ThaiPublica > เกาะกระแส > จี้ AOT ชง ปปช.สอบปมทุจริตจัดซื้อ ‘สติ๊กเกอร์ซีทรู’ เฉลิมพระเกียรติฯ สนามบินภูเก็ต

จี้ AOT ชง ปปช.สอบปมทุจริตจัดซื้อ ‘สติ๊กเกอร์ซีทรู’ เฉลิมพระเกียรติฯ สนามบินภูเก็ต

12 กันยายน 2024


‘ชาญชัย’ จี้ AOT ชง ปปช.สอบปมทุจริตจัดซื้อ จัดจ้าง – ติดตั้ง ‘สติ๊กเกอร์ซีทรู’ เฉลิมพระเกียรติ ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต หลังคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงชี้มูลความผิดผู้บริหาร ทอท. 4 คน ตั้งราคากลางสูงเกินจริง – ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง – อนุญาตให้ผู้รับเหมาเข้าทำงาน ก่อนประกาศชื่อผู้ชนะ – เซีนสัญญาว่าจ้าง

หลังที่นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส. นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาให้สัมภาษณ์ กรณีการจัดซื้อจัดจ้างพิมพ์สติ๊กเกอร์ซีทรู (See Through Striker) เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษาเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 พร้อมติดตั้งภาพพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) โดยใช้วิธีเฉพาะเจาะจงนั้น มีความไม่โปร่งใส่ และไม่ถูกต้องตามกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้ ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “AOT” ต้องลงมาตรวจสอบ และชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากกรณีดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์องค์กรของ AOT ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดย AOT ได้ออกคำสั่ง ทอท.ที่ 1866/2567 ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2567 แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้ว พบว่า “กรณีดังกล่าวมีมูลความผิด 3 ประเด็น คือ 1. การตั้งราคากลางที่สูงเกินความเป็นจริง 2. การจัดจ้างโดยใช้วิธีเฉพาะเจาะจง ซึ่งไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และ 3. มีการอนุญาตให้คู่สัญญาเข้าดำเนินการติดตั้งสติ๊กเกอร์ก่อนวันลงนามในสัญญา จึงได้ชี้มูลความผิดพนักงานระดับบริหารที่เข้าข่ายกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง 4 คน โดย AOT จะดำเนินการตั้งคณะกรรมการลงโทษทางวินัยต่อผู้กระทำผิด และดำเนินการตามขั้นตอนระเบียบ ทอท.ว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การพ้นสภาพวินัย การดำเนินการทางวินัย การลงโทษ และการอุทธรณ์ของพนักงาน พ.ศ. 2554 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป”

ล่าสุด นายชาญชัย ได้ติดตามความคืบหน้าในการลงโทษผู้กระทำผิดกรณีดังกล่าว พบว่าพนักงานงานระดับบริหารของ AOT ทั้ง 4 คน แค่ถูกย้ายไปปฏิบัติงานที่สำนักงานใหญ่ของ ทอท.เท่านั้น

นายชาญชัย จึงขอเรียนถามทั้ง ดร.กีรติ และบอร์ด AOT ว่า “ได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการลงโทษทางวินัยผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตามที่เคยแถลงข่าว และได้ส่งผลการสอบข้อเท็จจริงให้ ป.ป.ช.ดำเนินคดีอาญาแล้วหรือยัง หากยังไม่ดำเนินการใด ตนจะรวบรวมหลักฐาน และเอกสารต่างๆไปร้องเรียน ป.ป.ช.เอง”

นายชาญชัย กล่าวต่อว่า สำหรับความเป็นมาของโครงการนี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 โดยที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ฯ ได้มีมติเห็นชอบ ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมไปดำเนินโครงการ และจัดงานเฉลิมพระเกียรติ ฯ โดยให้คำนึงถึงความเหมาสมและสมพระเกียรติ

จากนั้น ผู้อำนวยการฝ่ายการท่าอากาศยาน ทภก.ได้ทำ หนังสือเลขที่ 1567/67 ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2567 ถึงผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต (ผภก.) (ผ่านรอง ผภก.) โดยขอให้พิจารณางานจ้างพิมพ์สติ๊กเกอร์ซีทรู (See Through Stricker) พร้อมติดตั้งภาพพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) พร้อมขอ “โอนเงินถัวจ่ายงบประมาณ” มาใช้ในโครงการดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญดังนี้

