สุนิสา กาญจนกุล รายงาน

สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะวิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์ที่ไม่ทะนุถนอมสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศหลากหลายรูปแบบและส่งผลกระทบต่อทุกแวดวง วงการประกันภัยสินทรัพย์ก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน ความผันผวนที่เกิดขึ้นทำให้เบี้ยประกันถีบตัวสูงขึ้นจนสร้างปัญหาให้กับผู้เป็นเจ้าของสินทรัพย์และต่อเนื่องไปถึงบริษัทประกันภัย วนเวียนเป็นวัฏจักรชั่วร้ายซึ่งไร้ทางออกที่เหมาะสม
โลกร้อน บ้านรับผลสะท้อนเต็มที่
ภาวะโลกร้อนทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น เช่น พายุโซนร้อน น้ำท่วม และคลื่นความร้อน ซึ่งส่งผลกระทบต่อโครงสร้างอาคาร สิ่งปลูกสร้าง และพื้นที่อยู่อาศัย ทำให้เกิดความเสียหายและสูญเสียทรัพย์สินจำนวนมาก
ความเสียหายของบ้านอันเป็นผลสืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีหลายประเภท แต่ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งก็คือน้ำท่วม นักวิจัยพบว่าความถี่ของน้ำท่วมฉับพลันเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังเร็วขึ้นและรุนแรงขึ้นมาก
การละลายของธารน้ำแข็งและแผ่นน้ำแข็งทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พื้นที่ริมน้ำ พื้นที่ชายฝั่งทะเลและเกาะต่างๆ จึงมีความเสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วมมากขึ้น ผลที่ตามมาก็คือทรัพย์สินในพื้นที่เหล่านี้จะมีมูลค่าลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บ้านริมน้ำจึงเริ่มมีมูลค่าต่ำกว่าในอดีต
คุณภาพอากาศที่แย่ลงยังทำให้ผู้คนจำเป็นต้องปรับปรุงที่พักอาศัยเพื่อป้องกันตัวเอง อาจจะด้วยการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ เครื่องเพิ่มความชื้น และขณะเดียวกัน การที่โลกร้อนขึ้นกว่าเดิมได้ส่งผลให้เครื่องปรับอากาศกลายเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่แทบทุกบ้านขาดไม่ได้อีกต่อไป
เมื่อต้องเพิ่มอุปกรณ์ไฟฟ้านานาชนิดเพื่อรักษาคุณภาพชีวิตให้อยู่ในระดับเดิม แน่นอนว่าผู้อยู่อาศัยย่อมต้องจ่ายค่าสาธารณูปโภคสูงกว่าเก่า ขณะที่สถานการณ์ไฟฟ้าดับก็อาจเกิดบ่อยครั้งกว่าในอดีตโดยมีสาเหตุทั้งจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันและรุนแรง รวมทั้งความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าที่มีปริมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและไม่มีท่าทีว่าจะลดลง
วงการอสังหาฯ ปั่นป่วน
ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นส่งผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดต่อวงการอสังหาริมทรัพย์ด้วยเช่นกัน ผลกระทบเหล่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังส่งผลต่อมูลค่าทรัพย์สิน การลงทุน และการวางแผนพัฒนาโครงการในอนาคตอีกด้วย
ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้นทำให้ความเสี่ยงในการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นจากเดิม เนื่องจากทรัพย์สินเสื่อมค่าเร็วขึ้น และยังมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียทรัพย์สินทั้งหมดเพราะภัยธรรมชาติ
ขณะเดียวกัน สถานการณ์นี้ยังทำให้วงการอสังหาริมทรัพย์เผชิญกับกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น เนื่องจากรัฐบาลทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการรับมือกับภาวะโลกร้อน จึงมีการออกกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นเกี่ยวกับการก่อสร้างและการใช้พลังงานในอาคาร ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์
แนวโน้มความต้องการที่อยู่อาศัยก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปเพราะผู้บริโภคตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงต้องการที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือภัยธรรมชาติอย่างเป็นรูปธรรม
ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้วงการอสังหาริมทรัพย์ต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน โดยหันไปเน้นการออกแบบอาคารที่ยั่งยืน ทนทานต่อภัยธรรมชาติ ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงปรับเกณฑ์การเลือกทำเลที่ตั้งโดยหลีกเลี่ยงพื้นที่ความเสี่ยงสูงที่อาจเกิดภัยธรรมชาติได้ เช่น พื้นที่ชายฝั่งที่อยู่ในระดับต่ำ
