พิเศษ เสตเสถียร
อนุสนธิจากการที่มีข่าวอยู่ในขณะนี้ว่า ทนายความที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งไปเบียดบังเงิน 71 ล้านบาทของลูกความมาเป็นของตัว แต่ทนายความคนนั้นได้กล่าวอ้างว่า เป็นเงินที่ลูกความให้โดยเสน่หา
ต่อมาก็นักหนังสือพิมพ์อาวุโสคนหนึ่งมาออกข่าวว่าที่ทนายความคนนั้นกล่าวอ้างไม่เป็นความจริง พร้อมกันนี้ นักหนังสือพิมพ์อาวุโสคนนั้นก็ยังบอกด้วยว่า จะไปแจ้งกรมสรรพากรให้มาตรวจสอบภาษีของทนายความคนนั้นอีกด้วย รายละเอียดอื่น ๆ นั้นก็เป็นข่าวที่รู้กันทั่วไปอยู่แล้ว
ประเด็นที่น่าสนใจก็คงจะอยู่ตรงที่ว่า เงิน 71 ล้านบาทดังกล่าว ซึ่งทนายความคนนั้นอ้างว่าได้มาโดยเสน่หาจะต้องเสียภาษีหรือไม่?
และถ้าเรื่องเป็นอย่างที่นักหนังสือพิมพ์อาวุโสคนนั้นกล่าวอ้างว่า เงินดังกล่าวก็ไม่ใช่เงินที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย ทนายความผู้นั้นยังจะต้องเสียภาษีหรือไม่?
บทความนี้มุ่งที่จะพูดถึงกฎหมายภาษีอากรในข้อพิพาทที่เป็นข่าวอยู่เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับข้อพิพาทในประเด็นที่ว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นของผู้ใดหรือว่าใครผิดใครถูกในเรื่องนี้
ที่สำคัญ ผู้เขียนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียกับผู้ใดหรือแต่ประการใด ๆ ในเรื่องที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ทั้งสิ้น
ตามหลักการของประมวลรัษฎากร(หรือกฎหมายภาษีอากร)นั้น สำหรับคนที่ต้องเสียภาษี หากคน ๆ นั้นมีรายได้เข้ามาไม่ว่าจากแหล่งใดก็จะต้องเอามาเสียภาษีทั้งสิ้น (เว้นแต่กรณีที่มีกฎหมายยกเว้นไว้ให้เช่น เงินกำไรจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์)
เงินอะไรที่ได้มาเป็นของผู้เสียภาษี กรมสรรพากรก็จะถือว่าเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีเช่น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8456/2544
“โจทก์อ้างว่าเงินที่โจทก์รับมาจำนวน 60,000,000 บาท เป็นเงินที่ผู้กู้นำมาชำระคืนแก่โจทก์ แต่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวอ้างดังกล่าว ต้องถือว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (8)”
นอกจากนี้ ถ้าเสียภาษีล่าช้า ผู้เสียภาษีก็ยังจะต้องเสียเบี้ยปรับกับเงินเพิ่มด้วย แต่เบี้ยปรับกับเงินเพิ่มนั้นสามารถขอลดหรือยกเว้นได้ถ้ามีเหตุอันสมควร แต่ในคดีนี้ ศาลท่านวินิจฉัยว่า
“โจทก์มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) สูงถึง 60,000,000 บาท แล้วไม่นำมายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีให้แก่รัฐ พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวย่อมไม่มีเหตุสมควรให้งดหรือลดเบี้ยปรับ”
เรียกว่าถ้ามีรายได้แล้ว แต่ไม่ยอมเสียภาษี นอกจากจะต้องเสียภาษีสำหรับเงินที่ได้มาแล้วก็ยังจะต้องเสียเงินเป็นเบี้ยปรับกับเงินเพิ่มอีกด้วย
ขออธิบายเพิ่มเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจเนื้อหาของบทความนี้มากขึ้นคือ ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากรนั้นได้แบ่งเงินได้ของคนเราที่ต้องเสียภาษีอยู่ 8 อย่างเช่น เงินเดือนอยู่มาตรา 40(1) ค่าลิขสิทธิ์อยู่มาตรา 40(4) ส่วนมาตรา 40(8) เป็นมาตราครอบจักรวาล คือเงินได้ประเภทอื่น ๆ นอกจากที่ว่ามาในมาตรา 40(1)-40(7) ก็เข้ามาตรา 40(8) หมด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3835/2559
“เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสามไม่สามารถพิสูจน์ถึงแหล่งที่มาของเงินที่ถูกนำเข้าฝากในบัญชีเพื่อสาธารณกุศลได้ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (8)”
คำพิพากษาฎีกาทั้ง 2 ฉบับนี้ก็คงเป็นอุทาหรณ์อันดีว่า ถ้าหากมีเงินได้ไม่ว่ามาจากไหนเช่น มีคนให้โดยเสน่หา หรือเป็นเงินเพื่อสาธรณกุศลแต่ไม่สามารถพิสูจน์ที่มาของเงินได้ เงินเหล่านั้นก็จะถูกถือว่าเป็นรายได้ของคุณ และจะต้องเสียภาษีเหมือนกัน
คราวนี้ก็มาถึงคำถามที่ 2 ว่า ถ้าเงินดังกล่าวก็ไม่ใช่เงินที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย ยังจะต้องเสียภาษีหรือไม่?
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10701/2555 วินิจฉัยว่า
“เงินได้จากการเล่นพนันสลากกินรวบ (หวยใต้ดิน) แม้เป็นเงินได้ที่มาจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ตามมาตรา 40 (1) ถึง (7) จึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8)”
คดีนี้เงินได้เป็นเงินที่ได้จากการเล่นหวยใต้ดิน ศาลท่านก็ตัดสินว่า แม้จะเป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็ยังเข้าเป็นเงินได้จากการกระทำอื่นที่ต้องเสียภาษี
เรียกว่าสรรพากรเก็บหมด ไม่ว่าจะได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อ่านข่าวแล้วก็คงจะเข้าใจประเด็นทางกฎหมายภาษีอากรมากขึ้นนะครับ
หมายเหตุ: ขอขอบคุณคุณธนศักดิ์ จรรยาพูนแห่ง Capital Law Office ซึ่งเป็นผู้ที่ให้ความรู้และไปเสาะหาคำพิพากษามาให้ผู้เขียน