ดร.ภิญโญ มีชำนะ

จากการหวนกลับมาทวงคืนตำแหน่งประธานาธิบดีในสมัยที่ 2 หลังว่างเว้นไปหนึ่งสมัย ชัยชนะการเลือกตั้งของทรัมป์น่าจะมีผลกระทบต่อภูมิทัศน์ของพลังงานโลก การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ต้องคอยดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับนโยบายด้านพลังงานของสหรัฐอเมริกา เมื่อทรัมป์กลับมาในสมัยที่ 2
การคาดการณ์นโยบายพลังงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาหลังทรัมป์ชนะเลือกตั้ง
จากประวัติของทรัมป์ด้านพลังงานในสมัยที่แล้ว เมื่อต้องกลับมาเป็นประธานาธิดีอีกสมัยหนึ่ง ทรัมป์น่าจะกำหนดนโยบายพลังงานของสหรัฐอเมริกา ดังนี้ [1] [2] [3] [4] [5] [6] [7]
1. การสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล
ทรัมป์มีท่าทีสนับสนุนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน โดยมองว่าเป็นแหล่งพลังงานที่จำเป็นต่อการเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและพลังงานของสหรัฐอเมริกา การส่งเสริมการผลิตและส่งออกเชื้อเพลิงฟอสซิลจะทำให้สหรัฐอเมริกามีบทบาทมากขึ้นในตลาดพลังงานโลก ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันและก๊าซมีความผันผวน และอาจกดดันจนสร้างผลกระทบกับประเทศผู้ผลิตรายอื่น เช่น กลุ่มประเทศ OPEC หรือรัสเซีย ได้อย่างมีนัยสำคัญ
2. การลดข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อม
ทรัมป์จะดำเนินนโยบายที่ผ่อนคลายข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมและอนุมัติการขยายการขุดเจาะหรือการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล นโยบายเหล่านี้อาจลดต้นทุนการผลิตพลังงานของสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม การลดข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อมนี้อาจกระทบต่อเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกของประเทศอื่นๆ
3. การถอนหรือไม่ให้ความสำคัญกับข้อตกลงด้านสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศ
ในอดีต ทรัมป์เคยถอนสหรัฐอเมริกาออกจากข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นข้อตกลงสากลที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเลือกถอนตัวครั้งนั้นส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายลดก๊าซเรือนกระจกระดับโลก เมื่อเขากลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งหนึ่ง เขาอาจไม่ให้ความสำคัญกับข้อตกลงสภาพภูมิอากาศเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจสร้างความยากลำบากต่อการสร้างความร่วมมือระดับนานาชาติ ในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
4. การพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์และ SMR
ทรัมป์แสดงท่าทีสนับสนุนการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ รวมถึงการวิจัยและพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ (small modular reactors หรือ SMR) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมาก หากทรัมป์สนับสนุนการพัฒนา SMR ต่อไป อาจทำให้สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำในเทคโนโลยีนี้ และเปิดโอกาสในการส่งออกเทคโนโลยี SMR ไปยังประเทศอื่น ส่งผลให้ตลาดพลังงานนิวเคลียร์ระดับโลกขยายตัว (จะอธิบายโดยละเอียดในหัวข้อต่อไป)
5. การส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว (liquified natural gas หรือ LNG) และอิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์
ทรัมป์มีความสนใจในการเพิ่มการส่งออก LNG ซึ่งช่วยให้สหรัฐฯ สามารถใช้พลังงานในการสร้างอิทธิพลเชิงภูมิรัฐศาสตร์ การส่งออก LNG เพิ่มขึ้นอาจช่วยลดการพึ่งพาก๊าซจากรัสเซียในภูมิภาคยุโรปและเอเชีย และทำให้สหรัฐอเมริกามีบทบาทสำคัญในการกำหนดราคาก๊าซทั่วโลก
