
จากเป้าหมายลดโลกร้อน เพื่อเดินหน้าสู่ Net Zero ในปี 2593 (คศ.2050) ทุกคนจึงมุ่งการลงมือปฏิบัติด้วยการ mitigation ในกระบวนการต่างๆ ให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสุดขั้วเกิดขึ้นน้อยลง แต่ความเป็นจริง ปัญหาโลกร้อนที่กลายเป็นโลกเดือด ทวีความรุนแรงบ่อยครั้งขึ้น สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ สังคม ประชาชน และสิ่งแวดล้อม มากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว จึงจำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องตระหนักและหันมามีส่วนร่วมในการปรับตัว หรือ adaptation เพื่อจะอยู่กับโลกเดือดอย่างไรถึงจะอยู่รอดได้ในอนาคต เพราะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวเราอีกต่อไป
ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีตัวเร่งมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถ้าอยากไปแก้ที่ต้นเหตุเพื่อบรรเทาผลกระทบให้เกิดขึ้นน้อยลงหรือไม่รุนแรง วิธีการหนึ่งคือการ mitigation ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ
แต่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกวันนี้ไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทันที แต่เป็นผลมาจากการที่เราปล่อยมาเป็นเวลาหลายร้อยปี แล้วมาเห็นผลในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของน้ำท่วมรุนแรง น้ำแล้งรุนแรง พายุรุนแรง หรือแม้แต่การเพิ่มขึ้นของน้ำทะเล ซึ่งการเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ เราจะอยู่กับมันโดยไม่ทำอะไรเลยคงไม่ได้ เพราะชีวิตยังต้องดำเนินต่อไป
เพราะฉะนั้นจำเป็นต้อง adaptation ซึ่งเป็นเรื่องของการหาแนวทางที่จะอยู่ร่วมกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ให้ได้ หมวกหนึ่งอาจทำได้โดยการปรับรูปแบบการดำเนินชีวิตในฐานะคนธรรมดา อาทิเช่น ใช้ชีวิตอย่างไร เดินทางอย่างไร สร้างบ้านอย่างไรให้สามารถอยู่ได้ในภาวะที่อากาศเปลี่ยนแปลง
อีกหมวกหนึ่งคือ เราต้องประกอบอาชีพทำงาน ไม่ว่าจะอาชีพในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม หรือในภาคบริการการท่องเที่ยว เราจะทำอาชีพอะไร เพื่อให้รายได้ของเราไม่ลดลง สามารถรับมือกับความเสี่ยงได้ดีขึ้น อยู่กับสภาพภูมิอากาศที่มันเปลี่ยนแปลงไปได้
อย่างไรก็ดี หลักการการปรับตัว ไม่ใช่เป็นการเอาเรื่องสภาพอากาศในอนาคตมาเป็นตัวตั้ง แต่เวลาที่สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ลงไปสื่อสารกับคน เราอยากให้เขาปรับตัวเพื่อทำให้การดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพในปัจจุบันเขาดีขึ้นด้วย โดยที่การปรับเปลี่ยนนั้นทำให้เขามี resilience มีภูมิคุ้มกันกับสภาพอากาศในอนาคตได้ด้วย ซึ่งน่าจะเป็นคอนเซปต์หลักของเรื่อง climate change adaptation
เรื่อง Adaptation ต้องทำตั้งแต่วันนี้
ดร.กรรณิการ์ กล่าวว่า climate change เรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง หรืออุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เราเจอมาเป็นเวลาต่อเนื่องอยู่แล้ว จากเหตุการณ์น้ำท่วมภาคเหนือเมื่อเดือนกันยายน2567 ที่ผ่านมา คนในพื้นที่พูดเองว่าไม่เคยเกิดรุนแรงเท่านี้มาก่อนในรอบ 100 ปี เพียงแต่ว่าในอนาคตน่าจะเร่งตัวขึ้น เกิดบ่อยครั้งขึ้นไปอีก
“เพราะฉะนั้นเรื่อง adaptation ต้องทำตั้งแต่วันนี้ คือเราไม่สามารถที่จะผลัดวันประกันพรุ่งว่าเรื่อง adaptation ไว้ค่อยทำก็ได้ วันนี้ทำเรื่องลดก๊าซเรือนกระจกก่อน ตอนนี้เวลามันไม่รอเรา ถ้าเราเริ่มช้า ต้นทุนในการที่จะปรับตัวของเราก็จะสูงขึ้นด้วย”
ดร.กรรณิการ์ กล่าวว่า ปัจจุบันคนทั่วไปอาจไม่ได้มองเห็นหรือตระหนักรู้ในประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก ดังนั้นวิธีการที่สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย ลงไปสื่อสารให้คนทำ adaptation คือ ต้องให้เขาเห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดกับตัวเอง กับเงินในกระเป๋าของเขา ถ้าเขาไม่ปรับเปลี่ยนอะไรเลย เงินมันจะหายไปเท่าไหร่ คิดเป็นจำนวนเท่าไหร่ แม้แต่ธุรกิจของเขา หรือพื้นที่ที่เขาอยู่จะได้รับผลกระทบอย่างไร แต่อย่าเอาประเด็นด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อมเป็นตัวตั้ง เพราะคนจะไม่ค่อยเห็นภาพว่ามันเกี่ยวข้องกับเขายังไง