สืบเนื่องจากท่าอากาศยานภูเก็ต เป็นท่าอากาศยานนานาชาติที่มีผู้โดยสาร และนักท่องเที่ยวมาใช้บริการหลายล้านคนต่อปี โดยอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศมีลักษณะเป็นกระจกผืนใหญ่ และยาว อีกทั้งที่ตั้งอาคารหันหน้าไปทางท่าอากาศยาน Taxi เข้าหลุมจอด และ Taxi เพื่อออกจากท่าอากาศยาน ซึ่งเป็นจุดเด่นในระยะสายตาของผู้โดยสาร

ฝ่ายท่าอากาศยาน ทภก.พิจารณาแล้ว เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และเพื่อความสมพระเกียรติ รวมถึงยังแสดงให้เห็นถึงประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ เป็นจุดศูนย์รวมจิตใจของประชาชนคนไทย จึงเห็นควรให้จ้างพิมพ์สติ๊กเกอร์ซีทรู พร้อมติดตั้งภาพพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต บริเวณกระจกด้านนอกของอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ โดยที่ผู้โดยสารด้านในอาคาร ยังคงมองเห็นวิวทะเลด้านนอกเหมือนเดิม

โดยฝ่ายการท่าอากาศยาน ทภก.ได้สืบราคางานจ้างพิมพ์สติ๊กเกอร์ซีทรู พร้อมติดตั้งภาพพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต จาก 3 บริษัทแล้ว มีบริษัทที่เสนอราคาต่ำสุด รวมเป็นเงิน 11,028,037.38 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) แต่ปัญหา คือ ฝ่ายการท่าอากาศยาน ทภก. ไม่ได้ตั้งงบประมาณเอาไว้ใช้ในการดำเนินโครงการดังกล่าว จึงไปตรวจสอบแล้ว พบว่ามีงบประมาณของงานจ้างแรงงานภายนอกมาตกแต่ง ดูแลต้นไม้ และสวนหย่อม ตามวงเงินเดิมที่ตั้งเอาไว้ 32,400,000 บาท ซึ่งได้มีการจัดประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างไปแล้วบางส่วน คงเหลืองบประมาณที่สามารถนำมาใช้ในงานติดตั้งสติ๊กเกอร์ซีทรู เฉลิมพระเกียรติฯได้ประมาณ 25,406.483.25 บาท

ฝ่ายการท่าอากาศยาน ทภก.จึงเห็นควรให้โอน “เงินถัวจ่าย” จากบัญชี 5103000009-3001 (Funded Program) ในหมวดของค่าจ้างแรงงานภายตกแต่ง ดูแลต้นไม้ และสวนหย่อม โอนมาเข้าบัญชี 5191200001-0007 ในหมวดของค่าประชาสัมพันธ์อื่น ๆ เป็นจำนวนเงิน 11,029,000 บาท แต่ตามระเบียบ ทอท.ว่าด้วยการเงิน การบัญชี การงบประมาณฯ ข้อ 21.1 และตามสั่งการ กอญ.ท้ายหนังสือ ฝงป.ที่ 103/57 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2557 ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขอใช้เงินโอนถัวจ่าย จากรายการเฉพาะที่ได้รับอนุมัติไว้ตั้งแต่ 20 ล้านบาทขึ้นไป ต้องได้รับการอนุมัติจากกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ทุกรายการ ดังนั้น ผู้อำนวยการฝ่ายการท่าอากาศยาน ทภก.จึงทำหนังสือให้ผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต ลงนามเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 โดยให้ดำเนินการตามระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

จากนั้น ผู้อำนวยงานฝ่ายงบประมาณ ทภก. ได้ทำ หนังสือด่วนที่สุด สงท.ฝงป.ทร.55839 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 ส่งให้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.ลงนามอนุมัติเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 โดยให้โอนเงินถัวจ่าย สำหรับงานจ้างพิมพ์สติ๊กเกอร์ซีทรู พร้อมติดตั้งพระบรมฉายาลักษณ์ ฯครั้งนี้เข้างบทำการบัญชีค่าโฆษณา และประชาสัมพันธ์ของ ทภก. เป็นเงินสุทธิ 11,028,037.38 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) แต่เนื่องจาก ทภก.ไม่ได้ตั้งงบประมาณเอาไว้ จึงให้โอนเงินถัวจ่ายจากบัญชีค่าจ้างภายนอก ดูแลไม่ประดับ และสนามหญ้า ในรายการค่าจ้างแรงงานภายนอกตกแต่ง ดูแลรักษาต้นไม้ และสวนหย่อมของ ทภก.ที่ได้รับอนุมัติไว้เป็นเงินสุทธิ 32,400,000 บาท มาใช้ในการดำเนินงานเป็นเงินสุทธิ 11,029,000 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

