ThaiPublica > คอลัมน์ > Moonlight Sonata รักเร้นของเบโธเฟน

Moonlight Sonata รักเร้นของเบโธเฟน

15 กันยายน 2024


1721955

จริง ๆ เราเตรียมเรื่องอื่นเอาไว้ แต่พอดีเหลือบไปเห็นบทความของลุงหมีปุ๊ (ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ หรือ วินนี่ เดอะ ปุ๊) ที่ส่วนหนึ่งเอ่ยถึงเพลงฮิตของเบโธเฟน ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนไม่ว่าจะเคยฟัง หรือไม่เคยฟัง หรือเคยฟังแต่ไม่เคยรู้ชื่อเพลง แต่เพลงดังดังกล่าวต้องเคยผ่านหูเราสักครั้งอย่างแน่นอน เพลงนั้นเรารู้จักกันในนาม “Moonlight Sonata” เพลงที่เบโธเฟนซุกความลับแสนสับสนเอาไว้แด่ใครคนหนึ่ง

เรื่องเล่าจากลุงหมีปุ๊ (47) …เพลงยอดนิยมของ Beethoven และ Mozart

แต่เพลงนี้ไม่ได้ชื่อ Moonlight Sonata และอันที่จริง Moonlight Sonata เป็นเพียงฉายาของเพลงนี้ที่ต่อมากลายเป็นชื่อเล่น และชื่อที่เรียกต่อ ๆ กันมาจนทุกวันนี้หลังจาก ลุดวิก ฟาน เบโธเฟน (1770-1827) อัจฉริยะทางดนตรีชาวเยอรมนีผู้มีถิ่นพำนักอยู่ในเวียนนา ออสเตรีย ได้เสียชีวิตไปแล้ว

‘เรลชตาบ เปรียบเทียบผลงานชิ้นนี้ราวกับเรือที่แล่นไปยังปลายน้ำอันแสนไกลของทะเลสาบลูเซิร์นในสวิตเซอร์แลนด์ยามแสงจันทร์อาบด้วยฉายา “Mondscheinsonate (Moonlight Sonata)” เป็นเหตุให้ในเยอรมนีเมื่อยี่สิบปีก่อนพากันใช้คำนี้เรียกเพลงนี้’ – วิลเฮล์ม ฟอน เลนซ์ จากหนังสือ Beethoven et ses trois styles (เบโธเฟนกับสามสไตล์ของเขา-ปี 1852) หน้า 225

เรลชตาบ ที่วิลเฮล์ม ฟอน เลนซ์ (1809-1883 นักเขียนชาวรัสเซียน-ลัตเวีย สหายสนิทของนักเปียโนเทพ ๆ อาทิ ฟรานซ์ ลิซท์, เฟรเดอริก โชแปง) บันทึกเอาไว้ในหนังสือของเขา คือ ลุดวิก เรลชตาบ (1799-1860) กวี นักวิจารณ์ดนตรีชาวเบอร์ลิน บิดาของเรลชตาบเป็นผู้ตีพิมพ์โน้ตเพลงรายใหญ่ ส่วนเรลชตาบเองได้รับคำยกย่องว่าเป็น “นักวิจารณ์ดนตรีผู้ยิ่งใหญ่คนแรก” ผลงานของเรลชตาบเป็นกระแสนิยมในช่วงกลางศตรวรรษที่ 19 และเขาคือผู้ประพันธ์คำร้อง 7 บทเพลงแรกในคอลเลกชัน Schwanengesang D957 (เพลงหงส์-ทั้งคอลเลกชันมี 14 เพลง-เผยแพร่ครั้งแรกในปี 1829) ของ ฟรานซ์ ชูเบิร์ต (1797-1828) อันนับเป็นพินัยกรรมสุดท้ายของชูเบิร์ตผู้ล่วงลับไปในปี 1828 (คอลเลกชันเพลงถูกเผยแพร่หลังจากชูเบิร์ตเสียชีวิตไปหนึ่งปี)

แล้วหากอนุมานจากหนังสือของ ฟอน เลนซ์ ที่เขียนเอาไว้เมื่อปี 1852 ได้กล่าวเอาไว้ว่า “เมื่อยี่สิบปีก่อน” จึงเป็นไปได้ว่าน่าจะเป็นในช่วงปี 1832 อันหมายความว่าฉายาของเพลงฮิตนี้เกิดขึ้นหลังจากเบโธเฟนจากโลกนี้ไปแล้ว เพราะเบโธเฟนเสียชีวิตลงเมื่อปี 1827

ทว่าภายหลังพบข้อมูลใหม่ว่าอันที่จริงเรลชตาบเคยเจอเบโธเฟนหนหนึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 1825 และสิ่งที่ฟอน เลนซ์ ยกมาอ้างอิงในหนังสือตัวเอง มาจากบทวิจารณ์ของ เรลชตาบ ในชื่อ “Theodor” ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1824 ใจความจริง ๆ ของมันก็คือ

‘ทะเลสาบทอดตัวท่ามกลางแสงจันทร์ยามพลบค่ำ [ Mondenschimmer ] คลื่นซัดสาดชายฝั่งอันมืดมิด ภูเขาที่ปกคลุมด้วยต้นไม้มืดครึ้มสูงขึ้นและปิดกั้นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์จากโลกภายนอก หมู่มวลวิญญาณหงส์ล่องลอยไปพร้อมกับเสียงกระซิบในกระแสน้ำ และพิณอีโอเลียนส่งเสียงร้องอันลึกลับของความปรารถนาอันอกหักจากซากปรักหักพัง’ – ลุดวิก เรลชตาบ จากบทความ Theodor (1824)

ถ้าสังเกตจะพบว่า เรลชตาบ ไม่ได้เอ่ยถึงทะเลสาบลูเซิร์นเลย ซึ่งดูเหมือนว่า ฟอน เลนซ์ จะเป็นผู้เพิ่มเติมเองในภายหลัง อย่างไรก็ตามไปไปมามาเพลงนี้ถูกเรียกในช่วงปลายทศวรรษที่ 1830 ว่า “Mondscheinsonate” อันเป็นภาษาเยอรมันที่ต่อมาถูกแปลในสิ่งพิมพ์อังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 19 ว่า “Moonlight Sonata”

ข้อเท็จจริงหนึ่งคือ เพลงนี้ประพันธ์ขึ้นในปี 1801 และไม่ว่าฉายาของมันจะถูกเรียกขึ้นครั้งแรกเมื่อใดก็ตาม แปลว่าชื่อเล่น “Moonlight Sonata” นี้ถูกเรียกหลังจากเพลงนี้ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกไปแล้วอย่างน้อย 20 ปี

(จากซ้าย) ชาร์ลส์ เพตโซลด์, เกรแฮม จอห์นสัน

[อย่างไรก็ตามเราพบข้อมูลน่าเชื่อถือและน่าสนใจจากเว็บ completebeethoven โดย ชาร์ลส์ เพตโซลด์ (หนึ่งในเจ็ดผู้บุกเบิกโปรแกรมวินโดวส์ ของไมโครซอล์ฟ ผู้ได้ชื่อว่าคลั่งเบโธเฟน) กับบทความของ เกรแฮม จอห์นสัน นักเปียโนคลาสสิกชื่อก้องชาวอังกฤษ ซึ่งเล่าเรื่องต่างออกไป และเราขอนำมาขยำรวมกันให้ย่อและเข้าใจง่ายขึ้น คือ แม้ว่าเรลชตับ จะได้ชื่อว่าเป็นคนดัง และเขาก็ได้เครดิตอย่างมากในการตั้งชื่อ Moonlight Sonata แต่ตอนที่เขาเขียนถึงเพลงของ เบโธเฟน เขาเพิ่งมีอายุแค่ 25 ปี อันที่จริงเขาโด่งดังขึ้นมาได้เพราะคาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด เพราะมีพ่อเป็นคนรวยและดัง (โยฮานน์ คาร์ล ฟรีดริช เรลชตาบ ที่นอกจากจะเป็นเจ้าของโรงพิมพ์โน้ตเพลงแล้วยังเป็นนักเปียโนมือฉกาจด้วย) ส่วนเรลชตาบคนลูกสร้างชื่อจากการวิจารณ์ผู้คนด้วยการสับแหลกเป็นที่โดนใจแก่ผู้คนบางกลุ่ม

