จำนวนการเกิดของเด็กลดน้อยลง แต่ตัวเลขการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายสำคัญทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม ในอนาคต
สถิติย้อนหลัง 10 ปีของกรมการปกครอง พบว่า จำนวนการเกิดทั่วประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง จากที่ในปี 2557 มีเด็กเกิด 7.7 แสนคน เหลือ 5.1 แสนคนในปี 2566 ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุไทยในปี 2567 มีมากกว่า 13 ล้านคน
ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ฉายภาพสถานการณ์ประชากรไทย ว่า สภาพของสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองในปัจจุบัน ที่เป็นอีกสาเหตุสำคัญที่คู่สามีภรรยาบางคู่คิดว่า สังคมไทยอาจจะไม่ใช่สังคมที่น่าอยู่อีกต่อไป
อย่างไรก็ตามดร.สมชัย มองว่า มีบางมาตรการซึ่งหากสามารถดำเนินการได้ดี ก็อาจจะ “ตอบโจทย์” ให้คนตัดสินใจมีลูกได้มากขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “การพัฒนาระบบการศึกษา” ให้โรงเรียนทุกแห่งมีคุณภาพที่ดีรวมถึงโรงเรียนรัฐที่ ‘ไม่ดัง’ ด้วย เพราะจะทำให้พ่อแม่รู้สึกมั่นใจว่าถ้ามีลูกๆจะได้รับการศึกษาที่ดีโดยไม่ต้องจ่ายแพง
แน่นอนว่าวิกฤติเด็กเกิดน้อย และ สังคมสูงวัย ย่อมส่งผลให้เกิดปัญหา ขาดแคลน “วัยแรงงาน” รวมทั้งฐานะการคลังของภาครัฐทั้งรายได้และรายจ่าย
ดร.สมชัยชี้ว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องมีนโยบายเชิงรุกในการจูงใจให้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้เข้ามาทำงานในประเทศไทยให้มากขึ้น เช่น การให้ผลประโยชน์ที่มากขึ้น สวัสดิการที่ดีขึ้น มีเรื่องของการเพิ่มทักษะ เพราะแม้ว่าจะเข้ามาในฐานะแรงงานไร้ฝีมือ แต่ถ้าคนเหล่านี้มีศักยภาพพอ ภาครัฐ หรือเอกชนสามารถฝึกทักษะให้จนกระทั่งขึ้นมาเป็นแรงงานมีฝีมือและเป็นกำลังสำคัญให้กับไทยได้ในอนาคต
อ่านบทความฉบับเต็ม ทีดีอาร์ไอชี้ระเบิดเวลาประชากร…เกิดน้อย แก่มาก ความท้าทายอนาคตไทย ได้ที่เว็บไซต์ไทยพับลิก้า