นอกจากนั้น วิธีการหนึ่งที่ลงไปทำกับกลุ่มคนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเกษตรกร นักวิชาการ หรือนักธุรกิจ ต้องสื่อสารในรูปแบบที่แตกต่างออกไป ไม่เอาตัวเลขหรือข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ไปสื่อสารกับเขา แต่พยายามออกแบบผ่านตัวบอร์ดเกมหรือเกมอื่นๆ เพื่อไปชวนเขามาเล่น แล้วสอดแทรกความรู้คอนเซ็ปต์ที่เกี่ยวกับเรื่อง climate change เข้าไป
ยกตัวอย่างเช่น สอนชาวบ้านเรื่องโอกาสเกิดน้ำท่วม น้ำแล้ง โดยใช้คำว่า probability หรือความน่าจะเป็น มันยากเกินไป เขาไม่เข้าใจ แต่ชาวบ้านทุกคนรู้จักลูกเต๋า รู้จักเรื่องการเสี่ยงโชค เราก็เอาเรื่องของการโยนลูกเต๋า การทอยเหรียญ เข้าไปสอนเขาว่าในอนาคตโอกาสการเกิดน้ำท่วม น้ำแล้ง มันจะมีบ่อยครั้งขึ้น
เมื่อก่อนเราบอกว่าน้ำท่วมอาจจะมีความน่าจะเป็นแค่ 20% แต่ตอนนี้เราบอกว่าในอนาคตมันจะเกิดบ่อยครั้งขึ้น ‘ความน่าจะ’อาจจะเพิ่มจาก 20% เป็น 30% เป็น 40% เราก็เอาจำนวนด้านของลูกเต๋าเป็นตัวแทนในการที่จะสื่อสาร ชวนเขามาเล่นเกม เพื่อให้เขาเห็นว่าอย่างน้อย ถ้าไม่ปรับตัวอะไรเลยในเกม เขาก็จะได้ผลตอบแทนที่ลดลง แล้วแปลงออกมาเป็นตัวรายได้ในส่วนของชีวิตจริงเขาได้อย่างไร
อันนี้เป็นวิธีการหนึ่งที่เริ่มมีการลงไปสื่อสารโดยใช้เครื่องมือสื่อสารใหม่ๆ ให้เขาเข้าใจก่อนว่า climate change มันมีอยู่จริง แล้วมันจะเกิดบ่อยครั้งขึ้น และถ้าเขาไม่ทำอะไรเลย climate change นี่แหละ จะเป็นตัวที่กระทบกับรายได้ กระทบเงินในกระเป๋าของเขาเอง
เพราะฉะนั้นตอนนี้มีความพยายามจะผลักดันหลักสูตรใหม่ๆ พวกนี้เข้าไปตามโรงเรียนต่างๆ เช่น โครงการ eco-school ของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หรือกรมลดโลกร้อน เพื่อสร้างนักสืบสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน แล้วสอดแทรกเนื้อหาด้าน climate change เข้าไปในเนื้อหาที่เด็กเรียน ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่เด็กทำ
“เรื่อง climate change ก็เหมือนกับเรื่องอื่นๆ ถ้าเราไม่ปลูกฝังเขาตั้งแต่เด็กๆ โตขึ้นมาพฤติกรรมมันจะเปลี่ยนค่อนข้างยาก การไปเปลี่ยนความเชื่อเรื่องพวกนี้ ถ้าทำตั้งแต่เล็กๆ มันก็สามารถที่จะ convince เขาได้ดีขึ้น แต่คิดว่าหัวใจสำคัญมันน่าจะต้องทำให้สอนแล้วสนุก ให้เขาอินกับสิ่งที่อยู่รอบตัวได้ เชื่อมโยงกับเรื่องราวหรือปรากฎการณ์ที่อยู่ในพื้นที่เขาได้”
“สมมติเราไปสอนเด็กที่อยู่เชียงราย เชียงใหม่ วันนี้เขาเริ่มซึมซับเรื่องของน้ำท่วมแล้ว เรื่องของอากาศที่มันเคยหนาวสองสามเดือน ตอนนี้มันอาจจะหนาวน้อยลง หนาวสั้นลง ถ้าเราสามารถปรับเนื้อหาแบบเรียนหรือกิจกรรมให้สอดคล้องกับสภาพอากาศหรือสภาพแวดล้อมในพื้นที่ได้ ทำให้เขาเปิดใจยอมรับกับเนื้อหาพวกนี้มากขึ้น จะเป็นประโยชน์กับเขาในการไปนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ดีขึ้นด้วย”

ผลกระทบโลกร้อนต่อภาคเกษตร ถ้าไม่ทำอะไรเลย อาจเสียหายสะสมถึง 2 ล้านล้านบาท
ดร.กรรณิการ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน climate change เริ่มส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคธุรกิจในหลายเซ็กเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นในภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาคบริการท่องเที่ยว โดในส่วนภาคการเกษตร พึ่งพาสภาพอากาศค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นสภาพดิน น้ำ อากาศ เพราะฉะนั้นถ้าเกิดน้ำท่วม ผลผลิตเสียหายแน่นอน หรือถ้าอุณหภูมิสูงขึ้น พืชบางชนิด เช่น ข้าว ก็จะออกรวงช้าลง ผลผลิตของข้าวก็จะลดลง