แต่อันที่จริงเรลชตาบเป็นพวกหิวแสง เขาพยายามจะเข้าถึงเบโธเฟนในช่วงเดือนพฤษภาคม 1825 และพยายามคะยั้นคะยอให้เบโธเฟนนำงานประพันธ์ของเขาไปแต่งโอเปร่า ทว่าเบโธเฟนไม่เคยทำและเสียชีวิตลงเสียก่อนในปี 1827 จากนั้น แอนตัน ชินด์เลอร์ เลขานุการของเบโธเฟน จึงได้ส่งต่อบทประพันธ์นั้นไปให้ชูเบิร์ต กลายเป็น Schwanengesang เจ็ดบทแรกอย่างที่เราเล่าไปแล้วนั้น อันที่จริง เรลชตาบ ไม่ได้ภูมิใจอะไรเลย ด้วยความที่ชูเบิร์ตมีอายุน้อย (ชูเบิร์ตแก่กว่าเรลชตาบแค่สองปี และชูเบิร์ตเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 31 ปี ขณะที่เบโธเฟนเสียชีวิตตอนอายุ 56 และถูกยกย่องว่าเป็นอัจฉริยะหูดับ แถมตอนตายยังมีขบวนแห่ศพยิ่งใหญ่ที่มีผู้เข้าร่วมกว่าหมื่นคน)

หนำซ้ำ ชาร์ลส์ เพตโซลด์ ยังเน้นด้วยว่า ‘การตั้งชื่อเพลงนี้ด้วยคำว่า “แสงจันทร์” ไม่เหมาะสมกับเพลงนี้เอาเสียเลย’ อันที่จริง เบโธเฟน แต่งเพลงนี้ในปี 1801 อันเป็นช่วงที่อาการหูหนวกของเขาย่ำแย่ลง เขาเริ่มหูหนวกเมื่อปี 1798 กระทั่งรุนแรงขึ้นในปี 1801 ซึ่งสังเกตได้จากจดหมายที่เขาเขียนระบายไปถึงเพื่อนสองคนในช่วงต้นปีนั้นคือ ฟรานซ์ เวเกเลอร์ กับคาร์ล อเมนดา สามวันหลังจากสูญเสียการได้ยิน โดยอธิบายถึงอาการและความยากลำบากที่เกิดขึ้นทั้งในด้านอาชีพและสังคม ซึ่งสาเหตุน่าจะมาจากโรคหูเสื่อม (Otosclerosis)’

เพตโซลด์ อธิบายตรงนี้เพิ่มเติมว่า ‘เพลงนี้เป็นผลงานชิ้นแรกที่รู้จักซึ่งการใช้ประโยชน์จากการสั่นสะเทือนของสายเปียโนภายในตัวเปียโนอย่างจงใจ เบโธเฟนเรียกท่อนแรกของเพลงนี้ (เพลงนี้ถูกแบ่งเป็นสามท่อนไม่เท่ากันด้วยจังหวะที่ต่างกัน)ว่า “Adagio Sostenuto” (ช้าและยืดยาว) และสั่งผู้เล่นว่า “Si deve suonare tutto questo pezzo delicatissimamante e senza sordini” — “คุณต้องเล่นเพลงท่อนนี้ทั้งหมดอย่างนุ่มนวลและไม่ปิดกั้นเสียง” — นั่นคือต้องเหยียบแป้นให้ยืดยาวค้างไว้เพื่อยกตัวหน่วงทั้งหมดออกจากสาย
ซึ่งไม่เพียงแต่สายที่ถูกตีโดยตรงจะยังคงสั่นสะเทือน แต่สายที่สอดคล้องกับฮาร์โมนิกของโน้ตเหล่านั้นก็จะเริ่มสั่นสะเทือนด้วยเช่นกัน ทำให้เกิดเสียง “คล้ายหมอก” ก่อนที่โลกจะรู้จักมันในชื่อแสงจันทร์อย่าง “Mondschein” หรือ “Moonlight” อันที่จริงมันเคยถูกเรียกว่า “Laube (arbor ซุ้มไม้)” เนื่องจากเชื่อกันว่าแต่งขึ้นในขณะที่เบโธเฟ่นนั่งอยู่ใต้ซุ้มไม้ประดับสวน และมันเคยมีชื่อเล่นว่า “Nachtterror (ความหวาดกลัวยามค่ำคืน)”

เพตโซลด์ สำทับอีกว่า ‘เพลงนี้ไม่มีแสงจันทร์โรแมนติก มันคือเพลงแห่งความโศกาอาดูร ยิ่งหากสังเกตถึงท่อนที่สามของเพลงที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงจากท่อนอื่น ๆ โดยเบโธเฟนกำกับว่า “ต้องเล่นท่อนนี้อย่างไม่มีการสกัดกั้นอารมณ์” ชาร์ลส โรเซน (นักประพันธ์และนักเปียโนคลาสสิกชาวอเมริกัน) เคยเขียนไว้ด้วยซ้ำว่า ‘จนกระทั่งทุกวันนี้แม้เพลงนี้จะผ่านไปกว่าสองร้อยปีแล้ว ความดุร้ายของมันก็ยังคงน่าทึ่งไม่เสื่อมคลาย’

เพตโซลด์อ้างอิงว่า ‘ฟรานซ์ ลิสซต์ ประพันธกรชาวฮังกาเรียนชื่อดัง เรียกท่อนกลางของเพลงนี้ว่า “เหมือนดอกไม้ระหว่างเหวลึกสองเหว” ส่วนแบร์รี คูเปอร์ นักทฤษฎีดนตรีชาวอังกฤษ ก็บอกว่า “ท่อนกลางให้ความรู้สึกตัดกันอย่างชัดเจน แม้จะมีธรรมชาติที่ฟังดูร่าเริง และอาจตีความได้ว่าสื่อถึงความสุข แต่ก็เป็นเสมือนการหวนรำลึกถึงความสุขในอดีตมากกว่าจะเกิดขึ้นในปัจจุบันขณะ เป็นเพียงช่วงพักสั้น ๆ ก่อนที่ตอนจบจะเกรี้ยวกราดกระสับกระส่าย ในท่อนสุดท้ายมันจึงพุ่งพล่าน อันแสดงให้เห็นถึงความไม่ลดละของเบโธเฟนในการสร้างเอกภาพ ความต่อเนื่อง และแรงผลักดันตลอดทั้งผลงานนี้เราจะพบวิธีใหม่ ๆ ที่เขาได้ตระหนักรู้ผ่านโสตประสาทที่เปลี่ยนแปลงไป’]

Moonlight Sonata มีชื่อที่ทุกคนรู้จักว่า “เปียโนโซนาตา หมายเลข 14 ในซี-ชาร์ป ไมเนอร์ โอปุส 27 หมายเลข 2” อันเป็นเพลงพี่น้องกับ “เปียโนโซนาต้า หมายเลข 13 ใน อี-แฟล็ต เมเจอร์ โอปุส 27 หมายเลข 1” ในคลิปต่อไปนี้

ที่เราบอกว่ามันเป็นเพลงพี่เพลงน้องกันเพราะทั้งสองเพลงนี้ถูก เบโธเฟน ตั้งชื่อเอาไว้เหมือนกันว่า “Quasi una fantasia” และทั้งสองเพลงนี้ประพันธ์แล้วเสร็จในปี 1801 …อุทิศให้แด่สตรีสองนาง

