ThaiPublica > ประเด็นร้อน > องค์กรผู้บริโภคเตรียมฟ้องศาลปกครอง ดีล “ทรู-ดีแทค” กสทช.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

องค์กรผู้บริโภคเตรียมฟ้องศาลปกครอง ดีล “ทรู-ดีแทค” กสทช.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

21 ตุลาคม 2022


น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.)น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ สอบ. และน.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคฝ่ายโยบาย พรรคก้าวไกล ร่วมแถลงข่าว

สภาองค์กรของผู้บริโภค ชี้มติ กสทช ‘ดีลทรู-ดีแทค’ เป็นมติสีเทา ขัดต่อหลักกฎหมาย เสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ขณะที่มีมติเพียงรับทราบ แต่มีเงื่อนไขที่สร้างปัญหาทางปฏิบัติ และถือเป็นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เดินหน้าผนึกผู้บริโภคฟ้องศาลปกครอง และ ป.ป.ช. ตรวจสอบ

ภายหลังที่ประชุมของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติ 3 ต่อ 2 เสียงรับทราบการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค แบบมีเงื่อนไข โดยกำหนดมาตรการเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

  • เปิดผลประชุม กสทช. มติเสียงข้างมาก ไฟเขียว ทรู-ดีแทค ควบรวมกิจการ
  • นางสาวสารี  อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์  ประธานอนุกรรมการด้านสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค  และนางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค ฝ่ายนโยบาย พรรคก้าวไกล ร่วมแถลงแสดงท่าที โดยแสดงความผิดหวังกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ไม่ใช้อำนาจตัวเอง

    โดยจะขอให้ศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉิน และมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา กรณี กสทช. ใช้อำนาจโดยมิชอบต่อมติควบรวมบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค

    เดินหน้าฟ้องศาลปกครองให้คุ้มครองชั่วคราว

    นางสาวสารี  อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) 

    นางสาวสารี กล่าวว่า องค์กรผู้บริโภค และสภาองค์กรของผู้บริโภค ผิดหวังกับมติกสทช.ที่ไม่ได้ทำหน้าที่ ดังนั้นจึงคิดว่าคงต้องฟ้องดำเนินคดีต่อศาลปกครองเรื่องการลงมติในครั้งนี้  และขอให้ศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉินคุ้มครองชั่วคราวก่อนที่จะมีคำพิพากษา

    “หลังมติ กสทช.ออกมา ทางเลือกของผู้บริโภคคงต้องเดินหน้าฟ้องศาลปกครอง กรณีที่ กสทช.ไม่ได้ใช้อำนาจของตัวเอง ในการวินิจฉัยการควบรวมในครั้งนี้เพียงแต่วินิจฉัยรับทราบ  และกำหนดมาตรการเท่านั้น”

    ส่วนประเด็นที่สอง ที่องค์กรผู้บริโภคได้หารือกันเบื้องต้น คือ เมื่อ กสทช.ปฏิบัติหน้าที่แบบนี้ กสทช.ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง โดยจะยื่นให้ ป.ป.ช(สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ช่วยวินิจฉัย ว่าการดำเนินการของ กสทช. ถือเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบใช่หรือไม่

    ประเด็นที่สาม หลังจากอ่านรายละเอียดแต่ละมาตรการของกสทช.ได้กำหนด ให้เห็นว่าขาดมาตรการสำคัญคือการจัดการในเชิงโครงสร้างของโทรคมนาคม จะเห็นว่าเงื่อนไขที่กำหนดเป็นเรื่องการกำกับเรื่องราคา ซึ่งเห็นด้วย แต่ในเรื่องของโครงสร้างที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคของ กสทช.เองเสนอให้คืนคลื่นบางส่วนเพราะว่าการควบรวมครั้งนี้อาจจะทำให้ คลื่นของเจ้าของที่ควบรวมมีมากกว่ารายที่สอง แต่ไม่มีการพิจารณาในเรื่องนี้ในที่ประชุม

    “การกำหนดโครงสร้างของโทรคมนาคม ตามข้อเสนอของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่เสนอให้คืนคลื่นบางส่วนกลับมาเนื่องจากหากมีการควบรมจะทำให้คลื่นมีจำนวนมากกว่ารายที่สอง หรืออำนาจในการถือครอง แต่ไม่มีการนำมาพิจารณาในคณะกรรมการของกสทช.เลย”