6. ผลกระทบต่อการพัฒนาพลังงานสะอาดทั่วโลก
ทรัมป์น่าจะลดการสนับสนุนพลังงานสะอาดในสหรัฐอเมริกา อาจส่งผลกระทบต่อความก้าวหน้าของพลังงานหมุนเวียนในระดับโลก เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีและการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และลม หากนโยบายของทรัมป์ลดการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนลง อุตสาหกรรมพลังงานดังกล่าวทั่วโลกอาจมีการเติบโตที่ช้าลง และส่งผลต่อการพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานหมุนเวียนในอนาคต
7. การเปลี่ยนแปลงในทิศทางการลงทุนและความร่วมมือด้านพลังงานของประเทศต่างๆ
การที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญน้อยลงกับการลดก๊าซเรือนกระจกและพลังงานสะอาด อาจทำให้ประเทศอื่นๆ ต้องปรับทิศทางการลงทุนด้านพลังงานของตนเอง โดยมุ่งพัฒนาแหล่งพลังงานที่ตอบสนองความต้องการในระดับประเทศและเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานในประเทศของตนเอง ซึ่งอาจรวมถึงการเร่งพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในบางภูมิภาค
โดนัลด์ ทรัมป์ เคยประกาศว่า หากชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง เป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 เขาจะนำสหรัฐอเมริกาถอนตัวจาก Paris Ageement ด้วยเหตุผลว่าข้อตกลงนี้ไม่เป็นธรรมต่อเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา สร้างภาระเกินควรให้ภาคธุรกิจ และก่อให้เกิดอุปสรรคในการพัฒนาเหมืองถ่านหินของประเทศ โดยล่าสุดเดอะนิวยอร์กไทมส์ได้รายงานว่า ทีมถ่ายโอนอำนาจของทรัมป์เตรียมทำคำประกาศถอนตัวจาก Paris Agreement พร้อมขยายการขุดเจาะน้ำมัน และจะหยุดส่ง LNG ไปยังตลาดเอเชียและยุโรป รวมทั้งอาจจะย้ายสำนักงานใหญ่ของสำนักงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency หรือ EPA) ออกไปนอกกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และเตรียมถอนข้อบังคับการควบคุมมลพิษในรัฐแคลิฟอร์เนีย และรัฐอื่นๆ [8]
มีการคาดการณ์ว่าสมัยที่ 2 ของโดนัลด์ ทรัมป์ อาจทำให้สหรัฐอเมริกาปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นประมาณ 4 พันล้านตันภายในปี 2530 ซึ่งมากพอๆ กับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นรวมกัน [9]
เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้เริ่มการประชุม COP29 หรือการประชุมสมัชชากรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน โดยการประชุมครั้งนี้มีเรื่องที่สำคัญคือ การหาเงินสนับสนุนจากประเทศร่ำรวยมาให้ประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศยากจนและเกาะเล็ก เกาะน้อย เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จำนวนเงินที่พูดถึงอยู่ที่ประมาณ 3.4 แสนล้านบาทตามข้อตกลง Paris Agreement แต่จนถึงตอนนี้ประเทศร่ำรวยก็ยังไม่ยอมขยับ นอกจากนั้นแล้ว การที่ประเทศร่ำรวยปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าประเทศยากจน การลดก๊าซเรือนกระจกจึงต้องให้ประเทศอุตสาหกรรมสมัยใหม่เข้ามามีส่วนประเมินและวางแผนลดก๊าซดังกล่าวในแต่ละประเทศ ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย เพื่อจำกัดการเพิ่มของอุณหภูมิโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบก่อนอุตสาหกรรม [10]
ข่าวล่าสุดแจ้งว่า ผู้นำระดับสูงหลายคนไม่เข้าร่วมประชุม COP29 ในครั้งนี้ [11]