เราจะเล่าถึงเพลงหมายเลข 13 ก่อนก็แล้วกัน เบโธเฟน อุทิศเพลงนี้ให้แด่ เจ้าหญิงโจเซฟีน ฟอน ลิกเตนชไตน์ แห่งออสเตรีย ซึ่งอันที่จริง ณ ปัจจุบันยังคงมีข้อมูลน้อยมากว่าความสัมพันธ์ระหว่างเบโธเฟน กับ โจเซฟีน คืออะไรกันแน่ และยังคงมีหลักฐานเพียงชิ้นเดียวคือจดหมายที่เบโธเฟนเขียนขึ้นเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 1805 อันเป็นจดหมายแนะนำลูกศิษย์หนุ่มของเขา เฟอร์ดินานด์ รีส เพื่อขอเงินอุปการะจากเจ้าหญิงลิกเตนชไตน์ เนื่องจาก รีส ผู้เกิดในเมืองบอนน์(บ้านเกิดของเบโธเฟนด้วย) ที่เวลานั้นถูกผนวกเข้ากลายเป็นเขตแดนของฝรั่งเศส ทำให้ รีส ต้องกลายเป็นพลเมืองฝรั่งเศส(อันในเวลานั้นคือประเทศศัตรูของออสเตรีย) และถูกบังคับให้รับใช้ในกองทัพ ในฤดูใบไม้ร่วงปี 1805 รีสต้องเข้ารายงานตัว ทำให้เบโธเฟนหวังว่าเจ้าหญิงลิกเตนชไตน์ น่าจะช่วยเหลือรีสได้

ความในจดหมายว่า “รีสผู้น่าสงสาร ลูกศิษย์ของกระหม่อมต้องแบกปืนคาบศิลาไว้บนไหล่ในสงครามอันน่าสลดใจครั้งนี้ และในเวลาเดียวกันเขาต้องจากที่นี่ไปในอีกไม่กี่วันในฐานะคนแปลกหน้า เขาไม่มีอะไรเลย ไม่มีอะไรเลย เขาต้องเดินทางไกล ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ โอกาสในการเข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษาจึงถูกพรากไปจากเขาโดยสิ้นเชิง” อย่างไรก็ตามจดหมายนี้ไม่เคยไปถึงมือเจ้าหญิงโจเซฟีน เนื่องจากรีสต้องการเก็บจดหมายฉบับนี้ไว้เป็นหลักฐานถึงมิตรภาพและความรักความเอ็นดูที่เบโธเฟนมีต่อเขา ซึ่งรีสไม่ใช่แค่ลูกศิษย์ของเบโธเฟน แต่ยังเป็นสหายสนิท และมือขวาคนสำคัญของเบโธเฟนด้วย

[ชื่อของ จูลี ถูกสะกดในแบบภาษาอิตาเลียน ตามธรรมเนียมการอุทิศ ปรากฎหราบนโน้ตหน้าแรก]

อันที่จริงแล้วเป็นเรื่องแปลกที่คีตกวีเขาไม่ทำกัน คือการที่เพลงตีพิมพ์ภายใต้โอปุสเดียวกัน (โอปุส 27) จะมีการอุทิศแยกกัน เพลงโอปุส 27 นี้ ในหมายเลข 14 หรือที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ในชื่อ Moonlight Sonata เบโธเฟน อุทิศเพลงนี้ให้กับ จูลีเอตตา หรือ จูลี กูอิชชาร์ดี (1784-1856) เคาน์เตสชาวออสเตรียผู้เคยเป็นศิษย์เปียโนคนโปรด…และรักข้ามรุ่นคนแรกของ เบโธเฟน

Sonata quasi una fantasia (โซนาต้าที่แทบจะเป็นแฟนเทเซีย) ในยุคแรกผู้คนที่ไม่เข้าใจดนตรีมักจะเข้าใจผิดกันว่ามันคือชื่อเพลงที่มีความหมายว่า “โซนาต้าดั่งจินตนาการ” ทว่าอันที่จริงแล้วคำว่า “fantasia” ในที่นี้ไม่ได้แปลว่า “แฟนตาซี” แต่ แฟนเทเซีย (Fantasia) เป็นรูปแบบเทคนิคหนึ่งทางดนตรีอันหมายถึงการแสดงที่ลื่นไหลและด้นสด ในที่นี้มันจึงมีความหมายว่า “เพลงนี้มิได้เป็นโซนาต้าอย่างเป็นทางการ แต่มันก้ำกึ่งจนแทบจะกลายเป็นการด้นสดในทางดนตรี”

ภาพเหมือน จูลี่ (ขวาสุดมาจากกรอบรูปส่วนตัวในบ้านเบโธเฟน)

แม้จะถูกแต่งขึ้นในปี 1801 แต่เบโธเฟน เขียนอุทิศในปี 1802 ให้กับจูลี่ เคาน์เตสชาวออสเตรีย โดยเบโธเฟนรู้จักเธอผ่านครอบครัวบรุนชวิก ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องกับจูลี่ นั่นก็คือ พี่น้องเทเรซ และ โจเซฟีน บรุนชวิก ซึ่งเขาสอนเปียโนให้พี่น้องคู่นี้มาตั้งแต่ปี 1799 กระทั่งช่วงปลาย 1801 เขาก็กลายมาเป็นครูสอนเปียโนให้ จูลี่ ด้วย

เบโธเฟน หลงรัก จูลี่ หัวปักหัวปำ สังเกตจากจดหมายที่เขาเขียนหาเพื่อนเกลอคนเดิม ฟรานซ์ เวเกเลอร์ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 1801 (แปลว่าต้นปีนั้นอาการทรุด ปลายปีเดียวกันตกหลุมรัก) ว่า “ชีวิตของผมมีความสุขขึ้นอีกนิด ฉันออกไปข้างนอกและอยู่ท่ามกลางผู้คนได้อีกครั้ง นายต้องไม่เชื่อแน่เลยว่าชีวิตของฉันเศร้าโศกเปล่าเปลี่ยวมาเป็นเวลาสองปีแล้ว การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากหญิงสาวที่แสนหวานละมุนและน่าหลงใหล ซึ่งรักผมและผมก็รักเธอ หลังจากสองปีแห่งความโศก ผมกลับมาเพลิดเพลินกับช่วงเวลาแห่งความสุขอีกครั้ง และนี่เป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกว่าการแต่งงานอาจทำให้ผมมีความสุขขึ้นมาได้ แต่โชคไม่ดีที่เธอไม่อยู่ในสถานะเดียวกับผม และตอนนี้ผมก็ไม่สามารถแต่งงานได้อย่างแน่นอน”

ต่อมาในปี 1802 เบโธเฟน อุทิศเปียโนโซนาต้าเพลงนี้ให้กับเธอ โดยใช้ชื่อของเธอในภาษาอิตาลีว่า “Giulietta Guicciardi” อย่างไรก็ตามการอุทิศนี้ไม่ใช่ความตั้งใจเดิมของเขา และตอนแต่งเพลงนี้เขาก็ไม่ได้คิดถึงจูลี่แต่อย่างใด อย่างที่ครั้งหนึ่งหลายคนเคยเชื่อตาม ๆ กันว่าเพลงนี้มี จูลี่ เป็นมิวส์ (muse นางผู้เป็นแรงบันดาลใจในการผลิตผลงาน) ของเพลงนี้ ปัจจุบันชัดเจนแล้วว่าข้อมูลนี้ไม่เป็นความจริง

อเล็กซานเดอร์ วีล็อค เทเยอร์ นักข่าวและนักชีวประวัติวิชาการชาวอเมริกัน ผู้เขียนชำระชีวประวัติฉบับสมบูรณ์เล่มแรกของเบโธเฟน ได้ระบุในหนังสือของเขา Life of Beethoven (2014) ว่า ‘ในปี 1852 สี่ปีก่อนที่จูลี่จะเสียชีวิต เธอได้แจ้งกับ ออตโต ยาห์น นักวิชาการชาวเยอรมัน ว่าอันที่จริงตอนแรกเบโธเฟนตั้งใจจะอุทิศเพลงอื่นให้ นั่นก็คือเพลง Rondo in G, Op. 51 No. 2 แต่ภายหลังเขาได้ขอให้เธอส่งคืนเนื่องจากจำเป็นต้องอุทิศเพลงนั้นให้กับเคาน์เตสลิคนอฟสกี โดยไม่เคยอธิบายถึงสาเหตุ แล้วในที่สุดเขาจึงมองหาชิ้นงานอื่นเพื่ออุทิศให้แด่ จูลี่ แทน’