    นางสาวสารี กล่าวว่า กทสช.บอกว่ามาตรการที่ออกมาเป็นเงื่อนไขนั้นคือการแก้ปัญหา แต่มาตรการที่เราเห็นว่า กสทช.ต้องดำเนินการคือการป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นคือการไม่ให้ควบรวมนั่นเอง

    นอกจากนี้ยังมีเรื่องของคลื่น3G ที่ใช้มาเกือบ 15 ปีและกำลังจะหมดลง ควรจะพิจารณาด้วยเช่นกันว่าไม่ควรจะให้ผู้ถือครองคลื่นในปัจจุบันเข้ามาประมูลคลื่น ทำให้เรามีรายใหม่ได้ภายใน 5 ปี

    “อีกประเด็นที่สำคัญคือเมื่อมีเงื่อนไขในเรื่องการกำหนดราคา อาจจะทำให้ผู้ที่ใช้คลื่น AIS ต้องจ่ายแพงกว่าเพราะฉะนั้นมาตรการที่ออกมาควรจะเป็นมาตรการทั่วไปเพราะว่าทั้งสองรายไม่มีการแข่งขันกันอยู่แล้ว จึงไม่ควรให้อีกเจ้าหนึ่งจ่ายแพงกว่า ซึ่งกระทบต่อผู้บริโภค”

    มติ กสทช.ส่อโมฆะ เสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง

    นางสาวศิริกัญญา  ตันสกุล  รองหัวหน้าพรรค ฝ่ายนโยบาย  พรรคก้าวไกล

    นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค ฝ่ายนโยบาย พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ผลของการตัดสินไม่ใช่เรื่องคาดเดาไม่ได้ ซึ่งก็ได้คาดการณ์ไว้อยู่แล้ว แต่ยังคงผิดหวังที่ กสทช.เลือกที่จะเดินทางนี้ จึงจะเข้าร่วมสนับสนุนกับสภาองค์กรของผ้บริโภคที่จะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองและ ป.ป.ช. กรณีกสทช.ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 มาตรา 60 มาตรา 71 มาตรา 75 รวมไปถึง พ.ร .บ. จัดสรรรคลื่นความถี่ และพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ให้ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน และผู้บริโภค ไม่ให้เกิดการผูกขาด หรือการค้าที่ไม่เป็นธรรม แต่วันนี้ กสทช.ได้ละเว้นการทำหน้าที่ของตัวเองโดยบอกว่าตัวเองไม่มีอำนาจที่จะอนุญาต

    ทั้งนี้เรื่องแรก กสทช.ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งความผิดดังกล่าวได้สำเร็จแล้ว  เรื่องที่สอง คือ กระบวนการการลงมิติที่มีข้อสงสัย โดยเห็นว่าผลของการลงมติที่ค่อนข้างแปลกประหลาด  คือการลงมติ 2 ต่อ 2 ต่อ 1 คือ 2 เสียงแรกบอกว่ามีอำนาจในการพิจารณา 2 เสียงหลังบอกว่าไม่มีอำนาจ ส่วนอีก 1 เสียงงดออกเสียงจนทำให้ประธานต้องมาชี้ขาด ซึ่งเท่ากับว่าประธานออกเสียง 2 ครั้ง

    นางสาวศิริกัญญากล่าวว่า จากการศึกษาข้อบัญญัติ พบว่าในกรณีแรก คือ อำนาจวินิจฉัยชี้ขาด ตามกฎหมายคลื่นความถี่ ตามมาตรา 27 มาตรา 29 มาตรา 23 มาตรา 25   กรณีแรกจะใช้เสียงข้างมากในที่ประชุม แต่การลงมติของกสทช.เข้ากรณีที่สอง คือเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นอื่น นอกเหนือจากนั้นต้องได้รับมติพิเศษ คือ ได้รับความเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด คือ จำนวน 3 จาก 5 เสียง แต่มติกสทช.ลงมติมีแค่ 2 เสียงเท่านั้น จึงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนคณะกรรมการทั้งหมดซึ่งหมายถึงว่า มตินี้ไม่ผ่านความเห็นชอบ

