
แม้ไทยจะไม่ใช่นักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม แต่หลายบริษัทไทยครองตลาดในหลายภาคธุรกิจ เช่น ค้าปลีก เครื่องดื่ม บรรจุภัณฑ์ ปศุสัตว์และพลังงานแสงอาทิตย์
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การลงทุนในเวียดนามของนักลงทุนไทยเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 13%
ณ สิ้นปีที่แล้ว การลงทุนทั้งหมดของนักลงทุนไทยมีมูลค่าประมาณ 13,000 ล้านดอลลาร์ แม้ไม่มากพอที่จะทำให้ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 5 แต่ก็ยังสามารถมีส่วนแบ่งการตลาดขนาดใหญ่ในหลายภาคธุรกิจได้ โดยมุ่งเน้นการลงทุนในไม่กี่ภาคธุรกิจ
ในภาคการค้าปลีก เครือข่ายซูเปอร์มาร์เกตชั้นนำบางแห่งครองตลาดโดยบริษัทไทย 2 แห่ง คือ กลุ่มเซ็นทรัลและกลุ่มทีซีซี (TCC Group)
กลุ่มเซ็นทรัล ผู้นำด้านค้าปลีกของประเทศไทย ซึ่งเป็นกิจการของตระกูลจิราธิวัฒน์ ได้เริ่มต้นธุรกิจในเวียดนาม จากการเป็นผู้ขายสินค้าแฟชั่นในปี 2012 โดยจัดจำหน่ายสินค้าจากแบรนด์ต่างๆ เช่น ซูเปอร์สปอร์ต (SuperSports), คร็อกส์(Crocs) และนิวบาลานซ์ (New Balance)
ในปี 2015 บริษัทได้เข้าถือหุ้น 49% ในร้านค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้าเหงียน คิม (Nguyen Kim) ผ่านพาวเวอร์บาย (Power Buy) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย

ในปีเดียวกัน บริษัทได้ซื้อเชนซูเปอร์มาร์เกตลาน ชี (Lan Chi) ซึ่งดำเนินธุรกิจส่วนใหญ่ในพื้นที่ชนบททางตอนเหนือ
ในปี 2016 ซื้อเครือข่ายซูเปอร์มาร์เกต บิ๊กซีเวียดนาม จากกลุ่มคาสิโนของฝรั่งเศสในราคากว่า 1 พันล้านดอลลาร์
ทีซีซีกรุ๊ป ซึ่งมีเจ้าของเป็นมหาเศรษฐีชายที่ร่ำรวยที่สุดอันดับ 3 ของประเทศไทย คือ เจริญ สิริวัฒนภักดี ได้ซื้อเชนร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่มาร์ท (Family Mart) ในปี 2012 และเปลี่ยนชื่อเป็น บี’ส์มาร์ท (B’s mart)
ในปี 2016 บริษัทซื้อเครือข่ายค้าส่งเมโทรแคชแอนด์แค์รีเวียดนาม (Metro Cash & Carry Vietnam) ในมูลค่า 655 ล้านยูโร (796 ล้านดอลลาร์) และเปลี่ยนชื่อเป็น MM Mega Market Vietnam ในอีกหนึ่งปีต่อมา
ทีซีซีกรุ๊ปยังครองตลาดอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม หลังจากเข้าถือหุ้น 53.59% ใน Sabeco (Saigon Beer Alcohol Beverage Crop) ผู้ผลิตเบียร์ชั้นนำของเวียดนามในปี 2017

เฟรเซอร์แอนด์นีฟลิมิเต็ด (Fraser and Neave, Limited) ซึ่งเป็นบริษัทอาหารและเครื่องดื่มที่ตระกูลสิริวัฒนภักดีเป็นเจ้าของ เป็นผู้ถือหุ้นต่างประเทศรายใหญ่ที่สุดในธุรกิจผลิตภัณฑ์นมวีนามิลค์ (Vinamilk)
เครือซิเมนต์ไทย (SCG) ซึ่งครองตลาดอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ได้ลงนามในข้อตกลงซื้อหุ้น 70% ของ ยวี เติ่น พลาสติก (Duy Tan Plastics) ซึ่งเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดแข็งรายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม
ปัจจุบันเครือซิเมนต์ไทยเป็นเจ้าของบริษัทบรรจุภัณฑ์ 8 แห่งในเวียดนาม
เครือซิเมนต์ไทย ยังมีบริษัทย่อยในเครืออีกกว่า 20 แห่งกระจายในอุตสาหกรรมซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง เคมีภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์

ในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ บริษัทเอกชนรายใหญ่สุดของไทย เจริญโภคภัณฑ์ กรุ๊ป หรือเครือซีพี ได้ครองตลาดมานานหลายปี
ในปี 1993 เครือซีพีได้ก่อตั้งบริษัท CP Livestock Co. ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น CP Vietnam Corporation (CPV) ในปี 2019 มียอดขายสูงถึง 65.5 ล้านล้านด่อง มากกว่าคู่แข่งที่เป็นธุรกิจรายใหญ่สุดในท้องถิ่นถึง 10 เท่า
อุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ของเวียดนามยังดึงดูดนักลงทุนไทยหลายราย เช่น บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) ที่เข้าถือหุ้นในโรงไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในจังหวัด นิญ ถ่วน และจังหวัดอาน ยาง ตั้งแต่ปี 2018
ในเดือนมีนาคม 2020 บริษัทฯ ประกาศแผนที่จะลงทุนกว่า 456 ล้านดอลลาร์ในโรงไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ 4 แห่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมกัน 750 เมกะวัตต์ ใน จังหวัดบิ่ญเฟื้อก
ส่วนบริษัทพลังงานของไทยอีกแห่ง คือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กลุ่มบริษัทกัลฟ์ ถือหุ้น 90% ในโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 2 แห่ง คือ TTC 1 และ TTC 2 ในจังหวัดเต็ยนิญ ทางทางตอนใต้ของเวียดนาม
บริษัทของไทยได้เปรียบคู่แข่งจากยุโรป เกาหลีใต้ หรือญี่ปุ่น ด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ และยังมีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน
สำหรับกลยุทธ์ของนักลงทุนไทย มักมีเป้าหมายที่บริษัทชั้นนำในเวียดนามหรือบริษัทที่มีข้อได้เปรียบในการแข่งขัน จากนั้นเข้าไปเทคโอเวอร์หรือควบรวมกิจการ
ที่มา : Which sectors in Vietnam are dominated by Thai companies?