ในหนังสือของเทเยอร์ ยังเล่าต่อไปด้วยว่า ‘เป็นที่แน่ชัดว่าเบโธเฟนได้ขอแต่งงานกับจูลี่ และเธอก็ยอมรับด้วยความเต็มใจ โดยแม่ของเธอเห็นด้วยกับการแต่งงานครั้งนี้ ทว่าพ่อของเธอกลับห้ามด้วยเหตุผลว่า “เขาไม่มียศศักดิ์ ไม่มีเงินทอง และไม่มีการหมั้นหมายอย่างเป็นทางการ หนำซ้ำชายคนนี้ยังมีอุปนิสัยอันแปลกประหลาดอีก และมีอาการป่วยในระยะเริ่มต้น ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษา จะทำให้เขาไม่มีโอกาสได้ตำแหน่งราชการที่สูงค่าและมีรายได้สูง และสุดท้ายก็ต้องเลิกอาชีพนักเปียโนผู้ยิ่งใหญ่”’

ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งคือ เบโธเฟน มีอาการที่โลกในเวลานั้นไม่รู้จัก คือเขาเป็นอัจฉริยะในสเปคตรัมออทิสติกที่เรียกกันว่า “แอสเพอร์เกอร์”

ดังที่บิดาของจูลี่เอ่ยถึง “อุปนิสัยอันแปลกประหลาด” ของเบโธเฟน อันที่จริงในโลกปัจจุบันมีการสำรวจอัจฉริยะคนดังมากมายที่ถูกยืนยันได้ว่าน่าจะเป็นแอสเพอร์เกอร์ อาทิ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ หรือแม้แต่คีตกวีเอกอย่าง โวล์ฟกัง อะมาเดอุส โมซาร์ท ซึ่งเบโธเฟนคือหนึ่งในนั้น ถึงกับมีการตีพิมพ์ตำราที่ถูกรับรองโดยนักประวัติศาสตร์ทางดนตรีและผู้ทรงคุณวุฒิทางจิตวิเคราะห์ ใน Beethoven: The Asperger Connection (2020) โดย วอลเตอร์ ไฮเดอร์ นักเขียนชาวเนเธอร์แลนด์

รู้จักแอสเพอร์เกอร์ได้ในบทความนี้ แอสเพอร์เกอร์คำสาปหรือพรสวรรค์

ภายหลังจูลี่จึงหันไปแต่งงานกับเคานต์เวนเซล โรเบิร์ต กัลเลนเบิร์ก นักประพันธ์เพลงบัลเลต์และดนตรีประกอบมากมาย เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 1803 หลังจากแต่งงานกันได้ไม่นานคู่รักนี้ก็เดินทางไปอิตาลี เมืองเนเปิลส์เมื่อฤดูใบไม้ผลิปี1806 อันพอดีกับเป็นปีที่ โจเซฟ โบนาปาร์ต (พี่ชายของนโปเลียน) ได้รับตำแหน่งให้เป็นกษัตริย์แห่งซิซิลี กัลเลนเบิร์กจึงมีโอกาสแต่งเพลงประกอบงานเฉลิมฉลองนั้นด้วย ต่อมาในปลายปี 1821 กัลเลนเบิร์ก ได้รับตำแหน่งรองผู้อำนวยการของ Royal Imperial Opera ในเวียนนา ทำให้สามีภริยาคู่นี้เดินทางกลับเวียนนาอีกครา แต่ไม่มีหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่าเบโธเฟนได้สานสัมพันธ์ฉันท์มิตรกับคนรักเก่าของเขาอีกครั้งเลยหลังจากนั้น

รักยุ่ง ๆ ของชายอาภัพรัก
ครั้งหนึ่ง แพทริเซีย มอร์ริสโร นักเขียนหญิงชาวอเมริกันผู้แต่งหนังสือ The Woman in the Moonlight (2020 ข้อมูลทางประวัติศาสตร์เพิ่มเติมเกี่ยวกับ จูลี่) เคยให้สัมภาษณ์ว่า “เบโธเฟนมักจะเข้าไปพัวพันกับความสัมพันธ์อันแสนทรมานกับผู้หญิงที่เขาไม่สามารถอยู่กินด้วยกันได้ จนบางครั้งฉันอดคิดไม่ได้ว่าเขาอาจจงใจจะทำแบบนั้น พวกเขาพบกันตอนจูลี่อายุแค่ 18 ส่วนเบโธเฟ่น 31 ฉันนึกภาพออกเลยว่าจูลี่หลงใหลในดนตรีของผู้ชายทรงแดดดี้อย่างเบโธเฟน แต่คงเป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาจะแต่งงานกัน เพราะมาจากสถานะทางสังคมที่ต่างกัน เจ้าหญิงสูงศักดิ์กับนักดนตรีมากพรสวรรค์แต่ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์ใด และอย่างไรก็ตามฉันไม่แน่ใจว่าใครจะทนอยู่กับคนอย่างเบโธเฟนได้

เพราะเบโธเฟนมีชื่อเสียงในเรื่องความเป็นชายที่เอาแต่ใจมาก เขาต้องย้ายที่อยู่ตลอดเวลา และไม่สามารถดูแลแม่บ้านหรือแม้แต่คนครัวของเขาเองยังไม่ได้เลย คำอธิบายเกี่ยวกับอพาร์ตเมนต์ของเขาก็คือ “ข้าวของรกไปหมด มีไส้กรอกเก่า ๆ วางอยู่ข้าง ๆ ปลาเฮอริ่ง ข้าง ๆ หน้าต้นฉบับของซิมโฟนีหมายเลข 7” รูปของเขามักจะถูกวาดด้วยผมเผ้าที่ยุ่งเหยิง เพราะเขาแทบไม่ดูแลตัวเอง ผมไม่หวี หนวดเคราก็นาน ๆ โกนที ชีวิตของเบโธเฟนมันวุ่นวายสุด ๆ”

Für Elise
แด่…อีลีส หรือเพลง Bagatelle No. 25 in A minor ( WoO 59, Bia 515) เป็นหนึ่งในผลงานของเบโธเฟนที่ได้รับความนิยมมากที่สุด และเราเชื่อว่าหลายคนน่าจะคุ้นทำนองเพลงนี้ แต่เพลงนี้ไม่เคยถูกเผยแพร่ในช่วงชีวิตของเขา ทว่ามันถูกค้นพบโดยนักดนตรีเยอรมัน ลุดวิก โนห์ล ในปี 1867 หรืออีก 40 ปีต่อมาหลังจากเบโธเฟ่นเสียชีวิต ไม่มีใครรู้ว่า แด่ อีลีส ที่ว่าหมายถึงใครกันแน่ นักวิชาการสันนิษฐานเอาไว้หลายคน แต่ผู้ต้องสงสัยที่เข้าข่ายในปัจจุบันนี้เหลือเพียง 3 คน คือ

เอลิซาเบต บาเรนสเฟลด์ (1796 – หลังปี 1820)
ในปี 2014 นักดนตรีวิทยาชาวแคนาดา ริต้า สเตบลิน เสนอความเห็นว่าน่าจะเป็น เอลิซาเบต บาเรนสเฟลด์ ผู้มีชื่อเล่นว่า อีไลส์ หญิงสาวจากเรเกนส์บรูก แคว้นบาวาเรีย และเคยถูกคัดเลือกเก็บตัวเป็นเด็กอัจฉริยะในเวียนนา (Wunderkind เด็กมหัศจรรย์ ภาษาอังกฤษใช้ Child prodigy เป็นโปรแกรมเก็บตัวสำหรับเด็กอายุน้อยมากความสามารถ ปัจจุบันเชื่อว่าเชื่อมโยงกับอาการออทิสติกแอสเพอร์เกอร์) ในช่วงสั้น ๆ ตอนที่เธอเดินทางไปทัวร์คอนเสิร์ตกับโยฮันน์ เนโปมุค เมลเซล นักดนตรีและวิศวกร เพื่อนคนหนึ่งของเบโธเฟนซึ่งมาจากเรเกนส์บรูกเหมือนกัน โดย สเตบลิน เชื่อว่า เบโธเฟนน่าจะเคยเจอเธอที่เวียนนาด้วยเหตุนี้ และคาดว่าถ้าเป็นเช่นนั้นขณะนั้น เบเรนส์เฟล์ด น่าจะมีอายุ 13 ปี แต่สเตบลินก็ยอมรับว่ายังคงมีหลายคำถามที่เธอยังตอบไม่ได้เกี่ยวกับสมมติฐานนี้