แนวคิดที่จะให้ประเทศร่ำรวยบริจาคเงินช่วยเหลือประเทศยากจนถูกพูดถึงในการประชุม COP หลายหนที่ผ่านมา แต่ก็ประสบความล้มเหลว อย่างไรก็ตาม การประชุม COP29 ในครั้งนี้สำคัญมาก เพราะถูกเรียกว่าเป็น “Finance COP” โดยมีข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนสภาพอากาศมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สำหรับประเทศกำลังพัฒนา และเมื่อครบระยะเวลาแต่ละประเทศจะต้องส่งแผนการมีส่วนร่วมที่แต่ละประเทศกำหนด หรือ NDC (Nationally Determined Contribution) ฉบับใหม่
ทำให้เกิดคำถามว่า ประเทศร่ำรวยเหล่านี้มีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดจากวิกฤติสภาวะอากาศหรือไม่ เพราะเมื่อผู้นำระดับสูงหลายคนไม่เข้าร่วมประชุม COP29 ที่จะพูดถึงเงินที่จะมาแก้ปัญหาโลกรวน ทำไมประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลกจึงไม่มาร่วมประชุม จะไม่เห็นความสำคัญของการประชุมในครั้งนี้เลยหรือ ประเทศเหล่านี้ดีแต่พูดหรือเปล่า พอถึงคราวที่จะควักเงินจ่ายแก้โลกรวนจึงพากันหนีหาย
แต่ปัญหาใหญ่จริงๆ ของนโยบายพลังงานโลกที่จะเปลี่ยนไปอย่างมากมายก็คือ การที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีที่กำลังจะกลับมาในสมัยที่ 2 แสดงท่าทีอย่าเอาจริงเอาจังว่าสหรัฐอเมริกาจะถอนตัวจาก Paris Agreement จะชะลอการเปลี่ยนผ่านพลังงาน โดยจะสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานเพิ่มมากขึ้น ทั่วโลกจึงหวาดหวั่นกับท่าทีที่ไม่ประนีประนอมของทรัมป์ อันอาจทำให้ประเทศอื่นๆ ไร้แรงต้านที่จะต่อสู้กับวิกฤติสภาพภูมิอากาศ จนจำต้องถอนตัวจากข้อตกลงที่เคยทำไว้ในอดีต ดังที่ มาร์ก ฟานฮูเคเลน ทูตด้านสภาพอากาศของสหภาพยุโรปที่เคยดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2019-2023 กล่าวไว้ว่า
[ผู้เขียน : เราในที่นี้รวมถึงประเทศไทยด้วยนะ]“ผู้คนจะพูดว่า ขนาดสหรัฐอเมริกาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 2 ของโลก และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดยังไม่ยอมทำเรื่องพวกนี้เลย แล้วเราจะทำไปทำไมกัน”
อาจสรุปได้ว่า เมื่อทรัมป์กลับมาเป็นประธานาธิบดี จะทำให้ภูมิทัศน์พลังงานโลกอาจเปลี่ยนไปในลักษณะที่เน้นการสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล ลดการควบคุมทางด้านสิ่งแวดล้อม และลดการมีส่วนร่วมในข้อตกลงสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศ หรืออาจถึงขั้นถอนตัวจาก Paris Agreement เลยทีเดียว ซึ่งอาจส่งผลให้การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ช้าลง จนทำให้หลายๆ ประเทศต้องปรับทิศทางพลังงานของตน เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะภูมิทัศน์ด้านพลังงานที่เปลี่ยนแปลง

การคาดการณ์นโยบายพลังงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ด้านพลังงานนิวเคลียร์และ SMR หลังทรัมป์ชนะเลือกตั้ง
โดนัลด์ ทรัมป์ เคยแสดงการสนับสนุนการพัฒนา SMR ในสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก โดยมองว่าพลังงานนิวเคลียร์เป็นแหล่งพลังงานที่มั่นคงและปลอดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการลดการพึ่งพาพลังงานนำเข้า และการเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานของสหรัฐอเมริกา รายละเอียดสำคัญเกี่ยวกับการสนับสนุนของเขาต่อพลังงานนิวเคลียร์ SMR [12] [13] มีดังนี้
1. นโยบายด้านนิวเคลียร์ของทรัมป์
ในช่วงที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งสมัยแรก เขาได้ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความสามารถในการผลิตพลังงานในประเทศ โดยพิจารณาพลังงานนิวเคลียร์เป็นหนึ่งในแหล่งพลังงานที่จำเป็นและยั่งยืน
ทรัมป์มองว่า พลังงานนิวเคลียร์เป็นเครื่องมือที่ช่วยลดการพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และยังช่วยให้สหรัฐอเมริกาสามารถแข่งขันด้านเทคโนโลยีพลังงานกับประเทศอย่างจีนและรัสเซียได้ โดยเฉพาะเมื่อพลังงานนิวเคลียร์กำลังจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาดระดับโลก
2. การส่งเสริมเทคโนโลยี SMR
ทรัมป์มีนโยบายที่สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี SMR ผ่านกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ (DOE) เพื่อให้บริษัทเอกชนมีทรัพยากรและความช่วยเหลือในการพัฒนาและนำเทคโนโลยี SMR มาสู่ตลาด ซึ่ง SMR มีขนาดเล็กกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบดั้งเดิม มีความปลอดภัยสูงกว่า และติดตั้งง่ายกว่า ทำให้สามารถนำไปใช้งานได้ในพื้นที่ต่างๆ
ในการดำรงตำแห่งสมัยแรก รัฐบาลทรัมป์ได้สนับสนุนโครงการนำร่องและให้เงินทุนสนับสนุนแก่บริษัทพัฒนานิวเคลียร์หลายราย รวมถึง NuScale Power ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนา SMR ของสหรัฐฯ โดย NuScale ได้รับใบอนุญาตการออกแบบจากหน่วยงานในปี 2020 ซึ่งถือเป็นความสำเร็จสำคัญในอุตสาหกรรมนิวเคลียร์
3. การสนับสนุนทางการเงินและการลงทุน
ในช่วงทรัมป์ดำรงตำแหน่งสมัยแรก ทรัมป์ได้จัดสรรงบประมาณผ่านกระทรวงพลังงานเพื่อสนับสนุนการวิจัยด้านนิวเคลียร์และ SMR โดยเน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยและประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ นอกจากนี้ ยังมีการสร้างโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมนิวเคลียร์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
4. นโยบายการขยายการใช้พลังงานนิวเคลียร์ระดับโลก
ทรัมป์สนับสนุนการขยายการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกาไปยังต่างประเทศ เพื่อให้สามารถแข่งกับประเทศอื่นที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ เช่น จีนและรัสเซีย การส่งออกเทคโนโลยี SMR อาจเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สหรัฐฯ ใช้เพื่อเพิ่มอิทธิพลทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์
5. ความเป็นไปได้ในอนาคต
เมื่อทรัมป์กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง มีแนวโน้มว่าเขาจะให้การสนับสนุน SMR อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเทคโนโลยีนี้สามารถลดต้นทุนและเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานภายในประเทศได้ โดยทรัมป์แสดงท่าทีสนับสนุนการพัฒนาและการใช้พลังงานนิวเคลียร์ SMR ในฐานะหนึ่งในแหล่งพลังงานสำคัญของสหรัฐอเมริกา โดยเขามองว่า SMR จะช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และสร้างโอกาสการลงทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
6. การลดอุปสรรคด้านการกำกับดูแล
ในช่วงที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่ง รัฐบาลของทรัมป์พยายามลดอุปสรรคด้านกฎระเบียบและการอนุมัติสำหรับโครงการพลังงานต่างๆ รวมถึงพลังงานนิวเคลียร์ โดยเฉพาะเทคโนโลยี SMR ซึ่งยังอยู่ในช่วงการพัฒนาและการทดสอบ การลดอุปสรรคเหล่านี้มีส่วนช่วยให้บริษัทในสหรัฐอเมริกาสามารถพัฒนาและขยายการติดตั้ง SMR ได้เร็วขึ้น
หน่วยงานกำกับดูแลด้านนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกา (Nuclear Regulatory Commission หรือ NRC) ก็ได้รับการสนับสนุนให้ปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบและอนุมัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ให้ทันสมัยและรวดเร็วขึ้น ซึ่งช่วยส่งเสริมให้ผู้พัฒนาเทคโนโลยี SMR ได้รับใบอนุญาตการออกแบบได้ง่ายขึ้น เช่น กรณีของ NuScale Power ที่ได้รับการอนุมัติการออกแบบ SMR ภายใต้การกำกับดูแลที่ยืดหยุ่นขึ้น
7. ความพยายามในการเพิ่มการแข่งขันด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาด
แม้ว่าทรัมป์จะให้ความสำคัญกับเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่เขาก็ไม่มองข้ามความสำคัญของเทคโนโลยีพลังงานสะอาดที่สามารถทำให้สหรัฐฯ แข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ เทคโนโลยี SMR จัดเป็นพลังงานสะอาด เนื่องจากไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมีขนาดเล็กกว่าระบบนิวเคลียร์ดั้งเดิมมาก จึงมีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในพื้นที่ห่างไกลหรือในระบบพลังงานที่ต้องการความยืดหยุ่นสูง
ด้วยความที่ SMR สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องพึ่งพาสภาพแวดล้อม เช่น แสงอาทิตย์หรือลม ทำให้ SMR เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจในการสนับสนุนพลังงานสะอาดและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศที่ลงทุนหนักในพลังงานสะอาด
8. การสนับสนุนให้บริษัทเอกชนร่วมพัฒนาและสร้างตลาด SMR
ในสมัยที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสมัยแรก รัฐบาลของทรัมป์ได้ส่งเสริมให้บริษัทเอกชนเป็นผู้นำในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี SMR และยังส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการเร่งการพัฒนา SMR บริษัทต่างๆ เช่น NuScale Power ได้รับการสนับสนุนทั้งในแง่การจัดสรรงบประมาณและการสนับสนุนทางกฎระเบียบ เพื่อให้สามารถทดสอบเทคโนโลยี SMR และพร้อมสำหรับการใช้งานเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคตอันใกล้
9. การเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
ทรัมป์มองว่าเทคโนโลยี SMR สามารถเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของสหรัฐฯ โดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ทำให้สหรัฐอเมริกาสามารถลดความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการพึ่งพาแหล่งพลังงานจากประเทอื่นๆ
การสนับสนุน SMR ยังเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและก่อสร้างระบบพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งต้องการแรงงานมีฝีมือและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
10. ความท้าทายและข้อจำกัดที่อาจเกิดขึ้น
แม้ว่าการพัฒนา SMR จะมีข้อดีมากมาย แต่ก็ยังมีความท้าทายหลายประการที่ต้องพิจารณา เช่น ต้นทุนการก่อสร้างที่ยังค่อนข้างสูง ความเสี่ยงด้านความปลอดภัย รวมถึงความกังวลจากประชาชนเกี่ยวกับการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งอาจส่งผลให้โครงการพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ ยังต้องใช้เวลาและทรัพยากรเพิ่มเติมในการพัฒนา
นอกจากนี้ ความคืบหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น พลังงานหมุนเวียนแบบกักเก็บพลังงาน อาจสร้างการแข่งขันที่สูงขึ้นให้กับ SMR ทำให้ต้องพิสูจน์ถึงความคุ้มค่าและความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง
ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในสมัยที่ 2 โดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ในการชุมนุมที่เพนซิลเวเนียเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยเรียกพลังงานนิวเคลียร์ว่าเป็น “พลังงานที่ยิ่งใหญ่” เขาเสริมว่า “การขับเคลื่อนประเทศของเราไปสู่อนาคต ซึ่งรวมถึงความต้องการไฟฟ้าจากปัญญาประดิษฐ์และสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งเป็นหัวข้อใหญ่ที่ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ และเราต้องอยู่แถวหน้า เราต้องอยู่แถวหน้า มิฉะนั้น จีนและประเทศอื่นๆ จะเข้ามาครอบงำทั้งสองอย่าง คือ ปัญญาประดิษฐ์และสกุลเงินดิจิทัล”