ขณะเดียวกัน อุณหภูมิที่สูงขึ้น ยังส่งผลกระทบไปยังการทำปศุสัตว์ ทำให้สัตว์หลายชนิด เช่น หมู วัว เกิดความเครียด อาจจะทำให้ได้ตัวเนื้อหมูเนื้อวัวไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย การผลิตน้ำนมก็อาจจะได้ไม่ค่อยดี อีกกลุ่มหนึ่งคือการทำประมง ที่ภาวะความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำทะเล ทำให้สัตว์ทะเลเปลือกแข็ง เช่น ปู กุ้ง หรือหอยบางชนิด ถูกทำลาย กระทบต่อปริมาณและคุณภาพของสัตว์น้ำที่เราสามารถเก็บได้เหมือนกัน
“เรื่องนี้เกิดขึ้นแล้วและมีการวิจัยของประเทศไทยแล้ว นอกจากตัวความเป็นกรดเป็นด่าง เรื่องของอุณหภูมิน้ำทะเลก็ทำให้ตัวลูกปู ลูกกุ้ง ลูกปลา เริ่มเสียชีวิตจากอุณหภูมิในน้ำทะเลที่สูงขึ้นเกินระดับที่เหมาะสม เพียงแต่ไม่ค่อยมีการเผยแพร่ข่าวออกไปข้างนอกว่ามันเริ่มส่งผลกระทบกับปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่เกิดกับชาวประมง”
นอกจากกระทบผ่านปริมาณผลผลิตที่ได้น้อยลงแล้ว ยังกระทบผ่านตัวอื่นๆ ด้วย อีกหน่อยเวลาเราคุยถึงเรื่อง climate change มันไม่ใช่แค่น้ำท่วม ภัยแล้ง แต่จะมีเรื่องของการเปลี่ยนแปลงนโยบายของประเทศเพื่อรับมือกับเรื่องของเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
“เพราะฉะนั้นเวลาดูผลกระทบของ climate change ที่มีต่อภาคเกษตร อยากให้แบ่งเป็นสองส่วน คือส่วนที่เป็นผลกระทบทางกายภาพ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง อุณหภูมิสูง ส่งผลกระทบกับผลผลิตยังไง อีกส่วนหนึ่งก็คือการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายหรือด้านเทคโนโลยีต่างๆ เมื่อเราเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ”
“ตอนนี้ภาคธุรกิจเริ่มมองไปข้างหน้าระยะยาวแล้วว่า ในอนาคตจะทำยังไงถ้าอียูเริ่มเก็บภาษีคาร์บอนบนพื้นฐานของสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งเป็นสินค้าที่เราส่งออกไปเยอะมากๆ อีกหน่อยสินค้าเราจะต้องมีการ certified ได้รับการรับรองมาตรฐานเรื่องฉลากคาร์บอนมากขึ้นรึเปล่า หรือเราต้องหันมาทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้นหรือไม่ เพื่อที่จะลดเรื่องของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”
ทั้งนี้ ดร.กรรณิการ์กล่าวถึงการคาดการณ์ว่าถ้าไม่ทำอะไรเลย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะสร้างความเสียหายสะสมในภาคเกษตรตั้งแต่ปี 2554-2588 เป็นมูลค่าสูงถึง 2 ล้านล้านบาท
การขาดแคลนน้ำในภาคอุตสาหกรรม ความท้าทายในพื้นที่อีอีซี
ต่อมาในส่วนของภาคอุตสาหกรรม ดร.กรรณิการ์ ระบุว่า มีหลายอุตสาหกรรมพึ่งพาน้ำเป็นวัตถุดิบในการผลิตโดยตรงค่อนข้างมาก อย่างเช่น อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร หรือแม้แต่อุตสาหกรรมผลิตเยื้อกระดาษ ขณะที่บางอุตสาหกรรมต้องมีการเอาน้ำไปเป็นตัวหล่อเย็น (cooling process) เพื่อลดอุณหภูมิของเครื่องจักร เพราะฉะนั้นในอนาคตถ้าภาคอุตสาหกรรมบ้านเราขาดแคลนน้ำมากขึ้น อาจจะทำให้ไม่มีวัตถุดิบเพียงพอไปป้อนอุตสาหกรรมเหล่านี้
“ปัจจุบันเริ่มมีโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่แถวเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เราเริ่มคุยกันว่าอีอีซีเป็นพื้นที่ที่โปรโมททางท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และคนในพื้นที่เอง ทั้งสามส่วนนี้เขาต้องใช้น้ำทั้งนั้น ยังไม่รวมถึงภาคเกษตร ทั้งการปลูกทุเรียน ปลูกพืชอื่นๆ ต้องใช้น้ำเยอะมากๆ เพราะฉะนั้นเรื่องของการขาดแคลนน้ำจะเป็นอีกหนึ่งความท้าทายในพื้นที่อีอีซี”
ส่วนที่สองคือเรื่องของน้ำท่วม มีหลายกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ค่อนข้างชัดมาตั้งแต่เกิดมหาอุทกภัยปี 2554 ที่ไม่ได้เสียหายแค่ตัวโรงงาน เครื่องจักร อุปกรณ์ ระบบไฟฟ้า ระบบน้ำประปาต่างๆ แต่กระทบไปถึงระบบโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้าวัตถุดิบที่มาป้อนโรงงาน และการขนส่งสินค้าจากโรงงานไปยังผู้บริโภค

