ThaiPublica > เกาะกระแส > บพท.ชู 2 โมเดลแก้จนแบบพุ่งเป้า ใช้ ‘บวร’ ชุมชน วัด โรงเรียน ปลูกผักอินทรีย์ที่ “บุรีรัมย์ -สุรินทร์”

บพท.ชู 2 โมเดลแก้จนแบบพุ่งเป้า ใช้ ‘บวร’ ชุมชน วัด โรงเรียน ปลูกผักอินทรีย์ที่ “บุรีรัมย์ -สุรินทร์”

2 มกราคม 2025


บพท.จับมือมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ เดินหน้าโครงการวิจัยแก้จนลดเหลื่อมล้ำ ชู 2 โมเดลแก้จน บุรีรัมย์ -สุรินทร์  นำพื้นที่สาธารณะให้คนจนปลูกผักอินทรีย์แปลงรวม ตามแนวทางบ้าน-วัด-โรงเรียน ตลอดจนการมีส่วนร่วมของภาคีในพื้นที่ ชุบชีวิตคนจน ทำให้คนจนมีความมั่นคงยั่งยืนด้านอาชีพและรายได้

เมื่อเร็วๆนี้ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จัดเวทีสื่อมวลชนสัญจร จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดบุรีรัมย์ : “สู้ชนะความจนบนฐานพลังความรู้และพลังภาคี” ใน2 โมเดลแก้จน ประกอบด้วย โครงการวิจัยการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดสุรินทร์ ด้วยโมเดล “ผักอินทรีย์แก้จน” สู่การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ณ โรงเรียนบ้านยะวึก (ผจงราษฎร์วิทยาคาร) ตำบลยะวึก อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์  และ โมเดลเกษตรแปลงรวมแก้จน บ้านนาเกียรตินิยม ต.สะแกโพรง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)  กล่าวว่า  โมเดลแก้ปัญหาความยากจน ได้ถอดบทเรียนโมเดลแก้จนของประเทศจีนมาวิเคราะห์เพื่อออกแบบแก้ปัญหาในประเทศไทย จีนใช้คำว่าโมเดลแก้จนแบบเบ็ดเสร็จแม่นยำ มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบมีกลไกแก้จนระดับพื้นที่และในระดับประเทศ มีระบบข้อมูลในพื้นที่และในระดับประเทศซึ่งเป็นที่มาของคำว่าแม่นยำ

จากการทำข้อมูลคนจน โดยนำเอาข้อมูลจาก TPMAP ใน 20 จังหวัด มาตรวจสอบพบว่าในช่วงดังกล่าวมีข้อมูลคนจนทั้งประเทศเพียง 9 แสนคน เราจึงร่วมกับมหาวิทยาลัยออกแบบแพลฟอร์มเพื่อทำฐานข้อมูลคนจนใหม่จากระดับล่างขึ้นมาเพื่อค้นหาเป้าหมายใหม่ ซึ่งเราพบว่าใน 20 จังหวัดมีคนจนมากถึงล้านคน

ดร.กิตติ กล่าวว่า หลังจากได้ค้นหาเป้าหมายคนจนในพื้นที่จะเป็นระบบข้อมูลพุ่งเป้าของจังหวัด ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลเราจะนำข้อมูลไปส่งต่อความช่วยเหลือในระดับหน่วยงานเพื่อให้เห็นข้อมูลเดียวกัน บูรณาการทำงาน หลังจากช่วยเหลือแล้วกรอกข้อมูลกลับเข้าระบบเพื่อให้เห็นร่วมกันว่าได้รับความช่วยเหลือแล้ว

“เราเอาข้อมูลTPmap เป็นฐานเพื่อค้นหาคนจนเป้าหมายร่วมกันของจังหวัดก่อน ซึ่งเรานำข้อมูลดัชนีรายได้ครัวเรือนต่ำสุด พร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลจนได้เป้าหมายคนจนร่วมกัน ก่อนส่งต่อความช่วยเหลือ เพราะที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานกอดข้อมูลของตัวเองเอาไว้ ทำให้การแก้ปัญหาลงไปไม่ถึงคนจนระดับครัวเรือน และเป็นการแก้ปัญหาระดับโครงการ หรือกลุ่มมากกว่า ซึ่งการแก้ระดับครัวเรือนจะเป็นสงเคราะห์มากกว่า”

