ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯจี้พลังงานปรับเกณฑ์รับซื้อไฟสีเขียว – เร่ง Direct PPA หนุนกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

นายกฯจี้พลังงานปรับเกณฑ์รับซื้อไฟสีเขียว – เร่ง Direct PPA หนุนกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

26 พฤศจิกายน 2024


เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 เวลา 09.30 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 3/2567 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมประชุม ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

นายกฯจี้พลังงานปรับเกณฑ์รับซื้อไฟสีเขียว – เร่ง Direct PPA หนุนกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต – มติ กพช.ต่ออายุเก็บเงินคนใช้น้ำมันส่งกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯลิตรละ 0.05 บาท – LPG ไม่เก็บ พร้อมโอนภารกิจให้ ‘คลัง’ ปราบปรามน้ำมันเถื่อนแทน ‘กองทุนน้ำมันฯ’ โดยขอรับการจัดสรรงบฯจากรัฐบาลตั้งแต่ปี’69 เป็นต้นไป

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 เวลา 09.30 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 3/2567 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมประชุม ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม กพช.ได้พิจารณากำหนดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร และน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในราชอาณาจักร และก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ใช้เป็นก๊าซหุงต้มหรือก๊าซไฮโดรคาร์บอนเหลว พ.ศ. 2567 เนื่องจากประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร และน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในราชอาณาจักร พ.ศ. 2564 เดิมจะครบกำหนดในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 โดยที่ประชุม กพช.มีมติเห็นชอบ อัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร และน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในราชอาณาจักร ในอัตรา 0.0500 บาทต่อลิตร และก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ใช้เป็นก๊าซหุงต้มหรือก๊าซไฮโดรคาร์บอนเหลว ในอัตรา 0.0000 บาทต่อกิโลกรัม โดยเริ่มใช้ 1 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร และน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในราชอาณาจักร และก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ใช้เป็นก๊าซหุงต้มหรือก๊าซไฮโดรคาร์บอนเหลว พ.ศ. …. และมอบหมายให้ สนพ. นำเสนอประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติลงนามต่อไป

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

นายพีระพันธุ์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม กพช. ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอที่ให้กระทรวงพลังงานเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2544 ที่เห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2544 (ครั้งที่ 87) เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2544 ในประเด็นเรื่องการปรับองค์กรในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม จาก “ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 เป็นต้นไป ให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลัก รับผิดชอบดูแลงานด้านการกำหนดนโยบาย และมาตรการในการป้องกัน และปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียมแทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และรับไปดำเนินการจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียมให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยให้ยุติการนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปใช้จ่ายในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 ทั้งนี้ ให้กระทรวงการคลังประสานงานกับสำนักงบประมาณในการจัดสรรงบประมาณตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 เป็นต้นไป” เป็น “ให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลัก รับผิดชอบดูแลงานด้านการกำหนดนโยบายและมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม และให้หน่วยงานที่มีความประสงค์ขอรับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม ดำเนินการจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณโดยตรงตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 เป็นต้นไป”

นอกจากนี้ ที่ประชุม ยังได้มีการพิจารณาให้ความเห็นชอบ ร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 3 ฉบับ (3 ผลิตภัณฑ์) ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ เครื่องอัดอากาศแบบเกลียว และกระจก และมอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน นำร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 3 ฉบับ (3 ผลิตภัณฑ์) เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่างต่อไป

นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

ด้านนางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำถึงความสำคัญของพลังงาน โดยเฉพาะเรื่องราคาพลังงานขอให้ กพช. ให้ความสำคัญ เพราะเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจและครัวเรือน ซึ่งจากการเดินทางไปเยือนต่างประเทศ พบว่าทุกประเทศล้วนให้ความสนใจพลังงานสะอาดเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงขอให้โฟกัสเรื่องนี้ให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลงทุนต่าง ๆ ในการที่จะดึงดูดนักลงทุน และเอื้อต่อการลงทุนพลังงานสะอาด หากกระทรวง หรือ หน่วยงานใด มีแผนการดำเนินการในอยู่แล้ว ก็ขอให้เร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ อย่าให้เกิดความล่าช้า รวมทั้ง ขอให้เร่งปรับปรุงหลักเกณฑ์คัดเลือก และการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยเฉพาะเรื่องการดำเนินงานตามมาตรการในการให้เอกชนสามารถทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct Power Purchase Agreement: Direct PPA) สำหรับเรื่องราคาขอให้สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ รวมไปถึงการพิจารณา Direct PPA กรณีที่กำหนดเป้าหมายอนุญาตให้เฉพาะบริษัท Data Center ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนนั้น ขอให้พิจารณาไปถึงกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

  • ‘ธนาธร’จี้นายกฯ ทบทวนสัมปทานรับซื้อพลังงานหมุนเวียน 3,600 MW หวั่นเอื้อกลุ่มทุนพลังงาน – ปชช.จ่ายค่าไฟแพง
  • นายกฯเคาะซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มอีก 3,668 MW ยันไม่มี “ค่าพร้อมจ่าย” – ดันไฟฟ้าสำรองเพิ่ม