แต่ที่กังวลมากกว่าและมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือเรื่องนโยบายการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (low-carbon economy) เพราะปัจจุบันเราเริ่มเห็นประเทศในกลุ่มยุโรปมีการออกมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ CBAM ออกมาแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าอุตสาหกรรมบ้านเรายังต้องการส่งออกสินค้าไปยังยุโรปในระดับเดิม ไปสู่ลูกค้ากลุ่มเดิม ต้องพยายามมากขึ้นในการที่จะเรียนรู้ว่าตัวสินค้าของเราปล่อยคาร์บอนมากน้อยแค่ไหน
“เรียนรู้เท่านั้นไม่พอ ต้องมีการ certified ว่าตัว emission ที่เราปล่อย มีผู้สอบทานเข้ามาตรวจสอบว่ามันปล่อยจำนวนเท่านั้นจริงรึเปล่า แล้วต้องเป็นผู้สอบทานที่ฝั่งยุโรปเขายอมรับด้วย หลังจากรู้แล้วว่าเราปล่อยเท่าไหร่ ก็ต้องมาออกแบบตัวมาตรการว่าเราจะลด emission ที่แฝงไปกับสินค้าของเราอย่างไร”
ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนตัวเทคโนโลยี เครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ ทำให้กระบวนการผลิตของเราปล่อย emission น้อยลง หรือว่ามีการนำพวกไฟฟ้าสะอาดมาใช้ในโรงงานของเรา เช่น อาจจะติดแผงโซลาร์ที่โรงงานโดยตรง หรือรับซื้อไฟที่ผลิตจากโซลาร์ที่อยู่ในโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับเรา เป็นต้น
เพราะฉะนั้นมันมีหลายวิธีที่จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถเตรียมความพร้อมสำหรับตัวเอง เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบที่ climate change มีต่อตัวเขา หนึ่งคือ เตรียมความพร้อม ลดความเสี่ยงในระดับกายภาพ เช่น ยกกำแพงโรงงานให้สูงเข้าไว้ เพื่อไม่ให้น้ำท่วมทะลักเข้าตัวโรงงาน
สอง เริ่มมีการกระจายฐานการผลิตสินค้าไปในหลายๆ ภูมิภาคมากขึ้น ไม่กระจุกตตัวอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติหรือน้ำท่วม ตัวฐานการผลิตที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ยังสามารถฟังก์ชันได้ สามารถผลิตสินค้าได้
สาม พัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้พร้อม ถ้าไม่สามารถขนส่งทางรถได้ มันสามารถ explore ออปชั่นทางอื่นได้หรือไม่
“อยากจะชวนผู้ประกอบการไทยให้หันมาดูตรงส่วนให้นี้มากขึ้นว่าตัวโรงงาน ตัวสถานประกอบการของเรา พร้อมหรือยังในการรับมือกับความเสี่ยงพวกนี้ เพราะเราคงจะไปพึงพาเงินเยียวยาจากภาครัฐอย่างเดียวคงไม่มีทางเพียงพอกับความเสียหายที่มันจะเกิดขึ้น”
“มากไปกว่านั้น ในส่วนของการรับมือกับนโยบายที่มันจะเปลี่ยน เราไม่ควรจะรอจนกระทั่งฝั่งประเทศคู่ค้าเขาออกมาตรการออกมาแล้ว แล้วเราค่อยปรับตัว เพราะว่าพอถึงตอนนั้น เรื่องของต้นทุนการดำเนินงานมันจะสูงมากๆ อยากให้เริ่มทำตั้งแต่วันนี้ อย่างน้อยให้เข้าใจว่าตัวธุรกิจหรือสินค้าของเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากน้อยแค่ไหน ปล่อยคาร์บอนมากน้อยแค่ไหน แล้วก็เริ่มหาวิธีการในการที่จะลดก๊าซเรือนกระจกลง”
“ถ้าประเทศคู่ค้าเขาไม่ออกมาตรการมา ยิ่งเป็นการดีใหญ่ เพราะว่ามันทำให้บริษัทของเราได้เปรียบในเชิงการค้า ภาษาเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า first mover advantage เราเริ่มก่อน เราจะมีภาษีดีกว่าชาวบ้าน ถ้าเกิดในบางประเทศเขามองหาผู้ประกอบการที่สามารถซัพพลายสินค้าที่คาร์บอนต่ำได้ เราก็จะถูกมองเป็นเบอร์เลือกในระดับต้นๆ”
ปรับวิธีดึงดูดการท่องเที่ยว กระจายความเสี่ยงเรื่องโลกร้อน
ถัดมาในภาคบริการ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ดร.กรรณิการ์ มองว่า ที่ผ่านมาเราพึ่งพาเรื่องลมฟ้าอากาศและการท่องเที่ยวทางธรรมชาติเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นท่องเที่ยวทางทะเลหรือภูเขา ขายอากาศหนาวเย็น แต่ปัจจุบันเริ่มมีผลการศึกษาออกมามากขึ้นเรื่อยๆ ว่าอุณหภูมิของบ้านเรา แม้แต่ภาคเหนือ ก็จะสูงขึ้น