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

สำหรับครัวเรือนในพื้นที่จังหวัด สุรินทร์ และ บุรีรัมย์ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่พระสงฆ์ออกแบบโมเดลแก้จน ด้วยการสร้างอาชีพ และมีเป้าหมายให้มีรายได้ 80 บาทต่อวัน โดยโครงการปลูกผักอินทรีย์แก้จนบ้านยะวึก ภายใต้โครงการวิจัยฯของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ สะท้อนรูปธรรมของการสานพลังความรู้จากงานวิจัย เข้ากับพลังภาคีเครือข่ายในพื้นที่ สามารถสร้างผลลัพธ์ ผลกระทบ สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางบวกภายใต้บริบทภูมิสังคมในพื้นที่ได้อย่างชัดเจน ซึ่งน่าจะถูกใช้เป็นแบบอย่างแนวทางในการบริหารจัดการ เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่อื่นๆ

จังหวัดสุรินทร์ถูกยกเป็นจังหวัดยุทธศาสตร์งานวิจัยของกระทรวง อว. ด้วย 2 เป้าหมาย คือ 1 ครัวเรือนยากจนหรือคนจนทั้งหมดต้องได้รับโอกาสหรือการเข้าถึงสวัสดิการ 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้มีปัจจัย 4 และ 2 ครัวเรือนยากจนมีหนี้สิน ครัวเรือนยากจนเปราะบาง จะต้องเข้าถึงอาชีพ “โครงการนี้เป็นโครงการของคนสุรินทร์เพื่อคนสุรินทร์”

ดร.กิตติ กล่าวว่า หลังดำเนินโครงการแก้จนใน 20 จังหวัดพบว่าสามารถเปลี่ยนกระบวนทัศน์กลไกลความร่วมมือ กับระบบข้อมูลชี้เป้าความจนทุกจังหวัดได้แม่นยำ และได้รับการยอมรับ จนเกิดโมเดลแก้จนที่แตกต่างกันเพื่อสร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอ โดยข้อมูลดังกล่าวจะเชื่อมโยงกับส่วนกลาง ซึ่งตอนนี้ยังไม่สามารถนำข้อมูลเข้าส่วนกลางได้ทั้งหมด แต่ตั้งเป้าหมายว่าในปี 2570 จะส่งต่อข้อมูลคนจนเข้าสู่ส่วนกลาง 100 % เพื่อให้ข้อมูลคนจนเป็นฐานเดียวกันและมีความแม่นยำมากขึ้น

โมเดล “ผักอินทรีย์แก้จน” จังหวัดสุรินทร์

นายวสันต์ ชิงชนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่าโมเดลปลูกผักอินทรีย์แก้จน ในโครงการวิจัยฯของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ เป็นโมเดลที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดสุรินทร์ ด้านเกษตรอินทรีย์วิถีรุ่งเรือง ด้วยการเชื่อมโยงเครือข่ายในพื้นที่ให้เกิดการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันในรูปแบบการช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม ซึ่งจะได้พิจารณาบรรจุไว้ในแผนพัฒนาจังหวัดต่อไป

ด้าน ผศ.ดร.นิศานาถ แก้ววินัด หัวหน้าชุดโครงการวิจัยการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากบพท. กล่าวว่า ชุดโครงการวิจัยนี้มุ่งใช้พลังความรู้จากงานวิจัย เชื่อมโยงกับพลังภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ซึ่งมี ‘บวร’ ทั้งบ้าน-วัด-โรงเรียน-องค์กรปกครองท้องถิ่น เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการกระตุ้นให้คนจนลุกขึ้นต่อสู้เอาชนะความยากจนด้วยตัวเอง  ตามหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่าด้วยการระเบิดจากข้างใน โดยมีกลุ่มครัวเรือนคนจนเป้าหมายในตำบลยะวึก อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์เป็นกลุ่มตัวอย่างในโครงการวิจัย

