
จากเหตุถังเก็บสารเคมีระเบิดที่บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด เมื่อเช้ามืดวันที่ 5 กรกฎาคม ส่งผลให้เกิดเพลิงไหม้รุนแรงมีกลุ่มควันสีดำพวยพุ่งขึ้นสูงท้องฟ้าและมองเห็นในระยะไกล แรงระเบิดสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างทั้งทรัพย์สินและประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบ จนหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นได้ออกคำสั่งอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ในรัศมี 5 กิโลเมตรอย่างเร่งด่วน เนื่องจากภายในโรงงานมีสารเคมีจำนวนมาก และได้แจ้งให้ประชาชนในพื้นที่รัศมี 10 กิโลเมตรเฝ้าระวังพร้อมติดตามการแจ้งข่าวสารอย่างใกล้ชิด
ในช่วงเช้ามืดวันที่ 6 กรกฎาคม เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเพลิงได้แล้ว แต่แต่เจ้าหน้าที่ยังคงฉีดน้ำเลี้ยงให้อุณหภูมิลดลง จนเวลาประมาณแปดนาฬิกาเศษก็ไม่ปรากฎกลุ่มควันดำจากโรงงานอีก
บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด (Ming Dih Chemecial Co.,Ltd., (Thailand) เป็นบริษัทที่ไทยและไต้หวันร่วมทุนนั้น ตั้งอยู่ที่ ซอยกิ่งแก้ว 21 ต. บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
ใน เว็บไซต์ของบริษัทหมิงตี้ (Ming Dih Group Coporation) มีข้อมูลว่า บริษัทได้โยกการลงทุนมาที่ประเทศไทยพร้อมก่อตั้งบริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัดขึ้นในปี 1998 โดยมีกำลังการผลิตปีละ 30,000 ตัน ส่วนใหญ่เป็นการผลิต โฟม EPS หรือ Expandable Polystyrene
กรณีบริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ไม่ใช่โรงงานแรกที่เกิดเหตุร้ายขึ้น ก่อนหน้านี้วันที่ 2 เมษายน 2564 เกิดเหตุไฟไหม้ห้องอบสีโรงงานพ่นสีโลหะชิ้นส่วนรถยนต์และจักรยานยนต์ จากการเกิดเหตุระเบิดภายในบริษัท อี้หลิง คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งตั้งอยูที่เลขที่ 486/7 หมู่ 6 ซอยแพรกษา 13 ต.แพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ภายในโรงงานมีถังบรรจุทินเนอร์และสีน้ำมัน และสีอุตสาหกรรมอยู่จำนวนมาก
อีกกรณีหนึ่ง วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 เกิดเหตุเพลิงไหม้ โรงงานรีไซเคิลพลาสติกและพลาสติกอัดเม็ด ในซอยเทศบาลบางปู 88 ต.บางปูใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ไฟได้ลุกลามไปลุกไหม้โรงงานข้างเคียงซึ่งมีถังน้ำมันทินเนอร์ขนาด 200 ลิตร และถังน้ำมันไฮดรอลิกเก็บอยู่จำนวนมาก
จังหวัดสมุทรปราการได้กลายพื้นที่อุตสาหกรรมสำคัญ จากการมีนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง และเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทั้งทางน้ำและทางอากาศ จึงนับเป็นจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ
สำนักไทยพับลิก้าจึงได้สำรวจโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งข้อมูลจาก กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ให้ข้อมูลอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการไว้ว่า ณ วันที่ 6 กรกฎาคม 2564 โรงงานอุตสาหกรรมซึ่งแยกตามขนาดเงินลงทุนและแรงงานมีจำนวนทั้งสิ้น 6,814 แห่ง โรงงานทั้ง 6,814 แห่ง อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเพียง 630 แห่ง ที่เหลือเป็นโรงงานนอกนิคมอุตสาหกรรม
โดยอยู่ในอำเภอเมืองมากที่สุด 2,043 แห่ง รองลงมาคืออำเภอบางพลีจำนวน 1,931 แห่ง อันดับสามคืออำเภอบางพระประแดงจำนวน 925 แห่ง
ทั้งนี้พื้นที่นอกนิคมอุตสาหกรรมรวมทั้งจังหวัดมีจำนวน 1,004.092 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่โรงงาน 1,061.099 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 105.68% และมีพื้นที่อาคารโรงงาน 481.320 ตารางกิโลเมตรหรือ 47.94%
เมื่อแยกออกเป็นรายอุตสาหกรรมพบว่า เป็นโรงงานผลิตภัณฑ์โลหะสูงสุด 1,428 แห่ง อันดับสองเป็นโรงงานผลิตภัณฑ์พลาสติก 861 แห่ง อันดับสามเป็นโรงงานผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ 565 แห่ง และอันดับสี่เป็นโรงงานเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี 451 แห่ง
ข้อมูล จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ยังมี รายการสารเคมีที่มีปริมาณการเก็บมากสุดของจังหวัดสมุทรปราการ ถึง 2,951 รายการ เช่น กรดกำมะถันทินเนอร์ สารโซเดียมไฮโปคลอไรท์หรือคลอรีนน้ำ กรดไฮโดรคลอริก หรือ กรดเกลือ โซดาไฟ หรือ โซเดียมไฮดรอกไซด์
โรงงานทั้งหมดมีปริมาณน้ำเสียรวมทั้งสิ้น 69,809 ลูกบาศ์กเมตร์ต่อวัน สำหรับวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากโรงงานซึ่งเป็นประเภทอันตรายมีจำนวน 205,476.89 ตันต่อปี วัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่มีการขอนุญาตนำออกนอกโรงงาน ปี 2563 ประเภทอันตรายมีจำนวน 354,672.95 ตัน