เพราะฉะนั้นในอนาคต ถ้าเรายังให้ภาคเหนือสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ต้องปรับวิธีการดึงดูดนักท่องเที่ยว ใช้วิธีการเดิมอย่างการถ่ายรูปเช็คอินกับน้ำค้างแข็งหรือดอกไม้เมืองหนาวอาจจะไม่เพียงพอแล้ว แต่จะต้องมีการนำแนวคิดอื่นๆ มาใช้ประกอบกันด้วย เพราะอุณหภูมิที่สูงขึ้น อาจจะทำให้ดอกไม้พืชพรรณต่างๆ ที่เคยออกดอก มันออกช้าลงหรือไม่ออกดอกก็เป็นได้
อันที่สองก็คือ เรื่องของสถานที่ท่องเที่ยว อยากจะชวนผู้ประกอบการเริ่มมาคิดใหม่มากขึ้น คือ เราอาจจะไม่จำเป็นต้องหยุดเรื่องของการขายแพกเกจท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แต่เริ่มหันกระจายความเสี่ยงได้ไหม เช่น ในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม ยังสามารถหากินกับอากาศที่หนาวเย็นได้ แต่ช่วงเดือนอื่นๆ ของปี เราอาจจะพัฒนาจากแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดเชียงราย ช่วงหลังๆ เขาเริ่มมีแหล่งท่องเที่ยวที่เป็น man-made attraction มากขึ้น เช่น วัดร่องขุ่น หรือวัดขาว แล้วเขาก็ขายกิมมิคต่างๆ เช่น พิพิธภัณฑ์บ้านดำของอาจารย์ถวัลย์ (ดัชนี) หรือแม้แต่ตอนนี้เริ่มมีวัดร่องเสือเต้น หรือวัดสีฟ้า จากนี้เขาก็จะมีกิมมิคใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ ตรงนี้มันจะเป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยว มาที่เชียงรายเท่านั้น ไปที่อื่นไม่มี
“ตรงนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการปรับตัวของภาคท่องเที่ยว มันต้องทำให้ตัวผู้ประกอบการเขามีแรงจูงใจในการปรับในปัจจุบันด้วย แล้วต้องชี้ให้เขาเห็นเลยว่า ปรับมาทำแบบใหม่แล้ว อากาศจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนไม่รู้ แต่ว่า ณ วันนี้ รายได้เขามากขึ้น เพราะมีกิจกรรมใหม่ๆ ดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ๆ เข้ามาในพื้นที่มากขึ้น”
“ตัวอย่างที่สองคือ เมื่อก่อนเราหารายได้จากการท่องเที่ยวทางด้านทะเล แต่ในอนาคตเราบอกว่าพายุรุนแรงอาจจะเกิดบ่อยขึ้น ฝนอาจจะตกมากขึ้น อาจจะทำให้ไม่สามารถท่องเที่ยวแบบเดิมได้ตลอดไป เพราะฉะนั้นปัจจุบันเราเริ่มเห็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีการปรับไปบ้างแล้ว โดยการจับมือกับสถานท่องเที่ยวบริเวณใกล้เคียง แล้วทำเป็นแพกเกจทัวร์ออกมาในรูปแบบใหม่ที่ไม่ได้ขายแค่เฉพาะท่องเที่ยวชายหาดหรือไปเกาะเพียงอย่างเดียว
“แต่มีการบอกว่า ถ้าเดินทางมาท่องเที่ยวแล้วเกิดฝนตกหนัก เขาจะมีแพกเกจเป็นแพลนบี เช่น จะมีเรือของผู้ประกอบการนำกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มต่างๆ ไปยังพื้นที่ที่เป็นวิสาหกิจชุมชน ไปทำ DIY ไปทำกิจกรรมต่างๆ กับชาวบ้านในตัวอาคารได้ ตรงนี้นอกจากเป็นแนวทางในการที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ยังสามารถทำให้ตัวรายได้ของผู้ประกอบการเอง รวมถึงคนในพื้นที่อาจจะดีขึ้นด้วย”

การปรับตัวและรับมือกับผลกระทบ climate change ของสถาบันการเงิน
ดร.กรรณิการ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกหนึ่งเซ็กเตอร์ในภาคบริการที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเรื่อง climate change คือภาคสถาบันการเงิน เนื่องจากสาขาของธนาคารตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย อย่างเช่น เชียงราย เชียงใหม่ ที่เกิดน้ำท่วมรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา
“แต่ว่าที่กระทบหนักกว่านั้นคือ ธนาคารเขาปล่อยกู้ให้กับลูกค้า เมื่อไหร่ก็ตามที่เราบอกว่าลูกค้ากระจายอยู่ในหลายเซ็กเตอร์มากๆ และในอนาคตเราไม่รู้ว่าสถานประกอบการของลูกค้าอาจจะตั้งอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมรุนแรงหรือว่าน้ำแล้งรุนแรงเพิ่มเติมอีกก็ได้”
เพราะฉะนั้นในมุมหนึ่ง ธนาคารมีความเสี่ยงจากเรื่อง climate change อย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่เป็นความเสี่ยงที่ผ่านมาจากตัวลูกค้าที่เขาปล่อยกู้ออกไป หากลูกค้าของเขารายได้หดตัว เงินที่จะนำมาชำระคืนดอกเบี้ยหรือเงินกู้ที่เขากู้ไปจากธนาคาร ก็จะสามารถทำได้ยากลำบากมากขึ้น