“กระบวนการคัดเลือกครัวเรือนคนจนเข้าร่วม โครงการวิจัยจะสังเคราะห์ข้อมูลครัวเรือนคนจนจากฐานข้อมูล 3 แหล่งคือ TPMAP, PPPCONNEXT และ SURIN POVERTY DATA BASE แล้วคัดกรองเพิ่มเติมร่วมกับคณาจารย์โรงเรียนบ้านยะวึกและคณะสงฆ์ตำบลยะวึก รวมทั้งอาสาสมัครองค์กรปกครองท้องถิ่น เพื่อเฟ้นกลุ่มครัวเรือนคนจนที่ต้องพึ่งพาเงินกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในการให้บุตรหลานได้มีโอกาสรับการศึกษา เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นครัวเรือนยากจนของจริง”

กลุ่มครัวเรือนคนจนที่ผ่านกระบวนการคัดเลือก จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในโครงการผักอินทรีย์แก้จน บนพื้นที่ของโรงเรียนบ้านยะวึก เพื่อรับการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการทำแปลงปลูกผักแบบเกษตรปราณีต ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน หมักดิน ทำปุ๋ยคอก ทำน้ำหมักชีวภาพ ทำสารชีวภัณฑ์ การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว และการจัดการแปลง

ผศ.ดร.นิศานาถ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าครัวเรือนยากจนในโครงการนี้ มีความอดทน ไม่ท้อแท้ ท้อถอย แม้ต้องเผชิญทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม ดินเค็ม แต่ก็อดทนต่อสู้ฟันฝ่ามาได้ ด้วยกำลังใจจากคณะสงฆ์นำโดยพระพรหมโมลี อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 11 และพระราชวิมลโมลี เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากภาคีในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทศบาลตำบลยะวึก

“ครัวเรือนยากจนกลุ่มเป้าหมาย 50 ครัวเรือน มีรายได้เฉลี่ยปีละ 36,000 บาท มีค่าใช้จ่ายลดลงปีละ 18,000 บาท ขณะเดียวกันกองทุนชุมชน ที่ครัวเรือนยากจนร่วมกันแบ่งปันเงินที่ได้รับมอบจากพระพรหมโมลี มาจัดตั้งขึ้นก็ขยายขนาดเติบโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 24,000 บาท ด้วยเงินสมทบบำรุงแปลงผัก ตามสัญญาประชาคม ที่ครัวเรือนยากจนพร้อมใจกันจ่ายในอัตราแปลงละ 10 บาทต่อเดือน”

นางสาวรามาวดี อินอุไร ประธานชุมชนปลูกผักอินทรีย์แก้จนบ้านยะวึก

นางสาวรามาวดี อินอุไร ประธานชุมชนปลูกผักอินทรีย์แก้จนบ้านยะวึก ซึ่งมีสถานะเป็นครัวเรือนยากจนในโครงการร่วมด้วย กล่าวว่า โครงการนี้ มีส่วนอย่างมากในการชุบชีวิตคนจน ทำให้คนจนมีความหวัง มีรายได้มั่นคงในการยังชีพ จากการปลูกผักอินทรีย์ขาย ขณะเดียวกันกองทุนชุมชน ที่ได้รับเมตตาจากพระพรหมวชิรโมลี มอบเงินขวัญถุงให้ ก็มีส่วนในการช่วยเสริมสภาพคล่องแก่ครัวเรือนยากจนได้มาก โดยครัวเรือนยากจนที่ขัดสน หรือต้องการทำอาชีพเสริม สามารถหยิบยืมไปทำทุนได้คราวละไม่เกิน 500 บาท โดยไม่มีดอกเบี้ย แต่ต้องจ่ายคืนภายในเวลา 1 เดือน