“เราจะให้คำมั่นสัญญาครั้งประวัติศาสตร์ในการนำเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบแยกส่วนขนาดเล็กขั้นสูงมาใช้แทนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่“ [14]
ตั้งแต่เป็นประธานาธิดีในสมัยแรก ทรัมป์ก็ได้มุ่งเน้นนโยบายพลังงานไปที่การผลิตพลังงานนิวเคลียร์ เขาแสดงการสนับสนุนการผลิตพลังงานนิวเคลียร์อย่างสม่ำเสมอ และประกาศกลับมาใช้นโยบายสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งครั้งใหม่ ตามรายงานของวอชิงตันโพสต์ เขากล่าวถึงแผน “วันแรกของการเข้ารับตำแหน่ง” ของเขามากกว่า 200 ครั้งระหว่างการหาเสียงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2022 ถึงเดือนกันยายนปี 2027 และหนึ่งในแผนการที่กล่าวถึงมากที่สุดคือพลังงาน และแน่นอนว่าจะมีการถ่ายโอนน้ำหนักจากพลังงานหมุนเวียนไปยังโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โดยเฉพาะ SMR [15]
ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกามีโครงการพัฒนา SMR หลายโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและวางแผนสำหรับอนาคต โครงการที่สำคัญ ได้แก่
-
1. โครงการ NuScale Power เป็นโครงการ SMR แรกที่ได้รับการอนุมัติการออกแบบจากคณะกรรมการกำกับดูแลนิวเคลียร์สหรัฐฯ (NRC) โดยมีแผนสร้างโรงไฟฟ้า SMR ในรัฐไอดาโฮ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงปลายทศวรรษ 2020
2. โครงการของบริษัท TerraPower ก่อตั้งโดยบิลล์ เกตส์ มุ่งเน้นการพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์รุ่นใหม่ที่มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูง โดยมีแผนสร้างโรงไฟฟ้าในรัฐไวโอมิง
3. โครงการของบริษัท X-energy เป็นโครงการพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์แบบ high-temperature gas-cooled reactor (HTGR) ซึ่งมีความปลอดภัยสูง และสามารถปรับขนาดได้ตามความต้องการ
อาจกล่าวอย่างสรุปได้ว่า ทรัมป์ได้เคยแสดงเจตจำนงในการสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์สมัยเป็นประธานาธิบดีครั้งก่อน โดยเฉพาะเทคโนโลยี SMR ที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาว การกลับมาเป็นประธานาธิบดีในครั้งนี้ น่าจะยังคงสนับสนุน SMR อย่างแข็งขันอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การพัฒนาและใช้ SMR ให้ประสบความสำเร็จยังคงต้องอาศัยการสนับสนุนทั้งในแง่เทคโนโลยี การลงทุน และความเชื่อมั่นของประชาชนชาวอเมริกันด้วยเช่นกัน
อ้างอิง:
[1] https://www.thansettakij.com/climatecenter/net-zero/604670
[2] https://thestandard.co/trump-harris-policy-comparison/
[3] https://www.bangkokbiznews.com/environment/1145887
[4] https://www.bangkokbiznews.com/business/biz-bizweek/1145750
[5] https://www.kasikornasset.com/th/market-update/Pages/HotTopic-20240913-us_elections-ep5.aspx
[6] https://www.bangkokbiznews.com/business/biz-bizweek/1145750
[7] https://thekey.news/columnists/energy-guide/205818/
[8] https://www.bangkokbiznews.com/world/1152787
[9] https://www.springnews.co.th/keep-the-world/climate-change/853948
[10] https://www.thaipbs.or.th/news/content/346205
[11] https://www.bangkokbiznews.com/environment/1153356
[12] https://trumpwhitehouse.archives.gov/presidential-actions/executive-order-promoting-small-modular-reactors-national-defense-space-exploration/
[13] https://www.govinfo.gov/content/pkg/CFR-2022-title3-vol1/pdf/CFR-2022-title3-vol1-eo13972.pdf
[14] https://www.datacenterdynamics.com/en/analysis/what-now-trump-data-centers-and-the-next-four-years/
[15] https://www.mk.co.kr/en/business/11163436