เอลิซาเบธ ร็อคเคิล
เคลาส์ มาร์ติน โคพิตซ์ นักดนตรีชาวเยอรมันได้เสนองานวิจัยในปี 2010 ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเป็นนักร้องโซปราโนชาวเยอรมันวัย 17 ปี เอลิซาเบธ ร็อคเคิล (1793-1883) เธอรับบทเป็น ฟลอเรสเตน ในโอเปร่า Fidelio ของเบโธเฟน ที่ถูกกลับมาแสดงใหม่ในปี 1806 และเธอผู้นี้ถูกบาทหลวงประจำตำบลเรียกเธอว่า อีลิส (ต่อมามีการโต้แย้งว่า จริง ๆ แล้วชื่อเล่นคือ เบ็ตตี้) และเธอกลายมาเป็นเพื่อนของเบโธเฟนในปี 1808 ซึ่ง โคพิตซ์ คาดว่ามีความเป็นไปได้ที่เบโธเฟนจะขอเธอแต่งงาน ทว่าในเดือนเมษายน 1810 เธอได้งานใหม่ในบาวาเรีย ก่อนจะกลับมาเวียนนาอีกครั้งในปี 1813 เพื่อมาแต่งงานกับนักแต่งเพลงชาวออสเตรีย โยฮานน์ เนโปมุค ฮัมเมล เพื่อนอีกคนของเบโธเฟน

ต่อมาในปี 2015 โคพิตซ์ นำเสนอหลักฐานใหม่ที่สนับสนุนสมมติฐานของเขานี้ว่า เพื่อนสนิทของ ร็อคเคิล นางหนึ่ง เคยเขียนจดหมายถึงร็อคเคิลในปี 1830 และเรียกเธอในจดหมายดังกล่าวว่า “อีลิส”

เทเรซ มัลฟัตติ
แม็กซ์ อังเกอร์ นักดนตรีวิทยาชาวเยอรมัน เสนอความเห็นที่ต่างไปมาก แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่สุดในขณะนี้ คือเป็นไปได้ว่า โนห์ล ผู้ค้นพบเพลงนี้ อาจถอดความชื่อเพลงไม่ถูกต้อง เนื่องจากลายมือของจอมอัจฉริยะทางดนตรีเบโธเฟนนั้น ยุ่งเหยิงและเลือนมาก จึงเป็นไปได้ว่ามันจะสะกดว่า “Für Therese” อันน่าจะหมายถึง เทเรซ มัลฟัตติ (1792-1851) เธอเป็นเพื่อนสนิทและลูกศิษย์ของเบโธเฟน ซึ่งมีหลักฐานว่าเบโธเฟนเคยขอหญิงนี้แต่งงานในปี 1810 แม้ว่าเธอจะปฏิเสธเขาแล้วหันไปแต่งงานกับขุนนางชาวออสเตรียในปี 1816 ก็ตาม ปัจจุบันมีนักวิชาการหลายสำนักสนับสนุนแนวคิดนี้

Immortal Beloved
ในบั้นปลายชีวิตของเบโธเฟน ขณะที่แอนตัน ชินด์เลอร์ เลขานุการของเบโธเฟนกำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อจะเขียนชีวประวัติของเบโธเฟน ในปี 1823 เบโธเฟนสารภาพกับแอนตันว่า “ผมตกหลุมรัก จูลี่ จริง ๆ ในตอนนั้น” ทำให้ในชีวประวัติเล่มแรกเมื่อปี 1840 (หลังจากเบโธเฟนตายไปแล้วสามปี) ของชินด์เลอร์ได้อ้างว่า จูลี่ คือเจ้าของจดหมายที่เรียกว่า “Immortal Beloved (ผู้เป็นรักอมตะ)”

Immortal Beloved หรือในภาษาเยอรมันดั้งเดิมคือ Unsterbliche Geliebte คือจดหมายรักที่ไม่เคยถูกส่งให้ถึงมือผู้รับ เขียนขึ้นเมื่อวันที่ 6 หรือ 7 กรกฎาคม 1812 ในเมืองเทปลิซ (ขณะนั้นอยู่ในจักรวรรดิออสเตรีย ปัจจุบันอยู่ในสาธารณรัฐเช็ก) เป็นจดหมายที่เขียนด้วยดินสอบนหน้ากระดาษขนาดเล็กจำนวน 10 หน้า มันถูกค้างเติ่งก่อนจะถูกพบเจอในที่ดินของเบโธเฟนหลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว ปัจจุบันถูกเก็บไว้ในหอสมุดแห่งรัฐเบอร์ลิน

เบโธเฟนไม่เคยระบุปีหรือสถานที่ กว่าที่ผู้คนจะรู้ว่าเขาเขียนที่ไหนเมื่อไหร่ก็ผ่านไปจนช่วงทศวรรษ 1950 เมื่อมีการวิเคราะห์เพื่อระบุเวลาที่เจาะจง นักวิชาการมีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับผู้รับจดหมายเหล่านี้ที่เบโธเฟนตั้งใจจะส่งถึง โดยเริ่มแรกเมื่อ ชินด์เลอร์ เลขาของเขาประกาศว่าน่าจะเป็น “จูลี่” ทำให้เกิดข้อกังขาขึ้นมาในทันที เนื่องจาก เทเรซ บรุนชวิก ลูกศิษย์และเพื่อนสนิทของเบโธเฟน เป็นผู้แรกที่เห็นแย้ง เพราะเธอรู้หลายเรื่องเกี่ยวกับความรักของเบโธเฟน อย่างไรก็ตามมาจนทุกวันนี้ นอกจาก จูลี่ แล้ว ยังมีตัวเก็งผู้น่าจะเป็นเจ้าของจดหมายเหล่านี้อีกสองนาง ได้แก่

โจเซฟีน บรุนชวิก
ในปี 1957 โจเซฟ ชมิดท์-กอร์ก นักดนตรีนักประพันธ์เพลง นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยบอนน์และผู้อำนวยการของหอจดหมายเหตุเบโธเฟนเ ได้ตีพิมพ์ จดหมายรัก 13 ฉบับที่ เบโธเฟน เขียนถึง โจเซฟีน บรุนชวิก

[จำได้ใช่ไหมตอนเราแนะนำถึง จูลี่ เราเล่าว่า โจเซฟีน คือน้องสาวของ เทเรซ พี่น้องคู่นี้คือศิษย์รุ่นพี่ของจูลี่ ด้วยเหตุนี้เทเรซจึงกังขาต่อประกาศของชินด์เลอร์ เกี่ยวกับ จดหมาย Immortal Beloved (1812) เนื่องจากเทเรซรู้แก่ใจตลอดมาว่า เบโธเฟน คั่วอยู่กับน้องสาวของเธอเอง]

จดหมายที่ กอร์ก ตีพิมพ์ ถูกเบโธเฟนเขียนขึ้นในช่วง 1804-ราว 1810 ขณะที่โจเซฟีน เป็นม่ายหลังจากเคานต์เดย์ม สามีคนแรกของโจเซฟีนเสียชีวิต และจากจดหมายชุดนี้จะพบว่า เบโธเฟนหยุดส่งไปหาโจเซฟีน หลังจากเธอแต่งงานครั้งที่สองกับ บารอนชาวเอสโตเนีย นามว่า สแตเคิลแบร์ก ในปี 1810 (แม้ทั้งคู่จะแต่งงานอย่างเป็นทางการในปี 1810 แต่ความจริงโจเซฟีนท้องกับเขามาก่อนแล้วตั้งแต่ปี 1809)