“ชุมชนของเราจนก็จริง แต่พวกเรามีนา แม้ไม่มีข้าวกินเราก็ไปหาอย่างอื่น เราไม่มีเงินที่จะใช้ชำระหนี้ เราเจอโควิดแล้วรัฐบาลห้ามออกจากบ้านเราไม่สามารถไปเก็บถั่วขายได้ เรามีกำลังใจดีให้กำลังใจกันและกันและได้รับกำลังใจจากทุกภาคส่วน เราเป็นคนจน เราไม่มีเงินก็จริง แต่เรามีแรง”

นางจอมใจ แซ่เลา สมาชิกกลุ่มผักแก้จนที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษ ครอบครัวประสบปัญหาน้ำท่วม และได้รับความช่วยเหลือจากพระสงฆ์ กล่าวว่า  มีลูกเป็นเด็กพิเศษเรียนกับเพื่อนที่โรงเรียนในหมู่บ้านไม่ได้ต้องไปเรียนที่อื่นทำให้ต้องมีค่าใช้จ่าย แต่ครอบครัวประสบปัญหาหนักน้ำท่วมที่นาเสียหาย  ตอนนี้เริ่มฟื้นตัวจากการร่วมกลุ่มปลูกผักทำให้มีรายได้วันละ 80-100 บาทช่วยค่าใช้จ่ายได้บ้าง

“พระสงฆ์” กับการแก้ไขปัญหาความยากจน

พระครูปริยัติกิจธำรง รองเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ กล่าวถึงการยกระดับจิตใจและการบูรณาการร่วมกับโครงการผักแก้จน ว่า ที่ผ่านมาได้มีการวางหลักให้คณะสงฆ์มีส่วนช่วยเหลือชาวบ้านที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ครัวเรือนยากจน บางคนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงแต่มีความอ่อนแอทางด้านจิตใจ จึงต้องมีคนเข้าไปสะกิดและให้คำแนะนำ จึงเกิดโครงการการปลูกผักแก้จน มีการสนับสนุนและรักษาแนวทางเพื่อการต่อยอดบางอย่างจากคณะสงฆ์

สำหรับครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการ ดูจากระดับรายได้ของครัวเรือน ความด้อยโอกาส ความต้องการการสนับสนุน องค์ความรู้ในการพัฒนาชีวิต และกรอบวิธีคิดที่ต้องการให้เกิดสิ่งใหม่มาทดแทนกับชีวิตที่เป็นอยู่ท่ามกลางภาวะวิกฤติของชีวิต

พระครูปริยัติกิจธำรงกล่าวว่า หากคนเรารู้สึกรักบ้านเกิดและอยากจะทำสิ่งที่ดีงามให้เกิดขึ้น รวมทั้งการขับเคลื่อนงานเป็น “ความหวัง” สิ่งที่พระสงฆ์ให้การสนับสนุนจะสามารถนำไปใช้ในการต่อยอดให้เกิดประโยชน์ได้หรือไม่ ตรงตามความต้องการหรือไม่ พระสงฆ์ให้ความเกื้อกูลช่วยเหลือในส่วนที่ทำได้ เมื่อชุมชนลำบากเราจะช่วยเหลือชุมชนอย่างไร “ใช้พระให้เป็น แล้วจะมีที่พึ่งได้”

สำหรับโมเดล “ผักอินทรีย์แก้จน” ต.ยะวึก เริ่มดำเนินโครงการการในช่วงกลางปี 2564 ขับเคลื่อนด้วยกลไกภาคีเครือข่าย บ้าน-วัด-ส่วนราชการ โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน และค้นหาคนจนเป้าหมายจากระบบฐานข้อมูล TPMAP PPPconnext และ Surin Poverty Database

จังหวัดสุรินทร์ แบ่งการปกครองออกเป็น 17 อำเภอ 158 ตำบล 2,128 หมู่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 172 แห่ง โดยข้อมูลจากปี 2564 เส้นความยากจนของจังหวัดเท่ากับ 2,430 บาท/คน/เดือน สัดส่วนประชากรของ จ.สุรินทร์ ยากจนเป็นอันดับที่ 5 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีหนี้ครัวเรือนเฉลี่ย 347,321 บาท/ครัวเรือน และในปี 2565 มีดัชนีความก้าวหน้าของคน ต่ำสุดในประเทศ

คนจนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมคือทำนาเป็นอาชีพหลัก มีรายได้จากการทำนา เบี้ยผู้สูงอายุ และบัตรสวัสดิการคนจน แต่ละครัวเรือนมีผู้สูงอายุและหลานอาศัยอยู่ด้วยกัน ส่วนวัยแรงงานจะไปทำงานในพื้นที่อื่นและส่งเงินกลับบ้านเป็นบางครั้งหรือไม่ส่งเลย

จากการวิเคราะห์จากข้อมูลและการประชุมระดมสมองในพื้นที่เห็นว่า อาชีพที่เหมาะสมจะพัฒนาและต่อยอดให้คนจนเป้าหมายคือการปลูกผักอินทรีย์ ตามทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง ของพ่อหลวง รัชกาลที่ 9 โดยเริ่มจากการให้ความรู้ในการปลูกผักแบบประณีต ตั้งแต่การบริหารจัดการแปลง การเตรียมดิน การหมักดิน ทำปุ๋ยคอกหมัก ทำน้ำหมักชีวภาพ การทำสารชีวภัณฑ์ การเพาะปลูก และการเก็บเกี่ยว บนพื้นที่ของโรงเรียนบ้านยะวึก(ผจงราษฎร์วิทยาคาร) ร่วมกับภาคีเครือข่าย

จนกระทั่งเปิดเป็น “สวนผักอินทรีย์ พุทธเมตตา” เมื่อวันที่ 28 ก.ค.2564 ในเมตตาพระพรหมวชิรโมลี อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 11 เมตตามอบปัจจัยสมทบเบื้องต้นให้ครัวเรือนละ 1,000 บาท และครัวเรือนเหล่านี้แบ่งเงิน 500 บาทมาร่วมกันจัดตั้งเป็นกลุ่ม “วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์แก้จน ชุมชนยะวึก” เมื่อ 13 ส.ค.2564 และเปิดเป็น “ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์แก้จน ชุมชนยะวึก” อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนก.ย.2566

โมเดลเกษตรแปลงรวมแก้จน บ้านนาเกียรตินิยม บุรีรัมย์

ส่วนโมเดลแก้จนจังหวัดบุรีรัมย์ ดร.พิสมัย ประชานันท์ รองอธิการบดี ฝ่ายวิจัยและพัฒนา เครือข่ายและองค์กรสัมพันธ์มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า บ้านนาเกียรตินิยม มีครัวเรือนคนจน 51 ครัวเรือน จำนวน 198 คน เป็นคนจนที่จัดอยู่ใน กลุ่มอยู่ยากและอยู่พอได้ ซึ่งไม่มีที่ดินทำกิน มีทักษะการทำเกษตร และในหมู่บ้านยังมีพื้นที่สาธารณะ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ จำนวน 4 ไร่ และมีแหล่งน้ำซึ่งสามารถใช้เพื่อการเกษตรได้ จึงนำมาจัดสรรให้ครอบครัวคนจนได้ปลูกผักเพื่อสร้างรายได้ประจำวัน

ทั้งนี้พื้นที่บ้านนาเกียรตินิยม หมู่ 17 ต.สะแกโพรง จังหวัดบุรีรัมย์ ได้เข้าร่วมโครงการบูรณาการความร่วมมือการแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยโมเดลเกษตรแปลงรวมแก้จนเพื่อการแก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อปี พ.ศ. 2565 ต่อเนื่องมาถึงปี 2567  เป็นการต่อยอดขยายผลจากโมเดลเกษตรแปลงรวมในพื้นที่สาธารณะ มาสู่เกษตรแปลงรวมสร้างสุข(แก้จน) ผ่านกระบวนวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม

“เกษตรแปลงรวมสร้างสุข(แก้จน)เป็นการทำงานแบบบูรณาการโดยใช้กลไกความร่วมมือระหว่างเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ นายธัชกร หัตถาธยากูล (ในสมัยนั้น) มีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ร่วมกับชาวบ้านในการนำพื้นที่มาพัฒนาให้ชาวบ้านทำเกษตรเพื่อสร้างรายได้”

