ThaiPublica > ข่าวประชาสัมพันธ์ > เกียรตินาคินภัทร รุกธุรกิจ Wealth Management ผ่านบริการ KKP Edge

เกียรตินาคินภัทร รุกธุรกิจ Wealth Management ผ่านบริการ KKP Edge

1 กุมภาพันธ์ 2022


ข่าวประชาสัมพันธ์

31 มกราคม 2565 กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เผยผลการดำเนินงานปี 2564 ดีกว่าเป้า กำไรเติบโตร้อยละ 23 กำไรเบ็ดเสร็จโตร้อยละ 31 ด้านธุรกิจธนาคาร ตั้งเป้าขยายสินเชื่อร้อยละ 12 โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อผู้บริโภค ส่วนธุรกิจตลาดทุน ขยายฐานธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุน (Wealth Management)ไปยังลูกค้ากลุ่ม Mass Affluent ผ่านบริการ KKP Edge และรุกธุรกิจบริการทางการเงินแบบดิจิทัลผ่าน Dime ฟินเทคน้องใหม่ภายในกลุ่ม

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจประจำปี 2565 ว่า กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรยังคงมุ่งเป็นสถาบันการเงินที่มีผลการดำเนินงานเป็นเลิศ โดยเน้นเสริมสร้างและพัฒนาธุรกิจหลักไม่ว่าในด้านธุรกิจธนาคารพาณิชย์หรือธุรกิจตลาดทุน เพื่อกระจายแหล่งที่มาของรายได้และช่วยรักษาโอกาสทางธุรกิจภายใต้ความท้าทายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยตั้งเป้าสำหรับธุรกิจหลักในปี 2565 ดังต่อไปนี้

  • ธุรกิจสินเชื่อ ยังคงขยายสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อผู้บริโภค และธุรกิจ Bancassurance ที่ควบคู่ไปกับสินเชื่อ ตั้งเป้าเติบโตร้อยละ 12 นอกจากนั้น ยังพิจารณาปรับเปลี่ยนรูปแบบสาขาและการให้บริการให้สอดคล้องกับความต้องการในยุคที่ช่องทางดิจิทัลมีความสำคัญมากขึ้น
  • ธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล (Wealth Management) มุ่งใช้ประโยชน์แพลตฟอร์ม ผลิตภัณฑ์และบริการที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา เช่น บริการการลงทุนต่างประเทศผ่าน Mandate Service หรือกองทุนแฟล็กชิป KKP-SGAA  นอกจากนั้นยังจะรุกขยายฐานลูกค้าในกลุ่ม Mass Affluent ผ่านบริการ KKP Edge ที่ใช้ระบบและกระบวนงานดิจิทัลเข้ามาช่วยดูแลลูกค้าให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนของกลุ่มธุรกิจฯ ได้กว้างขวางขึ้น โดยมีเกณฑ์เงินลงทุนขั้นต่ำที่ลดลง
  • ธุรกิจบริการทางการเงินแบบดิจิทัลมุ่งใช้ประโยชน์จากระบบโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงและนำเสนอบริการให้ลูกค้ารายย่อย ซึ่งจะถูกนำเสนอภายใต้ชื่อ Dime ตลอดจนพัฒนาแอปพลิเคชัน KKP Mobile อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ตอบโจทย์ทุกความต้องการทางการเงินในยุคดิจิทัล

“ผลประกอบการปี 2564 ในภาพรวมถือว่าออกมาในระดับที่น่าพอใจ โดยธุรกิจธนาคารสินเชื่อเติบโตร้อยละ 16.5 และลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมีสถานการณ์โดยรวมที่ดีขึ้น ด้านธุรกิจตลาดทุน สามารถทำรายได้ดีเป็นประวัติการณ์ มาจากธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ที่รักษาส่วนแบ่งตลาดที่ร้อยละ 14 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล (Wealth Management) มีจำนวนทรัพย์สินภายใต้คำแนะนำ (Assets under Advice:AUA) เพิ่มเป็น 7.34 แสนล้านบาท ในขณะที่ธุรกิจวานิชธนกิจสามารถทำรายได้ดีจากค่าธรรมเนียมของธุรกรรมรายการใหญ่เช่น การไอพีโอของ PTTOR และ TIDLOR”

นายอภินันท์ กล่าวถึงผลการดำเนินงานของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ว่า สินเชื่อของธนาคารเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อรายย่อยที่มีหลักประกัน ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่โตขึ้นกว่าร้อยละ 20 หรือสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่โตขึ้นร้อยละ 40 ตลอดจนกลุ่มสินเชื่อบรรษัทที่เติบโตร้อยละ 30


นายปรีชา เตชรุ่งชัยกุล ประธานสายการเงินและงบประมาณ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจฯ มีกำไรสุทธิ 6,318 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.3 และมีกำไรเบ็ดเสร็จ 7,069 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.5 โดยเป็นกำไรสุทธิของธุรกิจตลาดทุน จำนวน 1,817 ล้านบาทและเป็นกำไรเบ็ดเสร็จของธุรกิจตลาดทุน จำนวน 2,765 ล้านบาท ในส่วนของการตั้งสำรองสำหรับปี 2564 ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปี 2563 โดยมีอัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่ร้อยละ 175.1

นอกจากนี้ ธนาคารมีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิรวมถึงรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 15,701ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 8,545 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.4 จากปี 2563 และธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio)คำนวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งรวมกำไรถึงสิ้นปี  2564 อยู่ที่ร้อยละ 17.33 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 จะเท่ากับร้อยละ 13.55