    “มติของ กสทช. มีคนลงมติเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งคือมีแค่ 2 คน จึงเท่ากับว่ามตินี้ไม่ผ่าน หรือต้องตกไป สุดท้ายแล้วคือไม่สามารถโหวตผ่านด้วยคะแนน 2 ต่อ 2 ต่อ 1 เสียง เพราะว่ามีมติอย่างไรต้องได้เสียง 3 เสียงจาก 5 เสียง กระบวนการในการลงมติครั้งนี้จึงมีปัญหาอย่างแน่นอน โดย กสทช.ต้องให้ความกระจ่างแก่ประชาชนในเบื้องต้นก่อน”

    นอกจากนี้ นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า จะเสนอให้มีการตรวจสอบ คณะกรรมการที่ปรึกษาอิสระว่าทับซ้อนกับบริษัทที่มาควบรวมหรือไม่ เพราะบริษัท ฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นโดย บริษัทฟินันเซีย ไซรัส จํากัด ซึ่งมีผู้บริหารทรูเป็นกรรมการเช่นเดียวกัน ซึ่งในเรื่องนี้ถือเป็นความผิดพลาดในเรื่องของกระบวนการ จะทำให้คำสั่งปกครองเป็นโมฆะได้เช่นเดียวกัน

    “ขณะนี้ เรายังรอคำวินิจฉัยฉบับเต็มของ กสทช. ทำให้ยังไม่มีรายละเอียดสำหรับกรรมการที่ออกเสียง 2 คนว่าทรูและดีแทคไม่ใช่ธุรกิจประเภทเดียวกันใช้เหตุผลอะไร จึงรอการเปิดเผยฉบับเต็ม และขอให้กสทช.เปิดเผยกับสาธารณะด้วยเช่นกัน”

    สังคมรอคำตอบว่ารับทราบแต่มีเงื่อนไขมีผลในทางปฏิบัติอย่างไร

    นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์  ประธานอนุกรรมการด้านสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค 

    นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค  กล่าวว่า  มติของ กสทช. มีปัญหา อยากเรียกว่าเป็นมติสีเทา ซึ่งที่สื่อมวลชนบอกว่าไฟเขียวนั้นความจริงอาจจะไม่ใช่แบบนั้น น่าจะไฟดับเพราะว่าเป็นมติที่คลุมเครือ และมีปัญหาในทางปฏิบัติแม้แต่บริษัททรูหรือดีแทค เพราะเป็นการบอกว่ารับทราบแต่มีเงื่อนไข ซึ่งสามารถบังคับใช้ในทางกฎหมายได้มากน้อยแค่ไหน เป็นเรื่องที่กสทช.ต้องตอบให้ชัดเจน

    “สังคมรอคำตอบว่า การรับทราบแต่มีเงื่อนไขมีผลในทางปฏิบัติอย่างไร  ดิฉันจึงเห็นว่าเป็นมติสีเทาไม่ใช่สีเขียวและเป็นไฟดับ  ซึ่งถ้ามีมติบอกว่าเห็นชอบแบบมีเงื่อนไขก็เข้าใจได้ แต่รับทราบแบบมีเงื่อนไข ซึ่งมติของกสทช.ทำให้ กสทช.กลายเป็นแดนสนธยา แม้ว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ตั้งแต่ชุดที่แล้วในการเลือกประโยชน์เอกชนมากกว่าผู้บริโภค ซึ่งการลงมติ กรณีทรู ดีแทค ทำให้กลายเป็นแดนสนธยาโดยสมบูรณ์  ทั้งในแง่กระบวนการที่สื่อมวลชนเข้าไม่ถึง ไม่มีการแถลงข่าว ไม่มีคำอธิบายและมติที่ออกมาคลุมเครือ ถือเป็นจุดอ่อนที่ขาดความโปร่งใสและสง่างาม”