มีนักวิชาการหลายคนค่อนข้างเชื่อว่า โจเซฟีน มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นเจ้าของ Immortal Beloved โดยเฉพาะนักเขียนคู่สามีภรรยาชาวฝรั่งเศส ฌอง และบริจิตต์ มาสซิน ระบุในปี 1955 ว่า “หากเปรียบเทียบจดหมายรักชุดที่กอร์กเผยแพร่นี้ กับ Immortal Beloved จะพบว่าไม่เพียงแต่ใช้ถ้อยคำที่คล้ายคลึงกันแล้ว แต่ยังเน้นย้ำถึงความภักดีที่ยาวนานของเบโธเฟนที่มีต่อผู้เป็นรักอมตะเดียวของเขาด้วย” มาสซิน ยังย้ำด้วยว่า “ทว่าเธอไม่สามารถคิดที่จะแต่งงานกับเบโธเฟนซึ่งเป็นคนธรรมดาได้ ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่าเธอจะต้องสูญเสียสิทธิในการดูแลลูก ๆ ที่เป็นขุนนางของเธอไป”

แอนโทนี เบรนตาโน
จากรูปและชื่อของเธออาจจะดูเหมือนผู้ชาย แต่เธอเป็นบุตรีนักการทูตชาวออสเตรีย ในปี 1955 มาสซิน ให้ข้อสังเกตว่า ในช่วงเวลาของ Immortal Beloved ขณะนั้น แอนโทนี เบรนตาโน อยู่ที่ปราก และคาร์โลวี วารี ในเชก และมีความเป็นไปด้เช่นกันที่เธอจะเป็นเจ้าของ Immortal Beloved

แม้มาสซินจะกล่าวว่า “การสันนิษฐานว่าเป็นแอนโทนี เบรนตาโนนั้นทั้งเย้ายวนและไร้สาระ” แต่พวกเขาก็อดคิดไม่ได้ว่ามีความเป็นไปได้มากอยู่เช่นกันว่าจะเป็นแอนโทนี่ ด้วยสาเหตุว่าทั้งคู่พบกันครั้งแรกตอนที่ แอนโทนี กลับมาเยี่ยมพ่อที่เวียนนา แล้วในช่วงฤดูร้อนปี 1812 เบโธเฟน ก็ไปเยือนเธอถึง คาร์โลวี วารี แถมอาศัยอยู่ในโรงแรมเดียวกันในย่านฟรานเซนแบด อีกทั้งปีนั้น เบโธเฟน อุทิศสามเพลงรวดให้แม็กซ์ ลูกสาวของแอนโทนี

ในขณะเดียวกัน มาสซิน ก็มองว่าความคิดนี้ดูไร้สาระ เนื่องจากเบโธเฟนเป็นสหายสนิทกับฟรานซ์ สามีของแอนโทนี และบ่อยครั้งเบโธเฟนก็ยืมเงินจากฟรานซ์ อีกทั้งยังสำทับว่า “จดหมายหลายฉบับพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาเป็นแค่เพื่อนสนิทกันเท่านั้น และเบโธเฟนรักครอบครัวนี้ที่คอยเกื้อหนุนเขาทั้งในยามสุขและยามยาก” อย่างไรก็ตามพบว่านักวิชาการมากมายเสนอทฤษฎีเรื่องการคบชู้ในครอบครัวนี้ด้วย แต่ทั้งหมดก็ถูกปัดตกไป…เมื่อข้อมูลใหม่ถูกค้นพบในยุคของเรา

สัมพันธ์ลับในคืนเปลี่ยว
หลังจากปี 1812 ไม่เคยมีข้อมูลเกี่ยวกับสัมพันธ์โรแมนติกของเบโธเฟนอีกเลย อย่างไรก็ตามในจดหมายฉบับอื่น ๆ ที่เขาเขียนถึงเพื่อน ๆ ในช่วงเวลาหลังจากนั้นพบว่าเขาเคยมีเพศสัมพันธ์กับหญิงบริการเป็นครั้งคราว (จากหนังสือ Beethoven ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 พฤศจิกายน 1998 โดย โซโลมอน เมย์นาร์ด)

ทว่าข้อมูลใหม่ ๆ เพิ่งจะถูกค้นพบในยุคเรานี้เอง คือนับตั้งแต่ปี 2002 เมื่อหอจดหมายเหตุยุโรปได้เผยแพร่หลักฐานหลายประการที่ถูกเรียบเรียงโดย ริต้า สเตบลิน (2002, 2007, 2009) อันสามารถสรุปประเด็นได้ดังนี้

ความจริงแล้ว โจเซฟีน ได้แยกทางกับสามีคนที่สอง บารอน สแตเคิลแบร์ก อย่างเป็นทางการนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 1812 (ท้องลูกคนแรก 1809 แต่งงานกัน 1810 แยกทางกันในเดือนสิงหาคม 1812) และอันที่จริงจากไดอะรี่ของโจเซฟีน มีความเป็นไปได้ว่า สแตเคิลแบร์กออกไปจากบ้านตั้งแต่เดือนมิถุนายนแล้ว ในไดอะรี่ของเธอช่วงนั้นได้ระบุว่า “…สแตเคิลแบร์กทิ้งให้ฉันอยู่คนเดียว เขาใจร้ายต่อผู้วิงวอนที่ต้องการความช่วยเหลือ”

อีกประการคือ โจเซฟีน แสดงเจตนาชัดเจนที่จะไปปรากในเดือนมิถุนายน 1812 (แต่ไม่สามารถยืนยันว่าเธอได้ไปปรากในเวลาดังกล่าวหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาดังกล่าวให้พ้องกับไทม์ไลน์ของ เบโธเฟน ซึ่งเดินทางไปโผล่ที่ปรากในวันที่ 3 กรกฎาคม 1812 และการจะไปให้ถึงปราก ทั้งขาไปและขากลับพวกเขาต้องผ่านเมืองเทปลิทซ์ อันเป็นที่ที่เขาเขียน Immortal Beloved เป็นไปได้ว่าทั้งคู่อาจพบกันที่เทปลิทซ์หรือไม่ก็ที่ปราก

“วิธีการใหม่ในการมองหลักฐานเก่า ยืนยันว่า โจเซฟิน คือ Immortal Beloved หนึ่งเดียวของเบโธเฟน…แง่มุมที่น่าสงสัยทั้งหมด รวมถึงความเห็นลึกลับต่าง ๆ สามารถอธิบายได้หากเพ่งเล็งไปยังโจเซฟินแต่เพียงผู้เดียว” -สเตบลิน 2007

บุตรีของโบโธเฟน
อันที่จริงหลักฐานใหม่ ๆ ทำให้ สเตบลิน ระบุได้ว่า “ความที่สเตเคิลแบร์กเป็นคนต่างถิ่นจากเอสโตเนีย มีบรรดาศักดิ์ต่ำกว่า และไม่ใช่คาทอลิก จึงถูกครอบครัวบรุนชวิก ที่ให้ความสำคัญกับสถานะทางสังคมปฏิเสธการแต่งงานในตอนแรก ทว่าหลังจากโจเซฟีนให้กำเนิดลูกคนแรกกับสแตเคิลแบร์กอย่างลับ ๆ ในเดือนธันวาคม 1809 ทำให้แม่ของโจเซฟีนยอมให้พวกเขาแต่งงานกันอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยความไม่เต็มใจ ไม่เพียงเพื่อให้เด็กคนนี้มีพ่อเท่านั้น แต่เพราะสแตเคิลแบร์กยังขู่ด้วยว่าหากไม่ยอมให้พวกเขาแต่งงานกัน จะยุติการศึกษาของลูก ๆ ทั้งสี่ของโจเซฟีนที่มีกับสามีเก่าผู้ล่วงลับ ที่สุดงานแต่งงานถูกจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 1810 ในฮังการีโดยไม่มีแขกแม้แต่รายเดียว”

