
ศูนย์วิจัยฯ ธรรมศาสตร์ ประเมินผลกระทบ “ปลาหมอคางดำ” ระบาดในพื้นที่ ‘แพรกหนามแดง’ เฉพาะตำบลเดียวทำชาวประมงสูญเสียรายได้กว่า 131 ล้านบาท/ปี
ศูนย์วิจัยและพัฒนาเครื่องมือด้านการประเมินผลตอบแทนทางสังคม (SROI TU) วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแพร่บทความเรื่อง “ปลาหมอคางดำ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสังเคราะห์องค์ความรู้จากงานวิจัยเรื่อง การประเมินผลโครงการวิจัยภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น (รายงานวิจัย) กรุงเทพฯ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พ.ศ. 2563
ทำความรู้จักผู้รุกรานจากต่างถิ่น “ปลาหมอคางดำ”
โดยศูนย์ฯ SROI TU ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับปลาหมอคางดำ หรือ “Blackchin tilapia” ว่า เป็นปลาที่อยู่ในสายพันธุ์เดียวกับปลาหมอสี ปลาหมอเทศ และ ปลานิล มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกาตะวันตก พบการแพร่พันธุ์อยู่บริเวณปากแม่น้ำที่เป็นลักษณะน้ำกร่อย และ ในทะเลสาบตั้งแต่ประเทศเซเนกัลจนถึงสาธารณรัฐซาอีร์ (1) ปลาชนิดนี้สามารถอาศัยอยู่ได้ในน้ำจืด น้ำกร่อย และ บางครั้งสามารถพบได้ในน้ำเค็ม เนื่องจากเป็นปลาที่สามารถทนต่อความเค็มสูงได้ดี พฤติกรรมการหาอาหารมัก รวมตัวเป็นฝูงกินได้ทั้งแพลงตอน พืช สัตว์ และซากพืชซากสัตว์ ปลาหมอคางดำสามารถผสมพันธุ์และวางไข่ได้ ตลอดทั้งปี ปลาเพศเมีย 1 ตัว ใช้เวลาตั้งท้องเพียง 22 วัน แต่ละครั้งออกไข่ได้มากถึง 300 ฟอง จากนั้นไข่จะรอฟักตัว และอนุบาลในปากปลาเพศผู้อีก 3 สัปดาห์ จึงทำให้ปลาชนิดนี้สามารถแพร่พันธุ์ได้เร็ว มีอัตรารอดสูงกว่าปกติ และควบคุมการแพร่กระจายได้ยาก (2)
การระบาดของปลาหมอคางดำในตำบลแพรกหนามแดง
ปลาหมอคางดำถูกนำเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกในช่วงปี พ.ศ. 2548 (3) และถูกพบว่ามีระบาดของสาย พันธุ์ปลาต่างถิ่นครั้งแรกใน 2555 ที่บ่อกุ้ง และบ่อปลาในตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม จากนั้นจึงพบการแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่น ๆ อย่างรวดเร็ว (4) การระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่ตำบลแพรกหนามแดงได้ถูกรายงานความเสียหายผ่านงานวิจัย “การประเมินผลโครงการวิจัยภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น” ในปี 2559 (5) และในปัจจุบัน (พ.ศ. 2567) ผลกระทบจากการระบาดดังกล่าวได้รับความสนใจจากสังคม และได้ถูกรายงานผ่านสื่อสาธารณะมาอย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชัง บ่อเลี้ยงปู วังปลา และบ่อเลี้ยงกุ้ง มักพบว่า มีปลาหมอคางดำหลุดรอดเข้ามาในแหล่งเพาะเลี้ยง และไล่ล่ากินผลผลิตจนเกิดความเสียหาย ส่งผลให้เกษตรกรเกิดภาวะขาดทุน ไม่สามารถประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบเดิมได้ เกษตรกรบางรายถึงขั้นต้องเปลี่ยนไปทำอาชีพรับจ้างหรือลูกจ้างโรงงานที่ได้รับผลตอบแทนน้อยกว่าเดิม แต่เกษตรกรบางรายก็ไม่สามารถเปลี่ยนอาชีพได้ เนื่องจากอายุที่มากขึ้น ทำให้ไม่มีใครจ้างงาน (6) (7) นอกจากนี้ เนื่องด้วยพื้นที่แพรกหนามแดงมีแม่น้ำลำคลองที่พาดผ่านหลายสาย รวมถึงเป็นพื้นที่ปากแม่น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ อีกอาชีพหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดในครั้งนี้ คือ ชาวประมงพื้นบ้านที่เลี้ยงชีพด้วยการจับสัตว์น้ำมาจำหน่าย
จากการระบาดของปลาหมอคางดำ พบว่า ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ลดลงจนผิดสังเกต ทำให้รายได้ที่เคยเพียงพอต่อการหล่อเลี้ยงชีวิตลดลง จนต้องหันไปทำอาชีพเสริมควบคู่ไปด้วย เพื่อให้เพียงพอต่อการเลี้ยงดูครอบครัว อาจกล่าวได้ว่า สถานการณ์การระบาดของปลาหมอคางดำในปัจจุบัน นอกจากจะเกิดผลกระทบต่อธรรมชาติแล้ว ยังส่งผลกระทบทางลบต่อระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และชาวประมงพื้นบ้านที่ต้องสูญเสียอาชีพดั้งเดิม รายได้ที่ลดลงอย่างมาก และการสูญเสียวิถีชีวิตดั้งเดิมของท้องถิ่น ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อันมีเสน่ห์ของตำบลแพรกหนามแดง
ความเสียหายมูลค่ามหาศาล หากไม่หยุดยั้งการแพร่ระบาด
ประชาชนในพื้นที่ตำบลแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการทำประมงพื้นบ้านเป็นหลัก จากการระบาดของปลาหมอคางดำ ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ จึงเป็นเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการทำประมงพื้นบ้าน จากข้อมูลของงานวิจัย “การประเมินผลโครงการวิจัยภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ปีงบประมาณ 2563” ที่ดำเนินงานโดยคณะนักวิจัยจากวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่า อาชีพด้านการประมงที่พบในคลองสาขาของตำบลแพรกหนามแดง คือ การเลี้ยงปลานิล/ปลาทับทิม การเลี้ยงกุ้งทะเล และการทำประมงพื้นบ้าน