แต่ในอีกมุมหนึ่ง ธนาคารเองก็อาจจะได้กระทบจากนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำ เพราะว่าในอดีตอาจจะมีการปล่อยกู้ให้กับอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมน้ำมันก๊าซธรรมชาติ หรืออุตสาหกรรมหนัก อย่างเช่น พวกซีเมนต์ เหล็ก ที่ปล่อยคาร์บอนสูงๆแต่ในอนาคตถ้าผู้บริโภคหันมาบริโภคสินค้าสีเขียวมากขึ้น ปล่อยคาร์บอนน้อยลง ตลาดคู่ค้าของเรา เวลาส่งออกสินค้าไป เขาก็มีมาตรการกีดกันทางการค้ามากขึ้นสำหรับสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงๆ ดังนั้นธนาคารอาจจะได้รับผลกระทบโดยตรง ขณะเดียวกันลูกค้าที่ธนาคารปล่อยกู้ให้ เขาก็อาจจะได้รับผลกระทบเช่นกัน
เพราะฉะนั้นทุกวันนี้ ธนาคารเองก็ต้องเริ่มที่จะหันมาพิจารณาแล้วว่าจะรับมือกับกระแสเรื่อง climate change อย่างไร มุมหนึ่งก็คือส่งเสริมเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจก ทำเรื่อง mitigation แต่อีกมุมหนึ่งก็คือการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งต้องยอมรับว่าธนาคารอาจจะยังทำตรงส่วนนี้ได้ไม่ค่อยเยอะมาก แต่ก็เริ่มมีความตระหนักในเรื่องของผลกระทบหรือความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ
นักลงทุนจะมองหาบริษัทที่มี ESG มากขึ้น
อย่างไรก็ดี ดร.กรรณิการ์ กล่าวยอมรับว่า ปัจจุบันกระแสความตระหนักรู้ในการที่จะปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในสังคมไทยโดยรวมเริ่มไปในทิศทางที่เป็นบวกมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ประกอบการและภาคส่วนต่างๆ ไม่ได้รอให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งลงไปสร้างความตระหนักรู้เพียงอย่างเดียว แต่กลุ่มต่างๆ เหล่านี้ได้รับแรงกดดันมาจากทุกทิศทาง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการภาคธุรกิจ ที่คู่ค้าเองหรือประเทศคู่ค้าเริ่มบีบตัวเรื่องนี้เข้ามามากขึ้นผ่านมาตรการกีดกันทางการค้า
ส่วนที่สองคือ กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่อยู่ในห่วงโซ่ของธุรกิจขนาดใหญ่ สะท้อนจากการที่ธุรกิจยักษ์ใหญ่หลายบริษัทออกประกาศเรื่องการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (net zero) ซึ่งไม่ได้แปลว่าจะเกี่ยวกับธุรกิจเขาเพียงบริษัทเดียว แต่ยังบอกด้วยว่ามันจะต้องสามารถ green ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน
เพราะฉะนั้นแปลว่า ถ้าเอสเอ็มอียังอยากทำมาค้าขายกับบริษัทเหล่านี้อยู่ ก็จะต้องลดก๊าซเรือนกระจกในสินค้าที่เราส่งไปขายเขาให้ได้ เพราะถ้าเราลดไม่ได้ เขาก็จะหันไปซื้อเจ้าอื่นแทน
“ส่วนที่สามคือ แรงกดดันจากนักลงทุน เพราะว่าบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ อยากจะเป็นที่ดึงดูดของนักลงทุนสถาบัน ซึ่งปัจจุบันนักลงทุนสถาบันเขาจะมองหาบริษัทที่มี ESG มากขึ้น ที่ดูแลทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลมากขึ้น เพราะฉะนั้นตอนนี้หลายภาคส่วนจึงเริ่มมีความตระหนักมากขึ้น เพราะได้รับแรงกดดันที่แท้จริงมาจากทุกทิศทาง”
แต่ที่น่ากังวลคือกลุ่มเอสเอ็มอี ไม่ได้แปลว่าเขาไม่รู้ แต่จะมีบางกลุ่มที่รู้แต่ทำอะไรไม่ได้ เพราะการปรับเปลี่ยนมาสู่เรื่องของการลดก๊าซเรือนกระจก มีต้นทุนที่ต้องจ่าย การลงทุนซื้อเครื่องจักร อุปกรณ์ หรือวัตถุดิบคาร์บอนต่ำ มีราคาค่อนข้างสูง เพราะยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศค่อนข้างมาก
เพราะฉะนั้นกลุ่มเอสเอ็มอีเป็นกลุ่มที่น่ากังวลมาก จำนวนเอสเอ็มอีในไทยค่อนข้างเยอะ ส่วนเอสเอ็มอีที่มีความพร้อมจริงๆ ส่วนใหญ่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทขนาดใหญ่ ที่เขาอาจจะไม่ได้เข้าไปช่วยในรูปของตัวเงินตรงๆ แต่เริ่มมีการทำในลักษณะของ supply chain financing ให้ตัวคู่ค้าของเขาสามารถเอาใบออเดอร์สินค้าไปใช้ในการค้ำประกันหรือไปกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงได้