วงการประกันระส่ำระสาย
ปรากฏการณ์สภาพอากาศแปรปรวนรุนแรงนอกจากจะส่งผลโดยตรงต่ออุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์แล้วยังส่งผลต่อเนื่องไปถึงแวดวงประกันภัยสินทรัพย์ด้วยเช่นกัน
เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้นและรูปแบบของสภาพอากาศไม่แน่นอนมากขึ้น ความถี่และความรุนแรงของภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น พายุเฮอริเคน ไฟป่า น้ำท่วม และพายุ ก็เพิ่มขึ้น ส่งผลให้บริษัทประกันภัยต้องควักกระเป๋าจ่ายสินไหมทดแทนเพื่อชดเชยค่าเสียหายสูงกว่าเดิมมากจนผลกำไรวูบหายอย่างชัดเจน บริษัทประกันจึงต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการประเมินความเสี่ยง วิธีคำนวณเบี้ยประกัน และเรียกเก็บเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ยกระดับขึ้นจากเดิมนี้ส่งผลต่อแวดวงประกันสินทรัพย์ในทุกประเทศ ในยุโรป ผู้บริหารบริษัทประกันภัยเตือนว่าค่าธรรมเนียมประกันภัยจะต้องปรับตัวสูงขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงหลายครั้ง
ส่วนในออสเตรเลีย การปรับขึ้นค่าธรรมเนียมประกันภัยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี ทำให้ครัวเรือนกว่า 1.24 ล้านครัวเรือนประสบปัญหา “ความเครียดด้านความสามารถในการจ่ายค่าประกันบ้าน”
สหรัฐฯ อ่วมกว่าใคร
แม้ปัญหาที่เกิดขึ้นจะกระจายเป็นวงกว้าง แต่มีบางประเทศได้รับผลกระทบแบบเฉียบพลันจนอาจนำมาเป็นกรณีศึกษาเรื่องผลกระทบที่มีต่อแวดวงประกันภัยได้เป็นอย่างดี ประเทศดังกล่าวก็คือ สหรัฐฯ
โดยในปีที่ผ่านมา ทั่วโลกมีเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ร้ายแรงจนสร้างความเสียหายมูลค่านับพันล้านเหรียญมากถึง 37 เหตุการณ์ ซึ่งถือเป็นสถิติที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเป็นการเกิดพายุรุนแรงจำนวน 25 เหตุการณ์ แต่ทว่ามีมากถึง 21 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ
เนื่องจากสหรัฐฯ มีปริมาณผู้ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยอสังหาริมทรัพย์สูงลิ่ว สถิติแสดงให้เห็นว่าผู้เป็นเจ้าของบ้านในสหรัฐฯ มากถึง80 % โดยประมาณ มีการซื้อกรมธรรม์ประกันภัยอสังหาริมทรัพย์ มูลค่าการชดเชยสินไหมประกันภัยจากภัยพิบัติทางธรรมชาติของบริษัทประกันภัยในสหรัฐฯ จึงไต่สูงอย่างรวดเร็ว
จนในปัจจุบัน บริษัทประกันขนาดใหญ่หลายแห่งของสหรัฐฯ ตัดสินใจไม่รับประกันภัยอสังหาริมทรัพย์ในบางรัฐ เช่น สเตท ฟาร์ม ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่สุดในแคลิฟอร์เนีย ประกาศว่าจะหยุดการออกกรมธรรม์ในรัฐนั้นชั่วคราว โดยอ้างถึงความเสี่ยงจากไฟป่า ส่วนฟาร์เมอร์ส อินชัวรันซ์มองว่ามีความเสี่ยงเกินไปที่จะรับทำประกันภัยอสังหาริมทรัพย์ในฟลอริดาต่อไปและตัดสินใจถอนตัวออกจากตลาดที่นั่นโดยสิ้นเชิง
รายงานของดีลอยท์ ยักษ์ใหญ่แห่งวงการบัญชี ระบุว่าความสูญเสียที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศกำลังส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทประกันภัยอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ โดยที่ความรุนแรงและความถี่ของการสูญเสียที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติยังคงมีอัตราเร่งเฉลี่ย 5–7 % ต่อปีโดยประมาณ และภายในปี 2030 ผู้เป็นเจ้าของบ้านในสหรัฐฯ อาจเผชิญกับความสูญเสียสูงที่มีมูลค่าสูงถึง 118,000 ล้านเหรียญ เนื่องจากภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ
บริษัทประกันภัยต่อยังต้องถอย
บรรดาผู้บริหารระดับสูงในอุตสาหกรรมประกันภัยออกมายอมรับอย่างเต็มปากเต็มคำถึงความเชื่อมโยงระหว่างภาวะโลกร้อนที่เกิดจากมนุษย์กับปัญหาความสามารถในการจ่ายค่าประกัน คริสเตียน มูเมนเธลเลอร์ ประธานคณะผู้บริหารของสวิส รี บริษัทรับประกันภัยต่อรายใหญ่ของโลก กล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ผู้บริโภคต้องแบกรับ “ค่าใช้จ่ายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดยตรง
ปัญหานี้ทำให้ต้นทุนการประกันภัยต่อสำหรับทรัพย์สินที่เสียหายจากภัยพิบัติอยู่ในระดับสูงสุดในรอบหนึ่งชั่วอายุคน หลังจากผลประกอบการไม่ดีติดต่อกันหลายปี บริษัทรับประกันภัยต่อหลายแห่งจึงพากันถอนตัวไม่รับประกันภัยต่ออสังหาริมทรัพย์
ขณะที่บริษัทรับประกันภัยต่อบางรายเลือกปรับเปลี่ยนตัวเลข “จุดเริ่มต้นความคุ้มครอง” หรือระดับความเสียหายที่ต้องเกิดขึ้นก่อนที่การประกันภัยต่อจะมีผล เมื่อเป็นเช่นนี้ บริษัทประกันภัยจึงต้องรับความเสี่ยงมากขึ้นกว่าเดิม และยิ่งเพิ่มความเร่งด่วนให้บริษัทประกันต้องปรับราคาค่าธรรมเนียมใหม่ ซึ่งเท่ากับเป็นการโยนภาระให้เหล่าเจ้าของบ้านโดยตรง
ภาครัฐขยับตัว
เมื่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากสภาพอากาศรุนแรงส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง รัฐบาลของหลายประเทศจึงต้องขยับตัวและหามาตรการรองรับ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศ มีการจัดตั้งโครงการประกันภัยที่รัฐบาลสนับสนุนและริเริ่มโครงการประกันภัยต่อระดับชาติ ซึ่งหมายความว่าประชาชนผู้เสียภาษีทุกรายต้องเข้ามาแบ่งรับภาระความเสี่ยงเหล่านี้ร่วมกัน
การแทรกแซงของรัฐบาลมีทั้งในรูปของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนโดยแบ่งปันความเสี่ยงร่วมกัน เช่น โครงการประกันอุทกภัยแห่งชาติสหรัฐ (NFIP) ซึ่งรัฐบาลร่วมมือกับบริษัทประกันภัยเพื่อแบ่งเบาภาระทางการเงินจากเหตุการณ์ภัยพิบัติ
ขณะที่สหราชอาณาจักรเลือกก่อตั้งโครงการประกันภัยต่อที่ออกแบบมาเพื่อทำให้การประกันอุทกภัยมีเสียค่าธรรมเนียมต่ำลง โดยใช้ชื่อโครงการว่า Flood Re ส่วนรัฐบาลออสเตรเลียได้นำโครงการประกันภัยต่อสำหรับพายุไซโคลนมาใช้เพื่อสนับสนุนบริษัทประกันภัยในภูมิภาคที่มีพายุไซโคลนบ่อย
สำหรับญี่ปุ่น ทางรัฐบาลเสนอให้เงินอุดหนุนแก่เจ้าของบ้านที่ออกแบบหรือก่อสร้างโดยคำนึงถึงการต้านทานแผ่นดินไหว และรัฐบาลนิวซีแลนด์จัดตั้งคณะกรรมาธิการแผ่นดินไหว (Earthquake Commission) เพื่อพิจารณาให้เงินชดเชยกรณีที่เกิดความเสียหายจากแผ่นดินไหว
แต่การเข้ามาแทรกแซงของรัฐบาลก็มีความท้าทายและข้อควรพิจารณาหลายประการด้วยกัน ตัวอย่างเช่น ปัญหาเรื่องความยั่งยืนทางการเงิน เพราะในระยะยาว โครงการประกันภัยที่รัฐบาลสนับสนุนอาจไม่มีเงินทุนมากพอหากเกิดภัยพิบัติบ่อยครั้ง หรือการที่ต้องพยายามหาวิธีรับประกันว่าการแทรกแซงของรัฐบาลจะเป็นประโยชน์และเป็นธรรมต่อประชาชนทุกระดับรายได้
อย่างไรก็ตาม เพื่อปรับตัวให้เข้ากับความท้าทายเหล่านี้ อุตสาหกรรมประกันภัยกำลังสำรวจกลยุทธ์และเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเฉพาะด้านที่สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศของแต่ละพื้นที่ ปรับปรุงแบบจำลองความเสี่ยงโดยนำเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ มาใช้งาน
ทั้งหมดทั้งปวงก็ด้วยความหวังว่าจะสามารถคาดการณ์และจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดีขึ้น และนำเสนอทางออกด้านการประกันภัยที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในเวลาเดียวกัน บริษัทประกันภัยสินทรัพย์ก็สามารถเติบโตและอยู่รอดปลอดภัยในสถานการณ์ที่ผันผวนพอๆ กับสภาพอากาศที่กำลังของโลกใบนี้เช่นกัน
อ้างอิง
https://greenly.earth/en-gb/blog/ecology-news/what-does-climate-change-mean-for-homeowners-insurance
https://www.insurancejournal.com/news/national/2023/06/09/724656.htm
https://www.sustainability-times.com/clean-cities/climate-change-is-impacting-our-homes-in-many-ways/
https://www.cfr.org/article/climate-change-and-us-property-insurance-stormy-mix
https://www2.deloitte.com/xe/en/insights/industry/financial-services/financial-services-industry-predictions/2024/climate-change-home-insurance-resiliency.html
https://greenly.earth/en-gb/blog/ecology-news/what-does-climate-change-mean-for-homeowners-insurance
https://www.forbes.com/sites/darylfairweather/2023/09/18/climate-change-pushes-up-home-insurance-premiums/
https://www.policygenius.com/homeowners-insurance/home-insurance-pricing-report-2023/