โดยข้อมูลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 – 2561 มีการเลี้ยงปลานิลเฉลี่ยปีละ 364.49 ตัน/ปี และมีรายได้เฉลี่ย 15.16 ล้านบาท/ปี ในด้านการเลี้ยงกุ้งทะเล พบว่า ในพื้นที่แพรกหนามแดงตำบลเดียว สามารถผลิตกุ้งเฉลี่ย 743.63 ตัน/ปี และมีรายได้เฉลี่ยจากการจำหน่ายกุ้ง 111.73 ล้านบาท/ปี
ในมิติอาชีพประมงพื้นบ้าน พบว่า ในพื้นที่คลองสาขามีประชาชนที่ประกอบอาชีพประมงประมาณ 34 ราย มีรายได้จากการทำประมง 515 บาท/คน/วัน และใน 1 ปี ชาวประมงท้องถิ่นมีการทำประมงประมาณ 288 วัน ดังนั้น รายได้ที่เกิดขึ้นแก่ชาวประมงกลุ่มนี้มีมูลค่าเฉลี่ยเท่ากับ 5.06 ล้านบาท/ปี ดังนั้น รายได้รวมของอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการประมงของพื้นที่แพรกหนามแดง จึงมีมูลค่าสูงถึง 131.96 ล้านบาท/ปี
จากมูลค่าดังกล่าว หากภาครัฐรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงปล่อยให้มีการระบาดของปลาหมอคางดำ โดยปราศจากการแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงทีจะทำให้เกิดความเสียหายต่อวิถีชีวิตของเกษตรกร และชาวประมงท้องถิ่นเป็นมูลค่าสูงถึง 131.96 ล้านบาท/ปี ซึ่งมูลค่านี้ยังไม่ครอบคลุมถึงความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น และเป็นมูลค่าความเสียหายเฉพาะพื้นที่ตำบลแพรกหนามแดงเท่านั้น ความเสียหายจากการระบาดที่เกิดขึ้นจากปลาหมอคางดำนั้น อาจกล่าวได้ว่า เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นในระดับประเทศและยากที่จะหยุดความเสียหายนี้ได้หากปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไป
อย่างไรก็ตาม ในการประเมินมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการระบาดของปลาหมอคางดำใน มิติทางสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมโดยใช้แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติ ด้านการประเมินมูลค่าทางสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ได้มาซึ่งมูลค่าความเสียหายในมิติทางสิ่งแวดล้อม ที่มีความถูกต้องตามทฤษฎี อีกทั้ง ข้อมูลดังกล่าวนี้ สามารถเป็นข้อมูลพื้นฐานในอนาคต เพื่อสนับสนุนมาตรการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยผู้ก่อมลพิษ/ผลกระทบ ต้องเป็นผู้ชดเชยแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสิ่งแวดล้อมที่เสียหายไป (Polluter Pays Principle) ซึ่งเป็นมาตรการที่มีความเหมาะสมมากกว่าการนำภาษีที่เป็นของประชาชนมาแก้ไขความเสียหายทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จากกิจกรรมทางธุรกิจของกลุ่มคนเพียงกลุ่มเดียว
แหล่งอ้างอิง
(1) Trewavas, E. 1983. Tilapiine fishes of the genera Sarotherodon, Oreochromis and Danakilia. Cornell University Press, Ithaca, NY.
(2) Froese, R. and C.C. Frieß, 1992. Synopsis of biological data on Platichthys flesus (L.), ICES assessment units 22 and 24, using the FISHBASE format. ICES C.M.1992/J:41. International Council for the Exploration of the Sea, Copenhagen.
(3) BIOTHAI ชี้หลักฐานชัดปลาหมอคางดำหลุดจากใคร! นำเข้าเจ้าเดียว-เริ่มระบาดใกล้ฟาร์ม สืบค้น Online : https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8 %A1/228721 วันที่สืบค้น 31/7/2567
(4) รมช.อรรถกร ถกแก้ปลาหมอสีคางดำระบาดนัดแรก เคาะ 5 มาตรการกำจัดยกเป็นวาระแห่งชาติสืบค้น Online : https://www.thairath.co.th/agriculture/agricultural-policy/2786356 วันที่สืบค้น 31/7/2567
(5) จิตติ มงคลชัยอรัญญา, วีรบูรณ์วิสารทสกุล, เกศกุล สระกวีและ เศรษฐภูมิ บัวทอง (2563). การประเมินผล โครงการวิจัยภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น (รายงานวิจัย). กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) (6) อดีตเถ้าแก่บ่อกุ้ง ถูก “ปลาหมอคางดำ” ทำเจ๊งยับ | 18 ก.ค. 67 | ข่าวเช้าหัวเขียว สืบค้น Online : https://www.youtube.com/watch?v=2TGU0N4nneE วันที่สืบค้น 31/7/2567 (7) เสียงจากชาวบ้าน “ปลาหมอคางดำ” ทำชีวิตมีแต่หนี้ | สถานการณ์ | 19 ก.ค. 67 | ข่าวช่อง 8 สืบค้น Online : https://www.youtube.com/watch?v=ys_plZKL-OE วันที่สืบค้น 31/7/256