ดังนั้นสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีที่เหลือ คงต้องฝากความหวังไว้กับตัวกองทุนเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่อยู่ภายใต้ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงภาพภูมิอากาศ หรือ ร่าง พ.ร.บ. climate change ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเร่งผลักดันกฎหมายเพื่อบังคับใช้
“ตรงนี้เราก็หวังลึกๆ ว่าในอนาคตเมื่อมีมาตรการต่างๆ ออกมา ไม่ว่าจะเป็นภาษีคาร์บอน หรือมาตรการเรื่องการซื้อขายใบอนุญาตการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้ร่างพ.ร.บ. ดังกล่าวจะมีครื่องมือหนึ่งที่ห้อยไว้ในตัวร่างกฎหมาย ก็คือมีกลไกเรื่องกองทุนเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
คาดว่าตรงนี้น่าจะเป็นเครื่องมือที่ค่อนข้างสำคัญ สำหรับการนำมาสนับสนุนกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี รวมไปถึงภาคส่วนต่างๆ ไม่ใช่แค่ภาคธุรกิจอย่างเดียว แต่ยังสำคัญกับการที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่เรื่องของเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำได้ดีขึ้น รวมไปถึงการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ด้วย

รัฐต้องปลดล็อคกฎระเบียบ เอื้อต่อการลดก๊าซเรือนกระจก – Adaptation
ส่วนในแง่ของนโยบายภาครัฐ ดร.กรรณิการ์ กล่าวว่า หนึ่งนโยบายที่สำคัญมากๆ ในการที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิกาศ ก็คือ กลไกการคิดราคาคาร์บอน หรือ carbon pricing ซึ่งมี 2 รูปแบบหลักๆ คือ รูปแบบของภาษีคาร์บอน กับรูปแบบการซื้อขายใบอนุญาตการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งในต่างประเทศก็มีการใช้ทั้ง 2 รูปแบบนี้ ขึ้นอยู่กับบริบทของประเทศนั้นๆ
ในส่วนของประเทศไทย คาดว่าในระยะสั้นอาจจะมีการเก็บภาษีคาร์บอนออกมาให้เห็นเป็นเบื้องต้นก่อนโดยผ่านช่องทางของภาษีสรรพสามิต ส่วนเรื่องการซื้อขายใบอนุญาตการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตัวร่าง พ.ร.บ. climate change เขียนเปิดไว้อยู่แล้วว่าอยากให้มีระบบนี้ในประเทศไทย แต่จะมีได้ก็ต่อเมื่อเราต้องทราบก่อนว่าแต่ละบริษัทปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่
ทั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมาเราไม่เคยกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคบังคับมาก่อน แต่เป็นการเปิดเผยภาคสมัครใจ เพราะฉะนั้นก็จะมีบริษัทจดทะเบียนหลายบริษัทที่เริ่มเปิดเผยข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เขาปล่อยมากขึ้น เพราะอาจจะต้องการนำเสนอตัวเลขนี้ผ่านรายงานความยั่งยืนของบริษัท หรือผ่านแพลตฟอร์มของทางตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงสำนักงาน ก.ล.ต.ที่มีการส่งเสริมให้มีการเผยแพร่ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น
แต่ในอนาคตเมื่อกฎหมาย climate change ออกมาบังคับใช้ มันจะเป็นตัวบังคับให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เริ่มจากบางเซ็กเตอร์ จะต้องเปิดเผยปริมาณก๊าซเรือนกระจก แล้วให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเก็บข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประกอบการศึกษาว่าแต่ละธุรกิจจะได้รับใบอนุญาตการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คิดเป็นตัวหน่วยของคาร์บอนเท่าไหร่
อย่างไรก็ดี เรื่องระบบการซื้อขายใบอนุญาตดังกล่าว อาจจะต้องใช้เวลา เพราะในช่วงแรกที่จะมีการใช้ระบบนี้ จะต้องเริ่มจากการเก็บข้อมูลดูก่อน แล้วนำข้อมูลนี้ไปประกอบการออกแบบใบอนุญาตว่าจะให้ปล่อยได้มากน้อยแค่ไหน ราคาของการซื้อขายสุดท้ายก็จะขึ้นอยู่กับตัวกลไกตลาด เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นมาตรการที่สำคัญมากๆ ในเชิง policy รัฐจำเป็นจะต้องมีการปลดล็อคเรื่องนี้
ส่วนที่สองคือ เรื่องของไฟฟ้าสะอาด ซึ่งปัจจุบันบ้านเรามีไฟฟ้าสะอาดใช้บ้างแล้ว แต่ว่าการซื้อขายไฟฟ้าแบบเพียร์ทูเพียร์โดยตรงยังทำได้ในพื้นที่จำกัด เช่น ในนิคมเดียวกัน แต่การซื้อขายข้างนอกนิคมยังไม่สามารถทำได้ ก็คือ ถ้าจะซื้อขายไฟฟ้าสะอาด บริษัท A จะต้องขายให้การไฟฟ้า แล้วการไฟฟ้าถึงจะมาขายให้บริษัท B อีกทีหนึ่ง