“การแต่งงานครั้งที่สองของโจเซฟีนไม่มีความสุขตั้งแต่วันแรก และยิ่งย่ำแย่ลงหลังจากลูกสาวคนที่สองที่ชื่อธีโอไฟล์เกิด (เก้าเดือนพอดีหลังจากแต่งงาน) ทำให้โจเซฟีนล้มป่วย และในปี 1811 เธอตัดสินใจไม่นอนกับสแตเคิลแบร์กอีกต่อไป ทั้งคู่มีความเห็นไม่ลงรอยกันหลายเรื่อง แต่ฟางเส้นสุดท้ายอันเป็นสาเหตุหลักของการล่มสลายที่ไม่อาจย้อนคืน คือความล้มเหลวในการซื้อที่ดินราคาแพงในโมราเวีย ซึ่งสแตเคิลแบร์กไม่มีเงินพอจะหาซื้อได้ และส่งผลให้ทั้งคู่ล้มละลายทางการเงินโดยสิ้นเชิง”

“หลังจากทะเลาะเบาะแว้งหลายหน ทำให้สแตเคิลแบร์กทิ้งเธอไป (น่าจะเดือนมิถุนายน 1812) กระทั่งทั้งคู่ตกลงทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อแยกกันอยู่ในเดือนสิงหาคม 1812 ทว่าจู่ ๆ โจเซฟีนก็คลอดลูกคนที่สาม “มิโนน่า” ในวันที่ 8 เมษายน 1813 (เป็นไปได้ว่าลูกคนนี้จะไม่ใช่ลูกของสแตเคิลแบร์ก)”

มาเรีย เทเรเซีย เซลมา อาร์เรีย คอร์เนเลีย มิโนนา เกิดในเวียนนา ชื่อแปลก ๆ ของเธอหากอ่านย้อนหลังจะสะกดว่า Anonim อันเป็นคำพ้องเสียงในภาษาเยอรมันที่มีความหมายว่า anonymous (ไม่เปิดเผยตัวตน) และเธอกลายเป็นผู้ต้องสงสัยจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายคนในยุคของเราว่า “น่าจะเป็นบุตรีของเบโธเฟน”

ในบทความปี 2020 ของ อานาสตาเซีย บูทสโก้ นักวิชาการทางดนตรีจากเมืองบอนน์ (บ้านเกิดของเบโธเฟน) เล่าว่า ‘มิโนน่าเป็นลูกคนที่เจ็ดของโจเซฟีนที่เกิดในเดือนเมษายน 1813 หรือเก้าเดือนหลังจากจดหมาย Immortal Beloved …เทเรซ บรุนชวิก น้องสาวของโจเซฟีนตั้งข้อสังเกตว่าโจเซฟีนแทบไม่สนใจทารกคนนี้เลย และบ่อยครั้งที่เธอปล่อยให้น้องสาวดูแลจนต้องไปขอนมแพะจากชาวบ้านมาเลี้ยงทารกน้อย

ต่อมาสแตเคิลแบร์กได้ลักพาตัวลูกสาวทั้งสามของเขาไปจากโจเซฟีน พวกเธอเติบโตในทาร์ทู เอสโตเนียโดยแยกตัวจากสังคม และอยู่ภายใต้ศาสนาเพียติสต์ (Pietism หนึ่งในลัทธิลูเทอแรน) ของผู้เป็นพ่ออย่างเคร่งครัด กว่าที่มิโมน่าจะได้กลับมาเวียนนาก็เมื่อสแตเคิลแบร์กเสียชีวิตไปแล้วเมื่อปี 1841 มิโนน่าอาศัยทำงานในเวียนนาจนสิ้นอายุขัยในปี 1897 เมื่ออายุได้ 84 ปี ที่เวียนนา มิโนน่า ถูกมองว่าประหลาดเนื่องจากพูดติดสำเนียงบอลติก


ชะตากรรมอันน่าเศร้าของมิโนน่าเป็นแรงบันดาลใจให้ยูริ เรนเวเร่ นักประพันธ์เพลงชาวเอสโตเนียสร้างโอเปร่า Minona ซึ่งเปิดตัวในเมืองเรเกนส์บรูกเมื่อเดือนมกราคม 2020 ระหว่างการค้นคว้าบทโอเปร่านี้ เรนเวเร่พบเอกสารน่าสนใจว่ามิโนน่าเป็นคนร่าเริงและมีพรสวรรค์ทางดนตรีมาตั้งแต่เด็ก เธอต่อต้านวิธีการเลี้ยงดูของสแตเคิลแบร์ก และพรสวรรค์ของเธอถูกยับยั้งโดยสแตเคิลแบร์ก โอเปร่าของเรนเวเร่บรรยายว่าชะตากรรมของมิโนน่าถูกกำหนดโดยชายสองคน คือ เบโธเฟน และสแตเคิลแบร์ก

ทว่ามิโนน่า ฟอน สแตเคิลแบร์ก จะเป็นลูกสาวของเบโธเฟนหรือไม่ รูปถ่ายสมัยเด็กเป็นหลักฐานชิ้นโปรดของนักสืบเรื่องของมิโนน่า แสดงให้เห็นว่าเธอมีใบหน้าละม้ายกับเบโธเฟน ซึ่งสามารถตีความในเรื่องนี้ได้ ท้ายที่สุดหากจะยืนยันได้อย่างชัดเจนคนต้องวิเคราะห์ทางดีเอ็นเอ แต่คาดว่าไม่น่าจะทำได้ในเร็ว ๆ นี้’

ชะตากรรมของโจเซฟีน
บทความของ สเตบลิน อธิบายว่า ‘หลังจากสแตเคิลแบร์กลักพาตัวลูก ๆ ของเขาไปในปี 1814 โจเซฟีนก็ป่วยหนักขึ้นเรื่อย ๆ เธอได้ว่าจ้างอันเดรียน ครูคณิตศาสตร์และญาติห่าง ๆ ของเธอมาคอยดูแล ซึ่งทำให้ภายหลังเธอได้ให้กำเนิดเอมิลีเมื่อวันที่ 16 กันยายน 1815 แต่ก่อนหน้านั้นไม่นานในช่วงที่โจเซฟีนกำลังตั้งครรภ์ สแตเคิลแบร์กมีอันต้องกลับมาเวียนนาเพื่อรับมรดกจากพี่ชายของเขาที่เสียชีวิตไปเมื่อเมษายน 1815 เขาแวะไปหาโจเซฟีนแล้วพบว่าเธอท้อง เขาตอบโต้ด้วยการเขียนจดหมายด่าทอยืดยาวว่าชังน้ำหน้าโจเซฟีนมากเพียงใด พร้อมกับรายงานตำรวจในวันที่ 30 มิถุนายน 1815 ว่าโจเซฟีนร่วมประเวณีกับญาติตนเอง ภายหลังโจเซฟีนไล่แอนเดรียนออกไป แอนเดรียนรับลูกสาวนอกสมรสของเขาเอาไว้ ทว่าลูกคนนั้นเสียชีวิตด้วยโรคหัดในอีกสองปีให้หลัง

มีหลักฐานพบว่าโจเซฟีนและเบโธเฟนอยู่ในเมืองบาเดิน เยอรมนี ในช่วงฤดูร้อน 1816 พวกเขาอาจจะพบกันที่นั่น และวางแผนจะทำอะไรบางอย่าง โจเซฟีนขอหนังสือเดินทางไปยังเมืองบาด พีร์มอนต์ แต่สุดท้ายไม่ได้ไปที่นั่น น่าสนใจว่าในเดือนสิงหาคม 1816 เบโธเฟนบันทึกไดอะรี่ของเขาว่า “ไม่ใช่ P-t แต่ด้วย P-เพื่อหารือหนทางที่ดีที่สุดในการจัดการเรื่องนี้” มีความเป็นไปได้ว่ P-t น่าจะหมายถึงเมืองบาด พีร์มอนต์ (Bad Pyrmont) และ “การจัดการเรื่องนี้” อาจหมายถึงสถานะทางการเงินของโจเซฟีนหรือไม่ก็เรื่องมิโนน่า’

