
บอร์ด ปตท. อนุมัติด่วน 3,000 ล้านบาทเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเฉพาะกิจเร่งแบ่งเบาค่าครองชีพประชาชนอย่างต่อเนื่องจากวิกฤติพลังงานรวมกว่า 14,800 ล้านบาท
ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 มีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบประชาชนและภาคธุรกิจ ทั้งมาตรการใหม่และการขยายมาตรการเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายนนี้ ดังนี้
-
(1) ตรึงราคาขายปลีกก๊าซ NGV 15.59 บาทต่อกิโลกกรัม ส่วนโครงการเอ็นจีวีเพื่อลมหายใจเดียวกัน สำหรับ ‘แท็กซี่’ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ 16 มิ.ย- 15 ก.ย.2565
(2) กำหนดกรอบราคาขายปลีก LPG ที่ประมาณ 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ตั้งแต่ ก.ค.-ก.ย.2565
(3) ขยายเวลาให้ส่วนลด LPG ร้านค้า หาบเร่แผงลอย ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่เกิน 100 บาทต่อรายต่อเดือน ถึงก.ย.นี้
(4) อุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลร้อยละ 50 ส่วนที่ราคาขายสูงกว่า 35 บาทต่อลิตร ถึงก.ย.นี้
(5) คงค่าการตลาดน้ำมันดีเซลไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร
(6) ขอความร่วมมือโรงกลั่นน้ำมัน นำส่งกำไรจากค่าการกลั่นส่วนหนึ่งเข้ากองทุนน้ำมัน เพื่อไปลดภาระค่าน้ำมันให้ประชาชนทั้งดีเซลและเบนซินในช่วง 3 เดือน
“มาตรการขอความร่วมมือกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซธรรมชาตินำส่งกำไรส่วนหนึ่งจากค่าการกลั่นน้ำมันดีเซลและเบนซินเข้ากองทุนน้ำมันในช่วงวิกฤติน้ำมันแพง โดยเงินในส่วนของน้ำมันดีเซล นำไปบริหารราคาขายปลีกให้ไม่เกิน 35 บาท/ลิตร เงินในส่วนของน้ำมันเบนซิน นำไปลดราคาขายปลีก 1 บาท/ลิตร กระทรวงพลังงานรายงานว่า กำลังอยู่ระหว่างการหารือกับกลุ่มโรงกลั่นถึงแนวทางในการดำเนินกาส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต่อไป รวมทั้งขอความร่วมมือ ปตท. นำส่งกำไรส่วนหนึ่งของโรงแยกก๊าซธรรมชาติเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งคาดว่าจัดเก็บได้ 500-1,000 ล้านบาท/เดือน”
จากมติ ครม.ดังกล่าว วันนี้ (12 กรกฎาคม 2565) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ที่ผ่านมาคณะกรรมการ ปตท.มีมติอนุมัติสนับสนุนเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นกรณีพิเศษเพื่อช่วยเหลือประชาชนเป็นการเร่งด่วนจากสถานการณ์วิกฤติเป็นจำนวนเงินเดือนละ 1,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 เดือน รวมทั้งสิ้น 3,000 ล้านบาทสนับสนุนภาครัฐในการแบ่งเบาภาระค่าพลังงานของประชาชนรวมทั้งเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านพลังงานของประเทศ
ทั้งนี้จากสถานการณ์วิกฤติด้านพลังงานตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ปตท.ได้ช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนค่าครองชีพด้านพลังงานให้แก่ประชาชนไปแล้วกว่า 14,800 ล้านบาทปตท.ในฐานะบริษัทมหาชนและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจตระหนักถึงผลกระทบจากวิกฤตการณ์ด้านพลังงานส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและภาคประชาชนของประเทศในวงกว้าง จึงได้ช่วยเหลือประชาชนทุกภาคส่วนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง อาทิ ให้ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม (LPG)แก่ผู้มีรายได้น้อยที่เป็นร้านค้าหาบเร่ แผงลอยอาหาร ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การตรึงราคาขายปลีกช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้รถ NGV ส่วนบุคคล และผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถแท็กซี่ทั้งในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันหน้าสถานีบริการจัดหาน้ำมันดิบเพื่อเพิ่มปริมาณสำรองตลอดจนช่วยบรรเทาภาระต้นทุนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการผลิตไฟฟ้า นอกจากนี้ ปตท.ยังได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทางการแพทย์เพื่อช่วยเหลือสังคมจากวิกฤตโควิดในโครงการลมหายใจเดียวกันกว่า 1,046 ล้านบาท
“ปตท.พร้อมเป็นกำลังสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการทำงานของทุกภาคส่วน รวมถึงการดูแลสังคมและชุมชน เพื่อให้คนไทยฝ่าวิกฤตินี้ไปด้วยกันได้โดยเร็ว” นายอรรถพลกล่าว