่งต่อความรู้ระหว่างกันของภาคธุรกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมให้อุตสาหกรรมไทยมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้ดียิ่งขึ้น

ตัวแทนจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ เน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีผู้นำที่มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และการตรวจสอบคู่ค้าอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งมีการจัดระบบจัดหาแรงงานข้ามชาติ ซึ่งมีความเสี่ยงและมีความเปราะบาง อย่างมีจริยธรรม โดยตั้งมาตรฐานและตรวจสอบบริษัทจัดหาแรงงานว่าต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสิทธิแรงงานที่กำหนด

“ซีพีมีซัพพลายเออร์กว่า 40,000 ราย ซึ่งเชื่อว่าซ้ำกับบริษัทอื่น ถ้าเราหาวิธีร่วมมือกัน สร้างมาตรฐานและตรวจสอบร่วมกัน ผ่านองค์กรกลาง อย่างโกลบอลคอมแพ็กหรือ UNGCNT จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบการทุจริตและสิทธิแรงงาน รวมทั้งเพิ่มศักยภาพของภาคธุรกิจในการจัดการห่วงโซ่อุปทาน” นิธิพัศ กล่าวทิ้งท้าย