ชีวิตของโจเซฟีนสิ้นสุดลงด้วยความทุกข์ตรม ลูก ๆ ทั้งสี่ของเธอที่เกิดกับสามีคนแรก พอโตเป็นวัยรุ่นก็แยกย้ายออกไป ส่วนลูกสาวสามคนกับสามีคนที่สองก็ขาดการติดต่อ ฟรานซ์พี่ชายของเธอหยุดส่งเงินให้ แอนนาแม่ของเธอก็ส่งจดหมายมาต่อว่า “ทั้งหมดเป็นความผิดของเธอ” โจเซฟีนป่วยติดเตียงจนเสียชีวิตเมื่อ 31 มีนาคม 1821 ด้วยวัย 42 ปี (อีก 20 ปีในปี 1841 มิโนน่าถึงได้กลับมาเวียนนา และเวลานั้น โจเซฟีน ก็ได้ลาโลกไปนานแล้ว)

เบโธเฟนประพันธ์ Piano Sonata No. 31 in A♭ major, Op. 110 และ Piano Sonata No. 32 in C minor, Op. 111 อันเป็นผลงานสุดท้ายของเขาแด่โจเซฟีน ซึ่งนักดนตรีวิทยาบรรยายว่า “เหมือนเพลงสวดศพ (Requiem)”

จดหมายรักแด่ผู้เป็นรักอมตะ
จากข้อมูลที่ถูกค้นพบล่าสุดในปี 2002-2009 นี้เอง ทำให้ เจมส์ เค. ไรท์ นักประพันธ์เพลงชาวแคนาดาได้แต่งบทเพลงสำหรับบาริโทน (หรือเมซโซ-โซปราโน) และเปียโนสามชิ้นที่มีชื่อว่า Briefe an die unsterbliche Geliebte (Letters to the Immortal Beloved -2012) บทเพลงดังกล่าวประกอบด้วยข้อความบางส่วนจากจดหมายของเบโธเฟนเมื่อวันที่ 6–7 กรกฎาคม 1812 Gryphon Trio ซึ่งได้รับรางวัลจูโนได้บันทึกผลงานนี้ร่วมกับจูลี เนสรัลลาห์ เมซโซ-โซปราโนชาวแคนาดา (นิวยอร์ก: Naxos, 2015) และเดวิด จอห์น ไพค์ บาริโทนจากลักเซมเบิร์ก (มอนทรีออล: Analekta, 2019)

ภาคผนวก-อย่าไว้ใจคนสนิท
หลายครั้งในบทความนี้ได้กล่าวถึง แอนตัน ชินด์เลอร์ (1795-1864) เนื่องจากเขาเป็นทั้งเลขานุการ ผู้ดูแลทรัพย์สิน และคนแรกที่จดบันทึกไปจนถึงรวบรวมอัตชีวประวัติของเบโธเฟน ทำให้ในช่วงต้น ๆ หลายฝ่ายเชื่อข้อมูลจากชายผู้นี้ ทว่าสุดท้ายในปี 1850 มีการตรวจสอบพบว่าหลายสิ่งที่ชินด์เลอร์บันทึกไว้ไม่สอดคล้องกับบันทึกของเบโทเฟน ทำให้ต่อมา วีล็อก เทเยอร์ เริ่มรื้อชีวประวัติของเบโธเฟนใหม่

ในบทความของวีล็อกช่วงปี 1970 ระบุว่า ‘มีการพิสูจน์ได้ว่าชินด์เลอร์ปลอมแปลงเนื้อหาในหนังสือสนทนาของเบโธเฟน โดยเขาได้สอดแทรกข้อมูลเท็จหลายอย่างลงไปหลังการตายของเบโธเฟน ชินด์เลอร์กล่าวเท็จและเกินจริงหลายประการเกี่ยวกับช่วงเวลาที่เขาได้ใกล้ชิดกับเบโธเฟน โดยเขาอ้างว่าทำงานกับเบโธเฟนมาอย่างยาวนานราว 11-12 ปี ทว่าในความเป็นจริงคือน่าจะอยู่ในราว 5-6 ปีไม่เกินนั้น มีอีกหลายสาเหตุที่เชื่อได้ว่าชินด์เลอร์ได้เผาหนังสือสนทนาของเบโธเฟนไปมากกว่าครึ่งหนึ่ง และลบหน้ากระดาษจำนวนนับไม่ถ้วนออกจากเล่มที่ยังหลงเหลืออยู่’

ในหนังสือ The Beethoven Compendium โดย แบร์รี่ คูเปอร์ 1991หน้า 52 กล่าวถึงอคติของชินด์เลอร์ ความไม่แม่นยำ และปั้นแต่งเรื่องขึ้นอย่างมากมายจนแทบไม่มีอะไรที่เขาเขียนเกี่ยวกับเบโธเฟนที่จะถูกนับได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงได้เลย เว้นแต่จะมีหลักฐานอื่นมาสนับสนุน เมื่อไม่นานนี้ ทีโอดอร์ อัลเบรชท์ ได้ตรวจสอบคำถามเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของชินด์เลอร์อีกครั้ง และเกี่ยวกับการทำลายหนังสือสนทนาจำนวนมาก เขาได้ข้อสรุปว่าความเชื่อที่แพร่หลายเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องโกหกเกินจริง

ปัจจุบันนักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่เชื่อถือข้อมูลจากชินด์เลอร์ โดยพวกเขาหันไปหาข้อมูลของคาร์ล เชอร์นีย์ กับเฟอร์ดินานด์ รีส สองศิษย์เอกของเบโธเฟนซึ่งทั้งคู่รู้จักเบโธเฟนมานานกว่าชินด์เลอร์มาก’

ต่อมาพบหลักฐานที่ระบุได้ว่าชินด์เลอร์ทำงานและอาศัยอยู่ในบ้านของเบโธเฟนตั้งแต่ปี 1822 ในฐานะเลขานุการโดยไม่ได้รับค่าจ้าง เบโธเฟนเลิกทำงานกับชินด์เลอร์ในปี 1825 โดยภายหลังนักไวโอลินหนุ่ม คาร์ล โฮลซ์ เพื่อนของเบโธเฟนได้ทำหน้าที่แทน แม้ว่าชินด์เลอร์และเบโธเฟนจะคืนดีกันในปี 1826 แต่ช่วงเวลานั้นโฮลซ์ก็ยังคงเป็นเลขาของเบโธเฟนต่อไปจนเบโธเฟนสิ้นชีวิตในปี 1827 ภายหลังชินด์เลอร์ฉวยเครดิตไปมากมายจากการเขียนชีวประวัติของเบโธเฟนที่ตีพิมพ์ในปี 1840 และอีกหลายเวอร์ชั่นในปี 1845, 1860 และ1871
สิ่งเหล่านี้ทำให้เขาได้อัพเกรดตัวเองไปปารีสและพบปะร่วมงานกับนักดนตรีมีชื่อเสียงมากมายในยุคนั้น เขาฮุบที่ดินจำนวนมากของเบโธเฟน และมรดกอีกหลายอย่าง รวมถึงหนังสือบันทึกสนทนากว่าสี่ร้อยเล่ม ภายหลังเขาขายที่ดินเหล่านั้นให้หอสมุดหลวงปรัสเซียในเบอร์ลินในปี 1845 รวมถึงหนังสือสนทนา 136 เล่ม และเชื่อได้ว่าเล่มอื่น ๆ ที่เหลือชินด์เลอร์ได้เผาทำลายหลักฐานทิ้งไปสิ้นแล้ว

ภาพเหมือนเบโธเฟนปี 1820

เราขอส่งท้ายบทความนี้ด้วยคำพูดสุดท้ายที่ถูกบันทึกไว้ของเบโธเฟน ซึ่งมีหลายทฤษฎี หนึ่งในนั้น วีล็อก เทเยอร์ ระบุว่า คือ “น่าเสียดาย น่าเสียดาย สายไปเสียแล้ว!” เนื่องจากขณะกำลังจะสิ้นลมหายใจเขาได้รับของขวัญเยี่ยมไข้เป็นไวน์ชั้นเลิศ 12 ขวด แต่ก็ยังสรุปไม่ได้อยู่ดีว่าจริงหรือไม่ ทว่าความเชื่อโดยทั่วกันอีกอย่างซึ่งในปี 1860 ถูกนักวิชาการหลายคนโต้ว่าไม่เป็นความจริงนั่นก็คือ

“Plaudite, amici, comedia finita est” (ปรบมือสิ มิตรสหาย ละครตลกจบแล้ว)