    นางสาวสุภิญญากล่าวว่า ในฐานะอดีต กสทช.รู้สึกอึ้งกับมติที่ว่ารับทราบ การควบรวมทรู และดีแทค ไม่ถือว่าเป็นการบริการประเภทเดียวกัน ขัดสามัญสำนึก ขัดข้อเท็จจริงเป็นเรื่องที่ฝืนความรู้สึกของประชาชน และคิดว่าเกินกว่าเหตุที่ กสทช.วินิจฉัยออกมาในลักษณะนี้ เพราะจะส่งผลกระทบกรณีอื่นๆในอนาคตด้วย และถือว่าลดศักดิศรีขององค์กรอิสระและขัดต่อเจตนารมย์ของการก่อตั้ง

    เปิดเหตุผล เสียงข้างน้อยไม่เห็นด้วยควบรวม “ทรูและดีแทค”

    ศาสตราจารย์ ดร. พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงเหตุผลของการสงวนความเห็น ยืนยันจุดยืน ไม่อนุญาตให้รวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค ด้วยข้อกังวลผลกระทบต่อผู้บริโภคและสาธารณะอันเนื่องมาจากแนวโน้มของสภาวะการแข่งขันที่จะเป็นปัญหาหลังการควบรวม

    โดยระบุดังนี้ในทางกฎหมาย การตัดสินใจสงวนความเห็นที่จะรับทราบการรวมธุกิจ และยืนยันที่จะไม่อนุญาต เพราะเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นการถือครองธุรกิจประเภทเดียวกัน ซึ่งสามารถส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางในตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในแง่การลดหรือจำกัดการแข่งชัน การคุ้มครองผู้บริโภค และการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทั้งนี้ โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำฮันเป็นการผูกขาคหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งข้นในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง  โดยมีเหตุผลในการยืนยันที่จะไม่อนุญาตให้รวมธุรกิจมี 7 ข้อ ได้แก่

    1. เมื่อรวมธุรกิจ TRUE และ dtac แล้ว จะทำให้เกิดบริษัทใหม่ (NewCo) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) ดังนั้น ทั้ง TUC และ DTN จะกลายเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีความความสัมพันธ์กันทางนโยบาย หรืออำนาจสั่งการเสมือนเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกัน (Single Economic Entity) ที่ไม่มีการแข่งขันระหว่างกันตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า

    ทั้งนี้ ก่อนการรวมธุรกิจ TUC มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 31.99 และ DTN มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 17.41 ภายหลังการรวมธุรกิจ NewCo จะมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 49.40 และทำให้ในตลาดเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่เพียง 2 ราย(Duopoly)

    2. SCF Associates Ltd. ที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแข่งขันและนโยบายการสื่อสารระดับโลกสรุปว่า จากการศึกษาแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบเชิงลบต่อผู้บริโภคมากกว่าข้อดีที่จะเกิดขึ้น

    อีกทั้งมาตรการเฉพาะเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ก็ไม่สามารถเป็นจริงได้ทั้งหมดในบริบทของตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทย เช่น การสนับสนุนให้เกิดผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (MNO) รายใหม่, การส่งเสริมการแข่งขันในตลาดค้าส่ง, การร่วมใช้คลื่น (Roaming) และการโอนคลื่นความถี่ (Spectrum Transfer) เป็นต้น

    ในบริบทของเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องลดช่องว่างทางดิจิทัลอย่างประเทศไทย โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นอุปกรณ์ ที่คนใช้มากที่สุดเพื่อเชื่อมต่อออนไลน์ การรวมธุรกิจซึ่งจะนำไปสู่การกระจุกตัวของตลาด และโอกาสที่ค่าบริการจะสูงขึ้น จึงไม่สมควรอนุญาตด้วยเหตุผลเพื่อการพัฒนาประเทศที่ต้องพึ่งพิงตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีการแข่งขันสูงและเป็นตัวกระตุ้นทางเศรษฐกิจ

    3. การบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการรวมธุรกิจภายใต้เงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะต่างๆ ที่บังคับ ผู้ขอรวมธุรกิจนั้น ไม่น่าจะช่วยเพิ่มระดับการแข่งขันในตลาดได้ และอาจเป็นไปได้ยากในภายหลังจากการควบรวม โดยในส่วนของ กสทช. จะต้องใช้อำนาจทางกฎหมายและทรัพยากรในการกำกับดูแลอย่างมาก โดยไม่อาจคาดหมายได้ว่าเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันในตลาดได้เช่นเดียวกับที่เคยมีอยู่ก่อนการควบรวมหรือไม่