เมื่อเป็นในรูปแบบนี้ ต้องยอมรับว่า ไฟฟ้ามันไม่ได้มาจากโซลาร์หรือแสงอาทิตย์อย่างเดียว เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่บริษัท A ขายให้การไฟฟ้า แล้วมันเข้าไปอยู่ในสายส่ง พอมาถึงธุรกิจของบริษัท B ก็ไม่รู้แล้วว่าไฟมาจากส่วนที่เป็นโซลาร์หรือมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือโรงไฟฟ้าก๊าซธรมชาติ
เพราะฉะนั้นในอนาคต มันจะต้องเร่งให้มีการปฏิรูปโครงสร้างตัวตลาดการซื้อขายไฟฟ้า เพื่อให้รองรับการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมากขึ้น ก็เลยฝากเรื่องที่สอง คือเป็นเรื่องของการปฏิรูปตลาดการซื้อขายไฟฟ้า
ส่วนที่สามก็คือ การสร้างความตระหนักรู้ให้กับภาคส่วนต่างๆ ไม่เพียงแต่ให้เขาไปลดก๊าซเรือนกระจกเพียงอย่างเดียว แต่ต้องให้เขาเห็นถึงความสำคัญของผลกระทบของ climate change ที่มีต่อทั้งตัวเขาเอง ต่อประเทศ แล้วก็ชวนเขาให้มาเริ่มปรับตัวหรือว่า adaptation มากขึ้น
ส่วนสุดท้ายก็คือ ภาครัฐอาจจะต้องมาช่วยลงทุนในตัวโครงสร้างพื้นฐานที่จะเอื้อให้ภาคส่วนต่างๆ มีการปรับตัวหรือเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำมากขึ้น เช่น สร้างจุดชาร์จให้เพียงพอเพื่อรองรับความต้องการใช้รถไฟฟ้าอีวี ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ภาครัฐต้องมองหาช่องว่างว่าส่วนไหนที่เอกชนเขาทำแล้วอาจจะไม่คุ้มทุนที่จะทำ รัฐก็อาจจะต้องเข้ามาเติมเต็ม แล้วก็แสดงบทบาทตรงนั้น
ที่สำคัญคือรัฐอาจจะต้องช่วยในการปลดล็อคกฎระเบียบต่างๆ ที่เอื้อให้ภาคส่วนต่างๆ ดำเนินงานเรื่องของการลดก๊าซเรือนกระจกก็ดี หรือการเปลี่ยนผ่านเรื่องของการปรับตัวก็ดี เพื่อทำให้ทุกภาคส่วนสามารถมีแรงจูงใจในการที่จะทำดำเนินการได้ดียิ่งขึ้น
ดร.กรรณิการ์ อธิบายเพิ่มเติมเรื่องการปลดล็อคฎระเบียบว่า ทุกภาคส่วนต้องชี้ให้ชัดเลยว่ามีกฎหมายหรือกฎระเบียบตัวไหนที่อยากให้รัฐปลดล็อคบ้าง พอเรารู้ identify ได้ เราก็จะรู้ว่าหน่วยงานไหนที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องรับผิดชอบในการปรับกฎระเบียบ
ยกตัวอย่างเรื่องของการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ปัจจุบันกฎระเบียบตัวหนึ่งที่เราติดอยู่ก็คือ ตัวโครงสร้างของตลาดพลังงานของบ้านเรา ที่ซื้อขายขายผ่านการไฟฟ้า ภายใต้ระบบที่เรียกว่า Enhanced Single Buyer (ESB) เพราะฉะนั้นถ้าเราชี้ชัดไปว่าโครงสร้างตัวนี้เป็นกฎระเบียบที่ต้องปลดล็อค ก็จะรู้แล้วว่าเจ้าภาพต้องเป็นใคร เช่น อาจจะมีกระทรวงพลังงาน สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน ที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นต้น แล้วก็นำมาหารือว่ามันมีส่วนไหนที่สามารถเริ่มศึกษาได้
อย่างกรณีไฟฟ้าสีเขียว ปัจจุบันเริ่มมีการศึกษาในลักษณะของแซนด์บ็อกซ์ออกมาแล้ว โดยสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน เรียกว่าโครงการ ERC sandbox (โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน) โดยมีความพยายามที่จะปลดล็อค แล้วก็อนุญาตให้มีการซื้อขายไฟฟ้าสะอาดกันเองได้ระหว่างโรงงานหรือระหว่างผู้ผลิต โดยไม่ต้องไปผ่านการไฟฟ้า
ขณะนี้มีการทำเป็นโครงการนำร่องอยู่ แล้วเขาก็พยายามจะถอดบทเรียนปลดล็อคเป็นขอบเขตเล็กๆ ออกมาก่อน แล้วมาดูว่ามันมีผลกระทบกับเสถียรภาพของตัวระบบไฟฟ้ารึเปล่า ถ้ามีผลกระทบ ทางการไฟฟ้าจะออกแบบแนวทางในการลดหรือว่า mitigate ผลกระทบยังไงได้บ้าง ซึ่งคิดว่าเป็นไอเดียที่ดี ถ้าอยากจะทำ ให้ลองทำในรูปแบบสโคปเล็กๆ เป็นแซนด์บ็อกซ์ดูก่อนก็ได้
แต่อย่างไรก็ดี ทุกอย่างมันต้องอาศัยเงินทุนทั้งนั้น ดังนั้นสิ่งที่อยากเห็นของบ้านเราในอนาคตก็คือ การมีกองทุนที่สนับสนุนเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ซึ่งตรงนี้จะเป็นประโยชน์มากๆ สำหรับคนตัวเล็กตัวน้อย กลุ่มเอสเอ็มอีต่างๆ ที่เขาไม่มีเงินทุนมากพอในการที่จะลงทุนด้านนี้