ดร.พิสมัย ประชานันท์ รองอธิการบดี ฝ่ายวิจัยและพัฒนา เครือข่ายและองค์กรสัมพันธ์มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

ดร.พิสมัย กล่าวว่า ผลจากการดำเนินงานภายใต้กระบวนการของโมเดลเกษตรแปลงรวมแก้จน ที่ต่อเนื่องมา 2 ปี ทำให้เกิดการพัฒนาและยกระดับครัวเรือนยากจน ส่งผลให้เกิดเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของครัวเรือนจนไปในทิศทางที่ดีขึ้น จึงทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ นายนฤชา โฆษาศิวิไลย์ ( ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ปัจจุบัน ) เล็งเห็นความสำคัญและสนับสนุนให้โมเดลเกษตรแปลงรวมแก้จนเป็นเมนูแก้จน เพื่อใช้ยกระดับคุณภาพชีวิตครัวเรือนยากจน สร้างโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรที่เท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และประกาศให้นำใช้เป็นนโยบายการพัฒนาภายใต้หน่วยงานของจังหวัดบุรีรัมย์ต่อไป

ต่อมาในปี 2566  คณะผู้วิจัยได้ขยายรูปแบบการพัฒนายกระดับครัวเรือนคนจนด้วยโมเดลเกษตรแปลงรวมออกไป อีก 10 พื้นที่ ในอำเภอนางรอง และอำเภอสตึก โดยใช้พื้นที่เกษตรแปลงรวมของบ้านนาเกียรตินิยม เป็นพื้นที่ต้นแบบ แหล่งเรียนรู้ ในการขับเคลื่อน  เกิดการบูรณาการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างท้องถิ่น ท้องที่ ครัวเรือนคนจน และหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม ที่มีนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาสนับสนุน มีกลยุทธ์การทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่กระบวนการ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

ทั้งนี้พื้นที่สาธารณะจาก 10 หมู่บ้าน มีครัวเรือนคนจนเป้าหมายจาก 10 พื้นที่สมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน 282 ครัวเรือน สามารถพัฒนายกระดับทุน 5 ด้านได้ดังนี้

1.ทุนทางกายภาพ เกิดการเปลี่ยนแปลงการจัดการพื้นที่สาธารณะ 10 พื้นที่ ใน 2 อำเภอ 10 หมู่บ้าน จำนวน 20 ไร่ เป็นแปลงพืช ผัก แหล่งผลิตอาหารปลอดภัย ของชุมชน

2.ทุนทางสังคม เกิดกลุ่มสังคมใหม่ที่เข้มแข็ง  10 กลุ่ม ขึ้นทะเบียนวิสาหกิจชุมชนเกษตรสร้างสุข 5 กลุ่ม นำเข้าแผนพัฒนาของ อปท. ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

3.ทุนมนุษย์ ครัวเรือนคนจน 282 ครัวเรือน มีความรู้และทักษะอาชีพ โดยใช้ เทคโนโลยี นวัตกรรม การบริหารจัดการพืช ดิน น้ำ ป่า ฯ  ปุ๋ยน้ำหมักอินทรีย์ชีวภาพ ปุ๋ยหมัก ผักยกแคร่  ผักไร้ดิน การจัดการผลผลิต การตลาด และการต่อยอด ภูมิปัญญาท้องถิ่น อื่น ๆ จากผลผลิตเกษตรแปลงรวม

4.ทุนทางเศรษฐกิจ ลดรายจ่ายเฉลี่ยครัวเรือนละ 26 บาทต่อวัน  เกิดรายได้เพิ่มเติมเฉลี่ย 16 บาทต่อวัน ยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือนให้ดีขึ้น

5.ทุนทางธรรมชาติ เกิดการใช้แหล่งน้ำชุมชน ที่ดินว่างเปล่า  ป่าชุมชน เพิ่มคุณค่าทรัพยากร สิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น สร้างงาน สร้างอาชีพให้กับครัวเรือนคนจน