    4. ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่แสดงถึงประโยชน์ต่อสาธารณะ จากเอกสารประกอบการขอรวมธุรกิจ ยังไม่ชัดเจนและเพียงพอ

    5. การรวมธุรกิจมีโอกาสนำไปสู่การผูกขาดและกีดกันการแข่งขัน ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 40, 60, 61 และ 75 และขัดต่อแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 ที่ต้องเพิ่มระดับการแข่งขันของการประกอบกิจการโทรคมนาคม

    6. การให้รวมธุรกิจจะส่งผลกระทบกว้างขวางและต่อเนื่องในระยะยาว อีกทั้งยังหวนคืนไม่ได้ เพราะตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยอยู่ในภาวะอิ่มตัว ทำให้ผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาดและเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดได้ยาก เช่นกรณีการรวมธุรกิจของเม็กซิโกและฟิลิปปินส์ ตามรายงานของที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศ แสดงให้เห็นกรณีของต่างประเทศว่าเป็นเรื่องยากที่จะหวนคืนจากภาวะผูกขาดโดยผู้ประกอบการหนึ่งหรือสองรายไปสู่สภาพการแข่งขันก่อนการรวมธุรกิจ

    7. หนึ่งในผู้ขอรวมธุรกิจมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจใกล้ชิดกับกลุ่มธุรกิจครบวงจร (Conglomerate) รายใหญ่ ซึ่งครอบครองตลาดสินค้าและบริการในระดับค้าปลีกและค้าส่งของทั้งประเทศ จึงมีโอกาสที่จะขยายตลาดโดยใช้กลยุทธ์ขายบริการแบบเหมารวม  ส่งผลให้เกิดการแข่งขัน ที่ไม่เท่าเทียมกันกับผู้ประกอบการรายอื่น

    อย่างไรก็ตามถึงแม้จะแพ้โหวต แต่ ศ.ดร.พิรงรอง เห็นว่าบทบาทของการเป็น กสทช. จำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่และให้ความเห็นในทุกมิติที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนและประโยชน์สาธารณะ จึงได้เสนอในที่ประชุมให้พิจารณาเรื่องเงื่อนไขและข้อเสนอแนะสำหรับมาตรการเฉพาะก่อนและหลังการรวมธุรกิจ ดังต่อไปนี้

    1. NewCo ขายกิจการบริษัท DTN ให้กับผู้ประกอบกิจการหรือเอกชนรายอื่นที่มีศักยภาพและไม่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับกลุ่มบริษัทของผู้ขอรวมธุรกิจ โดยเป็นการโอนคลื่นความถี่ และโครงสร้างพื้นฐานรวมถึงโอนถ่ายฐานลูกค้าที่มีอยู่ทั้งหมด หรือขายหุ้นบางส่วน เพื่อให้ NewCo ถือครองหุ้นในธุรกิจประเภทเดียวกันไม่เกินร้อยละ 10 (เช่น NewCo ถือหุ้นใน TUC ร้อยละ 99.9 แต่ถือหุ้นใน DTN ได้ไม่เกินร้อยละ 10)

    2. มิเช่นนั้น จะต้องคืนคลื่นความถี่ที่เกินเพดานการประมูล ได้แก่ คลื่น 2100 MHz จำนวน 2×15 MHz และ คลื่น 700 MHz จำนวน 2×10 MHz รวมทั้งกำหนดให้ลดอัตราค่าบริการเฉลี่ยร้อยละ 20 จากอัตราค่าบริการขั้นสูง (Price Cap) โดยผู้ขอรวมธุรกิจจะต้องคิดอัตราค่าบริการเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักจำนวนผู้ใช้บริการในแต่ละแพคเกจ และประกาศอัตราค่าบริการให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้  พร้อมกับมีบทลงโทษ หากผู้ขอรวมธุรกิจทำไม่ได้ นอกจากนี้ ยังต้องกำหนดเงื่อนไขให้มีการขยายโครงข่าย 5G ให้ครอบคลุมประชากรร้อยละ 85 ภายใน 3 ปี  มีเพียงประเด็นการขยายโครงข่าย 5G ที่ได้รับความเห็นชอบตามมติที่ประชุม กสทช.