หลังจากเรื่องดังกล่าวได้ผ่านการอนุมัติจากกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 ผู้อำนวยการฝ่ายอำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต ปฏิบัติงานแทน กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.ได้ลงนามใน ประกาศเผยแพร่โครงการจัดซื้อจัดจ้าง งานพิมพ์สติ๊กเกอร์ซีทรูเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นวงเงินงบประมาณ 11,800,000 บาท และวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 กำหนดราคากลางรวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน 11,800,000 บาท

ยังไม่ทันได้ออกประกาศชื่อผู้ชนะการประมูล ปรากฏว่า ท่าอากาศยานภูเก็ตได้อนุญาตให้ผู้รับเหมาเข้าไปติดตั้งสติ๊กเกอร์ซีทรู เฉลิมพระเกียรติ ฯก่อนวันลงนามในสัญญาว่าจ้าง โดยมี รายงานจากเจ้าหน้าที่เวรที่ดูแลพื้นที่ ระบุว่ามีบริษัทเข้ามาติดตั้งแผ่นสติ๊กเกอร์ที่บริเวณแนวกระจกด้านนอกโถงผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ ตั้งแต่เวลา 20.30 น.ของวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ไปจนถึงเวลา 6.30 น.ของวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 ก่อนที่ผู้อำนวยการฝ่ายอำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต ปฏิบัติงานแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ประกาศชื่อผู้ชนะการประมูล ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 โดยให้บริษัท ภูเขาแอดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด (สำนักงานใหญ่) เป็นผู้ชนะการเสนอราคา งานจ้างพิมพ์สติ๊กเกอร์ซีทรูเฉลิมพระเกียรติฯ รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีอื่น ค่าขนส่ง ค่าจดทะเบียน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เป็นเงินทั้งสิ้น 11,778,600 บาท และมีการทำสัญญาจ้างเลขที่ DCH12-670181 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2567

ต่อมาท่าอากาศยานภูเก็ตได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับพัสดุและผู้ควบคุมงาน ตาม หนังสือ สนพ.ฝอต.ทภก.ที่ 590/67 ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 โดยมีนายเอกนฤน สมานรักษ์ ประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วยนายณัฐพล หนูปาน , นายชานนท พูนบำเพ็ญ และนายธนิต ยอดดำเนิน เป็นผู้ควบคุมงาน โดยผู้ควบคุมงานได้เข้าไปตรวจพื้นที่เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 พบว่ามีการติดตั้งสติ๊กเกอร์ไปก่อนล่วงหน้าแล้ว ตั้งแต่บริเวณกระจกด้าน AIRSIDE GATE 11 ถึงประมาณ GATE 14 คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 70% ของพื้นที่ที่จะติดตั้งทั้งหมด

จากนั้นบริษัท ภูเขา แอดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด (สำนักงานใหญ่) ได้มีใบแจ้งหนี้/ใบส่งสินค้า/ใบวางบิล เลขที่ IVF67-00382 ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 เพื่อส่งมอบงานและขอเบิกเงิน 11,778,600 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ และผู้ควบคุมงานได้พิจารณาร่วมกันแล้ว เห็นว่า “ยังไม่สามารถรับมอบงาน และเบิกเงินให้บริษัท ฯ ได้เนื่องจากขณะนี้มีการร้องเรียนทางสื่อโซเชียล รวมถึงรายงานของผู้ควบคุมงาน ตาม หนังสือ สบท.ฝทอ.ทภก.ที่ 1932/67 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2567 กรณีผู้ควบคุมงานตรวจพบว่ามีการติดตั้งสติกเกอร์ซีทรูไปก่อนล่วงหน้าแล้ว ดังนั้น ประธานคณะกรรมการตรวจรับพัสดุจึงทำรายงานการควบคุมงานติดสติ๊กเกอร์ซีทรู แจ้งให้ผู้อำนวยการการท่าอากาศยานภูเก็ต รับทราบ ไม่สามารถตรวจรับงานและจ่ายเงินให้บริษัทผู้รับจ้างได้ ตามที่ระบุหนังสือ ฝทอ.ทภก.ที่ 339/67

  • ป.ป.ช.ตั้งกรรมการไต่สวน ‘AOT’ ปมแก้สัญญาดิวตี้ฟรี – บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ เอื้อเอกชน?